การหาข้อมูลต่างๆ ในปัจจุบัน เราทุกคนต่างเชื่อว่าสามารถค้นหาทุกอย่างได้บนอินเทอร์เน็ต แต่บางครั้งการหาข้อมูลทั่วๆ ไปของเมืองที่เราอาศัยอยู่ กลับต้องใช้เวลาในการยื่นคำร้องสู่หน่วยงานอีกหลายขั้นตอนกว่าจะได้รับข้อมูลนั้นมา
และไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไปที่ต้องการข้อมูลเหล่านี้ไปทำงานหรือทำวิจัย แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้แต่หน่วยงานรัฐเองบางครั้งก็ประสบปัญหาการสืบค้นข้อมูลเมือง ทำให้การพัฒนาพื้นที่บางจุดในเมืองเป็นไปอย่างล่าช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็น
คอลัมน์ Trouble Solver พาไปทำความรู้จักกับ urbancommonsource.com แพลตฟอร์มฐานข้อมูลเมือง ที่เกิดจากการทำงานของ Urban Studies Lab ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และการร่วมมือกับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เพื่อสร้างพื้นที่ส่วนกลางในการเก็บบันทึกและแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้การทำงานของหน่วยงานรัฐ รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ที่ต้องการใช้ข้อมูลเมืองมีความสะดวกสบายและง่ายขึ้น
Urban Studies Lab กับการเป็นตัวกลางเชื่อมรัฐและชุมชน
‘ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง’ หรือ ‘Urban Studies Lab (USL)’ คือศูนย์วิจัยอิสระด้านการศึกษาเมือง ที่เน้นการพัฒนาเมืองในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านสังคม คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติและการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบมีข้อมูลเป็นหลักฐาน
การทำงานของ Urban Studies Lab จะเป็นการพัฒนาชุมชนโดยใช้การมีส่วนร่วมระหว่างภาคส่วนต่างๆ ภายในเมือง เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาหรืองานวิจัย และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาพื้นที่ชุมชน ผ่านการทำงานร่วมกัน ให้ชุมชนและภาครัฐสามารถเชื่อมต่อกันได้ ทั้งในด้านของการขับเคลื่อนนโยบายภายในชุมชน ไปจนถึงการเสนอแนะ ออกแบบนโยบายจากชุมชนสู่ภาครัฐ
Urban Studies Lab จะทำหน้าที่คล้ายกับเป็นหน่วยงานที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ภายในเมืองเข้าด้วยกัน ในการพัฒนาเมืองให้เข้าถึงกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในแต่ละพื้นที่
ข้อมูลคือส่วนสำคัญที่นำไปขับเคลื่อนเมืองได้
จากการลงมือทำงานร่วมกับทั้งหน่วยงานรัฐและชุมชนในหลายๆ โครงการที่ผ่านมา ทำให้ ‘เกมส์-พรรษวุฒิ นันทรัตน์’ นักวิจัย และ ‘ฟ้อน-ปราณปัทม์ ปฏิพัตร์’ นักออกแบบการสื่อสารของทีม Urban Studies Lab บอกกับเราว่า ทีมได้เห็นความสำคัญของตัวข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ระบุปัญหาและวางแผนเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเมือง ทั้งในส่วนของภาครัฐที่สามารถนำข้อมูลนั้นมาใช้เป็นฐานในการออกแบบและวางแผนนโยบายต่างๆ ภายในเมือง หรือในด้านของภาคประชาสังคม เช่น ชุมชนในเมือง ที่ข้อมูลต่างๆ ของชุมชนนั้นก็นำมาใช้ในการพัฒนาตัวชุมชนเอง และการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อของบประมาณจากรัฐในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ด้วยเช่นกัน
