The Vessel สถาปัตยกรรมเก๋ทำให้คนอยากตายจริงหรือ? - Urban Creature

ในช่วงระยะเวลาเพียงปีกว่าๆ The Vessel แลนด์มาร์กไอคอนิกสุดหรูในแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์ก มีคนเลือกมาจบชีวิตแล้วถึง 4 คน และใช่ ที่น่าตกใจกว่าเดิมคือทั้งสี่เป็นเพียงคนหนุ่มสาวอายุ 14, 19, 21 และ 24 ปีเท่านั้น

ทำไมสถานที่พักผ่อนหย่อนใจภาพลักษณ์หรูมากด้วยดีเทลนี้ ถึงกลายเป็นพื้นที่ของการฆ่าตัวตายติดต่อกันเสียอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ภาคเอกชนก็พยายามปั้นให้เป็นพื้นที่ที่มีดีไซน์แปลกใหม่ แถมยังมองเห็นทิวทัศน์ของนิวยอร์กได้อย่างน่าตื่นใจ ใครผ่านไปมาก็ต้องหยุดมองเพราะมันโดดเด้งจากพื้นที่แบบไม่มีใครเทียบรัศมี

The Vessel เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาสเปซริมแม่น้ำ Hudson ฝั่งตะวันตกของเมือง โปรเจกต์นี้มีทั้งสำนักงานออฟฟิศ ที่พักอาศัย ห้างร้าน และพื้นที่สาธารณะ บนเนื้อที่ 70 ไร่ ซึ่งถูกเรียกว่า Pseudo-Public Space ถ้าให้นิยามง่ายๆ มันคือพื้นที่สาธารณะที่สร้างและพัฒนาโดยเอกชน กรณีของสถาปัตยกรรมวงกตที่หลายคนขนานนามว่ามีลักษณะเหมือนรวงผึ้ง เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์อลังการงานสร้างของ Hudson Yards Redevelopment พื้นที่นี้เปิดให้เข้าชมฟรีในชั่วโมงแรกที่เปิดทำการ นอกเหนือจากเวลานี้จะคิดค่าตั๋วบุคคลทั่วไปราคา 10 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบก็เข้าชมได้แบบฟรีๆ 

ก่อนไปถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย สถาปัตยกรรมนี้เป็นงานศิลปะแบบ Interactive ที่คิดค้นโดย Thomas Heatherwick ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษจาก Heatherwick Studio และอำนวยการโดย Related บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของมหาเศรษฐี Stephen Ross ซึ่งมีสถาปัตยกรรมเวอร์วังในเครืออีกมากมาย

ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่นายทุนจับมือกับดีไซเนอร์ไอเดียบรรเจิดเพื่อสร้างจุดโฟกัสให้ผู้คนทั้งหลายได้เพลิดเพลินกับมุมมองใหม่ๆ ของเมือง จากจุดชมวิวที่มองเห็นได้เต็มตาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละชั้นและแต่ละด้านของสถาปัตยกรรม

The Vessel ประกอบด้วยบันไดที่เชื่อมต่อกันอย่างประณีต 154 ขั้น เกือบ 2,500 ขั้น และชั้นลอย 80 จุดพัก มีจุดที่ต้องเดินขึ้นในแนวตั้งเพื่อจะได้ออกกำลังกายและชื่นชมทัศนียภาพที่น่าทึ่งของเมือง แม่น้ำ และอื่นๆ ที่บริบทแวดล้อม ตึกสูงนี้ทำให้เรามองเห็นความพยายามด้านการออกแบบที่ท้าทาย และความพยายามด้านการสร้างสรรค์แลนด์มาร์กใหม่ของ Heatherwick ที่อยากจะเพิ่มซีนการดีไซน์สิ่งปลูกสร้างรูปแบบไม่ซ้ำใคร ซึ่งผู้สร้างก็คงไม่ได้คิดว่าพื้นที่ที่ร่วมกันทำขึ้นจะมีปลายทางเป็นสถานที่จบชีวิตของใคร

