‘ThaiWater’ แอปฯ รวมข้อมูลน้ำไทย ที่อยากให้ทุกคนนำพยากรณ์น้ำมาใช้ประโยชน์ - Urban Creature

  • คนกรุงเทพฯ ใช้น้ำปริมาณ 200 ลิตร/วัน ในขณะบางคนใช้แค่ 30 ลิตร/วัน หรือประมาณกดชักโครก 3 ทีเท่ากับคนต่างจังหวัดใช้อาบน้ำได้ทั้งวัน
  • ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก อย่างลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเหลืออยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ความจริงแล้วควรจะมี 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตรถึงจะเพียงพอ
  • ทุกวันนี้ต้องปล่อยน้ำจากเหนือลงมาสู่กรุงเทพฯ ให้คนเมืองได้ใช้โดยตรง ในขณะที่จังหวัดอื่นต้องวางแผนการใช้น้ำเพราะมีอยู่จำกัด

‘น้ำ’
ขาดแคลน หรือ เหลือใช้

ปัจจุบันคนอาจจะคิดว่า ‘น้ำ’ ไม่น่าจะอยู่ในภาวะขาดแคลน เพราะทุกวันนี้ในเมืองยังมีน้ำให้กินให้ใช้อยู่ไม่ขาดสาย แต่หากมองให้กว้างขึ้นจะพบว่า นอกเมืองในบางพื้นที่แทบไม่มีน้ำใช้เลยเนื่องจากภาวะภัยแล้ง รวมถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ตรงตามฤดูกาล ทำให้แต่ละพื้นที่ได้รับผลกระทบและต้องรับมือกับสถานการณ์น้ำที่น้อยลงทุกที

ชวนทุกคนเข้าใจสถานการณ์น้ำด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน ‘ThaiWater’ คลังข้อมูล ‘น้ำ’ ทั้งหมดของไทยที่รวบรวมกว่า 45 หน่วยงานรัฐบาล พร้อมเปิดข้อมูลและวิเคราะห์ได้ในสมาร์ตโฟนและเว็บไซต์ โดยเราจะมาพูดคุยกับ ‘ผศ. ดร.สุทัศน์ วีสกุล’ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ที่จะมาวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในไทย ว่าต่อไปข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

| รวม (ข้อมูล) กันเราอยู่ แยกกันอยู่อาจจะลำบาก

ที่มาของแอปฯ ‘ThaiWater’ น่าสนใจตรงที่เป็นคลังรวบรวมข้อมูลน้ำแห่งชาติ ที่เปิดให้บริการสาธารณะโดยไม่ต้องเสียเงินเลยแม้แต่บาทเดียว โดยไอเดียนี้เริ่มมาจาก พ.ศ. 2538 เกิดวิกฤตน้ำท่วมที่ภาคกลาง ตอนนั้นรัชกาลที่ 9 กำลังหาทางแก้ไขน้ำท่วม จึงค้นพบว่าข้อมูลที่มีอยู่ขณะนั้นใช้งานยาก เพราะถูกแยกออกจากกันของแต่ละหน่วยงาน ท่านจึงมีความคิดว่า ควรนำข้อมูลทั้งหมดมารวมไว้ที่เดียว เพื่อสะดวกในการศึกษาและวิเคราะห์เห็นภาพรวมได้ง่ายขึ้น 

หลังจากนั้นจึงได้ก่อตั้ง ‘โครงการระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำ’ ซึ่งรวบรวมข้อมูลน้ำจากหน่วยงานหลักของไทย เช่น กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมอุตุนิยมวิทยา และต่อมาก็พัฒนาเป็น ‘สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)’ หรือ สสน. ที่ปัจจุบันรวมข้อมูลน้ำทั้งหมดของประเทศไทยกว่า 40 หน่วยงานมาไว้ในแอปพลิเคชัน ThaiWater ในสมาร์ตโฟน รวมถึงเว็บไซต์ https://www.thaiwater.net/v3/ และ http://waterinfo.onwr.go.th/thaiwater30/

อาจารย์สุทัศน์เล่าว่า จุดประสงค์การทำแอปพลิเคชัน ThaiWater เพื่อให้คนทั่วไปใช้งานง่าย อัปเดตเหตุการณ์อยู่เสมอ เพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการบริหารน้ำได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องเสียเวลาทำจดหมายให้ยุ่งยากเหมือนสมัยก่อน หรือต้องรอประกาศจากหน่วยงานอีกต่อไป ซึ่งมันมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของคนไทยมากทีเดียว

“อย่างอาชีพเกษตรกรรมเอง ต้องใช้ปริมาณน้ำมากถึงเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด หากเขาเช็กสถานการณ์ฝนและพายุได้จากสมาร์ตโฟน ก็จะทราบว่าต้องหว่านเมล็ดเมื่อไหร่ และวางแผนการเก็บสำรองน้ำในยามฉุกเฉินได้อย่างไร ส่วนอาชีพประมงต้องก็ต้องดูเรื่องระดับน้ำทะเล หรือลมมรสุมต่างๆ ก่อนออกจะไปจับปลา

“โดยเราก็มีทีมงานลงไปสอนการใช้แอปฯ ให้ชุมชน เพื่อต่อไปเขาจะได้หยิบมือถือมาดูได้เลย ไม่ต้องรอคนมาประกาศเอง หรือแม้กระทั่งคนเมืองเองหากมีแพลนอยากไปเที่ยวทะเลหรือภูเขา ก่อนออกเดินทางก็สามารถตรวจเช็กสภาพอากาศพายุและฝนฟ้าได้เลย ก็ไม่ต้องค้นหาให้เสียเวลา”

| นักพยากรณ์น้ำที่แม่นยำ คือเทคโนโลยีที่ทันสมัย

เบื้องหลังข้อมูลก่อนจะโชว์ขึ้นแอปฯ ลบภาพจำไปได้เลยว่าการทำงานของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำจะล้าสมัย เพราะนำเทคโนโลยีมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้ใคร อย่าง ‘สถานีโทรมาตร’ ที่เป็นเหมือนเจ้าหน้าที่ภาคสนามคอยลงตรวจพื้นที่จริง แล้วรีบรายงานผลระดับน้ำและปริมาณน้ำฝนมาให้ทีมทราบ 

หรือจะเป็นพี่ใหญ่ ‘สถานีเรดาร์’ ที่ช่วยประเมินปริมาณน้ำฝนให้รวดเร็วขึ้นทุก 6 นาที แถมยังสามารถพยากรณ์ฝนล่วงหน้าได้ถึง 3 ชั่วโมง รวมทั้งต่อไปข้างหน้ามีแผนจะเพิ่มเพื่อนอีก 6 ตัวเพื่อเก็บข้อมูลให้ละเอียดและครอบคลุมทั้งประเทศ เมื่อได้ข้อมูลจากทีมภาคสนามแล้ว ก็ถึงคราวรับไม้ต่อของหน่วยกลางที่ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลต่างๆ มาปรากฏในแอปฯ และเว็บไซต์ ด้วยเทคโนโลยี Big Data ที่ทาง สนน.ใช้มาทำส่วนวิจัยเพื่อช่วยคาดการณ์สภาพอากาศไม่ให้ผิดเพี้ยน

นอกจากนี้ อาจารย์สุทัศน์ยังสอนการดูแอปฯ บนสมาร์ตโฟน เพียงโหลดแอป ‘ThaiWater’ สังเกตรูปหยดน้ำ ก็สามารถกดดาวน์โหลดได้ทันที ซึ่งหากจะใช้งานเช็กสภาพอากาศ พยากรณ์ฝน หรือเช็กน้ำท่วมก็สามารถทำได้ง่ายๆ เช่น

  • ถ้าจะเข้าไปเช็กสภาพฝน ก็ต้องดูแผนที่ฝน ซึ่งจะมีสีต่างๆ ให้จำหลักๆ ไว้ 3 ระดับ
    เริ่มจากสีฟ้า-ฝนตกน้อยๆ, สีเหลือง-ฝนตกเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง และสีแดง-ฝนตกหนักมาก

  • หากเราต้องออกเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ แล้วอยากรู้ว่าสภาพอากาศเป็นอย่างไร ก็สามารถตั้งค่าจังหวัดที่เราสนใจได้ มันก็จะรายงานผลต่างๆ เช่น พยากรณ์ฝน อุณหภูมิ และปริมาณฝนในพื้นที่ให้ด้วย

