เกาะรัตนโกสินทร์ใช่เพียงแต่เป็นศูนย์รวมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วมุมโลกมาเยี่ยมเยือน แต่เมืองเก่าแห่งนี้เป็นเมืองที่ยังมีชีวิต ประกอบด้วยบ้านเรือนและผู้คนในย่านต่างๆ รวมอยู่ด้วย และส่วนหนึ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านคือตลาดสด ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนทุกวันเสมอมา
‘ตลาดตรอกหม้อ’ เป็นตลาดที่ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ท่ามกลางย่านฮิตในเขตโอลด์ทาวน์ที่โอบล้อมอยู่ทั่วทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นสามแพร่ง เสาชิงช้า วังบูรพา หรือสามยอด ซึ่งวันนี้มีคาเฟ่รุ่นใหม่เกิดขึ้นในอาคารเก่าจำนวนมาก ตามกระแสเที่ยวเมืองเก่าที่ทำให้ย่านเหล่านี้คลาคล่ำไปด้วยคน
นอกจากความอันซีน ความพิเศษของตลาดแห่งนี้คือ เป็นตลาดสดที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด (หรือแห่งสุดท้าย) บนเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งยังคงทำหน้าที่เป็นที่ฝากท้องยามหิวให้กับคนท้องถิ่นและคนทำงานในหน่วยงานข้างเคียงอยู่ รวมถึงพ่อค้าร้านอาหารที่มีร้านอยู่รอบๆ ที่มาจับจ่ายซื้อหาของสดไปเป็นวัตถุดิบ
คอลัมน์ Neighboroot คราวนี้พาไปทำความรู้จักกับตลาดตรอกหม้อ ดูวิถีชีวิตของชาวบ้านร้านตลาดในย่านเมืองเก่า แวะพูดคุยกับคนในชุมชนราชบพิธพัฒนา ถึงความอบอุ่นของเด็กตลาดในวันวานและวันนี้ที่ไม่เคยจางหายไปจากซอยเทศา
‘ตรอกหม้อ’ ตลาดสดเก่าแก่ใจกลางพระนคร
นาฬิกาในโทรศัพท์ขึ้นเวลาว่าเกือบ 10 โมงแล้ว
นี่อาจไม่ใช่เวลาที่ควรจะเดินตลาดนัก โดยเฉพาะตลาดสดที่เริ่มเปิดแผงกันตั้งแต่แสงอาทิตย์ยังไม่ขึ้นมาสะท้อนผิวถนน สายป่านนี้จึงเป็นชั่วโมงท้ายๆ แล้วของกิจกรรมทุกเช้าของชาวบ้านย่านเมืองเก่าแห่งนี้
ขณะที่บางร้านเริ่มขนของกลับบ้าน เราเดินสวนเข้าตลาดเพราะนัดหมายกับเจ้าถิ่นที่ยินดีพาเดินและพูดคุยกับเหล่าผู้คนในตรอกหม้อ
‘พี่ริน-สุรินทร์ อมรชัชวาลกุล’ เป็นชาวตรอกหม้อแต่กำเนิด ถึงแม้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นนานหลายปีแล้ว แต่ยังมีคุณแม่และบ้านเก่าอยู่ ทำให้เขาแวะเวียนมาที่ตลาดแห่งนี้แทบทุกสัปดาห์
“แต่ก่อนตลาดไม่ถึงตรงนี้ ตลาดจริงๆ อยู่ทางนั้น”
บทสนทนาเริ่มต้นบริเวณปากตรอกหม้อหรือซอยเทศาฝั่งถนนราชบพิธ พี่รินชี้นิ้วไปสุดซอยแล้วเล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีพ่อค้าแม่ค้ากระจุกตัวอยู่บริเวณปากซอยฝั่งถนนบำรุงเมือง ใกล้กับตลาดเทศา ซึ่งเป็นตลาดเอกชนที่ทุบไปแล้ว ทว่าเมื่อนานวันเข้าจำนวนผู้ค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนล้นมาเต็มซอย และขยายไปตั้งแผงกันในซอยสุขา 1 ที่เชื่อมไปกระทรวงมหาดไทยได้ เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าที่เป็นข้าราชการ ดังที่เห็นในปัจจุบัน
