ความเหลื่อมล้ำและความไม่ยุติธรรมในหนัง วิมานหนาม - Urban Creature

‘วิมานหนาม (The Paradise of Thorns)’ ผลงานล่าสุดจากค่าย GDH ร่วมกับ ‘ใจ สตูดิโอ’ ผ่านการกำกับของ ‘บอส-นฤเบศ กูโน’ (ซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ) ด้วยเรื่องราวที่แปลกใหม่แตกต่างจากสิ่งที่ค่ายหนังอารมณ์ดีของไทยเคยทำมา พร้อมการแสดงของศิลปินที่พลิกบทบาทมาสู่การเป็นนักแสดงอย่าง ‘เจฟ ซาเตอร์’ และ ‘อิงฟ้า’ นักร้องและนางงามที่สลัดบทบาทมารับบทใหม่ในแบบที่ผู้ชมไม่เคยเห็นมาก่อน

ทั้งหมดนี้คงทำให้หลายคนรู้สึกอยากดูวิมานหนามขึ้นมาทันที แต่อีกความน่าสนใจสุดๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ความต้องการนำเสนอประเด็นสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนี้ ด้วยการมองเห็นถึงปัญหาของช่องโหว่ทางกฎหมายมากมายที่ทำให้เกิดความทุกข์ยากแก่ผู้คนชายขอบที่ไม่ได้เป็นที่สนใจในสังคม

ประเด็นหนึ่งที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ สิทธิตามกฎหมายของคู่รัก LGBTQ+ ที่ทำให้หลายคนพลาดโอกาสในการมีชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นไปอย่างน่าเสียดาย สิ่งเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านเรื่องราวของ ‘ทองคำ’ (เจฟ ซาเตอร์) และ ‘เสกสรร’ (เต้ย พงศกร) คู่รักที่ร่วมกันสร้างสวนทุเรียนขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองกว่า 5 ปี โดยทองคำเป็นคนหยิบยื่นเงินในการไถ่ถอนที่ดินติดจำนองและมอบที่ดินผืนนี้ให้เสกไว้เป็นดั่งทะเบียนสมรสของทั้งสอง

แต่ยังไม่ทันได้มีความสุขนานพอที่จะเห็นผลผลิตผลิดอกออกผล เสกก็ประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิตไปในที่สุด ทำให้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดกลับไปตกอยู่กับ ‘แม่แสง’ (สีดา พัวพิมล) ผู้เป็นมารดาของเสก และได้พา ‘โหม๋’ (อิงฟ้า วราหะ) ลูกสาวที่เก็บมาเลี้ยง รวมทั้ง ‘จิ่งนะ’ (เก่ง-หฤษฎ์ บัวย้อย) น้องชายของโหม๋ เข้ามาถือสิทธิ์ในที่ดินแห่งนี้อีก

หนังไทย ภาพยนตร์ วิมานหนาม The Paradise of Thorns สมรสเท่าเทียม ทองคำ จิ่งนะ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ แม่ฮ่องสอน สวนทุเรียน

เรื่องราวการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ดุเด็ดเผ็ดมัน อารมณ์ฉูดฉาดด้วยฝีมือกำกับของ บอส-นฤเบศ กูโน ทั้งยังตกแต่งองค์ประกอบภาพในฉากต่างๆ ด้วยสีสันอันจัดจ้านที่ถูกออกแบบจัดวางมาแล้วเป็นอย่างดี ช่วยส่งเสริมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ และชวนให้นึกถึงสำนวน ‘หนามยอกเอาหนามบ่ง’ ที่หมายถึงการตอบโต้การกระทำอันเจ็บช้ำในทำนองเดียวกัน

