คงไม่ต้องบอกว่าวันๆ หนึ่ง เราใช้บริการเดลิเวอรีส่งคน-ส่งอาหารบ่อยขนาดไหน อย่างต่ำก็ 1 – 2 ครั้ง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่หลายคนยอมจ่ายเพื่อแลกความสะดวกสบาย และไม่ต้องหงุดหงิดกับการคมนาคมอันยุ่งเหยิงให้ปวดหัว แค่นั่งรอสบายๆ แล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่นแทน
ยิ่งเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด-19 หลายคนคงไม่รู้สึกสบายใจเวลาออกไปข้างนอกเหมือนเก่า ถ้าให้เลือกใช้ขนส่งสาธารณะก็ต้องคิดหนัก ยอมจ่ายเพิ่มอีกสักนิดเรียกบริการรถดีกว่า หรือตัดปัญหาไปนั่งร้านอาหารด้วยการฝาก ‘ฮีโร่’ ไปรับอาหารแล้วมาส่งถึงที่
แต่ร้านเล็กร้านน้อยบางร้านไม่สามารถเข้าร่วมแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ เพราะหักเปอร์เซ็นต์จากราคาอาหารแบบมหาโหดจนเหลือกำไรเพียงน้อยนิด ส่วนกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ถูก Disrupt จากแพลตฟอร์ม บวกกับช่วงนี้คนไม่กล้าออกไปไหนเลยต้องปรับตัวหันมาส่งเดลิเวอรีควบคู่ไปด้วย เพื่อหารายได้อีกทางหนึ่ง
กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ โบ้-อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สร้างแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า ‘ตามสั่ง-ตามส่ง’ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับคนในชุมชนภายใต้แนวคิด ‘เศรษฐกิจสมานฉันท์’ ที่ให้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้านค้า และผู้บริโภคเป็นเจ้าของและได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งทดลองใช้ถนนลาดพร้าว 101 เป็นที่แรก
แพลตฟอร์มเดลิเวอรีฉบับชุมชน
“ผมวิจัยเรื่อง Platform Economy หรือแอปพลิเคชันเดลิเวอรีที่เรารู้จักกัน แล้วสนใจคนสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากตัวแพลตฟอร์มเป็นคนที่ทำอาชีพเดิม เช่น คนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ว่ามีการปรับตัว ต่อต้าน หรือได้รับผลกระทบอย่างไร และกลุ่มที่ทำงานบนแพลตฟอร์ม ว่าได้รับการปฏิบัติจากผู้ให้บริการเหล่านี้อย่างไรบ้าง พบว่าทั้งสองกลุ่มหรือแม้แต่ผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบไปหมด
“ตัวโครงสร้างแพลตฟอร์มมีส่วนประกอบหลายอย่าง คือผู้บริโภค ร้านค้า ไรเดอร์ และตัวแพลตฟอร์ม ซึ่งทุกฝ่ายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้ จึงควรมีอำนาจในการต่อรองเท่ากัน แต่ความเป็นจริงกลับไม่ใช่ เพราะไรเดอร์และร้านค้าเป็นส่วนที่มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด เพราะไม่มีการจัดตั้งเป็นสหภาพเพื่อช่วยเหลือ ดังนั้นเวลาที่เขามาบีบก็จะพุ่งมาที่ร้านค้าและไรเดอร์ เช่น การเก็บค่าจีพี หรือค่าคอมมิชชันที่ต้องจ่ายให้แอปฯ ในราคาสูง”
