คุยกับ ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคม Thai Startup - Urban Creature

โมงยามที่แดดยามบ่ายกำลังสาดแสงเต็มแรง ลิฟต์ของห้างฯ ICONSIAM พาเราขึ้นมาบนชั้น 7 ภาพมวลชนขวักไขว่ในงาน Techsauce Global Summit 2022 คือสิ่งแรกที่ทักทายเราหลังก้าวผ่านประตู เสียงบรรยายว่าด้วยเทคโนโลยีดังมาแต่ไกล สมเป็นงานประชุมด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ที่รวมหัวกะทิเรื่องเทคฯ และผู้สนใจจากทั่วโลกมาไว้ด้วยกัน เช่นเดียวกับสตาร์ทอัปไทยหลายเจ้าที่มารวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และคอนเนกชัน-สิ่งสำคัญที่คนทำธุรกิจไม่มีไม่ได้

แต่วันนี้ เราไม่ได้จะมาแลกเปลี่ยนอะไรกับใคร อันที่จริง หากมีสิ่งที่พอจะนับเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ได้คือ เรามีนัดกับ ‘ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์’ ชายหนุ่มที่หลายคนอาจรู้จักในบทบาทการเป็นอาจารย์วิชากฎหมายภาษี ไม่ก็บทบาทของผู้ก่อตั้ง iTAX สตาร์ทอัปที่นำเทคโนโลยีมาช่วยให้คนไทยคิดคำนวณภาษีกันได้ง่ายๆ โดยไม่เปิดตำรา

ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคม Thai Startup

แต่บทบาทที่พาให้เรามาคุยกับเขาในวันนี้ คือนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยคนล่าสุด

สรุปอย่างย่นย่อให้คนที่ไม่เคยรู้จักสมาคมนี้มาก่อน สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยหรือเรียกสั้นๆ ว่า THAI STARTUP คือสมาคมที่ก่อตั้งมาแล้วกว่า 8 ปี มีสมาชิกเป็นสตาร์ทอัปรายน้อยใหญ่กว่า 100 ราย และทำหน้าที่ในการผลักดัน ส่งเสริม รวมถึงเป็นตัวกลางเชื่อมต่อให้สตาร์ทอัปไทยได้เติบโต เฉิดฉายได้ในระดับสากล

แต่พูดก็พูดเถอะ ในยุคแห่งโรคระบาดที่ไม่ได้คร่าแค่ชีวิตผู้คนแต่ยังคร่าธุรกิจสตาร์ทอัปให้ปิดตัวลงหลายราย คนในวงการตอนนั้นแทบจะมองไม่เห็นอนาคต นั่นจึงทำให้เรามานั่งคุยกับ ผศ. ดร.ยุทธนา วันนี้ ว่าด้วยทิศทางของสตาร์ทอัปไทยในยุค Post-Covid และการกอบกู้ความเชื่อมั่นของสตาร์ทอัปไทยให้กลับมาแข็งแกร่ง

แดดยามบ่ายกำลังสาดแสงเต็มแรง เสียงบรรยายว่าด้วยเทคโนโลยีดังแว่วเข้าหู แล้วบทสนทนาของเรากับชายตรงหน้าก็เริ่มต้นขึ้น

ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคม Thai Startup

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ จุดประสงค์ของการก่อตั้งสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยคืออะไร

ด้วยหลักการแล้ว ผมว่าจุดประสงค์เหมือนทุกๆ สมาคมคือ เกิดขึ้นมาเพื่อรักษาผลประโยชน์และเป็นกระบอกเสียงให้กับสมาชิก เพียงแต่ของเราจะมีภาพใหญ่ที่เราอยากเห็นชัดเจน นั่นคือเราอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้เป็นแค่ผู้บริโภคเทคโนโลยี แต่เราอยากเป็นประเทศที่พัฒนาเทคโนโลยีและสามารถส่งเทคโนโลยีระดับโลกออกไปให้ต่างชาติเขาได้ใช้ได้บ้าง

