We Chef Thailand ฟู้ดทรักไทยเติบโตได้ โดยไม่ต้องง้ออีเวนต์ - Urban Creature

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจและโรคระบาดมากที่สุดคือธุรกิจ F&B (Food and Beverage)

ความพยายามเอาตัวรอดในยุคโควิดทำให้เราได้เห็นการมาถึงของนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ Disrupt ธุรกิจอาหารแบบเดิมๆ เจ้าของร้านที่สร้างรายได้จากของกินต้องปรับตัวไปสู่โลกใหม่เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้ และหนึ่งในการปรับตัวที่น่าจับตามองไม่น้อย คือธุรกิจรถเข็นอาหารหรือ Food Truck 

ด้วยเงินลงทุนที่น้อยกว่าการเปิดร้านอาหาร และความสามารถในการย้ายร้านไปทดลองขายได้หลายพื้นที่ ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนหันมาเอาดีทางนี้มากขึ้น เห็นได้ชัดจากจำนวนธุรกิจอาหารบนฟู้ดทรักที่เปิดใหม่ไปทั่วมุมเมือง

แต่เมื่อมีผู้เข้าแข่งขันหน้าใหม่เข้ามาในตลาด หนึ่งในปัญหาสำคัญที่เห็นได้ชัดไม่แพ้กันคือตลาดฟู้ดทรักมีความเป็นคอขวด เติบโตช้า เพราะชีวิตของผู้ประกอบการฟู้ดทรักมักฝากไว้กับอีเวนต์ ถ้าไม่มีออร์แกไนเซอร์ชวนไปออกอีเวนต์ที่ไหน พวกเขาก็ไม่มีรายได้ มากกว่านั้น ตลาดฟู้ดทรักในไทยยังขาดการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ไม่มีคนแจกแจงงานและสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ

the BBQ Bangkok We Chef Thailand แพลตฟอร์มที่อยากให้ผู้ประกอบการฟู้ดทรักไทยเติบโตได้ โดยไม่ต้องง้ออีเวนต์

‘วินิจ ลิ่มเจริญ’ มองเห็น Pain Point นี้ จึงก่อตั้ง We Chef Thailand แพลตฟอร์มที่ช่วยบริหาร จัดคิว และบอกต่อพื้นที่การขายให้ผู้ประกอบการฟู้ดทรักไทย ที่น่าสนใจคือแพลตฟอร์มของเขาไม่ได้ช่วยประชาสัมพันธ์พื้นที่ขายของเท่านั้น แต่ยังมุ่งสร้างพื้นที่ใหม่ๆ จากพื้นที่ที่ใครหลายคนไม่เหลียวแล เพราะคิดว่าไม่เหมาะกับการขายของ เช่น ปั๊มน้ำมันหรือสวนสาธารณะในหมู่บ้าน โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับแวดวงผู้ประกอบการฟู้ดทรักไทย ให้ ‘อยู่ได้’ โดยชีวิตไม่ต้องขึ้นอยู่กับอีเวนต์เลย

เรานัดพบวินิจในวันฝนพรำ ท่ามกลางฟู้ดทรักนับสิบที่จอดเรียงรายกันอยู่ในลานกว้างริมน้ำของห้างฯ ICONSIAM เพื่อล้วงลึกถึงสูตรลับของการทำแพลตฟอร์มที่ช่วยเหลือฟู้ดทรักไทยมาแล้วกว่าสามปี 

ถ้าเปรียบ We Chef เป็นอาหารหนึ่งจาน วินิจบอกเราว่าส่วนผสมและขั้นตอนการทำก็น่าจะมีประมาณนี้แหละ

วินิจ ลิ่มเจริญ ผู้ก่อตั้ง We Chef Thailand

ส่วนผสม

ความรักในอาหาร 1 ช้อนโต๊ะ

ความรู้เรื่องการตลาด 5 ถ้วย

ความชำนาญเรื่องไอที 2 ช้อนชา

ความมุมานะในการพิตช์งาน 10 ถ้วยตวง

ความอดทนในการสื่อสารกับผู้ประกอบการ 5 ช้อนชา

ความใจกว้างในการถ่ายทอดความรู้ ∞ 

วิธีทำ We Chef Thailand

ขั้นตอนที่ 1 

เรียนรู้ทุกอย่างด้วยการกระโดดลงไปทำ

“ก่อนจะออกมาเปิดธุรกิจของตัวเอง เราเคยทำงานเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ในบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง ทำงานประจำได้สิบสองปี จนรู้สึกว่าไม่อยากคุยกับคอมพิวเตอร์แล้ว เลยลาออกมาเปิดร้านซ่อมกระเป๋าชื่อ Ninebags ทั้งที่เราเย็บผ้าไม่เป็นเลย แต่เราเป็นคนชอบประดิดประดอย ชอบคุยกับคน ตอนนั้นก็บอกตัวเองว่าเราต้องเป็นร้านซ่อมกระเป๋าที่ดังที่สุดให้ได้ แม้จะไม่ได้เป็นช่างซ่อมที่เก่งที่สุดก็ตาม

