ครบรอบ 30 ปี ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’ - Urban Creature

‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’ เป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งในเขตราชเทวี ตั้งอยู่บนถนนนิคมมักกะสัน ด้านหน้าของอาคารชั้นเดียวแห่งนี้จะมองเห็น ‘อนุสาวรีย์ศักดิ์ศรีแรงงาน’ เป็นรูปปั้นคนงานหญิงชายกำลังผลักกงล้อประวัติศาสตร์ให้เคลื่อนไปข้างหน้า ใต้กงล้อมีรถถังถูกบดขยี้ อันบ่งบอกความหมายถึงการคัดค้านเผด็จการ สร้างขึ้นเพื่อยืนยันความมีศักดิ์ศรีของ ‘ชนผู้ใช้แรงงานไทย’ และถือเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกของผู้ใช้แรงงานอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากกระบวนการรวมตัวกันของเหล่าคนทำงาน นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ด้านแรงงาน ฯลฯ และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท เยอรมัน ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำการศึกษาเรื่องสิทธิแรงงานและประเด็นทางสังคมต่างๆ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนลงมติร่วมกันเพื่อสร้างสถานที่รวบรวมและจัดแสดงเรื่องราวของผู้ใช้แรงงานไม่ให้หายสาบสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย เปิดทำการเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม 2536

ผ่านร้อนฝนมาจนเวลาที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกำลังจะมีอายุครบรอบ 30 ปี คอลัมน์ Urban Guide ขอพาทุกคนไปเดินเล่นท่องเที่ยวรู้จักพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในประเทศไทยที่บอกเล่าเรื่องราวของชนชั้นกรรมาชีพให้มากขึ้น

ครบรอบ 30 ปี ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’
สถานที่รวมประวัติศาสตร์
ของคนทำงาน ที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

เด็กช่าง คนดนตรี นักเคลื่อนไหว
ผู้อุทิศตนเป็นปากเสียงของแรงงาน

เราได้พบกับผู้จัดการพิพิธภัณฑ์และเขาจะมาเป็นไกด์นำทัวร์วันนี้ ‘วิชัย นราไพบูลย์’ ผู้อุทิศตนให้กับการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิแรงงานมาตั้งแต่เรียนจบจนถึงปัจจุบันในวัย 67 ปี

พี่วิชัยเล่าว่า เขาเรียนจบช่างยนต์ที่เทคนิคกรุงเทพ จากนั้นเข้าทำงานโรงงานแถวรังสิต ผ่านหนึ่งปีไปนิดหน่อยก็ถูกเลิกจ้าง และออกไปเล่นดนตรีหาเลี้ยงชีพ ผลิตผลงานเพลงออกขาย

เขาเติบโตมากับเรื่องสิทธิแรงงาน เมื่อมีงานประท้วงหรือการจัดกิจกรรมชุมนุมเกี่ยวกับเรื่องแรงงานเมื่อไหร่ จะได้พบกับวิชัยและผองเพื่อนนักดนตรีไปเล่นให้กำลังใจอยู่เสมอ (หาฟังเพลงของพี่วิชัยได้ที่ วงภราดร หรือวงอินโดจีน เป็นต้น)

ส่วนงานด้านวิชาการเขาก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสำรวจ วิจัย และส่งต่อข้อมูลเรื่องสิทธิแรงงานมาโดยตลอด แน่นอนว่าการมีส่วนร่วมในหลากหลายงานข้างต้นนี้ ทำให้เขาไม่สามารถสมัครงานที่ไหนได้ เหตุเพราะไม่มีที่ไหนอยากรับ ‘นักเคลื่อนไหว’

ครบรอบ 30 ปี ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’
สถานที่รวมประวัติศาสตร์
ของคนทำงาน ที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

พี่วิชัยเล่าเสริมให้ฟังอีกว่า ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยนั้น เดิมทีเคยเป็นอาคารเก่าของการรถไฟฯ ทั้งยังเคยเป็นสถานีตำรวจและเคยใช้เป็นสหภาพรถไฟในช่วงเวลาหนึ่ง พอเกิดการปฏิวัติรัฐประหารสหภาพรถไฟถูกยุบ จึงมาขอใช้ทำพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งก็เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น เรื่องโครงสร้างอาคาร ปลวก ความชื้น ซึ่งส่งผลต่อเอกสารจัดแสดง พิพิธภัณฑ์จึงปิดปรับปรุง

