เย็นวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2567 สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) คลาคล่ำไปด้วยผู้คนในชุดวินเทจ เสียงเพลงสวิงดังกึกก้อง ฟลอร์เต้นรำเริ่มขยายพื้นที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มไปทั่วทั้งบริเวณ
อาจกล่าวได้ว่า สิ่งเหล่านี้คือตัวชี้วัดความสำเร็จของ STEP INTO SWING : Take the A Train at Hua Lamphong อีเวนต์สวิงโดย 2 ทีมงานเบื้องหลังอย่าง The Stumbling Swingout วงดนตรีสวิงแจ๊สที่ก่อตัวขึ้นจากกลุ่มนักเต้นสวิง และ Jelly Roll Jazz Club โรงเรียนสอนเต้นสวิงที่ตั้งใจสร้างนักเต้นใหม่ๆ เพื่อให้สวิงกลายเป็นคัลเจอร์ที่แข็งแรงในอนาคต
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เฝ้ามองแวดวงการเต้นสวิงในไทยมาตั้งแต่ยุคก่อนโควิด-19 ในเวลานั้นหลายคนอาจจินตนาการไม่ออกว่า วันหนึ่งกรุงเทพฯ จะมีอีเวนต์ SWING IN THE PARK เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ก่อนจะขยายตัวลามเลยออกไปสู่สถานที่ที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งอาคารลุมพินีสถาน ไปรษณียาคาร ลานชุมชนต่างๆ รวมถึงสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่ได้โคจรกลับมาจัดเป็นครั้งที่สองแล้ว
การขยับขยายของฟลอร์สวิงแดนซ์จากในสตูดิโอสู่พื้นที่สาธารณะต่างๆ ทั่วทุกหัวมุมเมืองนั้น ไม่ได้หมายความเพียงแค่การเพิ่มขึ้นในแง่ของจำนวนนักเต้นหรือการขยายสเกลการจัดงานแต่เพียงอย่างเดียว เพราะอีเวนต์สวิงเหล่านี้ยังสร้างแรงกระเพื่อมมาสู่เมือง ฉายภาพความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ และสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เราจำเป็นต้องแก้ไข เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเหล่านักการเมือง นักวิชาการ และใครต่อใครต่างหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับแวดวงสวิงของไทยเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ช่วงเวลาสั้นๆ หลังการซาวนด์เช็ก ก่อนที่ฟลอร์เต้นจะเปิดอย่างเป็นทางการ เราขอเจียดเวลาในห้องแต่งตัว เพื่อชวน 4 ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังอีเวนต์ในครั้งนี้อย่าง แบงค์-นิทัสน์ อุดมดีพลังชัย, สมภพ-สมภพ กุละปาลานนท์ และ สุ-สุไลมาน สวาเลห์ จาก Jelly Roll Jazz Club และ เนะ-วรนัทธ์ ม่วงศิริ จากวง The Stumbling Swingout มาพูดคุยกันถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงมุมมองของพวกเขาต่อวงการสวิงในไทย ที่น่าจะช่วยพัฒนากรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ขึ้นไม่มากก็น้อย
พวกคุณเริ่มต้นรู้จักการเต้นสวิงได้อย่างไร ชอบอะไรในศาสตร์การเต้นประเภทนี้
นิทัสน์ : ส่วนตัวเป็นคนชอบดนตรีเพลงแจ๊สอยู่แล้ว มันก็เป็นธรรมดาที่เราจะพยายามหาเพื่อน หากลุ่มคนที่ชอบอะไรเหมือนกับเรา จากนั้นพอเราได้เจอคนที่เนิร์ดในสิ่งเดียวกัน ก็ช่วยบิลด์กันขึ้นมาจนกลายเป็นงานใหญ่อะไรแบบนี้ได้
