ภาพจำของหลายคนที่มองมายังกรุงเทพฯ คือเหล่าตึกสูงระฟ้า รถราติดหนึบ และมลพิษจากย่านใจกลางเมือง แต่จริงๆ แล้ว กรุงเทพฯ ยังมีส่วนของชานเมืองรอบนอกที่ยังคงสภาพวิถีชีวิตดั้งเดิม เป็นชาวสวนผลไม้ที่ผูกพันกับสายน้ำลำคลอง อากาศสดชื่น และบรรยากาศที่แทบไม่ต่างอะไรกับต่างจังหวัด
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ‘ตลิ่งชัน’ หนึ่งในเขตชานเมืองทางฟากตะวันตกของกรุงเทพฯ ที่หลายคนอาจคุ้นหูจากการเป็นทางผ่านลงภาคใต้ทางถนนเพชรเกษม หรืออาจพอได้ยินมาบ้างจากการเป็นแหล่งรวมคาเฟ่และร้านอาหารบนถนนบรมราชชนนีและถนนราชพฤกษ์ แต่ถัดเข้ามาจากถนนใหญ่หลายสายที่ตัดผ่านเขตนี้ ยังมีชุมชนเล็กๆ กลางสวนและบ้านจัดสรร ที่ยังคงเสน่ห์และวิถีชีวิตดั้งเดิมมากว่าร้อยปี
จากเงาของตึกสูงที่ตกลงมาบนถนนใหญ่ใจกลางเมือง เปลี่ยนเป็นร่มเงาต้นไม้ที่ทาบลงบนถนนสายเล็กๆ ของชุมชนและบนผิวน้ำในคลองที่ใสสะอาด เรือหางยาววิ่งเสียงดังลั่นคุ้งน้ำเป็นสัญญาณต้อนรับ เหนือยอดไม้แทบไม่เห็นตึกสูง ฉากหลังของบ้านเรือนไทยเป็นท้องฟ้าสีสดใส ไร้ทัศนะอุจาดรบกวนเหมือนในเมือง ท่ามกลางเสียงจากธรรมชาติที่ได้ยินอยู่ตลอดเวลา เชื่อหรือไม่ว่าภาพเช่นนี้เห็นได้ด้วยการเดินทางจากในเมืองมาไม่นานนัก
บรรยากาศของที่นี่ไม่ต่างอะไรจากสวนที่พบเจอได้ในจังหวัดอื่นๆ ผิดแต่ว่าที่นี่อยู่ในเขตของกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศที่นับวันจะหาพื้นที่สีเขียวได้ยากขึ้นทุกที
หลักฐานความเจริญของย่านตลิ่งชันที่ ‘วัดจำปา’
เราเดินเข้าสู่รั้ววัดจำปา พบกับ ‘พี่ดุ่ย-ทวีศักดิ์ หว่างจันทร์’ ตามนัดหมาย ประธานชุมชนวัดจำปาต้อนรับขับสู้ด้วยไมตรีจิต ก่อนนำเราตรงไปยังอุโบสถวัดจำปา พร้อมทั้งเล่าสารพัดเรื่องราวของวัดโบราณคู่ชุมชนแห่งนี้ โดยเฉพาะเหล่าของดีมีราคา และของจากในราชสำนัก
“หน้าบันอุโบสถประดับอ่างล้างหน้างานยุควิกตอเรีย สมัยรัชกาลที่ 4 ตอนนี้พบสองที่คือวัดจำปากับพระนครคีรี ที่นู่นสีเขียว ที่นี่สีชมพู อาจจะก่อนหรือหลังรัชกาลที่ 4” พี่ดุ่ยชวนเราเงยหน้ามองที่สิ่งอันซีนอย่างแรก
เมื่อเข้าไปด้านในอุโบสถก็พบกับของอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือลูกกรงเหล็กสีทองด้านหน้าพระประธานในอุโบสถ ซึ่งไม่มีประวัติความเป็นมาว่ามาอยู่ที่วัดแห่งนี้ได้อย่างไร มีเพียงลายนูนที่เขียนว่าหล่อมาจากประเทศอังกฤษ และยังพบเหมือนกันที่พระราชวังสราญรมย์ จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นเซตเดียวกัน
