ร้านที่ ‘พก’ หนังสือและหนังไปหาคนดู - Urban Creature

ภาพทิวดอย ทุ่งนา และฟ้าใส ค่อยๆ เคลื่อนผ่านไปบนกระจกของรถยนต์ที่กำลังแล่นไปตามทางลดเลี้ยวเลียบสันดอยของจังหวัดเชียงราย

ที่นั่งด้านหลังถูกปรับให้กลายเป็นพื้นที่บรรทุกหนังสือจำนวนหลายเล่ม และเครื่องฉายภาพยนตร์คุณภาพเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้คือการพาหนังสือและหนังคุณภาพดีไปนำเสนอให้กับผู้คนในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

“พวกเราเชื่อว่าหนังที่ดี หนังสือที่ดี ทำงานกับหัวใจของผู้คนให้ไหวไปกับเนื้อหาที่ได้รับ และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นได้ แต่จะทำยังไงให้หนังที่ดีและหนังสือที่ดีไปถึงที่ผู้คนได้มากที่สุด วิธีการที่ดีที่สุดที่พวกเราคิดก็คือ การพกหนังที่ดีและหนังสือที่ดีไปหาผู้คน เราสองคนจึงเริ่มต้นทำ ‘พก’ ขึ้นมา”

พก คือชื่อร้านหนังสือและโรงหนังเคลื่อนที่ที่จะพกหนังสือและหนังคุณภาพพาไปสู่ผู้คนในวงกว้างทั่วทุกพื้นที่เท่าที่จะเป็นไปได้ของ ‘เป๊ก-ธวัชชัย ดวงนภา’ และ ‘ดา-สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ‘ คู่รักนักทำภาพยนตร์สารคดี ที่ตัดสินใจย้ายชีวิตจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่จังหวัดเชียงราย และเริ่มต้นทำโปรเจกต์ ‘พก’ ขึ้นมา

รถยนต์เดินทางมาถึงที่หมาย ณ สตรอเบอรี่สวนหลังบ้าน (Backyard Strawberry) ร้านคาเฟ่เล็กๆ ที่ตั้งอยู่หน้าไร่สตรอว์เบอร์รีและผักออร์แกนิกที่ปลูกเพื่อนำมาเสิร์ฟเป็นเมนูภายในร้าน

เป๊กและดาค่อยๆ ช่วยกันนำของที่พวกเขาพกมาลงจากรถ นำผ้าดำมาขึงรอบบริเวณใต้ถุนร้าน นำเก้าอี้มาวาง เอาจอมากาง และตั้งเครื่องฉาย ดัดแปลงพื้นที่ใต้ถุนให้กลายเป็นโรงหนังใต้ถุนเธียร์เตอร์ที่พร้อมฉายภาพยนตร์คุณภาพดีให้ผู้คนที่นี่

หลังจากนั้นพวกเขาก็ขนเอากระเป๋าลงจากรถและนำมาวางเปิดบนโต๊ะ ในกระเป๋าเต็มไปด้วยหนังสือจำนวนมากที่พวกเขาคัดสรรกันมาอย่างดี เท่านี้ ‘พก’ ก็พร้อมแล้วที่จะให้ผู้คนได้เข้ามาชมว่าพวกเขาได้พกพาเรื่องราวอะไรมาบ้าง

ขอเชิญก้าวเท้าตามเรามา และไปดูกันดีกว่าว่าเป๊กและดาได้พกเรื่องราวอะไรมากับพวกเขาบ้าง

พบปัญหาจึงต้อง ‘พก’

เป๊กและดาประกอบอาชีพนักทำภาพยนตร์สารคดี นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาที่เป็นประเด็นในสังคมมานานนับสิบปี การงานเช่นนี้ได้พาพวกเขาได้เดินทางไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พบเจอกับผู้คนและเรื่องราวน่าสนใจและน่าอดสูจำนวนมาก

“การทำงานสารคดีทำให้เราได้เดินทางไปในหลายที่ เจอผู้คนมากมาย นั่นทำให้เราเห็นทั้งปัญหาในสังคม รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาที่น่าสนใจจำนวนมาก ซึ่งเรานำมาเล่าผ่านผลงานสารคดี เพราะเราเชื่อว่าเรื่องเล่าที่ดีสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนที่เราเคยได้ชมภาพยนตร์ดีๆ สารคดีดีๆ หรือแม้แต่การได้อ่านหนังสือดีๆ ที่มันเข้ามากระทบหัวใจของเราและเปลี่ยนแปลงเราไปตลอดกาล”

ปัญหาก็คือจะทำยังไงให้ผู้คนได้มีโอกาสชมหนังดีๆ อ่านหนังสือดีๆ อย่างที่เป๊กพูด เพราะในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทยก็ไม่ได้มีโรงภาพยนตร์ มีร้านหนังสือที่คัดหนังสือดีๆ มาให้ผู้คนได้รับรู้

