หากใครมีความฝันอยากเป็นเกษตรกร คงจะนึกภาพว่าต้องมีแปลงที่ดินขนาดใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ตื่นเช้ามารดน้ำ หว่านเมล็ด ใส่ปุ๋ย พรวนดิน และทุ่มเทเวลาอย่างเต็มที่ ตัดภาพมาความเป็นจริงก็แทบสะดุด เพราะต้องมีทั้ง ‘พื้นที่’ และ ‘เวลา’ ที่หาได้ยากยิ่งในชีวิตเมือง ไหนจะที่ดินราคาแพงแถมมีขนาดน้อยนิด รวมถึงเวลาที่ต้องหมดไปกับการทำงาน ล้วนดับความหวังคนเมืองที่อยากมีสวนของตัวเอง
แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะยอมแพ้สำหรับ ‘ฟาร์มลุงรีย์’ คนกรุงเทพฯ ที่เริ่มต้นจากการเลี้ยงไส้เดือนในเมือง ด้วยพื้นที่ประมาณ 1 ลังคว่ำแก้ว และฟาร์มเพาะเห็ดขนาด 3×3 เมตร โดยนำเทคโนโลยีใกล้ตัวเป็นตัวสร้างความสมดุลระหว่าง ‘เกษตร’ และ ‘เวลา’ ให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งทุกวันนี้จากฟาร์มเพาะปลูกได้กลายเป็นต้นแบบเรียนรู้ทางเกษตร ที่เผยแพร่ให้คนที่สนใจทำฟาร์มได้มาศึกษากัน
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘ลุงรีย์ ชารีย์ บุญญวินิจ’ ผู้บุกเบิกฟาร์มลุงรีย์ และ ‘พี่นัท กิตติพงศ์ กีรติเตชะนันท์’ นักเพาะเห็ดที่มาเรียนรู้จากฟาร์มลุงรีย์นำไปต่อยอด ทั้งสองคนจะมาแชร์ประสบการณ์การทำฟาร์มรุ่นใหม่เขาคิดกันอย่างไร ? ฉีกกฎความรู้แบบเดิมๆ เพิ่มเติมคืออาศัยเทคโนโลยีรอบตัวมาสร้างมูลค่าเลี้ยงชีพ
จุดเริ่มต้น ‘ฟาร์มไส้เดือน’ ใน ‘พื้นที่จอดรถ’
ย้อนกลับไปในปี 2013 ลุงรีย์ในวัย 25 ปี เกิดคำถามคาใจที่ว่า ‘เราจะกำจัดขยะได้อย่างไร ?’ หันมามองสิ่งรอบตัว อย่างเศษอาหารที่กินแล้วทิ้งอยู่เป็นประจำ สุดท้ายกลายเป็นขยะกองโต จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลุงรีย์มีความคิดอยากทำฟาร์มเลี้ยงไส้เดือน เนื่องจากมันสามารถย่อยเศษอาหารได้ แถมไส้เดือนยังมีประโยชน์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมูลของไส้เดือนนำมาทำเป็นปุ๋ยให้พืชเจริญเติบโตและเป็นอาหารสัตว์
“ทำฟาร์มใกล้บ้าน หนีปัญหารถติด เมืองที่วุ่นวาย”
สเต็ปต่อไปคือการหาพื้นที่ฟาร์มในเมือง เพราะเป็นคนกรุงเทพฯ อยากทำงานใกล้บ้าน ซึ่งพื้นที่เช่าในเมืองล้วนมีขนาดจำกัดและราคาสูง ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ทเมนท์ ห้องเช่า และที่ว่างขนาดเล็ก ลุงรีย์จึงตัดสินใจเลือกเช่าพื้นที่จอดรถในซอยเพชรเกษม 46 ขนาดประมาณ 6X3 ตารางเมตร แต่ใช้พื้นที่เลี้ยงไส้เดือนจริงแค่ 1 ลังตะกร้านำมาต่อกันเป็นแนวตั้ง จากนั้นจึงได้ต่อยอดเป็นคอมมูนิตี้เกี่ยวกับการเกษตรที่สามารถปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ เปิดร้านอาหาร และกลายเป็นโรงเรียนจ่ายความรู้ให้กับคนที่สนใจทำฟาร์มอย่างครบวงจร
ลุงรีย์ยังบอกกับเราอีกว่า การทำสวนในเมืองก็มีข้อดีเช่นกัน เพราะในอนาคตคนเมืองจะหันมาสนใจการเกษตรมากขึ้น เนื่องจากสภาวะอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน และสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงเทรนด์การรักษาสุขภาพ ทำให้คนต้องการกินอาหารที่ปลอดสารพิษ และราคาถูก