เมื่อฉันเจ็บช้ำ เธอก็ต้องเจ็บช้ำด้วย ต่างคนต่างต้องเจ็บช้ำอย่างเท่าเทียม ด้วยเหตุว่าทุกคนไม่สามารถมองหาสิทธิที่เท่าเทียมในด้านอื่นได้ เพราะแต่ละคนต่างเป็นชนชั้นรากหญ้าคนชายขอบผู้ด้อยโอกาสในสังคม ความเท่าเทียมเดียวที่พวกเขาจะพอมองหาได้คือ การลิดรอนสิทธิจากคนชั้นเดียวกันจนสาสมแก่ใจ จนรู้สึกว่ายุติธรรมมากพอแล้ว ความรู้สึกเหล่านั้นจึงจะกลายเป็นความเท่าเทียมสำหรับพวกเขาไปในที่สุด

ถึงอย่างนั้นผู้คนยังคงถวิลหาความเท่าเทียมอยู่เสมอ ด้วยประเด็นที่ว่า เหตุไฉนใครบางคนถึงได้มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ในขณะที่บางคนกลับต้องปากกัดตีนถีบอย่างยากลำบาก การเรียกร้องมองหาความเท่าเทียมอาจประกอบรวมจากหลากหลายปัจจัยที่ชวนให้มองเห็นความเป็นมนุษย์ ความสัมพันธ์ของผู้คน และบริบทของสภาพสังคมที่ทำให้ผู้คนทั้งหลายรู้สึกว่าความยุติธรรมนั้นไม่มีอยู่ในโลกใบนี้เลย

หรือหากมีจริง เหตุใดความยุติธรรมกลับเกิดขึ้นอย่างตาลปัตรผิดเพี้ยนราวกับโลกใบนี้บิดเบี้ยวและพร้อมซ้ำเติมคนที่คู่ควรจะได้รับสิ่งต่างๆ อยู่ร่ำไป ซึ่งเป็นประเด็นที่วิมานหนามชวนให้ผู้ชมแหวกดงหนามลอกปอกเปลือกออกมาถกเถียงกัน

หนังไทย ภาพยนตร์ วิมานหนาม The Paradise of Thorns สมรสเท่าเทียม ทองคำ จิ่งนะ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ แม่ฮ่องสอน สวนทุเรียน

โศกนาฏกรรมความเป็นมนุษย์ในสงครามแย่งชิงที่ดินสวนทุเรียน

ในสงครามการแย่งชิงผืนที่ดินสวนทุเรียนเจ้าปัญหาในเรื่อง แรงขับเคลื่อนที่มีพลังอำนาจเด่นชัดที่สุดคือ ความต้องการอยากจะมีหรือความทนเห็นคนอื่นได้ในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความเจ็บช้ำที่กดทับแต่ละตัวละครเอาไว้

ทองคำ ต้องการทุกสิ่งที่เป็นของตนเองคืน เพราะสูญเสียคนรักที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสอันเป็นเครื่องยืนยันสถานะความรักตามกฎหมายที่พวกเขามีให้แก่กันได้

แม่แสง ต้องการชีวิตที่สุขสบาย เพราะต้องการเรียกคืนความยากลำบากในการเลี้ยงดูเสก บุตรชายเพียงหนึ่งเดียวของตน 

โหม๋ ต้องการมีชีวิตและครอบครัวเป็นของตนเอง ดั่งที่เธอไม่เคยมีมาก่อนและไม่เคยได้รับความรู้สึกห่วงใยจริงๆ จากใครสักคน

ทุกตัวละครล้วนแล้วแต่เป็นมนุษย์ที่ถูกผลักให้จนมุมด้วยความปรารถนาจากสิ่งที่ตัวเองขาดหายไป ความเว้าแหว่งของช่องโหว่ภายในจิตใจพวกเขาค่อยๆ แปรเปลี่ยนบิดเบี้ยวไป เมื่อสัมผัสได้ว่าไม่มีทางที่จะได้รับสิ่งเหล่านั้นตามที่ปรารถนา

พวกเขาไม่ได้ต้องการสิ่งใดมาเติมเต็มอีกต่อไป แต่พลันกลายเป็นความต้องการทำลายให้อีกฝ่ายผุพังแหลกสลาย ยิ่งอีกฝ่ายเจ็บช้ำน้ำใจมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองก็สะท้อนความเป็นมนุษย์ที่เห็นแก่ตัว ทำเพื่อตัวเองด้วยเช่นกัน

