โรคกลัวรู Untitled ศิลปนิพนธ์เชียงใหม่ - Urban Creature

เป็นประจำทุกปี ที่เราจะเห็นนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายทยอยปล่อยของผ่านธีสิสของตัวเอง งานแล้วงานเล่าผ่านสายตาเราไปขณะไถมือถือเพื่อส่องผลงานเหล่านั้น ซึ่งช่วยเติมไฟและไอเดียสร้างสรรค์ให้เราไม่น้อย

จนมาสะดุดตากับผลงานชุด Untitled (The Unexpectedness of Spiritual Journey) ฝีมือของเด็กโฟโต้อาร์ต หรือสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่หยิบอาการกลัวรู หรือ Trypophobia ซึ่งไม่น่าอภิรมย์เท่าไร มาถักทอจนออกมาเป็นผลงานที่ชวนให้ติดตามไม่รู้จบ

เราจึงชวนเจ้าของผลงานอย่าง ฝ้าย-ศวรรยา มหาวงค์ มาสนทนาถึงเบื้องหลังแนวคิด พร้อมเล่าเทคนิคการทำศิลปนิพนธ์ชุดนี้อย่างออกรส

เมื่อคนกลัวรูต้องทำธีสิส

แม้ว่าเราจะไม่ใช่คนกลัวรู แต่ชักอยากจะรู้เหมือนกันว่าคนที่มีอาการนั้นจะเป็นอย่างไร ฝ้ายเริ่มเท้าความถึงสิ่งที่เธอต้องเผชิญก่อนจะมาเป็นศิลปนิพนธ์ชุดนี้

“อาการกลัวรูมันเริ่มตอนช่วงประถมฯ ในคาบคอมพิวเตอร์ จำได้เลยตอนนั้นครูกำลังสอนอยู่ เพื่อนข้างๆ ก็เข้าเว็บดูนั่นดูนี่ ทีนี้มีจังหวะหนึ่ง เพื่อนดันคลิกเข้าไปในลิงก์ที่เป็นคลิกเบต พอคลิกปุ๊บมันก็เด้งหน้าต่างขึ้นมาเป็นรูปผิวหนังผู้หญิงถูกรีทัชด้วยฝักบัวเป็นรูๆ พอเราเห็นมันก็เป็นภาพติดตาที่ฝังเข้าไปในความทรงจำของเราเลย

“กลัวรูไม่แค่เห็นรูแล้วรู้สึกกระอักกระอ่วนนะ แค่เห็นพื้นผิวอะไรที่ไม่ถูกจริตเรา มันก็เริ่มจินตนาการไปต่างๆ นานาจนอึดอัดเลย” ฝ้ายเล่าด้วยน้ำเสียงที่เราฟังแล้วอิน สัมผัสได้เลยว่าเธอไม่เคยลืมเหตุการณ์นั้น

ด้วยความสงสัยเราจึงไปหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการนี้เพิ่มเติม ได้ความว่า สมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychological Association) หรือ APA ยังไม่มีการรับรองอาการกลัวรูว่าเป็นความผิดปกติ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจัดว่าอาการกลัวรู เป็นเพียงความรู้สึกรังเกียจที่มากกว่าความกลัวโดยทั่วไป เหมือนเราแขยงสัตว์เลื้อยคลาน รังเกียจเชื้อโรค หรือกลัวแมลงสัตว์กัดต่อยนั่นเอง

ฝ้ายอยู่กับอาการกลัวรูเรื่อยมาถึงชั้นปีที่ 3 เทอม 2 จนเธอได้เรียนวิชา Advanced Fine Art ซึ่งว่าด้วยการนำเสนอภาพถ่ายที่มุ่งเน้นถึงแนวความคิด รวมถึงมุมมองทางศิลปะภายใต้ตัวตนของตัวศิลปินเอง และนั่นทำให้ความรู้สึกนึกคิดต่ออาการกลัวรูของเธอค่อยๆ เปลี่ยนไป

“ด้วยความที่ตัววิชาเราจะทำอะไรก็ได้ที่สะท้อนตัวตน เราเลยอยากเอาชนะความกลัวของตัวเอง ด้วยการเป็นตัวเองให้มากที่สุด ต้องเล่าว่าตอนเด็กๆ เราเป็นคนที่ชอบทำอะไรที่ต้องใช้สมาธิ ต้องโฟกัส หรืออะไรที่มันเป็นจิตละเอียดมากๆ