จากตอนที่เริ่มหัดเต้น คุณพัฒนามาสู่การตั้งวงดนตรีและเปิดโรงเรียนสอนเต้นได้ยังไง
นิทัสน์ : ย้อนไปสัก 9 – 10 ปีที่แล้ว ในยุคที่ Spotify ยังไม่บูม เราเสิร์ชหาเพลงแนวสวิงในอินเทอร์เน็ต บางครั้งก็เจอเพลงจากยุคที่เราไม่ได้เรียนมาหรือเต้นไม่ได้ พวกเราเลยต้องช่วยกันขุดเพลงยุคต่างๆ ขึ้นมาทำความรู้จัก เริ่มจากการบิลด์ทีมดีเจขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นเพื่อนๆ ที่ชอบดนตรีบางคนเขาฟังเพลงแล้วเอามาลองเล่น หรือแม้แต่คนที่เล่นดนตรีไม่เป็น พอได้เจอของที่ตัวเองชอบก็เริ่มอยากฝึก เราจึงฟอร์มกันขึ้นมาเป็นกลุ่มที่ประกอบไปด้วยคนที่ชอบเต้น ชอบดีเจ และชอบเล่นดนตรี
แล้วจากตรงนั้นก็เริ่มหาวิธีดึงให้คนที่สนใจการเต้นสวิงเข้ามาเพิ่ม แต่ด้วยความที่นักเต้นกลุ่มที่เข้ามาทีหลังอาจจะไม่สามารถฟอลโลว์คนกลุ่มแรกๆ ได้ทัน เราจึงเริ่มทำโรงเรียน Jelly Roll Jazz Club อย่างที่เห็นกันตอนนี้
ดังนั้นต้องบอกว่าทุกคนที่มาทำตรงนี้เขาเต้นเป็นหมด แต่หลังจากเต้นเป็นแล้วหลายคนจะเริ่มมีสายย่อยของตัวเอง อย่างครูสุเป็นนักเต้น ชอบสอนเต้น แต่สอนไปสอนมาก็เริ่มอยากเล่นดนตรี อยากหาดนตรีที่ทำให้คนเต้นสนุก นักเรียนเข้าใจ ก็เลยมาฝึกเล่นคลาริเน็ต
การเล่นดนตรีช่วยส่งเสริมการเต้นในแง่มุมไหนบ้างไหม
สุไลมาน : เพราะดนตรีกับการเต้นมันมาด้วยกัน สำหรับนักดนตรี ถ้าเล่นอยู่ในบ้านคนเดียว เราจะไม่มีอะไรที่มาหล่อเลี้ยงเอเนอร์จี มันก็จะเล่นไม่สนุก ส่วนนักเต้น ถึงเต้นคนเดียวอาจจะสนุก แต่มันก็ไม่สนุกเท่ากับมีนักดนตรีมาเล่นให้ ดังนั้นถ้าสองอย่างนี้มาเจอกันได้ มันจะส่งพลังกันเอง
ความสนุกอยู่ตรงที่ว่า นักดนตรีอาจมีไอเดียหนึ่งอย่าง แต่นักเต้นมีร้อยคน นักดนตรีเล่นอะไรมา นักเต้นร้อยคนตรงนั้นอาจตอบสนองไม่เหมือนกันเลยก็ได้ และในฐานะแดนเซอร์ เรานำเสนอเสียงเพลงผ่านร่างกาย การที่เราเข้าใจดนตรี เราจะเข้าใจว่าเดี๋ยวตรงนี้มันจะพีก ตรงนี้มันจะเบา ตรงนั้นมันจะหยุด มีผลกับการตอบสนองต่อเสียงเพลง
วรนัทธ์ : เราเคยศึกษาประวัติศาสตร์ดูและพบเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ ดนตรีสวิงมาจากคนแอฟริกันอเมริกันใช่ไหม ซึ่งถ้าย้อนไปถึงภาษาชนเผ่าของเขาดูจะพบว่า ในภาษาของเขา คำว่า ‘เต้น’ กับคำว่า ‘ดนตรี’ มันคือคำคำเดียวกัน ในวัฒนธรรมของเขามันคือสิ่งเดียวกัน แปลว่าถ้าเราเข้าใจดนตรี เราก็จะเต้นได้ดีขึ้น
จากการซ้อมดนตรีและเต้นในสตูดิโอ พวกคุณพัฒนามาสู่การจัดงานในพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้ได้ยังไง
นิทัสน์ : เราคิดว่ามันก็เหมือนกลุ่ม Subculture อื่นๆ คือเราแค่อยากหาเพื่อนเพิ่ม แค่อยากเผยแพร่สิ่งที่เราชอบ ตอนแรกมันเริ่มจากการที่เพื่อนเปิดร้าน เราก็ไป หรือหน้าปากซอยบ้านเพื่อนจัดงานได้ เราก็ไปจัด ต่อจากนั้นถึงมีคนมาสนใจชวนเราไปทำที่อื่น มันไม่ได้มีการวางแผนอะไรเป็นเรื่องเป็นราว