หนังไทย ภาพยนตร์ วิมานหนาม The Paradise of Thorns สมรสเท่าเทียม ทองคำ จิ่งนะ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ แม่ฮ่องสอน สวนทุเรียน

หากมองดีๆ โครงสร้างของวิมานหนามนั้นมีความเป็นเรื่องราวแบบ ‘โศกนาฏกรรม’ (Tragedy) คือดราม่าที่ว่าด้วยความตาย ความเศร้าโศก ความสูญเสีย และชีวิตที่ไม่สมปรารถนาของมนุษย์ หนึ่งในเรื่องราวโศกนาฏกรรมที่โด่งดังที่สุดของโลกคือ Macbeth ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘แมคเบธ’ อัศวินผู้เดินทางกลับจากสนามรบ และเจอแม่มดสามตนที่ทำนายว่าเขาจะได้เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่แห่งสกอตแลนด์ ซึ่งนำไปสู่ความต้องการที่จะปลงพระชนกษัตริย์ดันแคน แต่อีกใจหนึ่งกษัตริย์ดันแคนก็เป็นผู้ที่รักและชื่นชมในตัวแมคเบธ จนเขาไม่กล้าทำตามสิ่งที่ต้องการ

หรือจะเป็นภาพยนตร์อย่าง Ran (1985) ของ อากิระ คุโรซาวา ที่คล้ายคลึงบทละคร King Lear ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ อีกเช่นกัน ว่าด้วยเรื่องของโชกุนที่มีบุตรชาย 3 คน และเขาได้มอบตำแหน่งส่งต่อให้ลูกชายคนโต เกิดเป็นความไม่พอใจแก่ลูกคนที่เหลือ ก่อให้เกิดเป็นกลียุคโกลาหล วินาศสันตะโร ทุกสิ่งในโลกผิดเพี้ยน เมื่อพี่น้องยอมห้ำหั่นฆ่าแกงกันเอง ลูกในไส้ลุกขึ้นเป็นปรปักษ์ต่อผู้เป็นบิดา ต้นสายปลายเหตุในเรื่องราวโศกนาฏกรรมก่อเกิดจากความอยาก ความปรารถนา ความต้องการที่จะครอบครองสิ่งที่ไม่เคยมี และจะไม่มีใครได้รับมันไปเช่นกัน โศกนาฏกรรมจึงเป็นประเภทของเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นมนุษย์เรื่อยมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ประโยคเด็ดที่สามารถสะท้อนความเป็นมนุษย์ในโศกนาฏกรรมได้ดีประโยคหนึ่งนั้นมาจาก Macbeth ที่กล่าวว่า ‘Fair is foul, and foul is fair : Hover through the fog and filthy air.’ ที่แปลได้ว่า ‘ดีคือเลว ทรามคืองาม อวลไอหมอกและอากาศเลวทราม’ สะท้อนว่าเหตุการณ์ทั้งหมดจะตัดสินได้อย่างไรว่าอะไรดี อะไรชั่ว ใครคือคนดี ใครคือคนเลวทราม เช่นเดียวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเสก แม่แสง และโหม๋

หนังไทย ภาพยนตร์ วิมานหนาม The Paradise of Thorns สมรสเท่าเทียม ทองคำ จิ่งนะ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ แม่ฮ่องสอน สวนทุเรียน

ลองนึกภาพดูว่า หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง พวกเขาคงถูกนำไปออกรายการทีวีชื่อดัง และเปิดโอกาสให้สังคมตัดสินด้วยแว่นตาของศีลธรรมความถูกต้องว่าใครสมควรเป็นผู้ได้ครอบครองทุกสิ่ง ใครควรถูกสังคมลงโทษอย่างสาสม จะต้องมีใครสักคนเป็นคนดีถูกชื่นชม และใครสักคนกลายเป็นตัวร้ายที่ถูกลงทัณฑ์อย่างแน่นอน

แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากตัดความผิดชอบชั่วดีออกไป พวกเขาคือมนุษย์ที่ต่างก็ถูกความไม่เท่าเทียมกดทับจนมืดบอด มองไม่เห็นซึ่งกันและกันว่าพวกเขาเองก็ต่างไม่ได้มีสถานะแตกต่างกันมากนัก จนพร้อมที่จะงัดทุกความเหลื่อมล้ำที่ได้ประสบพบเจอมาใช้ทิ่มแทงกันและกัน แต่นั่นก็เป็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ไม่ต่างจากธรรมชาติของทุเรียนที่ต้องมีหนามไว้ทิ่มแทง 

หากวันหนึ่งทุเรียนไร้ซึ่งหนาม ก็คงจะสูญสิ้นความเป็นทุเรียนไปโดยปริยาย เช่นกัน หากมนุษย์ไร้ซึ่งความต้องการ ก็คงสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ไปด้วย

ความสัมพันธ์ที่ไม่มีวันผลิบานออกผล เพราะถูกกีดกันด้วยกฎหมายและชายเป็นใหญ่

ถ้าขยายแว่นออกมาส่องหนังระดับเอเชีย หนึ่งในผู้กำกับชื่อดังที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นครอบครัวอยู่บ่อยครั้งคือ ‘ฮิโรคาซุ โครีเอดะ’ แตกต่างกันที่เขาเลือกนำเสนอผู้คนที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกันแต่อยู่ร่วมกันดั่งครอบครัว ซึ่งก็นับว่าผิดกฎหมายผิดจารีตของสังคมญี่ปุ่นจนกลายเป็นประเด็นน่าถกเถียง 

ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นใน Like Father, Like Son (2013) หรือ Shoplifters (2018) ผู้กำกับยอดฝีมือท่านนี้ตั้งคำถามถึงคำว่าครอบครัวผ่านผู้คนที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวดองกัน แต่สถานการณ์นำพาให้พวกเขาผูกพันและใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขเหมือนครอบครัวจริงๆ แต่เมื่อมีศีลธรรมของสังคมและหลักกฎหมายเข้ามา ความสัมพันธ์เหล่านี้ก็กลายเป็นความไม่ถูกต้องไปโดยปริยาย

แต่สำหรับวิมานหนาม ตัวละครต่างๆ ในเรื่องนั้นมีความเกี่ยวดองกันไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง แต่ไม่มีความต้องการจะอยู่ร่วมกัน เนื่องจากผลประโยชน์และความชอบธรรมที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาเพื่อครอบครองที่ดินผืนนี้ ทุกตัวละครสามารถหยิบยกความชอบธรรมฝั่งตนเองขึ้นมาใช้เป็นกรรมสิทธิ์การครอบครองที่ดินสวนทุเรียนของเสก แต่ด้วยช่องว่างทางข้อกฎหมายทำให้เกิดเล่ห์กลได้มากมาย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกแต่งเติมเกินจริงแต่อย่างใด 

หนังไทย ภาพยนตร์ วิมานหนาม The Paradise of Thorns สมรสเท่าเทียม ทองคำ จิ่งนะ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ แม่ฮ่องสอน สวนทุเรียน

