ใช่ว่าเชียงใหม่จะมีแค่วัดวาอารามศิลปะล้านนา หากแต่บนถนนท่าแพ ถนนสายเศรษฐกิจดั้งเดิมที่โดดเด่นด้วยทิวอาคารคอนกรีตสไตล์โมเดิร์น ยังมีวัดเก่าแก่ที่สะท้อนอิทธิพลของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมพม่าอายุเกินร้อยปีแทรกตัวอยู่อย่างกลมกลืนและสง่างาม
ดังชื่อบทความ เราจะพาเดินสำรวจมรดกจากศิลปะพม่า รวมถึงย้อนรอยถึงที่มาของวัดวาอารามบนถนนสายนี้ แต่ก่อนอื่น มีบุคคลสองท่านที่เราอยากแนะนำให้รู้จัก

‘จ่อย-อินทนนท์ สุกกรี’ คือชื่อแรก ชายชาวเชียงใหม่ลูกเสี้ยวพม่าวัยสามสิบเศษ นักสะสมของเก่า และเจ้าของร้าน ‘ชเว ผ้าพิมพ์ลุนตยา’ เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา จ่อยได้ร่วมกับกลุ่มแม่ข่าซิตี้แลป จัดกิจกรรม ‘Mae Kha Walk Along เดินเมืองเรียนรู้คลองแม่ข่า’ พาผู้ที่สนใจไปเดินชมสถาปัตยกรรมแบบพม่าในวัดบนถนนท่าแพ ถนนสายสำคัญที่ลำน้ำแม่ข่าตัดผ่าน อันเป็นที่มาของบทความนี้
ส่วนคนที่สอง หากท่านยังมีชีวิตอยู่ก็น่าจะมีอายุเกือบ 200 ปีแล้ว ‘เมาง์ปานโหย่ว’ หรือ ‘รองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร’ พ่อค้าไม้สักจากเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ที่ต่อมากลายเป็นคหบดีที่มีบทบาทสำคัญในการนำเข้าอิทธิพลทางศิลปะและสถาปัตยกรรมจากดินแดนบ้านเกิดมาสู่เชียงใหม่ ผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์วัดหลายแห่งบนถนนท่าแพ อันเป็นที่มาของกิจกรรมครั้งนี้
“จริงอยู่ที่ก่อนหน้านี้เชียงใหม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ายาวนานถึงสองร้อยกว่าปี (พ.ศ. 2101 – 2317) แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ของอิทธิพลจากศิลปกรรมจากพม่าในสมัยนั้นก็มีอยู่น้อยเต็มที ในขณะที่ศิลปะพม่ามาเบ่งบานในเมืองนี้ โดยเฉพาะบนถนนสายนี้จริงๆ คือเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งไม่ได้เกิดเพราะเหตุผลด้านการเมือง แต่เป็นผลพวงจากการค้าขาย ซึ่งวันนี้เราจะไปตามรอยกัน” จ่อย ไกด์อาสาในทริปนี้กล่าว
และนี่คือเรื่องราวการเดินทางสำรวจย่านที่หนุ่มลูกเสี้ยวพม่าพาเราไปตามรอยมรดกจากเมาง์ปานโหย่ว และบรรดาพ่อค้าชาวพม่าคนอื่นๆ จนทำให้ท่าแพกลายเป็นหนึ่งในย่านที่เปี่ยมเสน่ห์เช่นทุกวันนี้
ท่าแพกับการเป็นหม้อหลอมวัฒนธรรม

“เมื่อพูดถึงวัดพม่าในเชียงใหม่ สิ่งแรกที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือทำเลที่ตั้ง นั่นก็คือถนนท่าแพสายนี้” ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ในวัดแสนฝาง วัดที่ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนท่าแพตัดกับถนนช้างม่อยตัดใหม่ จ่อยเริ่มต้นการเดินทางด้วยการเล่าถึงความสำคัญของถนนระยะทางหนึ่งกิโลเมตรเศษที่เชื่อมแม่น้ำปิงเข้าสู่ประตูท่าแพ ซึ่งเต็มไปด้วยอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมอันหลากหลายสายนี้
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2369 เมื่ออังกฤษเริ่มเข้ายึดพม่าตอนล่างหลังสงครามอังกฤษ-พม่า ครั้งที่ 1 เมืองมะละแหม่ง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอังกฤษในภูมิภาค เป็นเมืองท่าสำคัญที่ใช้ส่งออกไม้สักไปยังอินเดียและยุโรป แต่แม้จะมีฐานการค้าอยู่ที่นั่น แหล่งทรัพยากรอีกแห่งที่สำคัญคือบริเวณภาคเหนือของสยามซึ่งอุดมด้วยป่าไม้สัก นั่นทำให้พ่อค้าพม่าและไทใหญ่ที่อยู่ในบังคับของอังกฤษเริ่มเดินทางข้ามพรมแดนสู่เชียงใหม่เพื่อเข้ามาทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก
“ในสมัยนั้นหากเดินทางจากมะละแหม่งมาเชียงใหม่จะใช้เวลาราวสิบกว่าวัน ถ้าเทียบกับการเดินทางจากกรุงเทพฯ มาเชียงใหม่จะใช้เวลานานกว่านั้นเท่าตัวหรืออาจจะเป็นเดือน เชียงใหม่จึงได้รับอิทธิพลจากพม่ามากกว่าจากศูนย์กลางของสยามอย่างเห็นได้ชัด” จ่อยขยายความ
ทั้งนี้ การที่พ่อค้าพม่าเดินทางเข้ามาค้าขายในเชียงใหม่ได้อย่างสะดวก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ไทยลงนามกับอังกฤษในภายหลัง (พ.ศ. 2398) ซึ่งเปิดเสรีทางการค้าให้ชาวต่างชาติ รวมถึงพ่อค้าพม่าที่อยู่ในปกครองอังกฤษสามารถเดินทางค้าขายอย่างเสรี พร้อมกับที่บริษัทจากชาติตะวันตกได้เข้ามาถือครองสัมปทานค้าไม้ในสยาม
ถนนท่าแพซึ่งเดิมเป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมแม่น้ำปิงเข้ากับเมืองเชียงใหม่จึงมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเมื่อกลุ่มพ่อค้าต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา จนกลายเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญที่เต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์และร้านค้าของพ่อค้าต่างแดนที่ขยายตัวออกไปถึงถนนเจริญประเทศ
เมาง์ปานโหย่ว (2388 – 2470) ชาวพม่าที่เราพูดถึงตอนต้น คือหนึ่งในพ่อค้าที่ตัดสินใจมาตั้งรกรากและเริ่มต้นทำสัมปทานไม้สักที่เชียงใหม่ และดังที่บอกในตอนต้น นอกจากอุตสาหกรรมไม้สักในเวลานั้นจะทำให้ภูมิทัศน์สองข้างถนนท่าแพเปลี่ยนไป เมาง์ปานโหย่วและคหบดีชาวพม่าผู้มีจิตศรัทธาในการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาคนอื่นๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากในอาณาจักรล้านนาในเวลานั้น ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้อิทธิพลศิลปะแบบพม่าเข้ามาผสมผสานอยู่ในวัดแบบล้านนาในเชียงใหม่
วัดแสนฝางกับเจดีย์ชเวดากองสไตล์ล้านนา?