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ Penetration Rate (อัตราการเจาะตลาดของสินค้าหรือบริการหนึ่งๆ) สูงมากในทุกด้าน ทั้งการใช้อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย เวลาในการใช้ เราติดระดับ World Class ในด้านการบริโภค แต่ในด้านการผลิต เราแทบนึกกันไม่ออกเลย สมมติเปิดโทรศัพท์ขึ้นมา แอปฯ ในมือถือเรามีแอปฯ ไทยสักกี่แอปฯ โซเชียลมีเดียของเรามีแอปฯ อะไรบ้าง หรือแอปฯ แชต แอปฯ E-Commerce เรานึกไม่ออกเลย 

จากจุดนี้ ผมคิดว่าเราอาจจะปล่อยให้สถานการณ์นี้อยู่มานานเกินไป และจริงๆ สตาร์ทอัปไทยเก่งๆ มีเยอะมาก แต่คนไม่รู้ว่ามีอยู่ สิ่งที่สมาคมทำคือเราอยากบอกทุกคนว่าเรามีของแบบนี้อยู่นะ ไม่ถึงขนาดว่าจะต้องชาตินิยมจัดๆ แบบเฮ้ย เรามาใช้แต่ของไทย ไม่ใช้ของต่างชาติกันเถอะ ไม่ใช่แบบนั้น ผมอยากให้ผู้บริโภครู้สึกเชื่อมั่นว่าถ้าเอาสินค้าของสตาร์ทอัปไทยกับต่างชาติมาเทียบกัน เขาจะไม่รู้สึกต่อต้านของไทย 

ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคม Thai Startup

สมาคมมีบทบาทในการผลักดันสตาร์ทอัปไทยอย่างไรบ้าง

มิชชันของเราตอนนี้มี 3 ข้อ อย่างแรกคือเรา Unite Startup หรือหาสตาร์ทอัปให้เจอแล้วรวมกันเป็นก้อนให้ได้ ให้เขาเข้ามาเป็นสมาชิกของเรา จะได้รู้ว่าเขาต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง 

สองคือ Engage Partner เราหาคนนอกที่สามารถแก้ประโยชน์กันแบบ Win-win ซึ่งกันและกัน เช่น บริษัทหนึ่งอาจมองหา Solution (หนทางแก้ปัญหา) บางอย่าง เราก็ไปเสนอว่าจะเหนื่อยพัฒนาเองทำไม มีสตาร์ทอัปที่เคยทำตรงนี้แล้ว เขาสามารถเติมเต็มคุณได้ ในทางกลับกันสตาร์ทอัปเองก็ได้ทำธุรกิจจากตรงนี้ด้วย ซึ่งเราเปิดกว้างกับทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือสถาบันการศึกษา เราโอเคหมดเลย

อีกหนึ่งอย่างคือ Make an Impact อาจเป็นนิสัยของคนทำสตาร์ทอัปที่อยากเปลี่ยนโลก อยากให้โลกดีขึ้น ดังนั้นการที่เราไปหาพาร์ตเนอร์เหล่านี้ สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในท้ายที่สุดคือ การมีอยู่ของสตาร์ทอัปช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมและประเทศได้ นี่คือสิ่งที่เราโฟกัสมากๆ

เหล่านี้คือ Mission ของเรา ส่วน Vision ก็อย่างที่บอกไปคือ เปลี่ยนสถานะประเทศไทยจากการเป็นประเทศผู้บริโภคให้เป็นประเทศผู้ผลิต

ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคม Thai Startup

อะไรจุดประกาย Vision นี้

ก่อนจะเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคม ผมนั่งตั้งคำถามว่าอะไรคือเป้าหมายที่เราตื่นเต้นอยากจะทำ ด้วยความที่ผมทำสตาร์ทอัปของตัวเองอยู่แล้วด้วย เรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าแปลกดีคือคนไทยบริโภคกันเก่งมากเลย แต่เราบริโภคแต่ของต่างชาติเสียส่วนใหญ่

