นัดพบฮ่องเต้ ผู้ประสบภัย 112 ในเชียงใหม่
ขณะที่หลายประเทศเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตโลกร้อนด้วยนวัตกรรม เพราะแผ่นทวีปที่กำลังจะจมน้ำจากธารน้ำแข็งขั้วโลกละลายในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า แต่สิ่งที่รัฐไทยกำลังเลือกทำในปัจจุบัน คือการไล่ทุบกำราบคนเห็นต่างให้สยบยอมอยู่ใต้ตีนอย่างแข็งขัน
นี่คือข้อบ่งชี้ว่า ประเทศเรากำลังหมดหวังและถอยหลังลงคลองในสายตาคนรุ่นใหม่ แต่ขั้วอนุรักษนิยมกลับมองว่า นี่คือการรักษาความมั่นคงอันดีงามของชาติที่แสนสงบและดีพร้อมกว่าชาติใดใดในโลก
และนี่คือสาเหตุที่ช่วงเกือบปลายปี 2564 เราตัดสินใจเดินทางไปพบนักกิจกรรมอย่าง ฮ่องเต้-ธนาธร วิทยเบญจางค์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากเขาถูกแจ้งจับคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านั้นเพียงไม่นานนัก
ฮ่องเต้ตั้งใจนัดให้เราไปพบที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ไม่ไกลจากคณะสังคมศาสตร์ คณะที่เขากำลังศึกษาวิชาปรัชญา ชั้นปีที่ 3 ในปัจจุบัน นี่คืออาคารที่ผู้บริหารมหา’ลัยตัดสินใจสั่งริบเอาพื้นที่จอดรถของนักศึกษามาสร้างอาคารที่ผู้เรียนแทบไม่ได้ใช้งาน
เราถามฮ่องเต้ถึงจำนวนคดีความที่เขาได้รับ หลังการลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมบนพื้นที่สาธารณะ
“เกินสิบ (หัวเราะขื่นๆ) ส่วนใหญ่เป็นคดี พ.ร.บ.ชุมนุม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ควบคุมโรค และจะโดน 116 จำนวนหนึ่งหรือสองคดีนี่แหละ แล้วก็มี 112 อีกจำนวนหนึ่งคดี ผมคิดอยู่ว่า อีกหน่อยอาจจะมีคดีแปลกๆ โผล่ขึ้นมาอีก” เด็กหนุ่มยิ้มขื่นบางๆ หลังพูดจบ
“หน้าที่ของเราคือยิ้ม และขัดขืนมัน เพื่อทำให้ประเทศนี้เปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นกว่านี้ให้ได้ ผมไม่คิดว่าเราต้องกลัวกฎหมายฉบับนี้ แค่ต้องทำงานของตัวเองต่อไป รัฐนี้เกิดมาเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจของกลุ่มคนที่มีอำนาจ พูดตามตรงก็คือทหาร สถาบัน และนายทุน สิ่งเหล่านี้มักเอากฎหมายมาไล่บี้คนอยู่แล้ว เราต้องขัดขืนมันให้ได้
“คดีหมิ่นประมาทมาตรา 112 ใครจะแจ้งก็ได้ ซึ่งมันผิดหลักการนะ มันสองมาตรฐานมากๆ ถ้าผมโดนหมิ่นประมาท เพื่อนผมมีความรู้สึกโกรธแทน อยากจะแจ้งความหมิ่นประมาทแทนผมไม่ได้นะ แต่ถ้า 112 คนที่รักเขารู้สึกคันไม้คันมือและหัวร้อนเป็นไฟเพราะว่าผมไปวิพากษ์วิจารณ์ ทำไมทีอย่างนี้ถึงรับทำคดีได้”
ฮ่องเต้บอกว่า เส้นทางต่อจากนี้ เขาจะหวาดกลัวไม่ได้ เพราะความกลัวนั้นอาจแผ่ร่มเงาไปยังคนอื่นๆ แม้ชะตากรรมของวัยรุ่นหลายคนในประเทศนี้กำลังถูกลิขิตด้วยตัวเลข 112 ไม่เว้นแม้แต่หนุ่มเชียงใหม่ที่นั่งอยู่ตรงข้ามเราในขณะนี้ด้วย
จากเด็กขี้สงสัยสู่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง
สมัยเรียน ม.ปลาย เพื่อนในห้องยังไม่ค่อยสนใจการเมือง แต่ฮ่องเต้อยากรู้อยากเห็นความเป็นไปของบ้านเมือง เขาจึงกลายเป็นนักตั้งคำถามตัวยง และเป็นคนหัวรั้นในสายตาคนอื่น นั่นเป็นสาเหตุที่ละอ่อนเชียงใหม่เรียกตัวเองว่า ‘เด็กแหกคอก’
ช่วงปี 2553 เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ช่วงนั้น ฮ่องเต้มีโอกาสได้เดินทางมากรุงเทพฯ กับพ่อ เด็กชายได้เห็นคนในออฟฟิศพ่อหลายๆ คนที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์ของคนเสื้อเหลืองพูดถึงข่าวที่คนเสื้อแดงถูกยิงตายอย่างเบิกบาน เขารู้สึกงุนงงที่คนมีรีแอ็กชันแบบนั้น จนนำมาสู่การตั้งคำถามทางการเมืองที่จริงจังและเข้มข้นกว่าเดิม
“ด้วยความเป็นเด็ก มีข่าวคนโดนยิงตาย ทำไมมึงดูมีความสะใจกันจังวะ ความรู้สึกผมตอนนั้นคือ นี่คนตายเลยนะ ในความคิดของเด็ก เหตุการณ์นั้นรุนแรง แล้วภาพที่ออกมาก็น่ากลัวมากๆ ทำไมพวกคุณดูสะใจกันจัง โห ผมก็เลยไม่ค่อยชอบกลุ่มคนที่สนับสนุนการยิงคนเสื้อแดงในตอนนั้นเท่าไร” ฮ่องเต้เล่า
ด้วยความเป็นคนหัวดื้อและไม่ปักใจเชื่อข้อมูลอะไรง่ายๆ ฮ่องเต้จึงหันเหมาสนใจศาสตร์ด้านปรัชญาต่างๆ เป็นที่มาของคณะวิชาที่เลือกเรียน จนกระทั่งเขาได้กระโดดเข้ามาสู่การปฏิบัติการทางการเมือง กลายเป็นนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวทุกช่วงที่มีโอกาสเอื้อให้ออกมา เพราะนี่อาจเป็นหนทางเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง สังคมที่ยังไม่เคยมีระบอบประชาธิปไตยจริงๆ สักที
และนั่นเป็นเหตุให้เขากลายเป็นอริแห่งรัฐอนุรักษนิยม ทว่าในความเป็นจริงเขาเป็นเพียงผู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพที่พึงมีในฐานะมนุษย์ คนไทย คนเชียงใหม่ นักศึกษา วัยรุ่น และนักกิจกรรมจากพรรควิฬาร์
ซึ่งในทุกสถานะ เขาคือมนุษย์ที่อยากเห็นความเท่าเทียมเกิดขึ้นในสังคม
การต่อสู้ของธนาธร IN เชียงใหม่
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ครั้งแรกที่ฮ่องเต้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลเผด็จการ กิจกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างฉุกละหุก
“สถานการณ์ตอนนั้นคือ ช่วงที่ Free YOUTH เขาชุมนุมกันที่กรุงเทพฯ เราคิดว่า ไม่ได้ละ เพื่อนเราก็อยู่ที่นั่น ส่งข้อความและส่งข่าวมาบอกว่า มันมีการล้อมบุกเข้าไปในพื้นที่ที่เขาตั้งกองไลฟ์กันอยู่ ฝั่งผมเองอยู่เชียงใหม่ ก็เลยหาช่องทางช่วยอีกแรง ไปติดต่อพี่ๆ คนนู้นคนนี้ เพื่อขอยืมเครื่องเสียง ตอนเริ่มปราศรัยจะมีแค่ลำโพงเพียงตัวเดียว และมีไมค์แค่ตัวเดียวเลย ซึ่งไม่มีขาตั้งใช้ด้วยนะ (หัวเราะ)
“จากแต่ก่อนเรียนอย่างเดียว ทุกวันนี้แทบไม่ได้เรียนแล้ว (หัวเราะ) คือไปเน้นทำกิจกรรมเป็นส่วนใหญ่ เราอินกับอะไรพวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ช่วยทำให้เราต้องฝึกฝนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้มากขึ้น เช่น ถ้ามีตำรวจเข้ามาในที่ชุมนุมควรจะทำอย่างไรดี”