เกร็ดน่าสนใจเรื่องหนึ่งที่จริงๆ แล้วอาจเขียนว่าเป็นข้อเท็จจริงไม่ได้อย่างเต็มคำคือ เหตุผลส่วนหนึ่งที่เหล่าคหบดีชาวพม่านิยมบูรณะวัดในเชียงใหม่ก็คือ นอกจากความเลื่อมใสในพุทธศาสนา พวกเขายังกลัวบาป
“ต้องเข้าใจก่อนว่า สัมปทานไม้สักคือการตัดต้นไม้” จ่อยเล่า “แต่ไหนแต่ไรคนพุทธเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่จะมีรุกขเทวดาสถิตอยู่ ธุรกิจนี้เหมือนไปรุกล้ำรุกขเทวดา คหบดีชาวพม่าหลายคนจึงเลือกที่จะสร้างหรือบูรณะวัดเพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้”
ผลลัพธ์ที่ว่าสะท้อนผ่านเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ของวัดแสนฝางที่หลายคนมองว่ามีรูปทรงคล้ายกับเจดีย์ชเวดากองในย่างกุ้ง
วัดแสนฝางสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2119 รัชสมัยพญาแสนภู กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์มังรายของอาณาจักรล้านนา แน่นอนว่าเจดีย์ดั้งเดิมของวัดไม่ใช่แบบที่เห็นในปัจจุบัน แต่เป็นการเข้ามาเมกโอเวอร์แบบเบอร์มีสสไตล์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
จ่อยชี้ให้เห็นฐานของเจดีย์ที่เป็นสี่เหลี่ยมสามชั้นแบบย่อเก็จพร้อมประติมากรรมประดับทั้ง 4 มุม อันเป็นอิทธิพลมาจากศิลปกรรมประเภทเจดีย์แบบพม่าตอนบน (อมรปุระ-มัณฑะเลย์) ส่วนองค์ระฆังเหนือขึ้นไปจนถึงยอดฉัตรกลับมีรูปแบบคล้ายคลึงกับเจดีย์มอญแบบเดียวกับเจดีย์ชเวดากองซึ่งเป็นศิลปะของพม่าตอนล่าง ในเวอร์ชันที่ไม่หุ้มทอง
อย่างไรก็ดี จ่อยบอกว่าเจดีย์หลังนี้มีรูปแบบศิลปกรรมที่ถอดมาจากเจดีย์ชเวดากองก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะปรากฏอิทธิพลจากเจดีย์รูปแบบอื่นๆ ผสมผสานเข้ามาค่อนข้างมาก ซึ่งน่าจะมาจากรสนิยมส่วนตัวของผู้ว่าจ้าง (ดังที่เห็นจากการจัดวางประติมากรรมประดับรอบเจดีย์ที่หาได้มีระบบที่แน่นอน) และเนื่องจากในสมัยนั้นอาจยังไม่มีตำรับตำราที่ระบุถึงรูปแบบศิลปกรรมที่ชัดเจน ผู้บูรณะและช่างก่อสร้างจึงนำความทรงจำและความประทับใจจากที่ต่างๆ รวมถึงอิทธิพลจากศิลปะดั้งเดิมของล้านนามาผสมผสานจนเป็นอย่างที่เห็น
“จริงๆ การประดับฉัตรที่ฐานเจดีย์นี่ไม่ค่อยพบในพม่า แต่เจดีย์แห่งนี้กลับมีการตบแต่งที่ฐานเจดีย์ด้วยฉัตรที่สะท้อนศิลปะแบบล้านนา ดังที่เห็นจากวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหารในจังหวัดลำพูน เจดีย์วัดแสนฝางจึงเป็นตัวอย่างของการผสมผสานระหว่างศิลปะพม่าและล้านนาอย่างเห็นได้ชัด” จ่อยกล่าว
นอกจากนี้ จ่อยยังเล่าเกร็ดวิธีจำแนกความแตกต่างระหว่างเจดีย์แบบพม่าและล้านนาอย่างง่ายที่สุด นั่นคือ ให้สังเกต ‘บัลลังก์’ ถ้าเป็นเจดีย์ล้านนาจะมีบัลลังก์คั่นระหว่างองค์ระฆังกับปลียอด แต่ถ้าเป็นของพม่าจะไม่มีองค์ประกอบนี้

