เมื่อกล่าวถึง ‘เยาวราช’ ดินแดนมังกรในเมืองไทยที่ผสมผสานครึ่งไทยครึ่งจีนได้อย่างมีเสน่ห์ ภาพร้านทอง ร้านขายอาหาร ที่ตั้งเรียงรายตั้งแต่เช้าจรดเย็น ถูกปกคลุมอย่างหนาแน่นจากเหล่าคนจีนแท้ คนไทย และคนไทยเชื้อสายจีน รวมไปถึงชาวต่างชาติจากประเทศต่างๆ ที่เลือกให้เยาวราชเป็นจุดหมายปลายทางซึ่งต้องมาเยือนให้ได้สักครั้ง
ย้อนไปเมื่อ 100 ปีก่อน (พ.ศ. 2395) ‘ดินแดนมังกร’ ของกรุงเทพฯ นี้ กำเนิดมาจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่อพยพเข้ามายังไทย ทำให้พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือฝั่งธนบุรี กลายเป็นแหล่งชุมชนคนจีนขนาดใหญ่ แต่เมื่อ ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช’ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น จึงย้ายราชธานีมาตั้งฝั่งพระนครในปัจจุบัน ชุมชนจีนในครานั้นต้องอพยพขนย้ายกันอีกครา มายังริมแม่น้ำทางทิศใต้ของพระนครที่ถูกเรียกว่า ‘สำเพ็ง’ ต่อมามีการขยับขยายสร้างถนนเส้นใหม่บริเวณใกล้เคียง จึงเป็นที่มาของ ‘เยาวราช’ ถนนหลักสำหรับการสัญจรไปมา
ถนนเยาวราช ถือกำเนิดมาพร้อมธุรกิจต่างๆ ของคนจีน อย่างธนาคารคนจีน หนังสือพิมพ์คนจีน ภัตตาคารอาหารจีน เนื่องจากนิสัยพื้นฐานของคนจีนนั้นมีความพากเพียร หนักเอาเบาสู้ และรู้จักการคิดคำนวณ จนในที่สุดชุมชนแห่งนี้ก็กลายเป็นชุมชนชาวจีนที่มีความยิ่งใหญ่จวบจนปัจจุบัน และแม้กาลเวลาจะหมุนเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่เยาวราชยังคงเอกลักษณ์และรักษาวัฒนธรรม ความเชื่อ ด้วยการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ ‘เยาวราชยังคงเป็นเยาวราช’ สมบูรณ์พร้อมด้วยสิ่งเก่า-ใหม่ ซึ่งผสานเข้ากันไว้อย่างลงตัว
เราเลยชวนทุกคนย้อนรอยความทรงจำของเยาวราชในช่วงสามยุค ผ่านเรื่องเล่าจาก 10 คน 10 สถานที่ให้กรุ่นกลิ่นลูกครึ่งไทยจีน
ยุคที่ 1 : 80 ปีก่อน (พ.ศ. 2390 – พ.ศ. 2480)
ยุคแห่งการเริ่มต้น ช่วง พ.ศ. 2390 – 2480 กลุ่มคนจีนเลือดใหม่เลือกเสี่ยงชีวิตขึ้นเรือสำเภาพร้อมเสื่อผืนหมอนใบ เดินทางมายังดินแดนที่พวกเขาเคยได้ยินเพียงชื่อ จากวันนั้นจนทุกวันนี้ ผู้คนเหล่านั้นได้นำความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาสู่เยาวราช สถานที่ที่เต็มไปด้วยความศรัทธาและความหวัง
วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)
เริ่มต้นย้อนเวลาที่ ‘วัดมังกรกมลาวาส’ เรียกสั้นๆ ว่า ‘วัดมังกร’ ทับศัพท์ด้วยชื่อภาษาจีน ‘เล่งเน่ยยี่’ ซึ่ง ‘พระกฤตานนุ จุฑาเกียรติ’ หรือ ‘พระอาจารย์เสียกือ’ ผู้ที่ประจำอยู่ภายในห้องประชาสัมพันธ์เล่าให้ฟังว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งชื่อของวัดมังกรกมลาวาส แปลว่า วัดที่มีมังกรอาศัยอยู่ในดอกบัว โดยมังกรนั้นหมายถึงชาวจีน เนื่องจาก ‘มังกร’ เป็นสัตว์มงคลที่ชาวจีนนับถือ และดอกบัวหมายถึงย่านเยาวราช เมื่อรวมความหมายดังกล่าวจึงเป็นการเปรียบเทียบเสมือนชาวจีนที่อาศัยอยู่บนทุ่งดอกบัวแห่งเยาวราช
หลายคนอาจจะไม่ทราบกันว่าในอดีต วัดมังกรกมลาวาสถูกซ่อนอยู่ในเยาวราชเหมือนมังกรที่หลับใหล ไม่มีใครมาเยือนนอกจากคนแถวนี้ อาจเพราะเป็นวัดพระพุทธศาสนานิกายมหายาน หรือตั้งเฉินฟ่อเจี้ยวแบบชาวจีน ทำให้มักมีแต่คนจีนในย่านมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเจ้าแม่กวนอิมและพระพุทธเจ้า 3 องค์ แต่เมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน เริ่มเปิดทำบุญสะเดาะเคราะห์ จึงทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาที่วัด ราวกับกระแสน้ำที่เข้าชโลมให้ทุ่งดอกบัวนี้กลับมามีชีวิตชีวา และปลุกให้มังกรตื่นจากการหลับใหลอีกครั้ง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ไม่ว่าใครก็ต้องมาเยือน
นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้ง ‘โรงเรียนมังกรกมลาวาสวิทยาลัย’ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 ให้เป็นโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาที่สอนหลักธรรมให้แก่สามเณรบวชเรียนในระดับชั้น ม.1 – ม.6 แบ่งสายเหมือนโรงเรียนทั่วไปให้สามารถต่อยอดในระดับอุดมศึกษาได้ แต่ที่พิเศษกว่าคือการเน้นภาษาจีน โดยเชิญอาจารย์จากประเทศจีนมาสอนภาษาให้โดยตรง เพื่อสร้างศาสนทายาท และเป็นที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสทั่วประเทศ
เราสนทนากับพระอาจารย์เสียกือถึงความเปลี่ยนแปลงของวัดแห่งนี้ จนได้รู้ว่าวัดแห่งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่นัก เป็นบริเวณรอบข้างเสียมากกว่าที่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนรอบข้างที่เปลี่ยนไปจากชุมชนเล็กๆ เป็นพื้นที่แหล่งการค้าที่มีร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อต่างๆ เรียงราย รวมไปถึงรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีวัดมังกรที่ห่างจากวัดเพียง 5 นาที เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมากราบสักการะและชื่นชมความงามด้านสถาปัตยกรรมของวัดแห่งนี้
“วัดมังกรกมลาวาส จะไม่สิ้นศรัทธาจากเหล่าบรรพบุรุษที่ปลูกฝังให้ลูกหลานมาทำบุญที่วัดนี้”
นี่คือคำพูดที่เต็มไปด้วยความดีใจและชื่นชมอยู่ในทีของพระอาจารย์เสียกือ เพราะไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน เหล่าผู้เฒ่าผู้แก่หรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ยังจับจูงมือครอบครัวเดินทางมาทำบุญร่วมกันอย่างไม่ขาดสาย
ที่ตั้ง : 423 ถนนเจริญกรุง แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
วันและเวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 06.00 – 18.00 น.
ร้านผลไม้และเกาลัดเชี่ยงปู่
‘ร้านเชี่ยงปู่’ คือร้านขายผลไม้นำเข้าและเกาลัดเจ้าแรกของประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ดูแลโดย ‘คุณธนกฤติ อังสุปาลี’ หรือ ‘เฮียเอ๊กซ์’ ทายาทรุ่นที่ 3 โดยเฮียเอ๊กซ์เล่าให้ฟังว่า ที่นี่เปิดกิจการแรกเมื่อ 80 ปีก่อน โดย ‘นายยงปู่’ และ ‘นายเชี่ยงจั้ว’ นั่งเรือสำเภามาจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เข้ามาเริ่มต้นทำธุรกิจขายผลไม้หาบเร่เล็กๆ บนพื้นที่เยาวราช โดยรับสินค้ามาจากสำเภาจีนและสมาคมการค้าร่วมกัน ต่อมาได้ขยับขยายกลายเป็นร้านค้า โดยใช้ชื่อร้านว่า ‘เชี่ยงปู่’ ที่มาจากการรวมชื่อของทั้ง 2 คน ให้ความหมายมงคลตามความนิยมของคนจีนว่า ‘รวยไม่รู้จบ’
ต่อมารุ่นที่ 2 พ่อของเฮียเอ๊กซ์เห็นว่า ‘เกาลัด’ ยังไม่มีจำหน่ายในไทย และเมื่อนำมาขายในเยาวราชที่เต็มไปด้วยคนจีนซึ่งโหยหาของกินจากบ้านเกิด จึงทำให้เกาลัดเริ่มมีชื่อเสียง นอกจากนี้ ร้านเชี่ยงปู่ยังเป็นผู้คิดค้นและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของเกาลัด เพื่อเป็นผู้นำด้านธุรกิจค้าขายเกาลัด เริ่มจากการขายเกาลัดโดยใช้กรวยกระดาษมัดหนังยาง จนเริ่มมีคนทำตาม ก่อนเปลี่ยนเป็นถุงกระดาษและกล่องกระดาษสีแดงที่เราพบเห็นกันได้ทั่วไปในปัจจุบัน รวมไปถึงการคั่วเกาลัดผ่านเม็ดทรายสีดำที่แต่ก่อนจะใช้แรงงานคนในการคั่วเกาลัดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสุก ซึ่งร้านเชี่ยงปู่ยังเป็นผู้คิดค้นและพัฒนาเครื่องคั่วเกาลัดอีกด้วย
