เริ่มต้นปีใหม่แบบนี้ หลายคนคงสงสัยว่าตลอดทั้งปีจะมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง และเราจำเป็นต้องรู้มากน้อยขนาดไหน
Urban Creature รวบรวม 5 กิจกรรมและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกภายในปี 2024 ให้ทุกคนเตรียมตัวและตั้งตารอไปพร้อมกัน มีตั้งแต่มหกรรมกีฬาระดับโลก การย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย ไปจนถึงการเลือกตั้งใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลก รับรองว่าน่าสนใจและน่าติดตามไม่แพ้ปีที่ผ่านมาแน่นอน!
มหกรรมกีฬา ‘โอลิมปิก ปารีส 2024’
อย่างที่รู้กันว่า ทุก 4 ปีจะมีการจัดมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติที่ทั่วโลกตั้งตารอ นั่นคือ ‘โอลิมปิกฤดูร้อน’ และในปี 2024 ก็เป็นอีกครั้งที่การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศจะถูกจัดขึ้นโดยเมืองเจ้าภาพอย่างกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2024 ต่อด้วย ‘พาราลิมปิก ปารีส 2024’ ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 8 กันยายน 2024
ความพิเศษของโอลิมปิก ปารีส 2024 คือ จะเป็นการแข่งขันครั้งแรกที่บรรลุความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างสมบูรณ์ (Gender Parity) เพราะมีจำนวนนักกีฬาชายและหญิงที่เข้าร่วมแข่งขันเท่ากันในสัดส่วน 50 – 50 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งเพิ่มชนิดกีฬาประเภทคู่ผสมชาย-หญิง จาก 18 อีเวนต์เป็น 22 อีเวนต์
อีกเรื่องที่โอลิมปิก ปารีส ให้ความสำคัญคือสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เห็นได้จากการตั้งเป้าจัดงานให้เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Event) ด้วยการเลือกใช้สนามกีฬาชั่วคราวหรือสถานที่จัดงานที่มีอยู่แล้ว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการก่อสร้างอาคารใหม่
มากไปกว่านั้นยังบังคับใช้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ ขยะเป็นศูนย์ เศรษฐกิจหมุนเวียน การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
เรียกว่าเป็นปีสำคัญที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกซึ่งมีอายุกว่า 2,700 ปี จะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่มุ่งเน้นไปที่การไม่แบ่งแยก สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน
50 ประเทศเตรียมจัด ‘การเลือกตั้งใหญ่’
2024 อาจเรียกว่าปีของการเมืองโลกเลยก็ว่าได้ เพราะประชาชนกว่า 4 พันล้านคนในมากกว่า 50 ประเทศ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก จะได้ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งระดับประเทศ
ในบรรดาประเทศเหล่านี้ มี 7 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกเตรียมจัดการเลือกตั้งผู้นำประเทศในปีนี้ ได้แก่ อินเดีย (1.429 พันล้านคน) สหรัฐอเมริกา (340 ล้านคน) อินโดนีเซีย (278 ล้านคน) ปากีสถาน (241 ล้านคน) บังกลาเทศ (173 ล้านคน) รัสเซีย (144 ล้านคน) และเม็กซิโก (129 ล้านคน)
ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะโปร่งใสและเป็นธรรมเสมอไป เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีทั้งระบอบประชาธิปไตยบกพร่อง (Flawed Democracy) ระบอบผสม (Hybrid Regime) และระบอบอำนาจนิยม (Authoritarian) ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคหลักๆ ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถส่งเสียงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศของพวกเขาได้อย่างแท้จริง
ตัวอย่างเช่น อินเดียเป็นระบอบประชาธิปไตยบกพร่องที่อยู่ภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ผู้เป็นชาตินิยมมาเกือบ 10 ปี ซึ่งโมดีได้ขยายฐานอำนาจของตัวเองด้วยการปราบปรามชนกลุ่มน้อยและจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถาน บังกลาเทศ รวมถึงประเทศใกล้เคียงอย่างอินโดนีเซีย ก็กำลังดิ้นรนกับการหลุดพ้นจากลัทธิบูชาตัวบุคคลทางการเมืองที่ฝังรากลึกมายาวนาน
