โฆษณารถเมล์ เทคโนโลยีเดียวกับผ้าม่านบังแสง - Urban Creature

คุณเป็นคนหนึ่งที่เคยรำคาญ ‘สติกเกอร์ปรุๆ’ บนกระจกรถเมล์ใช่หรือไม่?

คุณเคยเป็นผู้ประสบภัยมองข้างทางไม่เห็นเพราะโฆษณาบ้างหรือเปล่า?

บทความตอนนี้จะเล่าเรื่อง ‘โฆษณารถเมล์’ ผ่านมุมมองของผู้หลงรักสิ่งนี้

แต่เดี๋ยวก่อน! อย่าเพิ่งปิดหน้าต่างหนี…ผมอยากชวนคุณเปิดประตูดูที่มาและที่ไปการเดินทางของโฆษณาบนรถเมล์ไทย และเราจะอยู่ร่วมกันได้ยังไงหากรถเมล์ขาดโฆษณาไม่ได้

‘รถเมล์’ กับ ‘โฆษณา’ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมายาวนาน…

ในกรุงเทพฯ ภาพถ่ายรถเมล์ที่ติดป้ายโฆษณา ‘ยาหอมตรา 5 เจดีย์’ ไว้ข้างท้าย กำลังขับแซงรถรางไป ก็ดูจะเป็นเครื่องบอกเวลาได้ดีว่า ‘โฆษณา’ กับ ‘รถเมล์กรุงเทพฯ’ รู้จักกันมาตั้งแต่ช่วง 60s ก่อน ขสมก. ที่พวกเราคุ้นชื่อจะถือกำเนิดด้วยซ้ำ* ส่วนรถเมล์ในหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ก็มีภาพรถเมล์สีเหลืองโฆษณาไมโล สโลแกน ‘เสริม เพิ่มพลังงาน’ เป็นแบนเนอร์สีเขียวแนวนอนติดอยู่ข้างรถมาตั้งแต่ 80s 

*หมายเหตุ รถรางหยุดวิ่งวันที่ 1 ตุลาคม 1968 ส่วน ขสมก. ก่อตั้งวันที่ 1 ตุลาคม 1976

ภาพ : www.flickr.com

โฆษณารถเมล์ในประเทศไทยยุคแรกเริ่มต้นในช่วงเวลาที่ซ้อนทับกับโฆษณาบนรถราง แต่ต่างกันตรงไหนรู้มั้ย? ก็ตรงที่โฆษณาบนรถรางจะติดไว้ด้านหน้ารถ ถ้ามองไปจะเห็นแผ่นป้ายโฆษณาติดอยู่เหนือไฟหน้าเลย สินค้าที่นิยมติดโฆษณาบนรถรางยุคนั้นก็ได้แก่ สุรารวงทอง น้ำอัดลมโค้ก แฟนต้า เซเว่นอัพ ฯลฯ ส่วนรถเมล์จะติดโฆษณาไว้ที่ด้านท้ายรถ ก่อนจะเขยิบมาติดบนตัวถังด้านข้างเพิ่มเติม 

ถ้าพูดถึงงานโฆษณา คงไม่พูดถึงอาร์ตเวิร์กไม่ได้ จะมีลักษณะเป็นป้ายทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามแนวยาวของรถ ติดตั้งสูงเหนือซุ้มล้อแต่ไม่เกินขอบหน้าต่างรถ ทำให้รถเมล์ 1 คันติดโฆษณาได้ 3 ด้าน และทั้งสามด้านไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้อหาหรือสินค้าตัวเดียวกันเสมอไป ต่อมาเมื่อกรุงเทพฯ เริ่มมีรถเมล์ปรับอากาศ (ปอ.) ให้บริการ ก็ใช้วิธีติดโฆษณาแบบเดียวกัน

ภาพ : International Institute of Social History (IISH/IISG), Netherlands
ภาพ : 77PPP

