‘ขยะจะมีคุณค่า ถ้าเริ่มแยกให้เป็น และทิ้งให้ถูกถัง ’
เชื่อว่าทุกคนต่างเคยเรียนเกี่ยวกับหลักการแยกขยะตั้งแต่เด็ก หรือกระบวนการการ 3Rs ซึ่งได้แก่ Reduce, Reuse และ Recycle ที่จำได้ขึ้นใจ ขั้นตอนเหล่านี้หากเปรียบก็คงเหมือนกับการเจียระไนหินให้กลายเป็นเพชรล้ำค่า หรือการเปลี่ยนขยะที่ไม่ใช้แล้วให้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อีกครั้ง แต่ก่อนจะถึงจุดหมายปลายทางที่หวัง ก็ต้องผ่านจุดสตาร์ตที่ชื่อว่า ‘การคัดแยกขยะ’ ที่ถูกต้องเสียก่อน เพราะเป็นสถานีต้นทางที่จะนำไปแปรรูปเป็นสิ่งใหม่
เอสซีจี เป็นองค์กรหนึ่งที่ต้องการผลักดันหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่ชุมชน ผ่านการจัดการขยะ ตั้งแต่การคัดแยกขยะไปจนถึงรีไซเคิล เพื่อลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบ เพิ่มปริมาณการรีไซเคิล และเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยได้เปิดตัวโมเดลการจัดการขยะผ่านความร่วมมือกับ จ.ระยอง ในโครงการ ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ ที่จะเปลี่ยนความคิดชาวบ้านเรื่องขยะที่ถูกมองว่าไร้ค่า ให้กลับมามีมูลค่าจนทุกคนต้องหันมาใส่ใจ
| เริ่มต้น เริ่มจากตัวเอง
จุดประสงค์ของโครงการ ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ คือต้องการให้ชาวบ้านรู้จักการแยกขยะให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง และสร้างผู้นำทางความคิดที่เข้มแข็ง โดยผ่านการทดลองและเรียนรู้หลายอย่างจนเกิดเป็นโมเดลต้นแบบนี้ขึ้นมา จากคำพูดที่น่าสนใจของ ‘คุณศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ’ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ที่บอกว่า
“ก่อนจะจูงใจให้ทุกคนสนใจ
เราต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ถึงจะเป็นต้นแบบให้คนอื่นได้ ”
เอสซีจีเริ่มต้นจากการทำ ‘บางซื่อโมเดล’ โครงการแยกขยะในเอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ ที่พนักงานทุกคนต้องมีส่วนร่วม อย่างผู้บริหารเองก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการทิ้งขยะให้ถูกที่ เพื่อสร้างค่านิยมใหม่ให้พนักงานแยกสิ่งของไม่ใช้แล้วให้ถูกประเภท คุณศักดิ์ชัยเล่าว่าถึงแม้ว่าช่วงแรก พนักงานจะมีงงบ้าง แต่สักพักก็จะคุ้นชินกันไปเอง
จึงเกิดการถอดบทเรียนจากสิ่งนี้ต่อยอดมาใช้กับชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชุมชนบ้านรางพลับ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ที่เน้นการลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบจนขยะเหลือศูนย์ แล้วนำมาสานต่อสู่โครงการ ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ ที่ชุมชนเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยเล็กไปถึงระดับใหญ่ ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน และธนาคารขยะ
| เริ่มจากหน่วยเล็ก ปลูกฝังให้รักการแยกขยะ
การปลูกฝังเรื่องการคัดแยกขยะสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเด็กจะได้เรียนรู้และทำจนติดเป็นนิสัย อย่าง ‘โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42’ โรงเรียนขนาดเล็กที่สอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา ซึ่งต้องการผลักดัน เรื่องนี้ให้เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันมากขึ้น