ที่ว่ามาล้วนแต่เป็นของดีมีราคาในราวร้อยกว่าปีก่อน แสดงให้เห็นว่าวัดแห่งนี้คงมีความสำคัญไม่น้อยในยุคนั้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายความอันซีนที่ถ้าใครมีโอกาสมาถึงวัดนี้ก็ลองเดินค้นหากันได้ ไม่ว่าจะเป็นปูนปั้นรูปจระเข้ที่สันหลังคา หน้าบันรูปประติมากรรมจีนตามหลักฮวงจุ้ย ธรรมาสน์เก่าบนศาลาการเปรียญ ฯลฯ
หากจะให้ย้อนไปเก่ากว่านั้น ความสำคัญของวัดนี้ยังมีบันทึกบอกไว้ว่าผูกพันกับราชสำนักช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์อย่างแน่นแฟ้น ถึงขนาดที่รัชกาลที่ 3 มีพระราชศรัทธานำผลไม้จีน 5 อย่างมาถวายวัดจำปา ได้แก่ มะพลับ มะกอก แห้ว ส้ม และกระเทียม รวมถึงพระราชทานที่ดินสวนให้ 1 แปลงด้วย
แต่ใช่ว่าของต่างๆ ในวัดจะเกี่ยวเนื่องกับชนชั้นสูงเท่านั้น เพราะยังมีงานประดับตกแต่งด้านในอุโบสถ เป็นงานโมเสกกระเบื้องสีคราม ช่วยบอกเล่าภาพสะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้านและสภาพพื้นที่ย่านนี้ในอดีต ทั้งกิจกรรมของคนในชุมชน ทิวทัศน์นาข้าว ต้นมะพร้าว และภาพของทะเล พี่ดุ่ยเดาว่าคงเป็นชายหาดบางแสน ซึ่งเป็นแหล่งพักอากาศของคนในสมัยนั้น ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าถึงบรรยากาศหลายอย่างที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว
“ที่นี่พบงานในราชสำนักทั้งนั้น บ่งบอกว่าชุมชนมีฐานะดี เพราะคนเอาของดีมาถวาย วัดเจริญ แสดงว่าชุมชนก็เจริญ” พี่ดุ่ยขมวดทุกอย่างที่เล่ามา ก่อนพาเราเดินเข้าไปซอยด้านข้างวัด ซึ่งเป็นทางสัญจรของคนในชุมชนวัดจำปา
‘บ้านสองบุตรี’ จากพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องของครอบครัวสู่พื้นที่แห่งการเรียนรู้ของทุกคน
นอกจากตำแหน่งประธานชุมชน อีกบทบาทหนึ่งของพี่ดุ่ยคือเจ้าของ ‘บ้านสองบุตรี’ เรือนไทยหลังใหญ่ที่สร้างขึ้นตรงจุดตัดของคลองบ้านไทรกับคลองบางระมาดพอดิบพอดี หากเดินทางเข้ามาจะพบกับบ้านหลังนี้ตั้งโดดเด่นเป็นหลังแรก คล้ายทำหน้าที่เป็นปากประตูต้อนรับผู้มาเยือนชุมชนวัดจำปา
“พี่เป็นคนอยู่บ้านเรือนไทยมาแต่เด็ก” สถาปนิกเจ้าของบ้านเอ่ยยิ้มๆ พร้อมเล่าถึงจุดเริ่มต้นของบ้านสองบุตรี ที่สร้างขึ้นตามหลักการปรุงบ้านเรือนไทย มีทั้งเรือนขวางที่ไว้บังแดดจากทิศตะวันตก และเรือนประธานที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย แถมตอนสร้างก็มีการทำพิธีกรรมแบบโบราณ ตั้งแต่การวางฐานราก วางศิลาฤกษ์ ตอกไม้มงคล ยกเสาเอก เบิกหน้าพรหม ไปจนถึงการผูกขวัญบันได
เรียกว่าเป็นหมู่เรือนไทยที่ออกแบบมาอย่างตั้งใจของพี่ดุ่ย ผู้ซึ่งหลงใหลเสน่ห์ของบ้านเรือนไทย โดยนอกจากความสวยงามของอาคารภายนอกแล้ว ด้านในบ้านยังแบ่งสัดส่วนเป็นห้องต่างๆ ทั้งห้องพระ ห้องนั่งเล่น ตกแต่งด้วยของเก่าทั้งของสะสมส่วนตัวและมรดกตกทอดของครอบครัว