“ซึ่งเราอยู่กับยาย เขาจะชอบเย็บผ้า เราก็จะคอยสังเกตการณ์ มองและจดจำ พอโตขึ้นเราก็ชอบหาทำ ชอบเย็บผ้าเอย ชอบหาเศษผ้ามาเย็บเป็นจุดเล็กๆ เย็บชุดใส่เอง เย็บหางนางเงือกบ้าง จนโตมาก็จะอยู่กับพวกงานฝีมือตลอด ก็เลยเอางานปักมาทำงานตอนปีสามและงานธีสิสด้วย”

ฝ้ายแบไต๋ว่า ก่อนหน้าที่เธอจะได้จับงานเย็บปักถักร้อยเพื่อถักทอเป็นชิ้นงานส่งอาจารย์ อาการกลัวรูของเธอเป็นเหมือนความรู้สึกที่ไม่เคลียร์กับตัวเอง ทำให้จิตฟุ้งซ่าน และมักจินตนาการไปเรื่อย จึงทำให้เกิดผลงานชุดแรกที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นการเอาชนะความกลัว คือ The Revulsion, Phobia ซึ่งใช้เทคนิค Silk Screen Printing เข้ามาประกอบ

ทว่าผลงานชุดนั้นเธอยังรู้สึกไม่คอมพลีต เพราะเหมือนใส่อารมณ์อยากเอาชนะมากจนเกินไป แทนที่จะเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจความกลัวของตัวเอง นั่นทำให้เธอหยิบเอาคอนเซปต์นี้มาระเบิดไอเดียในศิลปนิพนธ์ชั้นปีสุดท้ายของเธอ

เย็บ ปัก ถัก รู

ความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้และเข้าใจอาการกลัวรูของฝ้าย ค่อยๆ ประกอบร่างไอเดียเป็นศิลปนิพนธ์ชื่อ Untitled (The Unexpectedness of Spiritual Journey) ซึ่งเป็นงานในรูปแบบ Mixed Media และ Alternative Process พูดง่ายๆ คือการใช้ศิลปะมากกว่า 2 แขนงมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว และสร้างสรรค์ผ่านการทดลองทางศิลปะนั่นเอง

เทคนิคสำคัญที่ฝ้ายเลือกใช้ คือ Image Transfer เธออธิบายว่า มันคือการลอกลายคล้ายๆ เวลาเราเล่นแทตทูสติกเกอร์ ซึ่งกระบวนการทำงานนั้นจะเริ่มโดยการถ่ายภาพธรรมชาติรอบตัว ที่มองแล้วทำให้เกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วน และนึกถึงภาพรูในความทรงจำ

จากนั้นจะนำภาพที่ได้ไปพรินต์ลงกระดาษการ์ดขาว ตามด้วยการ Transfer หรือลอกลายภาพที่พรินต์มาลงที่ตัววัสดุ และใช้ Gel Medium เพื่อเป็นสื่อกลางในการลอกหมึกบนภาพลงบนพื้นผิวของวัสดุต่างๆ เช่น ผ้า ไม้ หรือพลาสติก เมื่อเรียบร้อยแล้วก็ทิ้งไว้ 1 คืน จนมาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการปัก

ฝ้ายปัก ปัก และปักไปเรื่อยๆ ตามความรู้สึก ถ้าปักพลาดหรือทำผ้าเลอะแม้แต่จุดเดียวก็ต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนลอกลาย

ภาพถ่ายธรรมชาติชวนขนลุกที่ฝ้ายบันทึกไว้ ไม่ว่าจะเป็นความขมุกขมัวของใยแมงมุม สปอร์ของใบเฟิร์น ไปจนถึงรอยเว้าแหว่งบนใบไม้ กลายร่างเป็นงานถักทอของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ฝ้ายไม่ได้เดินด้ายให้เป๊ะไปตามฟอร์มของวัตถุ แต่ใส่ความรู้สึกและจินตนาการของเธอลงไปด้วย

ฝ้ายยอมรับกับเราว่า ชอบโมเมนต์ตอนที่ได้ใช้สมาธิกับงานมากที่สุด จังหวะที่ปักเข็มลงไปเหมือนเธอได้อยู่กับตัวเอง ได้ถาม ได้พูดคุย และทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมา รวมถึงปมในใจเกี่ยวกับอาการกลัวรู

“ธีสิสนี้ทำให้เรามีสมาธิมาก ได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ นั่นคือการเรียนรู้กับความกลัวของตัวเอง ตอนจะทำงานชิ้นนี้ เจตนาเรามีเต็มร้อยก็ใส่เต็มร้อยเลย ถ้าเชื่อในสิ่งที่เราจะทำ ซื่อสัตย์ในคอนเซปต์และความคิดตัวเอง สุดท้ายอาจารย์ก็จะให้โอกาสและยอมรับในสิ่งที่เราทำ”

