5 Street Furnitures ทั่วโลกที่เราคิดว่าเจ๋ง ! ดีไซน์ ‘ข้างถนน’ ที่มาพร้อมฟังก์ชันเพื่อคนเมือง - Urban Creature

จำม้านั่งรอรถเมล์ใน Forrest Gump กันได้ไหม ? ม้านั่งไม้ตัวยาวเรียบง่าย ที่แม้จะออกแบบมาเพียงเพื่อใช้รอรถเมล์ อย่างมากก็ห้านาที สิบนาที (ต่อคัน) แต่ม้านั่งตัวนั้นก็ถูกออกแบบมาให้สบายพอที่ Tom Hanks จะสามารถเล่าประสบการณ์ทั้งชีวิตที่ผ่านมาของตนให้คนแปลกหน้าทั้งสามคนและเหล่าผู้ชมภาพยนตร์ฟังได้แบบไหลลื่นคล้อยตามน่าประทับใจ

ทำไม Public Design จึงสำคัญ ? 

คราวนี้อยากให้ลองจินตนาการว่า หากคุณ Forrest Gump เป็นคนไทย และป้ายรถเมล์นั้นไม่ได้ตั้งอยู่ที่ซานฟรานซิสโก แต่ตั้งอยู่สี่แยกคลองตันเรานี่เอง จำม้านั่งยาวรอรถเมล์บ้านเราได้ใช่ไหม ? ในทางทฤษฏีมันคือม้านั่งชนิดหนึ่งนั่นล่ะ แม้มันจะเป็นแค่แท่งโลหะยาวมนที่ไม่โค้งเว้ารองรับสรีระตูดมนุษย์เสียด้วยซ้ำไป แต่มันก็คือม้านั่งที่เราต้องเผชิญหน้าต่อกรด้วยทุกครั้งที่ต้องรอรถเมล์ 

หาก Forrest Gump บังเอิญเป็นคนไทย และนั่งรอรถเมล์ที่ม้านั่งตัวนั้น เขาคงไม่มีทางอยู่ในสภาวะสบายพอที่จะเล่าทั้งชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองให้ใครฟังได้แน่นอน ภาพยนตร์อาจจบลงตั้งแต่ยังไม่ได้กล่าวถึงกล่องช็อคโกแลตเลยด้วยซ้ำ

สิ่งนั้นคือความสำคัญของการออกแบบเชิงสาธารณะ สภาวะน่าอยู่ น่าสบาย มันไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นเพียงแต่ในที่พักอาศัยของประชากรบางกลุ่ม แต่ควรจะกระจายอย่างทั่วถึงไปทุกๆ พื้นที่ในเมือง ทุกๆ คนควรจะมีสิทธิ์เข้าถึงงานออกแบบที่ดี ประสบการณ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือสาธารณสมบัติ จริงๆ แล้ว หากเราลองออกแรงวิจัย รณรงค์ และพัฒนาเหล่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ พร้อมกับสร้างเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับจิตสำนึกของการใช้งานพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นให้กับประชาชนทั่วไปมากขึ้น เมืองของเราคงจะน่าอยู่ขึ้นไม่น้อย

สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของงานออกแบบสาธารณะที่ไม่เพียงจะอำนวยประโยชน์และความสะดวกให้กับประชากรในเมือง แต่ยังเสริมสร้างและสะท้อนคุณภาพชีวิต รวมถึงความใส่ใจของผู้มีอำนาจของเมืองต่อความผาสุขของประชากรอีกด้วยในทางอ้อม

1. Homeless Bench

เหล่าคนไร้บ้านเป็นกลุ่มประชากรที่มีในทุกประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศที่เจริญแล้ว และมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต่ำ พวกเขาร่อนเร่ไปตามเมืองอย่างอ่อนล้าหิวโหย และมักจะจบวันด้วยการหาที่เอนกายลงนอนตามสวนสาธารณะ หรือไม่ก็ริมถนน หากโชคดีหน่อยก็คือบนม้านั่งยาวสักตัวที่บังเอิญจับจองพื้นที่ได้ 

ซึ่งระยะหลังมานี้มันจะมีม้านั่งประเภทหนึ่งที่มีที่วางแขนสองคู่กลางลำตัว เพื่อป้องกันไม่ให้คนไร้บ้านมานอน หลายคนเรียกมันอย่างใจร้ายใจดำว่า anti homeless design แต่จะเป็นอย่างไรกัน หากมีม้านั่งที่ออกแบบมาภายใต้แนวคิดตรงกันข้ามอย่างการ ‘เปิดรับ’ เชื้อเชิญให้คนจรจัดมานอนพักได้เต็มใจ 

Homeless Shelter Bench เป็นผลงานร่วมสรรค์สร้างระหว่างบริษัทโฆษณา, บริษัทบ้านอสังหาฯ และกรมพัฒนาสังคมของ Vancouver ประเทศแคนาดา ไอเดียหลักคือการต่อยอดฟังก์ชันของโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วในเมือง อย่างป้ายรถเมล์ หรือม้านั่งยาว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนไร้บ้าน 