เรือนไทยหลังนี้ไม่ได้เป็นเพียงที่พักอาศัยของครอบครัวหว่างจันทร์เท่านั้น หากแต่เป็นพื้นที่เรียนรู้ทั้งด้านสถาปัตยกรรมไทยและงานช่าง ให้ผู้สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม
แต่ถ้าย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ก่อนจะเปิดบ้านให้คนภายนอกได้เข้ามาเรียนรู้ เจ้าของบ้านเล่าว่ามีที่มาจากเพียงความต้องการจุดเล็กๆ คือให้ลูกๆ รักและหวงแหนบ้านหลังนี้ ด้วยการทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของคนในบ้าน ผ่านสิ่งของทุกชิ้นที่ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวผูกพันกับครอบครัว
“เรามีลูก ก็อยากให้ลูกเรารักบ้านหลังนี้ เลยทำให้ตัวบ้านบอกเล่าเรื่องราวตามมุมห้อง อย่างที่มุมหนึ่งของบ้านมีภาพคุณลุง ก็ทำคำบรรยายเขียนว่ารูปนี้เป็นคุณลุงนะ บ้านของเราเป็นตระกูลช่าง สมัยพ่อเด็กๆ เล่นแบบนี้ ห้องพระเป็นแบบนี้ ธงที่แขวนเป็นธงที่ปู่ได้เมื่อน้ำท่วมปี 2526 เป็นธงพระราชทาน ส.ก.”
ตามเส้นทางเดินในชุมชน เราสังเกตเห็นว่ามีป้ายข้อมูลและสถานที่ท่องเที่ยวเป็นระยะๆ บ้านทุกหลังล้วนแต่เป็นพื้นที่ศึกษาด้านภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า ไม่ว่าจะบ้านเครื่องหอม บ้านทำว่าว ทำเครื่องจักสาน บ้านขนมไทย ฯลฯ
ก่อนจะเป็น ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’ อันหมายรวมถึงพื้นที่ทั้งหมดของชุมชน ซึ่งได้รับรางวัลมิวเซียมไทยแลนด์อวอร์ด ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน จุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่นี้ เกิดจากการที่พี่ดุ่ยมองว่าชุมชนที่ตนเกิดและโตมานี้มีของดีมากมาย แต่น้อยคนจะรู้ เลยอยากให้คนอื่นๆ ได้มาสัมผัสดู เขาจึงเกิดความคิดอยากผลักดันชุมชนให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเมื่อกว่า 10 ปีก่อน
“จริงๆ พี่อยากทำด้านท่องเที่ยวแหละ แต่ถ้าไม่เตรียมความพร้อมจะทำได้ไง พี่ทดลองทำเรื่องการท่องเที่ยวสามครั้ง เริ่มตั้งแต่ชวนเพื่อนๆ เข้ามาล่องคลอง ดูบ้าน ก็ทดลองจนเริ่มเห็นว่ามีช่องทาง ซึ่งแนวคิดของพี่คือต้องทำแบบค่อยๆ โต ไม่ได้ทำเพื่อขาย
“พี่มองหาว่าจะเอาอะไรมาจัดเป็นการท่องเที่ยวของบ้านเรา ต้องหาจุดเด่น เลยไปค้นมา พบว่ามีงานสถาปัตยกรรมที่วัดจำปา มีบุคคลสำคัญคือ บ้านพี่เป็นช่าง ตระกูลช่าง นามสกุลเดิมคือช่างปั้นช่างเขียน เขียนจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้ว คุณลุงเป็นจิตรกร บ้านเราก็มีงานแทงหยวก โดยพี่เป็นคนสุดท้ายของที่นี่ พอได้แนวศิลปะแล้วก็กลับมาดูเรื่องวิถีชีวิต อย่างที่ชุมชนก็มีคนทำขนมและทำกับข้าว”