หนังของโครีเอดะที่มีเซตติงเป็นญี่ปุ่นและเกาหลี ทำให้เห็นว่าในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการครบถ้วนพอสมควร การอยู่กินกันดั่งครอบครัวที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน พวกเขาไม่ได้คำนึงถึงความร่ำรวยแต่อย่างใด ขอแค่มีกินมีสุขดั่งที่ครอบครัวอื่นเขาเป็นบ้างก็เพียงพอ แต่สำหรับประเทศที่สวัสดิการต่างๆ ไม่ทั่วถึงและยังต้องดิ้นรนด้วยตนเอง ความร่ำรวยคือสิ่งเดียวที่ทำให้ผู้คนสุขสบาย ถึงขนาดยอมทำลายคนในครอบครัวกันได้ด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าตามหลักของกฎหมาย แม่แสงเป็นผู้ชอบธรรมที่สุดในการครอบครองที่ดินของเสก เมื่อเสกตาย ที่ดินจึงตกเป็นของคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดที่สุด ซึ่งในที่นี้ก็คือผู้เป็นแม่ แต่ในฝั่งของผู้ชมที่ตามติดเหตุการณ์ท้องเรื่องมา ผ่านสายตาที่ประจักษ์ความยากลำบากของตัวละครหลัก ทองคำคือคนที่ควรจะได้ครอบครองที่ดินผืนนี้ เพราะเขาเป็นคนปลูกบ้านทำสวนร่วมกับเสกเป็นเวลา 5 ปี และออกเงินไถ่ถอนที่ดินแห่งนี้จากการติดจำนองด้วยตัวเอง

อีกทั้งเขายังเป็นคนรักคู่สมรสของเสกในทางพฤตินัย แต่ด้วยทางกฎหมายนั้นยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมรองรับ ทำให้ทองคำไม่สามารถมีส่วนเกี่ยวข้องอันใดกับตัวเสกได้เลย สถานะของทองคำในสวนทุเรียนจึงไม่ต่างอะไรจากคนนอกที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวิมานแห่งนี้ จนในทางหนึ่งสามารถพูดได้ว่า ‘เขาคือผู้บุกรุกในที่ดินของตนเอง’

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นจากการไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมสำหรับทองคำไม่ใช่เรื่องทรัพย์สินที่ดินหรือสถานะแต่อย่างใด แต่คือการที่มันพรากชีวิตคนรักของเขาไปต่อหน้าต่อตา หากทองคำกับเสกได้จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย เขาคงเซ็นอนุญาตให้ผ่าตัดได้โดยไม่ต้องรอแม่ที่อยู่ห่างไกล นี่คือฉากในหนังที่มีแง่มุมของความจริงบอกเล่าถึงความลำบากที่คู่รัก LGBTQ+ ต่างต้องพบเจอในชีวิตจริง

ถึงอย่างนั้นไม่ได้มีเพียงฟากฝั่งของคนเพศหลากหลายที่ถูกกดทับอยู่ฝ่ายเดียว เมื่อมองลงไปถึงตัวละครโหม๋ ที่ดูเหมือนเป็นนางร้ายของเรื่อง ผู้หวังจะฮุบทรัพย์สมบัติมรดกทุกอย่างมาเป็นของตนเองด้วยเล่ห์กลอุบาย แท้จริงแล้วโหม๋ก็เป็นหญิงสาวที่ถูกกดทับด้วยระบอบชายเป็นใหญ่ เพราะถึงแม้เธอจะเป็นลูกที่เก็บมาเลี้ยงก็ตาม แต่การเป็นผู้หญิงก็ยากที่จะได้รับมรดกตกทอดมาสู่เธออีกอยู่ดี

ด้วยความที่ค่านิยมสังคมไทยจะมอบทุกอย่างให้ลูกผู้ชายก่อน เห็นได้ชัดจากฉากที่ ทองคำสามารถบวชให้แม่แสงแทนที่เสกได้ คุณงามความดีความชอบที่โหม๋ทำมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแทบจะไม่เทียบเท่ากับที่เสกสามารถมอบให้แม่แสงได้เลย แม้ตัวเขาจะไม่ได้อยู่กับแม่ของตนเลยก็ตาม สิ่งเหล่านี้กดทับผลักให้คนเป็นลูกสาวอย่างโหม๋เต็มไปด้วยความเจ็บแค้นไม่เห็นใจใครระดับที่พูดว่า “ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นชีวิตใครน่าสงสารเท่ากูอีกแล้ว จะให้สงสารใครได้อีก”

