ธีสิสออกแบบเมืองเก่าลพบุรี สร้างเมืองใหม่ให้ ‘ลิง’ - Urban Creature

ปี 2499 อันธพาลครองเมือง ส่วนปี 2564 ลิงครองเมืองลพบุรี 

เหตุการณ์วันนั้นเกิดขึ้นที่สี่แยกไฟแดงกลางเมือง บริเวณถนนรอบพระปรางค์สามยอด-หน้าศาลพระกาฬ แลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดลพบุรี 

จ่าฝูงแก๊งลิงพระปรางค์สามยอดยกพวกจำนวนมากปีนรั้วลงถนน ทางด้านลิงจากฝั่งธนาคารออมสินและลิงถิ่นตลาด ก็ยกพวกทั้งหมดวิ่งกรูเข้ามาเตรียมเข้าปะทะกันท่ามกลางสายตาของชาวบ้านและนักท่องเที่ยว เสียงดังอื้ออึงมาจากเสียงกรีดร้องเจ็บปวด เสียงตะโกนสร้างความฮึกเหิม รวมถึงเสียงบีบแตร เบิ้ลเครื่องยนต์ของชาวเมือง

สงครามวานรครั้งนั้นทำให้ ตาต้า-ชญตา ลีวงศ์เจริญ นิสิตปริญญาตรีภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเรื่องขำกลิ้งลิงกับเมืองที่มีความตลกร้ายแฝงอยู่บนปัญหาระดับวิกฤตที่ยังหาทางแก้ไม่ตก มาใช้เป็นสารตั้งต้นกำหนดหัวข้อธีสิสที่ชื่อว่า ‘โครงการบูรณะพื้นที่เมืองเก่าลพบุรี เพื่อการอยู่ร่วมกันของคนและสัตว์ป่า’

ในวันที่สงครามสงบลงแล้ว เราอยากพาไปดูหนึ่งในไอเดียการแก้ปัญหาลิงครองเมืองลพบุรี เพื่อที่อนาคตจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก แถมคนกับสัตว์อาจอยู่ร่วมกันในเมืองได้อย่างสันติ

ธีสิสออกแบบเมืองลพบุรี แก้ปัญหาลิงลพบุรี

เรื่องมันเริ่มมาจากลิง

ปัญหาใหญ่และหนักสุดระดับวิกฤตของจังหวัดลพบุรีคือ ‘ลิง’ เพราะจำนวนของพวกมันที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก ปัจจัยหลักๆ คือการที่มนุษย์หยิบยื่นอาหารให้ลิงจนเป็นเรื่องปกติ ทำให้เดิมทีลิงที่หากินเองออกลูกได้ปีละตัว กลับออกลูกได้สองตัวต่อปี ปัญหาที่ตามมาจากการเพิ่มจำนวนดังกล่าวคือเจ้าหน้าที่จับลิงมาทำหมันได้ยากขึ้น ชาวบ้านบางคนถึงกับบอกว่า “ลิงมันสื่อสารกันรู้เรื่อง มันหนีทันตลอด”

ปีนี้ผลสำรวจพบว่า ชุมชนลิงในเมืองลพบุรีมีจำนวนถึงห้าพันกว่าตัว และคาดว่าในอีกห้าปีข้างหน้าน่าจะขยายเผ่าพันธุ์เพิ่มอีกเป็นหมื่นๆ ตัว 

ตาต้าเล่าว่า ลิงเป็นสัตว์สังคมไม่ต่างจากมนุษย์ มีการจับกลุ่ม รวมแก๊ง แบ่งก๊กเป็น 7 พวกหลักๆ แบ่งเป็น 3 กลุ่มมหาอำนาจและแยกย่อยเป็นชนชั้นผู้น้อยตามลำดับ โดยจะอยู่ห่างออกไปจากแหล่งอาหารใหญ่กลางเมืองบริเวณจุดท่องเที่ยว

ส่วนสถานที่ในเมืองที่ถูกลิงยึดครองพื้นที่ไว้เป็นถิ่นฐานของพวกมัน ได้แก่ บริเวณพระปรางค์สามยอด, ร้านชโยวานิช, ท่ารถตู้, โรงหนังมาลัยรามา, โรงแรมเมืองทอง ฯลฯ แต่ละกลุ่มล้วนมีชีวิตรอดด้วยการแย่งชิงอาหารในเมือง

