Walk Around the City Playlist เพลย์ลิสต์เพลงเมือง - Urban Creature

จะมีอะไรดีไปกว่าการได้อยู่กับตัวเองกับเสียงเพลงที่ชอบ ท่ามกลางความวุ่นวายในเมืองนี้

เพราะเสียงดนตรีไม่ได้ให้แค่ความเพลิดเพลิน แต่ยังให้ความทรงจำและทำให้เห็นแง่งามของชีวิตรายทาง ทีม Urban Creature ขออาศัยจังหวะที่คนเริ่มมีความหวังกับเมืองนี้ คัดสรรเพลงมาทำเพลย์ลิสต์ที่เหมาะกับการฟังระหว่างเดินทางมาให้ทุกคน บางเพลงมีเนื้อหาสะท้อนสังคม บางเพลงชวนให้นึกถึงเมืองในฝัน บางเพลงช่วยปลอบประโลมให้คุณอยากใช้ชีวิตต่อไป

ให้เพลงที่พวกเราเลือก ช่วยกล่อมเกลาจิตใจของคุณ

ฟังใน Spotify ที่ : https://spoti.fi/3a5Ietf

เมืองชุดดำ – Rasmee Isan Soul
ศกุนตลา แย้มปิ๋ว
บรรณาธิการบริหาร

“น้องสาวมาแต่ไกลฟังไทยคุ้น
เอาเสียงลำมาล่ามนต์ ให้ผู้ฟังคอยหนุนเกื้อ
เมื่อมาถึงเมืองนี้ เมื่อมาถึงเมืองนี้
เมืองผู้ดีใส่ชุดดำ ไปทางใดกะตอกย้ำ
สีคล้ำๆ ทุกก้าวย่าง”

โดยที่มา รัสมี เวระนะ แต่งเพลงนี้จากการเดินทางไปร้องเพลงที่ต่างประเทศ เธอหอบเอาเสียงทรงพลังและเสน่ห์หมอลำในแบบฉบับรัสมี ไปอุ่นให้เมืองบรรยากาศสีคล้ำกับผู้คนที่มองไปทางไหนก็เห็นเป็นสีดำมีสีสันที่ไม่เคยเห็น แต่ก็แปลก ในหนแรกที่เราฟัง ‘เมืองชุดดำ’ มันกลับไม่ได้ทำให้เรานึกถึงที่ไหนไกล นอกจาก ‘เมืองยิ้ม’ ที่เราใช้ชีวิตอยู่ ดิ้นรนที่จะมีชีวิตอยู่ อากาศเมืองนี้ไม่ได้ปรากฏบนแอปฯ Weather เป็นเลขตัวเดียวหรือติดลบ 

ทว่าแต่ละเหตุการณ์ความเป็นไปของเมืองนี้ ทำให้เราหนาวจนแทบมองไม่เห็นว่าอะไรจะทำให้ใจอุ่นขึ้นพอที่จะยังให้อยู่ในเมืองใหญ่ไซซ์เล็กแห่งนี้ ไม่หนีจากมันไปซะก่อน ความโรยราของความคิดและทิศทางของที่แห่งนี้ก็ดูดสีสันของชีวิตและความหวังออกจากร่างกายนี้ทุกทีๆ 

ตลอดหลายนาทีที่เพลงจังหวะสนุกของรัสมีดังก้อง เราแอบตัวหดเล็กลงเพราะความคิดนี้ในหัว แต่ก็ยังอยากแนะนำให้ลองกดฟังจิตวิญญาณอีสานล้ำลึกในแบบโซลของเธอนะ! เพราะเธออุตส่าห์บอกไว้ในเนื้อเพลงแล้วว่า

“ในเมืองใหญ่ที่มาไกลเพื่อฝัน
เอาเสียงของฉัน
มาเปลี่ยนความเศร้าให้กลายเป็นสุข
สีดําของเธอเจอสีของฉันแล้วจะลืมทุกข์
เชิญออกมาร้องเต้นสนุก
จงอย่ามีทุกข์นะเมืองชุดดำ”

Where Is The Love? – The Black Eyed Peas
ธนาวดี แทนเพชร
บรรณาธิการ

Where Is The Love? เป็นเพลงเก่าของ The Black Eyed Peas ที่ปล่อยมาในปี 2003 เป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาเพื่อเหตุการณ์ก่อการร้าย 911 ที่เกิดขึ้นในปี 2001 แต่เป็นเพลงที่ไม่ว่าคุณจะฟังในปีไหนหรืออยู่ส่วนไหนของโลกเนื้อหาในเพลงนี้ก็ไม่เคยล้าสมัยเลย เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงทั่วโลกยังเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน จนเราต้องถามเบื้องบนซ้ำๆ ด้วยเพลงนี้ว่า Where Is The Love? 

