ภาพถ่ายชุดนี้คือความพยายามในการบันทึกความฝันของผู้คนในประเทศที่ต้องแลกไปกับความฝันของรัฐบาล
เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมของปี 2561 หลังจากเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกประมาณ 5 เดือน นักเขียน 2 คนและผมเดินทางไปยังประเทศลาวในบริเวณแขวงอัตตะปือ โดยมีจุดประสงค์เพื่อรายงานข่าวความคืบหน้าของการเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแตก
เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยคือหนึ่งในกว่า 350 เขื่อนที่วางแผนไว้ว่าจะสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศลาว โดยการจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนให้ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการขายให้ประเทศไทยของเรา โดยไฟฟ้าทั้งหมดกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่ผลิตได้จากเขื่อนถูกส่งเข้ามาให้เราได้ใช้ในฐานะสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน ทำให้เรื่องเขื่อนแตกในต่างประเทศนี้ควรถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับเราโดยตรง
ผมและเพื่อนนักเขียน 2 คน ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ 5 หมู่บ้านที่รัฐบาลลาวสำรวจและระบุว่า ได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งบ้านเรือน ทรัพย์สิน และจำนวนของผู้เสียชีวิต
การทำงานของเราค่อนข้างจะลำบาก เนื่องจากเราเข้าไปประเทศลาวครั้งนี้ด้วยเอกสารสำหรับการท่องเที่ยว ไม่ใช่วีซ่าสำหรับการรายงานข่าว ทำให้ต้องทำงานอยู่ในภาวะของความหวาดระแวงตลอดเวลา เนื่องจากเราได้รับรู้เรื่อง “ตำรวจบ้าน” หรือตัวแทนของรัฐที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ทำให้ทุกๆ อย่างที่เราทำ ทุกๆ คนที่เราไปคุยด้วยเป็นไปอย่างเชื่องช้าและรัดกุมเท่าที่จะทำได้
พื้นที่หนึ่งที่ผมใช้ในการสร้างความเชื่อมั่นคือบ้านของแม่ใบศรี ซึ่งเป็นร้านขายของเพิงไม้ขนาดไม่เกิน 50 ตารางเมตร ทำมาจากเศษไม้ที่ลอยมากับน้ำ เพราะว่าเธอและครอบครัวไม่ต้องการที่จะอยู่ในพื้นที่อพยพที่สร้างด้วยเต็นท์ผ้ายาง โดยเธอและเด็กๆ ต่างบ่นว่าร้อนอบอ้าวเกินไป และไม่มีอะไรจะทำถ้าหากต้องอยู่ตรงนั้น เธอจึงเลือกที่จะออกมาสร้างกระต๊อบและใช้เงินที่ได้รับบริจาคมาจากญาติๆ เป็นทุนในการเปิดร้านขายของ
ผมใช้เวลาในตอนเช้าของทุกๆ วันในช่วงอาทิตย์ที่ 2 นั่งดื่มกาแฟซอง กินข้าวเหนียวกับหนังควายย่างที่แม่ใบศรีแบ่งปันให้ และฟังเรื่องราวที่แม่อยากจะเล่าหรือฟังเรื่องราวของคนอื่นๆ ที่เข้ามาซื้อของในร้าน นอกเหนือจากเรื่องความเบื่อหน่าย ร้อนอบอ้าว และเงินชดเชยที่น้อยเกินไปจนไม่พอกินแล้ว พวกเขาก็มักเล่าถึงสิ่งที่อยากทำหรือฝันไว้ ผ่านประโยคอย่าง “ขั่น” หรือ “ถ้า” เช่นชายหนุ่มวัย 15 ปีที่บอกว่าถ้าเขื่อนไม่แตกป่านนี้เขาคงใกล้ความฝันที่จะได้เป็นเจ้าของฟาร์มไก่ชนที่ใหญ่ที่สุดในอัตตะปือไปแล้ว แต่ความฝันของเขาและอีกหลายๆ คนต้องถูกหยุดด้วยเขื่อนจนเป็นได้แค่ “ขั่น” หรือประโยค If clause ไป
แน่นอนว่าตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่าหลายล้านดอลลาร์ที่มาจากการสำรวจของรัฐคงไม่ได้รวมเอาความฝันของผู้คนที่ต้องหลุดลอยไปกับน้ำเข้าไปด้วยแน่ ภาพถ่ายชุดนี้จึงเป็นความพยายามที่อยากจะบรรจุความฝันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในรายงานความเสียหาย
หรือหากมันฟังดูไม่เป็นเหตุเป็นผลพอก็หวังเพียงแค่ว่าเราในฐานะ “ผู้ใช้ไฟจากความฝัน” คงตระหนักถึงมันอยู่บ้างเมื่อเราได้รับบิลค่าไฟในแต่ละเดือน
ติดตามผลงานของ วิศรุต แสนคำ ต่อได้ที่ Instagram : visarut_sankham และ realframe.co
และหากคุณมีชุดภาพถ่ายที่อยากจะร่วมแชร์ในคอลัมน์ Urban Eyes สามารถส่งมาได้ที่ [email protected]