Wastic Thailand คือแบรนด์สินค้าอัปไซเคิลจากขยะพลาสติกที่อยากหลุดออกจากกรอบเดิมๆ ของสินค้ารักษ์โลก ตั้งแต่ชื่อ Wastic ที่มาจากคำว่า Waste กับ Plastic ตั้งใจให้อ่านออกเสียงว่า วาส-ติก ไม่ใช่ เวส-ติก เพราะไม่อยากให้ลูกค้านึกถึงภาพขยะเมื่อได้ยิน
นอกจากชื่อ ผู้ก่อตั้งทั้ง 4 อย่าง กมลชนก คล้ายนก, รสลิน อรุณวัฒนามงคล, สินีนาฏ จารุวาระกูล และ อริสรา พิทยายน ยังเชื่อว่า สินค้ารักษ์โลกไม่จำเป็นต้องมีดีไซน์เรียบง่ายหรือดูออกว่าทำจากวัสดุอะไรเสมอไป แต่สามารถชิกได้ เปรี้ยวได้ เป็นสินค้าที่ให้สายแฟฯ สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นใจ
แว่นกันแดดของ Wastic คือตัวอย่างที่ยืนยันความเชื่อนั้นได้ดี ซึ่งก็ไม่ได้สักแต่ว่าจะดีไซน์ให้เก๋ไก๋ แต่สินค้าตัวแรกของพวกเธอยังสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ในตัวมันเอง อย่างสีทั้ง 3 ของตัวแว่นกันแดดเองก็ได้แรงบันดาลใจมาจากบรรยากาศของทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกมากที่สุด
คอลัมน์ Sgreen คราวนี้ ชวนคุณไปคุยกับกมลชนก หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ ฟังเธอเล่าเบื้องหลังการคิดค้นสินค้าที่เลอค่าทั้งรูปลักษณ์และเป้าหมาย ขั้นตอนกว่าจะเป็นแว่นกันแดดอันแรก ไปจนถึงความเชื่อที่ว่าสินค้าอัปไซเคิลก็ชิกได้ ใส่แล้วไม่อายใคร
From Plastic to Waste
ถ้าคุณเคยเห็นภาพนกที่มีถุงพลาสติกครอบหัว หรือเหล่าสัตว์ทะเลที่กินขยะพลาสติกเข้าไปแล้วรู้สึกสะเทือนใจ อยากลงมือทำอะไรสักอย่าง คุณเป็นเหมือนกมลชนก
ความรักสัตว์ทำให้เธอสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ฉุกคิดถึงพลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวันว่าอายุการใช้งานสั้นแค่ไหนเมื่อเทียบกับอายุจริงๆ ของพลาสติกที่อาจต้องใช้เวลาย่อยสลายมากถึง 450 ปี ความสนใจเริ่มเข้มข้นและฉายชัดตอนสมัครเข้าเรียนปริญญาโทสาขาการจัดการขยะพลาสติกในทะเล สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
“เราเคยทำงานออฟฟิศมาก่อน เป็นนักวิเคราะห์ในธนาคาร จากนั้นก็ย้ายไปทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ ทำให้สนใจเรื่องธุรกิจ จนช่วงหนึ่งไม่สบายเลยขอออกมาก่อน หลังจากรักษาแล้วจึงเริ่มค้นหาตัวเองใหม่
“ตอนแรกคิดแล้วคิดอีกว่าจะเรียนปริญญาโทดีไหม สุดท้ายก็ได้คำตอบว่าอยากทำงานที่มันมีอิมแพกต์ต่อสังคม เราคิดว่าบุคลิกของเราไม่ค่อยเข้ากับการทำงานออฟฟิศ อยากทำธุรกิจของตัวเองมาตลอด และเราอยากสร้างผลกระทบด้านบวก (Positive Impact) ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย สุดท้ายเลยเลือกด้านนี้
