ความอยู่รอดของแท็กซี่ไทยอยู่ที่พวกเขาหรืออยู่ที่ใคร? - Urban Creature

แท็กซี่ไทย ตัวเลือกการคมนาคมที่คนไทยและฝรั่งหลายคนยอมใจ พ่ายแพ้ เลิกใช้ไปแล้ว ตั้งแต่ประเทศไทยมีอูเบอร์เข้ามา ถึงในบางตัวเลือกนั้นจะต้องจ่ายแพงกว่าก็ตาม แต่หลายต่อหลายคนก็ยอม รวมถึงผู้เขียนด้วย ซึ่งเป็นคนใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก BTS พอสมควร ใช้แท็กซี่บ้างจนถึงค่อนข้างบ่อยในอดีต แต่ก็ลาขาดตั้งแต่มีทางเลือกอย่างอูเบอร์เข้ามา เนื่องจากหนึ่ง.. เราเป็นผู้หญิง ไปไหนมาไหนคนเดียวก็ต้องระวัง โดยเฉพาะเวลากลางค่ำกลางคืน การที่เราต้องไปยืนโบกรถริมถนนเปลี่ยวๆ เสี่ยงขึ้นแท็กซี่ที่คนขับหน้าไม่ตรงปก (บัตรประจำตัวหน้ารถ) ซึ่งถ้าเกิดอะไรขึ้นมาจะต้องตามใคร และจะโดนโกงมิเตอร์มั๊ย เอาเป็นว่าไม่ต้องคิดไปไกลขนาดนั้นดีกว่า ห่วงก่อนว่าเค้าจะรับเรารึเปล่า.. แค่นี้ก็ทำให้การเดินทางลุ้นและแอดเวนเจอร์มากแล้ว แต่การที่ได้ขึ้นรถโดยสารโดยที่เราสามารถใช้แอพฯ มือถือเรียกมารับได้ตรงจุดที่อยู่อย่างสะดวกรวดเร็ว บอกเวลารอ บอกรุ่นและทะเบียนรถชัดเจน พร้อมโชว์หน้าตาคนขับ ชื่อแซ่ คะแนนรีวิว เบอร์โทร และราคาที่คาดเดาได้นั้น ทำให้หลายคนรวมถึงผู้เขียนกลายมาเป็นลูกค้าประจำอูเบอร์เลยทีเดียว

เวลาล่วงเลยไป ใช้แท็กซี่ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่จำไม่ได้ เห็นแต่เค้าประท้วงกัน ดราม่ากัน เรื่องแท็กซี่ไทย vs อูเบอร์ มีการเรียกร้องต่างๆ นาๆ มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา อูเบอร์แย่งงานบ้างล่ะ ผิดกฏหมายบ้างล่ะ เป็นข่าวและข้อถกเถียงปกติที่เห็นได้ตามหน้าเฟซบุ๊ค จนคิดว่าสมาคมแท็กซี่ไทยจะต้องเกิด awareness ไม่มากก็น้อยบ้างแล้วแน่ๆ ว่าเพราะอะไร คนไทยและต่างชาติในประเทศนี้ถึงได้หันเหหนีไปใช้รถบริการที่ทั้งไม่ถูกกฏหมายและค่าใช้จ่ายสูงกว่ากันมากมาย ล่าสุด เราได้มีโอกาสเรียกใช้อูเบอร์หลังเลิกงานค่ำๆ กดเรียกให้มารับริมถนนหนึ่งใจกลางเมือง แต่อูเบอร์ที่เรียกนั้นดันติดแหง่กอยู่ถนนใกล้ๆ ไม่ขยับเลย เนื่องจากมีงานแห่ไฟอะไรซักอย่างแถวนั้น แถมยังต้องไปอ้อมเพื่อวนกลับมาอีกไกลกว่าจะมาถึงคงอีกนาน เราเลยตัดสินใจ เอาวะ.. ยอมแคนเซิลและเสียเงินค่าปรับ 45 บาทก็ได้วะ แล้วจะโบกแท็กซี่เอา เพราะเนื่องจากเส้นที่เราอยู่และจะมุ่งหน้าไปนั้น ระยะทางไม่ไกล ไม่เปลี่ยว และรถไม่ได้ติดไปกับเค้าด้วย มันต้องหาแท็กซี่ได้ง่ายแน่นอน!