แม้จะมีซอยแยกออกไปหลายทาง ทั้งซอยเทศา ซอยสุขา 1 และซอยสุขา 2 แต่พี่รินบอกว่า คนพื้นที่เคยชินกับการเรียกรวมๆ ตรงนี้ว่า ตรอกหม้อ
“ชื่อตรอกหม้อเกิดขึ้นมาได้ยังไงไม่รู้ แต่จริงๆ แล้ว ตลาดนี้ไม่ได้เรียกว่าตรอกหม้อ เรียกว่าตลาดเทศา ส่วนตรอกหม้อคือเอาตลาดมารวมกับชื่อพื้นที่” ชายเจ้าของพื้นที่เล่าพร้อมกับพาเดินเข้าไปในซอย
ท่ามกลางผู้คนเบียดเสียด สองข้างทางเรียงรายไปด้วยสารพัดสินค้าแบกะดิน หากต้องอธิบายให้กับคนที่ไม่เคยมา นี่คือบรรยากาศเหมือนเดินตลาดเช้าในต่างจังหวัดอย่างไรอย่างนั้น
“คุณจะเห็นว่าตลาดในกรุงเทพฯ ปัจจุบันแทบไม่มีแบกะดินแล้ว ยิ่งตรงนี้เป็นใจกลางกรุงเทพฯ หรือเรียกว่าเป็นสะดือเลยแหละ” เขาเล่ายิ้มๆ ถึงความพิเศษของตลาดแห่งนี้
ตลาดตรอกหม้อมีของขายละลานตา ทั้งของสดตั้งแต่หมูเห็ดเป็ดไก่ไปจนถึงปลาตัวเขื่องที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นในเมืองเก่ากรุงเทพฯ ยิ่งผักผลไม้ไม่ต้องพูดถึง ที่นี่มีอยู่หลายร้าน
ขณะที่อาหารแปรรูปและปรุงสุกถือเป็นของขึ้นชื่อจนหลายคนต้องดั้นด้นตื่นเช้ามาซื้อ อย่างบ๊ะจ่างสดที่ขายเฉพาะวันพุธ เผือกทอดแม่น้อยที่ติดภาพลูกค้านักการเมืองคนดังหลายคน หรือหมูแดงย่างเตาถ่านแบบโบราณหากินยาก ฯลฯ
ยังไม่หมดเท่านั้น อีกความหลากหลายทางอาหารของตรอกหม้อในมุมมองของเรา ยังเห็นได้จากการมีอาหารเหนือ อาหารอิสลาม อาหารเจ มังสวิรัติ ฯลฯ เป็นทางเลือกให้เลือกหากันตามชอบ ไม่ผิดนักที่เราเคยเห็นผ่านตาว่า มีคนเคยขนานนามให้ที่นี่เป็น ‘ความมั่นคงทางอาหารแห่งสุดท้ายในเกาะรัตนโกสินทร์’
“ร้านเก่าหายไปเยอะ อย่างแม่ผมก็ไม่ทำแล้ว เมื่อก่อนผมขายซาลาเปา บ๊ะจ่าง เป็นของอร่อยแถวนี้แหละ แต่เลิกทำมาสามสิบปีแล้ว ขายตั้งแต่เด็ก เท่าที่จำความได้” ทายาทร้านซาลาเปาอย่างพี่รินเล่าถึงบรรดาร้านเก่าที่ปัจจุบันงับประตูพับแผงเลิกกิจการไปแล้วหลายบ้าน นอกจากร้านของตัวเองแล้ว ยังมีร้านในดวงใจของเขาอีกหลายร้านที่วันนี้ปิดไป เช่น
ร้านข้าวแกงในซอยสุขา 1 ที่เจ้าตัวยกนิ้วให้ พร้อมการันตีว่า “โคตรอร่อย”, ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตรงสี่แยกของตลาด จุดนัดพบของวัยรุ่นยุคเก่า, ร้านรังนกตอกไข่ใส่ถ้วยในความทรงจำ และร้านกาแฟที่วันนี้เหลือเพียงตู้เก่าแขวนอยู่ด้านในบ้าน