“ที่นั่นเขาสอนเรื่องการจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเลเวลของอุตสาหกรรม เราได้เรียนรู้ว่าถ้าจัดการขยะพลาสติกไม่ดี สุดท้ายขยะเหล่านั้นจะไปจบอยู่ที่บ่อฝังกลบหรือลงทะเลอยู่ดี” บทเรียนนั้นยิ่งเติมไฟในการอยากลงมือแก้ปัญหาของกมลชนก และในหลักสูตรนั้นเอง เธอพบเพื่อนร่วมคลาสอย่างอริสรา สินีนาฏ และรสลิน ซึ่งต่างฝ่ายต่างไม่รู้เลยว่าจะได้กลายมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกันในอนาคต
From Plastic to Glasses
ไอเดียของ Wastic เริ่มต้นจากโปรเจกต์จบ ป.โท ของอริสรา เป็นโปรเจกต์ว่าด้วยแว่นตาที่ผลิตจากฝาขวดน้ำเพื่อมอบให้เด็กด้อยโอกาสในชนบท
กมลชนกผู้เป็นรูมเมตของอริสรามองเห็นการลงแรงของเพื่อนร่วมห้อง มากกว่านั้นคือเธอเห็นโอกาส คิดว่าไอเดียนี้แข็งแรงพอที่จะต่อยอดกลายเป็นธุรกิจจริงๆ ขึ้นมา เธอลองชวนอริสราแบบทีเล่นทีจริง แต่ปรากฏว่าอีกฝ่ายเอาด้วย
ไม่ใช่แค่นั้น อริสรายังชวนเพื่อนร่วมคลาสอีกสองคนอย่างสินีนาฏและรสลินมาร่วมด้วย
เพราะเคยศึกษาเรื่องธุรกิจมาบ้าง กมลชนกจึงถูกแต่งตั้งให้เป็น CEO เพื่อดูภาพรวมและการตลาด ส่วนอริสราและรสลินถนัดเรื่องดีไซน์และสื่อสารกับโรงงานที่ผลิตแว่นให้ก็รับหน้าที่นั้น ส่วนสินีนาฏที่คิดเก่งเขียนเก่งก็ดูแลเรื่องคอนเทนต์และการบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์
แน่นอนว่าเมื่อคิดทำธุรกิจที่ต้องลงทุน พวกเธอก็ต้องมองสิ่งที่ทำในฐานะของซื้อของขายอย่างจริงจัง ฉะนั้นไอเดียของการเป็นแว่นตาที่สนับสนุนเด็กในชนบทผู้ขาดแคลนจึงถูกพักไว้
สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ อยากให้เป็นแว่นตาเพื่อความยั่งยืนที่ไม่ได้เจาะตลาดแค่กลุ่มผู้บริโภคสายกรีนเท่านั้น แต่อยากให้คนทั่วไปใส่ได้ในชีวิตประจำวัน
From Plastic to Goods
เพนพอยต์หนึ่งของสินค้าเพื่อความยั่งยืนที่พวกเธอมองเห็นก่อนหน้านี้คือ หลายตัวมักจะถูกพรีเซนต์ออกมาในธีมเรียบง่าย ซึ่งสำหรับคนชอบแฟชั่นและรักการแต่งตัวอย่างกมลชนกแล้วยังไม่ถูกใจเท่าไหร่นัก
“มันทำให้เราสงสัยว่าทำไมไม่มีคนทำแบบเก๋ๆ เลย พยายามคิดแทนลูกค้าว่าถ้าเป็นเรา เราจะซื้อไหม แล้วจะทำยังไงให้สินค้าของเราดูดีที่สุดเท่าที่จะดูดีได้”
Wastic จึงให้ความสำคัญกับดีไซน์เก๋ไก๋ เน้นให้ทุกคนสวมใส่อย่างสะดวกสบาย และถึงจะทำมาจากพลาสติก 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ดูแล้วเหมือนไม่ได้ทำมาจากพลาสติกเลย
