คลองต้องดี เมืองถึงจะดี ฟื้นคลองกับ ธนบุรีมีคลอง - Urban Creature

ธนบุรี มี คลอง คือกลุ่มคนที่ยังเชื่อในคุณค่าของ ‘คลอง’ และกำลังลงหัวใจฟื้นฟูคลองฝั่งธนบุรีให้กลับมามีความสำคัญและมีชีวิตชีวาเหมือนก่อน การสัมภาษณ์ครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งที่เราอิ่มใจอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ใช่แค่ ธนบุรี มี คลอง หรอกที่ใกล้ชิดกับสายคลอง แต่เราก็เป็นอีกหนึ่งคนที่บ้านอยู่ติดคลองเช่นกัน

ตูม กระโดดลงคลองให้ผืนน้ำแตกกระจาย ตามมาด้วย ตูมที่สองซึ่งเป็นเสียงจากพวงมะพร้าวแห้งที่โยนลงมาจากฝั่ง เราเริ่มฝึกว่ายน้ำมาอย่างนั้น ตามประสาเด็กที่บ้านติดคลอง พร้อมกับแก๊งเพื่อนเล่นน้ำอีกหลายชีวิต คลองยังเป็นเหมือนที่พักใจ เวลาที่เราอยากนั่งคิดอะไรเรื่อยเปื่อย สะพานริมคลองเล็กๆ ที่พ่อตอกไว้ จะถูกใช้งานเสมอ ที่ตอนนี้บางวัน เรายังคงไปนั่งเล่นที่สะพานไม้อยู่ ถึงแม้มันจะผุพังจนซ่อมแล้วซ่อมอีกก็ตาม

เราเล่าความทรงจำ และความผูกพันกับวิถีริมคลองให้ ธนบุรี มี คลอง ฟัง ซึ่งสมาชิกในทีมมี

คุณคุ้ง – ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ (ที่ปรึกษาโครงการ) 
คุณก้อย – กมลรัตน์ หอมเอื้อม (นักผังเมือง) 
คุณเพิร์ล – ศุทธาพิชญ์ บุพพวงศ์ (ผู้จัดการโครงการ) 
คุณอ้อม – ศุภนารถ อัตตสัมพันธ์ (สถาปนิก) 
คุณมิลค์ – กีรติกา ดาวเวียงกัน (สถาปนิก)

ก่อนเริ่มต้นบทสนทนากับเหล่าคนทำงานเพื่อคลองอย่างเป็นกันเองในห้องประชุมเล็กๆ ริมคลอง ท่ามกลางเหล่าต้นไม่น้อยใหญ่ที่สถาบันอาศรมศิลป์

เล่าเรื่องคลอง

คุณคุ้ง : เราเกิดที่คลองสาน แถวถนนเจริญรัถ ภาพตอนเด็กๆ ที่เราจำได้ คือตรอกเล็กๆ ที่เลียบคลองอยู่ ซึ่งทุกคนเรียกว่า ‘ตรอกผีดิบ’ เป็นทางคอนกรีตแคบๆ มีคานคาดคลอง แล้วน้ำก็เน่าๆ มีหมาตาย (หัวเราะ) เศษขยะลอยเกลื่อน เหมือนเป็นท่อระบายน้ำเลย

หลังจากนั้นเริ่มเห็นความเป็นคลองจริงๆ ครั้งแรกตอนปี 54 ที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ ซึ่งเรามาทำงานที่อาศรมศิลป์ ฝั่งธนฯ แล้ว และจุดนี้ก็เสี่ยงจะโดนน้ำท่วมเหมือนกัน พี่คนหนึ่งเขาเลยชวนนั่งเรือสำรวจ เราจำได้เลยว่า ขับรถไปลงที่วัดไทรบางขุนเทียน แล้วก็นั่งเรือสำรวจคลองเส้นสนามชัย และรอบๆ เชื่อไหมว่าเราเห็นมุมสวยเยอะมาก ธรรมชาติที่ดี นั่นคือครั้งแรกที่เราเห็นคลองอีกมุมหนึ่งจากสมัยเด็กๆ