“สมัยก่อนตลาดไม่เคยปิด ยี่สิบสี่ชั่วโมงคึกคักตลอด แผงหมูมาตีหนึ่ง คนแถวนี้ขายของขายก๋วยเตี๋ยวถึงเที่ยงคืน เวลามันซ้อนกัน” พี่รินเล่าถึงบรรยากาศในวันเก่าที่จะมีเวลาว่างของถนนแค่ช่วงบ่ายหลังตลาดวาย ให้เด็กตลาดได้ปิดถนนเล่นฟุตบอลกัน
หนึ่งในร้านเก่าแก่คู่ตรอกหม้อที่เรามีโอกาสได้ชิมคือขนมหวานร้านป้าเอื้อม ขนมไทยในหาบเร่แบบโบราณ โดย ‘ป้าเอื้อม’ ขายมาตั้งแต่รุ่นแม่ ก่อนรับช่วงต่อขายเอง รวมแล้วกว่า 50 ปี
“มีข้าวเหนียว ถั่วแปบ เปียกปูน เปลี่ยนทุกวัน ถึงหน้าทุเรียนก็ขายข้าวเหนียวทุเรียน ถึงหน้าลำไยก็ขายข้าวเหนียวเปียกลำไย” ป้าเอื้อมพูดจาฉะฉาน พร้อมกับตักข้าวเหนียวใส่ใบตองอย่างขะมักเขม้น โดยมีลูกค้านั่งออรอขนมที่สั่งเต็มหน้าร้าน เป็นเครื่องยืนยันความอร่อย
สักประเดี๋ยวจึงถึงคิวเรา ป้าเอื้อมยื่นข้าวเหนียวสังขยาราดน้ำกะทิคำโต รสชาติไม่หวานมาก ทำให้อดถามไม่ได้ถึงสูตรเด็ดที่มัดใจลูกค้าทุกเพศทุกวัย ซึ่งสูตรของร้านก็ไม่มีอะไรมาก เพราะแม่ค้าขนมหวานตอบว่า “คนเขาติดป้าโดยธรรมชาติ” พร้อมหัวเราะร่วน ก่อนหันไปรับออเดอร์คิวถัดไป
ทุกเช้ายกเว้นวันจันทร์ ป้าเอื้อมจะหาบขนมขึ้นรถจากวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร ในฝั่งธนฯ ข้ามน้ำมาขายที่ตลาดตรอกหม้อ ย่านพระนคร ช่วงเวลาประมาณ 8 – 9 โมง ลองมาชิมขนมเจ้าเก่าของตลาดตรอกหม้อนี้กันได้
อีกเสน่ห์ที่ทำให้ตลาดตรอกหม้อน่ารักน่ามาเดินคือความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน ที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย รู้จักกันคล้ายกับเป็นญาติพี่น้องกันทั้งตลาด และยินดีต้อนรับลูกค้าทั้งหน้าเก่าและใหม่
ระหว่างที่พี่รินพาเราเดิน ก็มีคนเข้ามาทักทายอยู่ไม่ขาดตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอย ทำให้การเดินตลาดเช้าในยามสายที่อากาศเริ่มร้อนแสบผิวนี้อุณหภูมิลดลงไปได้บ้าง และชวนให้รู้สึกอบอุ่นใจไม่น้อย
ระหว่างทางเราบังเอิญเจอกับ ‘อี๊กนกวรรณ’ วัย 76 ปี อยู่หน้าบ้าน พี่รินพาเข้าไปทักทายพร้อมแนะนำว่า คนนี้คือปูชนียบุคคลของชาวตรอกหม้อ ถึงไม่ใช่ญาติแต่ก็นับถือกันเหมือนญาติ“แถวนี้เปลี่ยนไปมากเลย เมื่อก่อนการค้ามีแค่ซอยครึ่งหนึ่ง ขายหมู ขายปู ขายไก่ เสร็จแล้วเขาก็รื้อ พอสร้างตลาดเสร็จ ไปไม่รอดก็รื้อทิ้งสร้างเป็นตึก พอตลาดมีคนมาขายเยอะก็ล้นไปเรื่อยๆ” อี๊เล่าประวัติฉบับย่อของตรอกหม้อ ก่อนขอตัว แล้วค่อยๆ ปั่นจักรยานคู่ใจเข้าไปในตลาด
อีกคนที่เราเจอคือ ‘พี่ภุชงค์’ และพี่น้องอย่าง ‘พี่เกิน’ และ ‘พี่อ้อม’ ชาวตรอกหม้อที่เติบโตมาในตลาดไล่เลี่ยกับพี่ริน ครอบครัวทำการค้าในตึกแถวหลายห้องบริเวณปากตรอกฝั่งเสาชิงช้ามานานหลายรุ่น
