ไม่กี่วันก่อนเราสังเกตเห็นเพื่อนๆ โพสต์รูปหวนคิดถึงตอนไปเที่ยวทะเล ดำน้ำ ดูปะการัง พร้อมติดแฮชแท็ก #WorldOceanDay2021 กันเต็มหน้าฟีด เพราะวันที่ 8 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันทะเลโลกหรือ World Ocean Day ที่กลุ่มประชาคมโลกกำหนดขึ้น เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญและช่วยกันปกปักรักษาผืนมหาสมุทรของเรา
คอลัมน์ Sgreen ชวนทุกคนมาสำรวจอีกด้านของทะเลที่ไม่สวยงามเนื่องจากน้ำมือมนุษย์ ผ่านโปรเจกต์ The Guidebook of Marine Debris โดย RE-THINK สมาคมเพื่อการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของไต้หวัน ที่รวบรวมขยะทะเลจำนวน 101 ชิ้น มาถ่ายภาพ 360 องศาและอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์ในรูปแบบไกด์บุ๊กสุดน่ารัก ที่ทั้งดูเพลินและสร้างความตระหนักเรื่องมลพิษทางทะเลไปพร้อมกัน
ความสร้างสรรค์ของเว็บไซต์นี้ คือการออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูน Pokémon เมื่อคลิกเข้าไปดูรายละเอียดขยะทะเลแต่ละชิ้น เจ้ามอนสเตอร์ขยะจะเด้งออกมาและหมุนตัวเวลาที่เรา Scroll หน้าเว็บไซต์ โดยมีชื่อและคำบรรยายของขยะชิ้นนั้นที่อ่านแล้วน่ารักน่าชัง ต่อด้วยชาร์ตบอกระดับความยากในการย่อยสลาย ประเภทการใช้งาน วัสดุ แหล่งที่มา และความถี่ที่พบ
ฟังก์ชันของเว็บไซต์เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน เราสามารถเลือกฟิลเตอร์หมวดหมู่ แบ่งเป็นประเภทการใช้งาน มีตั้งแต่หมวดไลฟ์สไตล์ ภาชนะอาหาร ของแปลก เครื่องมือประมง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เลือกฟิลเตอร์วัสดุ เช่น พลาสติก แก้ว อะลูมิเนียม ยางสังเคราะห์ หรือเลือกตามเลเวลความหายาก ไล่ตั้งแต่ขยะที่พบได้ทั่วไป ไปจนถึงแรร์ไอเทม
นอกจากโหมด Guidebook ยังมี Map Mode ที่เป็นแผนที่บริเวณชายฝั่งของไต้หวันอย่างง่ายๆ เมื่อคลิกดูจะระบุโลเคชัน พร้อมมีคำอธิบายลักษณะภูมิศาสตร์ ประเภทของขยะที่พบในบริเวณนั้น แม้กระทั่งบอกว่าขยะเหล่านั้นถูกซัดมาจากไหน
หลังจากทดลองกดเล่นทุกปุ่มก็ถึงเวลาที่เราจะคลิกหน้า About Us ไปทำความรู้จัก RE-THINK สมาคมเพื่อการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของไต้หวัน ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งเราได้อีเมลไปคุยกับทีมผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์นี้ที่ได้ร่วมงานกับนักออกแบบ Chang Chih-Chyi แห่ง SimpleInfo Design ถึงไอเดียและกระบวนการทำงานของพวกเขา
RE-THINK เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายในการปกป้องชายหาด ชายฝั่ง ภูเขา และมหาสมุทรของไต้หวัน ด้วยการปลูกฝังและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนลงมือทำสิ่งดีๆ เพื่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการเคลื่อนไหว การอนุรักษ์ โปรแกรมการเรียนการสอน และการให้ความรู้บนสื่อรูปแบบต่างๆ ร่วมมือกับธุรกิจในท้องถิ่น ชุมชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และกลุ่มโรงเรียน
“จากการสำรวจโดย Greenpeace ไต้หวัน ปริมาณขยะทั้งหมดในประเทศสามารถบรรจุเต็มรถขยะถึงสองพันสองร้อยคัน และขยะกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ไปอยู่ในพื้นที่สิบเปอร์เซ็นต์ของชายฝั่ง”
ทีมให้ข้อมูลอินไซต์กับเราเป็นเหตุผลที่พวกเขาโฟกัสขยะทะเลเป็นพิเศษ ผู้คนหลายหมื่นคนในไต้หวันเข้าร่วมกิจกรรม Clean up หรือทำความสะอาดชายหาดเก็บขยะในทะเล ซึ่งจัดขึ้นบ่อยโดยภาครัฐ บริษัทเอกชน หรือองค์กร NGO