โดยเริ่มจากขยะใกล้ตัวอย่าง ‘ถุงนม’ โดยปกติมีประมาณ 400 ถุง/วัน ที่ต้องทิ้งจำนวนมาก ทางโรงเรียนจึงสอนให้เด็กนำถุงนมไปตัดและล้างให้สะอาดแล้วนำไปตากแห้งในทุกเช้า เพื่อนำส่วนหนึ่งไปขายให้ธนาคารขยะเปลี่ยนเป็นทุน และส่วนที่เหลือนำมาเป็นสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ เช่น หมวก เก้าอี้ รวมทั้งส่งให้เอสซีจีสร้างเป็นเก้าอี้พลาสติกให้น้องๆ ช่วยเพิ่มสีสันในห้องเรียน
ระหว่างโรงเรียนสาธิตการคัดแยกขยะ เราก็เจอแก๊งตัวจิ๋วแสนซุกซน เลยทำทีขอชวนคุยว่าชอบกิจกรรมไหนมากที่สุด ทุกคนตอบเสียงดังฟังชัดว่า ‘แปลงเพาะปลูก’ เพราะสามารถวิ่งเล่นกับเพื่อน ปั่นจักรยานรดน้ำต้นไม้ และยังออกกำลังกายลดความอ้วนอีกทางหนึ่งด้วย แถมน้องยังเล่าต่ออีกว่าปกติ โรงเรียนจะนำเศษอาหาร ในมื้อกลางวันมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ ไว้รดน้ำผักสวนครัวที่ปลูกเอาไว้ แล้วแม่บ้านจะเก็บผักจากสวน มาทำอาหารให้กินกัน รวมทั้งเป็นอาหารให้เป็ดกินจนอิ่มท้องอีกด้วย
นอกจากนี้โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 ยังมีโครงการลดขยะมากมาย อย่างลดการใช้โฟม และกระดาษ หันมาใช้เทคโนโลยีทดแทนมากขึ้น เช่น แอปพลิเคชัน Plickers ไว้ใช้เช็กชื่อ และเลือกตั้งในโรงเรียน ทั้งยังสนับสนุนให้นักเรียนนำปิ่นโต และแก้วน้ำมาใช้
| เริ่มคนละไม้คนละมือ เปลี่ยนความเคยชินเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
เขยิบจากหน่วยเล็กมาสู่ระดับผู้ใหญ่ใน ‘วัดโขดหิน’ ศูนย์กลางสำคัญอีกสถานที่หนึ่ง ที่ชุมชนมักจะแวะเวียนไปอยู่เป็นประจำ เรามีโอกาสได้ฟัง พระมหานักรบ อคฺคธมฺโม เจ้าอาวาสวัดโขดหิน เล่าถึงปัญหาของวัด ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนคาดไม่ถึง อย่างการทำบุญตักบาตรในทุกเช้า ที่นอกจากจะได้รับบริจาคอาหารจากญาติโยมเป็นจำนวนมากจนเกินพอดี แถมต้องเหลือทิ้งกลายเป็นของเน่าเสีย
รวมไปถึงถุงพลาสติกจำนวนมาก ที่ถ้าช่วยกันจัดการจะนำไปสร้างประโยชน์ต่อได้ โดยเอสซีจีได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยวัดโขดหินในเรื่องการจัดการขยะ เพียงปรับพฤติกรรมเล็กน้อย แต่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีต่อทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย
พระอาจารย์ยังเล่าถึงวิธีจัดระเบียบความเรียบร้อยภายในวัด ด้วยหลักการ ‘5ส’
1. สะสาง
: การแยกขยะที่ไม่ต้องการและไม่จำเป็นทิ้งออกไป
2.
สะดวก : การจัดสิ่งของให้เป็นระเบียบเป็นหมวดหมู่
เพื่อสะดวกในการหยิบจับใช้งาน
3.
สะอาด : การทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ให้น่าใช้อยู่เสมอ
4.
สุขลักษณะ : สร้างกิจวัตรประจำวันในการกินและที่อยู่อาศัยให้สะอาด
ไม่ว่าจะเป็น อาหาร เครื่องใช้ และสิ่งแวดล้อม
5.
สร้างนิสัย : การปลูกฝังความรู้
สร้างความเข้าใจ และสร้างนิสัยให้เป็นกิจวัตรประจำวัน
สิ่งเหล่านี้นำมาปรับใช้ในวัดจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันในทุกวันนี้ หากใครมาทำบุญที่วัดจะมีช่องแยกขยะ แบ่งประเภทไว้ชัดเจน เช่น ถุงพลาสติก และขวดน้ำรวบรวมไปขายที่ธนาคารขยะ รายได้นำไปเป็นทุนการศึกษาให้กับสามเณรและนักเรียน ส่วนอาหารที่ชาวบ้านนำมาถวาย ส่วนหนึ่งทางวัดบริจาคเป็นทานให้คนทั่วไป และหากมีเศษเหลือทิ้งก็จะนำไปเป็นอาหารสัตว์ของสุนัข หมู และเป็ด นอกจากนี้เศษขยะใบไม้ที่ร่วงจากต้นทุกวันก็นำมาเก็บที่เสวียนไว้ทำปุ๋ยชั้นดีกลับคืนสู่ธรรมชาติ
“ทุกวันนี้ ขยะ เหมือนไม่ใช่ ขยะ ”
