Sai Kirupa เป็นโรงเรียนเฉพาะทางในการฝึกอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนที่มีภาวะออทิสติกสเปกตรัม (ASD) รวมถึงผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้อื่นๆ ในวิทยาเขตใหม่ที่ Tirupur โรงเรียนมุ่งเน้นการพัฒนานักเรียนแบบองค์รวม ส่งเสริมความเป็นอิสระและการพึ่งพาตนเอง การออกแบบของวิทยาเขตนี้จึงสะท้อนความต้องการของนักเรียน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การบ่มเพาะการเติบโต
การออกแบบอาคารนี้แบ่งออกเป็น 3 เฟสในการก่อสร้าง ส่วนแรกเป็นการก่อสร้างสำหรับพื้นที่ใช้งานช่วงกลางวัน ก่อนต่อขยายออกไปยังพื้นที่อื่น อย่างการออกแบบฝั่งหอพักนักเรียนและห้องเรียนสำหรับนักเรียนที่มีความจำเป็นในการพึ่งพาน้อยกว่า
อาคารแบ่งออกเป็นสองปีก คือปีกเหนือกับปีกใต้ โดยมีพื้นที่ตรงกลางเชื่อมระหว่างสองปีกไว้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวถูกใช้เป็นลานเด็กเล่น และเพิ่มเวทีด้านหน้าสำหรับจัดการแสดง พร้อมทางเข้าที่สะดวกสำหรับผู้เยี่ยมชม ส่วนลานด้านหลังที่มีขนาดใหญ่กว่าถูกจัดให้เป็นสนามเด็กเล่นกลางแจ้งพร้อมด้วยเครื่องเล่นเสริมพัฒนาการต่างๆ
ด้วยสภาพอากาศร้อนตลอดทั้งปี การวางผังอาคารจึงเพิ่มพื้นที่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ ลดการโดนแสงแดดโดยตรงในช่วงกลางวัน รวมถึงใช้ผ้าใบกันแดดคลุมบริเวณลานทั้งสอง เปิดเป็นพื้นที่เปิดโล่ง สะดวกสบายสำหรับการเล่น ลานด้านหลังได้รับการออกแบบเพื่อส่งเสริมการเล่นทั้งในรูปแบบการเล่นตามแบบแผนหรือจะเล่นอย่างอิสระก็ได้
ในแต่ละชั้นของอาคารนี้ เน้นการสร้างพื้นที่ที่สอดคล้องกับความต้องการทางประสาทสัมผัสของนักเรียน ทางเดินโค้งเชื่อมจากลานเปิดไปยังภายใน เสริมขอบให้กลายเป็นม้านั่ง รวมถึงทางเดินยาวก็แตกออกเป็นซอกเล็กๆ ที่ทางเข้าของแต่ละห้องเรียนจะมีที่เก็บของสำหรับกระเป๋า รองเท้า ฯลฯ
อาคารฝั่งเหนือมีทั้งหมด 8 ห้องเรียน และด้วยนักเรียนออทิสติกหลายคนต้องมีการฝึกใช้ห้องน้ำ แต่ละห้องเรียนจึงมีห้องน้ำใกล้ๆ ไว้โดยเฉพาะ โดยใช้ผนัง Jaali ในพื้นที่เหล่านี้เพื่อช่วยเพิ่มแสงสว่างและการระบายอากาศ แต่ก็รักษาความเป็นส่วนตัวของเด็กไว้ ส่วนอาคารฝั่งใต้เป็นที่ตั้งของห้องบำบัด (Therapy Room) และโรงอาหาร เพื่อสนับสนุนพัฒนาการของนักเรียน
เส้นทางการเดินทั่วอาคารเน้นองค์ประกอบการออกแบบเชิงประสบการณ์ มีการแทรกกระเบื้องสีที่ทำหน้าที่เป็นสัญญาณภาพ (Visual Cues) เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหว ส่งเสริมให้มีการกระโดดไปยังจุดต่างๆ พัฒนาการเติบโตทั้งทางกายภาพและสติปัญญา รวมถึงทางเข้าของแต่ละห้องเรียนก็มีจุดพักสีสันสดใสแบบแทนแกรม คู่กันกับม้านั่งปูกระเบื้องรูปโค้ง สร้างจุดสังเกตซึ่งช่วยในการนำทางด้วยโทนสีที่โดดเด่น
ด้วยพื้นที่นี้อาจเกิดแผ่นดินไหวได้บ่อยครั้ง การเลือกใช้วัสดุและรายละเอียดในโครงสร้างจึงตอบสนองต่อสภาพดินในท้องถิ่นและข้อกำหนดทางแผ่นดินไหว หินที่มีความแข็งแรงถูกนำมาใช้ทำโครงสร้างและรากฐานของตึก ส่วนกรวดหรือดินถูกนำมาอัดเป็นบล็อกแบบทำมือเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างอื่นๆ
นอกจากนั้น พื้นผิวหยาบของผนังกับเพดานโค้งแบบหยัก ยังช่วยลดเสียงรอบข้าง สร้างสภาพแวดล้อมที่สงบและเป็นมิตรต่อประสาทสัมผัสสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