ห้องเรียนเยียวยาจิตใจ ที่โรงเรียนไหนก็ให้ไม่ได้ - Urban Creature

Life is full of drama.
ชีวิตมันต้องเศร้าขนาดนั้นหรือ ?

ดราม่าเอยจงซับซ้อนยิ่งขึ้น… แปลกไหมยุคสมัยที่เรามีปัญหาร้อยแปด แต่ผู้คนยังชอบเสพดราม่าในโลกโซเชียล หากย้อนไปดูคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็คงเคยกุมขมับกับเรื่องของความรู้สึกทางใจไม่ต่างจากเรา พูดให้เห็นภาพอย่างเพลงฮิตที่ต่อให้ผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็หนีไม่พ้นความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ การไม่เป็นที่ยอมรับ ไปจนถึงปัญหาชีวิตที่คอยรุมเร้า

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือคนยุคนี้ใช้โลกออนไลน์เป็นที่พึ่งทางใจ เมื่อคนรอบข้างมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง แต่แม้ว่าเราจะมีเพื่อนหลักพันบนเฟซบุ้ก โลกก็ยังทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวเพราะไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร บางครั้งก็ไม่แน่ใจว่าการไปขอคำปรึกษาจากใครสักคน จะไม่ถูกด่วนตัดสินและเขาจะรับฟังอย่างเข้าใจจริงๆ

01 | Kindness Wins : ยุคที่สังคมต้องการความเห็นอกเห็นใจ

ปัญหาทางใจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราหันมาแบ่งปันความรู้สึกกันผ่านสเตตัสเฟซบุ๊กมากขึ้น ช่วงหลังมานี้เราจะเห็นว่าอาชีพไลฟ์โค้ชก้าวขึ้นมาเป็นยูทูปเบอร์ หรือบรรดาเพจคำคมก็มักมียอดไลค์ยอดแชร์พุ่งเสมอ ดูย้อนแย้งกับโลกโซเชียลที่เราต่างรู้จักกันอย่างผิวเผิน แต่เรากลับได้กำลังใจจากคนแปลกหน้าที่แชร์ความรู้สึกร่วมกัน

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้เขียนบทความเรื่อง ‘Kindfulness (Human Nature)’ เอาไว้ในรายงาน ‘เจาะเทรนด์โลก 2020’ มีใจความว่า “ความเอื้ออารีคือรากลึกที่บ่งบอกความเป็นมนุษย์ มีความสามารถในการบรรเทาความเจ็บปวดลง ทั้งยังเป็นอารมณ์พื้นฐานในการควบคุมตัวเอง” 

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีจึงจำเป็นในชีวิตและการทำงาน คนเราไม่มีทางประสบความสำเร็จด้วยตัวคนเดียว แต่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในปี 2017 Kindlab เผยการศึกษาว่า ความเอื้ออารีมีผลต่อสุขภาวะทางอารมณ์ ซึ่งจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยวอร์ริค ในอังกฤษ พบว่า พนักงานที่มีความสุขจะทำงานได้ดีขึ้น 12 % 

ทั้งนี้ความสุขยังเป็นตัววัดความสำเร็จของประเทศที่เหนือกว่าเรื่อง GDP อย่างรายงาน World Happiness Report 2019 โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่สำรวจความสุขของผู้คนใน 156 ประเทศ จากตัวชี้วัดต่างๆ ได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิต การได้รับการสนับสนุนจากสังคม ความรู้สึกเช่ือมั่นในรัฐบาล รวมถึงการมีอัธยาศัยดีของคนในสังคม และความเอื้ออารีต่อกัน

02 | The School of Life : ห้องเรียนวิชาชีวิต แค่ก้าวเข้ามาก็สบายใจ

วิธีลืมเขาจะเข้าโรงเรียนที่ไหน ถึงจะทำใจให้ลืมเขาได้สนิท… คงจะดีถ้าโรงเรียนมีวิชาแนะแนวที่ไม่ได้มุ่งแต่เส้นทางสู่มหาลัย แต่สอนการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ด้านจิตใจ ตอนนี้เราไม่ต้องวิ่งหาคำตอบให้กับชีวิตเพียงลำพังอีกต่อไป หากได้รู้จักกับ ‘The School of Life’ องค์กรระดับโลกที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งให้บริการด้วยความเชื่อว่า “ชีวิตเราจะไม่สามารถถูกเติมเต็มได้ ถ้าไม่รู้จักตัวเองให้ดีพอ”