ด้วยการเคลื่อนไหวด้านแรงงานมาโดยตลอด ทำให้เวลาต่อมาพี่วิชัยได้มีโอกาสเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่กึ่งอาสาสมัครของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในช่วงปี 2543 ซึ่งเป็นช่วงที่พิพิธภัณฑ์กำลังปิดปรับปรุง เขาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมงานที่จะช่วยอัปเดตข้อมูลของแรงงานให้ทันยุคสมัย และปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้น่าเดิน น่าชม มากขึ้น ดีไซน์ตกแต่งต่อเติมด้วยการร่วมกันลงแรงจากเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ทำให้พิพิธภัณฑ์กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในปี 2546 จนมีผู้สนใจจากเครือข่ายต่างๆ เพิ่มมากกว่าที่ผ่านมา และในเดือนตุลาคมปี 2566 นี้ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยก็จะครบรอบ 30 ปี เป็น 30 ปีที่อยู่ยั้งยืนยงมาได้ด้วยแรงใจของเหล่าแรงงาน

“เราเป็นแรงงาน และมองเห็นว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่สำคัญของสังคมที่จะให้ความรู้เรื่องสิทธิ และเป็นพื้นที่ที่นำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่จะเจริญได้จริง เราอยากมาทำงานที่นี่ พอได้ทำก็อยู่ตรงนี้มายาวจนถึงปัจจุบัน น้องๆ พวกนี้ (ชี้ไปยังทีมงานอีกสองสามคน) ก็เคยทำงานอยู่ในโรงงาน มีปัญหาเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ ถูกเลิกจ้าง พอออกจากโรงงาน คนที่มีใจก็มาช่วยงานกัน ทำอยู่ด้วยกันมาเป็นยี่สิบปี” วิชัยแนะนำตัวและพูดถึงเพื่อนร่วมงาน

ตอนนี้วิทยากรวิชัยพร้อมแล้ว เขากำลังจะพาเราทัวร์ไปให้ทั่วพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ครบรอบ 30 ปี ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’
สถานที่รวมประวัติศาสตร์
ของคนทำงาน ที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

ไพร่-ทาส
แรงงานบังคับในระบบศักดินา

เราเดินตามหลังพี่วิชัยไปโซนแรกที่ ‘ห้อง 1 : แรงงานบังคับ ไพร่-ทาส’ สิ่งแรกในห้องนี้ที่วิทยากรนำเสนอคือ ภาพจิตรกรรมไทยที่สร้างสรรค์เนื้อหาให้เราได้มองเห็นภาพรวมของระบบสังคมศักดินาอย่างกระจ่างแจ้ง ภาพนั้นแสดงให้เห็นรากเหง้าสังคมไทยโบราณซึ่งปกครองโดย ‘ระบบศักดินา’ แบ่งคนเป็นชนชั้นต่างๆ เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา

วิทยากรอธิบายต่อ “โดยกษัตริย์จะปกครองผู้คนผ่านระบบเจ้าขุนมูลนาย คือกษัตริย์จะให้อำนาจเจ้าขุนมูลนาย เทียบศักดิ์ของอำนาจนั้นกับที่ดิน หรือศักดิ์เหนือที่นาอะไรทำนองนั้น คือเทียบกับปริมาณที่นาว่า เจ้าขุนมูลนาย ยศหรือตำแหน่งนี้มีศักดินาเท่าไหร่ เช่น มีแสนไร่ จะมีไพร่ทาสจำนวนเท่าไหร่ ปกครองบ้านเมืองในส่วนไหนของอาณาจักร

ครบรอบ 30 ปี ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’ สถานที่รวมประวัติศาสตร์ของคนทำงาน ที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

“สรุปแบบย้อนภาพขึ้นไปคือ คนที่เป็นไพร่ ทาส ก็เป็นประชาชนทั่วไปที่ต้องขึ้นสังกัดกับเจ้าขุนมูลนาย จึงไม่มีอิสระในตัวเอง ต้องทำงานให้กับเจ้านายและถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานให้กับหลวงด้วย และการทำงานนั้นก็เป็นการทำงานที่ไม่มีค่าตอบแทน จึงเรียกว่าเป็นแรงงานเกณฑ์หรือแรงงานบังคับ