ถึงอย่างนั้น ผลการเลือกตั้งที่เราจะได้เห็นจากทุกประเทศในปีนี้จะชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การเมืองโลกเดินหน้าไปทางไหน และใครจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของโลกในศตวรรษที่ 21
‘สนธิสัญญาหยุดมลพิษพลาสติก’ จะเกิดขึ้นจริง
มลพิษจากพลาสติกเปรียบเสมือนโรคระบาดที่นานาชาติกำลังเร่งหาแนวทางการรักษา โดยหนึ่งในความพยายามที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2022 คือ โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ที่เริ่มเจรจา ‘สนธิสัญญาในการยุติมลพิษจากพลาสติก’
จากจุดนั้น สหประชาชาติได้ตั้งเป้าหาข้อสรุปอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ โดยมี 175 ประเทศที่เห็นพ้องต้องกันให้มีการร่างสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายภายในปี 2024 อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวยังครอบคลุมถึงเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมภายในวงจรชีวิตของพลาสติก รวมถึงขั้นตอนการผลิต การออกแบบ และการกำจัดขยะด้วย
ความตั้งใจนี้สอดคล้องกับรายงานของ UNEP ในปี 2022 ที่เปิดเผยว่า โลกของเราจะลดมลพิษจากพลาสติกได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2040 โดยระบุว่าขั้นตอนแรกที่โลกต้องลงมือทำคือการกำจัดพลาสติกที่ไม่จำเป็น เช่น บรรจุภัณฑ์ที่มากเกินไป จากนั้นต้องเพิ่มการใช้พลาสติกซ้ำอย่างขวดรีฟิล รวมถึงส่งเสริมการรีไซเคิลและเปลี่ยนมาใช้วัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกแบบเดิมๆ
ยิ่งถ้าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและอุตสาหกรรมพลาสติกด้วยแล้ว มลพิษจากพลาสติกจะลดลงเหลือ 40 ล้านตันในปี 2024 ซึ่งถือว่าต่ำลงมากเมื่อเทียบกับมลพิษที่อาจมีมากถึง 227 ล้านตันหากไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย
ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่น่าจับตามอง เพราะอาจนำมาซึ่งประโยชน์มูลค่ามหาศาล ทั้งยังลดความเสียหายจากมลพิษประเภทนี้ที่มีต่อสุขภาพของผู้คน สภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมด้วย
อินโดนีเซียย้ายเมืองหลวงไป ‘นูซันตารา’
ในมิติของการพัฒนาเมือง ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นไม่ค่อยบ่อยคือ ‘การย้ายเมืองหลวง’ เพราะภาครัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ แถมยังต้องโยกย้ายสิ่งอำนวยความสะดวกและประชากรนับล้านคน
แต่การย้ายศูนย์กลางประเทศก็เป็นแนวคิดที่หลายเมืองใหญ่หันมาพิจารณา เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาเมืองที่ซับซ้อน รวมถึงหนีภัยพิบัติทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีการถกเถียงกันถึงความจำเป็นในการย้ายเมืองหลวง เพราะผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่ากรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำในอีก 50 ปีข้างหน้า แต่ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการจากภาครัฐว่าจะย้ายเมืองหลวงจริงหรือไม่
แต่ที่แน่ๆ ประเทศที่จะเริ่มย้ายเมืองหลวงเร็วๆ นี้คือ ‘อินโดนีเซีย’ โดย โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้ประกาศแผนการนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2019 จากนั้นก็ดำเนินการย้ายที่ตั้งเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังผืนป่าในจังหวัดกาลีมันตัน บนเกาะบอร์เนียว โดยเมืองหลวงใหม่ที่ทั่วโลกจะได้ยลโฉมกันมีชื่อว่า ‘นูซันตารา’ (Nusantara) ซึ่งแปลว่า ‘หมู่เกาะ’ ในภาษาอินโดนีเซียนั่นเอง
สาเหตุสำคัญที่อินโดนีเซียต้องย้ายศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจ เกิดจากปัญหาความแออัดและจำนวนประชากรในกรุงจาการ์ตาที่มีมากเกินไป หรือราว 10.5 ล้านคน ในขณะที่พื้นที่มีอยู่เพียง 661.5 ตารางกิโลเมตร อธิบายให้เห็นภาพคือ ขนาดเล็กกว่ากรุงเทพฯ ถึง 3 เท่า แต่มีประชากรหนาแน่นเกือบเท่ากัน
