น้ำทะเลสีฟ้า หาดทรายขาวละเอียด อากาศแบบฝนแปดแดดสี่ อาหารรสเผ็ดร้อน ไปจนถึงภาษาถิ่นชวนฟัง คือสิ่งที่ผมคิดถึงดินแดนภาคใต้ของประเทศไทย และนั่นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งซึ่งบ่งบอกเสน่ห์แดนใต้บ้านเรา…
หากมองให้ลึกซึ้งลงไป ภาคใต้ยังมีอัตลักษณ์ที่รอให้ทุกคนไปค้นหาอีกเพียบ เพิร์ล-พิชญาภา ลิ่มคำ นักศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คือสาวใต้คนหนึ่งที่ใช้โอกาสในชั้นปีสุดท้าย ตัดสินใจทำศิลปนิพนธ์โดยหยิบ ‘ผ้าปาเต๊ะ’ มาบอกเล่าถึงความทรงจำ และความประทับใจในวิถีชีวิตทางชนบทของภาคใต้ นำไปสู่การใช้เส้น สี และรูปทรงซึ่งผ่านการเย็บปักถักร้อย
ธีสิสซึ่งมาพร้อมเทคนิคแสนละเมียดที่เธอคลุกคลีตีโมงอยู่หลายเดือนจะเดือดแค่ไหน ความงดงามของวิถีชีวิตท้องถิ่นในฉบับเพิร์ลจะเป็นอย่างไร สาวใต้คนนี้อยากชวนทุกคนหวนคิดถึงความประทับใจในความงามของวิถีชีวิตฉบับคุณ
สาวใต้ & ศิลปะไทย
หากเป็นตัวผมกับภาคใต้ คงผูกพันผ่านซีรีส์ #แปลรักฉันด้วยใจเธอ จนหลงใหลในคัลเจอร์ที่โคตรจะวาไรตี้ และอาหารการกินที่โดดเด่นไม่เป็นสองรองใคร แต่สำหรับเพิร์ล สาวเมืองสุราษฎร์ธานี ช่วงปิดเทอมเธอมักจะแวะเวียนไปบ้านคุณยายที่ตำบลจันดี อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช จนได้ซึมซับชีวิตชาวสวน และได้หัดเข้าครัวกับคุณยายตั้งแต่เด็กๆ
ส่วนสกิลเย็บผ้าก็ได้จากการลองผิดลองถูกกับชุดของตุ๊กตาบาร์บี้ บวกกับครอบครัวที่ส่งเสริมให้เรียนในสิ่งที่ถนัด ทำให้เพิร์ลได้วาดรูปมาตั้งแต่เด็กจนได้เข้ามาเป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ แห่งศิลปากร
สิ่งที่น่าสนใจคือเธอเลือกเรียนสาขาวิชาทัศนศิลป์ (ศิลปะไทย) เธอเปรยว่า ศิลปะไทยไม่ใช่แค่จิตรกรรมฝาผนัง หรือต้องนั่งเรียนแกะสลักแบบที่เราเข้าใจกัน แต่ศาสตร์นี้จะได้เข้าใจถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี สังคม และศิลปะร่วมสมัยที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทยทุกอย่าง
เมื่อเริ่มขึ้นปี 3 สาขาศิลปะไทย จะเป็นการเรียนเพื่อให้นักศึกษาได้ค้นหาตัวตนว่าชอบ ถนัด หรือเหมาะกับการทำงานศิลปะในเทคนิคแบบไหน
ระหว่างนั้นเพิร์ลได้แสดงงานศิลปะร่วมกับเพื่อนๆ จิตรกรรม ในนิทรรศการ ‘ตัวกาก’ (ชื่อตัวละครจากภาพจิตรกรรมฝาผนังไทย) ซึ่งนี่คือเวทีแรกที่เธอได้ลองหยิบผ้าปาเต๊ะมาผสมผสานกับความสนใจในวิถีชาวบ้านอันเรียบง่ายทางภาคใต้ และสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะเย็บปักถักร้อย จนเธอรู้แล้วว่า สิ่งนี้แหละ คือความถนัดของเธอ และจะนำมันไปต่อยอดเป็นธีสิสในชั้นปีที่ 5