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเกาลัดต้องนึกถึงเทศกาลตรุษจีน ที่ย่านเยาวราชมักจะคึกคักเสมอ มีผู้คนมาจับจ่ายใช้สอยของไหว้ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ผสมผสานไปกับการซื้ออาหารร้านอร่อย
“เยาวราชไม่ใช่แหล่งธุรกิจ แต่เป็นเหมือนย่านชุมชน เป็นบ้านที่มีตลาดขนาดใหญ่อยู่ในนั้น”
เฮียเอ๊กซ์ได้ให้คำนิยามของเยาวราชในแบบฉบับของเขา แม้จะมีความเจริญเข้ามา ตึกรามบ้านช่องมีการปรับปรุงซ่อมแซมให้ดูใหม่ แต่ที่นี่ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ‘เยาวราช’ ก็ยังคงกลิ่นอายชุมชนจีนที่ยิ่งใหญ่ตลอดไป
ที่ตั้ง : 293/1 ซอยเยาวราช 6 กรุงเทพมหานคร (ร้านแรก ปากซอยเยาวราช 6)
วันและเวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 06.30 – 20.00 น.
ยุคที่ 2 : 79 – 21 ปีก่อน (พ.ศ. 2484 – พ.ศ. 2542)
ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง จากกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเยาวราช เข้าสู่ช่วงแห่งการก่อร่างสร้างตัว และการพัฒนาที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ต่างไปจากเดิม จากย่านที่อยู่อาศัยสู่ย่านตลาดเก่า ต่อมากลายเป็นย่านการค้าที่มีชื่อเสียง ผู้คนจึงต่างมุ่งหน้าเข้ามาสู่เยาวราชเพื่อทำมาหากินและจับจ่ายซื้อของ
สิงคโปร์โภชนา
เริ่มยุคที่ 2 กับร้านลอดช่องเจ้าแรกของเมืองไทยที่เปิดมานานกว่า 70 ปี ซึ่ง ‘คุณฮุ่ยเจ้ง จักรธีรังกูร’ หรือ ‘เจ๊นี’ คือทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านสิงคโปร์โภชนา แม้ชื่อร้านจะมีคำว่าสิงคโปร์อยู่ด้วย แต่เมนู ‘ลอดช่องสิงคโปร์’ นั้นไม่ได้มาจากสิงคโปร์แต่อย่างใด แต่เกิดจากการตั้งร้านขายอยู่หน้าโรงหนังสิงคโปร์นั่นเอง จนกลายเป็นจุดนัดพบยอดฮิตในสมัยก่อน จนพูดกันติดปากว่า ‘ถ้าใครไม่กินลอดช่องสิงคโปร์ ก็ถือว่ามาไม่ถึงแยกหมอมี’ เลยทีเดียว
เจ๊นีเล่าย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นว่า สูตรลอดช่องนั้นเป็นของเพื่อนอากงที่เคยเปิดร้านแห่งนี้ แต่ต่อมาได้ขายสูตรลับลอดช่องแท้ตามแบบฉบับแต้จิ๋วแก่อากง และถูกส่งต่อกันภายในตระกูล นอกจากลอดช่องแล้ว ร้านสิงคโปร์โภชนายังเคยขายอาหารนานาชนิดอย่างข้าวแกงและก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาภายในร้าน ให้ลอดช่องเป็นของหวานปิดท้ายมื้ออาหาร แต่ปัจจุบันปรับมาขายแค่ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาและลอดช่อง
เจ๊นีได้บอกกับเราว่า ร้านนี้เปิดตั้งแต่เช้ายันมืด และขายดีตลอดทั้งวัน ทั้งยังทำสดใหม่อยู่เสมอเพื่อลอดช่องจะได้ไม่เหม็นหืน ซึ่งทำแบบนี้มาตั้งแต่ขายราคาแก้วละไม่ถึงสลึง จนปัจจุบันราคา 28 บาทแล้ว ก็ถือเป็นเครื่องการันตีคุณภาพ พร้อมมอบความสดใหม่ให้แก่ลูกค้านั่นเอง
เราถามต่อถึงการเปลี่ยนแปลงของเยาวราชในสายตาของเจ๊นี ได้ความว่า รอบข้างเปลี่ยนไปเยอะ ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังสิงคโปร์ก็ถูกเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์เฉลิมบุรี สถานีรถรางถูกแทนที่ด้วยลานกว้างๆ ไว้สำหรับจอดรถยนต์ หลายอย่างหายไป เหลือเพียงแต่ชื่อไว้เล่าสู่กันฟัง
“เจ็ดสิบปีก่อนรสชาติและคุณภาพเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง”
นี่คือคำปณิธานของเจ๊นี เพราะการที่สามารถยืนหยัดมาถึงปัจจุบัน ก็เป็นเพราะความมั่นคงในรสชาติและคุณภาพนั่นเอง
ที่ตั้ง : 680 682 ถนนเจริญกรุง แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วันและเวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ยกเว้นวันพฤหัสบดี เวลา 10.30 – 21.30 น.
