ไฟฝันที่ดับหายให้ไทยได้ไฟสว่าง - Urban Creature

ภาพถ่ายชุดนี้คือความพยายามในการบันทึกความฝันของผู้คนในประเทศที่ต้องแลกไปกับความฝันของรัฐบาล

เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมของปี 2561 หลังจากเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกประมาณ 5 เดือน นักเขียน 2 คนและผมเดินทางไปยังประเทศลาวในบริเวณแขวงอัตตะปือ โดยมีจุดประสงค์เพื่อรายงานข่าวความคืบหน้าของการเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแตก 

เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยคือหนึ่งในกว่า 350 เขื่อนที่วางแผนไว้ว่าจะสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศลาว โดยการจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนให้ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการขายให้ประเทศไทยของเรา โดยไฟฟ้าทั้งหมดกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่ผลิตได้จากเขื่อนถูกส่งเข้ามาให้เราได้ใช้ในฐานะสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน ทำให้เรื่องเขื่อนแตกในต่างประเทศนี้ควรถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับเราโดยตรง

ผมและเพื่อนนักเขียน 2 คน ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ 5 หมู่บ้านที่รัฐบาลลาวสำรวจและระบุว่า ได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งบ้านเรือน ทรัพย์สิน และจำนวนของผู้เสียชีวิต 

การทำงานของเราค่อนข้างจะลำบาก เนื่องจากเราเข้าไปประเทศลาวครั้งนี้ด้วยเอกสารสำหรับการท่องเที่ยว ไม่ใช่วีซ่าสำหรับการรายงานข่าว ทำให้ต้องทำงานอยู่ในภาวะของความหวาดระแวงตลอดเวลา เนื่องจากเราได้รับรู้เรื่อง “ตำรวจบ้าน” หรือตัวแทนของรัฐที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ทำให้ทุกๆ อย่างที่เราทำ ทุกๆ คนที่เราไปคุยด้วยเป็นไปอย่างเชื่องช้าและรัดกุมเท่าที่จะทำได้ 

พื้นที่หนึ่งที่ผมใช้ในการสร้างความเชื่อมั่นคือบ้านของแม่ใบศรี ซึ่งเป็นร้านขายของเพิงไม้ขนาดไม่เกิน 50 ตารางเมตร ทำมาจากเศษไม้ที่ลอยมากับน้ำ เพราะว่าเธอและครอบครัวไม่ต้องการที่จะอยู่ในพื้นที่อพยพที่สร้างด้วยเต็นท์ผ้ายาง โดยเธอและเด็กๆ ต่างบ่นว่าร้อนอบอ้าวเกินไป และไม่มีอะไรจะทำถ้าหากต้องอยู่ตรงนั้น เธอจึงเลือกที่จะออกมาสร้างกระต๊อบและใช้เงินที่ได้รับบริจาคมาจากญาติๆ เป็นทุนในการเปิดร้านขายของ 

ผมใช้เวลาในตอนเช้าของทุกๆ วันในช่วงอาทิตย์ที่ 2 นั่งดื่มกาแฟซอง กินข้าวเหนียวกับหนังควายย่างที่แม่ใบศรีแบ่งปันให้ และฟังเรื่องราวที่แม่อยากจะเล่าหรือฟังเรื่องราวของคนอื่นๆ ที่เข้ามาซื้อของในร้าน นอกเหนือจากเรื่องความเบื่อหน่าย ร้อนอบอ้าว และเงินชดเชยที่น้อยเกินไปจนไม่พอกินแล้ว พวกเขาก็มักเล่าถึงสิ่งที่อยากทำหรือฝันไว้ ผ่านประโยคอย่าง “ขั่น” หรือ “ถ้า” เช่นชายหนุ่มวัย 15 ปีที่บอกว่าถ้าเขื่อนไม่แตกป่านนี้เขาคงใกล้ความฝันที่จะได้เป็นเจ้าของฟาร์มไก่ชนที่ใหญ่ที่สุดในอัตตะปือไปแล้ว แต่ความฝันของเขาและอีกหลายๆ คนต้องถูกหยุดด้วยเขื่อนจนเป็นได้แค่ “ขั่น” หรือประโยค If clause ไป

แน่นอนว่าตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่าหลายล้านดอลลาร์ที่มาจากการสำรวจของรัฐคงไม่ได้รวมเอาความฝันของผู้คนที่ต้องหลุดลอยไปกับน้ำเข้าไปด้วยแน่ ภาพถ่ายชุดนี้จึงเป็นความพยายามที่อยากจะบรรจุความฝันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในรายงานความเสียหาย

หรือหากมันฟังดูไม่เป็นเหตุเป็นผลพอก็หวังเพียงแค่ว่าเราในฐานะ “ผู้ใช้ไฟจากความฝัน” คงตระหนักถึงมันอยู่บ้างเมื่อเราได้รับบิลค่าไฟในแต่ละเดือน 