อำนาจนิยมทั้งประเทศเชื่อมโยงเป็นผืนเดียวกัน สำหรับฮ่องเต้ นี่จึงไม่ใช่เพียงการต่อสู้บนพื้นที่ภายนอกมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่การเคลื่อนไหวของเขาและเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับทั้งสังคม
“ผมมองว่ามันเป็นปัญหาที่ผูกพันและเชื่อมโยงกัน พูดกันตามตรงคือ รัฐก็ต้องการให้นักศึกษาถูกกด ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เหมือน 14 ตุลาฯ ขึ้นมา ดังนั้นการเคลื่อนไหวจึงเป็นการสื่อสารต่อทั้งพื้นที่ข้างนอก ซึ่งเรากำลังพูดกับผู้สั่งการ ส่วนการต่อสู้เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิต่างๆ ข้างในมหา’ลัย เรากำลังสู้กับคนที่รับเรื่องจากผู้สั่งการนั้นมาในสถานศึกษาอีกทอดหนึ่ง สุดท้ายแล้วในประเทศนี้มันมีการรวมศูนย์อำนาจ กระจุกอำนาจไว้ตรงกลาง เพื่อดำรงอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าเอาไว้”
เชียงใหม่ไม่ใช่อาณานิคมของกรุงเทพฯ
หากหูตาไม่มืดบอดจนเกินไป เราจะเห็นความเป็นจริงร่วมกันได้เลยว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการรวมศูนย์อำนาจมาเนิ่นนาน ทั้งที่ท้องถิ่นหรือจังหวัดอื่นๆ ต่างมีศักยภาพที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจและการเมืองในรูปแบบของตัวเองได้ เช่นเดียวกับจังหวัดเชียงใหม่ ที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลต่อปี แต่ทว่าต้องส่งเงินกลับเข้าส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ทุกปี อำนาจการปกครองทั้งหมดถูกบงการและส่งตรงมาจากส่วนกลาง นั่นรวมถึงงบประมาณที่ถูกแบ่งกลับคืนมาสู่เชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ อย่างจำกัดจำเขี่ย
“โครงสร้างตอนนี้ เราเหมือนเป็นอาณานิคมของกรุงเทพฯ เท่านั้น ต้องคอยส่งทรัพยากรกลับไป พูดตรงๆ ถ้าไม่ใช่กรุงเทพฯ ที่อื่นก็เป็นศูนย์กลางทางการค้าได้เหมือนกัน เรากลายเป็นเมืองที่มีความเจริญได้ ทำไมเขาไม่ทำให้เกิดขึ้นล่ะ มันไม่ใช่ว่าพอกรุงเทพฯ ดีแล้ว เราต้องมานั่งคอยส่งทรัพยากรให้เขาอย่างเดียว ความจริงคือ ถ้าเราทุกคนอยากให้ประเทศมันก้าวไปข้างหน้า ก็ต้องทำให้ทุกเมืองเป็นแบบกรุงเทพฯ ให้ได้ หรือทำทุกๆ เมืองให้ดีกว่ากรุงเทพฯ ก็ได้
“แค่เลือกกำหนดโครงสร้างในการบริหารส่วนท้องถิ่นเองได้ หรืออาจจะไม่ได้กำหนดโครงสร้างบริหารกันเองขนาดนั้น แต่อย่างน้อยควรมีอำนาจการบริหารของเราเอง ในท้องถิ่นควรเลือกใช้ทรัพยากรที่มีกันเองได้ ไม่ใช่ว่าการตัดสินใจต่างๆ ต้องมีมาตรการและนโยบายจากรัฐส่วนกลางเข้ามาควบคุมทั้งหมด ไม่ว่าภาคส่วนระดับจะเล็กมากแค่ไหน ก็ควรจะได้รับสิทธิการบริหารจัดการตัวเอง ได้รับอำนาจในการบริหารจัดการบนพื้นที่ของตัวเราเอง ตั้งแต่ตัวปัจเจกไปจนถึงระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ” ฮ่องเต้กล่าว