โรงเรียนชีวิตแห่งนี้สอนให้ผู้คนเข้าใจตัวเองมากขึ้น ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ ไกด์ไลน์ชีวิตการทำงาน รู้จักการเข้าสังคม รวมถึงค้นพบความสงบในจิตใจ และบาลานซ์ความสุขในชีวิตได้ดีขึ้น ผ่านคอมมูนิตี้ที่อบอุ่นและพร้อมสนับสนุนทุกคนที่เข้ามา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีสอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไหน

โดยมีบริการหลากหลายที่จัดให้เหมาะกับแต่ละคน เพียงก้าวเข้ามาในร้านแล้วระบายความในใจ พนักงานก็จะช่วยแนะนำหนังสือดีๆ หรือการ์ดเกมที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อปความฉลาดทางอารมณ์สำหรับที่ทำงาน ไปจนถึงให้คำปรึกษาโดยนักจิตบำบัดในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ต่างจากไปคาเฟ่หรือเข้าร้านตัดผม

The School of Life มีสาขาใน 11 เมือง ทั้งฝั่งยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกาใต้ เช่น ลอนดอน อัมสเตอร์ดัม เบอร์ลิน เมลเบิร์น รวมทั้งฝั่งเอเชียอย่าง โซล และไทเป แถมยังมีช็อปออนไลน์และบล็อกบทความให้เข้าไปอ่านกันได้ฟรีๆ บนเว็บไซต์ www.theschooloflife.com

03 | Live & Learn : คลายปมปัญหาหัวใจคนยุคนี้

เนื้อหาของ The School of Life โฟกัสไปที่ 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การรู้จักตัวเอง (Self-Knowledge) ความสัมพันธ์ (Relationship) การทำงาน (Work) ความสงบในจิตใจ (Calm) การเข้าสังคม (Sociability) การพักผ่อนและวัฒนธรรม (Leisure & Culture) 

เราจึงอยากแนะนำวิดีโอที่น่าจะตรงใจหลายคนในช่วงเวลาที่ต่างไป ถ้าถูกใจหัวข้อไหนก็ไปติดตามกันต่อได้ในช่องยูทูบของ The School of Life กันเลย !

Lesson 1 : When You Feel Stuck in a Relationship

เมื่อรู้สึกว่ารักเดินทางมาถึงทางตัน หรือกำลังอยู่ในความสัมพันธ์แย่ๆ แต่ความผูกพันมันฉุดรั้งเราไว้ ทำให้ต้องคิดเวียนวนว่าจะทนหรือจะเท หลายครั้งเราลังเลว่าควรจะพูดปัญหานี้กับคนรักดีไหม ?  ซึ่งการที่เราติดอยู่ในสภาวะน่าอึดอัดนี้ มีเหตุผลของมันอยู่ก็คือ “เราไม่กล้าที่จะเปิดบทสนทนาที่แสนลำบากใจนี้ และไม่ยอมตัดใจเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า”

สาเหตุของเรื่องนี้เป็นเพราะเรา ‘ขาดความมั่นใจ’ เราอาจเคยเป็นเด็กดีที่กลัวพ่อแม่จะโกรธ หรือกังวลเกี่ยวกับความรู้สึกของคนอื่นมากเกินไป เรามักตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราเลือกมันแฟร์กับคนอื่นไหม และเรามักจะไม่พูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

ทุกคนล้วนกลัวการเดินออกจากความสัมพันธ์ เพราะไม่มีอะไรการันตีได้ว่า หนทางข้างหน้าจะดีกว่าไหม และเฝ้าถามตัวเองว่า ‘เขา’ จะโอเคไหม เพื่อนๆ จะคิดอย่างไร หรือแม้แต่ครอบครัวเราจะรับได้หรือเปล่า ซึ่งท้ายที่สุดไม่ว่าเราจะเลือกเส้นทางไหน บุคคลเหล่านี้จะยอมรับมันได้ และความจริงที่จี๊ดใจก็คือเมื่อเรื่องราวผ่านไป พวกเขาแคร์การตัดสินใจของเราจริงๆ หรอ?