ความผูกพันกลับคลองเกิดขึ้นอีกครั้ง ตอนเราแต่งงานแล้วย้ายไปอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน คนทำงานสถาปัตย์อย่างเราต้องอดนอนใช่ไหม แต่พอกลับไปถึงบ้าน ลองนึกภาพตามนะ ตอนกลางคืนมืดๆ ไม่มีไฟเลย ริมแม่น้ำจะเป็นป่า มีต้นลำพู แล้วมันมีหิ่งห้อยส่องแสง พวกนั้นมันโคตรให้พลังชีวิต เราเลยเห็นความสำคัญของการอยู่ริมน้ำ แล้วยิ่งตอนปี 57 เราได้ทำงานเรื่องคลองกับชุมชนบางประทุน ก็ยิ่งเห็นเรื่องพวกนี้ชัดขึ้นว่า คลองมันมีประโยชน์กับชีวิต กับตัวเราเอง เราเลยเชื่อว่า คลองจะมีประโยชน์กับคนอื่นๆ เหมือนกัน

“ถ้าเมืองรักษาพื้นที่คลองได้ ชีวิตของคนจะได้พลังจากธรรมชาตินับไม่ถ้วน”

คุณเพิร์ล : เราอยู่หมู่บ้านจัดสรรที่ใกล้กับคลอง แล้วชอบนั่งเรือมากๆ แต่พอสังเกตดีๆ หมู่บ้านจัดสรรที่เข้ามา มันทำให้คลองเปลี่ยนไปเหมือนกันนะ เลยอยากรู้ว่า มันจะมีวิธีพัฒนาที่โอเคกับทั้งหมู่บ้าน และคลองบ้างไหม

คุณอ้อม : เดิมเป็นคนชอบเที่ยวธรรมชาติอยู่แล้วค่ะ โดยเฉพาะคลอง เพราะถ้าอิงไปถึงประวัติศาสตร์ในอดีต คลองคือเส้นสัญจรโดยเรือ แล้วถ้าโยงมาเข้ากับเมืองสมัยนี้ คลองก็ยังสามารถเป็นทางเลือกในการเดินทางได้ เลยรู้สึกว่าถ้าดึงให้คลองกลับมามีชีวิต ได้ใช้งานอีกก็คงจะดี

ธนบุรี มี คลอง

ฟังเรื่องเล่าความผูกพัน สัมผัสได้ถึงความใกล้ชิดกับคลองหลายๆ ที่ เราจึงอยากรู้ว่า ทำไมพวกเขาถึงเลือกทำงานที่คลองฝั่งธนบุรี และธนบุรี มี คลอง เกิดขึ้นได้อย่างไร

คุณคุ้ง : คงเป็นเพราะทั้งบ้านและสถาบันอาศรมศิลป์ที่เราทำงานอยู่ฝั่งธนบุรี และเครือข่ายที่เรารู้จักก็อยู่ฝั่งนี้ ทำให้รู้สึกว่า เรารู้จักหน้าตาคนกับพื้นที่พอสมควร น่าจะมีเครือข่ายพอที่จะทำงานได้ ซึ่งเราเริ่มทำงานกับเครือข่ายชุมชนริมคลองมาตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมปี 54 ตอนนั้นทำโปรเจกต์ชื่อ ครัวชุมชน คือพอน้ำท่วม อาหารจะเข้าถึงไม่ได้ ทุกคนก็ชอบเอาข้าวกล่องไปแจก แต่สิ่งที่เราเห็นตอนลงพื้นที่คือ ข้าวกล่องมันบูด อาจเป็นเพราะระบบโลจิสติกส์มันไม่ดีพอ เรารู้สึกว่ามันมีปัญหานะ ต้องจัดการด้วยวิธีอื่น