หนังไทย ภาพยนตร์ วิมานหนาม The Paradise of Thorns สมรสเท่าเทียม ทองคำ จิ่งนะ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ แม่ฮ่องสอน สวนทุเรียน

ถึงอย่างนั้นตัวแม่แสงเองก็มิวายถูกกดทับจากการต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว (ซึ่งพออนุมานได้จากที่ไม่มีการพูดถึงบทบาทพ่อของเสกแต่อย่างใด) ที่ถูกทอดทิ้งไว้กับคุณภาพชีวิตที่ยากจนและความยากลำบากในการใช้ชีวิตที่เดินไม่ได้ แต่ก็ยังเลี้ยงดูบุตรชายมาจนเติบโตได้ในที่สุด เสกจึงกลายเป็นมรดกล้ำค่าเพียงสิ่งเดียว และเป็นเครื่องยืนยันถึงความบากบั่นในชีวิต ที่เธอหวังถึงผลผลิตที่จะผลิดอกออกผลเพื่อให้ชีวิตของเธอสุขสบายขึ้น ดั่งคำที่ว่า ‘ลูกก็เป็นสมบัติของคนเป็นพ่อเป็นแม่ตลอดไป’

นอกเหนือจาก 3 ตัวละครหลักของเรื่อง อีกหนึ่งตัวละครที่ถูกละเลยไปจากความสนใจคือ จิ่งนะ ผู้เปรียบเสมือนคนนอกอย่างแท้จริงที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับทรัพย์สมบัติ และรู้ตัวเองดีว่าไม่มีวันจะได้ครอบครองสิ่งใดเลย

สำหรับเรา เขาเปรียบเสมือนภาพแทนของคนกลุ่มน้อยที่ยังคงถูกละเลย ปล่อยให้พบชะตากรรมอย่างตามมีตามเกิดในสังคมที่ไม่สามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องสิ่งใดจากใครได้ แต่ก็ยังแสวงหาความรักอันเป็นสิ่งเดียวที่สามารถครอบครองได้อยู่เสมอ

บรรดาตัวละครในวิมานหนามแห่งนี้จึงเป็นภาพแทนของผู้ที่ถูกกดทับในสังคม และถูกผลักให้ไปอยู่สุดของชายขอบได้อย่างเห็นชัดที่สุด หากไม่ได้มองถึงอุปนิสัยหรือการกระทำที่ต้องตัดสินผ่านเลนส์ความผิดชอบชั่วดี สิ่งที่ต้องชื่นชมมากๆ คือคนเขียนบทที่สร้างสรรค์ตัวละครให้เกี่ยวโยงกับประเด็นที่ถูกกดทับได้อย่างเทาๆ เอาใจช่วยไม่สุดและเกลียดไม่ลง จนยากจะตัดสินว่าใครควรค่าที่จะได้รับทุกสิ่งทุกอย่างไป

หนังไทย ภาพยนตร์ วิมานหนาม The Paradise of Thorns สมรสเท่าเทียม ทองคำ จิ่งนะ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ แม่ฮ่องสอน สวนทุเรียน

วิมานแห่งขวากหนามอันเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำที่ยังคงทิ่มแทงชีวิต

ท่ามกลางสงครามการแย่งชิงผืนที่ดินสวนทุเรียน ภายนอกของสิ่งที่ทุกคนต่างต้องการครอบครองนั้นแตกต่างกันไปตามสิ่งที่พวกเขาขาดหาย แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนหลีกหนีเหมือนกันคือ ความจน ความอดอยากแร้นแค้นที่ไม่มีใครต้องการ

น่าสนใจที่ในเรื่อง สวนของราชาผลไม้ที่มีราคาสูงอย่างทุเรียนกลับตั้งอยู่ในจังหวัดที่ยากจนที่สุดอย่างแม่ฮ่องสอน ซึ่งดูเป็นความประชดประชันกันเองเป็นอย่างมาก ทุกตัวละครต่างมีชีวิตที่เคยสัมผัสความแร้นแค้นและด้อยโอกาสในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ที่ควรจะได้รับ ยกตัวอย่าง ฉากที่ทองคำไปปรึกษาทนายว่าเขามีสิทธิ์ในที่ดินไหม จนได้คำตอบที่ยิ่งซ้ำเติมเขาว่า “คนแบบเราไม่ควรโง่ยกทุกอย่างให้ผู้ชาย”