พูดให้เห็นภาพ สถานการณ์ของสตาร์ทอัปไทยเหมือนกับฟุตบอล เวลาฟุตบอลแข่งจะมีสิ่งที่เรียกว่าสนามเหย้ากับสนามเยือน ถ้าผมเป็นเจ้าภาพ เตะที่สนามบ้านผม สิ่งนี้เรียกว่าสนามเหย้า ทีมที่มาจากต่างประเทศก็จะเป็นทีมเยือน ซึ่งสนามเหย้าพอให้เป็นทีมเล็ก เราจะได้เปรียบกว่าทีมเยือนเพราะเรามีความคุ้นเคยกับสนามและมีกองเชียร์ ผมรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ควรจะเป็น 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ สตาร์ทอัปไทยไม่มีความได้เปรียบในเรื่องสนามเหย้าเลย ต่างชาติเข้ามาได้ไม่ยาก เผลอๆ การเล่นในบ้านมีกฎเกณฑ์นั่นนี่ที่ทำให้ผู้ประกอบการทำงานยากกว่าเดิมด้วย ทำไมการเล่นสนามเหย้ามันยากขนาดนี้ เราก็คิดว่าน่าจะลองเปลี่ยนวิธีคิดว่าทำอย่างไรให้การอยู่ในสนามเหย้ามันได้ในสิ่งที่ควรจะได้ เพราะอย่าลืมว่าการตั้งบริษัทในไทยเราจ่ายภาษีเขาทุกบาท กำไรทุกๆ 20 เปอร์เซ็นต์ มีสรรพากรเป็นพาร์ตเนอร์เราอยู่ การจ้างงานก็เกิดในประเทศแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ต่างชาติเขาเข้ามาก็เสีย 7 เปอร์เซ็นต์อย่างมาก กำไรโกยกลับบ้านหมด นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกว่าสตาร์ทอัปไทยควรจะถูกมองเห็นและผลักดันมากกว่านี้

มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เจ้าบ้านคนไทยไม่ค่อยได้เปรียบในบ้านตัวเอง อะไรทำให้สตาร์ทอัปไทยแจ้งเกิดได้น้อย

คำเดียวคือความเชื่อมั่น

ในมุมของคนไทยบางคน พวกเขาอาจมีความเชื่อมั่นต่อสินค้าไทยน้อยกว่าต่างชาติ มันอาจจะเป็นไบแอสก็ได้ หลายคนรู้สึกว่าคนต่างชาติเก่ง แต่คนไทยไม่เก่ง อันนี้ฟังแล้วก็ท้อนะ แต่ผมไม่รู้สึกว่าจริง ผมไม่เชื่อ (ยิ้ม) 

ถ้าไปเดินดูในงาน Techsauce วันนี้ เราจะเจอสตาร์ทอัปเก่งๆ ทั้งนั้น แต่ติดตรงที่พวกเขายังไม่ได้รับความเชื่อมั่น เพราะอาจไม่มีใครไปจุดประกายให้เห็นชัดเจนว่าสตาร์ทอัปไทยทำได้ดี แค่ไม่มีโอกาส ยกตัวอย่างการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ พอมันมีความไม่มั่นใจตรงนี้รัฐก็ไม่กล้าจ้างสตาร์ทอัป เขาคิดว่าไปจ้างบริษัทต่างชาติที่ได้ยินชื่อเสียงมานานแล้วดีกว่า อย่างน้อยก็ไม่โดนไล่ออกแน่นอน ซึ่งเราเองรู้สึกว่ามันน่าเสียดายเหมือนกัน ถ้าเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้มันน่าจะดีกับทุกคน