การท่องเที่ยวของชุมชนวัดจำปาเคยบูมถึงขนาดที่ว่าเรือแล่นกันทั่วคลอง จอดกันแน่นเต็มท่าเรือหน้าบ้านสองบุตรี และมีผู้คนเดินทางมาเยี่ยมชุมชนไม่ขาด แต่ตอนนี้ด้านการท่องเที่ยวซบเซาลงมาได้สัก 4 – 5 ปีแล้ว ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 และเมื่อโรคระบาดเข้ามาซ้ำเติมอีก จากเรือหางยาวรับส่งนักท่องเที่ยวที่แล่นกันเต็มคลองก็ค่อยๆ เบาบางลงและหายไป
“ปัญหาคือคนมาเยอะ แต่การที่คนมาเยอะเพราะมาด้วยเรือ ในคลองเรือจอดเรียงแถวเต็มท่าน้ำ พี่บรรยายอยู่บนบ้าน ใช้เวลาเยอะ เรือก็ขาด คนขับเรือก็เลือกแขก ไม่มาที่นี่ ก่อนโควิดก็ไม่มีเรือมาเลย ไม่มาเที่ยวที่นี่เลย”
วันที่มาเยือนชุมชนแห่งนี้ เราพบกับความเงียบและเรียบง่าย มีเพียงกรุ๊ปทัวร์จากสำนักงานเขตตลิ่งชันที่พาคนมาเที่ยวทางน้ำ และกลุ่มนักศึกษาที่สนใจมาเรียนรู้ที่บ้านสองบุตรี เป็นการท่องเที่ยวของชุมชนที่กลับไปสู่การปรับตัวครั้งใหม่ ด้วยการนำเสนอให้คนที่สนใจและอยากมาเรียนรู้ที่นี่จริงๆ ไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบที่เน้นแต่ปริมาณ แต่คือการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
“เราเลยคิดใหม่และปรับตัวให้คนเขาซึมซับกับบรรยากาศ ใช้วิธีท่องเที่ยวแบบปากต่อปากแทน” โต้โผการท่องเที่ยวชุมชนวัดจำปาเผย
ประวัติของชุมชนแห่งนี้อาจพาเราย้อนไปได้ไกลเกินกว่า 500 ปี ถือเป็นชุมชนโบราณที่ยังคงอาศัยกันมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ดังที่พี่ดุ่ยเริ่มต้นนับเจเนอเรชันของครอบครัวให้ฟัง ซึ่งเพียงแค่ย้อนไป 5 ชั่วอายุคน ก็สืบไปได้ไกลถึงสมัยอยุธยาแล้ว และยังมีหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ ที่พบในชุมชนช่วยสนับสนุนอีก
“ชุมชนนี้จริงๆ ไม่มีชื่ออะไรเลย แต่เป็นชุมชนเก่าถึงสมัยอยุธยา ตอนสร้างบ้านขุดบ้านก็เจอเป็นกระปุกกลม ส่วนฝั่งนู้นบ้านน้องสาวก็เจอหลุมเสาบ้านครบหลังเลยนะ แสดงว่าสมัยก่อนเขารื้อแต่บ้านไปแล้วเหลือเสาไว้”
แต่หลักฐานสำคัญคือ การที่เคยขุดพบเศษเครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวใต้ดินของบ้านที่เรากำลังนั่งเปิดบทสนทนา โดยมีการนำไปตรวจสอบวิเคราะห์แล้วพบว่า เป็นของที่ทำขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น-กลาง สอดคล้องกับหลักฐานในด้านวรรณกรรมอย่างโคลงกำสรวลสมุทร ที่เชื่อกันว่าแต่งในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งกล่าวถึงย่านบางระมาด และบรรยายว่าในเวลานั้นเป็นสวนผลไม้ขนาดใหญ่
เพราะที่นี่เป็นแหล่งปลูกพืชผักผลไม้ที่สำคัญมาแต่ไหนแต่ไร ด้วยดินและน้ำที่ดี ปลูกอะไรก็ได้ผลดีและติดใจคนที่ได้ลองลิ้ม ถึงแม้ว่าที่ดินจะแปลงสภาพเป็นบ้านเรือนสมัยใหม่ หมู่บ้านจัดสรร และที่สวนหลายผืนไม่ได้ปลูกผลไม้เช่นแต่ก่อนแล้วก็ตาม