ผ้าปาเต๊ะ หรือที่หลายคนคุ้นหูกันว่า ผ้าบาติก คือผ้าที่มีลวดลายเป็นจุด ซึ่งมาจากการใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี และใช้วิธีการระบาย หรือย้อม ในส่วนที่อยากให้สีติด ส่วนลวดลายก็จะได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ อย่างลายดอกไม้ ต้นไม้ และสัตว์มงคล
“เราว่าสังคมตีกรอบผ้าปาเต๊ะว่า มันเป็นผ้าที่ใช้ในงานพิธี หรืออะไรที่ดูเรียบร้อย เช่น ใส่เข้าวัด ฯลฯ แต่ที่จริงแล้ว ผ้าปาเต๊ะมันอยู่ในชีวิตประจำวันของคนใต้ ป้าก็ใส่ ยายก็ใส่ ลายผ้ามันสวยมาก ดูแล้วน่าจะเอามาต่อยอดหรือทำอะไรได้ และถ้ามันมีการปรับเปลี่ยน หรือดีไซน์ให้ร่วมสมัย เด็กวัยรุ่นอาจจะเข้าถึงมันได้มากกว่านี้
“สำหรับงานนี้ เราก็อยากเพิ่มลูกเล่นให้มัน เลยเอาแรงบันดาลใจจากการเย็บ ‘ตัวหนังตะลุง’ ที่มีลักษณะแบนราบ ดูโปร่ง และตัวงานมันก็จะแยกเป็นส่วนๆ มาใช้กับธีสิส เพื่อที่จะได้นำไปจัด Installation (ศิลปะการจัดวาง) ในขั้นสุดท้าย” เพิร์ลแสดงถึงความตั้งใจ และอยากให้ทุกมิติมี ‘ความเป็นใต้’ สอดแทรกเข้าไป
ทำการใหญ่ ใจต้องนิ่ง
แรกเริ่มทำธีสิส เพิร์ลร่างแบบที่มีขนาดและสัดส่วนเท่าของจริง หมายความว่า ตู้กับข้าว กุ้งหอยปูปลา หรือแม้แต่ถ้วยชามรามไหก็จะมีไซซ์ใกล้เคียงของจริง ทว่าความคิดสับสนวนเวียนเข้ามาในหัว เธอรู้สึกว่า สเกลใหญ่แบบนี้ จะเกินตัวไปหรือเปล่า ถ้าคิดถึงการตลาดจริงๆ ใครจะซื้อของชิ้นใหญ่ขนาดนี้ แต่คำพูดของอาจารย์ที่ปรึกษาก็เชียร์อัปให้เธอลุยต่อ
“ตอนออกแบบมา มันมีสเกลที่ค่อนข้างใหญ่ ตอนนั้นก็คิดว่า ทำไมเราไม่ทำเป็นชิ้นเล็กๆ หลายๆ ชิ้น เพราะว่างานตัวใหญ่ๆ ในปัจจุบันมันก็ขายไม่ได้ สมมติเป็นงานชิ้นเล็กๆ มันก็มีโอกาสที่จะขายได้มากกว่า เราก็เลยไปปรึกษาอาจารย์ ซึ่งเขาก็เชียร์เต็มที่ว่า อยากให้เราทำชิ้นใหญ่ เพราะอยากให้เราโชว์ศักยภาพออกมาเต็มที่”
เมื่อตกลงปลงใจแล้วว่าจะสู้กับธีสิสชิ้นใหญ่ เพิร์ลก็ง่วนอยู่กับมันเป็นเวลา 6 – 7 เดือน ประณีตทีละชิ้นๆ และนำมาร้อยต่อกัน สุดท้ายต้องนำผลงานทั้งหมดมาจัดวาง และโยงแขวนกับตัวคาน เพื่อให้ผลงานออกมาในรูปแบบ Installation ที่มีขนาดสูงราว 240 เซนติเมตรนั่นเอง