ร้านนาฬิกาแสงดีเทรดดิ้ง
ร้านนาฬิกาเจ้าเก่าตั้งขายอยู่ที่เยาวราชมานานกว่า 60 ปี ซึ่ง ‘คุณดารัตน์’ หรือ ‘คุณจิ๋ม’ ทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านนี้เล่าให้เราฟังว่า ไม่ได้อยู่ที่เยาวราชมาแต่ดั้งเดิม แต่คุณพ่อเห็นลู่ทางของธุรกิจในเยาวราช จึงเซ้งตึกต่อจากร้านเครื่องใช้ไฟฟ้ามาเปิดเป็นร้านขายนาฬิกา
ภายในร้านมีนาฬิกาให้เลือกสรรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแบบแขวนผนัง แบบตั้งโต๊ะ แบบข้อมือ ซึ่งคุณจิ๋มได้บอกกับเราว่า คนที่เลือกซื้อส่วนใหญ่จะซื้อนาฬิกาเป็นของขวัญให้แก่ตนเอง ต่างจากนาฬิกาแบบตั้งพื้นขนาดใหญ่ที่มักจะถูกเลือกให้เป็นของขวัญแก่ผู้อื่น เนื่องจากมีราคาสูงและสมฐานะทั้งผู้ให้และผู้รับ
แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีวัดมังกรมาเปิดใกล้ๆ คุณจิ๋มยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ร้านนาฬิกาแสงดีเทรดดิ้งมาถึงทางตันแล้ว เพราะนาฬิกานั้นถือว่าเป็นสินค้าที่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อ และไม่ใช่สินค้าที่ซื้อได้ทุกโอกาสเหมือนอาหาร ช่วงนี้ถึงแม้จะมีลูกค้าบ้างแต่ก็ไม่เท่าแต่ก่อน แม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในเยาวราชเป็นจำนวนมาก กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก แต่ใช่ว่าทุกอย่างในเยาวราชนั้นจะขายได้ ซึ่งในอนาคตก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ อย่างกับร้านนี้ด้วยเช่นกัน
“เยาวราชก็เป็นเหมือนแหล่งชุมชนที่ขยับขยายกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว”
นี่คือมุมมองที่มีต่อเยาวราชของคุณจิ๋ม ทั้งยังกล่าวเสริมเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มาทำธุรกิจหรือค้าขายในเยาวราชนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน จากสตรีทฟู้ดที่แต่ก่อนมีเพียงไม่กี่ร้านให้เลือกซื้อ ปัจจุบันกลับมีเพิ่มเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นย่านสตรีทฟู้ดขึ้นชื่อระดับโลก เสน่ห์ของเยาวราชจึงออกมาในอีกทิศทางหนึ่ง จากย่านตลาดเก่าในช่วงเช้าสู่ถนนแห่งอาหารในช่วงค่ำ
ที่ตั้ง : 425 เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วันและเวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 10.00 – 18.30 น.