แม้ว่าในปัจจุบันสมรสเท่าเทียมจะผ่านร่างกฎหมายแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นเสมือนบันไดขั้นแรก เพราะยังมีข้อกฎหมายอีกหลายส่วนที่ยังคงต้องถูกพิจารณา อย่าง การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ หรือการที่คู่รัก LGBTQ+ จะรับอุปการะเด็กมาเป็นลูกบุญธรรม นี่ยังไม่นับรวมช่วงเวลาที่ผ่านมาของชีวิตที่ถูกลิดรอนโอกาสไป

โหม๋ถูกเก็บมาเลี้ยงให้ใช้ชีวิตทำงานอยู่ในบ้านเพิงบนดอย เก็บผักกาดขายเป็นรายได้ ผักที่ขายไม่ได้ก็ถูกนำมาผัดเป็นอาหารแต่ละมื้อ คุณภาพชีวิตแร้นแค้นขนาดที่ว่าการได้กินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ยากแสนยากซะเหลือเกิน หากเธอได้รับการช่วยเหลือที่ดีจากทางหน่วยงานรัฐก็คงมีพื้นฐานชีวิตที่ดีกว่านี้ อีกทั้งยังอาจจะช่วยบรรเทาการดูแลแม่แสงไปอีกทาง

หนังไทย ภาพยนตร์ วิมานหนาม The Paradise of Thorns สมรสเท่าเทียม ทองคำ จิ่งนะ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ แม่ฮ่องสอน สวนทุเรียน

และหากไปโฟกัสที่ต้นตอปัญหาจริงๆ การที่แม่แสงเดินไม่ได้ก็นับเป็นอุปสรรคของตัวละครแล้ว ทว่าสภาพการใช้ชีวิตบนดอยที่ถนนหนทางทุรกันดารต่างหากที่ยิ่งกระหน่ำความเลวร้ายให้สถานการณ์แย่ลง จนเธอเสียโอกาสในการเดินทางไปเซ็นผ่าตัดให้เสก หรือกระทั่งสวัสดิการในการดูแลผู้ทุพพลภาพก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นแต่อย่างใด การจะเดินทางไปทำกายภาพครั้งหนึ่งเป็นอะไรที่ยากลำบากแสนเข็ญ หากมีถนนหนทางที่ดีทั่วถึงกับคนทุกหย่อมหญ้า ชะตากรรมของตัวละครแต่ละคนในเรื่องคงจะไม่ถูกบีบบังคับให้เป็นเช่นนี้

อีกจุดที่อยากพูดถึงคือ ความแร้นแค้นที่ถูกนำเสนอผ่านสีสันอันฉูดฉาดแบบต่างจังหวัดในบริบทชนบทไทยๆ ที่ปรากฏในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของใช้ต่างๆ จนชวนให้นึกถึงความไทยๆ แบบสไตล์หนังของ ‘วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง’ อย่างฟ้าทะลายโจร (2000), หมานคร (2004) หรือ เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ (2023) แต่ไม่จัดจ้านเท่าและดูเป็นธรรมชาติกว่า ทำให้เห็นสีสันความเป็นชนบทแบบที่คนเมืองอาจจะไม่ได้พบบ่อยนักในป่าคอนกรีต ซึ่งสีสันบางอย่างอาจเกิดขึ้นเพราะคุณภาพชีวิตที่แร้นแค้นเกินกว่าจะเข้าถึงสิ่งของที่มีคุณภาพ คุมโทนได้เหมือนคนเมือง