“ปัญหาลิงทำให้ผู้คนแถวนั้นอาศัยอยู่ไม่ได้ เพราะลิงขึ้นบ้าน บางคนชอบเอาอาหารมาให้ แต่บางบ้านตรงนั้นก็ไม่อยากให้ลิงมารบกวน เกิดเป็นอีกหนึ่งความขัดแย้งในชุมชน ยังไม่นับปัญหาเรื่องความปลอดภัยของผู้คนที่ลิงทำให้พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวไม่มีคน ร้านปิดร้าง เพราะทุกคนหนีลิงกันหมด บางบ้านต้องจำใจย้ายหนีไปอยู่ที่อื่น ตอนที่เราลงพื้นที่ไปสำรวจเป็นช่วงโควิดพอดี ไม่มีคนเลยมีแต่ลิง น่ากลัวมาก” ตาต้าเล่าปัญหา

ธีสิสออกแบบเมืองลพบุรี แก้ปัญหาลิงลพบุรี

บูรณาการลิง

หลังจากได้ลงไปสำรวจพื้นที่จริงมา ตาต้าก็เริ่มเห็นต้นตอสาเหตุและบริบทของปัญหาลิงครองเมืองชัดเจนขึ้น

“พอเห็นปัญหาจากลิง เราก็มองเห็นเรื่องสำคัญอย่างระบบนิเวศในเมืองที่ควรมีการจัดการให้สิ่งมีชีวิตทั้งหมดอยู่ร่วมกันได้ ทั้งคน สัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ โดยใช้เรื่องนิเวศวิทยามาจัดการระบบ ศึกษาพฤติกรรมของลิงเพื่อจัดการปัญหา เพื่อนำไปสู่การวางโครงสร้างพื้นฐาน อย่างสวนสาธารณะ พื้นที่ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ลิงเองก็สามารถอยู่ได้” ตาต้าเล่าถึงขั้นตอนแรกของการแก้ปัญหา 

เมื่อศึกษาและใช้องค์ความรู้มาช่วยในการวางโครงสร้างพื้นฐานแล้ว จึงค่อยเริ่มต้นพัฒนาโครงสร้างพื้นที่สีเขียว ซึ่งส่วนนี้จะข้องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของผู้คน เพราะส่งผลดีต่อจิตใจและกายภาพ

“นอกจากพื้นที่สีเขียวที่ทำให้คนรู้สึกสบายใจแล้ว เราก็ออกแบบพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ รวมไปถึงการท่องเที่ยวด้วย ถ้าทำให้เหมาะสมได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งจุดขายของเมืองที่มีลิงอาศัยมานาน 

“ทีนี้พอลิงมีที่อยู่ นักท่องเที่ยวมาดูลิงได้ ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่สำหรับคนที่อาจไม่ชอบลิงแต่อยากดูโบราณสถานก็สามารถเดินท่องเที่ยวได้อย่างสบายใจ วัตถุประสงค์ของงานนี้คือการสร้างความหลากหลายให้พื้นที่ พัฒนาการท่องเที่ยว ทำให้เมืองเป็นเมืองที่น่าอยู่”

สิ่งที่ตาต้าเลือกจะพัฒนาต่อไปนั้นแบ่งออกเป็นสองช่วง คือช่วงแรกต้องทำบ้านของลิงให้สะอาดเหมาะกับการอยู่อาศัย เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่สามารถดูแลลิงได้อย่างทั่วถึง เช่น ทำหมัน ตรวจสุขภาพ หรือควบคุมปริมาณการให้อาหาร ส่วนช่วงที่สองคือพัฒนาที่อยู่อาศัยส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อกระจายพื้นที่ไม่ให้ลิงกลับเข้ามากระจุกกันอยู่แค่ในเมืองอย่างเช่นที่ผ่านมา

ทั้งนี้ตาต้าได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Carrying Capacity สำรวจจำนวนประชากรสูงสุดที่สิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นๆ สามารถรองรับได้ด้วยทรัพยากรที่มีอย่างเหมาะสม ผลปรากฏว่าข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับจำนวนประชากรลิงในเมืองลพบุรีไม่เคยเป็นที่แน่นอน 

“ที่เป็นแบบนั้นเพราะจำนวนลิงจะลดน้อยลงเมื่ออาหารไม่เพียงพอ แล้วกลับมาเพิ่มขึ้นอีกเป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ นั่นเอง”

ธีสิสออกแบบเมืองลพบุรี แก้ปัญหาลิงลพบุรี

กระชับพื้นที่ลิง

ในการปรับโครงสร้างเมืองกับลิงครั้งนี้ ตาต้าต้องการกระชับพื้นที่ที่อยู่อาศัยลิงให้อยู่ในขอบเขตที่ดูแลจัดการได้ อย่างบริเวณเมืองในย่านประวัติศาสตร์จากเดิมที่เคยให้อาหารลิง 6 จุด เธอได้วางแผนใหม่ด้วยการลดแหล่งให้อาหารเหลือ 3 จุด

