7 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ไอเดียแก้ปัญหา - Urban Creature

พูดได้ว่า สตาร์ทอัพ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยแล้ว แต่ก็พูดได้อีกเช่นกันว่า ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าสตาร์ทอัพคืออะไร ทำอะไร แล้วใครได้ประโยชน์บ้าง

จากเอกสาร ‘Set Your Startup Business Guide รู้จักธุรกิจสตาร์ทอัพ’ ที่จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้สรุปนิยามของธุรกิจสตาร์ทอัพว่า 

“เป็นกิจการที่เริ่มต้นธุรกิจจากจุดเล็กๆ สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบก้าว กระโดด ออกแบบให้ธุรกิจมีการทำซ้ำได้โดยง่าย (Repeatable) และขยายกิจการได้ง่าย (Scalable) มีการนำเทคโนโลยี และ/หรือ นวัตกรรมมาใช้เป็นหัวใจหลักในการสร้างธุรกิจ มักเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจากไอเดียเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ยังไม่มีใครเคยคิดหรือทำมาก่อน”

พอหันกลับมามองสถานการณ์สตาร์ทอัพในไทย แม้ว่าเราอาจจะยังไม่สามารถพาตัวเองไปถึงระดับเอเชียหรือสากลได้ แต่แนวโน้มที่ผ่านมาก็พอพูดได้เต็มปากว่าสตาร์ทอัพไทยมีทิศทางที่ดี นั่นคือ นอกจากตัวธุรกิจจะได้รับการสนับสนุนจากทั้งเอกชนและรัฐบาลแล้ว ไอเดียต่างๆ ที่เหล่าชาวสตาร์ทอัพคิดค้นก็ช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันให้ผู้คนได้ตั้งแต่ระดับปัจเจกจนถึงระดับเมืองเลย

เราจึงขอรวบรวม 7 สตาร์ทอัพไทยที่น่าจับตามอง และมีไอเดียเป็นประโยชน์กับคนเมือง ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากโครงการ Hack BKK จัดโดยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาด้วย

สตาร์ทอัพไทย iTAX ภาษี

iTAX เทคโนโลยีด้านภาษี

iTAX คือเทคโนโลยีจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยปริญญาเอกด้านกฎหมายภาษีของ ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ (ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย)

ด้วยความที่เชื่อว่าผู้เสียภาษีคือฮีโร่ตัวจริงของประเทศ เขาจึงหยิบเอาเทคโนโลยีชั้นสูงและดีไซน์ที่เรียบง่ายมาทำให้ภาษีกลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน เพื่อที่ผู้เสียภาษีจะจัดการภาษีอย่างถูกต้องด้วยตัวเองและได้เงินคืนภาษีสูงสุดโดยไม่จำเป็นต้องรู้ภาษี

เจ้าเทคโนโลยีด้านภาษีนี้พัฒนาโดย iTAX Inc. มุ่งเน้นการใช้งานที่เรียบง่ายเข้าใจได้ทันที มีการรวบรวมข้อกฎหมายและกฎเกณฑ์การลดหย่อนภาษีทั้งหมดแล้วแปลเป็นภาษาพูดที่เข้าใจง่าย ลดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนและขั้นตอนคำนวณที่ยุ่งยาก เพื่อเตรียมแบบฟอร์มภาษีที่จำเป็นได้ถูกต้อง รวดเร็ว และประหยัดภาษีสูงสุด

นอกจากนี้ ในโครงการ Hack BKK iTAX ได้เสนอแนวคิด BKKredit สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย เช่น หาบเร่แผงลอย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ภายใต้แนวความคิด ‘เป็นคนดี ที่หาเงินมาคืนได้’ 
โดยกระบวนการประเมินเครดิตจะดำเนินการโดยอาศัยข้อมูลทะเบียนผู้ค้าหาบเร่แผงลอยของกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการรับรองมาแล้วจากผู้เกี่ยวข้อง บวกกับการประเมินและบริหารความเสี่ยงการให้สินเชื่อด้วยเทคโนโลยีการจัดทำบัญชีธนาคาร และจัดการภาษีอัตโนมัติโดย iTAX bnk เพื่อเป็นทางเลือกส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้ผู้ค้ารายย่อยและลดปัญหาหนี้นอกระบบ