ขนมปังปิ้งเจ้าอร่อย
ขนมปังปิ้งเจ้าอร่อยชื่อดังแห่งสตรีทฟู้ดเยาวราช ที่เปิดมาอย่างยาวนานถึง 60 ปี อากงจินณ์ได้เล่าให้เราฟังอย่างอารมณ์ดีถึงจุดเริ่มต้นของร้านว่า เริ่มจากอากงจินณ์เป็นช่างตัดผมอยู่ในร้านเสริมสวยแถวเจริญกรุง แต่พบว่าตัวเองอายุเยอะขึ้น ก็รู้สึกว่าช่างตัดผมเป็นอาชีพที่ไม่ยั่งยืนนัก เพราะการตัดผมต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเหมือนแฟชั่นทำให้ตามไม่ทัน ซึ่งอากงจินณ์ต้องการอาชีพที่สามารถทำได้ตลอดไปยันแก่เฒ่า จากการลองถูกลองผิด ปรับสูตรด้วยตัวเองจนพอใจ จึงได้มาเริ่มขายขนมปังปิ้งที่เยาวราช จากลูกละ 10 บาท ปัจจุบันขายในราคาลูกละ 25 บาท
เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงของเยาวราช อากงจินณ์บอกว่า เมื่อก่อนเยาวราชไม่ได้มีร้านอาหารมากขนาดนี้ แต่ตอนนี้กลายเป็นแหล่งสตรีทฟู้ดขนาดใหญ่ มีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีวัดมังกรมาเปิดใกล้ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา
“การันตีความอร่อยที่เต็มไปด้วยคุณภาพ เพราะทำเอง ขายเอง กินเองด้วย”
องกงจินณ์ยกนิ้วโป้งการันตีรสชาติยอดเยี่ยมของขนมปังที่ร้าน ทุกไส้ผ่านการชิมมาแล้วกับตัวเอง ทั้งยังนำเสนอไส้ใหม่อย่างไส้ถั่วและไส้ปลาหมึกที่คิดมาอย่างดี แม้ร้านจะมีหลายสาขาให้ไปตามชิม แต่อากงจินณ์ก็ยังเลือกที่จะไม่หยุดพัฒนาสินค้าต่อไป
ที่ตั้ง : 452 ถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100 (หน้าธนาคารออมสิน ใกล้กับร้านเซี้ยหูฉลาม)
วันและเวลาเปิด-ปิด : วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 18.30 – 00.00 น.
เจ้อ้วน ราดหน้ายอดผัก
‘เจ้อ้วน ราดหน้ายอดผัก’ คือร้านสตรีทฟู้ดยุคแรกๆ ที่เปิดมาอย่างยาวนานถึง 40 ปี ซึ่งร้านนี้เกิดจากเจ้อ้วนและสามีชอบกินราดหน้าเหมือนกัน จึงคิดค้นสูตรเฉพาะของตัวเองขึ้นมา และพัฒนาจนกลายเป็นราดหน้าสูตรเด็ดคว้ารางวัลที่ 1 จากการแข่งราดหน้าที่ประกวดผ่านทางโทรทัศน์ช่อง 3
เจ้อ้วนเล่าเพิ่มเติมถึงพื้นเพของครอบครัวที่คุณแม่เปิดร้านอาหารตามสั่งและคุณพ่อเปิดร้านขายของชำ ทำให้ซึมซับฝีมือการทำอาหาร และชื่นชอบการค้าขายมาแต่เด็กเพราะเติบโตอยู่แถวเยาวราช การเลือกสถานที่ค้าขายจึงไม่ได้ห่างไกลจากบ้านมากนัก
นอกจากสูตรลับที่ทำให้ใครหลายคนติดใจ วัตถุดิบชั้นดีก็ต้องไม่ขาด ซึ่งเจ้อ้วนสั่งทำเส้นโดยเฉพาะจากโรงงาน พร้อมกับไปตลาดทุกวันจันทร์เพื่อเลือกซื้อเนื้อหมูสันคอเกรดดี และคัดผักคะน้ายอดอ่อนๆ ด้วยตัวเอง ส่วนวันอังคารจะเตรียมหมักหมูทิ้งไว้ให้นุ่ม และเตรียมพร้อมสำหรับการขาย วันสุดท้ายของการหยุดอย่างวันพุธ ก็เป็นช่วงเวลาของการเตรียมผักและเครื่องราดหน้าต่างๆ มาขายในวันพฤหัสฯ นั่นเอง
เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลง เจ้อ้วนชี้ชวนให้ดูตึกรามบ้านช่องที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของร้าน และเล่าว่าสมัยก่อนในซอยเยาวราชเต็มไปด้วยบ้านไม้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน มีคนเข้ามาทำมาค้าขายกันมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ทำให้แต่ละร้านต้องปรับปรุงให้ดูทันสมัย จากที่แต่ก่อนสตรีทฟู้ดในเยาวราชยังไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังขนาดนี้ มีเพียงไม่กี่ร้านให้คนแวะเลือกชิม แต่ปัจจุบันกลับมีร้านมาตั้งมากมายนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว
“คุณภาพอาหารกว่าสี่สิบปี รสชาติไม่มีเปลี่ยนแปลง ต้องไม่ลดคุณภาพ ราคาของขึ้นก็ไม่เกี่ยง เพื่อให้ได้ของที่ดีที่สุด”
นี่คือคติประจำร้านที่เจ้อ้วนและสามีได้ตั้งมั่นมาอย่างยาวนาน เพื่อส่งต่อของอร่อยและมีคุณภาพให้ทุกคนได้กิน
ที่ตั้ง : แยกเฉลิมบุรี ใกล้ๆ ร้านหลงโถว กรุงเทพมหานคร
วันและเวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ยกเว้นวันพุธและวันพฤหัสบดี เวลา 16.00 – 00.00 น.