“เราเรียนจบโทมาร์เก็ตติ้ง เลยใช้ความรู้เรื่องการตลาดทั้งหมดที่ได้ร่ำเรียนมากับธุรกิจนี้ วิ่งเข้าหาสื่อจนร้านเป็นที่รู้จัก และอยู่ได้โดยไม่ต้องทำโฆษณา การเปิดร้านซ่อมกระเป๋าทำให้เกิดผลพลอยได้หลายอย่างที่เรานึกไม่ถึง เช่น เราได้เขียนหนังสือชื่อ Low Cost Marketing ที่กลายเป็นหนังสือขายดี ได้ไปเป็นวิทยากรบนเวทีต่างๆ รวมถึงได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชา E-Commerce ที่คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาจนถึงทุกวันนี้

“E-Commerce คือวิชาที่ว่าด้วยการค้าสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นเราต้องอัปเดตเทรนด์การค้าตลอดเวลา จนวันหนึ่งเราได้ศึกษาศาสตร์ของธุรกิจสตาร์ทอัป ซึ่งเมื่อหกเจ็ดปีที่แล้วเราไม่รู้จักมันเลย โลกของสตาร์ทอัปน่าสนใจตรงที่มันมีการไปแข่งขันพิตชิ่งเพื่อหาทุน ทำให้สงสัยว่าการทำธุรกิจโดยไม่ใช้เงินของเราต้องทำยังไง อีกอย่างคือเรื่องนี้น่าจะเอามาสอนนักศึกษาได้ แต่ด้วยสไตล์ของเรา ถ้าจะไปสอนใครในสิ่งที่ไม่ได้ทำ เราก็จะบอกต่อได้แบบไม่อิน นั่นคือที่มาการสร้างสตาร์ทอัปของตัวเอง” 

วินิจ ลิ่มเจริญ ผู้ก่อตั้ง We Chef Thailand ทำท่าชี้นิ้ว
วินิจ ลิ่มเจริญ ผู้ก่อตั้ง We Chef Thailand ทำท่าพนมมือ

ขั้นตอนที่ 2 

สร้างสตาร์ทอัปจากแพสชันและปรับเปลี่ยนเมื่อถึงทางตัน

“เราชอบทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก เลยจับแพสชันเรื่องอาหารของตัวเองมาต่อยอดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัป ไอเดียแรกของ We Chef Thailand ไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยจัดการฟู้ดทรัก แต่เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้คนทำอาหารขายจากที่บ้าน แล้วเชื่อมต่อกับบริการเดลิเวอรี คล้ายๆ แอปฯ สั่งอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ทุกวันนี้ เรามีสโลแกนคือ ‘เปลี่ยนครัวที่บ้านให้เป็นงาน เปลี่ยนการทำอาหารให้เป็นเงิน’ โดยมีเป้าหมายคืออยากให้ผู้ใช้สามารถทำเงินได้ แม้ไม่ได้มีหน้าร้านก็ตาม

“แต่ตอนนั้นเราอาจเล่นท่ายากไปนิด เพราะคนที่ขายบนแพลตฟอร์มของเราได้ต้องตอบคำถามเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเหมาะสมที่จะถูกเรียกว่าเชฟจริงๆ เหมือนทำอาหารต้องเป็นอาหารต้นตำรับ อะไรทำนองนั้น นั่นคือท่ายากที่ทำให้ติดข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ ประจวบกับเราเริ่มมองเห็นสัญญาณร้ายในตอนนั้นคือแพลตฟอร์มใหญ่ๆ หลายแห่งกระโดดลงมาทำบริการเดลิเวอรี รู้เลยว่าหายนะมาเยือนเราแน่ เราเลยต้องหาวิธี Pivot หรือเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจ 

