เดอะ เคหา คาเฟ่แห่งพลับพลาไชย - Urban Creature

ย้อนกลับไปสมัยวัยขาสั้น เราต้องนั่งรถเมล์กลับบ้าน และต้องผ่านแถวแยกบำรุงเมือง หรือถนนพลับพลาไชยใกล้กับโรงพยาบาลหัวเฉียวแทบทุกครั้ง ซึ่งใครที่เคยแวะเวียนผ่านไปแถวนั้น คงเคยเห็นอาคารสภาพดีหลายหลังถูกปล่อยให้ทิ้งร้างไปอย่างไร้ความหมาย

วันนี้เราผ่านมาแถวนี้อีกครั้ง แล้วพบว่าตึกเก่าหลายตึกหน้าตาเปลี่ยนไป เราสะดุดตากับอาคาร 4 ชั้นหลังใหญ่ที่ถูกเพนต์ด้วยลวดลายสีน้ำเงินดูแปลกตา และการตกแต่งชวนมองซึ่งโดดเด่นออกมาจากภายในอาคาร จนเราต้องขอเดินเข้าไปส่องแบบใกล้ๆ แล้วก็พบว่า ที่นี่คือ The Kheha – เดอะ เคหา โรงแรมและคาเฟ่ที่รีโนเวตธนาคารเก่าให้กลายเป็นงานศิลปะชิ้นมาสเตอร์พีซ

“เคหา แปลว่า บ้าน และอาคารหลังนี้จะเป็นบ้านหลังที่สองของนักเดินทาง”

นี่คือความตั้งใจของ อ้อย–อินทิรา ทัพวงศ์, รี–จารีนันท์ เสรีโรจนสิริ และ ยุ้ย–ณัฏฐ์ฌา พงศ์พัฒนจินดา จนออกมาเป็นทั้งโรงแรมและคาเฟ่บรรยากาศแสนสบายที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวชีพจรลงเท้า

ทั้งสามรวมตัวกันแบบบังเอิญ เริ่มจากพี่อ้อยซึ่งทำงานเป็นดีไซเนอร์อยู่ที่แบรนด์เสื้อผ้าหนึ่ง โดยได้เจอกับพี่รีที่ดูแลด้านการตลาดอยู่ที่แบรนด์เสื้อผ้านั้น และพี่อ้อยก็รู้จักกับพี่ยุ้ยจากการเจอกันที่นิวยอร์ก ซึ่งสิ่งที่ทำให้ทั้งสามได้มารวมตัวกันก็คือความรักในการเดินทางนั่นเอง

ยุ้ย–ณัฏฐ์ฌา อ้อย–อินทิรา และ รี–จารีนันท์

คนที่จุดประกายความคิดว่าอยากจะทำโฮสเทลคือพี่อ้อย ซึ่งพี่รีบอกกับเราว่า โชคดีที่ได้เจอเซลล์แนะนำอาคารนี้ที่เคยเป็นธนาคารเก่ามาก่อน และเมื่อเข้ามาดูก็เกิดความรู้สึกว่าที่นี่แหละ ตรงกับความต้องการทุกอย่าง

พี่รี: เรารู้สึกว่าจุดนี้คือใจกลางเมือง และเป็นย่านเก่าที่อยู่ในทำเลดีมาก ข้ามสะพานกษัตริย์ศึกไปก็เป็นสยาม มีห้างสรรพสินค้ามากมาย เดินไปทางพลับพลาไชยก็เจอเยาวราชซึ่งเป็นฮับของกลุ่มสตรีทฟู้ด และเป็นจุดศูนย์รวมของกลุ่มคนทั้งไทยและต่างชาติ

พี่ยุ้ย: ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยอะ มันเป็น No.1 Tourist Destination มาหลายปีเลยนะ แล้วเวลาเราเดินทางไปไหนมาไหนในนิวยอร์ก ยังไงมันก็ไม่ได้รู้สึกเหมือนบ้าน พอพี่อ้อยมีโปรเจกต์อยากจะทำโฮสเทล เราเลยตัดสินใจง่ายมากตอนที่เขาชวน เพราะเราอยากหาเรื่องมาทำอะไรสักอย่างที่เมืองไทยอยู่แล้ว

“เวลาเราเดินทาง ต่อให้เราไปอยู่โรงแรมห้าดาว นานเข้ามันจะเริ่มรู้สึกคิดถึงบ้าน อยากกลับไปนอนเตียงธรรมดาๆ ของเรา”

ชาวศิลปากรขอรวมตัวกัน

เมื่อเจอตึกที่ถูกใจ แล้วจะทำอย่างไรให้ออกมาโดดเด่น นี่คือโจทย์ที่เจ้าของบ้านหลังนี้คิดอย่างละเมียด พี่อ้อยซึ่งเป็นศิษย์เก่าจากคณะมัณฑณศิลป์ รั้วศิลปากร จึงชวนเพื่อนพ้องน้องพี่มาทรานส์ฟอร์มตึกเก่าอายุหลายสิบปีให้เป็นผลงานสุดอาร์ตชนิดที่ว่าเพนต์มือทุกจุด

โดยพี่รีบอกกับเราว่า พี่อ้อยมีรุ่นพี่รุ่นน้องที่ทำงานกันมานานหลายสิบปีจนใกล้จะเกษียณ เขาเลยใช้โอกาสนี้ให้รุ่นพี่รุ่นน้องมาฝากผลงานศิลปะไว้ที่นี่ ซึ่งเรียกว่าผลงานต่างๆ คือการรวมตัวกันของชาวศิลปากรเลยก็ว่าได้