ซึ่งทางเลือกของการทำฟาร์ม ‘ระบบปิด’ จึงเป็นทางออกที่น่าสนใจ เพราะสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเพาะปลูกได้ รวมทั้งได้มาตรฐานที่ดีตามต้องการ แถมการทำฟาร์มในเมืองจะช่วยลดเรื่องค่าขนส่ง ช่วยย่นระยะทางให้สั้นลง เข้าถึงชุมชนง่าย แถมยังได้ผักที่สะอาดสดใหม่น่ารับประทานอีกด้วย
‘ไส้เดือน’ ตัวกลางที่เชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน
เบื้องหลังฟาร์มไส้เดือน มาจากความตั้งใจของลุงรีย์ที่อยากให้ทุกคนยอมรับในอาชีพ ‘เกษตรกร’ เพราะบ้านเรามักมีภาพจำว่าเกษตรกรต้องลำบาก แต่อยากให้เปลี่ยนความคิดใหม่เหมือนเกษตรกรในประเทศฝั่งตะวันตก ที่พวกเขาทำไร่ทำสวนแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดี แถมยังดูเท่ในสายตาคนอื่นอีกด้วย
สมัยก่อนเราสามารถขุดดินหาไส้เดือนไปตกปลา เพื่อที่จะทำกับข้าวกินกันในครอบครัว แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้แทบจะหาไม่ได้แล้ว หากอยากได้ปลาสักตัวหนึ่งก็ต้องออกไปซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต หรืออยากกินผักที่ปลอดสารพิษก็ต้องยอมจ่ายแพง ทั้งที่เมื่อก่อนก็สามารถปลูกกินเองก็ได้ ตัดภาพมาปัจจุบันบ้านเราไม่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเพาะปลูก รอบตัวในเมืองกลายเป็นตึกสูงไปหมดแล้ว
“ไส้เดือนก็เลือกนะ ดินไม่ดีมันก็ไม่อยู่”
จุดเริ่มต้นของการเกษตรต้องมีรากฐานมาจาก ‘ดินที่ดี’ สิ่งที่ชี้วัดได้ชัดเจนที่สุดคือ ‘ไส้เดือน’ เพราะมันทำให้ดินร่วนซุยและให้แร่ธาตุในดินอุดมสมบูรณ์ ปลูกต้นไม้งอกงาม แต่ถ้าดินไม่ดีไส้เดือนก็ไม่อยู่ และสภาพดินไม่เหมาะกับการเพาะปลูก
ฟาร์มลุงรีย์เลี้ยงไส้เดือน 4 สายพันธุ์หลัก ที่เข้ากับสภาพแวดล้อมบ้านเราได้ดี มีให้ประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างสายพันธุ์แอฟริกัน ใช้ผลิตปุ๋ยในสวน พันธุ์ลายเสือ เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง พันธุ์บลูเวิร์ม เมือกของมันเป็นฮอร์โมนให้กับพืช และพันธุ์ไทย ไว้เป็นเหยื่อตกปลา
เราถามต่อไปอีกว่า หากเปรียบลุงรีย์เป็นไส้เดือนอยากจะเป็นสายพันธุ์ไหน? เขาตอบอย่างมั่นใจว่า ‘พันธุ์ไทย’ เพราะมันรักอิสระ มันเลื้อยเป็นตัวเอส ไม่ชอบถูกกักขัง และอาศัยเองตามธรรมชาติ เหมือนกับงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง อาจจะมีเลี้ยวไปมาแต่ก็ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ รวมทั้งเชื่อมสิ่งมีชีวิตหลายอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งแมลง ต้นไม้ และคนเหมือนกับการทำฟาร์มที่ดึงคนรักการเกษตรมาเจอกัน เกิดคุณค่าทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีเมืองและฟาร์มเป็นที่ตั้ง
บทเรียนจาก ‘ไส้เดือน’ สู่ ‘ฟาร์มเพาะเห็ด’
หลังจากลุงรีย์เปิดเวิร์คชอป หนึ่งในคนที่เข้ามาศึกษาจนต่อยอดเป็นสมาชิกของฟาร์มลุงรีย์ นั่นคือ ‘พี่นัท-กิตติพงศ์ กีรติเตชะนันท์’ ที่ปลูกเห็ดสายพันธุ์มิลค์กี้ เพราะว่าชีวิตของมันเหมาะกับสภาพอากาศแบบไทย ซึ่งเป็นแบบอากาศแบบร้อนชื้นเลี้ยงดูง่าย ภายในห้องจิ๋วประมาณ 3×3 เมตร แต่ผลิตได้มากถึง 100 กิโลกรัม/เดือน ใช้เวลารวดเร็วเพียง 30 วัน โดยปกติอยู่ที่ 90 วัน
