Urban Foraging BKK ตามหาพืชกินได้ในเมืองกรุง - Urban Creature


รู้หรือไม่ว่า ‘วัชพืช’ และ ‘สมุนไพร’ นานาชนิดที่อยู่รอบตัวเราสามารถเปลี่ยนเป็นเมนูแสนอร่อยที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร และอาจช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารของคนเมืองได้ด้วยนะ

23 เมษายน 2565 เรามีโอกาสไปร่วมทริป ‘Urban Foraging BKK’ ที่จัดโดย สวนผักคนเมือง : ปลูกเมือง ปลูกชีวิต, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นกิจกรรมเที่ยววันเดียว ‘ครั้งแรก’ ที่สวนผักคนเมืองพาคนเมืองอย่างเราไปลัดเลาะตามหาและทำความรู้จักพืชที่ซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพฯ โดยครั้งนี้ใช้ชื่อทริปว่า ‘พืชกินได้นอกสายตา’

เหตุผลที่ใช้ชื่อนี้ เพราะจริงแล้วๆ รอบตัวของเรารายล้อมไปด้วย ‘พืชอาหาร (Edible Plants)’ ซึ่งไม่ได้หมายถึงผักที่ปลูกในแปลงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวัชพืชและสมุนไพรริมทางที่เราอาจคุ้นตา แต่อาจไม่รู้จักชื่อ หรืออาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าพืชเหล่านี้มีประโยชน์สารพัด ทริป Urban Foraging BKK จึงอยากแนะนำพืชอาหารที่เติบโตตามธรรมชาติให้เรารู้จัก เพราะไม่แน่ว่าพืชที่เคยแปลกหน้าเหล่านี้อาจมาปรากฏตัวบนโต๊ะอาหารของเราในอนาคตก็เป็นได้ ที่สำคัญ ทริปนี้ยังมีเป้าหมายสร้างองค์ความรู้ด้านอาหารใหม่ๆ ที่อาจช่วยพัฒนาความมั่นคงทางอาหารในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นด้วย 

คอลัมน์ Experimentrip จึงอยากพาทุกคนไปติดตามภารกิจตามหาพืชอาหารว่าจะพบพืชชนิดใดบ้าง ประโยชน์และสรรพคุณของพืชแต่ละชนิดคืออะไร และคนเมืองอย่างเราจะรู้สึกเซอร์ไพรส์กับพืชกินได้ที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมขนาดไหน ถ้าพร้อมแล้ว เราขอพาออกเดินทางสู่การเรียนรู้ครั้งใหม่พร้อมกันเลย!

ล่องเรือมุ่งหน้าสู่ ‘เซฟติสท์ ฟาร์ม’

เช้าวันหยุด เราเดินทางไปยังจุดนัดพบที่ท่าเรือวัดพุทธบูชา ย่านบางมด หนึ่งในชุมชนริมคลองของกรุงเทพฯ ที่มีวัชพืชและสมุนไพรซ่อนตัวอยู่จำนวนมาก เมื่อผู้ร่วมทริปกว่า 20 คนรวมตัวกันครบแล้ว สมาชิกทุกคนก็คว้าเสื้อชูชีพมาสวม และกระโดดลงเรือหางยาวที่จอดรออยู่ทันที 

จากนั้นเสียงเครื่องยนต์เรือที่ดังขึ้นคือสัญญาณบอกให้เรารู้ว่า วันเดย์ทริปของเราได้เริ่มขึ้นแล้ว…

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

ระหว่างล่องเรือ เจ้าหน้าที่ประจำเรือชี้ให้เราดูสตรีทอาร์ตริมคลองหลายประเภทที่ชุมชนบางมดทำขึ้น เช่น ประติมากรรมจากฝาพลาสติก ศิลปะเซรามิกบนกำแพงที่เล่าเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนริมน้ำ รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ใต้สะพานสำหรับเก็บรูปภาพและเรื่องราวต่างๆ ของชาวบางมดให้คนทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้

ขณะที่เรือแล่นเร็วจนกระแสน้ำกระเด็นออกสองข้างทาง เรายังสังเกตเห็นผู้คนยกยอหาปลาอยู่บริเวณริมคลองอย่างไม่ขาดสาย เป็นครั้งแรกที่เรามีโอกาสนั่งเรือสำรวจคลองในกรุงเทพฯ และได้เห็นธรรมชาติ รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนริมคลองอย่างใกล้ชิด