ว่ากันตามตรงแล้ว ฮ่องเต้แชร์ให้เราฟังว่า ด้วยโครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจไว้เพียงที่เดียว ส่งผลให้การชุมนุมในเชียงใหม่ส่งแรงกระเพื่อมไม่เท่าการชุมนุมบนพื้นที่ส่วนกลาง เพราะน้ำหนักของจังหวัดอื่นๆ ไม่เคยถูกให้คุณค่าและความสำคัญเท่าเทียมกับการปกครองในกรุงเทพฯ เลย ประเด็นการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในเชียงใหม่ จึงต้องชูปัญหาที่คนเมืองเชียงใหม่กำลังเผชิญอยู่ด้วย
“ถ้าเราเรียกร้องที่เชียงใหม่ แล้วพูดเรื่องเดียวกับกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว แต่ไม่เรียกร้องเรื่องของท้องถิ่น ก็จะไม่มีกระทบอะไรต่อเขาเลย ตอนนี้ เราเรียกร้องเรื่องปัญหาของท้องถิ่นไปเรื่อยๆ ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่า เฮ้ย เขาไม่ได้มองเราเป็นคนประเทศเดียวกัน เขามองเราเป็นเพียงลูกอาณานิคม จุดนี้ รัฐจะรู้สึกสั่นสะเทือนได้ เพราะนั่นคือสิ่งที่รัฐพยายามปกปิดมาตลอดว่า เชียงใหม่คือเขตอาณานิคมของส่วนกลางเท่านั้น
“การบริหารของรัฐส่วนกลาง เขาคิดแทนเราครับ และเขาไม่คิดว่าจะต้องเข้าใจเราด้วย นั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำคือ การเปิดเผยความจริงเหล่านี้ออกมาว่า เรามีปัญหามาตลอด ไม่ใช่แค่การรู้สึกว่า อยากจะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดี รัฐปกปิดให้คนเงียบเพราะกลัวว่า วันหนึ่ง จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ถ้าเป็นอย่างนั้น เราประท้วงที่ไหนรัฐก็สะเทือน ดังนั้นแล้วรัฐจึงกลัวการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจ” ฮ่องเต้กล่าว
คืนประเทศไทยให้คนไทยทุกคน
นักศึกษาหนุ่มบอกเราว่า ในฐานะที่เขาทำงานบริหารในสโมสรนักศึกษา หรือ Student Union ภายในรั้วมหา’ลัยเชียงใหม่ เขาอยากเห็นสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษางอกงาม เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ของนักเรียนต่างถูกนำไปหล่อเลี้ยงสถาบัน ไม่ใช่เงินจากกระเป๋าของผู้บริหาร นี่จึงเป็นโลกจำลองฉบับย่นย่อของประเทศไทย เพราะประชาชนผู้ทำงานจ่ายภาษี ก็ควรมีสิทธิ์มีเสียงในฐานะเจ้าของประเทศเช่นกัน
“ถ้าประเทศนี้มันดีแต่แรก ผมคงไม่ต้องออกมาเรียกร้อง ไม่ต้องออกมาม็อบ จะได้ไปดำเนินการสิ่งต่างๆ ตามระบบได้ ถ้าพวกผมมีสิทธิและเสรีภาพ อาจจะไม่ต้องถูกคุกคาม ไม่จำเป็นต้องมานั่งคิดกังวลเยอะ ต้องการอะไรก็แค่ไปบอกคนที่เราจะสื่อสารด้วย นั่นคือสิ่งที่เราต้องเสียไปจากการที่มีรัฐบาลอย่างนี้ นึกภาพออกไหมว่า ถ้าประเทศเราดีกว่านี้ ผมก็คงไปเที่ยวบ้าง อยากมีแฟน และไปมี Puppy Love น่ารักๆ บ้าง” ฮ่องเต้ยิ้ม
“แต่มันก็มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ ผมได้ยืนยันว่าตัวเองเป็นคนที่มีกระดูกสันหลัง ผมมีหลักการของผม ผมยืนยันว่าผมเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพนะ และผมไม่ใช่ทาสของใคร” เขาปิดท้ายด้วยความแน่วแน่ในน้ำเสียง
I I I
ติดตามการทำงานของพรรควิฬาร์ได้ที่
Facebook : พรรควิฬาร์ WilarParty