“โชคดีที่ในปี 2018 เราเอาไอเดียของ We Chef โมเดลแรกไปพิตช์ที่เวที Startup Thailand ได้รางวัลรองชนะเลิศ และในวันนั้นหนึ่งในผู้ฟังเป็นคนของบริษัท PTG Energy จำกัด (มหาชน) หรือปั๊มน้ำมัน PT เขาก็ชวนไปพิตช์ให้ผู้บริหารฟัง เราได้เข้าไปพิตช์กับคุณพิทักษ์ รัชกิจประการ เบอร์หนึ่งขององค์กร จนเขาเซย์เยสที่จะทำงานกับเรา พอได้ปั๊มน้ำมันมาเป็นพันธมิตร เราก็คิดถึงไอเดียที่เกี่ยวข้องกับเขา ซึ่งข้อดีของปั๊มน้ำมันคือมีช่องทางเต็มไปหมด อย่าง PT เองก็มีสาขาเยอะที่สุดในประเทศไทย นั่นคือสองพันกว่าปั๊ม แล้วมันจะเกี่ยวกับอาหารได้ยังไง 

“คิดไปคิดมาไม่รู้อะไรดลใจ เราคิดถึงฟู้ดทรัก”

food truck งาน we chef Thailand

ขั้นตอนที่ 3

มองเห็นปัญหาสำคัญแล้วลงมือแก้ไข

“เราลองหาข้อมูลฟู้ดทรักในต่างประเทศดู สงสัยว่าทำไมต้นกำเนิดฟู้ดทรักอย่างอเมริกาเขาไปได้ดีจัง แล้วก็พบคำตอบว่าเขามีระบบนิเวศที่เอื้อให้ฟู้ดทรักบ้านเขาได้เติบโต มีพื้นที่จอดที่เตรียมโดยภาครัฐ แต่บ้านเราไม่มี ทั้งๆ ที่มีคนทำฟู้ดทรักอยู่สามพันกว่าราย แต่ฟู้ดทรักบ้านเราทำกันแบบลูกทุ่งมาก ไม่มีใครเตรียมพื้นที่ให้ ชีวิตของฟู้ดทรักจึงต้องฝากไว้กับอีเวนต์ ถ้าไม่มีใครมาชวนไปอีเวนต์ ฟู้ดทรักก็ไม่มีรายได้ 

“Pain Point ที่เรามองเห็นคือ ทำไมฟู้ดทรักไม่สามารถอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ อีกอย่างคือก่อนหน้านี้ การได้งานมาของฟู้ดทรักแต่ละคันมันมีความไม่ยุติธรรมอยู่ในนั้น ยกตัวอย่าง คุณอยากทำธุรกิจฟู้ดทรัก ไปถอยฟู้ดทรักป้ายแดงมา แล้วก็พาตัวเองไปอยู่ในไลน์กลุ่มรวมผู้ประกอบการฟู้ดทรัก สมมติมีออร์แกไนเซอร์มาประกาศว่ามีงานคอนเสิร์ต ต้องการฟู้ดทรัก 10 คัน คุณคิดว่าในฐานะผู้ประกอบการหน้าใหม่ คุณจะได้งานนั้นไหม (ส่ายหน้า) มันจะมีเจ้าถิ่น มีรุ่นพี่ที่ได้ไปก่อน ทั้งๆ ที่คนมาใหม่อาจจะดีกว่าก็ได้ 

งาน We Chef Thailand แพลตฟอร์มที่อยากให้ผู้ประกอบการฟู้ดทรักไทยเติบโตได้ โดยไม่ต้องง้ออีเวนต์
We Chef Thailand แพลตฟอร์มที่อยากให้ผู้ประกอบการฟู้ดทรักไทยเติบโตได้ โดยไม่ต้องง้ออีเวนต์

“เราว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ยุติธรรมเลย นี่คืออีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แวดวงฟู้ดทรักของบ้านเราเป็นคอขวด โตไม่ได้ เพราะหลายคนเข้ามาในแวดวงแล้วเจออะไรแบบนี้ เขาก็ไม่โอเค เดินออกจากอาชีพนี้ไปเลยก็มี จากปัญหาเหล่านี้เราจึงอยากสร้างแพลตฟอร์มที่ไม่มีระบบพรรคพวก แต่ใช้ระบบ Ranking โดยมีเทคโนโลยีมาช่วยคิดคำนวณ หากคุณทำงานดี คุณก็ควรได้งานดีๆ ต่อ เหมือนแอปฯ ส่งอาหารที่มีการให้คะแนน ถ้าคะแนนคุณดี เวลาลูกค้าเสิร์ชมันก็อยู่อันดับต้นๆ นั่นแหละ