“วิธีแก้ปัญหานี้ที่เบสิกสุดๆ ที่เราคิดกันได้ก็คือ งั้นเราก็เอาหนังและหนังสือที่เราเชื่อว่าดีงามไปหาผู้คนเองเลยสิ เราสองคนเลยคิดทำ ‘พก’ กันขึ้นมา” เป๊กเริ่มต้นเล่าไอเดียการทำพกของเขากับดา

“ตอนที่เราย้ายมาอยู่ที่เชียงราย เราสองคนพยายามตามหาร้านหนังสืออิสระที่นี่ แต่ก็แทบไม่เจอเลย พวกเราได้เจอพี่ที่เคยทำร้านหนังสือแต่ก็เจ๊งไปเพราะขาดทุน เราเลยรู้สึกว่า ‘การอยู่กับที่’ อาจจะไม่ใช่ซะแล้ว เราสองคนเลยลองเปลี่ยนวิธีเป็นการ Active ดูสิว่าจะเป็นยังไงขึ้นมา

“เรารู้สึกว่าช่องทางมันควรมีมากกว่านี้รึเปล่านะ ในแง่ของการเข้าถึงของพื้นที่ต่างๆ ด้วย ไม่ใช่แค่โทรทัศน์กับออนไลน์แล้วก็จบ ก็เลยกลายเป็นว่า พกคือโมเดลที่พยายาม Active เพื่อไปหาคนอื่น เพื่อให้เขาเข้าถึง ไม่ใช่รอให้เขาเข้าถึงจากอะไรสักอย่าง” ดาเข้ามาช่วยเป๊กอธิบายแนวคิดการสร้าง ‘พก’ ของพวกเขา

พกความฝันไปต่อฝัน

“หนังทุกวันนี้ไม่ใช่แค่สิ่งที่ให้แต่ความบันเทิงอย่างเดียว แต่มันยังทำงานในด้านอื่นๆ กับตัวเรา ทั้งให้ความรู้ และเขย่าหัวใจของเราให้เปลี่ยนแปลงไป ถ้าสักวันหนึ่งหนังที่เราไปฉายแบบนี้แล้วเปลี่ยนชีวิตเด็กคนหนึ่งได้ แล้วเขาอยากลุกขึ้นมาทำหนังของเขา เราคิดว่าวันนั้นเราน่าจะฟินระดับหนึ่งเลยล่ะ”

นักทำภาพยนตร์สารคดีอย่างเป๊กเล่าถึงความฝันจนเราฝันตามว่า เราจะมีหนังสารคดีสารพัดรูปแบบให้ได้ดูกัน หรือถ้าเรานำหนังสารคดีเกี่ยวกับการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยในต่างประเทศไปให้พี่น้องชนกลุ่มน้อยในบ้านเราได้ดูว่ามันทำได้ เขาจะไม่รู้สึกเป็นพลเมืองชั้นสองอีกต่อไป เขาจะเห็นภาพและความเป็นไปได้และกล้าออกมาเรียกร้องสิทธิที่พวกเขาควรได้รับ

“หรืออาจมีเด็กบางคนได้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมมันพังขนาดนี้เลยเหรอจากสารคดีที่เราฉาย เพราะในห้องเรียนอาจไม่เคยสอนเขา พอเขาได้ดูหนังแล้วมันเปลี่ยนแปลงเขา ทำให้เขาลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงช่วยเหลือเรื่องสิ่งแวดล้อมบางอย่าง มันจะทรงพลังมากเลย

“หนังทุกเรื่องที่เราฉาย หนังสือทุกเล่มที่เราคัดมา เราเชื่อว่าคนได้ดู ได้อ่าน จะต้องหัวใจไหวไปกับเนื้อหาที่ได้รับ และเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเขา สิ่งเหล่านี้มันเป็นไปได้ แม้โอกาสจะไม่มาก แต่มันก็มีความเป็นไปได้อยู่ เราถึงคิดที่จะทำ ‘พก’ ขึ้นมา

“เรามีวิธีการเลือกหนังไปฉายตามที่ต่างๆ สองวิธี คือเราอยากช่วยฉายหนังของผู้กำกับที่เรารู้จัก กับเลือกหนังเพื่อให้เข้ากับพื้นที่ที่เราไป เราพยายามเลือกหนังหรือสารคดีที่สามารถทำงานกับผู้คนในพื้นที่ที่เราไปและมีประโยชน์ในการดำเนินตามวิถีชีวิตของเขาต่อ เราอยากเป็นโรงหนังที่ปรับตัวไปตามผู้คนและพื้นที่ที่เราไป