  • หากจะไปเที่ยวสักย่าน อยากรู้ว่าแถวนั้นน้ำท่วมไหม ถ้าเป็นกรุงเทพฯ ให้สังเกตตรงปริมาณน้ำฝนสะสม แล้วดูสถานีที่ใกล้เคียงกับบริเวณนั้น ถ้ามีค่าเกิน 60 มิลลิเมตรถือว่าท่วมแล้ว แต่ถ้าต่างจังหวัดตอนนี้ 80 มิลลิเมตร พอชั่วโมงต่อไป 100 มิลลิเมตรแสดงว่าฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง อาจจะต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี
| เมืองมากับฝน น้ำท่วมมากับคน

เราถามถึงสภาพอากาศในกรุงเทพฯ ทำไมฝนถึงตกหนัก และมีแนวโน้มน้ำจะท่วมเมืองได้หรือไม่ สาเหตุที่ทำให้กรุงเทพฯ ฝนตกหนักเพราะมี ‘Urban Heat Island’ หรือเรียกว่า ‘ปรากฏการณ์โดมความร้อน’ เหมือนกับกรุงเทพฯ โดนฝามาครอบไว้ทั้งเมือง แล้วความร้อนจากข้างในก็ไม่สามารถระบายออกไปข้างนอกได้ ความร้อนจึงสะสมมากขึ้น และทำให้อุณหภูมิในเมืองร้อนมากกว่าปกติ ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวนไม่เหมือนเดิม ซึ่งความร้อนที่ปล่อยออกมาจากเมืองก็มาจากเครื่องปรับอากาศ แหล่งโรงงานอุตสาหกรรม หรือผลกระทบจากรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งหมดมีผลต่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น เช่น ลมเปลี่ยนทิศ การเกิดเมฆและหมอกมากขึ้น ทำให้เกิดฝนตกมากกว่าที่อื่น

“ตรงไหนเป็นเมือง
ตรงนั้นมีโอกาสฝนตกมากกว่าที่อื่น”

“ส่วนเรื่องน้ำท่วมจะเกิดขึ้นได้จากฝนตกหนักทุกวัน และแผ่นดินทรุดกับน้ำทะเลหนุน ซึ่งน้ำทะเลขึ้นไม่ค่อยเยอะหรอก แต่กรุงเทพฯ แผ่นดินทรุดเยอะเพราะว่าคนสูบน้ำบาดาลไปใช้กัน อธิบายง่ายๆ พื้นที่ที่เราเหยียบทุกวันนี้มีดินกับน้ำรองรับน้ำหนักไว้ แต่เมื่อคนสูบน้ำออกจนหมดก็เหลือดินแบกไว้คนเดียว พอโดนกดทับบ่อยขึ้น ดินก็ทนไม่ไหวและทรุดตัวในที่สุด ซึ่งลดไปทีละสองถึงสามเซนติเมตร/ปี แต่พอมีกฎหมายเข้ามาห้ามก็ดีขึ้น แต่ดินถ้าทรุดแล้วทรุดเลยนะ ไม่เด้งกลับมาด้วย ก็ยังทรุดทีละสองถึงสามมิลลิเมตร/ปี ถ้ามองในระยะยาวน้ำไม่น่าท่วมเมือง”

‘น้ำท่วมทุกปี เพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด’

“แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ แผ่นดินทรุดทำให้น้ำท่วม เพราะระดับพื้นดินไม่เท่ากัน ตรงไหนดินทรุดก็กลายเป็นพื้นดินต่ำ ซึ่งฝนตกทีก็ท่วมกลายเป็นแอ่งน้ำ หากดูข้อมูลปริมาณฝนในกรุงเทพฯ ไม่ได้ท่วมในคลอง แต่ส่วนใหญ่ท่วมตามผิวจราจรบนพื้นถนน เพราะถนนออกแบบไว้รองรับน้ำแค่หกสิบมิลลิเมตรต่อฝนตกหนึ่งครั้ง