จนกระทั่ง 90s ยุคแห่งความทรงจำที่ใครหลายคนหลงเสน่ห์และยังคงคิดถึง เป็นยุคที่การติดโฆษณา ‘Wrap รอบตัวถัง’ เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก รถเมล์รุ่นแรกที่ได้ประเดิมคือ Mercedes-Benz OF1617 ทรง Padane ซึ่งเป็นรถ ปอ. รุ่นใหม่ล่าสุดแห่งยุค อาร์ตเวิร์กชิ้นแรกเป็นโฆษณาประชาสัมพันธ์องค์กรของ ขสมก. ในปี 1992 มีคีย์วิชวลเป็นดอกไม้สีเหลืองและใบไม้สีเขียวบนพื้นหลังสีขาว

โฆษณานี้ทดลองติดแค่เพียง 2 คันที่สาย ปอ.10 และ ปอ.11 คำบอกเล่าของ คุณชลธาร ลีลาศเจริญ ผู้ริเริ่มการ Wrap โฆษณารอบรถ ปอ. เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร หญิงไทย ว่ารถ 2 คันที่ทดลองติดโฆษณานี้ทำรายได้ดีกว่ารถเมล์ตัวถังสีครีม-น้ำเงินเปล่าๆ หลายร้อยคันที่เหลืออีกด้วย…

ในเดือนมกราคมปีเดียวกัน ก็เริ่มมีการติดโฆษณาเชิงพาณิชย์รอบรถ ปอ. เป็นครั้งแรก สินค้าตัวนั้นคือ ‘ฟิล์มสี โกดัก โกลด์ 200’ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีนั้น (สิ่งนี้เคยเป็นคำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้เมื่อปี 2002 ด้วยนะ) จากนั้นก็มีทั้งโฆษณาฟูจิและโคนิก้า เรียกว่าตามมาติดกันทุกฟิล์มสี

ยังไม่หมด ยังมีสินค้าอื่นๆ อย่างผงซักฟอกบรีส เครื่องพรินต์เอชพี โทรศัพท์ติดตามตัวฮัตชิสัน (วัยรุ่นยุค 2000 น่าจะคุ้นชื่อเรียกสั้นๆ ว่า Hutch) หรือแม้กระทั่งยาแก้ท้องเสีย ‘เซโรงัง’ ที่หลายคนรู้จักกันผ่านเพลงของวง Slur ก็ล้วนเป็นลูกค้ากลุ่มแรกของการ Wrap รถ ปอ. ด้วยกันทั้งสิ้น โดยรถเมล์ 5 สายแรกที่ได้ติดโฆษณาคือ

ปอ.3 รังสิต-ปิ่นเกล้า ปัจจุบันคือ สาย 503 รังสิต-สนามหลวง

ปอ.9 นนทบุรี-บางแค ปัจจุบันคือ สาย 509 พุทธมณฑลสาย 2-หมอชิต 2

ปอ.10 รังสิต-บางปะกอก ปัจจุบันคือ สาย 510 มธ. ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยฯ

ปอ.11 ปากน้ำ-ปิ่นเกล้า ปัจจุบันคือ สาย 511 ปากน้ำ-สายใต้ตลิ่งชัน

และ ปอ.13 ปู่เจ้าฯ-รังสิต หรือสาย 513 ในยุคต่อมา ปัจจุบันเลิกให้บริการแล้ว

ด้วยทรวดทรงอิตาเลียนเครื่องยนต์เยอรมันที่ทันสมัย…กอปรกับการ Wrap รถรอบคันเป็น ‘สิ่งใหม่’ ทำให้รถ ปอ. ที่ติดโฆษณาสะดุดตาคนใช้รถใช้ถนนในยุคนั้นเป็นอย่างมาก และด้วยต้นทุนการลงโฆษณา Wrap รถ ปอ. สมัยแรกใช้เงินขั้นต่ำเป็นล้านบาท! นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ตัวรถต้องดูสะอาด และการติดโฆษณาต้องดูเนี้ยบเฉียบขาดอยู่เสมอ ชนิดที่ว่าผมและครอบครัวถึงกับถกกันอยู่บ่อยๆ เพราะแยกไม่ออกว่าเขาใช้สติกเกอร์ติดรถ หรือทำสีลงบนตัวถังแบบรถฉิ่งฉาบทัวร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของรถบัสบ้านเรากันแน่