ร้านมะม่วงน้ำปลาหวาน (เจ๊แป๊ว)
ร้านสุดท้ายของยุคที่ 2 คือ ‘ร้านมะม่วงน้ำปลาหวาน (เจ๊แป๊ว)’ ซึ่ง ‘คุณธนวรรณศ์ ว่องพิสุทธิญวศ์’ หรือ ‘พี่เจิน’ ผู้ดูแลร้านมะม่วงน้ำปลาหวานต่อจากแม่หรือเจ๊แป๊วเล่าให้เราฟังว่า เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ร้านมะม่วงนี้เป็นร้านมะม่วงหาบเร่แถวมหานาค ต่อมาเห็นว่าที่เยาวราชนั้นมีคนมาเดินเยอะ ย่อมหมายถึงจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น จึงเลือกที่จะปักหลักที่เยาวราชตรงหัวมุมของถนนแปลงนามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นอกจากทำเลที่ดีแล้ว รสชาติที่ถูกปากก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ร้านอยู่มาได้อย่างยาวนาน เพราะเยาวราชเป็นแหล่งที่อยู่ของคนจีนและแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เจ๊แป๊วปรับสูตรน้ำปลาหวานใหม่ ลดความเผ็ดลง เพิ่มความหวานให้กลมกล่อม อัดแน่นไปด้วยเครื่องเคียงมากคุณภาพและกุ้งแห้งตัวโต เพื่อให้ถูกใจใครหลายๆ คน
เมื่อเราถามถึงความเปลี่ยนแปลง พี่เจินได้บอกกับเราว่า ที่จริงแล้วในสมัยก่อนถนนคนเดินเยาวราชนั้นไม่ได้มีคนเยอะมากขนาดนี้ มีเพียงไม่กี่ร้าน แต่ต่อมามีคนเชิญชวนกันมากิน มาช้อปในตอนเย็นยันดึก ทำให้เริ่มเป็นกระแสในวงกว้าง ร้านรวงต่างๆ ก็เพิ่มเข้ามาตามคนที่ทยอยกันเข้ามา จนทำให้ขายดีอย่างไม่น่าเชื่อ รวมไปถึงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินวัดมังกรที่เพิ่งเปิดนั้น ทำให้คนมาเดินกันเยอะขึ้น
“ต้องสู้นะลูก ถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน”
นี่คือคำสอนของเจ๊แป๊วที่ส่งต่อมาให้พี่เจินที่ยืนปอกมะม่วง พร้อมกับขายน้ำปลาหวานให้ลูกค้าอย่างขยันขันแข็ง
ที่ตั้ง : ร้านรถเข็น ตรงหัวมุมปากซอยถนนแปลงนาม เยาวราช กรุงเทพมหานคร
วันและเวลาเปิด-ปิด : วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 00.00 น.