คุณโบ้เสริมว่า โมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์มส่วนใหญ่เป็น Economy Multi-sided คือการทำกำไรจากหลายทาง เช่น แพลตฟอร์มทำกำไรจากค่าบริการที่เก็บจากผู้บริโภค ร้านค้า และไรเดอร์ แพลตฟอร์มเป็นคนเก็บข้อมูลแล้วนำไปทำงานร่วมกับธนาคาร เพื่อปล่อยกู้สินเชื่อให้ไรเดอร์ หรือเช่า-ซื้อสินค้ากับแพลตฟอร์ม โดยหักเงินรายวันจากบัญชีธนาคารที่ผูกไว้
ซึ่งบ่อยครั้งมันนำไปสู่การควบคุมอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการล็อกไม่ให้ดาวน์โหลดแอปฯ คู่แข่ง หรือเอาประกันอุบัติเหตุมาสร้างเงื่อนไขให้ไรเดอร์ทำงานมากขึ้น ทั้งที่สิทธิ์ประกันอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไรเดอร์ควรได้ขั้นพื้นฐาน แต่สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าแพลตฟอร์มมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่น
“ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปีที่ผ่านมา เราได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการให้ทาง สสส. แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณที่เป็นโจทย์ท้าทายว่าเราจะทำอะไรกับกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้บ้าง ซึ่งผมได้พูดคุยกับพี่เฉลิม นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย ว่าจริงๆ แล้วพวกเขาอยากได้อะไร ซึ่งคำตอบที่ได้คือ อยากได้แอปฯ มาแข่งกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี”
เมื่อคุณโบ้ได้ยินอย่างนั้น แน่นอนว่าความคิดแวบแรกที่โผล่ขึ้นมาในหัว คือ ‘เป็นไปได้ยาก’ เพราะข้อจำกัดทั้งเรื่องเงิน และกำลังคนที่ไม่เพียงพอ ทำให้การแข่งขันกับแพลตฟอร์มเจ้าใหญ่ๆ แทบเป็นไปไม่ได้ แต่ใช่ว่าจะลองทำไม่ได้
พอรับรู้ความต้องการ ขั้นถัดมาคือการหาลู่ทางสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้กลุ่มคนที่ประกอบอาชีพและได้รับผลกระทบช่วงโควิด-19 มีความมั่นคงหรือรายได้เพิ่มขึ้น ผลสรุปออกมาทำให้ลองตัดสินใจทำ Community Platform แพลตฟอร์มขนาดเล็กที่ให้คนในชุมชนใช้กันเองที่ชื่อว่า ‘ตามสั่ง-ตามส่ง’
ขั้นต่อมาคือการแบ่งพื้นที่เป็นโซนต่างๆ แล้วแบ่งทีมเข้าไปรับฟังปัญหาของร้านค้ารายเล็กในชุมชน ซึ่งหลายร้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปัญหาหลักอยู่ที่ ‘ค่า GP’ ของแอปพลิเคชันเจ้าตลาดเพราะถูกหักจากค่าอาหารประมาณ 30 – 35 เปอร์เซ็นต์ จนไม่เหลือกำไรเข้าตัว ส่วนอีกปัญหาที่พบคือกลุ่มร้านอาหารไม่ได้อยู่บนแพลตฟอร์มขาดรายได้ เพราะข้อจำกัดของนโยบายรัฐฯ ที่ห้ามนั่งทานที่ร้าน
แล้วทำไมต้องเป็น ลาดพร้าว 101 เห็นศักยภาพอะไรของพวกเขา ฉันถามด้วยความสงสัย
“ผมเห็นว่าพวกเขาเป็นกลุ่มมอเตอร์ไซค์ที่เข้มแข็ง มีการรวมตัว มีกรรมการบริหารอย่างจริงจัง และที่สำคัญมีวิสาหกิจชุมชนของตัวเอง ปล่อยกู้เงินกันเองในกลุ่ม มีสวัสดิการกลุ่ม เช่น วันไหนที่เราไม่สบายและไม่ได้วิ่ง กลุ่มจะจ่ายเงินชดเชยให้วันละเจ็ดร้อยบาท ไม่เกินสิบห้าวันต่อปี หรือกรณีเสียชีวิตเขาให้เงินสองหมื่นบาทเพื่อนำไปฌาปนกิจศพ