กว่าจะได้สินค้าตัวแรกก็โหดหินใช่เล่น พวกเธอผ่านการทดลองสินค้ามาแล้วหลายขั้น เวอร์ชันแรกของแว่นนั้นทำมาจากฝาขวดน้ำที่เป็นพลาสติกประเภท HDPE-PP นำไปหลอมแล้วหล่อโมเดลให้เป็นรูปร่าง (Injection) แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือเทกซ์เจอร์ที่จับแล้วรู้สึกขรุขระ แถมยังดัดงอไม่ค่อยได้
พวกเธอจึงไปเรียนรู้การทำสินค้าพลาสติกแบบ Compression ที่ใช้วิธีการกดพลาสติกให้เป็นแผ่นแล้วนำมาตัดเป็นรูปร่าง แต่ก็พบว่ายากเกินไปอยู่ดีหากต้องทำปริมาณเยอะๆ
“เราคิดว่าทำสินค้าจากพลาสติกประเภท HDPE-PP น่าจะไม่เวิร์กแล้ว จึงเปลี่ยนไปใช้วัสดุ PET หรือขวดน้ำพลาสติกใสที่เราเห็นได้ทั่วไปแทน แล้วกลับไปใช้วิธี Injection เหมือนเดิม”
สุดท้ายก็ได้แว่นกันแดดที่แข็งแรงทนทาน ไม่แตกหักแม้จะโดนบีบ น้ำหนักเบา เหมาะจะใส่ไปเฉิดฉายในวันที่อากาศดี
ไม่ใช่แค่สวย แต่ดีไซน์แว่นกันแดดของ Wastic ยังมีความหมายซ่อนอยู่ คอลเลกชันแรกมี 3 สี ได้แก่ สีน้ำตาล สีฟ้า และสีดำ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากองค์ประกอบของทะเลในช่วงเวลาต่างๆ อย่างสีน้ำตาลมาจากสีของชายหาดยามแดดร้อนเปรี้ยง สีฟ้ามาจากสีของมหาสมุทรที่ลึกเกินหยั่ง และสีดำมาจากความดำมืดของคลื่นลมหลังพระอาทิตย์ตกดิน
“เราอยากเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทะเลและธรรมชาติ เพราะอยากให้คนตระหนักว่าสุดท้ายแล้วหากพลาสติกไม่ได้ถูกใช้ทำแว่นของเรา ขยะเหล่านี้ก็จะไปจบที่ทะเล ถ้าเราช่วยกันดูแลตรงนี้ทะเลก็จะสวยงามมากขึ้น”
แนวคิดทางธุรกิจที่ยึดถือไว้อย่างแนบแน่นอีกข้อคือ นอกจากสินค้าจะสวย ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันแล้ว ราคาต้องเข้าถึงได้
“ถ้าเป็นแว่นที่อัปไซเคิลมาจากพลาสติกในร้านทั่วไป เขาขายกันอย่างน้อยสองพันถึงห้าพันบาท แต่เราพยายามตั้งราคาให้ไม่ถึงพัน คือเก้าร้อยเก้าสิบบาท เพราะต้องการให้ราคาเข้าถึงคนหมู่มากได้ และเรายังอยู่ได้ด้วย เพราะต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถสร้างอิมแพกต์ต่อไปได้ ไม่สามารถลดขยะได้เลย ถ้าเรายังอยู่ไม่ได้ในเชิงธุรกิจ” กมลชนกเปิดใจ
แว่นของพวกเธอยังสามารถปรับแต่ง (Customize) เปลี่ยนกรอบและสลับเลนส์ให้เป็นแว่นสายตาได้ เพื่อตอบโจทย์คนที่อยากใช้เป็นแว่นสายตาอีกด้วย