จากเป้าหมายเรื่องการเปลี่ยนบทบาทจากผู้บริโภคเป็นคนผลิต ทางสมาคมวางแผนการดำเนินการอย่างไรต่อ 

อย่างแรก คนที่ทำสตาร์ทอัปอยู่แล้วเขาควรจะทำให้เป็นธุรกิจได้จริงๆ คนกลุ่มนี้มักขาดเงินทุน เราก็พยายามไปหาแหล่งเงินทุนมาเสนอ บอกเขาว่าที่ไหนมีแหล่งเงินทุนให้บ้าง อาจเป็นหน่วยงานรัฐหรือกลุ่มนักลงทุนที่เราจะพาให้พวกเขามาเจอกัน อีกทางหนึ่งคือ Business Matching ในมุมของการเป็นธุรกิจแบบ B2B (Business to Business) 

สมมติว่ามีคนสนใจเรื่อง FinTech (Financial Technology เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน) เราอาจจัดอีเวนต์สักวันที่เอาผู้ประกอบการ FinTech ทั้งหมดมารวมตัวกันและเล่าให้ฟังกันว่าทำอะไรอยู่บ้าง บริษัทที่สนใจเรื่อง FinTech ก็จะมานั่งฟังแล้วดูว่าช่วยเติมเต็มหรือทำอะไรด้วยกันได้บ้าง อีกวันหนึ่งอาจเป็น Health Tech (เทคโนโลยีเกี่ยวกับสุขภาพ) ที่เราพาโรงพยาบาลต่างๆ มาเจอกับคนทำสตาร์ทอัปทางนี้ว่าทำอะไรร่วมกันได้ไหม นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นทีละอย่าง เพราะผมเชื่อว่าธุรกิจและคนลงทุนหลายกลุ่มอย่างบริษัทจดทะเบียน สภาอุตสาหกรรม หอการค้า น่าจะสนใจ 

หรือเอาจริงๆ เราจะปล่อยให้คนทำสตาร์ทอัปไปหาเองก็ได้นะ แต่อย่างนั้นคือไม่ต้องมีสมาคมก็ได้มั้ง (หัวเราะ) เราอยากส่งเสริมให้เขาเติบโตได้จริงๆ รวมถึงปกป้องผลประโยชน์ให้สมาชิกในกลุ่ม นั่นคืองานของเรา 

อย่างที่สองคือ เราส่งเสริมให้มีการเปิดสตาร์ทอัปเพิ่ม ซึ่งตอนนี้หลายหน่วยงานก็ทำอยู่ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย สิ่งที่เราทำได้คือการแลกเปลี่ยน แชร์ประสบการณ์ มี Mentoring Session (เซสชันให้คำปรึกษา) ไกด์ให้หน้าใหม่รู้ว่าควรทำอย่างไร สิ่งไหนที่ควรระวัง เพราะมันจะทำให้พวกเขาเริ่มต้นสร้างสตาร์ทอัปของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เทรนด์ของสตาร์ทอัปในประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไร

ก่อนหน้านี้วงการสตาร์ทอัปไทยค่อนข้างเงียบ แต่น่าจะกำลังกลับมาคึกคักในอีกไม่นาน อย่างไรก็ตาม มันมีแรงต้านอยู่เหมือนกัน เพราะเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ได้ฟื้นขนาดนั้น พอเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ผู้ลงทุนอาจจะต้องเลือกลงทุนอย่างระมัดระวังกันมากขึ้น 

