ในแต่ละสัปดาห์ กว่าหลายคนจะผ่านพ้น 5 วันทำงานไปได้ก็แทบจะไม่เหลือเรี่ยวแรง ร่างกายเหนื่อยล้าแบบสุดๆ จนอดใจรอวันหยุดสุดสัปดาห์แทบจะไม่ไหว
แต่ช่วงวันหยุด 2 วันก็ผ่านไปไวเหลือเกิน ยังไม่ทันจะเคลียร์งานบ้าน พักผ่อนให้หายเหนื่อย ก็ต้องกลับไปสู่วงจรการทำงานอีกแล้ว หากสัปดาห์ไหนมีวันหยุดพิเศษเพิ่มมาให้อย่างน้อย 1 วัน ก็รู้สึกเหมือนโชคหล่นทับ เพราะรู้สึกว่าร่างกายและจิตใจได้ชาร์จพลังจนเต็ม พร้อมสู้งานในสัปดาห์ต่อไปอย่างไม่น่าเชื่อแล้ว
แล้วถ้าได้ทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน ทุกสัปดาห์ และยังได้รับเงินเดือนเท่าเดิม จะช่วยให้เราพร้อมสู้งานกว่านี้ไหมนะ
เชื่อว่าในปัจจุบันหลายคนคงจะเริ่มตระหนักถึง Work-life Balance หรือการใช้ชีวิตที่ไม่ได้โฟกัสเรื่องงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับสุขภาพและชีวิตส่วนตัวมากขึ้นด้วย จึงไม่แปลกใจที่คนยุคใหม่จะมองว่า การทำงานโดยมีวันหยุดเพียง 2 วัน/สัปดาห์นั้นไม่ตอบโจทย์และไม่เพียงพอสำหรับการพักผ่อนหรือลองทำกิจกรรมใหม่ๆ เลย
หลายคนและหลายองค์กรคงเคยนึกถึงการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์กันอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าเมื่อวันทำงานลดน้อยลงแล้ว ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานจะยังมีเท่าเดิมไหม หรือหากจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ลดลงจะมีผลต่อรายได้หรือเปล่า แนวคิดการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์นี้จึงยังเป็นข้อถกเถียงกันมาโดยตลอดว่า สรุปแล้วมันเวิร์กสำหรับสังคมการทำงานจริงๆ หรือไม่
หลายประเทศทั่วโลกทดลองลดวันทำงาน
ประเด็นการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมานานแล้ว ยิ่งมีเหตุการณ์โควิด-19 หลายองค์กรก็ต้องปรับตัวและสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน เพื่อรักษาพนักงานเอาไว้ โดยที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกก็ได้ทดลองลดจำนวนวันทำงาน ตัวอย่างเช่น
- ไอซ์แลนด์ : พนักงาน 2,500 คน (คิดเป็นจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ของคนวัยทำงานทั้งประเทศ) ทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์มาตั้งแต่ปี 2015 – 2019 แม้แต่ภาครัฐของไอซ์แลนด์เองก็ยังนำเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทั่วโลกสนใจเรื่องนี้มากขึ้น
- เบลเยียม : พนักงานมีสิทธิ์เลือกที่จะทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ได้ โดยไม่ถูกลดเงินเดือน ส่วนใครอยากทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ ก็ยังทำได้เช่นเดิม
- นิวซีแลนด์ : บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่อย่าง Unilever ได้ทดลองให้พนักงาน 81 คน ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลา 1 ปี โดยได้รับเงินเดือนเท่าเดิม โดยในตอนนี้บริษัทกำลังจะขยายการทำงาน 4 วันนี้ไปสู่ประเทศอื่นๆ ด้วย
- อังกฤษ : ประกาศทดลองลดวันทำงานเป็น 4 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลา 6 เดือน โดยพนักงานที่ลงทะเบียนร่วมการทดลองนี้จะเหลือชั่วโมงทำงานเพียง 32 ชั่วโมง/สัปดาห์ และยังได้รับค่าตอบแทนจำนวนเท่าเดิม
จากการทดลองในหลายประเทศพบว่า ข้อดีของการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์คือ ช่วยลดความเครียดให้กับพนักงานและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) จากการทำงาน ด้านสุขภาพและ Work-Life Balance ก็ดีขึ้น แถมยังมีเวลาให้กับครอบครัวและตัวเองในการพัฒนาหรือเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพิ่มเติม
ส่วนประสิทธิภาพของการทำงานนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากการทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ แถมบางคนยังทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในรายงาน 4 Day Week Campaign จาก Platform London รายงานว่า การลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ ช่วยลดปริมาณ Carbon Footprint ในสหราชอาณาจักรได้มากถึง 21.3 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเลยทีเดียว เห็นได้ว่าการลดวันทำงานยังมีส่วนช่วยลดพลังงานจากการเดินทางได้ด้วย
ส่วนข้อเสียก็มีเหมือนกัน เพราะพบว่าการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ไม่ใช่โมเดลที่ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม งานบางประเภท เช่น บริการฉุกเฉินหรือการขนส่ง จำเป็นต้องมีคนทำงาน 7 วัน/สัปดาห์ จึงไม่สามารถปรับลดวันได้ และพนักงานบางคนอาจจะคุ้นชินกับการทำงาน 5 วัน/สัปดาห์มากกว่า และหากคนกลุ่มนี้ไม่สามารถปรับตัวกับความยืดหยุ่นนี้ก็อาจส่งผลในด้านลบต่อการทำงานแทน