ยุคที่ 3 : 20 ปีก่อน – ปัจจุบัน (พ.ศ. 2543 – พ.ศ. 2563)
ช่วงเวลาแห่งแสงสี เยาวราชได้กลายเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งชีวิตทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ผู้คนมากมายต่างหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ จากตลาดสู่แหล่งสตรีทฟู้ดอันดับต้นๆ ของโลก
ร้านขนมเบื้องเวิ้งนครเกษม
เริ่มต้นยุคสุดท้ายที่ ‘ร้านขนมเบื้องเวิ้งนครเกษม’ ร้านขนมเบื้องสูตรโบราณหอมกลิ่นควันเทียนอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่ง ‘ชลากร คณิกันติกร’ หรือ ‘เฮียทัศน์’ คือเจ้าของร้านขนมเบื้องเวิ้งนครเกษมที่เปิดขายมา 20 กว่าปีแล้ว แต่ทว่ามีเรื่องราวมากมายก่อนหน้านี้นานถึง 80 ปี ตั้งแต่รุ่นคุณยายยังสาวที่เปิดร้านขนมเบื้องหาบเร่เดินไปทั่วเวิ้งนครเกษม ส่งต่อสูตรขนมเบื้องให้คุณแม่ของเฮียทัศน์ขายต่อ จนสามารถเซ้งร้านในย่านเยาวราชและเปิดเป็นร้านขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง
เฮียทัศน์ยังได้บอกเพิ่มอีกว่า ที่จริงร้านนี้ถือเป็นสาขาที่ 2 เพราะเมื่อคุณแม่ของเฮียทัศน์อายุเพิ่มขึ้นจนขายต่อไปไม่ไหว จึงได้ส่งต่อร้านที่เวิ้งนครเกษมต่อให้ลูกคนโต ทำให้เฮียทัศน์เลือกที่จะเปิดร้านขนมเบื้องเองข้างนอก แต่ต่อมาพี่ชายของเฮียทัศน์ได้ปิดร้านไป ทำให้ปัจจุบันร้านขนมเบื้องเวิ้งนครเกษมมีเพียงร้านเดียวที่เยาวราชแห่งนี้นั่นเอง
แม้เยาวราชจะเปลี่ยนแปลงไปตามระเบียบการจัดการอย่างการจัดระยะห่างระหว่างถนน แต่สูตรของร้านเฮียทัศน์นั้นอร่อยไม่มีเปลี่ยนแน่นอน ใครที่คิดถึงรสชาติแบบเก่าๆ หรือเป็นลูกค้าประจำสามารถมากินกันได้ที่นี่ที่เดียว
“สิ่งที่เราทำให้ลูกค้าต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”
นี่คือสิ่งที่เฮียทัศน์ได้ยึดถือและต้องการส่งต่อให้ลูกค้าทุกคนที่เข้ามาซื้อขนมเบื้องของเฮียทัศน์ได้ลิ้มรสความอร่อยที่ตั้งใจทำด้วยความพิถีพิถันตั้งแต่แป้งถึงไส้ ให้รสชาติกลมกล่อมทุกไส้ ไม่ว่าจะเป็นไส้หวานจากฝอยทองและไส้เค็มจากกุ้ง
ที่ตั้ง : ปากซอยเยาวราช 11
วันและเวลาเปิด-ปิด : วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 19.00 – 00.00 น.
ร้านแป๊ะยิ้ม
‘แป๊ะยิ้ม’ ร้านน้ำสมุนไพรและน้ำผลไม้เล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในสตรีทฟู้ดเยาวราชช่วงกลางคืน ซึ่ง ‘คุณภัทรา วรวุฒิวัฒน์’ หรือ ‘ป้าภัทร’ เจ้าของร้านแป๊ะยิ้มบอกกับเราว่า จุดเริ่มต้นของร้านนี้ แท้จริงแล้วเกิดจากสามีของป้าภัทรขายน้ำส้มเช้งและน้ำสมุนไพรท้ายรถกระบะ เมื่ออายุมากขึ้น ป้าภัทรก็ได้ลาออกจากงานมาช่วยคุณลุงขาย และด้วยรอยยิ้มที่กว้างขึ้นของคุณลุงทำให้ลูกค้าประจำเรียกว่า ‘แป๊ะยิ้ม’ เป็นที่มาของชื่อร้านนั่นเอง
น้ำผลไม้และน้ำสมุนไพรของป้าภัทรนั้นมีราคาตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อย จะเป็นน้ำส้มเช้ง น้ำทับทิม และน้ำฝรั่ง ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 40 – 280 บาท ส่วนน้ำสมุนไพรที่มีทั้งน้ำเก๊กฮวย น้ำหล่อฮังก๊วย และน้ำจับเลี้ยง ราคา 30 บาท ป้าภัทรพูดกับเราตรงๆ ว่า ที่กล้าขายราคาสูงเพราะว่าคุณภาพของน้ำที่ขายเป็นผลไม้คัดเกรดอย่างดีที่มีราคาสูง มาคั้นสดๆ ให้ลูกค้าได้เห็นกับตาตัวเองเลยว่าไม่มีการผสมน้ำอื่นใดนั่นเอง รวมไปถึงสมุนไพรที่เลือกคุณภาพดีเท่านั้น ขายกันกิโลกรัมละหลายพันมาต้มและเคี่ยวใหม่ทุกวัน ไม่มีปล่อยค้างคืน
“การเปลี่ยนแปลงมีทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดี มันกระทบกันหมดนั่นแหละ เพียงแต่เราต้องอยู่ต่อให้ได้เหมือนเดิม”
ที่ตั้ง : ใกล้ๆ 7-11 และร้านก๋วยจั๊บนายอ้วน
วันและเวลาเปิด-ปิด : วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 19.00 – 00.00 น.