“ซึ่งปัจจุบันฝนตกหนักมาก บางวันขึ้นไปถึงหลักร้อย ทางแก้ก็ต้องสูบน้ำออกหรือควรออกแบบท่อน้ำในกรุงเทพฯ ทั้งหมดให้รองรับน้ำได้เยอะขึ้น รวมถึงการลำเลียงน้ำจากถนนไปยังอุโมงค์ระบายน้ำต้องไม่ติดขัด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากขยะที่ทำให้ท่ออุดตัน หากเคลียร์ไปได้ทั้งหมดก็จะลดปัญหาน้ำท่วมได้ถูกจุด”

| สถานการณ์น้ำไทย ขอให้พายุช่วยเติมเต็ม

“ปีนี้ว่าแล้งแล้ว ปีหน้าแล้งกว่านี้อีก”

เราถามอาจารย์ต่อเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำของทั้งประเทศเป็นอย่างไรบ้าง เพราะก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศด้วยเช่นกัน อย่างเมื่อก่อนจะได้ยินปัญหาน้ำท่วมตามต่างจังหวัดบ่อยๆ แต่ครั้งนี้แตกต่างกันที่ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าที่ต้องการ “ถ้าดูข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนจะเห็นว่าน้อยมาก



“อย่างน้ำที่ใช้ในสี่เขื่อนหลักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเหลืออยู่แค่สิบเปอร์เซ็นต์ ประมาณสองพันล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563) แต่ที่ต้องการควรจะได้หนึ่งหมื่นสองพันล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลย คิดว่าปีนี้แย่แล้ว น่ากังวลปีหน้ามากกว่า เพราะเรามีต้นทุนน้ำน้อยกว่าตอนเริ่มต้นปีที่แล้วด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นปีนี้ต้องลุ้นให้พายุช่วยเข้ามาเติมน้ำให้เยอะๆ หน่อย”

| น้ำ แลกมาด้วย ชีวิต

เรามักจะได้ยินผ่านหูบ่อยๆ เกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทุกปี แต่สุดท้ายก็เห็นว่ายังมีน้ำใช้อยู่ทุกวัน “คำว่าภัยแล้งสำหรับคนเมืองอาจจะนึกภาพไม่ออก เพราะมีน้ำไว้กินไว้ใช้อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเมื่อเกิดขึ้นกับตัวเอง หากวันหนึ่งไม่มีน้ำใช้จะเกิดอะไรขึ้น ยกตัวอย่างที่เคยลงไปสัมผัสชุมชนจริงๆ เขาต้องขับรถไปที่อื่นเพื่อซื้อน้ำมาใส่ตุ่มไว้ใช้กิน น้ำประปาก็ต้องเปิดปิดเป็นเวลา เช่น คุณมีเวลาอาบน้ำภายในหนึ่งชั่วโมงนี้ ซึ่งได้แค่นี้นะ เพราะไม่งั้นทั้งชุมชนจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งแต่ละที่ก็จะต้องวางแผนใช้น้ำในช่วงที่แล้งมากๆ ให้อยู่รอดกันให้ได้ 

“คนกรุงเทพฯ ใช้น้ำสองร้อยลิตร/วัน ในขณะที่คนต่างจังหวัดบางที่ใช้เพียงสามสิบลิตร/วัน ประมาณกดชักโครกสามที = คนต่างจังหวัดอาบน้ำได้เกือบทั้งวัน

“ไม่ใช่แค่เรื่องการใช้ชีวิตแต่กระทบไปถึงอาชีพของเขาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยทำเกษตรกรรมเยอะ หากแหล่งน้ำหมดไป เปิดก๊อกน้ำก็ไม่มีอีก ก็กลายเป็นว่าปลูกข้าวไม่ได้ ไม่มีรายได้ ต่างจากกรุงเทพฯ ได้รับการปล่อยน้ำจากจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดตากระยะทางกว่าสามร้อยกิโลเมตรให้คนเมืองใช้ เพราะกรุงเทพฯ อยู่ใกล้ทะเลซึ่งเป็นน้ำเค็มกินไม่ได้ ซึ่งระหว่างทางที่ลำเลียงน้ำมาให้จังหวัดอื่นที่อยู่รอบข้าง เช่น กำแพงเพชร ชัยนาท และนครสวรรค์ พวกเขามีน้ำไหลผ่านหน้าบ้านตลอดแต่เอามาใช้ทำเกษตรไม่ได้

เพราะฉะนั้นคนเมืองต้องรู้จักใช้น้ำให้คุ้มค่าที่ได้ประโยชน์ตรงนี้ ก่อนที่วันหนึ่งเราจะไม่มีน้ำใช้กันจริงๆ”

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.