พี่อ้อย: การเดินทางมันมีมาตั้งนานแล้ว เราเลยดีไซน์ลวดลายบนตึกให้เป็นแผนที่โลกสมัยโบราณ หรือใครอยากจะมองว่านี่เป็นการรวมตัวของคนทั่วทุกมุมโลกก็มองได้ ซึ่งเราได้ สุทิน ตันติภาสน์ ศิลปินศิษย์เก่าจากรั้วศิลปากร มาเป็นคนต่อนั่งร้านขึ้นไปวาดอยู่ราวสองเดือน

ส่วนด้านในซึ่งเป็นโซนคาเฟ่ก็อาร์ตไม่แพ้กัน พี่ทั้งสามบอกเราว่ามีหลายมุมที่สามารถเก็บภาพความประทับใจได้ อย่างมุมแผนที่โบราณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ได้เหล่าศิษย์เก่ารั้วศิลปากรมาบรรจงเพนต์ให้ดูง่ายขึ้น แถมแทรกตัวอาคารเดอะ เคหา ลงไปให้ดูมีลูกเล่นน่ารักท่ามกลางสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นภาพจำของย่านเก่า

หรืออย่างภาพดวงตา ศิลปินที่วาดเขาตั้งใจบ่งบอกถึงการมองเห็น และประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ผ่านสายตาผู้หญิงคนหนึ่ง โดยเพิ่มเติมความเป็นไทยร่วมสมัยลงไป อย่างรถตุ๊กตุ๊ก ช้างไทย หรือการจักสาน

ความร่วมสมัยคือสิ่งที่เราสัมผัสได้เมื่อเข้ามาในเดอะ เคหา ทุกจิตรกรรมบนผนังผสมผสานความเป็นไทยและกลิ่นอายตะวันตกได้อย่างลงตัว อย่างภาพพระพิฆเนศซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวศิลปากรบริเวณบันได ก็ถูกวาดขึ้นใหม่ด้วยลายเส้นสมัยใหม่ที่ดูไม่ซับซ้อน หรืออย่างภาพชายร่างกำยำก็เพิ่มเติมหัวโขนหนุมานเข้าไปให้ดูสนุกขึ้น

พี่อ้อยพาเราขึ้นมาที่โซนห้องพักซึ่งเพิ่งเปิดมาไม่กี่เดือน ภายในยังคงเส้นสายสุดประณีตที่ให้อารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกันไปในแต่ละห้อง อย่างห้องดอกไม้นี้ก็มอบความอบอุ่น เย็นกาย และสบายใจให้แก่เราไม่น้อย

พืชนานาพรรณที่ถูกวาดลงบนผิวผนังห้องนี้ก็ให้ความรู้สึกอบอุ่นใจไม่แพ้กัน นอกจากได้มานอนบนเตียงนุ่มๆ ให้สบายใจเฉิบแล้ว ยังได้ชมจิตรกรรมสุดสร้างสรรค์ที่ต้องขอหยิบโทรศัพท์มาแชะภาพอวดชาวโซเชียลให้ได้อิจฉากัน

ห้องพักสีหวานๆ ให้ความรู้สึกนุ่มนวลและอบอุ่น ก็ดีไซน์ให้เหล่าสัตว์จากวรรณคดีไทยหลุดจากหนังสือมาอยู่บนฝาผนัง ซึ่งเป็นความรู้สึกแปลกใหม่ดีเหมือนกัน เพราะเราไม่ค่อยได้เห็นห้องพักแนวนี้เท่าไหร่

เคยเห็นลายยันต์ไทยกันไหม ที่นี่ก็นำมาประยุกต์ให้ดูเข้าถึงง่ายขึ้นด้วยการใส่ความโมเดิร์นเข้าไป แต่ยังคงใช้ฟอนต์โบราณให้ดูมีเอกลักษณ์

เดอะ เคหา ดูจะเป็นบ้านหลังที่สองของนักเดินทางที่ถูกออกแบบมาสวนกระแสมินิมอลซึ่งกำลังฮิตอยู่ในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้หรือการออกแบบภายใน ซึ่งพี่อ้อยบอกกับเราว่า เธออยากให้ที่นี่โดดเด่นด้วยงานศิลปะอย่างแท้จริง

ความเยอะในสายตาคนภายนอก พี่ยุ้ยกับพี่รีก็แชร์มุมมองให้เราฟังว่า ชาวต่างชาติเขาจะซาบซึ้งในผลงานศิลปะกันมาก ไม่เคยมีใครมาตั้งคำถามเลยว่า ทำไมต้องทำอะไรแยะแยะแบบนี้ ซึ่งอย่างน้อยอาคารหลังนี้ก็สามารถเป็นแลนด์มาร์กของย่านต่อไปได้

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว เดอะ เคหาก็เช่นกัน เราไม่แปลกใจเลยที่บ้านหลังที่สองของนักเดินทางแห่งนี้จะใช้เวลาแรมปีกว่าจะออกมาเป็นโรงแรมและคาเฟ่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเดินทาง และเติมเต็มสีสันย่านเก่าให้ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ซึ่งก่อนจะก้าวออกจากบ้านเดอะ เคหา พี่อ้อย พี่รี และพี่ยุ้ย บอกกับเราว่า

“จริงๆ แค่คนเห็นแล้วรู้สึกอยากถ่ายรูปกับตึกนี้สักครั้ง เราก็ดีใจแล้ว”


  • The Kheha Cafe เปิดต้อนรับทุกคน ตั้งแต่เวลา 7.30 – 20.00 น.
  • ที่นี่ไม่ได้ใส่ใจแค่เรื่องการออกแบบ เพราะเรื่องของคาวหวานเขาก็ชวนรับประทานไม่แพ้กัน ไปตามรอยกันได้ที่ พลับพลาไชย ย่านไทย-จีน-ฝรั่ง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.