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

นั่งเรือประมาณ 20 นาที เราก็มาหยุดอยู่ที่ท่าเรือของ ‘เซฟติสท์ ฟาร์ม (SAFETist Farm)’ สถานที่ทำกิจกรรมของเราในวันนี้

เซฟติสท์ ฟาร์ม คือสวนเกษตรริมคลองบางมดพื้นที่กว่า 2 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนในชุมชน เพื่อสร้างฟาร์มเกษตรในเมืองที่ร่มรื่น สบายตา อีกทั้งยังแวดล้อมไปด้วยแหล่งอาหารสด เช่น สวนผัก สวนผลไม้ บ่อปลา และเล้าไก่ไข่ 

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา
Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

ฟาร์มแห่งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยสำหรับแจกจ่ายให้คนในชุมชน รวมถึงสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ และกิจกรรมเรื่องอาหารให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกัน

ทันทีที่ลงจากเรือ เจ้าหน้าที่ของเซฟติสท์ ฟาร์ม ก็ต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง เราเริ่มอดใจไม่ไหวที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่จากพื้นที่เกษตรเปิดโล่งแห่งนี้

ออกตามหา ‘พืชกินได้นอกสายตา’

เมื่อสมาชิกทุกคนรวมตัวกันบริเวณพื้นที่ส่วนกลางของเซฟติสท์ ฟาร์ม ครบแล้ว ‘อรุณวตรี รัตนธารี’ ผู้จัด Urban Foraging BKK ในนามสวนผักคนเมืองกรุงเทพฯ ร่วมกับ สสส. ได้เล่าถึงจุดประสงค์ของกิจกรรมให้เราฟังคร่าวๆ ก่อนจะแนะนำให้ทุกคนรู้จัก ‘วิโรจน์ ปลอดสันเทียะ’ คุณครูประจำโรงเรียนทางเลือก วิทยากรประจำโครงการสวนผักคนเมือง และผู้เชี่ยวชาญเรื่องพืชอาหาร ซึ่งจะรับหน้าที่เป็นวิทยากรและไกด์นำทัวร์ในวันนี้

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

เริ่มกันด้วยกิจกรรมแรก วิโรจน์แบ่งสมาชิกเป็นสามกลุ่ม หลังจากนั้นก็แจกตะกร้า กรรไกร คัตเตอร์ ให้สำหรับใช้เก็บตัวอย่างวัชพืชและสมุนไพรที่เราจะเจอระหว่างทาง เมื่อคนครบ อุปกรณ์พร้อม วิโรจน์ก็ไม่รอช้า พาทุกคนเคลื่อนพลออกตามหาพืชอาหารที่อยู่รอบๆ พื้นที่ทันที

จุดแรกที่เราแวะก็คือสวนขนาดเล็กใจกลางเซฟติสท์ ฟาร์ม ที่มีกระถางต้นไม้เรียงรายอยู่ วิโรจน์แนะนำพืชให้เรารู้จักทีละชนิด พร้อมอธิบายวิธีกิน รสชาติ และสรรพคุณของพืชเหล่านี้ มีทั้งพืชที่เคยกิน ชื่อคุ้นหู รวมไปถึงพืชที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย ตัวอย่างเช่น

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

– ผักเบี้ยใหญ่ : พืชล้มลุกลำต้นเตี้ย พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยบริเวณดินชื้นแฉะ บนฝั่งริมน้ำ หรือในแปลงเกษตรทั่วไป มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ แก้เหงือกบวม และช่วยให้ฟันแข็งแรง ผักชนิดนี้สามารถดองก็ได้ จะกินสดก็ดี อย่างในประเทศเม็กซิโก ผู้คนนิยมใส่ผักเบี้ยใหญ่ใน ‘ซัลซา (Salsa)’ ซึ่งเป็นยำมะเขือเทศหรือยำมะม่วงที่เป็นเครื่องจิ้มเสิร์ฟแบบเย็น ทั้งนี้ ผักเบี้ยใหญ่ยังมีคุณสมบัติช่วยขับเลือด จึงไม่แนะนำให้ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์เพราะอาจเสี่ยงแท้งได้