“ต่อให้มันเป็นสารคดีที่คนไทยอาจจะไม่นิยม แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตของเขา นั่นล่ะที่จะทำให้เขากล้าก้าวข้ามกำแพงแล้วลองเข้ามาดูหนังสารคดีที่เราเลือกมาฉาย แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเราพอใจแล้วที่ได้ทำแบบนี้ แม้จะมีคนเข้ามาน้อยก็ตาม” เป๊กพูดด้วยแววตาจริงจัง

เพราะเบาจึงพกได้สะดวก

“พวกเราสองคนไม่ใช่คนฐานะดีอะไร และเราทราบดีว่าหนังอย่างสารคดียังไม่ใช่ที่นิยมในบ้านของเรา พวกเราเคยคุยกันว่า ถ้าเราเอาภาพยนตร์สารคดีที่เราคิดว่าดีไปฉาย ต่อให้มีคนดูแค่คนเดียว แต่ถ้าหลังจากที่เขาชมเสร็จแล้วออกมาพร้อมกับความประทับใจบางอย่าง หรือเดินเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเราต่อ แค่นั้นก็โอเคสำหรับเรามากแล้ว

“เราทั้งคู่รู้ดีว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นมันไม่ง่าย แต่เราเชื่อว่ายังไงมันก็ต้องมี และต้องจังหวะนี้ที่พวกเรารู้สึกว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านบางอย่าง ในจังหวะเช่นนี้เราจะช่วยส่งข้อความบางอย่างผ่านงานสารคดี ภาพยนตร์ หรือหนังสือ อย่างไรได้บ้าง เพื่อช่วยให้ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้มันไปสู่ทางที่ดีมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่ามันต้องใช้เวลา แล้วจะทำยังไงให้ ‘พก’ อยู่ได้ในระยะยาว” 

สำหรับการชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ขนาดพกพาชื่อ ‘พก’ เป๊กกับดาตั้งใจเก็บตั๋วจากคนดูประมาณ 60 – 80 บาท ในทางหนึ่งพวกเขาไม่ได้คิดหากำไร แต่ก็ต้องการปลูกฝังว่าคนทำงานทุกคนต้องได้ค่าตอบแทน ไม่งั้นคนทำงานศิลปะจะอยู่ไม่ได้เลย และมันช่วยให้ศิลปินสร้างผลงานต่อได้

สำหรับหนังสือ ‘พก’ ก็จะขายราคาเต็มจากปก โดยนำ 5 เปอร์เซ็นต์จากราคาที่ขายได้ไปซื้อหนังสือให้ห้องสมุดต่างๆ ต่อไปด้วยเช่นกัน

“ส่วนด้านของพวกเรา เราสองคนย้ายมาอยู่ที่เชียงราย เมื่อคิดค่าใช้จ่ายขั้นต่ำสุดที่ทำให้เราพออยู่ได้ มันไม่ได้มากอะไรเลยเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ นอกจากนั้น เราก็ยังคงรับงานทำสารคดีอยู่เช่นเดิม ซึ่งงานของเราต้องเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ เราก็จะพกเอา ‘พก’ ไปกับเราด้วย และใช้งานหลักของเรามาช่วยจ่ายค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง พกจึงเดินทางไปกับเราได้ทุกที่

“เราพยายามทำให้มันเรียบง่ายที่สุด ถ้าพื้นที่ไหนที่อยากให้พกไปไม่มีโรงหนังหรือห้องสมุดก็ไม่เป็นไร เราสองคนคิดวิธีการไว้แล้ว เราพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นให้กลายเป็นโรงหนังเฉพาะกิจได้ เราพยายามทำให้พกมีความยืดหยุ่นมากที่สุดเพื่อให้เราไปได้หลายที่ และทำให้พกมีหนทางไปต่อ”

ถ้าถอดเรื่องธุรกิจออกให้หมด เรื่องของเงินไม่ใช่เนื้อหาหลักที่ทั้งสองต้องการ สำหรับอาชีพคนทำสารคดี พวกเขาไม่เคยรู้เลยว่างานของเขาไปปรากฏที่ไหนบ้าง แต่ ‘พก’ คือสิ่งที่ทั้งเป๊กและดาอยากได้ พวกเขาว่า พวกเขาอยากหาคุณค่าของการทำงาน จึงทำสิ่งนี้

“เราอยากเห็นผลตอบรับจากผู้คนตัวเป็นๆ หลังจากได้ดูสารคดี ภาพยนตร์ หรืออ่านหนังสือที่เราเลือก เราชอบมากเลยเวลาได้คอยสังเกตดูปฏิกิริยาของผู้คนที่ได้เข้าไปชมภาพยนตร์ที่เราเลือก ถ้าเขาเดินออกมาพร้อมกับความรู้สึกอะไรบางอย่าง แค่นั้นก็พอแล้วสำหรับเรา” เป๊กพูดด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.