“เพราะฉะนั้นแรงงานก็คือคนที่ทำงานพัฒนาบ้านเมืองในทุกด้านของสังคม ไม่ว่าจะผลิตอาหาร งานก่อสร้าง ไปจนถึงออกศึกสงคราม”

เรื่องราวในห้องแรกฉายให้เห็นวิวัฒนาการของคำว่า ‘ไพร่ ทาส’ ในสมัยก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร ภายในห้องยังมีเอกสารโบราณบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับวิธีขึ้นชื่อเป็นสังกัดกับเจ้าขุนมูลนายต้องทำอย่างไรบ้าง มีเอกสารโบราณอายุนับ 100 ปี เอกสารการแต่งตั้งระบบศักดินา มีเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายส่วยเสียภาษีในอดีต และยังมีอุปกรณ์ทำมาหากิน เครื่องไม้เครื่องมือที่ผลิตขึ้นแบบง่ายๆ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของสังคมศักดินา เป็นภาพจำลองสะท้อนวิถีชีวิตแบบเกษตร เช่น เครื่องสีข้าว เครื่องฝัดข้าว หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้วัวควายเข้าร่วมลงแรง ห้องนี้ทำให้เห็นว่า ไพร่ ทาส ที่มีฐานะต่ำเตี้ยในยุคนั้น แท้จริงแล้วมีความสำคัญในการพัฒนาชาติเป็นอย่างมาก

กุลีจีน
แรงงานยุคบุกเบิกอุตสาหกรรมสังคมสยาม

ขยับเดินตามหลังผู้ใหญ่ต่อไปยัง ‘ห้อง 2 : กุลีจีน’ มาถึงยุคที่ประเทศต้องการแรงงานมีทักษะมาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ‘แรงงานจีน’ จึงกลายมาเป็นแรงงานอิสระที่สำคัญของไทย คนจีนได้เข้ามาทำงานรับจ้างหลายอย่าง โดยเฉพาะจำพวกงานไร้ฝีมือ มุ่งเอาแรงกายไปลากรถเจ๊กขนส่งผู้คนรับเงินค่าจ้าง บ้างก็ขนส่งสินค้าต่างๆ ไปจนถึงแรงงานที่ทำงานสูงขึ้นในระดับโรงงาน เป็นพนักงานก่อสร้าง ทำงานได้เงินและเสียภาษีให้รัฐ

พี่วิชัยเล่าว่า “เมื่อแรงงานจีนเข้ามาทำงาน ก็ต้องเผชิญปัญหาแรงงาน กลายเป็นเรื่องปกติที่คนจ้างงานอยากจ้างด้วยราคาที่ถูก ฝ่ายที่เป็นแรงงานก็อยากได้ค่าจ้างสูงๆ มีสวัสดิภาพการทำงานที่ดี แต่ยุคสมัยนั้นไม่มีกฎหมายคุ้มครองดูแล คนงานจีนจึงใช้การดูแลตัวเอง รวมกลุ่มกันแบบอั้งยี่ (วัฒนธรรมการรวมตัวกันของคนงานจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ในยุคที่เขาต่อสู้เพื่อกอบกู้ราชวงศ์) ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่คนจีน

“คอยดูแลความเจ็บป่วย เรื่องการหางาน เรื่องการดูแลค่าจ้าง ฯลฯ แต่การรวมตัวกันแบบนี้รัฐไทยถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ทำให้รัฐไม่ไว้วางใจ เพราะว่าเป็นแรงงานต่างด้าว จึงออกกฎหมายชื่อ อั้งยี่ซ่องโจร เป็นกฎหมายที่เข้ามาควบคุมมากกว่าจะส่งเสริม อั้งยี่ซ่องโจรทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ เป็นกฎหมายอาญา ซึ่งทัศนคติต่างๆ เหล่านี้ก็ยังตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน”

ครบรอบ 30 ปี ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’
สถานที่รวมประวัติศาสตร์
ของคนทำงาน ที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

ยกเลิกทาส
จากศักดินาสู่สมบูรณาฯ อย่างเต็มรูปแบบ

มาต่อที่ ‘ห้อง 3 : แรงงานกับการปฏิรูปประเทศ’ ห้องนี้เราได้รู้ว่าหลังจากมีอุตสาหกรรมเข้ามาก็ถึงยุคของการล่าอาณานิคม เป็นยุคแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำไปผลิตอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ

เมื่อถึงยุคนี้ การมีไพร่ ทาส จึงเป็นเรื่องป่าเถื่อนและได้ทำการยกเลิก รวมถึงมีการพัฒนาปฏิรูปประเทศในหลายด้าน เช่น เปลี่ยนหัวเมืองชั้นในชั้นนอกเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล ปกครองเป็นระบบราชการ และมีกษัตริย์เป็นผู้ควบคุมอยู่ข้างบน ปรับจากระบอบการปกครองแบบศักดินาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สมบูรณ์แบบ เพื่อให้สถาบันมีความมั่นคงมากขึ้น

“ประเทศเราอาจจะคุ้นเคยเรื่องการเลิกทาส แต่มันคือการยกเลิกระบบไพร่ ทาส และขุนนางไปเลย ไม่มีการเกณฑ์แรงงานอีก คงเหลือก็แต่การเกณฑ์ทหารที่ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน” หลังพูดจบ พี่วิชัยได้เสียงหัวเราะจากทุกคนไป

ห้องนี้ยังฉายให้เห็นภาพของภาคเหนือที่มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องป่าไม้ ก็ได้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ มีการใช้แรงงานสัตว์ แรงงานคน ในภาคใต้มีอุตสาหกรรมยางและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ในแง่ของการคมนาคม รถไฟถูกสร้างเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคหรือหัวเมืองต่างๆ ที่จะสามารถนำทรัพยากรจากแหล่งหนึ่งไปสู่อีกแหล่งได้ เรียกได้ว่าทางรถไฟเป็นเส้นเลือดสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างกว้างขวาง

ยังมีเรื่องราวของการพัฒนาระบบคมนาคม พื้นที่จัดแสดงมีโทรศัพท์โบราณ เครื่องโทรเลข พิมพ์ดีด ที่เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาไปสู่อนาคตวันข้างหน้า และการพัฒนานั้นก็ย่อมใช้แรงงานอันมหาศาล ในเวลานั้นแรงงานไทยที่ได้กลายเป็นอิสระ ถือว่ามีประโยชน์ต่อสังคมและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศพัฒนา

มุ่งสู่ประชาธิปไตยในปี 2475
และสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่สงครามเย็น

ไปต่อกันที่ ‘ห้อง 4 : แรงงานกับการเปลี่ยนแปลง 2475’ ห้องนี้มีบรรยากาศที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาฯ เป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบที่รองรับสิทธิของคนชนชั้นล่าง แต่ประชาธิปไตยก็มาพร้อมกับวิถีการผลิตแบบทุนนิยมด้วย จึงทำให้เกิดกลุ่มคนที่เริ่มเรียกร้องสิทธิพลเมืองได้รวมตัวกัน ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้นำแรงงาน ฯลฯ ร่วมกันเรียกร้อง จึงเกิดสิทธิแรงงานขึ้นในเวลาต่อมา

“สิทธิแรงงานแรกๆ ที่เปิดประตูไปสู่ด้านอื่นๆ คือสิทธิการรวมกลุ่มกัน เมื่อรัฐอนุญาตให้รวมตัวรวมกลุ่ม จึงมีการก่อตั้งสมาคมของคนงานขึ้นมามากมาย ก่อตั้งมาเพื่อเป็นอำนาจในการต่อรองกับคนที่จ้างงาน เช่น การเพิ่มสวัสดิการหรือปรับปรุงสภาพการทำงาน” พี่วิชัยบอกเล่า

ห้องนี้ยังมีตู้เอกสารสำคัญเกี่ยวกับแรงงาน เช่น หนังสือพิมพ์กรรมกรที่ผลิตขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ด้านประชาธิปไตย เรื่องสิทธิแรงงานกับคนในสังคม หรือเอกสารสำเนาสิทธิแรงงานที่บันทึกกระบวนการเจรจาข้อตกลงการทำงาน การขึ้นค่าจ้าง เรื่องสวัสดิการ หรือการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงาน ประวัติศาสตร์เหล่านี้ช่วยให้เราติดตามไทม์ไลน์เหตุการณ์บ้านเมืองในแต่ละช่วงได้ชัดขึ้น