ผลสำเร็จเป็นดีไซน์ค่อนข้างเรียบง่าย ม้านั่งและป้ายรถเมล์จะมีกันสาดคล้ายหลังคาที่สามารถพับและยื่นออกมาเมื่อต้องการใช้งาน คล้ายกับถาดวางอาหารประจำที่นั่งบนเครื่องบิน และยังคงไม่ทิ้งจริตของความเป็นงานโฆษณาด้วยการพาดก๊อบปี้ที่เล่นกับช่วงเวลาของวันๆ หนึ่งเอาไว้ ยามกลางวันจะอ่านได้ว่า ‘This is a bench’ แปลไทยก็คือ ‘This is a ม้านั่ง’ แต่เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ตัวก๊อบปี้จะเปลี่ยนเป็น ‘This is a bedroom’ นอกจากจะเป็นกิมมิกน่ารักๆ ตัวก๊อบปี้นี้ยังสะท้อนถึงชีวิตของคนไร้บ้านให้คนทั่วไปได้เข้าใจความเป็นอยู่อันลำบากลำบนของพวกเขาอีกด้วย

2. 3D Printed from plastic waste

โปรเจกต์สุดน่าทึ่ง นอกจากจะปิดวัฏจักรอันมิรู้สิ้นสุดของขยะพลาสติกได้อย่างชะงัดแล้ว ยังสามารถผลิตไฟนอลโปรดักท์อันทรงคุณประโยชน์ให้กับชาวเมืองได้อย่างงดงาม 

Zero waste lab ก่อตั้งโดย The New Raw สตูดิโอค้นคว้าและออกแบบจากเมือง Rotterdam ที่ไปก่อตั้งและเริ่มต้นปฏิบัติการที่เมือง Thessaloniki ประเทศกรีซ ภายใต้ชื่อโครงการ Print your city ไอเดียง่ายๆ ก็คือให้ประชาชนนำขยะพลาสติกของตนมารีไซเคิล และทำการแปรรูปเป็น Public Furniture ด้วยเครื่องปรินท์ 3 มิติ ! แถมยังสามารถให้ผู้บริจาคขยะพลาสติก ออกแบบเฟอร์นิเจอร์เองได้แบบ Customized อีกด้วย 

ซึ่งเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นที่ชาวเมืองร่วมกันออกแบบ มีตั้งแต่ราวสำหรับจอดจักรยาน, ม้านั่งยาว, อุปกรณ์ออกกำลังกายขนาดเล็ก, กระถางต้นไม้, ชามอาหารสุนัข และอื่นๆ อีกมากมาย ทุกชิ้นจะมีแท็กโลหะติดกำกับไว้ว่าตัวมันเองผลิตจากขยะพลาสติกประเภทไหน และใช้ปริมาณวัสดุกี่กิโลกรัม 

ซึ่งโครงการนี้มีหมุดหมายหลักคือการสร้างเสริมความเข้าใจให้กับชาวเมืองเกี่ยวกับขยะพลาสติก และยังขับเน้นการมีส่วนร่วมในการออกแบบเมือง ออกแบบ Public Furniture ที่ตรงตามความต้องการของชาวเมือง เรียกได้ว่าเป็นการแชร์ขั้นตอนการออกแบบเมือง ตั้งแต่เลือกลักษณะของเฟอร์นิเจอร์, วัสดุ, สีและรูปทรง ไปจนถึงตำแหน่งที่จัดวางเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นๆ ได้เลย

3. Level Up Street Pavillion 

บางครั้งพื้นที่สาธารณะ หรือ Public Furniture ก็ไม่จำเป็นต้องมีฟังก์ชันเฉพาะทางที่ตรงตัวหรือซับซ้อนไปมากกว่าเป็นที่หย่อนใจส่วนรวมเฉยๆ 

Level Up เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ยกสูงขึ้นไปในแนวตั้ง จัดวางอยู่ที่หน้าอาคารร้างติดกับท่าเรือพานิชย์กรุง Rijeka ประเทศโครเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสถานที่หย่อนใจ คล้ายคลึงกับคอมมิวนิตี้เล็กๆ ให้กับผู้คนท้องถิ่น โดยอาคารดังกล่าวเป็นโกดังเก็บสินค้าส่งออกที่มีอายุยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ และยังเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญในโครงการใหญ่ของโครเอเชียอย่าง Europe’s cultures capitol 2020 หรือเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของยุโรปปี 2020 นั่นเอง 

ตัว Level Up ประกอบไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยประกอบร่างกันเป็น Pavillion ขนาดย่อมๆ มีสองชั้นเชื่อมต่อกันไปมาเป็น Circulation ที่ไหลลื่น ผู้ใช้งานสามารถนั่งเล่น แกว่งชิงช้า เดินขึ้นลง หรือนั่งห้อยขาลงมาได้ในโครงสร้างแสนเรียบง่ายที่มีเพียงพาเลทไม้กับโครงเหล็กเปลือยแบบนั่งร้านก่อสร้างบ้านเรา 