“ประกอบกับระยะเวลาที่จำกัด ผมเลยชักชวนกลุ่มลาดพร้าว 101 ซึ่งมีความเข้มแข็งอยู่แล้วมาเข้าร่วม เพื่อที่เราไม่ต้องไปจัดตั้งกลุ่มใหม่ อีกอย่างพี่ๆ วินฯ ให้ความช่วยเหลือเต็มที่ เข้าใจไอเดียว่ากำลังจะทำอะไร ทำให้เราไปใช้เวลากับสองร้อยร้านค้าในชุมชนได้อย่างเต็มที่”
ใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก คือโจทย์สำคัญ
พอได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลร้านค้าในชุมชน พบว่าผู้ประกอบการบางกลุ่มมีสมาร์ตโฟนแต่ไม่รู้วิธีการใช้ หรือไม่ช่ำชองถึงขนาดที่รู้ว่าจะนำมาประกอบอาชีพอย่างไร จึงลงเอยด้วยระบบหลังบ้านแบบ Manual คือสั่งอาหารผ่าน LINE OA กดที่คำว่า ‘ตามสั่ง’ ที่จะลิงก์ไปยังเว็บไซต์สั่งอาหาร ซึ่งคำสั่งซื้อจะส่งไปยังแอดมินเพื่อติดต่อร้านค้าผ่านทางไลน์ หรือโทรศัพท์ จากนั้นวินมอเตอร์ไซค์เข้าไปรับอาหาร และจัดส่งตามที่อยู่ของลูกค้า
สำหรับค่าบริการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ‘สั่งอาหาร’ คิดค่าอาหารตามจริง + ค่าโดยสารวินฯ ตามปกติ + ค่าบริการ 10 บาท และ ‘ส่งคน’ คิดค่าโดยสารวินฯ ตามจริง + ค่าบริการ 5 บาท
หากใครต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ลาดพร้าว 101 คิดค่าบริการตามระยะทางกิโลเมตรละ 10 บาท + ค่าบริการตามระยะทาง เริ่มต้นที่ 2 – 5 กม. ราคา 20 บาท, 5 – 10 กม. ราคา 30 บาท และ 10 กม. ขึ้นไป ราคา 50 บาท ซึ่งค่าบริการที่กล่าวไปข้างต้น จะช่วยซัปพอร์ตค่าใช้จ่ายของพี่วินฯ ในการวิ่งรถเปล่ากลับซอย
หลังจากเปิดมาเกือบ 1 ปี เครื่องมือที่ใช้ยังคงมีจุดบกพร่องอยู่บ้าง เช่น ไม่รองรับการออร์เดอร์จำนวนมากพร้อมกันซึ่งทางตามสั่ง-ตามส่ง กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มให้เสถียรขึ้นและเราอาจจะได้เห็นโฉมใหม่ภายใน 2 – 3 เดือนนี้
มองไกลกว่าความมั่นคงทางอาชีพ
ก้าวแรกของตามสั่ง-ตามส่ง คือการสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ แต่เมื่อลงมือดำเนินการโครงการอย่างจริงจัง กลับพบว่าตามสั่ง-ตามส่ง กลายเป็นผู้ที่สร้าง ‘ความเชื่อใจ’ ให้คนในชุมชน
เดิมทีระหว่างร้านค้าและวินมอเตอร์ไซค์ยังมีอคติบางอย่างต่อกัน เคยมองว่าเป็นพวกกินเหล้าเมายา แก๊งมาเฟีย หรือเก็บค่าโดยสารไม่คงเส้นคงวา พอได้ทำกิจกรรมตามสั่ง-ตามส่ง ทั้งสองกลุ่มได้ทำงานร่วมกัน พูดคุยถึงปัญหาและหาแนวทางแก้ไข ทำให้พวกเขาปรับตัวเข้าหากัน กลายเป็น ‘สุขภาวะชุมชน’ (Community Well-being) ที่มีความเห็นอกเห็นใจ ความเชื่อใจในชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าร้านค้าและวินฯ ไม่เปิดใจเข้าหากัน
“ตอนแรกเราสนใจเรื่องความมั่นคงทางอาชีพ พอทำไปทำมาแล้วมันมีอะไรที่เท่กว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของความไว้ใจ Well-being ของชุมชน ถ้าแพลตฟอร์มนี้สำเร็จ ผมว่ามันพิสูจน์อะไรได้หลายอย่างว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมันมีมากกว่าเรื่องทางเศรษฐกิจ อันที่จริงเศรษฐกิจอยู่ใต้ร่มของสังคม แต่ปัจจุบันเราแยกออกมาเป็นเศรษฐกิจและสังคม แล้วให้น้ำหนักไปทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งมันไม่ถูกต้อง”
