ถ้ากรุงเทพฯ มีประติมากรรมขนาดยักษ์แบบไทยๆ ตั้งบนพื้นที่แลนด์มาร์กบ้าง จะเป็นยังไงกันนะ
คิดว่าหลายคนน่าจะได้ไปชม KAWS:HOLIDAY THAILAND งานศิลปะในรูปแบบรูปปั้นขนาด 18 เมตรตรงบริเวณท้องสนามหลวงแล้ว
นอกจาก KAWS:HOLIDAY THAILAND จะเป็นการร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะร่วมสมัยและพื้นที่ที่มีความเป็นมาอันยาวนานทางประวัติศาสตร์ ในเลนส์ของการพัฒนาเมือง โปรเจกต์นี้ยังทำหน้าที่เป็น Public Art หรือศิลปะสาธารณะชั่วคราว ที่สร้างมุมมองใหม่ เติมสีสันให้เมือง กระตุ้นให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์ศิลปะในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แต่วันที่ 25 พฤษภาคม อีเวนต์นี้ก็จะสิ้นสุดแล้ว คอลัมน์ Urban Sketch เลยอยากชวนคิดสนุกๆ ต่อยอดว่า ถ้าในอนาคตกรุงเทพฯ จะมี Public Art เป็นรูปปั้นยักษ์จัดแสดงอีก หน้าตาของชิ้นงานจะออกมาเป็นยังไง และควรตั้งตรงพื้นที่ไหนบ้าง เพื่อสะท้อนความเป็นไทยร่วมสมัยที่ใครๆ ก็รู้สึกร่วมได้
Mr.Pigeon Postman
หน้าอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก

รูปปั้นแรก เราดีไซน์เป็นคุณลุงนกพิราบผู้ส่งจดหมาย ที่อยากให้เป็นนกที่ดูมีอายุหน่อย ล้อไปกับไปรษณีย์ไทยที่อยู่คู่ประเทศไทยมานาน มีเครื่องประดับเป็นกระเป๋าจากขอบขนมปังที่คนบิโยนให้กิน
ขณะเดียวกัน นกพิราบยังเป็นสัตว์คู่เมืองใหญ่ แถมเอาตัวรอดเก่งสุดๆ เดินไปไหนก็เจอแทบทุกที่ ให้มาตั้งประจำการที่ลานหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ก็ดูสอดคล้องกับคอนเซปต์ดี
MetroMouse
ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพฯ

ช่วงหลังมานี้ ลานคนเมืองดูจะเป็นพื้นที่สาธารณะยอดฮิต ใช้จัดหลากหลายอีเวนต์ อีกอย่างก็สะท้อนถึงความเป็นกรุงเทพฯ ได้ดี เนื่องจากอยู่ในย่านเมืองเก่า มีของกินมากมาย แถมยังเดินชมสถาปัตยกรรมสวยๆ ได้อีกด้วย
และถ้าให้นึกถึงสัตว์เมืองอีกชนิดที่เรามักเจออยู่ตลอดคงหนีไม่พ้นหนูเมืองตัวเท่าแมว ที่จะเจอหน้ากันบ่อยๆ ในพื้นที่ที่อุดมไปด้วยแหล่งอาหาร ด้วยเหตุนี้ เราจึงออกแบบรูปปั้นอีกตัวเป็นหนูพนักงานออฟฟิศผู้เร่งรีบกลับบ้าน ฝ่าขนส่งช่วง Rush Hour เพื่อไปดูซีรีส์ที่ดูค้างไว้ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากพฤติกรรมของหนูที่วิ่งไปมาตามท่อและกลับรังหลังออกมาหาอาหาร
Urban Monitor
สวนลุมพินี

จะขาดตัวนี้ไปได้อย่างไร เพราะนับเป็นดาวเด่นประจำสวนลุมฯ และของดีของเด็ดกรุงเทพฯ ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตื่นเต้นอยากเจอ
รูปปั้นชิ้นสุดท้ายก็เลยเป็นตัวเงินตัวทองนักวิ่ง ผู้มักเฉลิมฉลองหลังออกกำลังกายเสร็จด้วยชาไทยหวานร้อย โดยได้แรงบันดาลใจมาจากผู้คนที่เข้ามาวิ่งที่สวนลุมพินี บวกรวมกับพฤติกรรมชื่นชอบดื่มชาไทยของใครหลายคน