ซึ่งเมื่อดูจริงๆ ตัวดีไซน์และหน้าตาของมันไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าหรูหราแปลกใหม่เลย แต่ความงดงามของ Level Up ไม่ได้อยู่ที่ความแฟนซีเหล่านั้น แต่เป็นเรื่องการใช้ประโยชน์ภายใต้ทรัพยากรและข้อจำกัดมากกว่า แทนที่จะสร้างคอมมูนิตี้ใหม่ในสถานที่ใหม่ขึ้นมา บางครั้งการออกแบบที่ดีที่สุดก็คือการสร้างและประยุกต์ปรับเปลี่ยนพื้นที่เดิมให้เกิดประโยชน์ใหม่ขึ้น โดยไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรและไม่เป็นการทำลายบรรยากาศเดิมของสถานที่นั้นๆ

4. Fire Hydrant + Water Fountain

เป็นไปได้ไหมที่หัวฉีดน้ำดับเพลิงที่นอกจากหน้าตาจะประหลาด แถมยังเกะกะทางเดินบนบาทวิถี จะสามารถเพิ่มฟังก์ชันที่เป็นประโยชน์ต่อชาวเมืองได้มากกว่านั้น

คำตอบคือได้สิคะแหม หัวฉีดน้ำดับเพลิงสารพัดประโยชน์นี้ออกแบบโดย Dimitri Nassisi บัณฑิตคนเก่งจากรั้ว ECAL สถาบันศิลปะและการออกแบบชื่อดังของสวิตเซอร์แลนด์ เจ้าแท่นดับเพลิงนี้เป็นได้ทั้งที่กดน้ำดื่มดับกระหาย, เติมขวดน้ำพกพา แถมยังเป็นน้ำพุน้ำดื่มสำหรับสุนัขอีกด้วย หน้าตายังเป็นมิตรน่าใช้งาน สีสันสดใส วัสดุสุดสวย มาแหวกด้วยการใช้สีน้ำเงินเพื่อสื่อถึงน้ำ แทนการใช้สีแดงตามขนบทั่วไป 

นอกจากจะเป็นการออกแบบที่น่ารักเป็นมิตร และทรงคุณประโยชน์แล้ว สิ่งที่น่าชื่นชมที่สุดก็คือการต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีให้ก่อเกิดประโยชน์และรูปลักษณ์แบบใหม่ โดยไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรเพิ่มเติมนี่แหละที่วัดทักษะและความเก๋าของเหล่านักออกแบบ

5. Plug a seat

ใครที่ใช้ทางเท้าอยู่เป็นนิจน่าจะคุ้นตาดีกับแท่งโลหะทรงกลมขนาดย่อมที่ยื่นสูงขึ้นมาจากพื้น นอกจากใช้กั้นรถมอเตอร์ไซค์และจักรยานบนทางเท้าแล้ว ก็แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรกับเราอีกเลย แถมยังทำให้การเดินเท้าไม่สมูธอีกด้วย ยิ่งบริเวณทางม้าลายที่ผู้คนมักใช้ความเร็วในการเดินเพื่อข้ามถนน ยิ่งจะก่อให้เกิดอันตรายและอุบัติเหตุได้ง่าย ด้วยเหตุนี้เองเจ้าแท่งกั้นรถเหล่านี้จึงกลายเป็นโจทย์ที่น่าสนใจในการออกแบบ Public Furmiture จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่

Plug a seat เป็นโปรเจกต์ของสตูดิโอออกแบบสัญชาติสเปนอย่าง Teratoma โดยมีไอเดียง่ายๆ คือเพิ่ม การใช้งานที่มีประโยชน์เข้าไปในสิ่งที่ค่อนข้างจะมีประโยชน์ อย่างที่กั้นรถจักรยานบนบาทวิถี โดยดีไซน์ออกมาแสนจะเรียบง่าย เป็นเพียงชิ้นโลหะอะลูมิเนียมบางเบาที่ออกแบบมาเพื่อเสียบลงบนที่กั้นเหล่านั้น  และแปลงร่างให้กลายเป็นเก้าอี้หรือโต๊ะเคียงขนาดจิ๋ว สำหรับให้คนวางแก้วกาแฟหรือนั่งพักระหว่างรอสัญญาณคนข้ามถนนที่สี่แยกไฟแดง

ซึ่งเป็นไอเดียที่ง่ายแบบเขกหัวตัวเองซ้ำไปซ้ำมา แม้มันจะดูไม่ค่อยทนทานและยั่งยืน แต่ก็ตรงเผงตามวัตถุประสงค์และการใช้งานชนิดที่ว่าเข้ากลางเป้า ยังไงเสียฟังก์ชันของเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้จะถูกใช้งานไม่เกินสองสามนาทีต่อประชากรหนึ่งคนอยู่แล้ว สิ่งสำคัญอยู่ที่ความคิดริเริ่มในการต่อยอดดีไซน์ที่ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์ให้เกิดประโยชน์และสบายตาขึ้นได้บ้าง เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่น่านำมาใช้ในบ้านเรามากๆ 

Content Writer : Aim Thavornsiri
Graphic Designer : Sasisha H.

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.