ปฏิรูปการศึกษาไทยยังไง ทำไมยังอยู่ในกะลานีเซียร์ - Urban Creature

วาทกรรม 4.0 x การศึกษาไทย : ในวันที่บ้านเราก้าวสู่ยุค 4.0 มันส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนในประเทศ รวมถึงภาคการศึกษาด้วยเช่นกัน

กับดักการศึกษาไทย : ในช่วง 20 ปี กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยน “รัฐมนตรี ถึง 21 คน รวมถึงนโยบายการศึกษาที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด ทำให้การดำเนินการขาดความต่อเนื่อง

ความเหลื่อมล้ำ : เกิดจากต้นทุนชีวิตที่ไม่เท่ากัน นั่นคือ สังคม รายได้ การศึกษาของพ่อแม่ และโอกาสของเด็ก

วัดผลเยอะแยะไปทำไม : การขาดสมดุลของระบบประเมิน ที่เน้นหนักไปที่การประเมินเพื่อตัดสิน มากกว่าการประเมินเพื่อพัฒนา คือข้อเสียที่พาระบบการศึกษาไทยไร้ทิศทาง

การศึกษาให้อะไรกับเด็ก : เรากำลังสับสนคำว่า ระดับการศึกษา กับ การเรียนรู้

สิ่งที่ครูรุ่นใหม่ต้องเปลี่ยน Mindset : ทักษะการเป็นครู ความเป็นผู้นำ และทัศนคติที่มีต่อเด็ก

เด็กยุคศตวรรษที่ 21 : คิด วิเคราะห์ได้ แก้ปัญหาเป็น และพัฒนาตัวเองตามศักยภาพ

แนวทางการปฏิรูปการศึกษา : “พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา (Education Reform Sandbox) พื้นที่สำหรับทดลองระบบการเรียนรู้ เพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยให้ได้ผล


สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF (World Economic Forum) ได้จัดอันดับการศึกษาในประเทศอาเซียน พบว่า ปี 2560 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 8 ต่ำกว่ากัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งก็น่าจะบ่งบอกถึงคุณภาพการศึกษาไทยที่ย่ำอยู่กับที่ จนเพื่อนบ้านจะแซงเรากันไปหมด อะไรล่ะ คือต้นตอที่ทำให้การศึกษาไทยไม่ไปไหนสักที

ล้วงลับ “การศึกษาไทย” เคลียร์ประเด็นที่หลายคนได้แต่คิดแล้วก็สงสัย ถามตอบกับนักวิจัยสาวมาดเท่ดีกรีวิศวะ คุณทราย-ณิชา พิทยาพงศกร ที่สนใจปัญหาสังคมมาตั้งแต่สมัยเรียน และจากประสบการณ์ที่ได้ทุนไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส จึงกลับมาเริ่มต้นทำงานกับ “Teach for Thailand หรือ องค์กรที่พัฒนาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” และมีโอกาสได้เห็นปัญหาการศึกษาไทยที่ไม่รู้ว่าเรียนกันไปเพื่ออะไร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกินคนทั้งประเทศ จึงเป็นแรงผลักดันที่อยากจะหาแนวทางเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเกิดการเรียนรู้ในห้องเรียนที่ส่งต่อไปถึงเด็กจริงๆ

ปัจจุบัน คุณทรายเป็นหนึ่งในทีมวิจัยของ “Thailand Development Research Institute (TDRI)” หรือ “สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” โดยศึกษาวิจัยด้านการศึกษาไทยทั้งในเชิงลึกและกว้าง ซึ่งคุณทรายจะมาช่วยไขข้อสงสัย เปิดกล่องดำการศึกษาไทยให้เราเข้าใจกันกระจ่างมากขึ้น

วาทกรรม 4.0 x การศึกษาไทย

อย่างที่รู้กันว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ “ยุค 4.0” มาร่วมห้าปีแล้ว ชี้ให้เห็นความพยายามของรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบกับทุกภาคส่วนในประเทศ รวมถึงภาคการศึกษาด้วยเช่นกัน