อาคารอีกสองหลังที่น่าสนใจของวัดแสนฝางคือ ‘พระอุโบสถพระราชชายาเจ้าดารารัศมี’ และ ‘กุฏิ 100 ปี โยนะการพิจิตร’ อาคารทั้งสองหลังสร้างโดยมีกลิ่นอายพม่าตอนล่าง โดยเฉพาะพระอุโบสถที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้นแบบตะวันตก มีซุ้มประตูหน้าต่างเป็นวงโค้ง ตรงบริเวณคอสองเครื่องไม้เหนืออาคารเชิงชายฉลุลาย และดาวประดับซึ่งเป็นสัญลักษณ์ส่วนพระองค์ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระอุโบสถหลังนี้พระราชชายาฯ ได้ประทานเงินให้เมาง์ปานโหย่วจำนวน 1,000 รูปีเป็นการตอบแทน เพื่ออุทิศพระกุศลถวายดวงพระวิญญาณพระบิดาและพระมารดา
“ที่พระอุโบสถหลังนี้ นอกจากตัวงานสถาปัตยกรรมจะได้รับอิทธิพลมาจากอาคารในพม่าแล้ว อยากให้ลองสังเกตภาพวาดเหนือประตูและมุมเสาของตัวอาคารที่วาดเป็นแบบสไตล์จีน ส่วนบริเวณหน้าบันแกะสลักเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑและดวงดาวที่มีรัศมีรายล้อม แค่อาคารหลังนี้ก็เห็นถึงการผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลาย” จ่อยเล่า
ว่าไปแล้วสถาปัตยกรรมในวัดแสนฝางก็ไม่ต่างอะไรจากรูปแบบของอาคารเก่าที่เรียงรายสองข้างถนนท่าแพในปัจจุบัน กล่าวคือ มันแทบไม่เหลืออะไรที่บอกได้ถึงความดั้งเดิมจากพื้นถิ่น กระนั้นการผสมผสานศิลปกรรมที่หลากหลายจากอิทธิพลต่างๆ ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ก็ก่อกำเนิดความดั้งเดิมใหม่ที่กลายมาเป็นมรดกของย่านในปัจจุบัน
เรื่องราวของไฟฟ้าที่เพิ่งมาถึง กับยักษ์พม่าเหนืออุโบสถ

เดินต่อจากวัดแสนฝางไปไม่ไกล ก็เจอวัดบุพพาราม วัดที่มีความหมายว่าอารามทางทิศตะวันออก (บูรพา + อาราม) ซึ่งมีประวัติการสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2039
ภายในวัดเราจะพบกับวิหารแบบล้านนาดั้งเดิมสองหลัง วิหารหลังเล็กประดับด้วยลายปูนปั้นอันแสนวิจิตร ส่วนวิหารหลังใหญ่มีงานแกะสลักหน้าบันไม้ที่สวยไม่แพ้กัน ภายในมีจิตรกรรมภาพเขียนสีฝุ่นซึ่งน่าจะเขียนในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาโดย ‘ปั่น ช่างบ้านฮ่อ’ เป็นเรื่องราวพุทธประวัติและพระเวสสันดรชาดกที่สอดแทรกวิถีชีวิตของชุมชนคนเชียงใหม่เมื่อเกือบร้อยปีก่อนไว้ได้อย่างน่ารัก ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาครั้งแรกของนวัตกรรมอย่างไฟฟ้า หรือความนิยมในการปั่นจักรยานของผู้คน

ส่วนด้านในสุดทางขวาเป็นจิตรกรรมรูปแผนที่ชมพูทวีปโดยมีโพธิบัลลังก์เป็นศูนย์กลาง (ที่ประทับของพระพุทธเจ้าตอนตรัสรู้) รายรอบด้วยสถานที่สำคัญต่างๆ เป็นชั้นๆ ซึ่งปกติจะนิยมวาดในสมุดภาพไตรภูมิ หากแต่มาปรากฏบนผนัง
ทั้งเรื่องราวของการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของเชียงใหม่ และการจำลองภาพในสมุดภาพไตรภูมิไว้บนผนัง จ่อยบอกว่าเป็นแนวเรื่องที่พบได้ยากบนจิตรกรรมฝาผนังวัดทั่วไป หากใครแวะมาเยือนไม่ควรพลาดชม
นอกจากนี้ยังมีอาคารอีกหนึ่งหลังที่น่าสนใจคือ อุโบสถหลังน้อยที่ตั้งอยู่ข้างวิหาร ซึ่งสะท้อนศิลปกรรมแบบพม่าอย่างเด่นชัด น่าเสียดายในวันที่เราไปอุโบสถหลังนี้อยู่ระหว่างการซ่อมแซม จึงมีนั่งร้านมาบังทัศนียภาพ แต่ยังดีที่พอมีช่องว่างให้เรามองเห็นลายปูนปั้นยักษ์แบบพม่าสองตนตระหง่านอยู่เหนือซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถ พร้อมลายปูนปั้นเถาพันธุ์พฤกษา พวงองุ่น ที่สะท้อนความพิถีพิถันของช่างอย่างงดงาม