วรนัทธ์ : เรียกว่าทำกันไม่หยุดมากกว่า อีเวนต์นี้จบก็ไปต่อ คิดอะไรออกก็ทำต่อ พอมันเกิดจากความชอบเราก็เหมือนเสพติด ทำเสร็จงานหนึ่งก็ทำต่อไปเรื่อยๆ
คิดว่าอะไรที่ทำให้วงการสวิงในไทยเติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ จนพวกคุณจัดงานได้ถี่ขนาดนี้
วรนัทธ์ : ผมคิดว่าดนตรีสวิงเป็นดนตรีที่สนุก และการเต้นสวิงเป็นการเต้นที่ตลก ฝรั่งเขาเรียกว่า Funny Dance เพราะมันเป็นการเต้นที่มี Sense of Humour อยู่มาก
สมภพ : อีกอย่างคือเมื่อก่อนเราต้องรอคนจากต่างประเทศมา ซึ่งมันก็จะแพงใช่ไหม ตอนหลังเราเลยเปลี่ยนแนวคิด โดยเริ่มบิลด์ทุกอย่างจากในประเทศก่อน บิลด์ครูให้มากขึ้น บิลด์นักดนตรีให้มากขึ้น
ถ้าพูดถึงงาน SWING IN THE PARK ความจริงเรามีไอเดียอยากไปเล่นที่สวนมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นขั้นตอนการขออนุญาตมันทำเรายอมแพ้ไปซะก่อน เพราะยุ่งยากมาก แต่พอเข้าสู่ยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ การจองสถานที่มันง่ายขึ้น เป็นช่วงเดียวกับที่วงของเราเองก็เริ่มเก่งขึ้น โควิด-19 ก็เริ่มซา คนเริ่มอยากออกมาหาอะไรใหม่ๆ ทำกันนอกบ้าน จังหวะทุกอย่างลงตัวกันพอดี
แล้วอีเวนต์ครั้งต่อๆ มาในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เกิดขึ้นได้ยังไง
สมภพ : แต่ละอีเวนต์เกิดจากหลายฝ่าย พอเราเริ่มทำแล้วมีไอเดีย บางทีเจ้าของสถานที่หรือพาร์ตเนอร์ที่เกี่ยวข้องก็ติดต่อมาเอง แต่บางครั้งพวกเราอาจจะรู้สึกว่าที่นี่สวยมาก ก็ติดต่อเข้าไปขออนุญาตเองก็มี
นิทัสน์ : ยกตัวอย่าง ตอนนั้นอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ กำลังศึกษาอาคารลุมพินีสถาน ในสวนลุมพินี ซึ่งมีโครงการจะรีโนเวต เขาก็เลยอยากจินตนาการดูว่าอาคารนี้จะสามารถพัฒนาไปเป็นอะไรได้บ้าง เลยมาชักชวนเราเพราะเห็นว่าประวัติศาสตร์ของเรากับสถานที่แห่งนี้เกี่ยวข้องกัน คือที่นั่นเคยมีนักดนตรีสวิงในตำนานมาเล่น
สุไลมาน : ในฐานะนักดนตรี งานนี้เป็นงานที่ผมตื่นเต้นมาก เพราะมันคือที่ที่ Benny Goodman หนึ่งในมือคลาริเน็ตที่ผมชอบที่สุดเคยมาเล่น แล้วตึกนั้นก็เป็นที่ที่คนสมัยก่อนใช้เต้นรำกัน มีเวทีที่หมุนได้ โอ้โห มันต้องอลังการขนาดไหน ลองคิดว่าถ้าเรารีโนเวตมันกลับขึ้นมาได้คงเท่มากๆ
หลังจากได้เข้าไปจัดอีเวนต์ในหลายๆ พื้นที่ พวกคุณคิดว่าพื้นที่มีผลกับการเต้น การเล่นดนตรี หรือการจัดงานอย่างไรบ้าง
สมภพ : ผมรู้สึกว่าพื้นที่ที่จะทำให้จัดกิจกรรมลักษณะนี้ได้เรื่อยๆ ควรมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ห้องน้ำและจุดกินน้ำ เรื่องง่ายๆ พวกนี้สำคัญและช่วยได้เยอะในแง่การจัดกิจกรรม
นิทัสน์ : หลายๆ ที่ที่เราเข้าไปทำ บางครั้งมันคือพื้นที่ที่เขาคุยกันเรื่องการพัฒนาอยู่แล้ว แต่เขาอาจจะเคยคุยกันแค่ในกระดาษ หรือคุยเรื่องงบประมาณ มันก็ดูไม่ออกว่าจริงๆ แล้วเราต้องทำอะไร แต่พอจู่ๆ มันเกิดอีเวนต์ง่ายๆ สั้นๆ มีคนเข้าร่วมสักร้อยกว่าคน ก็ทำให้เขาเห็นว่าต้องพัฒนาต่อไปยังไง เช่น พื้นที่ตรงนี้ต้องการห้องน้ำนะ ต้องการจุดน้ำดื่มนะ มันทำให้ฝ่ายที่ต้องพัฒนาเขาดูออกว่าพื้นที่ตรงนี้ยังขาดอะไรอีก