“สภาพชุมชนในสมัยเด็กเป็นสวนมังคุด กระท้อน รุ่นพี่มีปลูกมะกรูด รุ่นก่อนเขาบอกว่าเป็นสวนทุเรียน สวนผลไม้แบบนนทบุรี” พี่ดุ่ยเล่าย้อน “แม่พี่มีโรงข้าวหลาม แถวนี้เป็นแหล่งผลิตข้าวหลามใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ เอาไปส่งปากคลองตลาด แล้วก็มีแม่ค้าหาบไปกระจายขาย สมัยก่อนเขานิยมกินข้าวหลามเป็นอาหารเช้า ตั้งแต่ปากคลองถึงข้างในน่าจะไม่ต่ำกว่ายี่สิบโรง ชาวบ้านก็รับจ้างปอกข้าวหลาม กรอกข้าวหลาม น้าพี่ก็ได้สัมปทานไผ่ที่เมืองกาญจน์”
นอกจากเรื่องของข้าวหลามที่เป็นเรื่องใหม่ในการรับรู้ของเรามากๆ แล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งปลูกดอกเยอร์บีรา ดอกไม้หลากสีสันที่คิดไม่ถึงว่าจะปลูกกันในสวนแถบนี้ รวมถึงยังโด่งดังเรื่องเครื่องต้มยำทำแกงแบบครบถ้วน ทั้งข่า ตะไคร้ และมะกรูด ที่ใครๆ ก็ต่างยอมรับกันว่าแหล่งที่ดีที่สุดคือต้องมาจากตลิ่งชัน
‘ชนบทในเมืองหลวง’ ที่โอบล้อมด้วยบ้านจัดสรร
จากชั้นสองของบ้านสองบุตรี เจ้าของบ้านชวนเรามองไปยังหน้าบ้าน มีศาลเจ้าพ่อจุ้ยซึ่งเป็นที่นับถือของคนในชุมชนตั้งอยู่ตรงที่คลองทั้งสองสายมาบรรจบกัน ศาลแห่งนี้เป็นที่มาของชื่อ ‘ชุมชนเกาะศาลเจ้า’ อีกหนึ่งชื่อเรียกของชุมชนแห่งนี้ และตรงจุดนี้เองที่ในอดีตเคยเป็นท่าเรือขนส่งผลิตผลจากสวนต่างๆ ไปสู่ท้องตลาด
“ตรงนี้แต่ก่อนเป็นท่าเรือใหญ่ เอาของมารวมกันเพื่อวิ่งไปท่าพระจันทร์ เช้าถึงเย็นเป็นเรือหางยาว เรือสองตอนไว้ส่งคนช่วงกลางคืน ตีหนึ่งตีสองก็มีเรือแท็กซี่ ชาวบ้านเอาของบรรทุกไปขาย” พี่ดุ่ยที่มีบ้านอยู่ชิดกับท่าเรือบรรยายภาพในอดีต
ท่าเรือและการสัญจรทางน้ำ รวมถึงความคึกคักของย่านนี้ ลดความนิยมลงไปหลังตลาดนัดที่สนามหลวงย้ายไปเป็นตลาดนัดจตุจักร ทำให้ปลายทางของสินค้าจากสวนหายไป ประกอบกับมีการตัดถนนบรมราชชนนีในช่วงปี 2525 นาข้าวเปลี่ยนไปเป็นถนน สวนผลไม้ค่อยๆ ถูกรุกคืบพื้นที่จากการสร้างบ้านจัดสรรที่ตามมาพร้อมกับการตัดถนน ทำให้สิ่งที่เราเห็นจากการเดินสำรวจคือภาพชุมชนที่ถูกโอบล้อมด้วยกำแพงสูงของหมู่บ้านจัดสรร
“ท่าเรือตรงนี้ซบเซาตอนตลาดนัดสนามหลวงหายไป มันประจวบเหมาะกันทั้งหมด บวกกับมีความเจริญเข้ามาด้วย คนมีสวนพอมีถนนก็ขายสวน เรือก็ไม่วิ่ง แหล่งการค้าก็หายไป คนทำสวนเริ่มไม่มี คนรุ่นใหม่ก็ทำงาน วิถีชีวิตเดิมเลยหายไป”
ทุกวันนี้ ชุมชนวัดจำปาเหมือนเป็นไข่แดงที่อยู่ตรงกลาง แม้จะดูเหมือนหมู่บ้านและถนนกำลังรุกที่ดินสวนดั้งเดิมเข้ามา แต่พี่ดุ่ยบอกว่านี่ถือเป็นข้อดีที่กำแพงเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนเป็นเปลือกไข่ที่ล้อมชุมชนอีกทีหนึ่ง ทั้งยังช่วยให้ไม่มีการเวนคืนที่ดินเข้ามายังชุมชนโบราณแห่งนี้
