ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 ทำให้โลกหยุดชะงักทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือประชากรโลกเอง ทุกอย่างเดินต่อด้วยความยากลำบาก แต่หลายเมืองก็ใช้ช่วงเวลานี้พัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่บางส่วนที่เคยวางแผนไว้จนสำเร็จ
World Economic Forum สภาเศรษฐกิจโลกจัดอันดับ 5 เมืองที่มีการพัฒนาและฟื้นฟูสวนสาธารณะในช่วงมีการระบาด ซึ่งแต่ละเมืองก็พัฒนาแตกต่างกันไป ดังนี้
1. ปารีส ฝรั่งเศส : ปรับปรุง Champs-Élysées ให้กลายเป็นสวนสาธารณะ ลดพื้นที่รถยนต์ เปลี่ยนถนนเป็นทางเดินเท้า และเพิ่มอุโมงค์ต้นไม้เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น
2. กรุงเทพฯ ไทย : มีแผนสร้างสวนสาธารณะเพิ่ม 11 แห่งในเมือง รวมถึงอุทยานเชิงนิเวศที่มีป่าชายเลน เพิ่มเส้นทางสีเขียวระยะทาง 15 กิโลเมตร และเมื่อมิถุนายน 2563 สวนใหม่ที่เปิดให้เราได้ใช้บริการกันก็คือ ‘สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา’
3. นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา : เพิ่มต้นไม้ใน Union Square Park และเปลี่ยนเป็นเขตปลอดรถยนต์
4. ไนโรบี เคนยา : มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงที่มีการระบาด เปลี่ยน Michuki Memorial Park จากที่ทิ้งขยะสู่พื้นที่สำหรับเดินเล่น
5. บาร์เซโลนา สเปน : เปลี่ยนพื้นที่ 1 ใน 3 ของถนนให้เป็นสวนสาธารณะจิ๋ว และเพิ่มจัตุรัสสาธารณะใหม่ 21 แห่ง
ยิ่งชอกช้ำจากโควิด-19 เท่าไหร่ผู้คนก็ยิ่งหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้นเท่านั้น พื้นที่สีเขียวที่มีผลทางตรงต่อสุขภาพจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี แต่ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพียง 6.99 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น นับว่ายังค่อนข้างห่างจากมาตรฐานที่องค์กรอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าเมื่อสวนสาธารณะทั้ง 11 แห่งสร้างเสร็จ คนเมืองจะมีพื้นที่สีเขียวต่อหัวเพิ่มขึ้นอีกมากน้อยแค่ไหน
Source : World Economic Forum | https://bit.ly/39KhICr