ความเท่ของโฆษณารถ ปอ. ในยุคเริ่มแรกนี้ มีหรือที่นักท่องรถเมล์อย่างผมจะอดใจไม่ตกหลุมรักสิ่งนี้ได้ และจากการสังเกตโฆษณาที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาสร้างสีสันบนตัวถังรถ ปอ. นี่แหละทำให้ผมค่อยๆ ซึมซับทั้งเรื่องฟอนต์ เรื่องเลย์เอาต์และสี และการเขียนก๊อบปี้กวนๆ ของโฆษณายุค 90 จนมาถึงตอนนี้ที่ตัวเองเป็นกราฟิก และจับพลัดจับผลูมาเป็นกราฟิกที่ทำงานเกี่ยวกับรถเมล์ ก็เลยยิ่งแยกไม่ออกว่าที่จริงแล้ว ตัวเองเป็นคนชอบรถเมล์และศิลปะ หรือ ชอบศิลปะจากการชอบโฆษณาที่ติดบนรถเมล์กันแน่…

ทุกๆ 7 ปี มักมีการเปลี่ยนแปลง โฆษณารถ ปอ. เองก็เช่นกัน

7 ปีให้หลังจากการเกิดขึ้นของโฆษณารอบตัวถังรถ ปอ. เทคโนโลยีการติดโฆษณาด้วยฟิล์มปรุบนกระจก (One way vision film) ก็เข้ามาแพร่หลายในไทยช่วงปี 1999 หลังเทคโนโลยีนี้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศนิวซีแลนด์เมื่อปี 1991

สินค้าที่ประเดิมโฆษณารถเมล์ไทยยุคเทคโนโลยีตัวแรกคือ ‘เครื่องดื่มเป๊ปซี่’ คีย์วิชวลมีรูปขวดเป๊ปซี่ขนาดมหึมากับหน้าแข้งของ ไมเคิล เจมส์ โอเวน นักเตะทีมลิเวอร์พูล (ในตอนนั้น) พาดขึ้นมา ซึ่งอาร์ตเวิร์กถูกออกแบบให้ทับกระจกตามที่นั่งเป็นแถวๆ ไป เช่น ฝั่งขวาของรถ ปอ. Mercedes จะทับกระจกโซนที่นั่งแถวที่ 7 8 9 10 13 และ 14 เป็นต้น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนรูปแบบไปใช้วิธีไดคัตฟิล์มสติกเกอร์ตามรูปทรงคนสัตว์สิ่งของในอาร์ตเวิร์กจนถึงปัจจุบัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคที่กรุงเทพฯ ยังไม่มีป้ายโฆษณาผุดตามเสาและทางเท้ามากมายเท่าทุกวันนี้ ความโดดเด่นของโฆษณารถ ปอ. ที่เคยมีก็ยิ่งมากขึ้นกว่าเดิมตามพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น และทำให้เทรนด์การติดโฆษณารถ ปอ. ด้วยฟิล์มบนกระจกได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากทั้งสินค้าและบริการ เช่น น้ำส้มซันควิก ชาลิปตัน ไอซ์ทีแบบขวดแก้ว มันฝรั่งเลย์ เครื่องดื่มไมโล โอวัลตินทั้งทรีอินวันและแบบกระป๋อง และ ยูบีซี (ปัจจุบันคือทรูวิชั่นส์) ฯลฯ ทำให้โฆษณาที่ติดเฉพาะพื้นที่ตัวถังค่อยๆ หายไปจากวงการรถ ปอ. ราวปี 2000