1. บริเวณพระปรางค์สามยอด 
ปรับเปลี่ยนพื้นที่โดยรอบให้เป็นสวนไม้ดอกดึงดูดแมลง และปรับเปลี่ยนแนวรั้วเป็นโรงแรมสำหรับแมลง (Insects Hotel) จะได้เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้ลิงหากินได้หลากหลายมากขึ้น

2. ศาลพระกาฬ 
ด้วยความที่เดิมทีเป็นถิ่นลิงอยู่แล้ว จึงปรับปรุงปลูกต้นไม้ที่ใช้เป็นอาหารลิงให้ได้มากขึ้น เพื่อสร้างสภาพคล้ายธรรมชาติ

3. จุดสวนป่า 
สร้าง ‘Food Forest’ ที่เป็นป่าในเมือง ปลูกไม้ผล ไม้ดอก ไม้ยืนต้น เมื่อทุกอย่างเติบโตออกดอกออกผล เมืองจะกลายเป็นแหล่งอาหารของลิง แมลง และสัตว์อื่นๆ ที่ใช้ชีวิตด้วยกันเป็นห่วงโซ่อาหาร เกิดเป็นระบบนิเวศที่หมุนเวียนเป็นวัฏจักรไม่หยุดนิ่ง 

จากนั้นจัดการทำแนวอาคารล้อมรอบจำกัดพื้นที่อยู่อาศัยของลิง เพื่อจัดการดูแลสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ เป็นการอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ทำงานกับลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ ด้วยความที่ทั้ง 3 บริเวณ เป็นอาณาเขตของย่านประวัติศาสตร์ หากทำตามแพลนนี้ได้จริง ผู้มาเยือนจะได้ทำทั้งกิจกรรมที่สนใจ ท่องเที่ยวชมโบราณสถานต่างๆ และยังได้สัมผัสลิงอย่างใกล้ชิดในสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยท่ามกลางธรรมชาติ 

ขณะเดียวกันต้องมีการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของผู้คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ชี้แนะการให้อาหารลิงที่เหมาะควร เพื่อป้องกันไม่ให้สร้างผลกระทบต่อนิเวศวิทยาและพฤติกรรมของลิงอย่างที่เป็นมา อาคารบางส่วนที่ถูกปล่อยรกร้างอาจกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง เพราะไม่ต้องปิดร้านหนีลิงและหมดกังวลเรื่องลิงรบกวนแล้ว ถือเป็นการกระชับพื้นที่ของลิงให้เป็นที่เป็นทาง แถมยังต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากขึ้น 

แต่ถึงอย่างนั้น พื้นที่เมืองลพบุรีก็ยังไม่สามารถระบุขีดจำกัดในการรองรับประชากรที่จะเพิ่มมากขึ้นได้ ตาต้าจึงมองว่าการย้ายลิงไปอยู่ตามแหล่งอาศัยอื่นๆ น่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนที่สุด

ธีสิสออกแบบเมืองลพบุรี แก้ปัญหาลิงลพบุรี

เมืองใหม่ของลิง

จากการหาข้อมูลและลงพื้นที่ ตาต้าบอกกับเราว่าหากต้องการแก้ปัญหาความแออัดของหมู่ลิงที่อาจชวนกันยกพวกมาตีกันอีกในวันใดวันหนึ่ง การจัดการพัฒนาบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมทางทิศใต้ของเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากย่านประวัติศาสตร์คือทางเลือกที่ดี เพราะจะทำให้การเพิ่มจำนวนประชากรของลิงกลับมาอยู่ในระดับปกติ และที่อยู่อาศัยใหม่จะทำให้ลิงทุกๆ ตัวมีชีวิตที่ดีขึ้น

เกณฑ์เมืองใหม่ของลิงแบ่งเป็น 2 ข้อใหญ่ๆ คือควรอยู่ห่างจากถิ่นอาศัยเดิมไม่เกินระยะเดินไหวหรือสามารถเข้าถึงได้สะดวกเมื่อมาจากย่านเมืองเก่า และต้องมีพื้นที่เพียงพอต่อการอยู่อาศัยของลิง ซึ่งจากกรณีศึกษาเรื่องลิงที่สวนสัตว์ Apenheul Primate Park ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ระบุว่าลิงตัวหนึ่งมีพื้นที่ใช้งานที่เหมาะสมอยู่ที่ 400 ตารางเมตร