– อบเชยเถา : ต้นไม้ที่เหมาะกับหน้าร้อน อบเชยเถาสามารถต้มกับใบเตยและทำเป็นเครื่องดื่ม มีสรรพคุณแก้กระหายน้ำ บำรุงหัวใจ และช่วยทำให้ชื่นใจ รากของอบเชยเถายังเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องตุ๋นยาจีนที่มีฤทธิ์เย็นอีกด้วย

– กะเม็ง : สมุนไพรที่คนส่วนใหญ่นิยมนำไปผสมมะกรูด จากนั้นเอาไปต้มและปั่นเพื่อทำยาสระผม เพราะมีสรรพคุณช่วยบำรุงผิว เส้นผม และลดอาการผมหงอกได้ แต่ไม่นิยมใช้ทำอาหารหรือเครื่องดื่ม เพราะมีรสชาติขม

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

– เคล : ผักสีเขียวที่มีขอบใบเป็นลอน ใช้ทำอาหารและยาได้ ถ้าต้มเคลกับบอระเพ็ดจะได้ยาบรรเทาอาการไข้หวัดและแก้ไอ สรรพคุณคล้ายกับฟ้าทะลายโจร

– ใบบัวบก : พืชประจำถิ่นที่มีรสขมเย็น เมื่อดื่มเข้าไปจะช่วยให้ร่างกายคลายร้อน อีกทั้งยังแก้อาการช้ำในและลดอาการอักเสบได้

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

เมื่อทุกคนเริ่มตื่นตาตื่นใจกับบรรดาพืชผักแปลกหน้า วิโรจน์ก็พาเราไปเดินสำรวจบริเวณริมคลองต่อ เพราะในคลองและพื้นที่ริมทางก็มีพืชอาหารซ่อนตัวอยู่ไม่น้อยเช่นกัน 

พืชที่สร้างความประหลาดใจให้เราก็คือ ‘กะทกรก’ ผลไม้สีเหลืองขนาดเล็กกว่าลูกปิงปอง เป็นพืชสกุลเดียวกับ ‘เสาวรส’ แต่ไม่ใช่ต้นเดียวกัน ซึ่งส่วนต่างๆ ของต้นกะทกรกก็มีประโยชน์แตกต่างกันไป เช่น รากช่วยแก้ความดันโลหิตสูง เปลือกใช้เป็นยาชูกำลัง ส่วนเนื้อไม้ใช้เป็นยาควบคุมธาตุในร่างกายและถอนพิษเบื่อเมาทุกชนิด

คนชอบกินผลไม้เปรี้ยวอย่างเราจึงขอลองชิมเมล็ดกะทกรกสดๆ จากต้นดู ซึ่งรสชาติก็เปรี้ยวอมหวานคล้ายเสาวรส เพียงแต่มีเมล็ดเล็กกว่าเท่านั้น เหมาะที่จะนำไปทำเครื่องดื่มสุขภาพเพื่อช่วยให้ร่างกายสดชื่นได้เป็นอย่างดี

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

วัชพืชอีกหนึ่งชนิดที่เรามีโอกาสชิมใบสดๆ ก็คือ ‘ชะคราม’ พืชล้มลุกกิ่งก้านอวบอ้วน ใบแคบยาว พองกลม สีเขียวอมฟ้า และมีรสเค็มธรรมชาติ ผู้คนนิยมนำไปทำอาหารหลายประเภท เช่น แกงส้มใบชะคราม แกงจืดใบชะคราม ไข่เจียวใบชะคราม และยำใบชะคราม นอกจากรสชาติที่อร่อยแบบคาดไม่ถึงแล้ว ใบชะครามยังมีสรรพคุณใช้เป็นยาแก้ท้องผูก ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการผื่นคัน กระตุ้นระบบประสาท บำรุงสายตา และมีสารอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็งด้วย

นอกจากนี้ เรายังได้เห็น ชิม และสัมผัสพืชอาหารอีกหลายชนิด เช่น ปรงทะเล ธูปฤาษี พวงชมพู โพทะเล ผักบุ้งทะเล เสลดพังพอนตัวเมีย เหงือกปลาหมอ ดอกไก่เตี้ย เบญจมาศน้ำเค็ม ขลู่ เถาคัน เตยทะเล หนามพุงดอ สะแก หูเสือ อัญชัน มะรุม มะแว้ง และสะเดา เป็นต้น 