photo : ธนบุรี มี คลอง

จริงๆ แล้วชาวบ้านเขายังพึ่งพาตัวเองได้ แต่พอต้องไปขอข้าวกล่อง มันทำให้พลังชีวิตชุมชนหายไป ทั้งที่เขามีต้นทุนความเข้มแข็งอยู่มากเลย เราเลยเปลี่ยนคอนเซปต์จากการเอาอาหารปรุงเสร็จไปให้ เป็นการตั้งสเตชันตามจุดที่เขาดูแลตัวเองได้ แล้วเอาของสดไปให้แทน ชวนคนในชุมชนมาลงแขกทำกับข้าว การบริหารจัดการเลยดีขึ้น จากโครงการนี้มันทำให้เราได้รู้จักกับเครือข่ายชุมชนริมคลองเยอะและยังทำงานมาจนทุกวันนี้

จนกระทั่งตอนปี 57 เราทำงานกับชุมชนบางประทุนที่แรก พร้อมๆ กันนั้น เราก็เห็นมหาวิทยาลัยเพื่อนๆ ทำงานกับชุมชน อย่างบางมดทำงานกับคลองบางมด ศิลปากรทำงานกับคลองบางหลวง เราเริ่มเห็นกลุ่มคนที่เห็นเรื่องเดียวกัน แต่ยังทำงานเป็นจุดๆ เลยรู้สึกว่าจะทำยังไงให้จุดพวกนี้เชื่อมกันเป็นภาพใหญ่ระดับเมือง พอดีตอนนั้น NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) เปิดให้เสนอโครงการ เราเลยเขียนโครงการ ธนบุรี มี คลอง ส่งไป แล้วก็ผ่าน เลยเป็นที่มาของโครงการนี้

ทำเพื่อคลอง

จากจุดเริ่มต้นผ่านการทำงานกับเครือข่ายและผู้คนในชุมชน ทีมธนบุรี มี คลอง จึงมองเห็นวิธีการทำงานเพื่อเรียกคืนชีวิตคลอง และคนคลองให้กลับมาอีกครั้ง

คุณคุ้ง : เราเริ่มจากการตั้งปัญหาเรื่องคลองที่มีอยู่ในปัจจุบันก่อน ซึ่งพบว่ามันมี 3 ข้อ คือ ทัศนคติ  ความไม่รู้ และไม่มีตัวอย่างการพัฒนา ซึ่งหลักๆ คนยังติดคิดว่า ‘คลองเป็นท่อระบายน้ำ’

“เราเชื่อว่าถ้าคนมองคลองเป็นท่อระบายน้ำ คลองก็จะเป็นท่อระบายน้ำ แต่ถ้าเห็นว่าคลองเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิต คลองจะเปลี่ยนไปตามการให้ความหมายนั้นๆ”

ซึ่งคนยังไม่รู้ ว่าคลองสวยแค่ไหน และมีของดีริมคลองอะไรบ้าง เราก็จะต้องทำข้อมูลให้คนรู้ มันจะได้เชื่อมต่อไปยังทิศทางการพัฒนาคลองกับเมือง สร้างโมเดลการพัฒนาให้เห็นว่า ถึงแม้เมืองจะพัฒนา แต่วิถีชีวิตริมคลอง และพื้นที่ริมคลองยังคงอยู่ได้ ดังนั้น คอนเซปต์ใหญ่คือ การหาบทบาทใหม่ให้คลองกับเมือง จากเดิมที่เป็นแค่ทางสัญจร หน้าบ้าน ทางนำน้ำเข้าเพื่อการเกษตร เลยต้องสร้างดีไซน์ให้เกิดกิจกรรมเพื่อสร้างบทบาทใหม่ให้คลอง ซึ่งอาศัยการทำงานร่วมกับชุมชนเป็นสำคัญ

ร่วมงานกับชุมชน

การจะสร้างให้การทำงานของธนบุรี มี คลองมีประสิทธิภาพ ทีมบอกกับเราว่า หัวใจสำคัญคือ ‘ใช้ใจทำงานร่วมกับผู้คนในชุมชน’