ด้วยความสงสัยเราจึงถามว่า พื้นที่เล็กขนาดนี้มีหลักการปลูกอย่างไร ? พี่นัทตอบว่าไม่มีอะไรพิเศษ ไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรม ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพียงแค่ศึกษาธรรมชาติของมันว่าอยู่อย่างไร ต้องการอุณหภูมิเท่าไหร่ ต้องการความชื้นประมาณไหนมันถึงชอบ สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงคือการปรับสภาพแวดล้อม โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะปลูกในพื้นที่จำกัด จึงต้องปรับบรรยากาศให้คล้ายกับสภาพแวดล้อมที่มันเคยอยู่เท่านั้นเอง
“เป้าหมายมีอยู่ 2 สิ่ง คือ
พาเห็ดป่าไทยสู่ระดับสากล ออกได้ทุกฤดูที่แรกของโลก
และ ส่งเห็ดมีคุณภาพให้ทุกคนได้กิน”
เคล็ดไม่ลับการปลูกเห็ดสไตล์พี่นัท อาศัยนวัตกรรมอยู่ 2 ข้อสำคัญ นั่นคือ
1.Simple Technology คือเทคโนโลยีพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต อธิบายให้เห็นภาพก็คือ สงสัยไหมว่าป่าไม้ทำไมถึงเติบโตได้ โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย รวมทั้งไม่มีของเน่าเสีย เพราะว่ามันมีซากพืชซากสัตว์ที่ทับสะสมกันเป็นปุ๋ยให้อยู่แล้ว และในระบบนิเวศมีห่วงโซ่อาหาร มีการจัดการของตัวมันเอง เช่น ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย
2.High Technology คือเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันใกล้ตัวเรา อินเทอร์เน็ตที่ใช้ในการควบคุมระบบต่างๆ อย่างการปรับระดับความเข้มข้นของแสงจากหลอดไฟ เพราะมันจะกำหนดรูปร่างของเห็ดได้ ซึ่งตามธรรมชาติเห็ดจะเลื้อยหาแสง ซึ่งในห้องจะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือสีม่วงกับสีขาว ถ้าอยากได้ก้านยาวต้องใช้แสงสีม่วง ส่วนก้านสั้นดอกใหญ่ต้องเป็นแสงสีขาว
นอกจากนี้พี่นัทยังมีโปรเจกต์อยู่ในระหว่างทดลองกับ ‘เห็ดฟาง’ ซึ่งเรียกว่า ‘เห็ดเปิดประตู’ สิ่งที่น่าสนใจไม่ได้ใช้วัสดุหายาก สั่งทำพิเศษเฉพาะตัว แต่กลับเป็นสิ่งของใกล้ตัวอย่าง ถังน้ำ นำมาเจาะรูรอบด้าน หากเวลาเห็ดเติบโตจนถึงเวลา ก็จะผลักประตูออกมาเอง ไม่ต้องรดน้ำ แค่รอเวลาที่เหมาะสม โดยโปรดักท์นี้ช่วยประหยัดพื้นที่ ไม่ต้องเสียเวลาดูแล เก็บเห็ดกินได้เลย
เมนูโฮมเมดสไตล์ลุงรีย์
จากดินที่ดีสามารถต่อยอดการเกษตรได้มากมาย อย่างการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงเปิดเป็นร้านอาหารโฮมเมดสไตล์ลุงรีย์ ‘Uncleree’s Mom Cook’ เช่นเมนู ‘Pizza Homemade’ โรยด้วยเห็ดแสนอร่อยจากฟาร์มพี่นัท และ ‘Korean Kimji Set’ ชุดกิมจิที่รวบรวมผักสีเขียวน่ากินจากดินลุงรีย์
ปัจจุบันนี้ ฟาร์มลุงรีย์ยังคงเปิดเวิร์คชอปอยู่เรื่อยๆ ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.00-12.00 น. หากใครสนใจอยากมีสวนผักเล็กๆ เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ‘ไมโครกรีน’ ปลูกผักระยะสั้นในพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น ต้นอ่อนถั่วลันเตา กระเจี๊ยบ และคะน้าอ่อน โดยใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน ก็มาลงเรียนกันได้โดยไม่ต้องมีพื้นฐานทางการเกษตร ก็สามารถปลูกกินที่บ้านได้สบาย
เขยิบมาอีกมุมสำหรับคนทำสวน ลุงรีย์ยังขายเมล็ดพันธุ์ ดิน ปุ๋ย ไส้เดือน หรือน้ำหมักจุลินทรีย์ขายแยกแบบรีฟิล โดยสามารถเตรียมภาชนะจากที่บ้านมาเติมไปได้เลย เพื่อลดการใช้พลาสติก และดึงดูดให้คนสามารถปลูกผักเป็นเรื่องง่ายที่ใครก็สามารถหาซื้อได้ง่าย ทำได้เลย