ครบรอบ 30 ปี ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’
สถานที่รวมประวัติศาสตร์
ของคนทำงาน ที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

หลังการปกครองเปลี่ยนแปลงผ่านไป ก็เป็นพื้นที่จัดแสดงที่ขยายไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงเวลานี้ได้เริ่มมี ‘แรงงานญี่ปุ่น’ เข้ามาตั้งฐาน สร้างทางรถไฟเพื่อกระทำการสงคราม

“จากภาวะสงครามโลก ประเทศไทยเริ่มมีทหารเข้ามามีอิทธิพลต่อการจัดการประเทศ กระบวนการแรงงานถูกมองว่าเป็นปัญหาของชนชั้นปกครอง ซึ่งต่างจากยุคประชาธิปไตยที่ผ่านมา และมีการพยายามทำลายกระบวนการแรงงานที่เข้มแข็งให้อ่อนลง เพื่อทำให้อำนาจต่อรองของแรงงานมีปัญหา” พี่วิชัยบอกเล่าการเปลี่ยนแปลง

ยังมี ‘ห้อง 5 : จากสงครามโลกสู่สงครามเย็น’ ที่มีเรื่องเล่าในระดับโลกเชื่อมมาถึงระดับประเทศ ให้มองเห็นการเปลี่ยนผ่านที่นำมาสู่พื้นที่จัดแสดงเครื่องมือสื่อสาร เช่น ทีวี หรือวิทยุทรานซิสเตอร์ ซึ่งในยุคนั้นก็เป็นอุปกรณ์สำคัญที่รัฐใช้สร้างความเชื่อให้กับคนในสังคมชนบท โฆษณาที่บอกว่าหากเข้ามาทำงานในเมืองจะมีชีวิตที่ดีขึ้น พี่วิชัยบอกว่าวลีเด็ดในยุคนั้นคือ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข คือเงินเป็นพระเจ้า”

มีการจัดแสดงให้เห็นภาพของ ‘อาชีพสงวน’ ซึ่งเป็นอาชีพสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ เช่น ช่างตัดผม สามล้อรับจ้าง ร้านโชห่วย หรืองานฝีมือต่างๆ เพราะไม่อยากให้ต่างชาติเข้ามามีผลกระทบต่อบางกิจการที่คนไทยทำ

จากสงครามเย็น โลกได้แบ่งเป็นโลกทุนนิยมกับสังคมนิยม ส่วนประเทศไทยเข้าสู่ยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จ โดยจอมพล สฤษดิ์ได้ขึ้นมายึดอำนาจ เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 เป็นยุคพัฒนาประเทศอุตสาหกรรมที่บุกเบิกมาหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง ส่งเสริมอุตสาหกรรมมากขึ้น มีกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุน แต่ก็ส่งผลต่อการปิดกั้นหลายสิ่งอย่างอันเป็นคุณค่าของสังคมไทยด้วย

“เรื่องราวของแรงงานจึงมีความสำคัญ หากดูตั้งแต่ห้องแรกก็เห็นแล้วว่าแรงงานนั้นเชื่อมโยงกับมิติเชิงอำนาจ การเมือง และเศรษฐกิจ สอดคล้องกับสังคม เพราะแรงงานล้วนเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม” พี่วิชัยกล่าวสรุป


วัฒนธรรมกรรมกร โดยจิตร ภูมิศักดิ์
และจาก 14 ตุลาฯ ถึงวิกฤตเศรษฐกิจ

พี่วิชัยชวนแวะที่ห้องรองสุดท้ายคือ ‘ห้องศิลปวัฒนธรรมกรรมกร จิตร ภูมิศักดิ์’ ในห้องนี้จัดแสดงผลงานและแนวคิดของศิลปะเพื่อชีวิตประชาชนที่เกิดขึ้นมาในยุคที่เกิดการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ

ครบรอบ 30 ปี ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’
สถานที่รวมประวัติศาสตร์
ของคนทำงาน ที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

ภายในห้องมีเครื่องดนตรีหลายเชื้อชาติ หลายชนิด ที่ศิลปินใช้เป็นอาวุธสำคัญทางวัฒนธรรมต่อสู้เพื่อสังคม รอบห้องประดับด้วยชิ้นงานเทป ซีดีบทเพลง บทกวี หนังสือ ที่สร้างสรรค์ขึ้น สะท้อนให้เห็นพลังของการไม่ยอมถูกกดขี่ เพื่อมุ่งหวังสร้างการเปลี่ยนแปลง