“เพราะการศึกษา คือจุดตั้งต้นที่เราใช้สร้าง ‘บุคลากรของประเทศ’ ซึ่งเรากำลัง Set Vision ว่า พวกเขาจะต้องจบออกมาเพื่อทำงานในระบบอุตสาหกรรมใหม่ หรืออุตสาหกรรม S-curve ถ้ามองว่าการศึกษาคือการสร้างคนมาเพื่อตอบโจทย์รัฐบาล มันก็คงต้องเปลี่ยนระบบการศึกษา

“แต่มันก็น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่า เราควรจะสร้างคนขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์รัฐบาลแบบนี้เท่านั้นหรือไม่ และโจทย์นี้มันสมเหตุสมผลมากแค่ไหน แล้วถ้าเปลี่ยนรัฐบาล เราจะอยากสร้างคนแบบอื่นหรือเปล่า ตรงนี้มันย้อนกลับไปถึง ‘ปรัชญาการศึกษา’ เลยนะว่า การศึกษามีไว้เพื่ออะไร?”

การศึกษามีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการสร้างคนแบบที่รัฐต้องการ หรือเป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์แต่ละคน ให้เขาเข้าถึงศักยภาพสูงสุด

ปรัชญาทางการศึกษาที่น่าสงสัย นำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า จะทำอย่างไรให้ทั้งสังคมเห็นภาพรวมของการศึกษาเป็นภาพเดียวกัน?

“ถ้าเรามองไม่เห็นภาพรวมทางการศึกษาเป็นภาพเดียวกัน พ่อแม่ให้ลูกเรียนไปเพื่อมีอาชีพดีๆ ลูกเรียนไปเพื่อตอบความสนใจของตัวเอง ประเทศอยากให้เรียนเพื่อมาเป็นแรงงานในภาคเศรษฐกิจ มันก็คงกระเจิงอะ (หัวเราะ)

“ที่พูดไป ไม่ได้หมายความว่าต้องเลือกเพียงอันใดอันหนึ่ง แต่มันควรจะประนีประนอมกันได้ มันควรจะมีความต้องการโดยรวมที่ทุกคนจะโอเค อย่างไทยแลนด์ 4.0 ถ้าตีความตามภาครัฐก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ตีความในภาคของเด็กนักเรียน มันคืออะไร เขาต้องการอะไร และถ้าท้ายที่สุด มันมีความต้องการของประเทศไปพร้อมกันว่า โอเคเราจะไปทางนี้ ก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรต่อ ตรงดีเทลนี้แหละที่สำคัญมากๆ ถ้าคุณอยากจะสร้างวิศวกรที่ซ่อมเครื่องบินได้ คุณมีหลักสูตรผลิตวิศวกรแบบนั้นหรือยัง แล้วมันดึงดูดคนได้มากแค่ไหน”

.

กับดักการศึกษาไทย

สิ่งหนึ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาไทย คือในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีถึง 21 คน กระทบไปถึงนโยบายการศึกษาที่ต้องเปลี่ยนตามกันเป็นว่าเล่น ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการติดตามนโยบายต่างๆ และยากที่จะนำไปปฏิบัติให้เกิดรูปธรรม

ในประเด็นที่ว่าระบบการศึกษาไทยทำไมต้องเปลี่ยนบ่อย คุณทรายมองว่า ระบบการศึกษาต้องวิวัฒนาการให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ยกตัวอย่างประเทศที่มีระบบการศึกษาเข้มแข็ง เช่น ฟินแลนด์ ก็ไม่ได้หยุดพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร แต่ระบบการศึกษาไทย วิวัฒนาการจากทิศทางนโยบายที่เปลี่ยน หรือความคิดของคนที่อยู่ข้างบน เมื่อปล่อยไปเรื่อยๆ ระบบก็จะเริ่มตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