เพลงนี้ลงยูทูบในปี 2009 และมียอดเข้าฟังถึง 810 ล้านครั้ง และมียอดฟังบน Spotify ถึง 675 ล้านครั้ง เป็นตัวเลขที่ยืนยันว่าผู้คนยังใช้บทเพลงนี้ตั้งคำถามถึงความสงบสุขในโลกนี้กันอยู่ 

หลังจากมีเหตุการณ์ก่อการร้าย ความรุนแรง เหยียดสีผิว แบ่งแยกเชื้อชาติ สงคราม ผู้อพยพ และการลี้ภัยเกิดขึ้นทั่วโลกอย่างไม่ขาดสาย The Black Eyed Peas ก็ได้นำเพลง Where Is The Love? กลับมาทำใหม่อีกครั้งในปี 2016 และชวนเซเลบชื่อดังทั่วโลกออกมาเรียกร้องและตั้งคำถามถึงความสงบสุขในโลกนี้ด้วยกัน

ในเนื้อเพลงยังมีเนื้อหาที่ตั้งคำถามกับประเด็นสังคมที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น การเหยียดเชื้อชาติ ความเกลียดชัง การใช้ความรุนแรงของรัฐ ฯลฯ แม้ว่าจะผ่านไปเกือบ 20 ปี หลายเรื่องก็ยังไม่ได้พัฒนาไปไหน และหลายท่อนในเพลงนี้ก็ทำให้นึกถึงเมืองไทยได้ดีทีเดียว

Nations droppin’ bombs.
Chemical gases fillin’ lungs of little ones.
With ongoing sufferin’ as the youth die young.
So ask yourself, is the lovin’ really gone?

ถึงแม้ทำนองเพลงนี้จะป็อปและสดใส แต่เนื้อหาแต่ละท่อนก็ชวนเราตั้งคำถามกับโลกนี้ได้ดีทีเดียวว่า มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยความรักและสงบสุขไม่ได้เลยหรือ?

Barcelona – George Ezra
อนรรฆพร ลายวิเศษกุล
กองบรรณาธิการ

ในวันที่ชีวิตไม่เป็นดั่งใจหวัง ใครหลายคนคงหวนคิดถึงช่วงเวลาที่เคยมีความสุข และอยากกลับไปสัมผัสช่วงเวลานั้นอีกสักครั้ง

Barcelona คือตัวแทนของบทเพลงที่ช่วยปลอบประโลม เยียวยา และพาเราหลีกหนีจากความวุ่นวายในแต่ละวันได้ อาจเป็นเพราะเนื้อเพลงที่เล่าถึงความทรงจำอันสวยงามในอดีต ผสมผสานกับดนตรีสไตล์โฟล์กร็อกฟังสบาย และเสียงทุ้มละมุนของศิลปิน Barcelona จึงช่วยให้เรารู้สึกเป็นอิสระจากความกังวลต่างๆ ได้ไม่ยาก

ทุกครั้งที่เปิดฟังเพลงนี้ เรามักคิดถึงความรู้สึกเมื่อได้เดินทางไปต่างประเทศ แม้จะถูกรายล้อมด้วยบ้านเรือนที่แปลกตา ภาษาที่แปลกหู แต่การได้เป็นคนแปลกหน้าในเมืองที่ไม่คุ้นเคย กลับเป็นประสบการณ์ที่เราไม่เคยลืมและคิดถึงอยู่เสมอ

ไม่ว่าชีวิตจะเจอกับอะไร เราหวังว่าเพลงนี้จะโอบกอดและพาทุกคนล่องลอยไปในความทรงจำดีๆ แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ขอให้ทุกคนได้รับพลังบวกและมีกำลังใจใช้ชีวิตต่อไปนะ

Okinawa – 92914
เดือนเพ็ญ จุ้ยประชา
กองบรรณาธิการ

เพลงนี้เรียกว่าเป็นเพลงที่เราต้องเปิดฟังเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดทุกครั้งเลยก็ว่าได้

เราบังเอิญเจอเพลงนี้เมื่อนานมาแล้ว ชอบตรงที่เนื้อเพลงไม่ได้มีสตอรีอะไรมาก ดนตรีก็ดูไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เวลาเกือบ 6 นาทีในเพลงนี้เหมือนมันบันทึกช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงหนึ่งมาไว้ในโน้ตดนตรีกับเสียงร้องไม่กี่คำ ทำให้นึกถึงช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเองอย่างการเดินเล่นในเมือง นั่งรถเล่น หรือกระทั่งนั่งริมแม่น้ำหรือทะเล ซึ่งในเพลงก็มีเสียงคลื่นทะเลด้วย 