และปิดฉากสุดท้ายกันที่ ‘ห้อง 7 : จาก 14 ตุลาฯ ถึงวิกฤตเศรษฐกิจ’ ห้องนี้จัดแสดงเหตุการณ์การต่อสู้สำคัญของผู้คนแรงงาน และเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ที่ดูเป็นคนละเรื่องเดียวกันอย่างแยกไม่ออกจริงๆ

เดินเลี้ยวเข้ามาด้านในจะพบกับป็อปอัปโรงภาพยนตร์ที่ฉายภาพยนตร์เรื่อง 14 ตุลาฯ ให้ได้ศึกษาร่องรอยประวัติศาสตร์ เดินต่อไปยังมีพื้นที่ที่จัดแสดงเรื่องราวการต่อสู้ของแรงงานในมิติต่างๆ หลายเหตุการณ์ เช่น

กรณีของคนงานบริษัทฮาร่ายึดโรงงาน ผลิตกางเกงยีนส์ขายเองเพื่อเป็นทุนในการต่อสู้เรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ

มีเรื่องการต่อสู้ของแรงงานหญิงกับการสู้เพื่อให้ได้ลาคลอด 90 วันและการเพิ่มค่าจ้าง

ครบรอบ 30 ปี ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’
สถานที่รวมประวัติศาสตร์
ของคนทำงาน ที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

มีเรื่องแรงงานนอกระบบอย่างอาชีพคนขับสิบล้อ ชีวิตแรงงานที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ไม่มีสวัสดิการที่ดี แต่มีบทบาทสำคัญต่อเรื่องการขนส่งเป็นอย่างมาก

มีเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน โมเดลจำลองเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตา โรงงานที่มีคนตายกว่า 188 คน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการพูดคุยเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงาน 

มีตัวอย่างเครื่องมือที่เคยใช้ทำมาหากิน และเป็นเครื่องมือเดียวกันที่ใช้ฟ้องบริษัท คนงานนำไปขายและใช้เป็นค่าชดเชยให้กับตัวเอง โดยที่รัฐมีกฎหมายแต่ไม่สามารถเข้ามาจัดการให้คนงานได้

มีเรื่องราวของแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นแรงงานราคาถูกที่คนไทยนำเข้ามาทำงาน แต่ว่าพวกเขาเหล่านั้นเองก็ไม่ได้รับการดูแลเรื่องค่าแรงหรือสวัสดิภาพการทำงานที่เหมาะสมมากพอ

จนถึงแรงงานแพลตฟอร์มในยุคปัจจุบันที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งไรเดอร์ แม่บ้าน หรือเหล่าฟรีแลนซ์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ว่าการคุ้มครองแรงงานเหล่านี้ยังมีปัญหาอยู่มาก

ยังมีเรื่องราวของผู้นำแรงงานที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจจากรัฐประหารที่พยายามแบ่งแยกกระบวนการแรงงานไม่ให้เกิดการรวมตัว และเขาได้หายตัวไปตั้งแต่บัดนั้น จนถึงวันนี้ก็ไม่มีข่าวคราวใดๆ ทำให้เห็นว่าการต่อรองของแรงงานมักถูกคุกคามเสมอ

ครบรอบ 30 ปี ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’
สถานที่รวมประวัติศาสตร์
ของคนทำงาน ที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

“การเมืองเกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานในทุกยุคสมัย” พี่วิชัยพูดข้อเท็จจริง และพาไปดูมุมสุดท้ายของห้อง หลังไฟสีอุ่นเป็นภาพความเรียบง่ายของอุปกรณ์ทอผ้าชนิดไม้แบบใช้แรงคน ที่สะท้อนวิถีชีวิตแบบผลิตเอง ใช้เอง เหลือก็ขาย สวนทางกับวันนี้ที่คิดเพื่อขายอย่างเดียว จบจากภาพตรงหน้าพี่วิชัยกล่าวสรุปการนำทัวร์ครั้งนี้

“พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยนั้นเล่าเรื่องผ่านมิติต่างๆ โดยเฉพาะมิติการเมือง การพัฒนาประเทศ หรือระบอบการปกครอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ถ้าคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ดี มันก็เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าสังคมนั้นมีปัญหา”