“กลายเป็นว่าระบบเราไม่ได้ถอยหลัง ไม่ได้ไปข้างหน้า มันแค่อยู่ของมันเฉยๆ แต่เพราะโลกมันเปลี่ยนไปเร็วมาก มันก็เลยไม่ทันโลก”

นโยบายที่มีการผลักดันแนวคิดใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาล้วนเป็นแนวคิดที่ดี แต่ด้วยเงื่อนไขที่ว่า กว่านโยบายเหล่านี้จะมาถึงการปฏิบัติจริง ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ตั้งแต่กระทรวง เขต โรงเรียน คุณครู กว่าจะมาถึงเด็ก กลายเป็นข้อต่อของปัญหาที่รุงรัง และจะดีกว่านี้ถ้าระบบการศึกษาไทยมีการสื่อสารที่สามารถโต้ตอบกันได้ทั้งระบบ

หลายๆ อย่างถูกคิดขึ้นมาจากคนที่กำหนดนโยบาย แต่ความต้องการจริงๆ มันเกิดขึ้นในห้องเรียน เด็กอยากจะเป็นอะไร อยากจะเรียนอะไร เสียงที่สะท้อนขึ้นไปพวกนี้แทบไม่มีเลย

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากต้นทุนชีวิต

สิ่งที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในระบบการศึกษา คอยสร้างช่องโหว่ และปัญหาอีกมากมาย คงปฏิเสธกันไม่ได้ว่ามันคือเรื่องของ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่เป็นผลพวงมาจาก “ต้นทุนชีวิต” ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งคุณทรายมองว่ามันมีด้วยกันอยู่ 2 จุด

1. ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น นั่นหมายถึงเรื่องคุณภาพ ผลสำเร็จในสิ่งที่เด็กทำได้ เมื่อนำไปเทียบกับประเทศอื่น เราทำได้ไม่เท่าเขา

2. ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กไทยด้วยกันเอง ประเทศไทยมีจำนวนเด็กที่มีผลลัพธ์เทียบเท่ากับเด็กในประเทศชั้นนำเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น มันก็จะมีช่องว่างเกิดขึ้นกับเด็กส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ผลลัพธ์ตามเกณฑ์ที่กำหนด และหากนำเอาสถิติของเด็กมาแบ่งตามสถานะของครอบครัว จะเห็นได้ชัดว่า สถานะของครอบครัวเป็นตัวคาดการณ์ผลลัพธ์สุดท้ายของการเรียนสำหรับเด็กคนหนึ่ง

“ดังนั้น ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มันมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคม ความสมบูรณ์พร้อมทางด้านรายได้ เรื่องการศึกษาของฝ่ายพ่อแม่ และโอกาสที่เด็กได้พบเจอในชีวิต”

หากแต่ระหว่างความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ การศึกษาไทยกลับสร้างความเสมอภาคโดยรวมที่ส่งมอบโอกาสให้เด็กทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตามได้ “เรียนหนังสือ”

“ประเทศไทยทำได้ดีในจุดที่พาเด็กทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษาแล้ว แต่ปัญหาที่เรายังต้องทำก็คือ การสร้างคุณภาพ (Provide Quality) ทำยังไงให้การเรียนรู้มันมีคุณภาพ ซึ่งตรงนี้ถ้าเราทำได้ มันก็จะลดช่องว่างของเด็กรวยและเด็กจนได้ในระดับหนึ่ง”

.

วัดผลเพื่อตัดสินหรือพัฒนา

สิ่งที่ครูไทยส่วนใหญ่ต้องแบกรับนอกเหนือไปจากการเรียนการสอน คือ ภาระครูที่ล้นมือ และงานหนักที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ งานประเมินโรงเรียน งานประเมินครู ไปจนถึงงานประเมินเด็ก ถามว่าทำไมเราต้องมีการประเมินกันบ่อยขนาดนี้ ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าเราประเมินไปเพื่ออะไร คุณทรายได้อธิบายถึงรูปแบบการประเมินซึ่งมี 2 แบบ ได้แก่