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

ต้องยอมรับเลยว่า การสำรวจพื้นที่สั้นๆ ราว 1 ชั่วโมงครึ่งเปรียบเสมือนการเปิดโลกใหม่ให้กับเรา เพราะส่วนใหญ่คือวัชพืชและสมุนไพรที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ก็ตื่นเต้นและสนุกกับการทายชื่อและเก็บพืชอาหารใส่ตะกร้าเช่นกัน

พักกลางวันกับเมนู ‘ผักริมทาง’

ถึงเวลาหลบแดดจ้าและอากาศร้อนจัดของเมืองไทยเพื่อพักทานอาหารกลางวัน ซึ่งเมนูสำหรับมื้อนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กิจกรรมอื่นๆ เพราะทั้งหมดล้วนทำจากพืชอาหารที่เก็บเกี่ยวจากพื้นที่เกษตรอินทรีย์แห่งนี้ 

เมนูแรกคือ ‘แกงส้ม’ ที่มีพืชกินได้เป็นวัตถุดิบหลัก ได้แก่ หน่อธูปฤาษี ใบขลู่ ปรงทะเล และดอกแคร์ ความรู้สึกหลังจากเราชิมคำแรก ตัวแกงมีรสเปรี้ยวคล้ายกับแกงส้มทั่วไป แต่สิ่งที่แตกต่างคือกลิ่นและเนื้อสัมผัสของพืชผักที่อยู่ในเมนูนี้ เช่น รสหอมฝาดของใบขลู่และใบยาวเรียวของปรงทะเล

ถัดมาคือ ‘ไข่เจียวพวงชมพู’ ไข่เจียวนุ่มฟู ตกแต่งด้วยดอกพวงชมพูสีสวย พวงชมพูคือวัชพืชที่พบได้ทั่วประเทศ คนส่วนใหญ่นิยมนำมาตกแต่งจานอาหาร แถมยังมีบางคนบอกว่ารสชาติของมันคล้ายกับเนื้อหมูด้วย สำหรับเรา พืชชนิดนี้ไม่มีรสชาติเท่าไหร่ แต่เมื่อนำมาตกแต่งไข่เจียวทำให้อาหารดูสวยและน่ากินขึ้นเยอะ

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

อีกเมนูก็คือ ‘ผัดต้นอ่อนทานตะวัน’ ซึ่งเป็นเมนูโปรดของเราอยู่แล้ว ยิ่งมากินที่เซฟติสท์ ฟาร์ม ก็ยิ่งชอบ เพราะรู้สึกว่าต้นอ่อนทานตะวันของที่นี่ทั้งสด กรอบ และหวานกว่าปกติจริงๆ

ปิดท้ายด้วย ‘กรูดจี๊ดใบหูเสือ’ เครื่องดื่มโซดาผสมน้ำผึ้ง น้ำมะกรูด น้ำส้มจี๊ด และใบหูเสือ ที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน เหมาะกับการดื่มคลายร้อนเป็นที่สุด เป็นอีกเครื่องดื่มที่ทำให้เรารู้ว่าพรรณไม้ล้มลุกอย่างใบหูเสือก็นำมาทำเครื่องดื่มได้ ซึ่งตัวใบหูเสือมีกลิ่นหอมฉุน รสชาติซ่า เผ็ดร้อน กลิ่นคล้ายกับเครื่องเทศออริกาโน (Oregano) ที่ใช้โรยพิซซ่า

นอกจากพืชที่ใช้ทำเมนูวันนี้ ยังมีวัชพืชและสมุนไพรกินได้อีกหลายชนิดที่นำมาทำอาหารจานหลักได้เช่นกัน ข้อดีของพืชเหล่านี้ก็คือหาง่าย บางต้นเด็ดจากริมทางได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ ที่สำคัญ รสชาติยังอร่อยและมีประโยชน์ไม่แพ้เมนูที่เรากินเป็นประจำด้วย

สร้างองค์ความรู้ที่ยั่งยืนเกี่ยวกับ ‘พืชอาหาร’ 