จุดเริ่มต้นที่จะเลิกยึดติดความสัมพันธ์แบบนี้คือ เราต้องยอมรับก่อนว่า ความสัมพันธ์ที่ดีต้องไม่เจ็บปวด แม้การเลิกกันมันจะมืดหม่นมากก็ตาม แต่ความทุกข์มันได้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ไปแล้ว ความรู้สึกแย่หรือโดดเดี่ยวที่เราเคยกลัว เชื่อเถอะว่ามันจะไม่แย่ลงไปกว่านี้เมื่อเราเดินจากไป มันจะค่อยเป็นค่อยไปในการดึงตัวเรากลับมา เราจำเป็นต้องเลือกเดินในทางที่เราไม่เคยอยากจะก้าวออกไป เพื่อบอกให้โลกรู้ถึงสิ่งที่เราต้องการในชีวิตและต้องกล้าที่จะเชื่อว่าเราจะเจอสิ่งที่คู่ควรจริงๆ

Lesson 2 : Why You Don’t Need to Be Exceptional

นึกย้อนไปในวัยเด็กเราคงเคยถูกถามว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร ? ซึ่งเป็นคำถามที่เต็มไปด้วยความคาดหวังในคำตอบ ทุกคนบอกให้เราเป็นคนที่พิเศษ และมองว่าการเป็นคนธรรมดาสามัญเป็นเรื่องที่ไม่น่าภาคภูมิใจ บางคนเติบโตมาท่ามกลางความรู้สึกกดดัน ในขณะที่บางคนอาจจะพอใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ว่าเขาจะเป็นคนที่มีพรสวรรค์หรือไม่ก็ตาม

พ่อแม่บางคนต้องการให้เราโดดเด่นกว่าเด็กคนอื่นๆ ไม่ว่าจะด้านสติปัญญา หน้าตา หรือการเป็นที่รัก นั่นอาจเป็นเพราะพ่อแม่เหล่านี้ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง พวกเขาต้องต่อสู้กับความหดหู่หรือโกรธชีวิตของตัวเอง หรือแม้แต่การต้องทนทุกข์กับชีวิตคู่ และหน้าที่ของเด็กที่ไม่มีทางเลือกก็คือ ทำตามความคาดหวังของพ่อแม่เพื่อให้พวกเขารู้สึกดี

คนส่วนใหญ่ปฏิเสธว่าสิ่งที่ตัวเองมีนั้นดีพอ และดูถูกตัวเองว่าเป็น ‘คนล้มเหลว’ ในโลกใบนี้แบ่งคนออกเป็นสองประเภทคือ ผู้มีสิทธิ์เลือกที่จะเป็นคนธรรมดา และผู้ที่ถูกบังคับให้ต้องโดดเด่น ในโรงเรียนเราเรียนหนักไปเพื่อสอบให้ได้ที่หนึ่ง แม้ว่าเมื่อโตขึ้นเราจะไม่ได้รู้สึกเป็นคนพิเศษอะไร แต่เด็กน้อยคนนักที่จะได้ใช้ชีวิตโดยไม่ได้รับความกดดันเหล่านี้

ในภาพยนตร์ โฆษณา หรือแม้แต่ภาพถ่ายในโซเชียล มักนำเสนอภาพของ รถสปอร์ต ทริปพักร้อนสุดหรู เที่ยวบินแบบเฟิร์สคลาส ชื่อเสียงเงินทอง หรือคนที่อยู่ในสปอตไลท์ สิ่งที่น่าหลงใหลเหล่านี้ล้วนดูเป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แต่ผลที่ตามมาคือแนวคิดที่ปลูกฝังว่า ชีวิตของเราช่างไร้ค่าเมื่อเทียบกับคนอื่น

เราคิดว่าชีวิตที่เงียบสงบเป็นสิ่งที่คนล้มเหลวเท่านั้นจะแสวงหา แต่บางทีความสำเร็จอาจเป็นอะไรก็ได้ที่เราสามารถชื่นชมหรือพึงพอใจ โดยปราศจากความรู้สึกเกลียดตัวเอง วันหนึ่งเราอาจค้นพบว่าตัวเองอยู่เหนือความคาดหวังของคนอื่น ความหรูหราที่แท้จริงอาจไม่มีอะไรมากไปกว่าความเรียบง่าย มิตรภาพที่ดีแต่ก็มีมุมที่แสนเปราะบาง ความสร้างสรรค์ที่ปราศจากเสียงชื่นชมยืนดี หรือความรักที่ไม่ต้องคาดหวังหรือน่าสิ้นหวังจนเกินไป เท่านั้นก็เป็นชีวิตที่เพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ?

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.