เราได้ฟังมุมมองของตัวแทนชาวบ้านโขดหิน หลังจากได้นำหลักการจัดการขยะมาใช้ในวัด พวกเขาเล่าว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเรื่อง ‘ความสะอาด’ เป็นระเบียบมากกว่าแต่ก่อน เพราะเดิมวัดมีข้าวของรกเต็มพื้นที่ไปหมด พอมีหลักการคัดแยกขยะเข้ามาเป็นตัวชี้นำ จึงช่วยจัดการให้ทุกคนรักษาระเบียบวินัยให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น รวมถึงเมื่อเอสซีจีให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะ ทำให้เห็นภาพรวมของเส้นทางขยะเหล่านี้ เช่น สิ่งของแต่ละประเภทควรทิ้งตรงไหน สามารถนำไปทำอะไรต่อได้บ้าง ทุกคนจึงเริ่มมองว่าขยะสามารถแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งมีค่าได้ และยังสร้างรายได้ให้กับตนเองได้อีกทางด้วย
| เปลี่ยนนิยามจากขยะไร้ค่า ให้มีความหมายต่อทุกคน
ทั้งโรงเรียนและวัดจะนำขยะที่ไม่ใช้แล้ว เช่น ถุงพลาสติก ถุงนม และขวดน้ำ มาขายต่อที่ ‘ธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่’ แหล่งรับซื้อขยะของชุมชน ซึ่งไม่จำกัดเกณฑ์ขั้นต่ำของปริมาณขยะที่นำมาฝาก ที่สำคัญสามารถถอนเป็นเงินได้อีกด้วย โดยธนาคารขยะแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2554 จากจิตอาสาในชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะจนถึงการนำไปขายให้เกิดกำไร
รอบข้างธนาคารขยะส่วนมากเป็นบ้านจัดสรร มีสมาชิกกว่า 2000 ครัวเรือน โดยคนที่เข้าร่วมมีตั้งแต่วัยจิ๋วไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถนำขยะใกล้ตัวมาขายได้ เช่น ถุงพลาสติก ถุงนม กระป๋องนม และขวดแก้ว รวบรวมปริมาณให้มากเพื่อนำไปขายต่อให้แหล่งรับซื้อขยะรายใหญ่ นอกจากนี้บางส่วนของขยะก็ได้นำมาชุบชีวิตใหม่เป็นสิ่งของที่ใช้งานได้จริง อย่างหลังคาธนาคารขยะซึ่งทำมาจากกล่องนม ข้อดีคือนอกจากประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเก็บเสียงตอนฝนตกได้ดีอีกด้วย
สิ่งที่น่าสนใจของธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่แห่งนี้ คือแอปพลิเคชัน ‘คุ้มค่า’ (Koomkah) ที่พัฒนาโดยธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เพียงแค่มีชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของเราก็สามารถล็อกอิน เพื่อทำการฝาก-ถอนขยะได้แสนง่าย ไม่ต้องมาคอยกังวลว่าจะทำสมุดบัญชีหาย แถมลดการใช้กระดาษไปในตัว โดยเจ้าแอปฯ นี้ช่วยในการบริหารงานของธนาคารขยะให้สะดวกและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ทำหน้าที่เป็นเหมือนเลขาฯ ทั้งคอยจดจำประวัติข้อมูลของผู้ที่มาฝากขยะ เช่น ฝากประเภทไหนบ้าง ปริมาณที่นำมาฝาก และขายได้จำนวนเท่าไหร่ ทุกอย่างจะรายงานบอกทางมือถือทั้งหมด และเป็นข้อมูลเก็บไปพัฒนาต่อในภายภาคหน้าได้
ทั้งนี้ผลตอบแทนจากการขายสิ่งของเหลือใช้ในแต่ละชุมชนมีรูปแบบไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่คุยกันเองภายในชุมชนนั้น ๆ เช่น บางชุมชนแลกเป็นเงิน บางชุมชนเป็นแต้มสะสมเพื่อนำไปแลกเป็นสิ่งของ รวมทั้งเป็นเบี้ยประกันชีวิตหรือเป็นเงินค่าฌาปนกิจศพในยามบั้นปลายชีวิตก็มีไว้สำรอง
ไม่แปลกใจเลยที่ชาวระยองจะจริงจังเรื่องการคัดแยกขยะ จากเดิมที่หลายคนมองว่าเศษขยะนั้นไม่มีคุณค่า แต่หากได้มารู้ว่าขยะทุกชิ้นล้วนสามารถนำไปชุบชีวิตเป็นของสิ่งใหม่ และสร้างรายได้เสริมได้ เพียงแค่ต้องอาศัยการให้ความรู้ความเข้าใจ และร่วมมือร่วมใจในการจัดการขยะด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวเองไปจนถึงระดับชุมชน สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแยกขยะ โดยใช้เวลาเพียงนิดเดียวแต่ได้สร้างจุดเปลี่ยนที่เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ต่อทุกคนและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
Content Writer: Jarujan L.
Photographer: Janenarong S.
Graphic Designer: Vachara P.