ในช่วงแรก สตาร์ทอัปทุกคนยังงงๆ ไปบอกนักลงทุนว่าขอเงินพันล้านแล้วผมจะไปเป็นเจ้าตลาด ทุกคนเผาเงินแข่งกัน เอาเงินมาฟาดใส่กัน มันเลยไม่มีใครยึดตลาดได้ จังหวะนั้นนักลงทุนก็กระอักเลือด ธุรกิจเองก็กระอักเลือด รูปแบบที่ไม่ยั่งยืนแบบนั้นมันจะเริ่มหายไป ในยุคหลัง นักลงทุนและสตาร์ทอัปจึงพยายามปรับโมเดลธุรกิจให้ยั่งยืนมากขึ้น เรียนรู้ว่าเผาเงินแข่งกันไม่เวิร์กแล้ว ดังนั้นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือความยั่งยืน คุณต้องตอบคำถามให้ได้ว่าสิ่งที่คุณจะขาย คุณจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร 

ข้อดีคือ อย่างน้อยการทำงานก็จะสนุกขึ้น แต่พอนักลงทุนระวังตัว พวกเขาอาจเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัปที่เสี่ยงต่ำ เงินทุนก็จะผันไปหาสตาร์ทอัปรายที่โตแล้ว เริ่มพิสูจน์ตัวเองได้แล้ว ส่วนคนที่พยายามพิสูจน์ตัวเองอยู่ เงินก็อาจมาถึงเขายาก ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เราจึงพยายามทำอย่างไรก็ได้ให้สตาร์ทอัปพิสูจน์ว่าเขาอยู่ในระดับที่ลงทุนได้ และหาเครือข่ายที่รับพวกเขาได้มาเจอกัน นอกจากนี้ก็พยายามหาแหล่งเงินทุนรูปแบบใหม่ๆ นอกจากนักลงทุน เช่น เงินกู้ ทุนสนับสนุนจากรัฐ ทำให้เขาเติบโตได้ด้วย

ถอยกลับมามองภาพกว้างกว่านั้น ทิศทางของสตาร์ทอัประดับโลกจะเดินไปทางไหน ส่วนมากให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร

ผมว่าพวก Deep Tech มาแน่ เทคโนโลยีประเภทใช้ AI ระดับลึกๆ เริ่มทำสิ่งที่เคยดูในหนังกันและคิดว่ามันทำไม่ได้ ยกตัวอย่างสตาร์ทอัปชื่อ EpiBone เขาทำกระดูกเทียมที่เพาะมาจากกระดูกจริง ไม่ใช่เหล็กอย่างที่เคยทำกัน อันนี้คนไทยที่อยู่ในอเมริกาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ซึ่งที่นั่นอาจมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เขาเติบโตได้ง่ายกว่าก็ได้

เห็นเคสนี้แล้วรู้สึกเสียดายเหมือนกันเพราะคนไทยเก่งๆ มีเยอะ แต่เราเรียกสตาร์ทอัปของเขาว่าเป็นสตาร์ทอัปไทยไม่ได้ คนไทยหลายคนทำงานในองค์กรใหญ่ๆ อย่างไมโครซอฟต์ อามะซอน พวกเขาไม่กระจอกเลย ประเด็นคือทำไมเราไม่สามารถสร้างเมืองให้เขาอยากกลับมาพัฒนาอะไรบางอย่างที่ไทยได้ล่ะ

สภาพแวดล้อมแบบไหนที่เอื้อให้สตาร์ทอัปเติบโตได้ดีที่สุด

สภาพแวดล้อมที่ดีเกิดจากหลายองค์ประกอบมาก ความเชื่อมั่นของคนที่ใช้งานก็เป็นเรื่องหนึ่ง เพราะถ้าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น การ Adoption (นำมาใช้) จะเกิดขึ้นง่าย สมมติว่าผมปล่อยแอปฯ มาแอปฯ หนึ่ง คนตื่นเต้นกัน มีคนอยากโหลด เริ่มบอกต่อ ลองใช้ วิจารณ์กัน มันก็ทำให้สตาร์ทอัปไม่ต้องเหนื่อยทำการตลาดมาก และได้รับฟีดแบ็กเร็ว ทีนี้สตาร์ทอัปจะพัฒนาได้เร็วขึ้นจนประสบความสำเร็จ ซึ่งสตาร์ทอัปรุ่นพี่เหล่านี้ก็จะกลับมาเป็นคนที่มีเงินทุนไปลงทุนกับสตาร์ทอัปรุ่นน้อง โดยช่วยไกด์หรือโค้ชเขา แต่สถานะแบบนี้ยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในบ้านเราเลย ส่วนที่เห็นชัดมากๆ คืออเมริกา