เพิร์ลวางแผนกับธีสิสนี้เป็นอย่างดี เธอลงมือเย็บปักถักร้อยตามแพตเทิร์นที่ตั้งใจไว้ทุกขั้นตอน หากซูมดู ก็จะเห็นลวดลายที่ชวนคิดถึงบรรยากาศภาคใต้ได้เป็นอย่างดี อย่างผลงานผัดสะตอกุ้ง เมนูใต้ตรงโซนตู้กับข้าวบ้านคุณยาย เธอต้องตัดรูปสะตอออกมาทีละเม็ด แล้วเย็บทีละเม็ดเช่นกัน จากนั้นถึงนำกุ้งมาเย็บใส่ในจานเดียวกัน จนออกมาเป็นเมนูชวนหิวที่พิถีพิถันยิ่งกว่าทำอาหารจริงซะอีก
“อย่างตู้กับข้าวก็มาจากภาพบรรยากาศในบ้านยาย เราอยากให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของที่นั่น เช่น อาหารที่ใส่ลงไป มีผัดสะตอกุ้ง น้ำพริก ชะอมไข่ ปลาทูทอด แกงคั่วกะทิหมู หรือที่อยู่ในกระทะก็จะเป็นแกงปลาดุกคั่วใบรา มันสิ่งที่เราชอบ และเป็นของที่พบเห็นได้จริงในครัวคนใต้”
ธีสิสที่อยากให้คุณรักภาคใต้
เมื่อโค้งสุดท้ายของการทำงานมาเยือน จากผ้าปาเต๊ะแปลงร่างเป็นห้องครัวคุณยายได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพิร์ลยอมรับว่าธีสิสครั้งนี้ทำให้เธอได้รู้จักการรับฟังผู้อื่นมากขึ้นด้วย
“พอทำไปเรื่อยๆ สักประมาณ 80% อาจารย์หลายท่านก็ติงว่า ตัวคานด้านบนที่เป็นลายไม้มันดูขัดกับตัวชิ้นงาน ในฐานะคนที่คลุกคลีกับงานมาตลอดก็อาจจะไม่ได้ถอยออกมามองงานตัวเองว่าเป็นยังไง เราคิดแค่ว่ามันดีแล้ว แต่สุดท้ายก็หาตรงกลาง และปรับบริเวณคานให้เป็นลายผ้าปาเต๊ะเหมือนกับผลงานส่วนอื่นๆ ให้มันดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”
ไม่เพียงแค่นั้น จินตนาการจากผ้าปาเต๊ะยังทำให้เพิร์ลช่ำชองการเย็บผ้าด้วยจักรมากขึ้นเป็นกอง ซึ่งมันทำให้เธอคิดต่อยอดไปว่า เทคนิคการเย็บผ้าที่คนยุคนี้เริ่มหันหลังให้ ก็สามารถพัฒนาเป็น ธุรกิจได้หากตั้งใจจะทำมันจริง
บทสนทนาภาษาธีสิสเดินทางมาถึงช่วงสุดท้าย สาวใต้ทิ้งทวนกับผมว่า จิตรกรรมฯ ศิลปากร ทำให้เธอเข้าใจว่า แม้งานศิลปะจะไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ไม่มีขอบเขต แต่ทุกๆ การเกิดขึ้นของศิลปะสักชิ้นหนึ่ง มันต้องใช้เวลา มีขั้นตอน และเทคนิคที่ผู้สร้างตั้งใจส่งสารนั้นไปยังผู้ชม ซึ่งเป็นโจทย์หนึ่งในฐานะคนเรียนศิลปะไทยว่า จะทำอย่างไรให้งานที่คนมองว่าล้าสมัย สามารถทัชใจผู้ชมได้อย่างอยู่หมัด
ในมุมมองของผมแล้ว ศิลปนิพนธ์ ‘จินตนาการจากผ้าปาเต๊ะ’ ไม่ใช่แค่ธีสิสที่สานต่อความหลงใหลในชีวิตของเพิร์ล แต่ยังเป็นชนวนเล็กๆ ที่ทำให้ผู้ชมซาบซึ้งถึงความประณีตในงานฝีมือ และได้ลึกซึ้งถึงคุณค่าความงามอันเรียบง่ายในการใช้ชีวิตฉบับชาวใต้
รับชมผลงานอื่นๆ ใน ‘ชั้นร้องไห้เป็นหมื่นครั้ง…เพื่อมาเจอเธอ’ นิทรรศการศิลปนิพนธ์ของชาวจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทาง PSG73