คุณก้อย : เราจะมีเครือข่ายที่รู้จัก เขาจะพาเราไปล่องเรือ แล้วเขารู้จักคนในชุมชนดีอยู่แล้ว เราก็จะบอกพี่ที่พาไปว่า พี่วันนี้เราอยากแวะสวน เขาก็จะพาไปแวะ พาไปคุย มันจะเป็นวิถีคนไทยเนอะ พูดคุยกัน เห็นกันที่ท่าเรือ ชาวบ้านก็จะทักทายเรา ถ้าเจอผู้เฒ่าผู้แก่ เขาก็จะตะโกนทักว่า ไปไหนหนู ? บางทีก็บอกว่าทางนู้นน้ำมันตื้นแล้วนะ เรือไปไม่ได้

คุณอ้อม : คงเป็นเพราะคลองมีความเป็นมิตรของคนที่อาศัยอยู่ริมคลอง ปกติเราจะอยู่ในเมือง ในหมู่บ้าน ไม่ค่อยได้พูดคุยกับใครเท่าไหร่ เราจะรู้สึกเหมือนกับว่า ทุกคนมีโลกส่วนตัวของตัวเอง แต่พอเป็นคลอง ชาวบ้านเขาจะเป็นมิตรมากๆ

คุณเพิร์ล : อีกอย่างการที่เราให้คนในชุมชนพาไป บ้านที่เราขึ้นไปหาเขาก็จะสบายใจ ไม่ได้รู้สึกว่าเราแปลกหน้า แล้วส่วนใหญ่คนในชุมชนใจดีมาก เอาผลไม้ในสวนมาให้กิน คือไปทุกสวนจะได้กินทุกสวนเลยค่ะ (หัวเราะ)

ซึ่งเราทำงานร่วมกับชุมชนด้านการหาฐานข้อมูล เพื่อเอาข้อมูลมาประมวลศักยภาพของคลอง เช่น ตรงไหนเป็นสถานที่ที่น่าสนใจทางวัฒนธรรม หรือทางสิ่งแวดล้อม แล้วก็มาดูกันว่า คลองนั้นมีจุดเด่นที่ตรงไหน มีประเด็นการทำงานอะไรให้เราเข้าไปทำ เพื่อเสริมจุดเด่นและเข้าไปช่วยแก้ปัญหา จากนั้นจะกำหนดประเด็นทำงาน ซึ่งมีทั้งประเด็นที่ใช้กายภาพนำ และกิจกรรมนำ แล้วก็พัฒนาไปตามประเด็นของคลองนั้นๆ เพื่อให้คนในชุมชนเห็นโอกาส จากนั้นตามด้วยการออกแบบให้เห็นภาพ

คนคลองช่วยให้เห็นต้นทุน

photo : ธนบุรี มี คลอง

คุณคุ้ง : ต้นทุนที่ว่า หมายถึงโอกาสที่จะพัฒนาบทบาทใหม่ๆ ของคลอง ซึ่งเราไม่มีทางรู้ แต่คนในพื้นที่จะรู้ดีกว่าเรา เราเลยสำรวจผ่านการทำ ‘Canal View’ หรือแมพคลองที่มีรูปแบบเหมือน Google Street View ร่วมกับชุมชน จะได้มีทั้งสายตาของคนนอกอย่างเรา และสายตาคนในจากคนในชุมชน แล้วก็มาแลกเปลี่ยนกันว่า เห็นอะไรเป็นต้นทุนบ้าง อย่าง ตลิ่งชัน ชุมชนตรงคลองลัดมะยมบูมแล้ว แต่พื้นที่รอบๆ ยังไม่ได้รับความสนใจ นั่นคือพื้นที่การเกษตร

เปิดพื้นที่ริมคลอง

อีกหนึ่งสิ่งที่ทีมธนบุรี มี คลองหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน คือการให้ความสำคัญกับพื้นที่ริมคลอง เพราะคลองที่ดี ต้องมีพื้นที่ริมคลองดีและน้ำดี