สตาร์ทอัพไทย Vulcan Coalition คนพิการ

Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ

Vulcan Coalition (วัลแคน โคอะลิชั่น) คือธุรกิจเพื่อสังคมที่มีแนวคิดสร้างโอกาสทางอาชีพสำหรับกลุ่มคนพิการ ก่อตั้งโดยกลุ่มคนที่มองเห็นปัญหาเรื่องโอกาสเข้าถึงงานอย่างเท่าเทียมของผู้พิการในสังคมไทย 

สิ่งที่พวกเขาทำคือ ขับเคลื่อน AI ไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งผู้พิการไว้ข้างหลัง ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและงานวิจัย ซึ่งมีการแบ่งการขับเคลื่อนสังคม 3 ด้านผ่านโควตาคนพิการ ได้แก่ 

1) สร้างนวัตกรรม
ขับเคลื่อน GDP ของประเทศไทยด้วยอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาด้วยชุดข้อมูลที่จัดเตรียมโดยแรงงานคนพิการ

2) สร้างอาชีพ (มาตรา 35)
สร้างงานที่สามารถดึงศักยภาพคนพิการให้ทำได้ดีกว่าคนทั่วไป และออกแบบระบบ การทำงานสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ

3) สร้างความยั่งยืน
ลดการพึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐในระยะยาว โดยสร้างทรัพย์สินทางปัญญาให้กับคนพิการ เพื่อสร้างรายได้ตลอดชีวิต

จากนั้นทาง Vulcan Coalition จะเปลี่ยนโควตาคนพิการเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยการเปลี่ยนจากการจ่ายเงินเข้ากองทุน (มาตรา 34) มาสู่การจ้างเหมาบริการคนพิการ (มาตรา 35) เพื่อสร้างแรงงานคนพิการทำหน้าที่ ‘AI Trainer’ 

สำหรับโครงการ Hack BKK ทีม Vulcan Coalition เสนอแนวคิด ‘Bangkok Care Live Chat Agent’ ที่ให้คนพิการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทำงานบริการเป็น Live Chat Agent สนับสนุนการตอบคำถาม และรับเรื่องร้องเรียนที่ได้รับผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมทั้งช่วยจัดประเภทข้อมูลและสถานะเรื่องร้องเรียนให้เป็นระบบยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากทำให้หน่วยงานของ กทม. จ้างงานบุคคลกลุ่มนี้ได้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้การให้ข้อมูลกับประชาชนมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ภายใต้กรอบเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรมที่คนพิการมีส่วนร่วมได้

สตาร์ทอัพไทย Zipevent ผู้จัดคอนเสิร์ต

Zipevent บริการสำหรับผู้จัดงานอีเวนต์

Zipevent (ซิปอีเว้นท์) คือสตาร์ทอัพที่ทำหน้าที่เหมือนตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้จัดงานและผู้เข้าชมงาน โดยหลักๆ แล้วบริการและระบบของที่นี่จะทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวช่วยให้งานอีเวนต์ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี สะดวก และรวดเร็วขึ้น

เพราะถ้าใครเคยต้องรับบทคนจัดงาน จะรู้เลยว่าปัญหามากมายร้อยแปดพันเก้าพร้อมเกิดขึ้นตลอดเวลา ตั้งแต่ความล่าช้าจากการลงทะเบียน ไม่สามารถเก็บข้อมูลผู้ร่วมงานได้อย่างครบถ้วน หรือกระทั่งออกแบบอีเวนต์ได้ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นต้น Zipevent ที่มองเห็นรูรั่วเหล่านี้จึงเข้ามาช่วยดูแลจัดการให้นั่นเอง