เคสที่คลาสสิกที่สุดคือ PayPal ตอนที่ eBay ซื้อ PayPal ไป จะมีคำว่า PayPal Mafia ใช้เรียกแทน Co-founder (ผู้ก่อตั้งร่วม) ของ PayPal ที่มีหลายคน ซึ่งพอพวกเขาขาย PayPal ให้ eBay และได้เงินทุนไป พวกเขาก็จะเอาเงินทุนนั้นไปลงทุนต่อ สร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา คนกลุ่มนี้จึงถูกเรียกว่า Serial Entrepreneur คือได้เงินมาแล้วพัฒนาต่อ จ้างคนต่อ เติบโตต่อ คล้ายๆ เป็นต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขา ซึ่งบ้านเรายังไม่มีภาพนั้น สิ่งที่บ้านเราเป็นคือต้นไม้ที่ยังผลิใบไม่เต็มลำต้น มันอาจจะทำให้การเดินต่อขลุกขลักนิดหน่อย

ถึงตอนนี้ คุณคิดว่าสตาร์ทอัปไทยสามารถแข่งขันกับคนอื่นในตลาดโลกได้ไหม

ผมคิดว่าโดยศักยภาพเราแข่งได้ แต่อาจไม่มีความกล้าขนาดนั้น ต้องบอกก่อนว่าสตาร์ทอัปไทยยังไม่ค่อยมีรุ่นที่ออกไปต่างประเทศจริงจังแล้วกลับมาเทรนน้อง ผมก็ไม่ใช่อย่างนั้น แต่อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับมิชชันของแต่ละคน แต่พอมีรุ่นพี่อย่างนี้เยอะเข้า รุ่นน้องเลยมองไม่ค่อยออกว่าการไปบุกตลาดต่างประเทศเป็นยังไง ซึ่งจริงๆ ศักยภาพเราถึง เพียงแต่เราอาจไม่ได้มี Global Mindset

แต่อย่างสตาร์ทอัปสิงคโปร์ ประเทศเขาเล็ก เกาะมีอยู่เท่านั้น ถ้าเขาทำขายแต่ตลาดสิงคโปร์เขาอาจต้องเตรียมตัวเจ๊งได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าเขาจะทำของมาสักชิ้น วิธีคิดของเขาจะเป็น Global Mindset (ขายทั่วโลก) ตั้งแต่ Day 1 หรืออย่างสตาร์ทอัปฟิลิปปินส์ที่ช่วงนี้กำลังมา ด้วยความที่พูดภาษาอังกฤษกันได้อยู่แล้ว เขามองว่าไหนๆ จะทำสตาร์ทอัปทั้งที เหนื่อยทีเดียวขอเหนื่อยแบบ Global เลยแล้วกัน วิธีคิดของเรากับเขาเลยจะแตกต่างกันตั้งแต่แรก

ถ้ามองในแง่การพัฒนาเมือง คุณคิดว่าการมีอยู่ของสตาร์ทอัปช่วยยกระดับหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในเมืองอย่างไร

ผมยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่เราเพิ่งทำเสร็จไปคือ #HackBKK เป็นโครงการที่สมาคมไทยสตาร์ทอัพจับมือกับกรุงเทพมหานครทำโครงการ Hackathon (กิจกรรมที่ชวนสตาร์ทอัปมาระดมสมองหาไอเดียของสินค้าหรือบริการใหม่ๆ และทำโพรโตไทป์เพื่อพิตช์แข่งกันในเวลาสั้นๆ) เพื่อดูว่าสตาร์ทอัปกับกรุงเทพมหานครสามารถทำอะไรร่วมกันเพื่อพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นได้บ้าง การจับมือกันนี้ช่วยให้สตาร์ทอัปกับกรุงเทพฯ สร้างอิมแพกต์ร่วมกันได้