หลังการเสียชีวิตครั้งที่สามในเดือนมกราคม 2564 มีการวางมาตรการความปลอดภัยกันใหม่ ทั้งระบบการเข้าชมรูปแบบบัดดี้ที่ต้องมาเป็นคู่หูสองคนขึ้นไป มีการตรวจสอบข้อมูลสุขภาพจิต และใส่ใจเรื่องเชิงเทคนิคเพื่อการบรรเทาปัญหาการฆ่าตัวตายของแต่ละคน แต่เพียงสองเดือนให้หลังก็ยังคงมีรายที่ 4 ที่ตั้งใจมาปลิดชีพในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

มีรายงานว่า Heatherwick ได้ออกแบบแผงกั้นความปลอดภัยที่สูงขึ้น แต่บริษัท Related กลับไม่เคยติดตั้งมัน ขณะที่มีแถลงการณ์สั้นๆ จากโฆษกของ Related ว่าการฆ่าตัวตายเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้พวกเขารู้สึกใจสลาย แม้ยังไม่มีการแถลงว่าทำไมทางบริษัทไม่เพิ่มความสูงของกำแพง แต่ก็มีการสันนิษฐานว่าการเพิ่มความสูงของกำแพงแก้วนั้น แม้จะโปร่งใส แต่อาจทำให้เสียอรรถรสการมองเห็นทิวทัศน์

ความจริงแล้ว การเสียชีวิตที่ผ่านมาป้องกันได้ในทางปฏิบัติ หากคิดเรื่องงานออกแบบให้ลึกซึ้ง และปรับปรุงแผงกั้นให้รัดกุมโดยไม่กระทบต่อการออกแบบองค์รวมของอาคาร ยิ่งไปกว่านั้นการออกแบบเพื่อป้องกันอันตรายยังมีทางเลือกมากมาย หากเลือกให้ลงตัวที่สุด ก็น่าจะทำให้ประสบการณ์ชมวิวไม่ถูกลดทอน เพราะมีหลายเคสที่ทำให้เห็นว่าการออกแบบที่รัดกุมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาและช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายในพื้นที่สาธารณะได้ โดยไม่ทำให้ทัศนียภาพเสียหาย

ว่ากันตามตรงถ้าคนเลือกจะจบชีวิต พวกเขาจะทำทุกทางเพื่อให้ตัวเองจากไป นิตยสารธุรกิจอย่าง Fast Company เผยว่าการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุเสียชีวิตอันดับสองของเยาวชนอายุ 15 ถึง 24 ปี จึงพ้องกับตัวเลขของเด็กๆ ที่กระโดดลงมาจากอาคาร The Vessel มองไปให้ไกลกว่านั้นได้ 2 แง่กว้างๆ หนึ่ง ปัจเจกกำลังมีความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต ส่งผลให้มีแนวโน้มที่เขาจะคิดหาหนทางปลิดลมหายใจอยู่แล้ว สอง หากมองในเชิงโครงสร้าง สถานการณ์ในโลก ในประเทศ ในเมือง ยิบย่อยลงมาถึงในสถานศึกษา ในสังคมเพื่อน หรือแม้แต่ในบ้าน อาจมีส่วนไม่มากก็น้อยต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตาย แน่นอน สถาปัตยกรรมส่งผลต่อสภาพแวดล้อม สภาพอารมณ์ และความรู้สึกของผู้คน แต่นั่นอาจไม่ใช่ทั้งหมดที่ทำให้คนคิดสั้น เราจึงสันนิษฐานว่า The Vessel อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งและอาจเป็นปลายเหตุหนึ่งเท่านั้น

จากสถานการณ์การฆ่าตัวตายในพื้นที่สาธารณะกลางแจ้ง นักวิจัย Charlotta Thodelius สังเกตว่าความคิดฆ่าตัวตายในกลุ่มคนหนุ่มสาวมักจะหุนหันพลันแล่น แต่เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ “เราป้องกันการฆ่าตัวตายหรือสถานการณ์เสี่ยงได้ด้วยการออกแบบที่รอบคอบ ฉันคิดว่าเราทำงานร่วมกับสถาปัตยกรรมได้ในลักษณะเดียวกับที่สังคมจำกัดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์อันตรายเพื่อป้องกันการนำสินค้าต่างๆ ไปใช้ฆ่าตัวตายได้เช่นกัน” เธอกล่าว