บริการและระบบของสตาร์ทอัพเจ้านี้เตรียมพร้อมให้ตั้งแต่บริการหน้างาน ให้เช่าอุปกรณ์ รองรับการเช็กอิน และดูสถิติผู้เข้าร่วมงานได้แบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชัน Gate มีเจ้าหน้าที่เทคนิคและเจ้าหน้าที่ทั่วไป ระบบสุ่มจับรางวัล Lucky Draw ไปจนถึงทำแบบสอบถามหลังจบอีเวนต์ให้ด้วย ล่าสุดก็มีบริการการสร้าง Online/Virtual Event หรืออีเวนต์เสมือนจริงที่จำลองบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ด้วย เรียกว่าเป็นตัวช่วยผู้จัดงานอีเวนต์ที่ครอบคลุมทุกด้าน

เพราะต้องการเปลี่ยนพื้นที่เมืองให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น ทีม Zipevent ได้เสนอแนวคิด ‘Public Space Platform’ ในโครงการ Hack BKK เพื่อสร้าง ‘แพลตฟอร์มรวบรวมพื้นที่สร้างสรรค์กรุงเทพฯ’ ช่วยให้ประชาชนที่ต้องการจัดงานในสถานที่และพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร สามารถจองพื้นที่กว่า 500 สถานที่ได้หลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น เช่น หอศิลป์, สวนสาธารณะหลัก, สนามกีฬา, ศูนย์เยาวชน, พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อเป้าหมายในการสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งเทศกาลสร้างสรรค์ ที่เกิดจากอีเวนต์โดยประชาชน เพื่อประชาชน

สตาร์ทอัพไทย เป็นไทยสู้ภัย โรคระบาด

เป็ดไทยสู้ภัย เซอร์วิสจัดการโรคระบาด

ช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา นอกจากจะได้ภาคประชาชนช่วยเหลือกันอย่างขันแข็งผ่านการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริจาคซื้อหน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ เจลล้างมือ ไปจนถึงการมอบเงินและอาหารให้คนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์แล้ว ทางสมาคมไทยเทคสตาร์ทอัพและพันธมิตรก็ได้นำเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มของตัวเองมาร่วมกันพัฒนาเป็นเซอร์วิสด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้ความรู้ ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรค ภายใต้ชื่อ ‘เป็ดไทยสู้ภัย’

เซอร์วิสของเจ้าสีเหลืองนี้ มีจุดที่เป็นเหมือนประตูด่านหน้าอยู่ที่เฟซบุ๊ก เป็ดไทยสู้ภัย โดยแบ่งการดำเนินงานได้เป็น 5 ส่วนคือ การคัดกรองข่าวสาร และเผยแพร่เฉพาะข้อมูลที่ถูกต้อง, ระบบคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อส่งต่อไปรักษาตัวยังโรงพยาบาล, ติดตามกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำและกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็น Super-Spreader โดยใช้ไลน์และแอปพลิเคชันตรวจสอบข้อมูล, ระบบรวบรวมโรงแรมที่ปรับสภาพพร้อมรองรับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ และมีการตกแต่งรถให้ปลอดภัยสำหรับคนขับเพื่อใช้รับส่งคนกลุ่มเสี่ยงนี้

นอกจากนี้ ทีมกรุงเทพ-เกาเหลาเป็ด-เวชการ ที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง ‘เป็ดไทยสู้ภัย’ ยังได้เสนอแนวคิด ‘BKK Med for All’ ภายใต้หลักคิด อยู่กรุงเทพฯ รักษาได้ไม่ต้องใช้เส้น ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาอันเกิดจากระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในช่วงโควิด-19 เนื่องจากมีแค่กลุ่มคนเพียงบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ แต่กลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มคนที่มีความต้องการจริงๆ กลับไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขได้โดยตรง 