ยกตัวอย่าง Zipevent เป็นสตาร์ทอัปที่ทำเกี่ยวกับอีเวนต์ นอกจากจะมีระบบที่บอกว่าช่วงนี้มีกิจกรรมอะไรน่าสนใจบ้าง เขาก็บอกได้ด้วยว่ามีพื้นที่ว่างตรงไหนที่เปิดให้จองเพื่อจัดกิจกรรมได้บ้าง ทั้งยังมองว่า กทม.มีพื้นที่บางส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่สามารถทำเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมได้ ผู้ใช้ที่เป็นคนเมืองทั่วไปก็สามารถจองพื้นที่ผ่าน Zipevent ได้เลย เมืองจะได้คึกคัก มีชีวิตชีวาขึ้น

หรืออีกอันหนึ่งคือ Vulcan Coalition เป็นสตาร์ทอัปที่ทำ AI ซึ่งเขาใช้ผู้พิการรูปแบบต่างๆ ทั้งคนที่มีภาวะออทิสติก ผู้พิการที่ต้องนั่งวีลแชร์ หรือผู้พิการทางสายตามาเป็นเทรนเนอร์ให้ AI เพราะเขาอยากหาโอกาสให้คนพิการได้ทำงานที่ใช้ทักษะสูง ต่างจากภาพคนพิการที่เราเห็นทั่วไป ก่อนหน้านี้ กทม.เองก็มีการจ้างคนมาเป็นคอลเซ็นเตอร์ในหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้ว และคอลเซ็นเตอร์ก็เป็นหนึ่งในงานที่ กทม.สามารถขอ Supply คนพิการจาก Vulcan มาได้เพราะเขามีเครือข่ายผู้พิการอยู่เยอะ

ในทางกลับกัน รัฐมีวิธีสนับสนุนสมาคมไทยสตาร์ทอัปแบบไหนบ้าง

ส่วนใหญ่เป็นทุนสนับสนุน เราจะส่งข่าวเรื่องทุนให้สมาชิกเรื่อยๆ เพื่อดูว่ามีใครสนใจทุนนี้บ้างไหม อีกอย่างคือกิจกรรมต่างๆ เช่น เวลามีกลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสตาร์ทอัปจากต่างประเทศเข้ามา เขาก็เชิญสตาร์ทอัปปเป็นวิทยากร หรือคนในวงเสวนา Panellist ไปพูดคุยหารือร่วมกัน ไปออกบูทในอีเวนต์ นี่คือสิ่งที่ภาครัฐสนับสนุนอยู่เรื่อยๆ 

นอกจากนี้ก็มีกฎหมายภาษีที่เกี่ยวข้องกับสตาร์ทอัป ซึ่งล่าสุดมีการเว้นภาษีให้ 10 ปีสำหรับกลุ่ม VC (Venture Capital ธุรกิจร่วมลงทุน) และผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัปจนสำเร็จ จริงๆ ก็ต้องขอบคุณที่ทุกคนเห็นความสำคัญ อยากทำให้สตาร์ทอัปเติบโต แต่ผมว่าจุดที่เรายังไม่เคยแก้เลยคือเรื่องความเชื่อมั่น ซึ่งอาจต้องกลับไปแก้ที่รากฐาน เพราะถ้าเรามีความเชื่อมั่น ต่อให้ไม่มี Incentive (เงินหล่อเลี้ยง) ใดๆ สตาร์ทอัปก็น่าจะไปต่อได้

สมาคมมีการวางแผนในการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้อย่างไร