วีระพันธุ์ ไชยโพธิสิทธิ์ อายุ 50 ปี
หลังจากที่ทำงานเป็นพนักงานขับรถบรรทุกส่งสินค้าทั่วประเทศลาวอยู่หลายสิบปี วีระพันธุ์ตัดสินใจขายรถสิบล้อของตนเพื่อมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิด เขานำเงินเก็บและเงินที่ได้จากการขายรถบรรทุกมาซื้อที่ดิน ซื้อสัตว์เลี้ยงทั้งหมูและแพะ เขามีความฝันว่าจะเปิดฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว แต่ความฝันของเขาที่จะมีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ก็ได้ถูกพัดหายไปเพราะน้ำจากเขื่อนที่แตก
เป ศรีปาเสริฐ อายุ 38 ปี
เปคือแม่ของลูกๆ สามคน เธอฝันว่าจะส่งลูกๆ ของเธอได้เรียนต่อในระดับมหา’ลัย แต่เพราะเขื่อนแตกทำให้เธอไม่สามารถหารายได้ และเงินที่เก็บสะสมมาทั้งชีวิตก็หายไปกับน้ำอีกด้วย ทำให้ลูกสาวคนโตของเธอต้องออกจากโรงเรียน เพื่อไปทำงานรับจ้างในสวนกล้วยที่พอจะสร้างรายได้ให้สามารถต่อชีวิตไปได้
แซท ไชยโพธิ์สิทธิ์ อายุ 15 ปี
แซทเริ่มจากไก่ชน 2 ตัว ที่ลุงในจังหวัดปากเซให้มาเพื่อเพาะเลี้ยงเพราะรู้ว่าเขาชื่นชอบไก่ชนมาก ไก่ชนเหล่านั้นช่วยทำเงินให้เขาจากการขายให้กับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน และคนอื่นๆ ในเมือง จนเขาสามารถขยายพันธุ์ไก่ชนของเขาให้มีจำนวนมากกว่า 150 ตัว แต่เมื่อเขื่อนแตก น้ำจากเขื่อนก็ได้พัดเอาไก่ชนของเขาหายไปจนหมด และทำให้ความฝันที่จะเปิดฟาร์มไก่ชนของเขาหายไป
สุภาพ ราชวงค์ อายุ 32 ปี
สุภาพเพิ่งกลับมาอยู่ที่บ้านหลังจากการทำงานรับจ้างทั่วไปในเมืองเวียงจันทน์หลายสิบปี โดยคิดว่าจะเอาเงินที่เก็บออมมาเปิดโรงเลื่อยไม้ในหมู่บ้าน แต่เมื่อเขื่อนแตกทั้งเงินที่สะสมมาและบ้านเรือนก็หายไปหมด
ใบศรี พาศรักษา อายุ 48 ปี
ใบศรีเธอเคยฝันกับลูกสาวคนโตว่าจะเปิดร้านขายเสื้อผ้าในหมู่บ้าน โดยวางแผนไว้ว่าจะไปรับซื้อเสื้อผ้ามาจากจังหวัดอุบลราชธานี ในประเทศไทย แต่เมื่อน้ำจากเขื่อนพัดมาที่หมู่บ้านทำให้ทั้งบ้านและเงินที่สะสมเอาไว้พลัดหายไปกับน้ำจนหมด
ช้าง ศรีจันทร์ อายุ 15 ปี
ช้างกำลังจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนที่เขื่อนจะแตก เขาคิดฝันว่าจะเรียนต่อในโรงเรียนใกล้บ้านที่เขาสามารถเดินเท้าไปยังโรงเรียนได้
แต่เมื่อเขื่อนแตกทำให้เขาต้องเปลี่ยนไปเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในตัวเมืองสนามไชยซึ่งต้องใช้เวลาปั่นจักรยานนานถึง 3 – 4 ชั่วโมง กว่าจะถึงโรงเรียน
เขียม อายุ 66 ปี
เขียมเคยฝันเอาไว้ว่าจะต่อเติมห้องครัวใหม่ในช่วงเดือนธันวาคม เพราะเป็นช่วงที่เสร็จสิ้นจากฤดูการทำนา เธอได้จัดเตรียมวัสดุก่อสร้างเอาไว้
ทั้งหมดแล้ว ทั้งแผ่นไม้และปูน ความฝันยังไม่ทันถูกสร้างเพราะเขื่อนแตกในเดือนกรกฎาคม พัดเอาวัสดุและเงินที่เตรียมเอาไว้หายไปจนหมด
บุญนัง ศรีนวล อายุ 47 ปี
บุญนังฝันเอาไว้ว่าจะขายไม้พะยูงที่ตนปลูกเอาไว้เมื่อสิบปีก่อน และจะนำเงินนั้นมาปรับปรุงบ้านใหม่และลงทุนกับการปลูกมันสำปะหลัง แต่ความฝันของเขาก็ต้องจมไปหลังจากเขื่อนแตกเพราะต้นไม้ที่เคยปลูกเอาไว้เกือบทั้งหมดถูกน้ำซัดลอยหายไป
ริน ชัยเชื้อ อายุ 57 ปี
รินวางแผนไว้ว่าจะสร้างบ้านใหม่ในช่วงเดือนกรกฎาคมเพราะบ้านที่มีอยู่เดิมเริ่มผุพังแล้ว เธอได้เตรียมทั้งอิฐ ปูน และเหล็กไว้ครบหมดแล้ว
แต่เพราะเขื่อนแตกทำให้ของที่เตรียมไว้ก็ถูกพัดหายไปกับน้ำจนหมด
แม่จันทร์ ศรีชานนท์ อายุ 51 ปี
จันทร์ฝันเอาไว้ว่าจะได้มีชีวิตบั้นปลายอยู่ที่บ้าน คอยดูแลสวนมันสำปะหลังและที่นาข้าวของเธอ แต่ในปัจจุบันที่ดินทั้งหมดของเธอถูกฝังด้วยโคลนที่สูงเท่าหัวเข่า ทำให้ปัจจุบันเธอต้องย้ายไปอยู่ในศูนย์อพยพชั่วคราว

ติดตามผลงานของ วิศรุต แสนคำ ต่อได้ที่ Instagram : visarut_sankham และ realframe.co

และหากคุณมีชุดภาพถ่ายที่อยากจะร่วมแชร์ในคอลัมน์ Urban Eyes สามารถส่งมาได้ที่ [email protected]

Writer & Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.