ด้วยเหตุนี้ Bangkok Medical for All จึงได้รับการพัฒนาและออกแบบมาเพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถบริหารจัดการการให้บริการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้เงื่อนไขของระเบียบภาครัฐ และผู้ที่อาศัยในกรุงเทพฯ ทุกคนที่ต้องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ ด้วยเทคโนโลยีและแนวคิดการจัดการแบบ Citizen-centric และ Open Innovation ที่จะช่วยติดอาวุธให้กับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข และเปิดให้กลุ่มคนที่มีความสามารถจากกลุ่มชุมชนที่หลากหลายเข้ามาช่วยทำหน้าที่คัดกรอง เพื่อสร้างกลไกที่ยืดหยุ่นและตอบสนองแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินของกรุงเทพฯ ได้หลากหลายระดับ

สตาร์ทอัพ Horganice หอพัก ที่อยู่อาศัย

Horganice ฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยในราคาที่เข้าถึงได้

ชาวหอพักถูกใจสตาร์ทอัพเจ้านี้แน่นอน เพราะตอบโจทย์ทั้งฝั่งผู้ประกอบการหอพักและผู้อยู่อาศัย อะไรที่เคยเป็นปัญหางงๆ สื่อสารไม่เข้าใจ Horganice หยิบเอา Pain Point เหล่านี้มาแก้ปัญหา สร้างระบบจัดการให้ครบถ้วน

อธิบายอย่างง่ายๆ ถึงระบบ Horganice คือเป็นระบบตัวกลางที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจ และผู้เช่า ให้ติดต่อสื่อสารกันได้เร็วขึ้น และช่วยในการบริหาร จัดการหอพัก อะพาร์ตเมนทต์ ให้สะดวกและมีประสิทธิภาพ โดยมาพร้อมกับการสร้างบิลค่าเช่าหรือใบแจ้งหนี้ที่ง่ายที่สุด แถมส่งบิลไปให้ผู้เช่าในรูปแบบออนไลน์ ที่เปิดอ่านบิลได้รวดเร็วและทันที 

นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันอีกหลากหลายที่เป็นประโยชน์ เช่น กระดานข่าวสาร การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ สถิติกำไร บันทึกรายรับ รายจ่าย เป็นต้น เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผน และบริหารงานให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ในโครงการ Hack BKK ทาง Horganice ได้เสนอแนวคิด ‘Housing Stock for First-Jobber’ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลห้องพักในราคาที่เหมาะสมกับรายได้ของ First-Jobber ที่มีมากกว่า 400,000 คน ด้วยเป้าหมายให้มีที่อยู่อาศัย และมีเงินเก็บภายใน 5 ปีของการทำงาน ผ่านหลักการทำงานที่จับคู่หอพัก และ First-Jobber ที่มีความหลากหลายตามความต้องการของแต่ละบุคคล และนำรายได้ส่วนของ Commission ที่เก็บจากหอพัก มาอุดหนุนในส่วนค่าห้องให้ถูกลง และอัตราคงที่ตลอด 5 ปี 

นอกจากนี้ยังเสนอให้จัดตั้งกองทุนอยู่ดีมีออม เพื่อให้ First-Jobber หักเงิน 20 เปอร์เซ็นต์จากฐานเงินเดือนในทุกเดือน เพื่อจัดสรรในการจ่ายค่าห้องพัก และเก็บออม โดยบริษัทนายจ้างร่วมสมทบเงินทุนในกองทุนเท่ากับหรือมากกว่ายอดออมสุทธิ 5 ปี โดยแบ่งจ่ายเป็นอัตราขั้นบันไดตลอด 60 เดือน (5 ปี)

