‘Clams’ ประติมากรรมหอยตัวจิ๋ว เครื่องมือตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ขยับและส่งเสียงเมื่อน้ำไม่สะอาด
เมื่อไหร่ก็ตามที่ระบบนิเวศแหล่งน้ำเริ่มพัง เหตุเพราะมลพิษต่างๆ ทำให้คุณภาพแหล่งน้ำไม่ดี สิ่งมีชีวิตชนิดแรกๆ ที่สามารถรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงคือ ‘หอย’ ‘Clams’ คือประติมากรรมรูปร่างหอยสองฝาตัวจิ๋ว ผลงานของ ‘Marco Barotti’ Media Artist ที่หยิบเอาชีววิทยาและการทำงานตามธรรมชาติที่รับรู้ถึงความผิดปกติของคุณภาพน้ำได้ก่อนใครของหอย มาใช้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม เกิดเป็นผลงานจากการรวมตัวระหว่างเซนเซอร์ที่สามารถวัดคุณภาพน้ำได้จริง และพลาสติกใสรีไซเคิลที่ถูกออกแบบมาในลักษณะหอยสองฝาตัวเล็กจำนวนมาก ที่ภายในมาพร้อมลำโพง หลักการทำงานของประติมากรรมชิ้นนี้คือ เมื่อเซนเซอร์ตรวจพบว่าคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำนั้นๆ เกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด จะส่งสัญญาณมายังเปลือกหอยเล็กๆ ที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ ทำให้เปลือกหอยเหล่านี้ขยับตัวและส่งเสียงออกมา คล้ายกำลังกรีดร้องให้กับมลพิษที่กำลังเผชิญ Marco Barotti มองว่า การสร้างสรรค์ผลงานในลักษณะนี้ขึ้นคือการทำให้ชิ้นงานทำหน้าที่อุปมาอุปไมยถึงผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่อโลก และมุ่งหวังให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยใช้สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเราเป็นผู้นำเสนอถึงผลกระทบ Sources :Designboom | t.ly/fLRCA Marco Barotti | www.marcobarotti.com/ClamsYanko Design | t.ly/s7haR