พระพุทธรูปอันซีนในวัดมหาวัน

จุดหมายถัดไปสะกดเราตั้งแต่ซุ้มทางเข้า
เราอยู่ที่วัดมหาวัน วัดที่นักท่องเที่ยวหลายคนคุ้นเคยในฐานะที่ตั้งของรถเข็นขายโรตีของป้าเด ที่นักท่องเที่ยวจะมารอต่อคิวกันยาวมากๆ ในยามค่ำคืน
ซุ้มประตูสีขาวนวลของวัดโดดเด่นด้วยการจำลองงานเครื่องไม้ของพม่าด้วยงานก่ออิฐถือปูน มีลักษณะเป็นผนังสี่ด้านย่อส่วนซ้อนกันขึ้นไปหลายๆ ชั้นคล้ายเรือนปราสาท ประดับด้วยลายปูนปั้นเป็นเถาใบอะแคนตัส (Acanthus) ซึ่งเป็นศิลปะแบบอมรปุระ-มัณฑะเลย์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกและจีน
บางซุ้มประดับปูนปั้นรูปพระพุทธเจ้าห่มจีวรที่มีลักษณะพลิ้วไหว ยักษ์ นรสิงห์ เทวดา คนธรรพ์ สิงห์ ฯลฯ นอกเหนือจากซุ้มประตูแล้ว ยังมีประติมากรรมสิงห์คู่หน้าประตูวัดและบริเวณหน้าวิหาร อันเป็นอิทธิพลที่รับมาจากศิลปะพม่าจากตำนานสีหพาหุกุมารในพงศาวดารลังกา ที่เล่าเรื่องของกุมารที่ฆ่าราชสีห์ซึ่งเป็นบิดาของตนเอง
“สิ่งที่น่าสนใจของสิงห์ปูนปั้นที่วัดนี้คือ ไอเดียของช่างในการสร้างสรรค์ตำแหน่งขาคู่หน้า ถ้ามาที่นี่ให้สังเกตว่ามีการปั้นที่ไม่เหมือนกันเลย บางตัวปั้นเป็นสิงห์คู่กับเจ้าหญิงที่ถูกลักพาตัวตามตำนานสีหพาหุกุมาร บ้างก็ปั้นเป็นสิงห์คู่กับนาค หรือคู่กับตัวมอม ซึ่งสวยงามลงตัว เป็นงานปูนปั้นชั้นครู” จ่อยกล่าว

นอกจากซุ้มประตูที่โดดเด่น เมื่อเดินเข้าไปในวัดและเดินเลยจากองค์เจดีย์ไปอีกสักนิด บริเวณสุดปลายทิศตะวันตกจะมีวิหารรูปแบบสถาปัตยกรรมพม่ากึ่งยุโรปที่มีซุ้มประตูทางเข้าเล็กๆ แต่ด้านในเป็นโถงวิหารสูงโปร่ง หากไม่สังเกตดีๆ เราอาจพลาดหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของวัดนี้ เพราะภายในนั้นเป็นที่ประดิษฐาน ‘พระเจ้าป๊กแต๊ก’ พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระประธานของวัด มีรูปแบบศิลปะมัณฑะเลย์ สมัยพระเจ้ามินดง
จ่อยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างพระพุทธรูปแบบพม่ากับพระพุทธรูปแบบล้านนาให้ฟังว่า พระพม่าจะไม่นิยมสร้างพระรัศมี พระพักตร์กลมรีคล้ายมนุษย์ ยกเว้นพระกรรณ (หู) ที่ยาวจรดพระอังสา (บ่า) มีกรอบพระพักตร์แถบใหญ่ชัดเจน และที่เห็นเด่นชัดคือ การบูรณะองค์พระยุคหลังๆ บริเวณพระโอษฐ์ (ปาก) ของพระพุทธรูปพม่าจะทาสีแดงเป็นเอกลักษณ์
อย่างไรก็ดี พระเจ้าป๊กแต๊กและวิหารที่เราเห็นหาได้เป็นงานอุปถัมภ์สร้างโดยเมาง์ปานโหย่ว แต่เป็นผลงานของเจาง์เมาง์ปิง คหบดีชาวพม่าอีกท่านที่ตั้งใจสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเป็นที่พำนักของภิกษุชาวพม่าที่เข้ามาจำพรรษาในเชียงใหม่ ช่วงปลายรัชกาลที่ 5
วัดเชตวันกับเจดีย์สามองค์


วัดแห่งสุดท้ายบนถนนท่าแพที่เราได้ไปเยือนคือวัดเชตวัน ทันทีที่เดินเข้าวัด จ่อยก็นำเราไปยังเจดีย์ทั้งสามองค์ที่ตระหง่านเรียงกันอยู่ข้างวิหาร