1. การประเมินเพื่อตัดสิน ในแง่ของภาครัฐที่ต้องจัดงบประมาณไปสนับสนุนโรงเรียน ก็ต้องการรู้ว่าเมื่อลงเงินไปแล้วได้ผลลัพธ์อย่างไร หรือแม้แต่การประเมินระดับชาติก็เป็นการประเมินที่ตัดสินว่า เด็กเก่งหรือไม่เก่ง เพื่อให้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

2. การประเมินเพื่อพัฒนา เป็นการประเมินเพื่อที่จะได้ข้อมูลว่า เราต้องพัฒนาไปทางไหน ซึ่งจำเป็นต่อการวางทิศทางของระบบการศึกษาไทย และจำเป็นต่อเด็กที่ต้องรู้ว่าควรไปศึกษาเพิ่มเติมตรงจุดไหน

ข้อเสียของการศึกษาไทยที่ผ่านมาคือการขาดสมดุลของการประเมินทั้ง 2 แบบ และเน้นหนักไปที่การประเมินเพื่อตัดสิน เพราะการประเมินเพื่อพัฒนานั้นทำได้ยากกว่า ใช้เวลามากกว่า และต้องมีการประเมินที่ถี่กว่า

การประเมินเด็กแบบที่ช่วยให้เขาพัฒนาจริงๆ ต้องเป็นการประเมินแบบรายคาบด้วยซ้ำ ให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาเรียนไป อะไรที่เขายังไม่รู้เรื่อง อะไรที่ยังต้องไปทบทวน เพื่อที่คาบหน้าเขาจะได้พร้อมและไปต่อได้ แต่พอเราไปเน้นประเมินเพื่อตัดสินมากเกินไป มันกลายเป็นว่าเด็กเรียนมาทั้งปี ไม่รู้เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ปลายปีมาสอบตก แล้วจะไปแก้ตรงไหน มันคิดไม่ออกแล้ว

ข้อสอบแบบท่องจำควรหมดยุค

“ประสิทธิภาพของการประเมินขึ้นอยู่กับว่าคุณวัดอะไร ถ้าให้จำไปสอบเพื่อวัดว่าเด็กจำได้ไหม คำถามคือเป้าหมายแบบนี้มันเหมาะสมกับโลกปัจจุบันหรือเปล่า เราต้องสร้างทักษะศตวรรษที่ 21 คุณอยากให้เด็กสื่อสารได้ คุณก็ต้องให้เขาสื่อสาร ถ้าคุณอยากให้เขาคิดวิเคราะห์ได้ คุณต้องให้โจทย์ที่มันไม่มีคำตอบตายตัวแล้วให้เขาวิเคราะห์ ข้อสอบแบบนี้ต่างหากที่ควรจะเข้ามาทดแทนข้อสอบแบบเก่า ซึ่งรับรองว่างานครูเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่มันก็เป็นสเต็ปที่เราต้องไป เพื่อที่จะสร้างทักษะแบบใหม่ให้ได้

“แต่ทีนี้การออกแบบข้อสอบที่เป็นการกาชอยส์แบบเดิมไม่ได้ มันต้องมีการเขียนวิเคราะห์ เขียนบรรยาย การจะทำแบบนั้น ก็ต้องมีคนที่สามารถตรวจข้อสอบได้ และต้องมีระบบที่ใช้กับข้อสอบทั้งประเทศด้วยมาตรฐานเดียวกัน อันนี้คือความยากของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบที่อิงทักษะมากขึ้น”

.