“บางครั้งคนในชุมชนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีสิทธิ์อะไรบ้าง ข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเมือง เราเลยเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อนว่า ถ้าแต่ละชุมชนมีข้อมูลของตัวเอง แล้วเจ้าหน้าที่รัฐสามารถดึงข้อมูลตรงนั้นออกไปใช้งานได้ มันจะช่วยให้การพัฒนาพื้นที่นั้นแม่นยำมากขึ้น และเมื่อเรามาลงมือทำจริงๆ ก็เห็นว่ากรุงเทพมหานครเองก็มีฐานข้อมูลอยู่แล้ว แต่ความที่แต่ละสำนักมีความซับซ้อนในการทำงานและการดำเนินงานด้านข้อมูลที่แตกต่างกัน จึงทำให้ข้อมูลของกรุงเทพมหานครยังขาดความครอบคลุมด้านข้อมูลในบางประเด็น
“รวมไปถึงการเก็บข้อมูลของระดับสำนักงานเขตตามคำสั่งจากส่วนกลางของกรุงเทพมหานคร ที่ระบบการจัดเก็บข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลกลางมีความซับซ้อนในการขอข้อมูลกลับมาสู่ระดับสำนักงานเขต หรือข้อมูลที่ทำการเก็บข้อมูลเมื่อทำการกรอกข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล ตัวข้อมูลเองจะไปอยู่ในระบบของสำนัก ทำให้เมื่อสำนักงานเขตต้องการใช้ข้อมูลต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนในการประสานงานหรือขอข้อมูลจากส่วนกลางอีกทีหนึ่ง แต่หากมีฐานข้อมูลกลางที่ทั้งสำนักงานเขต และส่วนกลางสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างสะดวกข้อมูลก็จะเกิดประสิทธิภาพกับทุกๆ ฝ่ายมากขึ้นมากขึ้น” พรรษวุฒิเล่าถึงปัญหาของการเก็บข้อมูลที่ผ่านมา
แพลตฟอร์มที่อยากช่วยแก้ปัญหาเมืองอย่างยั่งยืน
“เราเคยทำโปรเจกต์เกี่ยวกับ Zero Waste ที่เกี่ยวข้องกับขยะในเมือง ถ้าจะใช้ข้อมูลก็ต้องทำหนังสือขอเพื่อแจ้งว่าเราเป็นใคร ขอข้อมูลไปทำอะไร หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องไปดูเส้นทางวิ่งของรถขยะเอาเอง แต่ความจริงแล้วข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถเผยแพร่ได้ ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะนอกจากพวกเราเองแล้ว ก็ยังช่วยให้คนทั่วไปหรือนักศึกษานำข้อมูลเหล่านี้ไปทำโปรเจกต์ วิจัย หรือคิดหาวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย ก็เลยคิดไปถึงว่า ถ้าข้อมูลทั่วไปเหล่านี้ปล่อยสู่สาธารณะให้ดูได้ก็คงดี” ปราณปัทม์เล่าถึงประสบการณ์ที่ตัวเองเคยประสบให้เราฟัง
ด้วยเหตุนี้ ทีม Urban Studies Lab จึงริเริ่มทำ ‘Urban Common Source’ แพลตฟอร์มที่จะรวบรวมข้อมูลพื้นฐานภายในเมือง เช่น ข้อมูลชุมชน ข้อมูลสาธารณูปโภคพื้นฐาน ของกรุงเทพมหานครไว้ในที่เดียว เพื่อความสะดวกสบายในการทำงานและสนับสนุนการทำงานด้านข้อมูลของเจ้าหน้าที่ในระดับเขต ผ่านการใช้งานแพลตฟอร์มฐานข้อมูล และง่ายต่อการนำไปพัฒนาพื้นที่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเริ่มจากข้อมูลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ 6 เขตรอบคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของกรุงเทพมหานคร
“แพลตฟอร์มนี้ต่อยอดมาจาก ‘โครงการ Smart City’ หรือ การยกระดับเมืองอัจฉริยะ และเมืองน่าอยู่ผ่านการพัฒนาฐานข้อมูลเมือง นโยบาย และกลไกการทำงานระดับพื้นที่ กรณีศึกษา คลองผดุงกรุงเกษม ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยที่ผ่านมาได้มีการประกาศให้พื้นที่คลองผดุงกรุงเกษมเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ประกาศโดยกรุงเทพมหานคร นอกจากจะพัฒนาตัวโครงการนี้แล้ว เราอยากพัฒนาด้านศักยภาพการในการใช้ข้อมูลในการทำงานให้กับข้าราชการหรือภาคส่วนต่างๆ เข้ามาใช้งานด้วย” พรรษวุฒิเล่าถึงอินไซต์ของแพลตฟอร์ม Urban Common Source ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลภายในเมือง เพื่อให้การไหลเวียนของข้อมูลมีความสะดวกสบายมากขึ้น
ภายในแพลตฟอร์มประกอบไปด้วยระบบฐานข้อมูลที่ทั้งจัดเก็บ แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงข้อมูล จากการทำงานของศูนย์วิจัยชุมชนเมือง รวมไปถึงข้อมูลพื้นฐานชุมชน และข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพมหานครที่สามารถเผยแพร่สู่สาธารณะได้ และมี ‘ดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ หรือ Global Monitoring Framework (UMF)’ ที่พัฒนาโดย UN Habitat ในการวิเคราะห์ดัชนีเมืองน่าอยู่ในระดับเขตของกรุงเทพมหานคร และแสดงผลค่าคะแนนของดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ในรูปแบบของกราฟ เพื่อให้ง่ายต่อการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานต่อ
คนทำงานสมาร์ต แพลตฟอร์มสมาร์ต
ก่อนที่ทีม Urban Studies Lab จะเริ่มลงมือสร้างแพลตฟอร์มนี้ ได้มีการทำเวิร์กช็อป พูดคุยกับคนที่มีส่วนร่วมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับสำนักของกรุงเทพมหานคร ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ที่ใช้ข้อมูลในการออกแบบยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ที่มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลหรือสร้างชั้นข้อมูลขึ้นมา เพื่อส่งต่อข้อมูลให้กับส่วนต่างๆ หรือจะเป็นในระดับสำนักงานเขตอย่าง 6 เขตรอบคลองผดุงกรุงเกษม ได้แก่ เขตพระนคร เขตดุสิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตปทุมวัน เขตสัมพันธวงศ์ และเขตบางรัก
พรรษวุฒิเสริมว่า ทีม Urban Studies Lab มองว่า ก่อนจะทำสมาร์ตแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา อยากให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้งานโดยตรงนั้นมีส่วนร่วมในการออกแบบ และความสมาร์ตในการใช้งานก่อน ด้วยการเทรนนิงให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านข้อมูลเข้าใจว่า องค์ความรู้ในการทำงานด้านข้อมูลนั้นควรจะมีอะไรบ้าง ซึ่งพวกเขาได้ทำออกมาในรูปแบบของหลักสูตรการสอนและคู่มือที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยมีเนื้อหาว่าด้วยการบริหารและจัดการด้านข้อมูลนั้นต้องมีทักษะอะไรบ้าง การจัดเรียงความสำคัญของข้อมูล หรือเห็นข้อมูลแล้วจะนำไปวิเคราะห์ได้อย่างไร