ปลายปี 2005 สินค้าเจ้าประจำอย่าง ‘เป๊ปซี่’ ที่ปีนั้นมี แดน วรเวช และ อาหรั่ง อาณัติ เป็นพรีเซนเตอร์ ก็กลับมาสร้างสีสันให้วงการโฆษณาเฉพาะในรถ ปอ. ยูโรทู สีส้ม ของ ขสมก. ด้วยการเป็นผู้นำเทรนด์ติดโฆษณารถ ปอ. แค่ครึ่งคัน (Half-wrap) เลือกใช้พื้นที่ตรงกลางระหว่างล้อหน้าและหลัง รวมถึงไม่ไดคัตแบ็กกราวนด์ตรงกระจกออก ทำให้การติดโฆษณารูปแบบนี้โดดเด่นแปลกตาไปจากการโฆษณาแบบเต็มคัน (Full-wrap) ที่เคยมีมา

ยอมรับโดยดีว่าตอนที่เห็นโฆษณาแบบครึ่งคันนี้ก็รู้สึกตื่นเต้น แม้จะไม่เท่ากับตอนปี 1999 และยังไม่รู้อีกด้วยว่าเทรนด์นี้กำลังจะกลายเป็นออปชันใหม่ในการลงโฆษณารถ ปอ. จนกระทั่งมีสินค้าหลายๆ ตัวเริ่มติดโฆษณาแบบครึ่งคันตามมา เช่น นมเปรี้ยวดัชมิลล์ และกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการติดโฆษณารถ ปอ. มาจนถึงปัจจุบัน

การติดโฆษณาแบบครึ่งคันบนรถ ปอ. ที่เราเห็นกันจนชินตามาสิบกว่าปี อาจไม่เป็นที่ถูกใจของใครหลายคนนัก เรียกว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมา (เพราะก็ทำให้บางคนเมารถจริงๆ) จากการที่ติดสติกเกอร์เต็มพื้นที่กระจกต่อเนื่องหลายๆ บานโดยไม่มีการไดคัตแบ็กกราวนด์ออก ทำให้กินพื้นที่โซนที่นั่งสูงสุดถึง 6 แถวติดๆ กัน และเป็นเหตุผลให้รถยูโรทู Isuzu เหลือที่นั่งฝั่งคนขับเพียง 4 แถวเท่านั้นที่ไม่โดนโฆษณา แต่เจ้า One way vision film คือตัวการที่ทำให้ผู้โดยสารมองไม่เห็นข้างนอกจริงหรือเปล่า โฆษณาบนรถเมล์เป็นผู้ร้ายตัวจริงของผู้โดยสารจริงๆ เหรอ?…

จริงๆ เจ้า One way vision film คือเทคโนโลยีที่ต่อยอดมาจาก ‘ผ้าม่านบังแสง’ หรือ One-way window blinds ที่เราคุ้นๆ กันทั้งที่บ้านและในรถ หลักการเดียวกันคือการเล่นกับการโฟกัสแสงของดวงตาเรา เมื่อแสงสะท้อนลงวัสดุ เช่น ผ้า หรือ ฟิล์ม เข้มกว่าแสงจากที่ลอดผ่านรูถี่ๆ จากอีกฝั่งออกมา ดวงตาเราก็จะเห็นสีหรือสิ่งที่พิมพ์บนวัสดุๆ นั้น ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็จะมองทะลุวัสดุนั้นมาได้ เพราะความเข้มของแสงที่ลอดผ่านรูเล็กๆ เหล่านั้นเข้มกว่าแสงที่สะท้อนกับวัสดุอย่างผ้าหรือฟิล์ม

จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนนั่งรถเมล์กรุงเทพฯ มักประสบปัญหามองไม่เห็นวิวข้างนอก ก็เพราะว่า ‘แสงทะลุผ่านรูของฟิล์มเข้ามาไม่ได้’ แต่แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น!?!