“ตั้งแต่เปิดแบรนด์มา ลูกค้าคือส่วนสำคัญที่ช่วยเราทำธุรกิจมากนะ อย่างไอเดียของการเปลี่ยนกรอบ เปลี่ยนเลนส์ได้ ก็เกิดจากที่ลูกค้ามาบอกเราเป็นสิบคน หรือมีเคสหนึ่งมีลูกค้าที่เป็นคุณป้าคนหนึ่งเขามาขอให้เราแนะนำแว่นให้ เราบอกว่าแว่นเลนส์สีดำสบายตามากเลย แต่คุณป้าบอกว่า พอดีป้าเพิ่งไปผ่าตัดต้อมา แล้วเลนส์สีดำยังมืดไม่พอ ป้าชอบสีน้ำตาลมากกว่า หนูต้องรู้นะว่าเลนส์ที่สบายตาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
“เราก็แบบ เฮ้ย จริงด้วย เราไม่ได้รู้สึกแย่เลยนะ แต่ Appreciate มากที่เขาบอกเราอย่างนี้ เราไม่เอาเสียงตัวเองเป็นใหญ่ เพราะเราทำสินค้าให้ลูกค้า ต้องเอาเสียงของลูกค้าเป็นใหญ่ ลูกค้าจึงเป็นคนที่สำคัญมากสำหรับ Wastic” หญิงสาวบอก
From Plastic to Wastic
กมลชนกบอกเราว่า การผลิตแว่นของ Wastic 1 อัน เทียบเท่ากับการลดขวดน้ำพลาสติกขวดเล็กได้ 2 ขวด
แน่นอนว่าการแปรสภาพขยะที่ไม่มีใครสนใจให้กลับมาเป็นสินค้าใหม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ พวกเธอก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของระบบหมุนเวียนทรัพยากรมากกว่านี้
“เราไม่แน่ใจว่าแว่นของ Wastic จะเอาไปอัปไซเคิลต่อได้อีกไหม ยังอยู่ในช่วงที่กำลังหาคำตอบกันอยู่ ซึ่งระหว่างนี้เราก็เปิดรับแว่นตาเก่าๆ ที่ลูกค้าซื้อไปแล้วเลิกใช้ เพื่อเอาไปตัดเลนส์ใหม่และส่งต่อให้กับคนอื่น ยืดอายุการใช้งานของมันในทางนั้นแทน”
ในอนาคต แก๊งสาวๆ Wastic ยังวางแผนจะขยับขยายไปทำโปรดักต์ตัวอื่นๆ ซึ่งยังคงคอนเซปต์การนำขยะพลาสติกมาใช้เหมือนเดิม เพิ่มเติมคืออยากสนับสนุนไปยังหน่วยสังคมบ้าง อย่างหมวกที่กมลชนกใส่มาในวันนี้ก็มาจากฝีมือของชาวบ้านในชุมชนแถบภาคอีสานที่ช่วยเย็บให้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่พวกเธอวางแผนจะขายในอนาคต
“การทำธุรกิจนี้มันมีความหมายกับพวกเรามากนะ เพราะทุกคนมีแพสชันด้านนี้ พอได้ทำแล้วมีลูกค้ามาบอกว่าชอบสินค้า ชอบสตอรีเรา กลับมาซื้อซ้ำ มันก็หมายความว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรามองเห็นด้วยตัวเอง แน่นอนขายได้เงินทุกคนแฮปปี้อยู่แล้ว แต่ด้านของคุณค่าทำให้เรารู้สึกดี
“ตอนเราทำงานบริษัท เรารู้สึกว่างานนั้นไม่ได้ตอบโจทย์เราแต่ตอบโจทย์องค์กร เราอยากให้งานที่เราตั้งใจทำทุกๆ งานแล้วรู้สึกมีคุณค่า และการทำแบรนด์ Wastic มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าได้ตอบโจทย์ตัวเองในเชิงคุณค่าและความรู้สึก”
ติดตาม Wastic Thailand ได้ในทุกช่องทางออนไลน์และหน้าร้าน
วางจำหน่ายแล้วที่ร้าน All Kinds @The Commons, Ecotopia Siam Discovery และเกาะเต่า