“ตลาดตรงนี้มีมานานแล้ว คนที่อยู่บ้านเขาก็ออกมาขายกัน บางคนบ้านว่าง คนจากที่อื่นก็มาขาย แต่ที่นี่อาหารหลากหลายและค่อนข้างดี ราคาไม่สูงเกินไป” พี่เกินพูดถึงตลาดและบ้านของเธอที่แผงด้านหน้าตลาดเทศาเก่า ซึ่งทุบทำเป็นอาคารพาณิชย์นานมากแล้ว
“แถวนี้มีอะไรช่วยเหลือกันหมด ไม่ทิ้งกัน เป็นเหมือนญาติพี่น้อง ตอนเด็กก็ไปดูทีวีบ้านนู้นบ้านนี้ โดดหนังยางกัน” พี่อ้อมช่วยเสริม “เวลาฝรั่งมา พี่จะเอาช้อนมาให้เขาตักชิม ไม่คิดเงิน เขาไม่ต้องซื้อหรอก เรารู้ว่าเขาแค่อยากจะชิม พี่ก็จะให้เขาตลอดนะ กระทั่งช่วงโควิดก็หายไป นี่ก็เริ่มกลับมาแล้ว”
ขณะที่ข้อมูลจากพี่ภุชงค์ทำให้เราทราบว่า จริงๆ แล้วบางร้านค้าในตลาดตรอกหม้อไม่ได้มาทุกวัน เพราะบางช่วงบางโซนของตลาดมีลักษณะเหมือนตลาดนัด ที่หากวันไหนร้านไม่มาขายก็จะมีร้านอื่นมาตั้งแผงแทน โดยเฉพาะโซนที่อยู่ใกล้กับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมักจะขายของกินง่ายๆ เสื้อผ้า และเครื่องใช้ เข้ากับไลฟ์สไตล์คนทำงาน
“แต่ละวันจะมีร้านมาขายไม่เหมือนกัน ร้านแต่ละร้านก็เวียนกันไป บางวันร้านของกินเขาก็อยู่จุดนี้วันหนึ่ง จุดนั้นวันหนึ่ง วันนี้ไม่มาแผงตรงนั้นก็มีคนอื่นเช่า เป็นเหมือนตลาดนัดแค่ไม่กี่ชั่วโมง” พี่ภุชงค์เสริมข้อมูล
ซอยเทศาในวันที่ย่านเพื่อนบ้านรอบข้างทยอยเปลี่ยนแปลง
อย่างที่เห็นกัน บรรยากาศในเกาะรัตนโกสินทร์ทุกวันนี้เปลี่ยนไปเยอะ จุดเช็กอินใหม่ๆ และร้านค้าคาเฟ่เพิ่มเติมเข้ามามากขึ้น ขณะที่ส่วนราชการและชาวบ้านเก่าแก่ก็ทยอยย้ายออกไป
เมื่อประชากรเปลี่ยนหน้า นั่นส่งผลให้ผู้บริโภคหลักของตลาดหายไปด้วย ตลาดสดเอกชนหลายแห่งที่มีอยู่ทั่วเกาะจึงต่างค่อยๆ ปิดตัวลง แล้วแปรสภาพพื้นที่ไปทำประโยชน์มากขึ้น เช่น ลานจอดรถที่เก็บค่าเช่ารถได้มากกว่าค่าเช่าแผงขายของ หรือคอมมูนิตี้มอลล์โฉมใหม่ชวนเดินที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกระเป๋าหนัก
การพัฒนาไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่เปลือกของพื้นที่ แต่ยังลงลึกไปถึงเนื้อตัวและลมหายใจของย่านด้วย
“บรรยากาศแบบนี้ไม่มีแล้ว ละแวกนี้เคยมีศาลเจ้าพ่อเสือเป็นลักษณะเหมือนตลาดเทศา ตลาดบ้านหม้อก็หายไปหมดแล้ว สวนมะลิก็ทุบทิ้งหาย นางเลิ้งก็ไม่คึกคักแบบนี้ เพราะไม่มีอาหารสดขาย” พี่รินเล่า
ตลาดตรอกหม้ออาจเป็นหนึ่งในตลาดสดแห่งท้ายๆ ที่ยังมีลมหายใจอยู่ และคงสภาพเดิมอยู่มากในเกาะรัตนโกสินทร์ ชาวชุมชนดั้งเดิมยังคงอาศัยอยู่กันตามปกติ แถมยังไม่มีกลุ่มทุนใหญ่มากว้านซื้อแล้วไล่รื้อ ทำให้หน้าตาของย่านนี้แทบไม่ผิดจากเดิม