ต่อกันด้วยกิจกรรมช่วงบ่ายซึ่งเป็นการทำความรู้จักพืชอาหารแบบเจาะลึกมากขึ้น วิโรจน์ให้สมาชิกแต่ละกลุ่มช่วยกันนำวัชพืชและสมุนไพรที่เก็บระหว่างการสำรวจพื้นที่ช่วงเช้ามาแปะติดลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ และเขียนระบุชื่อพืชที่รู้จักให้ได้มากที่สุด

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

ระหว่างที่แต่ละกลุ่มคัดเลือกพันธุ์พืชเพื่อติดลงกระดาษ วิทยากรก็คอยเดินสำรวจและสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับพืชอาหารที่เราไม่รู้จักเป็นระยะๆ ช่วงสรุปกิจกรรม แต่ละกลุ่มได้รู้จักวัชพืชและสมุนไพรหน้าใหม่จากเซฟติสท์ ฟาร์ม มากกว่า 30 ชนิดเลยทีเดียว เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ร่วมงานได้ทบทวนและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับชนิดของพืช รวมไปถึงสร้างความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพืชอาหารที่ยั่งยืนด้วย

ปิดท้ายวันนี้ด้วยกิจกรรมทำทิงเจอร์ DIY จากสมุนไพรริมทาง สมาชิกจะได้รับแจกขวดแก้วคนละใบ หลังจากนั้นก็ฉีกสมุนไพรที่เก็บมา เช่น เสลดพังพอน เตยหอม ใบหูเสือ และใบมะกรูด ให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อใส่ลงขวด ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำแอลกอฮอล์เทใส่ขวดจนท่วมสมุนไพรและปิดฝาให้สนิท 

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

จากนั้นก็จะได้สารสกัดสมุนไพรที่ทำเองได้ง่ายๆ ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ทิงเจอร์ DIY จะพร้อมใช้งานเมื่อหมักทิ้งไว้ในขวดครบ 7 วัน ส่วนสรรพคุณก็คือ ช่วยบรรเทาอาการคันและระคายเคืองจากแมลงกัดต่อย โดยมีอายุการใช้งานนานถึง 6 เดือนเลย นอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับพืชอาหารและพืชสมุนไพรแบบจัดเต็มแล้ว ผู้ร่วมทริปวันนี้ยังได้ของฝากทำเองน่ารักๆ ติดไม้ติดมือกลับบ้านด้วย 

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

เรารู้สึกประทับใจกับกิจกรรมของ Urban Foraging BKK มากกว่าที่คิดไว้ เพราะเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เปิดโอกาสให้คนเมืองทำความรู้จักผลผลิตของธรรมชาติที่อยู่รอบตัวที่หาง่าย มีประโยชน์ และอาจไม่ต้องเสียเงินซื้อเลยด้วยซ้ำ เหนือสิ่งอื่นใด ความรู้วันนี้ยังมีส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาความมั่นคงด้านอาหารให้กับคนเมืองอีกด้วย 

ต่อจากนี้เรามั่นใจว่า ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน คงอดไม่ได้ที่จะสำรวจต้นไม้สีเขียวริมทาง เพื่อมองหาและทักทายเหล่าพืชอาหารที่เคยแปลกหน้าอย่างแน่นอน

Urban Foraging BKK ครั้งที่ 1 พืชกินได้นอกสายตา

ทางสวนผักคนเมืองกรุงเทพฯ เชื่อว่า การส่งเสริม ‘โภชนปัญญา (Food Literacy)’ หรือองค์ความรู้ด้านอาหารให้กับผู้คนคือหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาสิ่งแวดล้อม เมือง และสังคมอย่างยั่งยืน จึงมีความตั้งใจที่จะจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับพืชอาหารที่อยู่รอบตัวอย่างต่อเนื่อง

ใครที่พลาด Urban Foraging BKK ทริปแรกไม่ต้องเสียใจ เพราะกิจกรรมครั้งที่สองกำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยมีชื่อตอนว่า ‘ตู้ยาริมทาง’ ที่จะเน้นสำรวจสมุนไพรที่มีสรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ รับรองว่าสนุกและอัดแน่นไปด้วยสาระไม่น้อยกว่ากันแน่นอน

ใครสนใจสามารถติดตามรายละเอียดทริป ‘Urban Foraging BKK’ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ของสวนผักคนเมืองกรุงเทพฯ ได้ที่นี่ facebook.com/cityfarmthailand

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.