สตาร์ทอัพ baania ฐานข้อมูล ที่อยู่อาศัย

Baania ฐานข้อมูลชุมชนและที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ

ค้นหาบ้านในฝัน หาข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซื้อบ้าน ตกแต่งบ้าน และประเมินราคาบ้าน ทั้งหมดนี้คือบริการที่ Baania สตาร์ทอัพผู้ยืนหนึ่งแห่งวงการอสังหาริมทรัพย์ตระเตรียมไว้ให้คนที่สนใจลงทุนด้านนี้หรืออยากมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่รวบรวมชุดข้อมูลในทุกมิติของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ทั้งอุปสงค์ อุปทาน ทำเล ข้อมูลผู้บริโภค ข้อมูลโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ รวมถึงแนวโน้มและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยไว้หมดแล้ว ทำให้สตาร์ทอัพเจ้านี้มีข้อมูลที่เหล่านักธุรกิจต้องการ เพื่อวางแผนหรือหาโอกาสทางธุรกิจ พร้อมทั้งลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมาก็มีคนนำข้อมูลที่อยู่และรายละเอียดของอสังหาริมทรัพย์จากที่นี่ไป Plot ทำแผนที่อสังหาริมทรัพย์ สร้างประโยชน์ให้คนทั่วไปที่มองหาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ได้โดยใช้แค่ปลายนิ้วคลิก

เพราะมีข้อมูลที่อยู่อาศัยอยู่ในมือ บาเนีย (ประเทศไทย) Government Big Data Institute และกรุงเทพมหานคร ได้เสนอแนวคิด ‘Open Data for Better Bangkok’ ในโครงการ Hack BKK เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยี Big Data โดยผนวกฐานข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทั้งสามหน่วยงานมี ในด้านอสังหาริมทรัพย์ และข้อมูลที่กรุงเทพฯ มี เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานสะท้อนศักยภาพของแต่ละเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ ทั้งในด้านการเดินทาง การเข้าถึงร้านค้าหรือบริการอื่นๆ สำหรับต่อยอดวางแผนการพัฒนาพื้นที่รายเขตให้สอดคล้องกับดัชนีความอยู่สบาย อยู่ปลอดภัยของชุมชน รวมถึงพัฒนาพื้นที่หรือจัดทำผังเมือง ลดความแออัดของพื้นที่เมือง และออกแบบพื้นที่เพื่อพัฒนาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

viabus สตาร์ทอัพ รถเมล์ ขนส่งโดยสาร

ViaBus แอปพลิเคชันวางแผนการเดินทางโดยรถเมล์และเรือโดยสาร

แพลตฟอร์มคู่ใจชาวคนเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ เพราะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นมากกับการวางแผนการเดินทาง ไม่ต้องรอรถเมล์โดยไร้ความหวังอีกต่อไป

ViaBus คือแอปพลิเคชันติดตามและนำทางขนส่งโดยสารเรียลไทม์ รองรับข้อมูลระบบโดยสารทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถมินิบัส รถไฟฟ้า รถสองแถว หรือแม้แต่เรือโดยสาร แบ่งฟังก์ชันหลักๆ เป็นค้นหาป้ายและสายระบบโดยสารในกรุงเทพฯ และอีก 20 กว่าจังหวัด ดูป้ายรถโดยสารที่อยู่ใกล้ที่สุด และติดตามรถโดยสารที่ผ่านป้ายที่ต้องการ พร้อมทั้งช่วยแนะนำเส้นทางได้

สำหรับโครงการ Hack BKK ViaBus ได้นำเสนอแนวคิด ‘ViaBus แอปฯ ขนส่งโดยสารเรียลไทม์’ โดยเป็นเฟสที่จะขยายการให้บริการให้ครอบคลุมการขนส่งโดยสารในรูปแบบอื่นๆ ทั้งรูปแบบ รถ ราง เรือ เพื่อให้ผู้โดยสารในกรุงเทพฯ เกือบ 3 ล้านคนสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ประกอบการตัดสินใจในการเดินทาง รวมถึงบริหารเวลาและวางแผนการการเดินทางได้ดีขึ้น 


Sources :
Facebook : Thai Startup – สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย | Thai Startup – สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย
Hfocus | hfocus.org/content/2020/04/19105 
SET Your Startup Business Guide รู้จักธุรกิจสตาร์ทอัพ | https://bit.ly/3Si1fsU 

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.