จากการศึกษาเรื่องมลพิษทางทะเล RE-THINK มองว่าการแก้ปัญหาไม่ควรจบอยู่แค่แคมเปญ Clean up แต่ควรให้ความรู้แก่ประชาชนว่า ทำไมขยะถึงได้มีจุดจบอยู่ในมหาสมุทรและมีเส้นทางการเดินทางอย่างไร เพื่อหามาตรการป้องกันและวิธีแก้ปัญหาที่ต้นตอ
พวกเขาจึงจัดทำ The Guidebook of Marine Debris รวมถึงให้ความรู้ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ โดยหวังว่าจะช่วยให้นักเรียน ภาคธุรกิจ และคนทั่วไปได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อก้าวสู่สเต็ปถัดไปในการหาทางออกร่วมกัน
แนวคิดตั้งต้นคือ “การทำความสะอาดชายหาดไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่เป็นเพียงวิธีที่จะทำให้มองเห็นปัญหาได้” พวกเขาจึงเกิดไอเดีย ‘Pokédex’ หรือ ดัชนี Pokémon Monster โดยจำลองขยะให้เป็นสัตว์ประหลาดแห่งท้องทะเล
“ขยะในทะเล เป็นคำที่ฟังแล้วน่าเบื่อสำหรับคนส่วนใหญ่ในไต้หวัน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราต้องการ ‘การออกแบบ’ มาแปลงหัวข้อนี้ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น และช่วยให้ผู้คนเปลี่ยนวิธีการมองปัญหาสิ่งแวดล้อม”
เมื่อเคาะไอเดียแล้วก็เริ่มปฏิบัติการรวบรวมขยะผ่านกิจกรรม Clean up ของ RE-THINK และองค์กร NGO ที่เป็นพาร์ตเนอร์ ขยะที่รวบรวมมาได้จะไม่มีการนำไปทำความสะอาด หรือปรับเปลี่ยนหน้าตาของขยะ เพราะต้องการนำเสนอรูปลักษณ์ที่แท้จริงของขยะแต่ละชิ้น
พอรวบรวมเสร็จก็จัดการแปลงขยะให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลด้วยการถ่ายภาพแบบ 360 องศา และใส่ข้อมูลพื้นฐาน เช่น ชื่อของสิ่งที่พบ แหล่งที่พบ และหมวดหมู่ จากนั้นอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์ ตอนนี้มีรายการขยะบนหน้าเว็บไซต์ทั้งหมด 101 ชิ้น และมีแพลนที่จะอัปเดตรายการขยะเพิ่มอีก 50 รายการ
“ขยะที่พบมากที่สุด ได้แก่ ขวดพลาสติก ฝาขวดพลาสติก หลอด ถุง ก้นบุหรี่ แสดงให้เห็นว่า ขยะส่วนใหญ่มาจากสิ่งที่เราใช้แล้วทิ้งในทุกๆ วัน ซึ่งพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติ เพียงแต่แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนเหลือเป็นไมโครพลาสติกที่สัตว์น้ำกินเข้าไป”
ทาร์เก็ตคือเยาวชนอายุ 7 – 18 ปี เว็บไซต์จึงไม่ได้มีแค่ฟังก์ชันสนุกๆ แต่ยังสามารถคลิกเข้าไปที่ Where Does It Come From ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับที่มาของขยะ เช่น หลุมฝังกลบที่จัดการอย่างไร้ประสิทธิภาพ หรือการลักลอบทิ้งวัสดุก่อสร้างอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งมีชีวิตในทะเลและระบบนิเวศ รวมถึงวิธีการที่จะกอบกู้โลกใบนี้ ได้แก่ Rethink, Reduce และ Replace ซึ่งเป็นข้อมูลที่อ่านสนุก ย่อยง่าย เหมาะแก่การนำไปประกอบการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์ทะเล แถมยังมีเกมตอบคำถามใน Marine Debris Quiz เพื่อทบทวนความจำเล็กๆ น้อยๆ ด้วย
ผลตอบรับหลังจากเว็บไซต์เปิดตัว The Guidebook of Marine Debris ได้ลงสื่อกว่า 20 แห่งทั้งในและต่างประเทศ มีครูและนักเรียนทั่วไต้หวันกว่า 10,000 คน เข้าร่วมโปรแกรมการศึกษาของ RE-THINK แม้จะไม่มีตัวเลขเชิงปริมาณที่แสดงให้เห็นว่า เว็บไซต์นี้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร แต่ก็ได้รับการตอบรับเชิงบวกมากมายจากผู้ปกครอง และครูผู้สอนที่ได้นำสื่อการสอนนี้ไปใช้ในบทเรียนสำหรับเด็ก