คุณคุ้ง : ตอนนี้เราทำ ‘น้ำท่าวันนี้’ สำหรับวัดคุณภาพน้ำ ใช้เกณฑ์จากเกษตรกรในชุมชน เขาจะประเมิณจากสี กลิ่น ความใส ปริมาณขยะแขวนลอย ซึ่งน้ำก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่พื้นที่ริมคลองก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง โดยเราตั้งตัวแปรไว้ว่า

1.เปิดพื้นที่ริมคลอง – หมายถึงริมคลองยังมีผู้ใช้งานอยู่ไหม ถ้ามีคลองก็ยังสำคัญกับชีวิต แต่ถ้ามีด่านคอนกรีตขึ้นเป็นผนังทึบเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงเขากำลังหันหลังให้คลอง และคลองจะค่อยๆ หมดความสำคัญลง
2. ชีวิต – นอกจากเปิดพื้นที่แล้ว ต้องดูว่ามันมีการใช้ชีวิตหรือเปล่า เช่น มีศาลาท่าน้ำ ต้นไม้ มีความร่มรื่นสวยงาม แสดงว่าคนยังผูกพันกับคลองอยู่

ถ้าบ้านไหนปิดพื้นที่ หันหลังให้คลองแล้วจะทำอย่างไร ?

คุณคุ้ง : เราคิดว่ามันต้องทำสองอย่าง อย่างแรกคือ บ้านที่เปิดพื้นที่ริมคลองแล้ว เราจะทำให้ดีที่สุด เพื่อให้มันยังคงอยู่ ส่วนจุดที่ปิดอยู่ เราก็จะพยายามรักษาภาพลักษณ์ของคลองให้ได้ แนะนำให้ลองปลูกไม้เลื้อย ปลูกต้นไม้ที่รักษาภูมิทัศน์ริมคลอง เพื่อถึงจุดหนึ่งที่คลองกลับมามีชีวิต คนที่ปิดจะอยากกลับมาเปิดพื้นที่ให้คลองบ้างด้วยตัวเขาเอง อาจจะทุบผนังแล้วเปลี่ยนเป็นท่าน้ำ นั่นคือภาพในอนาคตที่เราหวัง

เปลี่ยนแปลงอย่างเข้าใจ

จากที่สังเกต เราเห็นว่า คลองหลายๆ เส้นมีการการเปลี่ยนแปลงเข้าไปหา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะเต็มใจเปิดรับ ทีมทำงานเรื่องนี้อย่างไร

คุณคุ้ง : เราว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ มันคงยังไม่มีวิธีการที่แน่นอนสำหรับการทำงาน เพราะทุกที่บริบทต่างกัน ความเปลี่ยนแปลงมันเข้ามาด้วยคนละเงื่อนไข แล้วต้นทุนภายในพื้นที่ก็ต่างกันอย่างมหาศาล เราเลยมองว่าหลักการพื้นฐานคือ ต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ถ้าเขาเข้มแข็งกันมากพอ ก็จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้

อีกอย่างคือ เราจะทำให้สเกลและสปีดของการเปลี่ยนแปลงอยู่ในจุดที่ปรับตัวได้อย่างไร เพราะการเปลี่ยนแปลงมาพร้อมอำนาจที่แข็งแรงมาก บางครั้งชุมชนแข้มแข็งแค่ไหนมันก็ไม่รอด นั่นคืออีกโจทย์ที่ทำให้มีธนบุรี มี คลอง เพื่อต่อยอดสู่ ‘เครือข่ายธนบุรีมีคลองสร้างสรรค์’ ที่เราและเครือข่ายกำลังสร้างกันอยู่ สรุปคือ เราต้องสร้างชุมชนเข้มแข็ง สร้างเครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น สื่อสารให้คนภายนอกรับรู้เรื่องเหล่านี้ และหาทางออก