ความหนาแน่นของประชากรนำมาซึ่งปัญหาเมืองที่ซับซ้อน ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การจราจรติดขัด พื้นดินยุบเพราะน้ำประปาถูกสูบไปใช้ นี่ยังไม่รวมถึงมลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5 และการคาดการณ์ว่าหนึ่งในสามของเมืองอาจจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2050 ทำให้ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ต้องรีบมองหาฐานที่ตั้งใหม่ให้กับเมืองหลวง
คาดการณ์ว่านูซันตาราจะมีขนาดครอบคลุม 2,560 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเมืองหลวงเดิมเกือบ 4 เท่า แถมยังล้อมรอบด้วยภูมิประเทศที่เป็นเนินเขา ป่าไม้ และอ่าวธรรมชาติ ทั้งนี้ การก่อสร้างเมืองนูซันตาราเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2019 และอาจต้องใช้เวลาหลายทศวรรษจึงจะสร้างเสร็จสมบูรณ์
นอกจากการแก้ปัญหาเมืองแออัดที่เจอในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซียยังต้องการสร้างมหานครแห่งใหม่ให้เป็น ‘เมืองป่าไม้ที่ยั่งยืน’ (Sustainable Forest City) ที่ยึดเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมือง โดยรัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าย้ายประชาชนมากถึง 1.9 ล้านคนไปยังนูซันตาราภายในปี 2045 โดยข้าราชการบางส่วนจะเริ่มย้ายออกเร็วที่สุดภายในปี 2024
เชื่อว่าอีกไม่นาน ทั่วโลกจะได้เห็นกันว่านูซันตาราจะมีหน้าตาเป็นไปตามที่รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนไว้หรือไม่
‘มิกกี้ เมาส์’ กลายเป็นสมบัติสาธารณะ
ปิดท้ายด้วยความเปลี่ยนแปลงของตัวการ์ตูนยอดนิยมของเด็กๆ ทั่วโลกอย่าง ‘มิกกี้ เมาส์’ ที่ลิขสิทธิ์หมดอายุและกลายเป็นสมบัติสาธารณะ (Public Domain) ในสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024
หมายความว่าต่อจากนี้ใครก็สามารถคัดลอกหรือทำซ้ำเจ้าหนูสีดำของดิสนีย์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ใช่ว่าจะดัดแปลงมิกกี้ เมาส์ เวอร์ชันไหนก็ได้ เพราะการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่สิ้นสุดลงครั้งนี้ครอบคลุมเฉพาะ ‘มิกกี้ เมาส์ เวอร์ชันปี 1928’ ที่เป็นภาพขาวดำจาก Steamboat Willie ภาพยนตร์การ์ตูนสั้นเรื่องแรกที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักกับตัวละครมิกกี้ เมาส์ นั่นเอง
ก่อนหน้านี้ ทางดิสนีย์ได้พยายามต่อสู้เพื่อรักษาลิขสิทธิ์ของคาแรกเตอร์นี้ไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในตอนแรกรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขยายการคุ้มครองให้หมดอายุในปี 1984 แต่หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายขยายความคุ้มครองเพิ่มเป็น 95 ปี และสิ้นสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่กฎหมายลิขสิทธิ์แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ทำให้มิกกี้ เมาส์ เวอร์ชันออริจินัลยังคงได้รับการคุ้มครองในบางประเทศ
นอกจากมิกกี้ เมาส์ เวอร์ชันออริจินัล ลิขสิทธิ์ของผลงานอื่นๆ จากปี 1928 ก็หมดอายุและกลายเป็นสมบัติสาธารณะในสหรัฐฯ เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้เงียบของชาร์ลี แชปลินเรื่อง The Circus และหนังสือของนักเขียนชาวอังกฤษอย่าง A. A. Milne เรื่อง The House at Pooh Corner
ต้องรอติดตามต่อไปว่า เมื่อผลงานเหล่านี้ไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองอีกต่อไป ผู้คนจะนำไปใช้ประโยชน์หรือสร้างสรรค์ผลงานอะไรบ้างในอนาคต
Sources :
BBC | shorturl.at/jxBO4
CNN | shorturl.at/iswW7
Foreign Policy | shorturl.at/bJRX5
Nice News | bit.ly/425XcpS
Paris 2024 | bit.ly/4aXJwRF
Paris je t’aime | bit.ly/420Vp59
PBS NewsHour | shorturl.at/uxCG4
The Guardian | bit.ly/3RTo0Vw
Time | shorturl.at/csB49
UN Environment Programme | bit.ly/48DlXMr