ครบรอบ 30 ปี ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’
สถานที่รวมประวัติศาสตร์
ของคนทำงาน ที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

ครบรอบ 30 ปี
พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

ก่อนที่จะแยกย้ายต่างคนต่างไปทำงาน เราชวนพี่วิชัยพูดคุยถึงเหตุผลของการลงแรงหยัดยืนเพื่อดูแลพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เขาได้ให้ความเห็นไว้หลายคำตอบ อย่างแรก ในวัย 67 ปี เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่ เพราะได้ส่งต่อคุณค่าต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้กับคนอื่นได้อย่างเสรี มีกลุ่มนักเรียน นักศึกษา นักแสวงหา นักแรงงาน หรือชาวต่างชาติ เข้ามาหาแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องราวอยู่ด้วยเสมอ จึงเกิดกระบวนการถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองมีออกไป ทำให้เขารู้สึกมีความสุขและมีคุณค่าในสังคม

“การทำพิพิธภัณฑ์เราจึงอยากทำให้เห็นในสิ่งที่เป็นเรื่องเบื้องต้นที่สุด คือทำให้เห็นคุณค่าว่าแรงงานมีความสำคัญต่อสังคม

“เมื่อมีคุณค่าแล้ว จำเป็นที่ต้องพัฒนานโยบายในการดูแลให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ต้องปากกัดตีนถีบ ต้องอยู่ในระดับที่มีมาตรฐาน คือสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สามารถดูแลครอบครัวของพวกเขาได้ เพราะสถาบันครอบครัวก็เป็นกำลังสำคัญของประเทศที่จะผลิตคนรุ่นใหม่ แรงงานรุ่นใหม่ๆ ที่จะมาขับเคลื่อนสังคมของเรา เพราะถ้าดูแลไม่ดีพอ เมื่อถึงเวลาสังคมสูงอายุก็จะมีแรงงานไม่มากพอ เกิดปัญหาการจ่ายภาษีมาเลี้ยงคนแก่ และใครจะทำงาน มันส่งผลไปหมด

“นโยบายรัฐทำให้คุณค่าแรงงานมีราคาต่ำ เพื่อให้คนอีกกลุ่มเข้ามาได้ประโยชน์จากคุณค่าของพวกเขา การมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์จะช่วยอธิบายคุณค่าของคนได้”

ครบรอบ 30 ปี ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’
สถานที่รวมประวัติศาสตร์
ของคนทำงาน ที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

พี่วิชัยเน้นย้ำให้เราฟังอยู่บ่อยครั้งว่า ‘แรงงานต้องใช้เสียง’ ต้องเกิดจากการรวมกลุ่มกันถึงจะมีพลัง เพราะฉะนั้นนอกจากพิพิธภัณฑ์จะเอาของมาตั้งโชว์แล้ว ยังตอบสนองในแง่ของการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อยกระดับพัฒนาศักยภาพคน และมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เกิดเอกภาพเพื่อเอาไปสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองได้นั่นเอง

“ต้องเป็นการเมืองแบบประชาธิปไตยด้วยเท่านั้น เพราะการเมืองแบบอื่นไม่รับรองสิทธิแรงงาน” พี่วิชัยเน้นย้ำอีกครั้ง

สุดท้ายนี้เราพบว่า ข้อมูล เอกสาร หลักฐาน และความจริงที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์นั้นเปิดประตูสู่มุมมองและเรื่องราวต่างๆ ที่ช่วยให้เราปะติดปะต่อหลายๆ จุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของคนส่วนใหญ่ซึ่งล้วนเป็นแรงงานได้มากกว่าเดิมหลายเท่า และย้ำเตือนว่า เราต่างทำงานใช้แรงแลกเงินจ่ายภาษีเพื่อนำไปพัฒนาประเทศชาติให้เจริญขึ้น ในฐานะแรงงานทุกคนมีสิทธิ์มีเสียง และทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์

ครบรอบ 30 ปี ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’
สถานที่รวมประวัติศาสตร์
ของคนทำงาน ที่รัฐไม่เคยเหลียวแล

สถานที่ : พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย (Thai Labour Museum)
เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 16.30 น​.
พิกัด : 503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
แผนที่ : bit.ly/45PRvxg
ช่องทางติดต่อ : พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย : Thai Labour Museum


Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.