แม้เราจะไม่เคยไปเมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นชื่อเพลงมาก่อน แต่ก็เคยดูหนังและพอรู้มาบ้างว่าเมืองนี้หน้าตาเป็นยังไง เป็นไปได้ก็อยากให้เมืองที่อยู่มีบรรยากาศที่เงียบสงบ สบายๆ ไม่รีบร้อนบ้าง

지하철에서 (On the Subway) – AKMU
มณิสร วรรณศิริกุล
กองบรรณาธิการ

หลังจากที่ต้องเข้ามาเริ่มต้นใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะบนดินหรือใต้ดิน กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่ขาดไม่ได้ในแต่ละวัน ในทุกๆ ครั้งที่ขบวนรถเต็มไปด้วยผู้คนมากมายจนแน่นขบวน เพลงนี้มักเป็นเพลงที่เรานึกถึง หรือต้องหยิบเอาหูฟังขึ้นมาฟังเพลงนี้บ่อยๆ 

ด้วยดนตรีสบายๆ ที่ฟังได้แบบไม่เบื่อ กับเนื้อเพลงที่พูดถึงผู้คนมากมายในรถไฟ คล้ายเป็นโลกอีกใบที่ถูกย่อส่วนลงมา ทำให้เรารู้สึกรีเลตไปกับมันได้ง่าย หวนมองหาอะไรใหม่ๆ รอบตัวแทนการนั่งกดโทรศัพท์ และยังทำให้ปล่อยใจไปกับการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะได้มากขึ้น แบบที่เผลอแป๊บเดียวก็ถึงจุดหมายที่ต้องลงเสียแล้ว เรียกได้ว่าเพลงนี้เป็นเพลงฆ่าเวลาในการเดินทางของเราอย่างแท้จริง

Happyness…is – Moderndog 
อธิวัฒน์ อุต้น 
กองบรรณาธิการ 

ตั้งแต่ต้องออกมาใช้ชีวิตห่างบ้าน ต่างเมือง เพลง Happyness…is ก็กลายเป็นหนึ่งเพลงบรรเลงที่เรารักตั้งแต่นั้นมา ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงไดอะล็อกในเพลงที่อาม่า-อากงชวนลูกหลานมากินข้าวเย็นพร้อมหน้ากัน ทำให้นึกถึงช่วงเวลาที่ยายคอยทำกับข้าวให้กิน คิดถึงทริปของครอบครัวที่จำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายของช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นแบบไหน 

ในเมืองที่มีตึกสูงขึ้นทุกขณะ ทุกชีวิตต้องออกแรงหนักหน่วงเพื่อเวียนว่ายในมิติของทุนนิยม เรื่องเรียบง่ายอย่างการรายล้อมไปด้วยคนที่รักและผูกพันกลายเป็นสิ่งห่างไกล 

ในบางค่ำคืน บางฝนพรำ บางการเติมควันเข้าปอด บางสภาวะที่สิ่งใดมาสะท้อนนึกคิดลำพัง บางเวลาที่ว่าเช่นนี้แหละ Happyness…is จะส่งเสียงดัง ช่วยปลอบโยนลมหายใจให้ยังเคลื่อนไปตามเส้นทางที่เป็นไป

ความเรียบง่ายของทางคอร์ดและเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้นประกอบสร้างให้ Happyness…is เป็นเพลงที่ยังคงอยู่ในทุกฉากของชีวิต ทุกการเปลี่ยนแปลง ทุกการเดินทาง เป็นซาวนด์แทร็กประกอบช่วงเวลาในห้วงความทรงจำบางอย่างที่ห่างออกมาแสนนาน

Way Back Home (퇴근길) – J_ust
นัทธมน คภะสุวรรณ
นักพิสูจน์อักษร

Way Back Home (퇴근길) เป็นเพลงที่ช่วยปลอบประโลมและเติมพลังใจให้เราได้อย่างดี ในวันที่ต้องสู้กับการใช้ชีวิตอยู่ในเมือง แต่เมืองนี้ดันสู้กลับเราได้อย่างเจ็บแสบไม่แพ้กัน