นี่เป็นเจดีย์อีกแห่งที่สะท้อนศิลปะพม่าอย่างชัดเจน จ่อยชี้ให้ดูถึงรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบมอญซึ่งมีลักษณะฐานสูงและเรียวขึ้นสู่ยอด โดยมีการประดับด้วยฉัตรทองตามคติของชาวพม่า เจดีย์ทั้งสามองค์วางเรียงกัน องค์เจดีย์ประธานอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยเจดีย์บริวารที่มีขนาดเล็กกว่า ฐานเจดีย์มีการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นรูปทรงเรขาคณิตและลายดอกไม้ เป็นเอกลักษณ์ของช่างพม่ายุคอาณานิคม ขณะที่ส่วนยอดเรียวแหลมของเจดีย์สะท้อนความอ่อนช้อยของศิลปะพม่าแบบมัณฑะเลย์
ความพิเศษของเจดีย์ในวัดนี้คือ เจดีย์ประธานที่อยู่ตรงกลาง จะพบว่ามีการประดับฐานเจดีย์ด้วยเครื่องชามกระเบื้องกังไส สินค้านำเข้าจากจีนในอดีต ซึ่งจากการที่จ่อยเดินทางสำรวจวัดทั่วพม่าอยู่หลายครั้ง เขาพบว่าไม่ปรากฏการประดับชามกังไสรอบฐานเจดีย์มาก่อน องค์ประกอบที่พบในวัดเชตวันแห่งนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นความสร้างสรรค์ของช่างในพื้นที่ที่ประยุกต์เอาวัสดุที่มีในช่วงเวลานั้นมาผสมผสานกับรูปแบบดั้งเดิมเพื่อให้มีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น
“สังเกตว่าเจดีย์รูปแบบพม่าทั้งสี่วัดที่ผ่านมามีระบบแบบแผนที่ยังยึดถือปฏิบัติกันมา แต่เรื่องการตกแต่งกลับนำเสนอไม่เหมือนกันเลย ขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ของช่างให้ยังมีกลิ่นอายของความเป็นพม่าซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ใหญ่ในครั้งนั้น ผสมกับการนำของดีจากวัฒนธรรมอื่นๆ มาประยุกต์อย่างกลมกล่อม” จ่อยกล่าว


เสร็จสิ้นจากการชมวัดเชตวัน จ่อยยังแถม Bonus Track ด้วยการพาเราเดินต่อผ่านช่วงประตูท่าแพ เข้าสู่ถนนราชดำเนินที่เป็นเขตตัวเมืองชั้นในของเชียงใหม่ เรามาสิ้นสุดการเดินทางที่วัดหมื่นล้าน วัดที่มีอายุกว่า 500 ปี ก่อนที่เมาง์ปานโหย่วจะเข้ามาบูรณะเมื่อร้อยกว่าปีก่อน หลักฐานจากการบูรณะสำคัญในครั้งนั้นคือวิหารไม้แกะสลักที่มีหน้าบันลวดลายฉลุอ่อนช้อยพร้อมรูปนกยูงที่เป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายของพม่าก่อนที่อังกฤษจะเข้ามายึดครอง เช่นเดียวกับเจดีย์ทรงระฆังที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะมัณฑะเลย์ โดดเด่นด้วยฉัตรประดับยอดอันงามสง่า และหอไตรที่เสาโครงสร้างชั้นสองตกแต่งเป็นเสาเกลียวแบบตะวันตกแต่ก็ยังคงรูปแบบการตกแต่งด้วยกระจกแก้วจีนและกระจกสีบางเฉียบซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม
เหล่านี้คือหลักฐานบางส่วนในความรุ่งเรืองของศิลปกรรมพม่าในศตวรรษที่แล้ว ก่อนที่อิทธิพลดังกล่าวจะค่อยๆ จางลงจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเมืองเชียงใหม่เมื่อมีการตัดเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มาถึง นั่นทำให้อิทธิพลทางการค้าจากส่วนกลางของประเทศเข้าถึงเชียงใหม่ได้รวดเร็วกว่าเมืองมะละแหม่ง