เคยคิดไหมว่าตัวกิจกรรมนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีวิกฤต Covid-19 ขึ้นมา ฉันถาม
“คิดนะ ผมมองว่าโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา มันเป็น Mutual Suffering ที่คนในชุมชนมีความทุกข์ร่วมกัน เจอประสบการณ์แบบเดียวกัน แล้วการตอบสนองต่อภัยคุกคามอันนี้คือการหา Mutual Identity เหมือนกัน ซึ่งคนในชุมชนลาดพร้าว 101 มี Locality คือเป็นคนในชุมชนเหมือนกัน ทำให้พวกเขารวมตัวกันและหาโซลูชันร่วมกันได้
“แล้วหัวใจสำคัญของกิจกรรมนี้จริงๆ คือเราตั้งใจอยากให้ตามสั่ง-ตามส่ง ดึงคนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจ มีอำนาจในการต่อรองเท่าๆ กัน เพราะเราเห็นความไม่ยุติธรรมในแพลตฟอร์มแสวงกำไร สงวนอำนาจให้แพลตฟอร์มมากกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้นเราเลยอยากทำโมเดลที่แก้ปัญหาตรงนี้ ให้ทุกคนมีอำนาจต่อรอง ตกลงกันเอง สมมติทั้งสามกลุ่มตกลงว่าจะหักเปอร์เซ็นต์ได้ ผมก็โอเค
“อันนี้เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเลยนะ ผมคิดว่าการสร้างกิจกรรมลักษณะนี้ ไม่ได้เป็นแค่การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่การทำให้เรามีส่วนร่วมในทุกอย่างของชีวิต มีอำนาจต่อรองเท่ากัน เราจะเริ่มรับฟังคนอื่น เห็นคนเท่าเทียม แล้วมันจะนำเราไปสู่อะไรมากกว่านี้”
หลังจากฟังแนวคิดของแพลตฟอร์มตามสั่ง-ตามส่ง แน่นอนว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่ฉันยังอดสงสัยไม่ได้ว่าถ้าหากวันหนึ่งไม่มีตัวกลางอย่างคุณโบ้ หรือไม่มีเงินทุนจาก สสส. เข้ามาซัปพอร์ต ตัวแพลตฟอร์มนี้จะสร้างกำไรในระยะยาวได้อย่างไร
“เราอยากทดลองโมเดลให้ไปไกลกว่านี้ ทำอะไรให้มันมีความยั่งยืนในตัวมันเอง ต้องบอกว่าเรากำลังคิดโมเดลที่จะมาบริหารจัดการกิจกรรมว่าทำอย่างไรให้ยั่งยืน ซึ่งในฐานะนักวิจัย ผมคิดว่าถ้าโมเดลนี้ พิสูจน์แล้วว่าทำให้ชุมชนได้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ คือ ร้านมีโอกาสมากขึ้น สร้างโอกาสทางอาชีพมากขึ้น ผมอยากลองดูว่าชุมชนจะทำไหม
“มันท้าทายในแง่ของทฤษฎีและการปฏิบัติ แต่ผม Logic เยอะ เลยคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไม่ทำนี่หว่า (หัวเราะ) สุดท้ายถ้ามนุษย์ไม่ได้มีจิตสาธารณะขนาดนั้น รู้สึกว่ายุ่งยาก ไม่ทำดีกว่า เราก็ต้องเข้าไปดูอีกทีว่าเพราะอะไร ตอนนี้มันเป็นการทำวิจัยแบบ Action Research หาคำตอบ แก้ปัญหาแบบพลวัตไปเรื่อยๆ เราก็ไม่หยุดทำจนกว่าแพลตฟอร์มนี้จะยั่งยืนตัวมันได้
“ซึ่งวันหนึ่งถ้าทุกอย่างเรียบร้อย เราก็ส่งมอบให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างในชุมชนลาดพร้าว 101 เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารต่อไป โดยไม่ลืมสิ่งสำคัญคือการปล่อยให้แต่ละพื้นที่เขาตัดสินใจร่วมกันและมีอำนาจต่อรองเท่ากัน”
เรียกใช้บริการตามสั่ง-ตามส่งได้ที่ : th.ตามสั่ง-ตามส่ง.com
Line : @tamsang-tamsong
เบอร์โทร : 09-3298-8813