“เพราะหากส่วนที่เล็กที่สุดอย่างสำนักงานเขตสามารถทำข้อมูลได้ มีความเข้าใจในข้อมูล แม้เป็นเพียงพื้นฐานเบื้องต้น แต่ก็จะรู้ได้ว่าข้อมูลแต่ละชนิดควรจัดแบบไหน ต้องนำเข้าสู่ระบบและสามารถนำไปใช้งานในการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างไร เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานในขั้นตอนต่อๆ ไป”
เพราะเชื่อว่าต่อให้มีเครื่องมือดีขนาดไหน แต่ถ้าคนทำงานที่เกี่ยวข้องใช้งานข้อมูลไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้สะท้อนปัญหาภายในเมืองได้ไม่ครบถ้วน เนื่องจากเมืองมีความหลากหลายและความซับซ้อนอยู่มาก ดังนั้นการพัฒนาที่ดีที่สุดคือต้องควบคู่ไปด้วยกันทั้งบุคลากรและอุปกรณ์
“ทุกวันนี้ข้อมูลระดับเขตที่มีอยู่นั้น มีความซับซ้อนในการทำงาน แต่พอได้หลักสูตรตัวนี้ที่ทำล้อไปกับแพลตฟอร์ม รวมถึงการจัดเวทีความคิดเห็นจากภาคส่วนราชการต่างๆ ในระดับสำนักกับระดับสำนักงานเขต ที่เป็นหน่วยงานที่เราต้องการฟีดแบ็ก ต้องการรู้ว่าข้อมูลปกติที่เขาใช้ทำงานมีข้อมูลอะไรบ้าง แล้วมันเกิดปัญหาอะไรในการทำงานบ้าง เราก็เก็บข้อมูลแล้วทำออกมาเป็นตัวแพลตฟอร์มนี้” พรรษวุฒิอธิบาย
แม้ว่าหลักๆ แล้วความคาดหวังของการทำแพลตฟอร์มนี้คือ การที่สำนักงานเขตทั้ง 6 เขตเข้ามาใช้งานให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้างใน ให้ข้อมูลมีการไหลเวียน และสามารถนำข้อมูลไปใช้งานได้จริง แต่ทาง Urban Studies Lab มองว่า ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบระเบียบ เพราะภาคเอกชนหรือคนทั่วไปที่ต้องการข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งาน ก็ไม่ต้องเสียเวลาในการติดต่อขอใช้งานหลายๆ ขั้นตอนอีกต่อไปแล้ว
ร่วมมือกับชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลจากผู้ประสบปัญหาจริง
นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบระเบียบแล้ว การมีข้อมูลให้เห็นเป็นรูปธรรมจะเป็นสิ่งสนับสนุนให้เห็นถึงสถานการณ์และประเด็นปัญหาในพื้นที่ และยังเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาพื้นที่ในมิติต่างๆ นั้นเดินหน้าต่อไปได้ พรรษวุฒิเล่าต่อว่า เพื่อการเข้าถึงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ทางทีมงานจึงจัดเวิร์กช็อปพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนและสอบถามความต้องการต่างๆ เพื่อแสดงให้ชุมชนเห็นความสำคัญของข้อมูลที่สามารถนำมาพัฒนาพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่
“จริงๆ ประธานชุมชนหรือผู้นำชุมชนเองก็มีข้อมูลอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถ่ายทอดหรือจัดเก็บให้เป็นระเบียบ อาจจะเก็บเป็นกระดาษหรือใช้วิธีการจดจำ เวลาเจ้าหน้าที่ต้องการข้อมูลต่างๆ ก็อาจทำให้ได้ข้อมูลไปไม่ครบถ้วน”