คลองกับเมืองที่ยั่งยืน

คุณก้อย : อย่างแรกเลยคลองมีประโยชน์เรื่องการสัญจร หลังๆ เริ่มใช้เป็นที่ผันน้ำ ระบายน้ำ แต่ในอนาคต เราไม่แน่ใจว่าพัฒนาแบบไหนนะ แต่การมีคมนาคมทั้งสองด้านคือเรื่องดี แล้วถ้าคนส่วนมากใช้คลอง ก็จะมีการพัฒนาคลองมากขึ้น บทบาทเรื่องการสัญจรก็จะเพิ่มขึ้น ทั้งการเดินทางและการท่องเที่ยว

คุณคุ้ง : ถ้ามองให้ไกลขึ้น คือด้านการอยู่อย่างยั่งยืนของเมือง คลองมีบทบาทที่สำคัญมากนะ เพราะอย่างที่รู้ว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ราบลุ่มที่น้ำท่วมถึง ถ้าไม่มีคลอง แต่เป็นด่านคอนกรีตหรือเรียบเท่ากันหมด เวลาน้ำท่วมจะไม่มีพื้นที่รับน้ำ คลองเลยเป็นการแก้ปัญหาที่ทำให้ความยืดหยุ่นกับสภาวะอากาศดีขึ้น แต่ถ้าเกิดไปไกลกว่าการรับมือกับน้ำ พูดไปถึงความยั่งยืนจริงๆ คงเป็นคำถามใหญ่ว่า

“มนุษย์และเมืองควรจะสัมพันธ์กับโลกธรรมชาติอย่างไร ?”

เราควรจะอยู่แบบทิ้งไมโครพลาสติกไปให้ปลาในทะเลกินหรือเปล่า หรือว่าเราควรจะอยู่ด้วยการมีระบบบำบัดที่ยั่งยืนกับโลก ซึ่งจริงๆ คลองมีศักยภาพเยอะมาก พื้นที่ริมคลองถ้ามันไม่มีด่านคอนกรีต จะมีพืชชายน้ำ สวนริมคลอง ซึ่งช่วยบำบัดน้ำและดักโลหะได้ ลองคิดภาพตามนะ ถ้าเรามีแปลงผักอยู่ริมคลองหรือข้างบ้าน เราก็เอาพวกเศษอาหารมาบำรุงผัก ตักน้ำในคลองมารดกัน ดังนั้นคลองสามารถทำให้เมืองยั่งยืนได้ ไม่ว่าจะสัญจรอย่างไม่มีรถติด และช่วยให้มนุษย์อยู่กับธรรมชาติได้อย่างไม่แปลกแยก

ความฝันของธนบุรีมีคลอง

คุณคุ้ง : เราฝันอยากเห็นคนตัวเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนเรื่องคลองผูกกันเป็นแพ เหมือนแพลูกบวบ เราคิดว่าเมื่อไหร่ที่เป็นแพลูกบวบได้ เราจะต้านทานกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแข็งแกร่ง เครือข่ายจึงเป็นจุดสำคัญ

สุดท้ายสิ่งที่เราฝันอยากจะไปให้ถึง คืออยากเห็นโมเดลที่ว่า มีคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่มาสัมผัสคลองแล้วเห็นโอกาส หรือความหวัง จากนั้นมาช่วยกันดีไซน์ว่า ถ้าคลองจะอยู่กับเมืองได้ต้องทำยังไง

ใครอยากรู้จัก และเห็นการทำงานเพื่อคลองของทีม ธนบุรี มี คลอง ให้ใกล้ชิดมากกว่านี้ มาร่วมทริป ‘ล่องเรือ…เปิดคลองบางมด’ ไปกับเรา จะได้สัมผัสกับวิถีชีวิต ของดีริมคลอง และความน่ารักเป็นกันเองของคนคลองไปพร้อมกัน

สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ https://forms.gle/2vNsDawE2PQeK8hK7
มาลงเรือลำเดียวกันในวันอาทิตย์ ที่ 13 ตุลาคม 2562 เวลา 10:00 – 15:00 น.

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.