ด้วยดนตรีที่ฟังสบายๆ บรรเลงคลอไปกับเนื้อเพลงที่คอยถามไถ่เราว่า วันนี้เป็นยังไงบ้าง เหนื่อยใช่ไหม ปล่อยวางช่วงเวลาที่ยากลำบากแล้วออกไปเดินเล่นข้างนอกกันเถอะ ก่อนจะปลอบประโลมเราด้วยประโยคง่ายๆ ว่า “ไม่ต้องกังวลไปหรอก วันนี้คุณทำได้ดีแล้วนะ”

เราชอบเปิดเพลงนี้ฟังระหว่างนั่งรถกลับบ้าน มองผ่านตึกสูงที่แย่งกันขึ้นจนแน่นขนัด ผู้คนมากมายที่กำลังรอใช้บริการขนส่งสาธารณะซึ่งไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไร ทุกคนก็คงเหมือนเรา ที่พยายามพาตัวเองหนีจากความเหนื่อยล้าที่เจอมาทั้งวัน เพื่อกลับมาพักที่บ้านแค่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะต้องออกไปสู้ในเมืองนี้ต่อ

เราปล่อยให้เพลงเล่นวนไปเรื่อยๆ พร้อมกับรถที่ค่อยๆ เคลื่อนไปตามความติดขัดของการจราจรบนท้องถนน หยุดเงี่ยหูฟังเสียงฝนบ้างในวันที่มันตกหนักจนน้ำท่วม พร้อมพูดกับตัวเองในใจเมื่อเพลงท่อนสุดท้ายจบลงว่า “แค่มีชีวิตรอดในเมืองนี้มันก็ดีมากแล้ว”

Waterloo Sunset – Ferris & Sylvester
พนิดา มีเดช
อาร์ตไดเรกเตอร์

ช่วงเวลาที่เราชอบมากที่สุดของวัน คือเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้าไป ทุกสิ่งถูกย้อมเป็นสีทอง แสงแวววับที่สะท้อนผืนน้ำ ผู้คนมากมายที่กำลังเดินทางกลับบ้านในช่วงเย็น

หนึ่งในเพลงที่ทำให้รู้สึกถึงช่วงเวลานั้นคือ Waterloo Sunset ซึ่งเป็นเพลงที่พาให้เราได้ย้อนเวลากลับไปเดินเล่นยามเย็นริมแม่น้ำเทมส์ และเฝ้ามองฝูงชนที่ต่างสัญจรไปมา ณ สถานี Waterloo อีกครั้ง

Waterloo Sunset เป็นบทเพลงของ The Kinks วง Brit Rock รุ่นเก๋าจากเกาะอังกฤษ ในช่วงยุค 60 ที่เกิดกระแส British Rhythm and Blues ในวงการดนตรี และต่อมาก็เป็นแรงบันดาลใจให้วงร็อกที่เรารู้จักกันดีอย่าง Blur และ Oasis แต่เวอร์ชันที่เราเลือกมาเป็น Live Session ของดูโอ้ชาวลอนดอนอย่าง Ferris & Sylvester ที่ยังคงเสน่ห์เพลงป็อปร็อกแบบอังกฤษ ไลน์กีตาร์ที่หนักแน่น และเสียงร้องประสานอันลงตัว ทำให้รู้สึกสดชื่นทุกครั้งที่ได้ฟัง

ถึงแม้เราจะฟังเพลงนี้ที่กรุงเทพมหานคร เมืองที่วุ่นวายไม่ต่างจากลอนดอน (แถมเรื่องรถติด และปัญหาอื่นๆ เข้ามา) ความรู้สึกที่สัมผัสได้เหมือนกันคือความเหงาที่ได้รับจากเมืองใหญ่ ผู้คนต่างใช้ชีวิตเร่งรีบจนบางครั้งไม่ทันได้สังเกตความงามของสิ่งธรรมดาสามัญรอบตัว

เมื่อได้ฟังเพลงนี้พร้อมกับเฝ้ามองแสงสุดท้ายของวัน ก็รู้สึกเหมือนได้รางวัลแห่งความพยายาม จากการที่เราใช้ชีวิตผ่านไปได้อีกหนึ่งวัน เกิดเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้สัมผัสถึงความสุข สงบขึ้นมา

As long as I gaze on Waterloo sunset.
I am in paradise.