“ตรงนี้ยังเหมือนเดิมทุกอย่างยันพื้น ภาพจำไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ประตูไม้เฟี้ยมทุกบานก็ยังเป็นแบบนี้อยู่”
ไม่เพียงแต่มาเดินตลาดสดแล้วได้หิ้วของอร่อยกลับบ้าน สิ่งที่เป็นกำไรกลับไปสำหรับคนชอบดูงานสถาปัตยกรรมคืออาคารเก่าหลายห้องที่อยู่ในซอยเทศา ซึ่งมีร่องรอยของกาลเวลาซุกซ่อนอยู่ ชวนลอบมองสอดส่องถึงความคลาสสิก หลายบ้านยังใช้ประตูบานเฟี้ยมแบบโบราณอยู่ และที่น่าตื่นตาคือ ยังมีประตูตะเกียบ ประตูลูกกรงไม้รุ่นเก่าในร้านชำที่แทบหาดูได้ยากแล้วในวันนี้
ด้วยความที่ตลาดตรอกหม้อเป็นประหนึ่งตลาดลับของคนนอกพื้นที่ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปเท่าไรนัก ลูกค้าจึงเป็นคนในละแวกนั้นเสียส่วนใหญ่ที่มาซื้อหาของกินของใช้ประจำวัน
พี่รินจึงทำหน้าที่อีกบทบาทหนึ่งคือ เป็นเจ้าของเพจ ‘ตรอกหม้อ ตลาดเก่าแก่กลางกรุงเทพ’ ที่ทำคอนเทนต์ประชาสัมพันธ์ตลาดสดแห่งนี้ให้กับบุคคลภายนอกให้รู้จักมากขึ้นมาหลายปีแล้ว
“เราทำเพจเพราะอยากให้บ้านเราคึกคักขึ้น” พี่รินสวมหมวกเจ้าของเพจเพิ่ม แล้วเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างเพจ “เรารู้สึกว่าตลาดมันซบเซาๆ เลยเปิดเพจทิ้งไว้เฉยๆ คอนเทนต์คือเดินเข้ามาแล้วก็ถ่ายรูปลง ไม่ได้ใส่ใจเยอะ แค่อยากทำให้พอคึกคักนิดหน่อย”
วันนี้มีคนแวะเวียนมาที่ตลาดแห่งนี้มากขึ้น และเท่าที่เห็นยังมีชาวต่างชาติที่เข้ามาสัมผัสบรรยากาศตลาดเช้าแห่งนี้กันอยู่เนืองๆ
ตลาดตรอกหม้อเริ่มเปิดร้านกันตั้งแต่ตี 5 ถึง 6 โมง และเริ่มวายในช่วงเที่ยงของทุกวัน โดยจะคึกคักเป็นพิเศษในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
จนเวลาถึงเพล รู้ตัวอีกทีร้านค้ารอบข้างก็เริ่มทยอยเก็บแผง จากคนหนาตาค่อยๆ บางลง บางร้านเริ่มเก็บกวาด ฉีดน้ำทำความสะอาด เราลาตรอกหม้อด้วยความอิ่มท้องและอิ่มใจ พร้อมหอบข้าวของแสนอร่อยกลับไปอีกหลายอย่าง
อาจกล่าวได้ว่า ตลาดเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดชุมชน เพราะการแลกเปลี่ยนสินค้าและอาหาร ย่อมนำพาผู้คนจากต่างที่มาปฏิสัมพันธ์กัน จนก่อร่างสร้างเป็นชุมชนเมืองที่ประกอบด้วยบ้านและย่านตามมา
ตลาดตรอกหม้อในวันนี้จึงเหมาะเป็นอีกจุดหมายหนึ่ง สำหรับผู้ที่กำลังมองหาความคลาสสิกดั้งเดิมของชุมชนในเมืองเก่า ในวันที่ตลาดสดในเมืองหลวงเริ่มลดความสำคัญลงเรื่อยๆ เพื่อทำความรู้จัก ‘เมือง’ ให้มากขึ้น ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าแม่ค้าในย่าน ก่อนที่การเปิดแผงขายในตลาดแบบนี้จะเหลือเพียงภาพถ่ายและเรื่องเล่าในโลกดิจิทัล