“ช่วงแรกไม่มีใครรู้จักแพลตฟอร์มของเรา และเราไม่รู้จักผู้ประกอบการฟู้ดทรักเลยแม้แต่คันเดียว เลยคิดอยากสร้างเครือข่ายก่อนด้วยการชวนพวกเขาไปจอดในปั๊มของ PT เราขุดวิชา Low Cost Marketing ขึ้นมา ไปเสิร์ชข้อมูลของผู้ประกอบการฟู้ดทรัก จากนั้นก็โทรคุยง่ายๆ บอกว่าเราเห็นปัญหาของคุณว่าชีวิตคุณต้องขึ้นอยู่กับคนอื่น ขึ้นกับออร์แกไนเซอร์ ขึ้นกับใครก็ไม่รู้ จนมีคนลองมาเปิดขายในปั๊มกับเรา 

“งานแรกที่เราลองชวนผู้ประกอบการมาเปิดร้านขายด้วยกันคือช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ คนกำลังเดินทางออกจากกรุงเทพฯ กลับบ้านหยุดยาว เราก็เอาฟู้ดทรักไปดักที่ปั๊ม PT บนเส้นทางที่ไปเหนือ ไปอีสาน ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ในมุมของลูกค้าคนเดินทาง เข้าปั๊มแล้วไปเจอคาราวานฟู้ดทรักรอต้อนรับเขาอยู่ บางคนช้อปจนลืมว่าต้องเดินทางต่อ (หัวเราะ) และ PT เองก็ชอบด้วย เพราะมันแตกต่างจากที่เคยมีมา”

รถ The BBQ Bangkok ในงาน We Chef Thailand

ขั้นตอนที่ 4

ผจญภัยในความเสี่ยง

“ถ้ามองแบบผิวเผิน We Chef อาจดูเหมือนออร์แกไนเซอร์ที่เหมาพื้นที่ไปขายต่อแล้วบวกกำไร แต่จริงๆ เราคือแพลตฟอร์มที่ช่วยค้นหาและจัดการพื้นที่ออกงานให้ผู้ประกอบการฟู้ดทรัก โมเดลหาเงินของเราคือ Revenue Sharing (ส่วนแบ่งรายได้) ที่เกิดจากการเพิ่มคุณค่าให้พื้นที่ ผู้ประกอบการฟู้ดทรักได้ขาย เจ้าของที่ได้ค่าเช่าที่ ส่วน We Chef ได้ส่วนแบ่งรายได้กับเจ้าของพื้นที่

“ในขั้นตอนเริ่มแรก เราชวนผู้ประกอบการมาเป็นผู้ใช้ผ่านระบบ LINE OA โดยให้เขาสมัครสมาชิกกับไลน์ของเรา เมื่อมีงานเข้ามา เราก็จะ Broadcast (เผยแพร่ข้อมูล) งานนั้นออกไป ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปเลือกงาน จ่ายเงินในนั้นได้เลย 

“วิธีการคัดเลือกฟู้ดทรักไปขายจะขึ้นอยู่กับงาน มีเงื่อนไขที่หลากหลายและซับซ้อน บางเงื่อนไขเราไม่ได้ตั้งเอง เจ้าของสถานที่เป็นคนตั้ง สมมติเราไปจัดงานในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เขาขอฟู้ดทรักสิบคันและนิติหมู่บ้านจะขอคัดเลือกเองก็ได้ เรามีหน้าที่ส่งข้อมูลของผู้ประกอบการที่สมัครเข้ามาให้เขา ถ้าเขาเลือกแล้วเราก็จะประกาศให้ผู้ประกอบการรู้ต่อไป นั่นกรณีที่เขาขอเลือก แต่ถ้างานไหนเราเลือกเองก็จะ First Come, First Served แต่อาจมีเงื่อนไขว่ารับรถเครื่องดื่มกี่คัน รถอาหารจานหลักกี่คัน เป็นต้น