นั่นก็เพราะว่าการติดฟิล์มโฆษณาเหล่านี้ต้องใช้กาวในการยึดติดกับพื้นกระจก ตลอดชีวิตของกระจกหนึ่งบาน หากผ่านการทากาวติดโฆษณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่เคยมีการทำความสะอาด คราบกาวก็จะสะสมติดหนาอยู่บนกระจก ทับถมกันจนขุ่นและแสงลอดเข้าได้น้อยลงๆ กลายเป็นกระจกโปร่งแสงแต่ไม่โปร่งใส มองออกไปว่ารถถึงป้ายไหนแล้วก็ไม่ได้ จะฝากให้พี่กระเป๋าบอกว่าถึงหรือยังบางครั้งเขาก็ลืม หรือหันไปอีกทีพี่เขาเผลอหลับคราวนี้เป็นเราเองที่ต้องนั่งย้อนกลับมาอีกไกล

แต่หากใครเคยนั่งติดริมกระจกบานใหม่ หรือกระจกที่ดูแลทำความสะอาดบ่อยๆ (เช่น รถเบอร์ 8-67119 ของสาย 73) ต่อให้มีฟิล์มโฆษณาก็ไม่ค่อยเป็นอุปสรรคต่อการนั่งชมวิวทิวทัศน์ตลอดเส้นทางเท่าไรนัก ฉะนั้นการหมั่นทำความสะอาดกระจกรถเมล์เองถือเป็นปัจจัยสำคัญของทัศนียภาพภายในห้องโดยสารที่ดีด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้นต่อให้กระจกใหม่แค่ไหน ทำความสะอาดดียังไง ก็ใช่ว่าฟิล์มโฆษณาจะสิ้นข้อครหา เพราะในเวลาฝนตกหรือเกิดไอน้ำบนกระจก แผ่นฟิล์มลักษณะเป็นรูถี่ยิบแบบนี้นี่แหละคือนักกักเก็บน้ำอันดับ 1 ที่ทำให้ผู้โดยสารอย่างเราๆ มองถนนหนทางข้างนอกไม่ออกแบบ 100% เห็นแค่แสงสีไฟท้ายและไฟทางแบบหว่องๆ

จริงๆ แล้วปัญหานี้จะหมดไปหากยึดตามข้อ 11 (1) ประกาศกรมการขนส่งทางบกในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่ตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารฯ พ.ศ. 2555 ที่ว่า ‘การติดโฆษณาส่วนของที่เป็นกระจกให้มีขนาดความสูงไม่เกิน 30 เซนติเมตร เมื่อวัดจากบานหน้าต่างด้านล่างขึ้นไป’ แต่เผอิญเมื่อได้อ่านต่อก็มีข้อปิดท้ายที่ว่า ‘ให้มีรูปภาพเพื่อการโฆษณาในตำแหน่งหรือขนาดที่แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี หรือคณะกรรมการที่อธิบดีมอบหมายก่อนจึงจะจัดให้มีได้’

แต่ไม่ว่าสุดท้ายการขออนุญาตจะมีข้อสรุปให้โฆษณาตัวนั้นติดกระจกได้กี่ตารางเซนติเมตร อย่างน้อยประกาศฉบับนี้ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ‘รูปภาพเพื่อการโฆษณาบริเวณส่วนของตัวถังที่เป็นกระจกหรือบานหน้าต่างที่ทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ต้องทำด้วยวัสดุโปร่งแสงซึ่งสามารถทำให้ผู้โดยสารภายในรถมองเห็นสภาพภายนอกรถได้ดี’ ซึ่งวรรคนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้รถเมล์อย่างเราๆ ต้องไม่ลืมว่า โฆษณาที่ติดทับกระจก จะมาเป็นวัสดุทึบแสงขโมยวิวการนั่งรถชมเมืองไปจากเราไม่ได้!!!