จากการสำรวจคนรอดชีวิต ในงานวิจัยของ Thodelius ค่อนข้างบ่งชี้ได้ว่าเมื่อคนเลือกจะปลิดชีวิตตัวเองที่ไหน เขาค่อนข้างวางแผนเรื่องสถานที่ที่แน่นอน โดยไม่ได้มีแพลนสำรองเป็นสถานที่อื่น นั่นน่าจะแสดงให้เห็นว่าในกรณีของ The Vessel ก็คล้ายคลึงในแง่ที่ว่าความสูงอาจส่งเสริมการเข้าถึงความตายให้ง่ายขึ้น จึงกลายเป็น Hot Spot ของคนที่อยากหนีการมีชีวิตอยู่ไปโดยปริยาย

กรณีของแลนด์มาร์กแห่งนี้ นักวิจารณ์บางคนเรียกร้องให้มีการรื้อถอน ทว่าหากอยากคงสถาปัตยกรรมรวงผึ้งนี้ไว้ ก็เป็นโจทย์สำคัญที่ดีไซเนอร์และเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องร่วมมือกันแก้ไขและพัฒนาในระยะยาว

Kevin Bennett ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่ง Penn State Beaver แนวร่วมศูนย์การออกแบบเมือง และสุขภาพจิตในลอนดอนให้ความเห็นประมาณว่าสถาปัตยกรรมอาจไม่ใช่แค่การคำนึงถึงความเท่อย่างเดียว แต่ต้องส่งเสริมสุขภาวะทางกายและใจ การออกแบบตึกรามบ้านช่อง ต้องคำนึงถึงฟังก์ชันที่ครบครันต่อการดำรงชีวิต ทั้งในมุมมองสุขภาพ ศิลปะ และสังคมวัฒนธรรม เพราะเขาเห็นว่าแนวโน้มคนในสังคมเมืองทั่วโลก กำลังรู้สึกโดดเดี่ยวและสื่อสารกันน้อยลง Bennett เชื่อว่าการป้องกันและแก้ไขในระยะยาว คือการสร้างสถานที่ที่ทำให้คนมีความสุข ปลอดภัย ไม่ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า ไม่กระตุ้นความวิตกกังวล และอาการทางจิตอื่นๆ 

ดังนั้นสำหรับ Bennett รากของปัญหา The Vessel ไม่ใช่งานสถาปัตยกรรมทั้งหมด เพราะงั้นเราตอบโจทย์ชีวิตของคนด้วยการสร้างสถานที่ใหม่ๆ ต่อไปได้ ขณะที่การปิดหรือรื้อถอนอาคารสูงอาจไม่ใช่ทางออกตายตัว 

เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องอาคารผีหลอกวิญญาณหลอน หรือเรื่องอาถรรพ์ประจำถิ่น แต่เป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสภาวะทางสังคมที่ส่งผลต่อคนใช้สอย ซึ่งควบคุมได้ด้วยการจัดการระบบการเมืองที่ดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการดีไซน์และนโยบายที่คิดมาอย่างลึกซึ้งจะช่วยป้องกันปัญหาระยะยาวได้ The Vessel จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งให้หวนกลับขบคิดว่างานออกแบบสร้างอาคารทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าระบบทั้งหมดเกื้อหนุนให้ผู้อยู่อาศัยและสังคมพัฒนา ปัญหาสุขภาพจิตก็จะน้อยลงไปด้วยนั่นเอง


Sources :
Fast Company | https://www.fastcompany.com/90665053/learning-from-the-vessel-how-cities-can-be-designed-to-prevent-suicide
Hudson Yards New York | https://www.hudsonyardsnewyork.com/discover/vessel

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.