ผู้หญิงต่อแถว food truck งาน we chef Thailand

“ส่วนการคัดเลือกสถานที่ เราจะมองหาพื้นที่ที่เจ้าของอยากใช้ให้เป็นประโยชน์มากกว่าที่มันเคยเป็น บางทีเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยก่อให้เกิดรายได้เลยอย่างปั๊มน้ำมัน โดยสเปซที่เราเปิดให้ไปจอดขายคือช่องจอดของลูกค้าที่มักจะเหลือ หรือถ้าในหมู่บ้านก็มักเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งคนในหมู่บ้านที่เป็นลูกค้าก็แฮปปี้กับการมีอาหารขายถึงบ้าน นิติบุคคลก็ได้เงินค่าบำรุงหมู่บ้าน หรืออย่าง ICONSIAM ที่เรามาจัดงานในวันนี้ จะเห็นได้ว่าเราจัดช่วงกลางฤดูฝน มันเป็นช่วงโลว์ซีซันของเขา มันเสี่ยง แต่บนความเสี่ยงมันคือโอกาสเรา เพราะถ้าไม่ใช่หน้าฝน ลานตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เราเอื้อมไม่ถึงแน่นอนด้วยค่าเช่า แต่พอเรามาด้วยข้อจำกัด ทางห้างฯ ก็ให้ทำ เพราะเขาเซอร์ไพรส์ที่เรามองว่าพื้นที่ตรงนี้ในช่วงโลว์ซีซันสามารถสร้างประโยชน์ได้

“พอประสบการณ์มากขึ้น เราก็มีสายตาในการเลือกสถานที่จัดงานที่คมขึ้น ทุกวันนี้มีเจ้าของรายใหม่ๆ โทรหาเราอย่างน้อยหนึ่งรายต่อสัปดาห์ เราก็ต้องบอกว่าขออนุญาตดูและสำรวจก่อน ถ้าตรงไหนที่เรารู้จักแล้วเห็นว่าไม่เวิร์ก ก็จะบอกเขาอย่างตรงไปตรงมา แต่ถ้าตรงไหนเราไม่รู้จัก ก็ไปสำรวจดูก่อน เพราะธรรมชาติของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน อย่างล่าสุดเราได้ไปสำรวจที่แถวๆ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก่อนไปเขาโฟกัสแต่การเปิดตลาดตอนเย็น เราเลยบอกเขาไปว่าถ้าเปิดตลาดตอนเย็นคู่แข่งคุณเยอะมากเลยนะ เราทำตลาดเช้าดีไหม ขายโจ๊ก ข้าวต้ม ปาท่องโก๋ให้นักศึกษา เผลอๆ ทำอย่างนั้นขายดีกว่าอีก เขาก็เห็นด้วยกับเรา 

We Chef Thailand แพลตฟอร์มที่อยากให้ผู้ประกอบการฟู้ดทรักไทยเติบโตได้ โดยไม่ต้องง้ออีเวนต์

“ยังไงก็ตาม แค่สายตากับคอมมอนเซนส์ก็อาจไม่ถูกไปทุกครั้งหรอก พอเราเป็นแพลตฟอร์ม Data หรือข้อมูลคือสินทรัพย์ที่มีมูลค่า สิ่งที่เรากำลังทำตอนนี้จึงเป็นการเก็บข้อมูลสถิติว่าสถานที่ไหน ขายอะไรเวิร์ก ในเวลาแบบไหน เราอยากเก็บข้อมูลให้มากพอที่จะวิเคราะห์และพยากรณ์การจัดงานได้ สมมติว่าไปเปิดในหมู่บ้านหนึ่ง ข้อมูลในอดีตบอกว่าก๋วยเตี๋ยวขายดี เบอร์เกอร์ขายไม่ดี เราก็จะได้แนะนำร้านเบอร์เกอร์ไปตรงๆ ว่าคุณอย่ามาที่นี่เลย แต่ถ้าเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว คุณมาเลย แถมขึ้นราคาได้อีกเพราะหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านคนมีเงิน แล้วคุณก็ทำให้อาหารสมราคา”

ขั้นตอนที่ 5

Disrupt ทำเลทอง

“ถึงตอนนี้ We Chef เปิดมาได้ราวสามปีกว่า ในเวลาที่ผ่านมา สิ่งที่เราคิดว่าตัวเองสอบผ่านอันดับแรกคือความวางใจที่ผู้ประกอบการมีให้ We Chef ตอนเข้ามาใหม่ๆ ทุกคนก็มีคำถามแหละ เพราะเราไม่เคยอยู่ในโลกของฟู้ดทรักเลย หลายคนอาจมีคำถามว่าไอ้นี่คือใครวะ แต่เราก็ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ แสดงให้เขาเห็นว่าเราเข้ามาด้วยเจตนาที่ดีจริงๆ เราต้องการสร้างระบบนิเวศ สร้างช่องทางการขายให้เขาด้วยเทคโนโลยี ทุกคนก็เริ่มเชื่อมั่นและศรัทธาในสิ่งที่ We Chef ทำ จากคนที่ไม่เข้าใจก็เริ่มเข้าใจ เริ่มไปกับเรา ทุกคนมาพูดให้เราฟังว่ามันแตกต่างอย่างชัดเจนจากวิธีเดิมๆ ที่เป็นออร์แกไนเซอร์หรือรวมกลุ่มกัน เวลาเราได้ยินอะไรแบบนี้ก็ชื่นใจ