ส่วนพวกลิงในเมืองลพบุรีตอนนี้มีพื้นที่ของตัวเองแค่ราว 14 ตารางเมตร แต่หากลองคำนวณพื้นที่เมืองใหม่ที่มีขนาด 4 ตารางกิโลเมตรและนับจำนวนลิงที่มี เมืองแห่งใหม่ของลิงจะแบ่งพื้นที่อยู่อาศัยเพื่อสะดวกต่อการวางผังเมืองได้เป็น 4 ขนาด คือชุมชนที่มีลิง 500 ตัว 1,000 ตัว 1,500 ตัว และมากกว่า 1,500 ตัวขึ้นไป นั่นแปลว่าชุมชนทั้ง 4 ขนาดในเมืองใหม่จะทําให้ลิงมีพื้นที่ต่อตัวเพิ่มขึ้นอีก 28 เท่าและรองรับลิงได้ถึง 8,000 ตัว

นอกจากนี้เรายังสามารถใช้โครงสร้างเดิมของรางรถไฟเป็นประตูเชื่อมต่อ เพื่อเข้าสู่พื้นที่เมืองแห่งใหม่ได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องสัญจรไปบนถนนที่มีรถยนต์ ลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการรบกวนระหว่างลิงกับคน ฯลฯ 

ตาต้าสรุปให้เราฟังว่าเมืองใหม่ของชาวลิงจะมีขนาดใหญ่เพียงพอต่อการอยู่อาศัย ทั้งยังแวดล้อมด้วยแนวคูคลองที่พัฒนาให้เป็นแหล่งรับน้ำ เพื่อยกระดับความหลากหลายทางระบบนิเวศ เอื้อประโยชน์ต่อสัตว์ป่าหรือสรรพสัตว์น้อยใหญ่ที่เข้ามาอาศัยในพื้นที่เมืองสีเขียวแห่งนี้ได้

ธีสิสออกแบบเมืองลพบุรี แก้ปัญหาลิงลพบุรี

เมืองสีเขียวของทุกสรรพสิ่ง

การฟื้นฟูพัฒนา ‘โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว’ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาลิงครองเมืองได้แล้ว ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัยให้ทุกสิ่งมีชีวิต เนื่องจากเป็นวิธีการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมโดยรวมของเมือง ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ ให้ผู้คนได้ใช้พื้นที่ต่อยอดเป็นช่องทางทำมาหากิน ปลูกพืชผักขาย ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีลานกว้างทำกิจกรรมต่างๆ มีสนามกีฬาหลายแบบให้ได้เลือกใช้งาน เป็นพื้นที่รองรับน้ำเพิ่มความชุ่มฉ่ำให้เมือง และยังเปลี่ยนเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ใช้งานได้หลายด้าน

จากสงครามวานรกลายมาเป็นหนึ่งแนวคิดที่พยายามช่วยแก้ปัญหาให้กับเมืองลพบุรี จัดการที่อยู่อาศัยให้เหล่าเจ้าจ๋อ ทำให้เมืองมีพื้นที่สำหรับคน สัตว์ และสรรพสิ่งมีชีวิตได้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายอย่างเป็นธรรมชาติ

แน่นอนว่าถ้าทำได้จริงคงดีกับเมืองและคนลพบุรีไม่น้อย ทว่าไม่ใช่แค่เราที่คิดว่า ‘โครงการบูรณะพื้นที่เมืองเก่าลพบุรี เพื่อการอยู่ร่วมกันของคนและสัตว์ป่า’ ดูเป็นเพียงภาพวาดที่ยากจะเกิดขึ้นจริง เพราะเจ้าของธีสิสอย่างตาต้าเองก็ไม่คิดว่ามูฟเมนต์นี้จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว 

“การดำเนินการโครงการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่เมืองเก่าลพบุรีสร้างขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ป่า ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ เรื่องงบประมาณ และคงต้องใช้เวลานานอีกหลายรุ่นกว่าจะเปลี่ยนแปลงได้” ตาต้าเล่า

ถึงอย่างนั้นเธอก็ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มว่าแม้สิ่งที่เธอคิดจะเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยการนำเสนอบางอย่างเพื่อช่วยแก้ปัญหาในแบบที่ตัวเองทำได้ ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นควรเกิดขึ้น และหวังว่าจะมีใครสักคนที่สานต่อการแก้ปัญหาเหล่านี้ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้นของทุกสรรพสิ่งในเวลาข้างหน้า

ตาต้า-ชญตา ลีวงศ์เจริญ นิสิตปริญญาตรีภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.