คนทั่วไปสามารถสนับสนุนการทำงานของ RE-THINK ในการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม โดยการแชร์โปรเจกต์นี้ออกไปและบริจาคให้โครงการ ที่สำคัญที่สุดคือการร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งวิธีที่ง่ายคือการลดใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
เป้าหมายต่อไปของ RE-THINK คือทำให้ผู้คนเข้าใจปัญหาขยะ ตั้งแต่ผลกระทบต่อธรรมชาติย้อนกลับไปถึงต้นทางนั่นคือชีวิตประจำวันของเราในเมือง จึงได้เปิดตัวอีกหนึ่งโปรเจกต์ The Index of Recycle หรือ ‘ดัชนีการรีไซเคิล’ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการจัดการขยะที่เหมาะสม และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการรีไซเคิลในรูปแบบแอนิเมชันสีสันสดใส มี UX และ UI ที่ชวนให้เราสนุกไปกับเส้นทางการเดินทางของขยะ
ปัญหาขยะทะเลไม่ได้เกิดเฉพาะที่ไต้หวันเท่านั้น แต่ขยะเหล่านี้เดินทางไปรอบโลก
ย้อนกลับมามองเมืองไทย เรามีชายหาดและท้องทะเลที่ขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ยืนยันจากปากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลและสัตว์ทะเลอย่าง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เผยว่า
“ปัจจุบันพบสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมกว่ายี่สิบแปดชนิด เป็นโลมาและวาฬยี่สิบเจ็ดชนิด และพะยูนหนึ่งชนิด แบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่อาศัยอยู่ประจำถิ่นใกล้ฝั่ง พบเห็นได้บ่อยครั้ง จำนวนเจ็ดชนิด ได้แก่ พะยูน วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ โลมาอิรวดี โลมาหัวบาตรหลังเรียบ โลมาหลังโหนก และโลมาปากขวด กลุ่มที่อาศัยอยู่ในทะเลเปิด เป็นกลุ่มที่มีการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล มีแหล่งอาศัยค่อนข้างกว้าง อาศัยบริเวณไกลฝั่งพบยี่สิบเอ็ดชนิด เช่น วาฬสีน้ำเงิน วาฬหัวทุย วาฬนำร่องครีบสั้น โลมาฟราเซอร์ โลมากระโดด และโลมาปากยาว เป็นต้น”
มุมที่น่าเศร้าใจคือทุกครั้งที่เห็นข่าวสัตว์ทะเลเกยตื้นเพราะขยะพลาสติก ทำให้เราตระหนักว่า ขยะ 1 ชิ้นที่เราใช้แล้วทิ้งในชีวิตประจำวัน อาจมีจุดจบในทะเลและคร่าชีวิตสัตว์น้ำจำนวนมาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (ปี 2546 – 2560) พบสัตว์ทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เกยตื้นรวม 3,702 ตัว ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้น
สาเหตุหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากขยะในทะเล ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากเป็นอันดับ 10 ของโลก แม้จะดีขึ้นจากปี 2561 ที่อยู่ในอันดับ 6 แต่หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 คนไทยใช้บริการเดลิเวอรี่กันมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกจากภาชนะใส่อาหารเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติถึง 15 เปอร์เซ็นต์
The Guidebook of Marine Debris จึงเป็นตัวอย่างการรณรงค์เรื่องขยะทะเลที่ไม่ได้ให้ความเพลิดเพลินอย่างเดียว แต่ยังสร้างความตระหนักถึงการบริโภคในทุกๆ วันของเราที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อผนวกกับข้อมูลที่หยิบยกมาให้อ่านข้างต้นนี้ น่าจะพอสะกิดให้เราหันกลับมาเห็นความสำคัญเรื่องปัญหาขยะพลาสติกอีกครั้ง