ใช่เพียงแต่สภาพพื้นที่จะคล้ายชนบท เพราะวิถีความเป็นอยู่แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เดินไปไหนมาไหนเจ้าของบ้านต่างยิ้มแย้มยินดีต้อนรับ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ใครก็ตามที่ได้แวะเวียนมาต่างหลงใหลในชุมชนแห่งนี้
“ชาวต่างชาติเขาบอกว่าเสน่ห์ของที่นี่คือเรื่องคน รากของเราจริงๆ คือวิถีชีวิตชุมชน เพราะที่นี่เหมือนชนบท ห่างไกลความเจริญ แต่อยู่ในกรุงเทพฯ” เราพยักหน้าเห็นด้วยกับประธานชุมชน และรู้สึกชอบคำว่าชนบทในกรุงเทพฯ มาก เพราะนิยามเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ได้อย่างแจ่มชัด
“เราพยายามรักษาชุมชน ทำยังไงให้ชุมชนน่าอยู่ ก็ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม คลองน้ำสะอาด ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น เรามองว่าถ้าร้อนแล้วใครจะมา ถ้าร่มรื่นคนก็มาเอง ชุมชนนี้รถเข้าไม่ถึงก็ใช้วิธีให้คนมาเดิน พอมีคนมาเที่ยว เขตก็เข้ามาดูแล ตำรวจมาดูแลความปลอดภัย ชาวบ้านเห็นนักท่องเที่ยวมาก็ทำบ้านให้สะอาด ทำนู่นทำนี่ให้ดูดีขึ้น เรียกว่าการท่องเที่ยวแบบไหลเวียนของน้ำ” เจ้าของบ้านสองบุตรีเล่าถึงความเคลื่อนไหวของชุมชนวัดจำปา ซึ่งเขาพูดอย่างเต็มปากว่าวันนี้ตั้งใจทำให้ “ที่นี่ไม่ใช่ที่ท่องเที่ยว แต่คือศูนย์ศึกษาเรียนรู้ดูงาน” ที่จะส่งผลต่อกันเป็นทอดๆ เหมือนสายน้ำที่ไหลไปทั่วทั้งชุมชน
สัมผัสวิถีชาวสวนผลไม้แนวผสมผสานที่ ‘สวนลุงแก้ว’
แม้ที่นี่จะเคยขึ้นชื่อลือชาเรื่องสวนผลไม้อย่างมาก แต่ตอนนี้สวนค่อยๆ หายไปด้วยหลายเหตุปัจจัย ยังพอเหลือผู้ที่ประกอบอาชีพทำสวนอยู่บ้างอย่างเช่น ‘ลุงแก้ว-อภินันท์ พุ่มทิม’ และ ‘ป้าแอ้ด-ประภา พุ่มทิม’
“แต่ก่อนเป็นสวนทั้งนั้น มองเห็นชุมทางรถไฟตลิ่งชันเลยนะ แต่ก่อนเดินไปขึ้นรถไฟตัดทุ่ง พอถนนบรมฯ ตัดผ่านนี่จำไม่ได้เลย แต่ก่อนเป็นนา เดี๋ยวนี้เป็นหมู่บ้าน เปลี่ยนไปหมด จากคนไม่มีสตางค์ก็เป็นเศรษฐี มีนาก็ขาย ตอนนั้นเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นเยอะเลย” ลุงแก้วรำลึกความหลัง พลางหัวเราะร่วน
สวนลุงแก้วมีผลไม้ที่เป็นตัวหลักของสวน อย่างชมพู่ม่าเหมี่ยวที่ออกดอกสีแดงเต็มต้น และมะม่วงพราหมณ์พันธุ์โบราณที่หากินยากอายุกว่าร้อยปี ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินมาตั้งแต่ลุงแก้วจับพลัดจับผลูได้ที่สวนผืนนี้มาในครอบครองเมื่อกว่า 60 ปีก่อน
“แต่ก่อนเก็บชมพู่ทีเป็นลำเรือนะ ลงหน้าบ้านเลย” เจ้าของสวนผลไม้ในวัย 80 กว่าปี นั่งเล่าถึงวิถีชาวสวนย่านนี้อย่างเป็นกันเองใต้เงาครึ้มของต้นไม้