“เราเริ่มทำ We Chef ด้วยแพสชันเรื่องอาหาร แต่ตอนนี้เรามองไปถึงสิ่งที่ไม่ใช่อาหารแล้ว เรามองว่าเรากำลังทำธุรกิจ Real Estate หรือการพัฒนาพื้นที่ที่ Disrupt คำว่า ‘ทำเลทอง’ ซึ่งปกติจะเป็นพื้นที่ที่มีคนเข้าถึงได้ไม่กี่คน และคนเหล่านั้นมักเป็นคนที่มีเงินทุนเยอะๆ แต่ We Chef ช่วยสร้างช่องทางค้าปลีกของคนตัวเล็ก ตอนนี้เรากำลังมองถึงธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถ Transform มาอยู่บนรถได้อย่างบาร์เบอร์ ซาลอน ร้านเสื้อผ้าแฟชั่น ร้านขายแก็ดเจ็ต ที่สำคัญพื้นที่แต่ละแห่งนั้นจะไม่ใช่พื้นที่ถาวรของฟู้ดทรักอีกต่อไป ถ้ารู้สึกว่าขายไม่ดี ผู้ประกอบการก็มีสิทธิ์ย้ายได้เหมือนกัน”

We Chef Thailand แพลตฟอร์มที่อยากให้ผู้ประกอบการฟู้ดทรักไทยเติบโตได้ โดยไม่ต้องง้ออีเวนต์

ขั้นตอนที่ 6

มองเห็นภาพกว้างและภาพไกล

         “หลายคนเคยปรามาสว่าฟู้ดทรักเป็นแค่แฟชั่น เป็นช่องทางทำมาหากินในเวลาห้างฯ ปิดช่วงโควิด ผู้ประกอบการไม่รู้จะไปขายที่ไหน ทำให้ยั่งยืนไม่ได้หรอก แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ใช่แฟชั่น ไม่ใช่ความฉาบฉวย และไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของหลายๆ คน โดยเฉพาะคนตัวเล็กที่ไม่ได้มีกำลังมากพอที่จะไปลองผิดลองถูกในทำเลทอง นี่คือช่องทางที่เริ่มต้นทุกอย่างได้ง่าย และนิยามฟู้ดทรักของเราไม่ได้หมายถึงรถที่เราคุ้นชินเท่านั้น คนขายลูกชิ้นปิ้งกับมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างก็มาอยู่บนแพลตฟอร์มเราได้ เรากรุยทางไว้ให้แล้ว แน่นอนว่าเราคงไม่ใช่บริษัทสตาร์ทอัปที่คิดเทคโนโลยีล้ำๆ แต่มันก็ล้อไปกับบริบทของผู้คนในประเทศนี้จริงๆ และเราเชื่อว่าถ้ามันสำเร็จ ทุกคนจะได้ประโยชน์

วินิจ ลิ่มเจริญ

“ทุกครั้งไม่ว่าเราจะเริ่มทำอะไร ทั้งธุรกิจซ่อมกระเป๋า การเขียนหนังสือ การเป็นอาจารย์ เรามักแอบคิดถึงภาพปลายทางที่เราอยากเห็นเสมอ We Chef ก็เหมือนกัน เรามองเห็นภาพปลายทางแล้วว่ามันจะเป็นยังไง เราเห็น Ecosystem ของฟู้ดทรักในบ้านเราที่สมบูรณ์ที่สุด และมันสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้ผู้คนเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นฟู้ดทรัก คนค้าปลีก พี่น้องเกษตรกรเอาสินค้าเกษตรขึ้นรถมาขาย และภาพใหญ่สุดคือแพลตฟอร์มอาหารของประเทศไทย ประเทศที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นครัวของโลก เอาแพลตฟอร์มนี้ไปบุกต่างประเทศเหมือนที่เขามาบุกประเทศเราบ้าง ไอ้ภาพปลายทางนี่แหละที่หล่อเลี้ยงความรู้สึกให้เราอยากทำต่อ”

วินิจ ลิ่มเจริญ กอดอก

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.