เราฟังเธอมาสักพักก็อดถามไม่ได้ว่า เรียนถ่ายภาพแต่มาทำงานเย็บปักถักร้อยแบบนี้ ไม่โดนอาจารย์ตั้งคำถามเหรอ ฝ้ายไม่รอช้า อธิบายจนเราเห็นภาพ

“เราเรียนโฟโต้ใช่ไหม แต่งานที่เราอยากทำคือพวกงานถักทอ (หัวเราะ) ต้องบอกก่อนว่าพอเป็นภาพถ่าย ความกดดันก็จะมีมากเพราะทุกคนก็ถ่ายภาพเก่งไม่แพ้กัน แต่เราบอกกับตัวเองแล้วว่า สิ่งที่เราชอบคือการเย็บผ้า ก็เลยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ‘พูดแล้วต้องทำให้ได้’ ตั้งแต่ปีสาม พอได้ทำงานเย็บผ้า ทุกอย่างมันเลยโฟลว์มากๆ 

“แรกๆ อาจารย์ก็จะงงว่าทำไมคุณต้องทำเป็นงานฝีมือ แล้วก็มีคนตั้งคำถามค่อนข้างเยอะว่าทำไมถึงใช้เทคนิคนี้ จะปรับให้มันเป็นทิศทางของโฟโต้ได้มากน้อยแค่ไหน พอชิ้นงานมันออกมา เขาก็อ๋อว่าทำไมมันถึงออกมาแบบนี้ 

“เพราะในการเรียนการสอน อาจารย์เขาไม่ได้จำกัดความคิดในการทำงานของเรา อาจจะมีขอบเขตเล็กน้อยคือขอให้มีงานถ่ายภาพเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการ ซึ่งขั้นตอนของเราก็มีขั้นตอนการถ่ายภาพเข้ามาเกี่ยวข้องก่อนจะลงเทคนิค” ฝ้ายย้ำถึงความตั้งใจที่มีเกินร้อย

ความรักชนะความกลัว (รู)

บทสนทนามาถึงตอนสุดท้าย ฝ้ายแอบบอกกับเราว่า ตอนแรกจะตั้งชื่อศิลปนิพนธ์ชุดนี้ว่า Healing Journey แต่ความซื่อตรงกับผลงานนั้นดูเหมือนจะชนะทุกสิ่ง เพราะขณะทำงานจนใกล้เสร็จสมบูรณ์ เธอรู้สึกได้รับการเยียวยาความกลัวจากสิ่งที่เธอลงมือทำมาทั้งเทอมเป็นที่เรียบร้อย 

ฝ้ายไม่อยากให้ชื่องานเดิมมันหลอกลวงความรู้สึกตัวเอง จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ Untitled ซึ่งแอบมีวงเล็บเล็กๆ ไว้ท้ายชื่อว่า The Unexpectedness of Spiritual Journey เป็นการปล่อยให้ผู้ชมจินตนาการตามสิ่งที่สัมผัสได้ ไม่ได้บีบบังคับว่าผู้ชมเห็นงานแล้วจะต้องสะอิดสะเอียน

ในฐานะเจ้าของงาน เธออาจจะกระอักกระอ่วนไปบ้างเมื่อเห็นผลงานของตัวเอง แต่เราผู้ไม่กลัวรู เมื่อได้รับชมงานก็จินตนาการต่อว่า รูนี้มันคืออะไร ความนามธรรมที่เห็น ถ้าจะเปลี่ยนให้เป็นรูปธรรมจะต้องทำอย่างไร หรือบางคนอาจจะคิดถึงปากใบของพืชตอนส่องกล้องจุลทรรศน์ก็ได้ เพราะถึงขนาดมีคนมาบอกฝ้ายเมื่อเห็นงานนี้ว่าหน้าตามันช่างคล้ายจริงๆ จนเธอก็มารู้สึกเมื่อหลังจบงานว่า เออ มันคล้ายจริงแฮะ

Untitled (The Unexpectedness of Spiritual Journey) ของฝ้าย ตั้งใจสื่อสารกับผู้ชมด้วยการเปิดกว้างทางความรู้สึก และเป็นพื้นที่หนึ่งให้ทุกคนได้เผยความคิดฉบับตัวเอง ซึ่งหลังจากที่ได้คุยกับฝ้าย เราสัมผัสได้เลยว่า ความจริงใจและรักในสิ่งที่ทำคือสิ่งสำคัญจริงๆ เพราะมันทำให้เราก้าวผ่านปัญหา เข้าใจ และพร้อมจะเรียนรู้กับทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่ความกลัว (รู)

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.