แต่บางสีสันก็ดูงดงามน่าชม นั่นคือ ความฉูดฉาดในงานบวชของทองคำที่บวชให้แม่แสง ซึ่งเป็นภาพการบวชแบบที่คนเมืองไม่ค่อยคุ้นเคย เพราะเป็นประเพณีปอยส่างลอง หรือบวชลูกแก้ว ที่จะมีมงกุฎตกแต่งสวมหัวและเครื่องประดับอีกมากมาย รวมถึงการแต่งหน้าเพื่อให้ผู้ที่บวชหรือจะเรียกแทนว่า ‘ส่างลอง’ ดูเหมือนกษัตริย์มากที่สุด

อีกส่วนสำคัญคือจะมี ‘ม้าส่างลอง’ ผู้ที่ให้ส่างลองขี่คอ ซึ่งเป็นฉากที่จิ่งนะเข้ามามีบทบาทแก่ตัวทองคำ จนกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ชัดเจนขึ้นในที่สุด รวมถึงดนตรีประกอบที่ทำโดย ‘หัวลำโพงริดดิม’ ที่ใช้เสียงของเครื่องดนตรีพื้นถิ่นในรูปแบบของดนตรีประกอบภาพยนตร์แบบ Suspense ให้ผู้ชมเกิดความไม่ไว้วางใจทิศทางของสิ่งที่ตัวละครจะกระทำ

หนังไทย ภาพยนตร์ วิมานหนาม The Paradise of Thorns สมรสเท่าเทียม ทองคำ จิ่งนะ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ แม่ฮ่องสอน สวนทุเรียน

หากภาพยนตร์อย่าง Parasite (2019) ของ บงจุนโฮ คือภาพการทวงคืนความเหลื่อมล้ำของชนชั้นล่างที่ตะเกียกตะกายขึ้นมาแย่งชิงไปจากชนชั้นสูง วิมานหนามก็เป็นภาพที่ใกล้เคียงกัน หากแต่เป็นความเหลื่อมล้ำที่บีบให้ชนชั้นล่างปากกัดตีนถีบแย่งชิงสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในเบื้องล่างกันเอง โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวเลยว่าสิทธิที่แต่ละคนมีแล้วงัดมาใช้เพื่อทำร้ายกันเองนั้นเป็นสิทธิที่พวกเขาก็จะไม่มีวันได้รับเช่นกัน

ในบรรดาสิทธิที่ตัวละครต่างไม่ได้รับอย่างครบถ้วน สิทธิเดียวที่ตัวละครต่างเข้าใจว่ามีร่วมกันคือ ทุกคนมีสิทธิ์ในการแย่งชิงสิ่งที่เป็นของตนเองอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เพราะพวกเขาต่างก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในด้านอื่นๆ ที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้เลย

ผู้ร้ายที่แท้จริงในเรื่องนี้อาจไม่ใช่ใครสักคนที่กระทำความผิดเพื่อแย่งชิงสิ่งที่ต้องการ แต่อาจเป็นระบบที่ลิดรอนสิทธิคนตัวเล็ก กดทับคนชายขอบ และยังสร้างความเหลื่อมล้ำให้ผู้คนติดกับดักอำนาจ และใช้อภิสิทธิ์อันน้อยนิดที่แต่ละคนมีเหยียบย่ำทำร้ายซึ่งกันและกัน

วิมานหนามจึงไม่ใช่แค่ผลงานที่มอบความสนุกน่าติดตามในเชิงแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น มีสีสันแบบละครไทย หรือมีความเป็นดราม่าสะท้อนชีวิตอันแสนรันทด แต่ยังสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมที่ทับซ้อนผู้คนชายขอบอยู่ และมันทำให้พวกเขาต้องแย่งชิงความชอบธรรมที่หลงเหลืออยู่น้อยนิดจากกันและกัน โดยไม่รู้สึกตัวเลยว่าอะไรกันแน่ที่บีบคั้นผลักให้พวกเขาต้องพบเจอชะตากรรมแบบนี้

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.