เราอยู่กับโควิด-19 มาปีกว่า เรามีอวัยวะที่ 33 เป็นหน้ากากอนามัย จะไปไหนมาไหนก็ต้องสแกนแอปฯ ไทยชนะ รัฐบาลผุดโครงการมากมายมาเยียวยาคนไทย นายกฯ บอกว่าประเทศไทยต้องชนะ แล้วตอนนี้ เราชนะแล้วหรือยัง…
โควิด-19 กินเวลาชีวิตผู้คนมายาวนานล่วงเลยมาปีกว่า หลายคนพลาดโอกาสดีๆ ไปก็มากมาย และในฐานะประชาชนชาวไทยคนหนึ่ง เราขอตั้งคำถามถึงโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลคิดแล้วคิดอีกเพื่อคนไทยทุกคนว่า มาตรการเหล่านั้นครอบคลุมปัญหาและเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนจริงหรือไม่ ข้อดีอะไรที่น่าชื่นชม และข้อบกพร่องอะไรที่อยากให้รัฐทบทวน
รัฐให้อะไรเราบ้าง
นับตั้งแต่วันแรกที่คนไทยใช้ชีวิตอย่างระแวดระวัง ต้องกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ งดปาร์ตี้ และรัดเข็มขัดทุกวิถีทาง ส่วนฝั่งรัฐบาลเองก็ออกโครงการต่างๆ มาด้วยจุดประสงค์สองสิ่งคือ ‘ต้องการเยียวยาประชาชน’ และ ‘กระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้อง’ ยกตัวอย่างโครงการดังต่อไปนี้
- เราไม่ทิ้งกัน : เริ่มขึ้นเมื่อกลางปี 2562 รัฐบาลผุดโครงการนี้มาเยียวยาประชาชนด้วยการแจกเงินคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
- เที่ยวด้วยกัน : เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศให้กลับมาดีเหมือนเดิม
- คนละครึ่ง : โครงการเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ลดภาระค่าใช้จ่าย และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อย
- เราชนะ : เมื่อโควิด-19 ระลอกสองมา รัฐบาลจึงออกโครงการนี้มาเยียวยาประชาชนและช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นจำนวนเงินสูงสุด 7,000 บาท
- ม33เรารักกัน : เยียวยาผู้มีประกันสังคมคนละ 4,000 บาทผ่านการลงทะเบียน เพราะแม้จะมีประกันสังคมก็เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน
นอกจากโครงการที่บอกไปข้างต้น ยังมีมาตรการเยียวยาอื่นๆ อีก เช่น บรรเทาภาระหนี้สินของผู้ประกอบการ SMEs ลดหย่อนเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ฯลฯ แม้มาตรการจะสลับสับเปลี่ยนกันออกมามากมาย แต่กลับไม่สามารถเยียวยาให้ครอบคลุมประชาชนทั้งหมดได้ เราอาจจะต้องย้อนกลับมาดูว่าแท้จริงแล้วทางออกที่ดีที่สุดคืออะไร
สารพันปัญหา : รั่วไหล ตกหล่น เข้าไม่ถึง
ตัดภาพมาที่สื่อนำเสนอภาพของประชาชนแห่กันไปลงทะเบียนรับสิทธิ์เพราะเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เสียงของชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นหลากมุมมอง ไปจนถึงความคับข้องใจของผู้ได้รับผลกระทบแต่กลับถูกตัดสิทธิ์ สารพันปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าโครงการเยียวยาประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค
ซึ่งจากที่เราได้พูดคุยกับอาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงโครงการเยียวยาประชาชนต่างๆ ของรัฐบาล ก็สามารถสรุปสารพันปัญหาออกมาได้ 3 ประเด็น
- ขาดฐานข้อมูลที่ดี : แต่ละหน่วยงานภาครัฐไม่ได้ใช้ฐานข้อมูลเดียวกันในการทำงาน และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านข้อมูลหลักของประเทศก็ไม่ได้มาเป็นตัวกลางในโครงการนี้ ทำให้การประสานงานไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาในข้อต่อไปตามมา
- มีผู้ถูกปฏิเสธสิทธิ์ : ปัญหานี้หลายคนคงเห็นได้ชัดตามสื่อต่างๆ เช่น มีแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการเยียวยาแม้จะจ่ายภาษี บางกลุ่มสาขาอาชีพอาจยังไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน หรือกลุ่มคนที่มีรายได้เกินกว่าที่รัฐบาลคาดไว้ แต่กลับได้รับความช่วยเหลือเร็วกว่าใครเพื่อนในช่วงโครงการเราไม่ทิ้งกัน
- ปัญหาการออกแบบโครงการ : รัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัล โครงการเยียวยาต่างๆ จึงเปิดตัวผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ให้ประชาชนได้ใช้สมาร์ตโฟนของตัวเองเข้าถึงเงินเยียวยาง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ซึ่งรัฐอาจจะลืมไปว่าในบ้านเรายังมีประชาชนที่เข้าไม่ถึงสมาร์ตโฟนอีกจำนวนมาก หากรัฐประกาศอย่างชัดเจนเลยว่าทุกคนต้องเข้าถึงเทคโนโลยี รัฐก็ต้องมีแผนรองรับประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีด้วย
รัฐต้องทบทวน
แม้โครงการเยียวยาประชาชนของรัฐบาลจะมีปัญหาและอุปสรรคไม่น้อย แต่ก็มีมุมดีๆ ที่ถูกใจประชาชน และมีสิ่งที่รัฐต้องทบทวนเพื่อพัฒนาโครงการและมาตรการต่างๆ ในอนาคต
- คนละครึ่ง : โครงการที่โดนใจคนซื้อ ถูกใจคนขาย เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่เปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง และจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยก็พบว่า คนละครึ่งเป็นโครงการที่หลายคนพึงพอใจมากกว่าโครงการอื่นๆ
- ยังมีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง : จากการเยียวยาของรัฐบาล ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังมีคนหลายกลุ่มที่ยังไม่ถูกฉายไฟส่อง ซึ่งเมื่อต้นปีได้มี ‘กลุ่มแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน’ เรียกร้องให้รัฐเยียวยาแบบถ้วนหน้าโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องลงทะเบียน หรืออิงตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้ เพราะคนทุกกลุ่มได้รับผลกระทบแต่กลับมีคนบางกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
- เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น : โครงการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงโควิด-19 เป็นโครงการระยะสั้น มีทั้งได้รับผลตอบรับดีและถูกวิจารณ์อย่างหนักต่างกันไป และถ้ามองภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศ โครงการที่ได้รับผลตอบรับที่ดี หากรัฐไม่ได้สานต่อหรือพัฒนาเป็นนโยบายในระยะยาว สุดท้ายไม่ว่าจะคนละครึ่ง เราไม่ทิ้งกัน เรารักกัน หรือเราชนะก็จะเป็นเพียงชื่อโครงการ
Sources :
BBC NEWS
Thairath
กรุงเทพธุรกิจ
คนละครึ่ง
ประชาไท
ม33เรารักกัน
เราชนะ
เราเที่ยวด้วยกัน
เราไม่ทิ้งกัน
สกสว