พรรษวุฒิยกตัวอย่างชุมชนจักพรรดิพงษ์ ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่ได้มีการทำ workshop ข้อมูลชุมชน ร่วมกับทาง USL โดยเป็นการทำแผนที่เดินดิน เก็บข้อมูลถังดับเพลิง จุดเสี่ยงไฟไหม้ และได้มีการบูรณาการร่วมกับสำนักงานดับเพลิงภูเขาทองในการอบรมการรับมือไฟไหม้ การปฏิบัติเมื่อเกิดไฟไหม้ภายในชุมชน ซึ่งในปัจจุบันสำนักงานดับเพลิงได้นำข้อมูลพื้นฐานภายในชุมชนไปใช้ในการออกแบบทำแผนการรับมือไฟไหม้ภายในชุมชน และจะทำการส่งมอบแผนให้กับทางชุมชนในอนาคตเมื่อแล้วเสร็จ รวมถึงการขยายผลด้วยการนำข้อมูลพื้นฐานในชุมชนไปใช้ในการออกแบบสวนผักชุมชน หรือข้อมูลกลุ่มเปราะบางไปใช้ในการออกแบบการเขียนข้อเสนอโครงการต่อไป
‘ชุมชนบ้านบาตร’ คือหนึ่งในชุมชนนำร่องของโครงการนี้ที่ Urban Creature ได้ติดตามทีม Urban Studies Lab เข้าไปร่วมพูดคุยและทำเวิร์กช็อปกับชุมชน เพื่อสอบถาม เก็บรวบรวมข้อมูล และนำข้อมูลเหล่านี้ไปจัดระเบียบตามแต่ละหัวข้อ ก่อนจะนำเข้าสู่ระบบบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ต้องการข้อมูลของชุมชนหยิบเอาข้อมูลไปใช้ได้ง่ายๆ
เพราะข้อมูลต่างๆ ของชุมชนบ้านบาตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานที่สำคัญ จุดเสี่ยง บ้านที่มีสภาพไม่มั่นคง บ้านที่มีผู้ป่วยหรือผู้พิการ และข้อมูลอื่นๆ นั้นมักเก็บเอาไว้ที่ผู้นำชุมชน ซึ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ผู้นำชุมชนไม่สะดวกให้ข้อมูลที่มีอยู่ ณ ตอนนั้น ก็จะส่งผลให้การส่งต่อความช่วยเหลือจากภาครัฐเกิดความล่าช้าตามไปด้วย
มากไปกว่านั้น ข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาก็ไม่ได้นำไปเข้าระบบเพื่อการทำงานของรัฐอย่างเดียว แต่ทางทีม Urban Studies Lab ยังตั้งใจที่จะจัดทำข้อมูลสำคัญเหล่านี้ออกมาติดตั้งในชุมชนด้วย เพราะยังมีข้อมูลอีกหลายอย่างที่ผู้อยู่อาศัยเองอาจไม่เคยรู้มาก่อน และข้อมูลนั้นๆ ก็เป็นข้อมูลสำคัญที่ทุกบ้านควรได้รู้ เช่น จุดวางถังดับเพลิง ทางเข้า-ออกทั้งหมดของชุมชน เป็นต้น
สุดท้ายนี้ ตัวแทนจาก Urban Studies Lab ได้เน้นย้ำกับเราว่า แพลตฟอร์ม Urban Common Source จะยังมีการพัฒนาและอัปเดตข้อมูลอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้การทำงานบนตัวแพลตฟอร์มมีความเป็นระบบและใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากความเสถียรในการใช้งานแล้ว ในอนาคตจะมีการเพิ่มฟีเจอร์ Index ที่ว่าด้วยเรื่องของ Urban Heart หรือสุขภาวะในเมือง โดยเน้นเรื่องการแพทย์และสุขภาวะ ให้เจ้าหน้าที่รัฐภาคส่วนอื่นๆ หรือใครก็ตามเข้าดูในแพลตฟอร์มได้ว่า ในแต่ละพื้นที่แต่ละเขตนั้นมีความต้องการเรื่องอะไร ปัญหาหรือข้อมูลด้านสุขภาพเป็นอย่างไร ซึ่งจะเข้ามาติดตามข้อมูลบนแพลตฟอร์มหรือดาวน์โหลดข้อมูลไปใช้ก็ได้เช่นกัน
แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนา แต่ทุกคนสามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลต่างๆ ของเมืองได้ทาง urbancommonsource.com และเรามาติดตามการทำงานของทีม Urban Studies Lab ที่ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มนี้ไปด้วยกันว่า จะช่วยพัฒนาเมืองของเราให้เดินหน้าไปได้มากน้อยแค่ไหน