ผ่านไทม์ไลน์มาแล้ว 60 ปี ถึงตรงนี้คงปฏิเสธได้ยากหากจะให้ ‘รถเมล์ไทย’ ปราศจาก ‘โฆษณา’ ยิ่งว่าภาครัฐบ้านเราไม่มีแนวคิดหรือนโยบายจะ Subsidise กิจการรถเมล์แต่อย่างใด การติดโฆษณาบนตัวถังจึงกลายเป็นทางเลือกแรกๆ ที่หาเงินเข้าองค์กรผู้ให้บริการได้ แต่จะทำอย่างไรให้สิ่งนี้ไปกันได้กับพันธกิจหลักอย่างการให้บริการรถโดยสาร ทำอย่างไรให้รถเมล์ยังมีโฆษณาได้และผู้โดยสารก็พึงพอใจ ไม่สร้างความสับสนหรือลิดรอนสิทธิผู้ใช้งาน คงจะดีถ้าคนในเมืองจะมีโอกาส ‘ออกแบบ’ สิ่งนี้ร่วมกัน เพื่อไม่ให้วัสดุ One way vision film ที่ใช้ ถูกใช้จากมุมของใครคนใดคนหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว

‘โฆษณา’ ถือเป็น Topic นานาจิตฺตํ ลำดับต้นๆ ของวงการรถเมล์ เพราะทุกคนต่างก็มีเหตุผลเป็นของตัวเอง ฟากคนที่ชอบ ก็อาจจะชอบเพราะสีสันของโฆษณา ชอบเพราะวัสดุที่ใช้เป็นฟิล์มบังแดดได้ หรือบางคนชอบเพราะเป็นอินโทรเวิร์ต อยู่ในโหมดที่ไม่อยากให้คนในรถคันข้างๆ มองเห็น ส่วนคนที่ไม่ชอบก็อาจจะเพราะเวียนหัวกับรอยปรุ หรือการเลือกใช้สติกเกอร์ทึบติดทับกระจกจนมองออกไปข้างนอกไม่ได้ หลายคนเลยนั่งรถหลง บางคนนั่งไปนานๆ ก็เมารถ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ แล้วคุณล่ะชอบหรือไม่ชอบโฆษณารถเมล์เพราะอะไร?

ป.ล. 29 ขวบของการโฆษณาบนรถ ปอ. นี้มีสินค้าที่เข้ามาแวะเวียนวงการนี้มากหน้าหลายตา (หากจะสาธยายคงต้องอ่านด้วยสปีดคุณมยุราตอนแจกโชคทองมาม่าในรายการชิงร้อยฯ) ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ กระดาษชำระ สุขภัณฑ์ ประกันภัย ตู้เซฟ กล้องถ่ายรูป ฟิล์มสี ทีวี ตู้เย็น เครื่องพรินต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องครัว เครื่องสำอาง ยาสีฟัน ชุดชั้นใน เสื้อผ้า ยา กาแฟ ช็อกโกแลต ชาเขียว ชาขาว ชามะนาว น้ำเปล่า น้ำปลา เกลือแร่ น้ำแร่ น้ำผลไม้ น้ำตาลทราย น้ำอัดลม นม เบียร์ โซดา สุราวิสกี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร ข้าวกล่อง ข้าวเกรียบ มันฝรั่งทอด ไก่ทอด สุกี้ พิซซ่า อาหารแมว อาหารสุนัข น้ำมันพืช น้ำมันรถ จักรยานยนต์ ล้อรถยนต์ คอนโดฯ ชุดเครื่องนอน โรงพยาบาล สินเชื่อ ธนาคาร สถาบันการศึกษา ศูนย์การค้า หาเสียงเลือกตั้ง สำนักพิมพ์ มูลนิธิ NGO แคมเปญรณรงค์ หน่วยงานรัฐ การประชุมระดับชาติ การแข่งขันกีฬา การท่องเที่ยวต่างประเทศ สายการบิน จานดาวเทียม เว็บไซต์ เกม ริงโทน ดูดวง รายการทีวี ละครเวที ภาพยนตร์ คลื่นวิทยุ กล่องรับสัญญาณดาวเทียม คอนเสิร์ต แฟนคลับศิลปิน เครือข่ายมือถือ หรือแม้กระทั่ง ยาฆ่าแมลง…

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.