Disco (Bad dance doesn’t matter) – Chelmico
อธิพัฒน์ พูนสินบูรณะกุล
กราฟิกดีไซเนอร์

บางครั้งเราก็แค่อยากปล่อยตัวปล่อยใจแล้วก็สนุกไปกับเสียงเพลงในเมืองห่วยๆ นี้

สำหรับมนุษย์ที่เพิ่งเข้าสู่วัยเบญจเพส เพลงนี้เหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเรา ในทุกวันที่เราต้องใช้ชีวิต มีหน้าที่ มีความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องตั้งหน้าตั้งตาหาเงินในเมืองที่มีแต่ความวุ่นวาย เพลงนี้ทำให้เราลืมเรื่องเหล่านั้น ไม่ต้องสนว่าเราเคยเป็นใคร อดีตหรืออนาคตจะเป็นอย่างไร แค่ปล่อยใจให้เป็นตัวเราแล้วเต้นไปกับเสียงเพลง

ในเวลา 4 นาที เพลงนี้เหมือนมีเวทมนตร์ที่สร้างโลกของเราที่มีแต่เรากับเสียงเพลงได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ด้วยท่อนแรปจังหวะ Mid-tempo ที่ใครฟังก็ต้องมีโยกตาม ท่อน Verse ที่ชวนล่องลอย กับเนื้อหาที่บอกแค่ให้เราเต้นไปกับเพลงไม่ว่าเราเป็นใคร ไปเจออะไรมาในแต่ละวัน ขอแค่เต้นแล้วทุกอย่างจะผ่านไป

Saigon – Luke Hemmings 
อาภาภัทร สังข์สมุทร 
กราฟิกดีไซเนอร์ 

ถ้าเราเป็นตัวเอกในภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง เพลงนี้คงเป็นซาวนด์แทร็กประกอบฉากจบ เป็นความรู้สึกสุขปนเศร้า ก่อนที่ End Credit กำลังจะขึ้น 

‘When facing the things we turn away from. We’re chasing the way we were in Saigon’
คำจำกัดความของเพลงนี้สำหรับเรา คืออาการ Post-Vacation Blues (อารมณ์เศร้าหลังวันหยุดพักผ่อน) อารมณ์หม่นๆ ตอนที่เราอยู่บนรถไฟ หรือบนเครื่องบินขากลับ หลังหลบหนีจากความจริงชั่วคราวในเมืองที่วุ่นวายไปท่องเที่ยว

ยิ่งในประเทศที่ยากจะหาความโรแมนติก ทั้งสภาพแวดล้อมและสังคมที่ไม่เอื้อให้มีความสุข ‘Saigon’ สามารถพาเราย้อนกลับไปยังสถานที่ที่พิเศษที่สุดในความทรงจำของเราได้ในเวลาเพียง 3.43 นาที 

South of the border – Sam Cooke
เจนวิทย์ สุธนะสิริชัย
ช่างภาพ

เมื่อฟังเพลงนี้แล้ว ทำให้นึกถึงช่วงเวลาที่ได้เดินทางไปในสถานที่แห่งหนึ่งแล้วพบเจอกับบางสิ่งที่ไม่สามารถลืมได้ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้เราไม่อาจกลับไปยังสถานที่นั้นได้ เพลงนี้จึงเป็นเหมือนตัวช่วยที่จะพาเราย้อนกลับไปพบเจอกับสถานที่หรือบุคคลนั้นๆ เพื่อช่วยย้ำเตือนถึงหลักฐานของความทรงจำ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นคือเรื่องจริง

เพลงนี้เราเลือกในฉบับที่ Sam Cooke เป็นคนร้อง (1960) ซึ่งสำหรับเวอร์ชันต้นฉบับที่ขับร้องโดย Denny Dennis (1939) หรือเวอร์ชันอื่นๆ ที่ขับร้องโดย Frank Sinatra (1953) กับ Don McLean (1977) ก็ไพเราะเช่นกัน

Drive My Car – Eiko Ishibashi
เจษฎา ขิมสุข
วิดีโอครีเอเตอร์

ในแต่ละวันที่พบเจอผู้คนมากมาย และต้องทำงานจนเหนื่อย เรารู้สึกว่าการฟังเพลงบรรเลงเป็นตัวช่วยที่ตอบโจทย์มาก เพราะไม่ต้องได้ยินเสียงใครมาบอกว่าเราควรรู้สึกยังไง มีแค่เรากับดนตรีเท่านั้น ที่เหลือคือความรู้สึกที่ปล่อยให้บรรยากาศพาล่องลอยไป

ขณะเดียวกัน เพลงนี้ยังเป็นเหมือนเพื่อนในการเดินทางมาทำงานของเราในแต่ละวันด้วย สำหรับชีวิตที่ต้องเจอความบัดซบบนท้องถนนประเทศไทย เพลงบรรเลง 5.04 นาทีนี้เยียวยามันได้ แถมยังเหมาะกับการฟังชิลๆ ในโอกาสต่างๆ

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.