การสอบเข้ามหาวิทยาลัย วาระแห่งชาติที่เด็กต้องวิ่งไล่ให้ทัน

ในทุกๆ ปี เราจะเห็นกระแสจากเด็ก ม.ปลาย ที่โอดครวญถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเปลี่ยนวิธีการบ่อยจนเด็กตามไม่ทัน แถมยังต้องผ่านหลายด่าน และมีเด็กจำนวนมากที่ต้องพบกับความผิดหวัง คุณทรายให้ความเห็นว่า การจัดสอบที่เอามหาวิทยาลัยเป็นตัวตั้งมากเกินไป ทำให้เด็กรู้สึกทุกข์ทน

“ปีหลังๆ ที่ผ่านมา วิธีของคนที่เขาออกแบบระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็คือ ทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยได้คนที่เขาอยากได้ ในจำนวนที่เขาอยากได้ เด็กต้องไปสอบกี่รอบต่อกี่รอบก็ไม่รู้ โดยถูกมองว่านั่นไม่ใช่ปัญหาของมหาวิทยาลัย นั่นคือปัญหาของคุณ แต่แนวคิดที่ควรจะเป็นก็คือ ทำอย่างไรให้เด็กได้เข้าเรียนในคณะที่เหมาะกับความสามารถของเขา ตามความสนใจของเขา”

การศึกษาให้อะไร : ใบปริญญา vs เรียนรู้จริง

เรามักถูกปลูกฝังเรื่องจุดมุ่งหมายของการศึกษาจากสังคมว่า คือการสอบได้เกรดที่ดี หรือ ได้ใบปริญญาบัตรมาเชยชม ให้สมกับที่ร่ำเรียนกันมาร่วม 20 ปี สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งผิด หากแต่เราให้ความสำคัญกับวัตถุมากเกินไป จนลืมให้ความสำคัญกับกระบวนการ สิ่งนี้ต่างหากที่ผิด

“เรากำลังสับสนระหว่างคำว่า Qualification – ระดับการศึกษา กับ Education – การศึกษา เมื่อจบ ป.ตรี ป.โท จบคอร์สนั้นนี้ก็จะได้รับใบปริญญา หรือใบรับรอง แต่เราอาจสับสนว่านั่นคือการศึกษา หมายความว่าคนมีใบปริญญาคือคนมีการศึกษา มันก็เลยบิดเบือน เพราะจริงๆ แล้วการศึกษาคือการเรียนรู้ มันเป็นกระบวนการที่ถึงแม้ว่าคุณจะได้ใบปริญญาออกมาทำงาน ก็ยังต้องเรียนรู้ต่อ”

ถ้าเรายึดติดกับเกรด หรือใบปริญญา ว่ามันคือสัญลักษณ์ของการเรียนรู้ขั้นสุดยอดแล้ว โห คุณจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกได้ยากมาก

เปลี่ยนความคิด

หากจะพูดกันถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยโดยเริ่มจากตัวบุคคล คุณทรายบอกว่าตัวเดินหมากที่สำคัญก็คงเป็น ครู ซึ่งมีแนวทางพัฒนาในหลายๆ ด้าน ได้แก่

1. มีทักษะที่จำเป็นต่อการเป็นครู เช่น มีวิธีการสอนที่ทำให้เนื้อหาดึงดูดและน่าสนใจ การบริหารห้องเรียนให้มีประสิทธิภาพ

2. มีความเป็นผู้นำ ด้วยระบบการศึกษาในปัจจุบันกดทับครูค่อนข้างมาก และเป็นการทำงานแบบรอคำสั่งจากข้างบน หากครูสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนได้ ก็จะเป็นผู้ที่มีผลต่อการพัฒนาของเด็กมากที่สุด

3. เปลี่ยนทัศนคติ งานวิจัยหนึ่งของนักการศึกษา John Hattie ได้ทำการวิจัยว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ปรากฏว่าสิ่งที่สำคัญมากๆ จากการวิเคราะห์งานวิจัยกว่า 900 เรื่อง ก็คือความเชื่อของครูที่มีต่อเด็ก ถ้าครูเชื่อว่าเด็กมีศักยภาพ ครูก็จะทุ่มเททุกอย่าง สุดท้ายเด็กก็จะทำได้

“สมมติว่าเรามีเด็กกลุ่มหนึ่ง แล้วเราตีตราเด็กว่าเด็กกลุ่มนี้คือเด็กเก่ง เด็กกลุ่มนี้คือเด็กอ่อน แต่ทำแบบแรนดอม แล้วให้ครูเข้ามาสอน การ Label เด็กมันมีผลต่อทัศนคติของครู และพฤติกรรมที่ครูทำต่อเด็ก เมื่อครูไปสอนเด็กกลุ่มอ่อน วิธีที่เขาทรีตเด็กกลุ่มนี้ก็จะไม่เหมือนเด็กกลุ่มเก่ง มันมีผลทางจิตวิทยา สุดท้ายปลายทางมันก็มีผลต่อเด็กจริงๆ”

.