และนั่น คือจุดเริ่มต้นของการมาเขียนเรื่องนี้ เพราะหลังจากมีแท็กซี่ที่ขึ้นไฟว่า “ว่าง” มุ่งหน้ามาทางเราจำนวนทั้งสิ้น 6 คัน 2 คันในนั้น ขับผ่านเราไปด้วยความไม่แยแสใดๆ แม้เราจะยืนโบกอยู่แทบกลางเลนซ้ายมือจะกวักไปโดนหูรถพี่ท่านแล้วก็ตาม ส่วน 3 คันในนั้น ชะลอเหมือนจะรับ แต่พอเข้ามาใกล้ๆ สแกนหน้าเรา *กรุณาจินตนาการภาพแบบสโลโมว์* และเห็นว่า อ้าว! น้องนางเป็นสาวไทยนี่นา ก็เหยียบมิดหายเลยไปเลย เหมือนหน้าเรามีอะไรผิดปกติยังไงยังงั้น และอีก 1 คันนั้น เปิดไฟว่าง แต่มองเข้าไปแล้ว อ้าว! (ร้องอีกรอบ) ไม่ว่างจร้าา.. สรุปผ่านไปเกือบ 20 นาที ไม่มีโชคใดๆ กับแท็กซี่ไทยทั้งนั้น ทั้งๆ ที่คิดว่าจะปรับปรุงแล้ว แต่ก็เปล่าเลย ยังคงทวีในปริมาณ แต่คุณภาพของแท้และแน่นอนดั้งเดิมสุดๆ เลยโมโหหนัก กดเรียกอูเบอร์อีกรอบ มีคนขับกดรับอย่างรวดเร็ว รอประมาณ 10 นาทีเท่านั้น ระหว่างรอก็มีผู้ชายไทยอีกโบกแท็กซี่อยู่ด้านหน้า แท็กซี่ชะลอมองหน้า เห็นเป็นคนไทยปั๊บ ขับเลยไปรับฝรั่งข้างหลังเลยทันที โอ้โหหห ตบมือรัวๆ จนต้องเอามาเล่าให้ทุกคนฟังกันเลยว่า แท็กซี่ไทย ก็ยังคงเหมือนเดิมอยู่วันยังค่ำ

เอาล่ะ.. เข้าสู่ช่วงสาระ เราจะมาย่อยกันว่า เพราะอะไร แท็กซี่ไทยถึงโดนเบียดตลาดอย่างมากโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเพราะอะไรในประเทศบางประเทศนั้น อูเบอร์ถึงเวิร์ค และในบางประเทศนั้นอูเบอร์กลับเป็นเซอร์วิสที่ไม่เวิร์คเลย

“ปัจจัยหลักของผู้บริโภคนั้นไม่ได้อยู่ที่ค่าเดินทาง แต่เป็นความคุ้มค่าของค่าเดินทางต่างหาก”

เรื่องว่าทำไมอูเบอร์ถึงได้รับความนิยมอย่างมากในกรุงเทพฯ อันนี้คงไม่ต้องพูดอะไรมาก ถ้าสงสัยให้กลับไปอ่านประสบการณ์ตรง (ใครหลายคน)ข้างบน และการที่แท็กซี่นั้นไม่ปรับตัว พัฒนา ตามความต้องการของตลาด ก็เป็นเหตุที่ทำให้บริการนี้แพ้คู่แข่งนั่นเอง ถึงจะขึ้นราคาค่าโดยสารเริ่มต้นตามที่เรียกร้อง ก็ยังคงต้องปรับปรุงเรื่องการบริการ ความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย และความสะดวกสะบายความสะอาดอยู่อีก เพราะปัจจัยหลักของผู้บริโภคนั้นไม่ได้อยู่ที่ค่าเดินทาง แต่เป็นความคุ้มค่าของค่าเดินทางต่างหาก ปัญหาของอูเบอร์ในประเทศไทยนั้นคล้ายคลึงกับประเทศเยอรมันและฝรั่งเศษ ซึ่งถือว่าอูเบอร์แบบ UberFlash และ UberX นั้นผิดกฏหมายเนื่องจากเป็นรถที่ไม่มีใบขับขี่สาธารณะ ส่วน UberBlack นั้นมีรถที่ถูกต้องตามกฏหมายรถสาธารณะวิ่งร่วมอยู่ด้วย จึงเป็นจุดที่คลุมเครือในข้อกฏหมาย ทำให้ถึงบริการอย่าง UberX นั้นโดนแบน แต่ตัวแอพก็ยังสามารถใช้งานได้โดยไม่ถูกปิด ในเคป ทาวน์ เมืองหลวงของประเทศแอฟริกาใต้นั้น อูเบอร์ใช้งานได้ภายใต้ความกดดันเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยที่รถอูเบอร์โดนเรียกไปเสียค่าปรับอยู่เป็นระยะๆ แม้กระทั่งในบรัซเซล เมืองหลวงของเบลเยี่ยมนั้น กลุ่มแท็กซี่ก็ใช้ความรุนแรงข่มขู่คนขับอูเบอร์จนเป็นข่าวเลยทีเดียว ไม่ต่างกับเหตุการณ์ในเชียงใหม่หรือพัทยาบ้านเรา หรือในบาหลีที่ต้องขับกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ แต่ก็ยังมีคนใช้บริการทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว แต่กับบางประเทศอย่างเช่นอิตาลีนั้น อูเบอร์กำลังจะถูกปิดเนื่องจากทางรัฐถือว่าเป็นการ “แข่งขันทางธุรกิจที่ไม่แฟร์” และในสเปนเองก็ถูกห้ามใช้อย่างไม่มีกำหนด