ผมว่าเรื่องนี้เป็นงาน Long-term (ระยะยาว) มันคงเป็นไปไม่ได้ถ้าบอกให้คุณเชื่อแล้วพรุ่งนี้คุณจะเชื่อเลย ผมว่าเรื่องนี้ต้องตอกย้ำด้วยเมสเซจบางอย่าง อย่างการที่เราไปทำงานกับหน่วยงานรัฐ มันก็เป็นการตอกย้ำภาพว่าการมีอยู่ของสมาคมเป็นสิ่งที่โอเค สามารถช่วยสตาร์ทอัปได้ และถ้าเขามีโอกาสทำบางสิ่งบางอย่างกับเราแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมันก็ไม่แย่นี่นา มันจะเริ่มเกิดความเชื่อมั่นในภาพรวม บางทีสตาร์ทอัปที่เกิดขึ้นใหม่อาจไม่ค่อยมีความรู้มาก แต่เมื่อมีรุ่นพี่ไปเทรนพวกเขาทำให้เขาทำต่อได้ เขาก็อาจรู้สึกว่าสตาร์ทอัปไทยก็ใช้ได้นะ คุณภาพดี สตาร์ทอัปไทยสามารถเดินต่อไหว

ผมว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลาและความอดทนเหมือนกัน แต่อีกด้านหนึ่งคือเราต้องการโอกาสด้วย 

เวลาคุณไปเจอกลุ่มคนที่ทำสตาร์ทอัป สิ่งที่คุณบอกกับเขาบ่อยๆ คืออะไร

ให้กำลังใจ (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ถามว่าเป็นไงบ้าง มีอะไรให้เราช่วยไหม ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็บอกนะ ซึ่งเขาก็บอกเราแบบนี้เหมือนกัน ตอนนี้แวดวงมันเกิดความรู้สึกร่วมกันว่าเราพร้อมจะไปต่อแล้ว ทุกคนพร้อมจะทำงาน พร้อมจะผลักดันให้ภาพรวมของสตาร์ทอัปไทยไปได้ดี ช่วยกันคิดว่าทำยังไงให้ผู้บริโภคยอมรับเรา

ถ้าคนคนหนึ่งอยากเริ่มทำสตาร์ทอัปของตัวเอง สิ่งแรกที่ควรทำคืออะไร

ไปสำรวจตลาดก่อนว่าปัญหานั้นมีอยู่จริงไหม

ผมเจอสตาร์ทอัปจำนวนมากที่มาถึงก็ลงทุน ทำงานหลายอย่างมากโดยยังไม่ได้สำรวจว่าตลาดนี้อยากได้ของที่เราทำหรือเปล่า บางทีลงทุน จ้างงาน ทำของไปแล้ว แต่สุดท้ายไม่มีใครใช้ ถูกโยนทิ้งไป ผมเห็นภาพนี้บ่อยมากเลยนะ และคิดว่านี่เป็นความเสียหายที่ราคาแพงไปหน่อย เราสามารถเสียหายโดยเจ็บน้อยๆ ได้ ถ้าให้แนะนำคงอยากให้สำรวจรายละเอียดของตลาดก่อน

ภาพฝันสุดท้ายที่คุณอยากเห็นเป็นแบบไหน

อาจฟังดูเวอร์มากเลยนะ แต่ผมอยากให้ประเทศไทยมีบริษัทอย่าง Google, Meta, Line ที่เราเห็นแอปฯ เหล่านี้ปักธงอยู่ในโทรศัพท์ของคนต่างชาติ ผมว่านั่นเป็นภาพที่เจ๋งมากเลย เป็นภาพที่ผมอยากเห็น อยากให้มีของคนไทยไปอยู่บ้านคนอื่นบ้าง

ซึ่งถ้าวัดจากสถานการณ์ตอนนี้ อีกไกลไหมกว่าที่สตาร์ทอัปไทยจะไปถึง

ไกล แต่ยากไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ ถึงยากเราก็ต้องพยายาม

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.