ประเทศที่มีวัฒนธรรมการทำงานหนักอย่าง ‘ญี่ปุ่น’ ก็ยังปรับตัว
ถึงแม้จะมีข้อเสียให้เห็นอยู่บ้าง แต่แนวโน้มการปรับวันทำงานก็มีให้เห็นมากขึ้นทั่วโลก เพราะไม่ใช่แค่ประเทศฝั่งตะวันตกเท่านั้นที่ทดลองทำ ในเอเชียก็เริ่มมีการปรับลดวันทำงานลงบ้างแล้วในบางองค์กรและบางประเทศ
ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีวัฒนธรรมการทำงานที่หนักสุดๆ จนเรามักจะเห็นข่าวเหตุการณ์คนเสียชีวิตจากการทำงานหนักในประเทศนี้กันอยู่บ่อยๆ แต่ความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น เพราะญี่ปุ่นก็เริ่มเข้าสู่วงการการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์แล้วเช่นกัน
โดยทางรัฐบาลของญี่ปุ่นได้ผลักดันนโยบายให้บริษัทเพิ่มวันหยุดให้กับพนักงาน จาก 2 เป็น 3 วัน/สัปดาห์ โดยหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของเหล่าพนักงาน รวมถึงส่งเสริมให้พวกเขาได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น หรือมีเวลาพัฒนาทักษะอื่นๆ ที่สนใจ
ซึ่งก่อนหน้านี้ ในปี 2019 บริษัท Mitsubishi Japan ก็เคยทดลองให้ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์มาแล้ว ผลปรากฏว่าประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานนั้นเพิ่มขึ้นถึง 39.9 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่ได้เป็นข้อบังคับ แต่หลายบริษัทในญี่ปุ่นก็นำเอานโยบายนี้ไปลองปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็น Hitachi, Game Freak และ Panasonic Holdings ที่เริ่มทดลองให้พนักงานมาทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ตามข้อกำหนดของแต่ละบริษัท ซึ่งผลตอบรับของพนักงานก็ไปในทางที่ดี แถมยังทำให้มีความกระตือรือร้นในการทำงานเพิ่มอีกด้วย
นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้วก็ยังมีอีกหลายองค์กรในประเทศฝั่งเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย, อินเดีย และเกาหลีใต้ ก็ได้มีการทดลองปรับลดวันทำงานลงบ้างแล้วเช่นกัน
พนักงานกลุ่มประเทศอาเซียนสนใจการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์
ในอีกหลายประเทศก็กำลังให้ความสนใจกับเทรนด์นี้ จากการสำรวจของ Milieu พบว่า พนักงานในสิงคโปร์, เวียดนาม, ไทย, ฟิลิปปินส์ สนใจการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ด้วยเหมือนกัน ตัวอย่างผลสำรวจพบว่า มากถึง 76 เปอร์เซ็นต์ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม 1,000 คนในสิงคโปร์ สนใจการทำงาน 4 วันและหยุดพักผ่อน 3 วันเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่อยากใช้ชีวิตเพื่อการทำงานแค่อย่างเดียว
แต่ใช่ว่าทุกคนจะอยากมีวันว่างเพื่อพักผ่อน 3 วันต่อสัปดาห์ เพราะยังมีอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับการลดชั่วโมงงาน เช่น มาเลเซีย เมียนมาร์ และกัมพูชา เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่เอื้อต่อการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ขนาดนั้น เพราะมีหลายอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง เช่นเดียวกันกับชาวสิงคโปร์หลายคนที่ยังมองว่า ค่าครองชีพในประเทศนั้นค่อนข้างสูง จึงไม่เห็นด้วยกับการลดชั่วโมงการทำงานลง เพราะการลดวันทำงานเหลือเพียงแค่ 4 วันนั้นหมายความว่าชั่วโมงงานและค่าแรงก็จะหายตามไปด้วย
สำหรับประเทศไทย เมื่อลองค้นหาในโซเชียลมีเดียเรื่องการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ก็พบว่ามีหลายคนพูดถึงแนวคิดนี้บ้างแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ว่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะกับลักษณะการทำงานหรือไม่ เพราะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เป็นลูกจ้างรายวัน ยังไม่สามารถลดชั่วโมงการทำงานของตัวเองลงได้
หากถามว่าการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์จะเกิดขึ้นจริง และกลายเป็นมาตรฐานการทำงานของทั่วโลกได้ไหม เมื่อมองภาพรวมจากการทดลองในหลายๆ ประเทศแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าจะทำได้จริง และจะไม่กระทบต่อการทำงานอย่างที่หลายๆ คนกังวลใจ เพียงแต่ว่าต้องปรับให้เข้ากับรูปแบบการทำงาน เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับทั้งองค์กรและคนทำงาน และอาจจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อให้ทุกคนปรับตัวเข้ากับการทำงานในรูปแบบใหม่นี้กันได้อย่างทั่วถึง
Sources :
BBC | bbc.in/3zjDTMo
CNBC | cnb.cx/3zjI7nk
Entrepreneur | bit.ly/3zjtgtg
Ideas.Ted | bit.ly/3gBhR18
Milieu | bit.ly/3FhCFoV
Nikkei Asia | s.nikkei.com/3W1moKN
World Economic Forum | bit.ly/3zh8RFa