เทียน เทียน โฮสเทล
สถานที่สุดท้ายของการย้อนอดีตเยาวราชคือ ‘เทียน เทียน โฮสเทล’ ขนาด 2 ชั้น 2 คูหา บนถนนพาดสาย โดย ‘คุณสุนทรี สุรวิทย์ธรรมะ’ หรือ ‘พี่แภท’ เจ้าของโฮสเทลที่เปิดมาได้ 2 ปีแล้ว เล่าให้ฟังว่า เดิมทีตรงนี้เป็นโรงพิมพ์เก่าแก่ของครอบครัวที่มีอายุมากกว่า 75 ปี ต่อมาได้ย้ายโรงงานไปที่อื่นแทน พี่แภทจึงเปลี่ยนตึกแถวนี้เป็นโฮสเทลเล็กๆ โดยการรีโนเวตใหม่ แต่พยายามเก็บความดั้งเดิมของอากงอาม่าไว้ ทำให้โฮสเทลแห่งนี้แฝงกลิ่นอายความเป็นจีนผสมผสานกับยุคสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว
ด้านล่างเปิดบริการเป็นร้านกาแฟขนาดเล็ก ราคาไม่สูงมาก สอดแทรกด้วยความเรียบง่ายให้เป็นเหมือนบ้านต่างแดนของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักหรือแวะมาจิบกาแฟ ทั้งยังตั้งมั่นให้บริการประดุจญาติมิตร มีอะไรขาดเหลือสามารถมาบอกได้ ด้วยความที่ทำเลอยู่ในเยาวราชแต่ไม่ได้อยู่บนถนนเส้นหลัก ทำให้พื้นที่ตรงนี้มีความสงบ ไม่วุ่นวาย แต่ก็เดินทางไปไหนมาไหนสะดวก จึงทำให้เป็นอีกจุดเด่นของเทียน เทียน โฮสเทล
เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลง พี่แภทเล่าว่า ในอดีตนอกจากตึกหลังนี้จะเป็นโรงพิมพ์แล้ว ซอยนี้ทั้งซอยก็เป็นแหล่งโรงพิมพ์ที่มีอยู่เต็มไปหมด ต่อมาเมื่อหนังสือพิมพ์จีนถูกยกเลิก ทำให้โรงพิมพ์หลายแห่งปิดตัวลง กลายเป็นร้านขายรองเท้าเข้ามาแทนที่ จนกลายเป็นแหล่งค้าส่งรองเท้าที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปบนถนนพาดสายแห่งนี้ ทั้งยังพูดถึงรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีวัดมังกรที่เข้ามาปลุกให้เยาวราชมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้นจากผู้คนที่เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากอย่างคาดไม่ถึง
“เราทำธุรกิจไม่ได้หาแต่กำไรเท่านั้น แต่ต้องรู้จักทั้งการให้และการรับ”
นี่คือคำสอนของบรรพบุรุษที่พี่แภทเก็บไว้เป็นคติประจำใจ เพราะการทำธุรกิจแล้วจะเป็นผู้รับอย่างเดียวนั้นไม่ยั่งยืน แต่หากให้ใจและให้การบริการที่ดีแก่ลูกค้า สิ่งเหล่านั้นก็จะตอบแทนเราเอง
ที่ตั้ง : 29 พาดสาย แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วันและเวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลาเช็กอิน 14.00 – 21.00 น. เวลาเช็กเอาต์ 12.00 น.
ดินแดนลูกผสมที่ลงตัว
การเดินทางมาเยาวราชในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เราได้มาสัมผัสถึงผู้คนที่อาศัยในที่แห่งนี้ มากกว่าเปลือกภายนอกที่ดึงดูดผู้คนให้เข้ามา การได้พบเจอและพูดคุยกับผู้คนมากมาย ทำให้เราได้ค้นพบอีกหนึ่งเสน่ห์ของเยาวราช ที่ไม่ใช่แค่สิ่งของหรือของกินชื่อดังที่ใครๆ ต่างเดินทางมาจับจ่ายใช้สอย แต่เป็นผู้คนที่หมุนเวียนผลัดกันมาค้าขาย ผสมผสานไปกับความเจริญที่เข้ามาทำให้เยาวราช กลายเป็นดินแดนมังกรที่ไม่หลับใหลมายาวนานนับ 100 ปี
ยังมีสถานที่อีกมากมายที่รอให้ทุกๆ คนมาค้นหา ลิ้มลอง และสัมผัส แล้วคุณจะพบเยาวราชในมุมมองที่ต่างออกไป