เส้นทางรถไฟยังนำพาพ่อค้าชาวจีนกลุ่มใหม่เข้ามาตั้งรกรากในเมือง ดังจะเห็นอิทธิพลของอาคารพาณิชย์สไตล์จีนกึ่งยุโรปที่ผุดขึ้นสองข้างถนนเจริญเมือง อันเป็นถนนที่เชื่อมสถานีรถไฟเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ รวมถึงบางส่วนบนถนนท่าแพ
ประกอบกับการปักปันเขตแดนของประเทศที่ชัดเจนขึ้น และนโยบายการรวมชาติที่กำหนดให้คนไทยทุกคนต้องมีนามสกุล คหบดีชาวพม่าบางส่วนจึงเลือกที่จะเดินทางกลับพม่า ขณะที่อีกส่วนก็เปลี่ยนสัญชาติเป็นคนไทยไปโดยปริยาย รวมถึงเมาง์ปานโหย่วที่ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร ในตำแหน่งกรมการพิเศษในกองข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลพายัพ และเป็นต้นสกุล ‘อุปะโยคิน’ ที่ยังคงมีการสืบทายาทมาถึงปัจจุบัน (ทั้งนี้ หน้าบันหอไตรวัดหมื่นล้านยังมีไม้แกะสลักรูปพญานาคล้อมรอบตัวย่อ อ.ป.ย.ค. อันเป็นตัวย่อของนามสกุลเมาง์ปานโหย่วอีกด้วย)

แต่ถึงแม้ว่าอิทธิพลด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจะชะงักลงไป ศิลปวัฒนธรรมพม่าหลายอย่างก็ยังคงผสมผสานอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยของภาคเหนือในปัจจุบัน ดังเช่นการประยุกต์รูปแบบของเครื่องแต่งกายพื้นถิ่นของพม่าเข้ากับล้านนา อาหารการกิน (จ่อยตั้งข้อสังเกตว่า แกงฮังเลของคนเมืองน่าจะได้รับอิทธิพลจากแกงฮินเลของพม่าไม่มากก็น้อย) ไปจนถึงมิติด้านภาษาและวัฒนธรรมอื่นๆ
“ศิลปกรรมแบบพม่าที่ถนนท่าแพซึ่งเคยเฟื่องฟูในช่วงศตวรรษที่แล้ว เป็นหลักฐานถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวพม่าและผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมให้แก่เมืองเชียงใหม่ และหล่อหลอมให้เกิดภูมิทัศน์ที่มีความเฉพาะตัวให้กับย่านสืบมาจนถึงปัจจุบัน
“เช่นนั้นแล้ว การได้มาเยือนวัดต่างๆ เหล่านี้ ไม่เพียงจะได้ชมศิลปกรรมสวยๆ ที่มีเอกลักษณ์ แต่ยังเหมือนได้ย้อนรอยกลับไปสู่อีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของความรุ่มรวยทางศิลปวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่” จ่อยกล่าวทิ้งท้าย
นั่นละ นอกจากเที่ยววัดล้านนา บาร์ฮอปปิง ไปดูมิวเซียม หรือขับรถออกนอกเมืองไปสัมผัสธรรมชาติ เราว่าการมาเดินชมวัดศิลปะพม่าและตึกเก่าบนถนนท่าแพก็ถือเป็นไฮไลต์การท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่ชวนให้รื่นรมย์ไม่น้อยไปกว่ากัน

หมายเหตุ : นอกจากวัดทั้ง 5 แห่งที่เราไปเยือนในบทความนี้ หากอยากตามรอยมรดกของเมาง์ปานโหย่ว จ่อยแนะนำให้ไปเยือนบ้านของท่านที่ปัจจุบันยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์ ภายในพื้นที่ของโรงแรมเพชรงาม บนถนนเจริญประเทศ รวมถึงหากมีโอกาสแวะไปจังหวัดลำปาง ที่นั่นก็มีวัดศิลปะพม่าที่สร้างร่วมสมัยกันหลายแห่งจากคหบดีชาวพม่า เช่น วัดศรีชุม วัดศรีรองเมือง วัดจองคา วัดป่าฝาง และวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม เป็นต้น