เด็กยุคศตวรรษที่ 21

คำถามที่ตามมาคือ แล้วเด็กยุคนี้ต้องเป็นอย่างไรในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ในทิศทางหนึ่งเขาควรจะพัฒนาตัวเองตามความสนใจ ในอีกทางหนึ่งก็ต้องสอดคล้องกับทักษะที่โลกยุคใหม่ต้องการ เราจึงสรุปได้ 2 ข้อ ได้แก่

1. เด็กยุคศตวรรษที่ 21 ต้องคิด วิเคราะห์ได้ เพราะต่อไปจะมีข้อมูลมหาศาล เขาต้องแยกแยะได้ว่าอะไรควรเชื่อ อะไรควรนำไปใช้ และสามารถแก้ปัญหาที่มันซับซ้อนได้ มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น คนต่างชาติ ต่างศาสนา โดยเข้าใจเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม

2. แต่ละคนมีความถนัดและความสนใจที่ต่างกัน เขาต้องพัฒนาตัวเองตามศักยภาพของเขา ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ เขาต้องมีโอกาสได้ทดลองทำหลายๆ อย่าง เพื่อที่จะเจอว่าตัวเองชอบอะไร บางครั้งกว่าคนเราจะค้นพบศักยภาพของตัวเองต้องใช้เวลานาน บางคนทั้งชีวิตก็อาจจะไม่ค้นพบเลย ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษามันเอื้อให้เขาได้ค้นพบตัวเอง

มันก็มีคนที่เขาเรียนจบหมอ แต่สุดท้ายอยากเป็นเชฟ เวลาที่เขาร่ำเรียนมา และทรัพยากรที่ลงไป มันฟอร์มให้คุณเป็นหมอ คุณอาจจะได้หมอที่แย่ๆ ไม่ได้อยากรักษาคนไข้หนึ่งคน แทนที่คุณจะได้เป็นเชฟระดับโลก

การพัฒนาเด็กควรไปในสองทิศทางนี้ หากจะเดินตามการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเดียวโดยไม่เข้าใจตัวเองเลย มันก็จะยากมาก แล้วถ้าทำแต่ความสนใจตัวเองเป็นหลักโดยไม่เชื่อมต่อกับโลกข้างนอก ก็จะเลี้ยงตัวเองไม่ได้

.

ปฏิรูปการศึกษาแบบ TDRI

ด้วยเพราะ TDRI คือสถาบันวิจัยเชิงนโยบาย ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ ของภาคการศึกษา เช่น การปฏิรูประบบครู หรือการขยายผลโรงเรียนดี และเรื่องของการศึกษาในมิติอื่นๆ จนท้ายที่สุด ได้เล็งเห็นแนวทางการปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้า หลุดจากจุดเดิมที่เราเอาแต่ย่ำอยู่กับที่ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ภาคีเพื่อการศึกษาไทย”

“เรามองว่า สุดท้ายแล้วการปฏิรูปการศึกษาที่ได้ผลคือต้องไปถึงโรงเรียน เข้าไปปฏิรูปการเรียนรู้ เช่น วิธีการสอนในห้องเรียน นวัตกรรมทางการศึกษาต่างๆ ที่จะเข้าไปเสริมกำลังของครู เราเลยทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ แล้วก็ก่อตั้ง ‘ภาคีเพื่อการศึกษาไทย’ ขึ้นมา โดยในภาคีก็จะมีทั้งองค์กรที่เชี่ยวชาญเรื่องการฝึกอบรมพัฒนาครู มีความเชี่ยวชาญเรื่องการอบรมในพื้นที่ และเรื่องนโยบาย ที่จะมาร่วมสร้างแนวทางแก้ไขที่เราอยากจะผลักดันเพื่อให้เกิดการปฏิรูป”