สวนลุงแก้วเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแนวทางผสมผสานตามแนวคิดของรัชกาลที่ 9 ที่พร้อมเปิดประตูให้ความรู้แก่ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษา
โดยในสวนมีผลหมากรากไม้หลากชนิดที่ปลูกแซมกันไปตามแต่จะมีพื้นที่ว่าง ไม่ว่าจะเป็นกระท้อน มะปราง กล้วย มะพร้าว และพืชผักสวนครัว ลุงแก้วบอกว่าลองทำวิธีนี้แล้วได้ผลดี ทำให้มีผลผลิตไว้กินตลอดปี และเมื่อเหลือจึงค่อยนำไปขาย
ที่สำคัญ ลุงแก้วยังดูแลสวนผลไม้แห่งนี้แบบปลอดสารพิษ ใช้วิธีแบบดั้งเดิมในการบำรุงพืชพันธุ์ ทำให้ปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกิน
“แถวนี้ดินดี เราไม่ได้ใส่ปุ๋ยเพิ่ม ใบไม้ใบหญ้าเราไม่เผา ดายหญ้าเสร็จเก็บเอามากองๆ ไว้ แห้งแล้วก็คลุมไว้ที่โคนไม้ รดน้ำดินก็ชุ่มอยู่ ไม่ต้องรดทุกวัน เราแค่ปิดไม่ให้ดินแห้ง ดายหญ้าก็ไม่ได้เตียนนะ เหลือไว้คลุมหน้าดิน ปกคลุมดิน ฝนตกจะได้ไม่ชะหน้าดินลงไป พอถึงปีเราค่อยลอกที่ดินขึ้น ขี้เลนนี่เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่หนึ่งเลย” ลุงแก้วอธิบายอย่างอารมณ์ดี
ระยะหลังมานี้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศติดท็อป 10 ของโลกอยู่บ่อยครั้ง หลายหนขึ้นไปติดอยู่ถึงในท็อป 3 กลายเป็นปัญหากวนใจชาวกรุงในทุกย่างเข้าหน้าหนาว แทนที่จะได้ใช้ชีวิตท่ามกลางอากาศดีแบบนานทีปีหน กลับต้องมาระแวดระวังฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 แทน
สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือการที่คนเมืองพากันหนีออกไปหาอากาศบริสุทธิ์ตามต่างจังหวัด อาบป่าฟื้นฟูสุขภาพ ขึ้นเขาลงห้วยไปสูดอากาศเต็มปอดอย่างสบายใจ
เราเลยมองว่าการเปลี่ยนสถานที่มาเดินเล่นในสวนแห่งนี้ อาจเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยในการแวะมาสูดอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งเราพิสูจน์แล้วว่าอากาศที่นี่ดีจนไม่น่าเชื่อว่าอยู่ในเขตกรุงเทพฯ แถมพอเหมาะพอดีกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่เพิ่งเปิดให้ใช้งานเมื่อปีก่อน โดยมีต้นทางเริ่มที่แถบย่านชานเมืองอย่างตลิ่งชันพอดี เรียกว่าเดินทางได้สะดวกง่ายดาย สามารถออกมารับอากาศดีๆ ได้เพียงไม่กี่นาทีจากในเมือง
หวังว่าชุมชนวัดจำปาแห่งนี้จะเข้าไปอยู่เป็นหนึ่งในลิสต์ของผู้ที่สนใจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และต้องการเข้ามาซึมซับบรรยากาศของชุมชนชาวสวนริมคลองที่อยู่ใกล้เมือง แต่ให้ความรู้สึกเหมือนได้พักผ่อนในต่างจังหวัด พร้อมทั้งสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนที่นี่ ซึ่งหาไม่ง่ายนักในวันที่สังคมเมืองกำลังขยับขยายออกมาเรื่อยๆ