ในประเทศที่มีการแบนอูเบอร์นั้น นอกจากเพราะข้อกฏหมายเรื่องใบขับขี่สาธารณะแล้ว ยังเป็นเรื่องของการเข้าระบบอีกด้วย เนื่องจากอูเบอร์เป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ไม่ขึ้นตรงกับรัฐ รวมถึงฐานคนขับและข้อมูลต่างๆ ของแอพฯ ที่ไม่ได้ถูกลงทะเบียนเหมือนกับสหกรณ์แท็กซี่ และเรื่องของการกดดันทางสังคมจากแท็กซี่ที่รู้สึกว่าไม่แฟร์กับการตัดตอนบริการแย่งชิงฐานลูกค้ากันโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนเหมือนๆ กันกับพวกเขานั้น มีส่วนกระทบต่อรัฐบาลในหลายๆ ประเทศรวมถึงในไทยเราด้วย ส่วนประเทศที่อูเบอร์นั้นอยู่แบบแชร์ตลาดกับแท็กซี่ได้ หรือแท็กซี่ครองตลาดจนอูเบอร์ไม่ได้เกิด (ไม่เกี่ยวกับปัจจัยทางกฏหมายที่บังคับให้ปิด) ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่ระบบคมนาคมสาธารณะเจริญแล้ว อย่างญี่ปุ่น และเป็นเมืองที่ค่าโดยสารแท็กซี่และอูเบอร์พอๆ กัน หรือการใช้บริการแท็กซี่นั้นดี ปลอดภัย เรียกใช้บริการง่าย มีตัวเลือกเยอะ และ สะดวกต่อทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวอย่างเช่นในกรุงปารีสเป็นต้น ทำให้อูเบอร์เป็นบริการทางเลือกมากกว่าบริการหลัก

“ต่างตรงที่รัฐบาลประเทศเค้าจับมือกับอูเบอร์และสนับสนุนให้แท็กซี่ท้องถิ่นเข้าร่วมในการให้บริการผ่านทางแอพฯ”

ในประเทศที่ผู้คนโหยหาบริการทางเลือกอย่างอูเบอร์นั้น ก็จะเป็นประเทศอย่างประเทศเรา ที่ผู้ให้บริการหลักอย่างแท็กซี่ท้องถิ่นนั้นพึ่งพาไม่ค่อยได้ หรือเอาเปรียบชาวต่างชาติ อย่างในประเทศมาเลเซียก็เช่นกัน ซึ่งแท็กซี่ค่อนข้างล้าหลัง และเอาเปรียบนักท่องเที่ยวมากๆ ต่างตรงที่รัฐบาลประเทศเค้าจับมือกับอูเบอร์และสนับสนุนให้แท็กซี่ท้องถิ่นเข้าร่วมในการให้บริการผ่านทางแอพฯ อูเบอร์ ในรูปแบบ UberTaxi คล้ายๆ กับที่เรามี Grab Taxi ซึ่งจากประสบการณ์แล้ว Grab Taxi ก็ยังคงเป็นแท็กซี่ไทยที่รับงานผ่านแอพฯ และลูกค้าโดนเทแคนเซิลอยู่เนืองๆ โดยไม่มีคำอธิบายอยู่ดี ส่วนแท็กซี่ไทยดีๆ มี แต่เทียบสัดส่วนกับปริมาณแท็กซี่ที่วิ่งอยู่บนถนนแล้วก็คงไม่มาก และพวกนี้ก็จะมีลูกค้าประจำเรียกใช้โดยตรงกันหลายเจ้า เพราะคนขับเหล่านี้รักษามาตรฐานการบริการ ขยัน และมีวินัยกับความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ พร้อมทั้งรู้จักปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ หมุนตัวเองไปพร้อมกับโลก ไม่ว่าแม้จะเป็นเรื่องเบๆ แบบแค่แจกนามบัตร แจกเบอร์ แจกไลน์ ให้ลูกค้าประจำได้กดเรียกในเขตบริการ ก็สร้างความมั่นใจ และประทับใจแก่ลูกค้าได้

ฉะนั้นแล้วจึงสรุปได้ว่า ในประเทศที่แท็กซี่ดี มีระบบที่ดี คนขับมีความรับผิดชอบต่องานที่ทำ มีวินัย ยังไงอูเบอร์ก็ไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อระบบได้ แต่กับประเทศที่แท็กซี่นั้นเป็นความน่าปวดหัวมากกว่าจะเป็นการคมนาคมที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันนั้น ต่อให้ผิดกฏหมาย เกิดอะไรขึ้นกฏหมายไม่คุ้มครอง ราคาแพง อยู่นอกระบบยังไง ผู้บริโภคก็เลือกที่จะใช้มากกว่าวันยังค่ำอยู่ดี

Photo Credit : www.komchadluek.net

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.