ในการจัดตั้ง “ภาคีเพื่อการศึกษา” ได้ทำการร่วมพูดคุยกันภายใน จนพบหลักการสำคัญ 2 ข้อ ที่จะพาการศึกษาไทยไปถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

1. การเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ของสังคม ระบบการศึกษาเกิดจากคนในหลายๆ บทบาท ซึ่งมุมมองของคนเหล่านี้ มีผลต่อการเขียนรูปแบบของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ดังนั้น หากเราต้องการจะเปลี่ยนระบบ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด เริ่มจากเปลี่ยนให้พ่อแม่เห็นความสำคัญของการที่เด็กจะต้องมีแรงบันดาลใจของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนให้เด็กรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ต่อเนื่องสู่การเปลี่ยนให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศไทยมีภาพร่วมว่า เราต้องการระบบการศึกษาแบบไหน เราต้องการคนแบบไหน

2. การสร้างรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง หากเรามัวแต่พูดกันว่า “จะไม่เอาระบบการศึกษาแบบเก่าแล้ว” คุณทรายมองว่า เราก็ต้องร่วมกันสร้างระบบใหม่ออกมา ต้องทำให้เห็นได้ชัด และเห็นผลจริงๆ ทางภาคีเพื่อการศึกษาจึงสร้างแนวคิดเรื่อง “พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา (Education Reform Sandbox)

.

ภาคีเพื่อการศึกษา

คุณทรายเล่าว่า ภาคีเพื่อการศึกษาคือการที่เรามีพื้นที่ๆ หนึ่งในประเทศไทย เริ่มต้นโฟกัสที่ระดับจังหวัด ที่จะริเริ่มปรับปรุงระบบการศึกษาได้ เพื่อสร้างแบบอย่างที่ตอบโจทย์จังหวัด และคนในจังหวัดนั้น โดยให้อิสระกับคน และโรงเรียนในพื้นที่สามารถตัดสินใจ และแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อให้เขาสามารถจัดการระบบในโรงเรียนได้ พร้อมกับที่ทางทีมจะเข้าไปช่วยเสริมกำลังของผู้อำนวยการ และคุณครู

ซึ่งเริ่มจากภาคชุมชน ที่ควรช่วยกันพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ เพราะชุมชนและสังคมมีผลกระทบอย่างมากกับการจัดการองค์ความรู้ภายใน ตามด้วยการเปิดพื้นที่ให้ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เช่น ระบบการประเมิน ระบบการออกข้อสอบ หรือระบบการคัดสรรครู เพื่อที่ว่าหากสิ่งเหล่านั้นทดลองแล้วมีประสิทธิภาพ จะได้นำไปใช้ทั้งประเทศ เช่น ทำระบบการประเมินแบบใหม่ ประเมินโรงเรียน แล้วหากผลที่ออกมาดี ก็สามารถเอาไปใช้ต่อที่อื่นได้ หรือว่ามีระบบการคัดสรรครูแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ แล้วผลสุดท้ายเวิร์ก ก็อาจจะเอาไปใช้ทั้งประเทศได้

มันคือการสร้างห้องเรียนของระบบการศึกษาไทย เราอยากจะรู้ว่าของใหม่ที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร เราก็ต้องลงมือทำ เริ่มจากขนาดจังหวัด ซึ่งเราก็มั่นใจว่าระบบการศึกษาในพื้นที่จะตอบโจทย์คนภายในผ่านการมีส่วนร่วมจริง และเราจะใช้พื้นที่ตรงนี้ให้ความรู้กับประเทศว่า ระบบการศึกษาที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร

Writer

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.