ล่าสุดฟาร์มลุงรีย์ยังมีอุปกรณ์รักสิ่งแวดล้อมอย่าง ‘Bio Trash’ ที่ทุกคนสามารถกำจัดเศษอาหารที่บ้านได้อย่างง่ายดาย แถมยังกลายเป็นปุ๋ยหมักใส่ต้นไม้ เหมาะสำหรับใช้ในครัวเรือนหรือร้านอาหารก็น่าสนใจ เพียงแค่นำเศษอาหารใส่กับตัวสตาร์ทเตอร์หมักไว้ประมาณ 45 วันก็นำมาใช้งานได้เลย
เป้าหมายฟาร์มลุงรีย์ 5.0
เราได้คุยกับ ‘ลุงรีย์ ชารีย์ บุญญวินิจ’ น่าสนใจเกี่ยวกับเป้าหมายของฟาร์มลุงรีย์ในอนาคต ซึ่งไม่ได้มองแค่การทำฟาร์มไปวันๆ แต่มองไกลไปถึงฟาร์มที่สามารถเลี้ยงดูได้ด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากไล่สเต็ปของเทคโนโลยีตั้งแต่
1.0 แบบฝีมือคนทำทั้งหมด
2.0 เริ่มมีเครื่องยนต์เข้ามาช่วยเบาแรง
3.0 เป็นระบบออโตเมชันใช้เครื่องจักรควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยต้องเข้าไปกดสั่งงาน
4.0 เป็นจุดเชื่อมอินเทอร์เน็ต โดยเข้าสู่ระบบออนไลน์และลิงก์ทุกอย่างเข้าหากัน สามารถสั่งงานจากที่ไหนก็ได้
จนมาถึงระดับ 5.0 คือจุดมุ่งหมายของฟาร์มลุงรีย์ที่เรียกว่า ‘ฟาร์มอัตโนมัติ’ โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของระบบ Ai สามารถทำงานได้เองอย่างอิสระ โดยไม่ต้องมีใครมากำกับ เช่น สามารถรดน้ำต้นไม้ได้เองเมื่อถึงเวลา มีตัวชี้วัดคอยสังเกตสวน หากรู้ว่าดินชื้นก็ออกคำสั่งลงมือได้เลย และสามารถควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนได้แบบเรียลไทม์
ปัจจุบันเทคโนโลยีฟาร์มลุงรีย์เดินมาถึงขั้น 4.0 เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ใช้ระบบอินเตอร์เน็ตเป็นตัวควบคุมในพื้นที่ โดยทุกขั้นตอนลุงรีย์ลงมือศึกษาด้วยตัวเอง ลุงรีย์บอกว่าก็เหมือนกับเลโก้ที่นำมาเชื่อมต่อทุกอย่างให้เป็นระบบ อย่างน้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหารสามารถนำมาใช้รดน้ำสวนผักได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่ทุกวันนี้ มาใช้อำนวยความสะดวกในการทำฟาร์มและช่วยประหยัดเวลา ผ่านแอปพลิเคชัน ‘iFarm’ ที่ลุงรีย์ออกแบบพัฒนาร่วมกับ AIS Digital for Thais เช่น กำหนดการเปิด-ปิดไฟ น้ำ หรือวัดอุณหภูมิในห้องเพาะเห็ดได้
“ฟาร์มในเมืองทำได้ ถ้าใจพร้อมลงมือทำ”
คำถามสุดท้ายเราถามลุงรีย์ว่า สิ่งสำคัญในการทำฟาร์มคืออะไร ลุงรีย์ตอบสั้นๆ แค่ว่าถ้าตั้งใจและลงมือทำ การทำฟาร์มไม่จำเป็นเลยว่าต้องมีร่องสวนขนาดใหญ่ หรือต้องรอให้พร้อมไปหมดซะทุกอย่าง เพราะกว่าฟาร์มลุงรีย์จะเป็นทุกวันนี้ก็ค่อยๆ ไปทีละสเต็ปเริ่มทำจากสิ่งที่ทำได้ใกล้ๆ ตัว และรู้จักปรับตัวให้เข้ากับบริบทของสิ่งแวดล้อม
ซึ่งลุงรีย์และพี่นัทก็เริ่มต้นจากคนที่ไม่รู้เรื่องเกษตรมาก่อน แต่ลงมือศึกษาเองเกิดการลองผิดลองถูก จนตกผลึกออกมาเป็นฟาร์มลุงรีย์ ที่ทุกวันนี้ต่อยอดเป็นมากกว่าฟาร์มเลี้ยงไส้เดือน แต่ได้สร้างเครือข่ายเกษตรกร ส่งต่อความรู้ให้กับคนสนใจเกษตรมามากกว่า 80 รุ่นหรือประมาณ 5,000 กว่าคนมาแล้ว หากใครสนใจอยากเรียนรู้ทำฟาร์มสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้เลยที่ Facebook : https://www.facebook.com/unclereefarm/