วรนัทธ์ : ยกตัวอย่างคือ เราเคยไปจัดงานที่สวนแห่งหนึ่ง มีคนตั้งใจจะมากันเป็นพัน วันนั้นกำหนดการเราเล่นกันตอนห้าโมงถึงหนึ่งทุ่ม ซึ่งช่วงนั้นเข้าหน้าหนาวแล้ว ปรากฏว่าพอ 6 โมงปุ๊บฟ้ามืดเลย แล้วสวนไม่มีไฟ ดังนั้นมันจึงมืดสนิท งานนี้ก็เลยทำให้เขาเห็นว่าที่นี่จำเป็นต้องติดไฟแล้วนะ และหลังจากนั้นสวนก็ได้ติดไฟจริงๆ
นอกจากเรื่องการติดไฟแล้วมีอะไรอีกไหม
นิทัสน์ : มีหลายครั้งการที่เราไปจัดงานมันเหมือนช่วยให้เขาเห็นว่าจริงๆ แล้วบ้านเรายังมีพื้นที่สาธารณะอีกหลายแห่งที่มีศักยภาพ ทุกวันนี้หลายที่มันอาจจะน่าเสียดาย เพราะคนพัฒนาเขามีไอเดียแล้วแต่จินตนาการอาจจะยังน้อยอยู่ คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า ‘งั้นรื้อออกทำเป็นสวนสาธารณะไหม’ ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าทุกที่ต้องกลายเป็นสวน แต่เราอาจจะใส่ชีวิตเข้าไปในพื้นที่เหล่านั้นได้
สมภพ : ในประเด็นลักษณะนี้เราน่าจะมีอย่างน้อย 3 งานแล้วนะ คือลุมพินีสถาน ซึ่งอาจารย์ชาตรีเขาอยากให้เราไปชุบชีวิต แสดงให้เห็นว่ามันยังใช้ได้นะ หรือที่หัวลำโพง ครั้งแรกเราจัดกับโปรเจกต์ UNFOLDING BANGKOK เป็นช่วงหัวลำโพงมีข่าวลือว่าจะถูกทุบ และอีกที่คือไปรษณียาคารที่ปากคลองตลาด เขาก็อยากให้เราไปลงเพื่อให้เห็นว่ามันมีชีวิตชีวา เราทำอะไรได้นะในตึกเก่าๆ แบบนี้
คนมักจะคิดว่าพื้นที่สาธารณะคือสวนสาธารณะหรือสถานที่เอาต์ดอร์ แต่ไม่ค่อยนึกถึงสถานที่เก่า
วรนัทธ์ : อย่างที่อเมริกา โบสถ์เก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วกลายเป็นเธียร์เตอร์ เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ต สามารถนำไปใช้งานได้เยอะมาก
สุไลมาน : หรือล่าสุดเราไปยุโรป เขามีโอเปร่าฮอลล์ คอนเสิร์ตฮอลล์เก่าๆ ที่อลังการมาก ซึ่งมีความโมเดิร์นในตัวเพราะเขาไม่ได้รื้อและสร้างใหม่ แต่พัฒนาเพิ่มมาเรื่อยๆ มันก็เลยเก็บเสน่ห์ของตัวสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมเก่าของเขาเอาไว้ได้
นิทัสน์ : เทียบกับไทย หลายครั้งที่เรามีของดีอยู่แล้ว แต่เอะอะก็ทุบสร้างใหม่ เราจึงอยากให้เห็นว่ามันเพียงพอแล้ว มันดีอยู่แล้ว
นอกจากพื้นที่สาธารณะ เมืองยังต้องพัฒนาอะไรอีกเพื่อช่วยซัพพอร์ตสวิงหรือซับคัลเจอร์อื่นๆ
นิทัสน์ : คงเป็นเรื่องการเดินทาง ระบบขนส่งสาธารณะแหละ เพราะเวลาใครอยากจัดงานใหญ่ๆ เราก็ต้องการพื้นที่สาธารณะที่คนเข้าถึงได้ การเดินทางต้องสะดวกกว่านี้ รวมถึงเรื่องทางเดินเท้าด้วย เพราะหลายครั้งพื้นที่ที่เราไปมันเดินทางง่ายนะ แต่กว่าจะเดินทางจากสถานีเข้าไปถึงสถานที่จัดงาน คนอาจจะรู้สึกลำบาก อันตราย หรือมีค่าใช้จ่ายสูง ถ้าปรับปรุงตรงนี้ได้ อีเวนต์ของซับคัลเจอร์หลายๆ อย่างก็คงบิลด์ขึ้นง่ายกว่านี้
สุไลมาน : สำหรับผมคิดว่าเป็นเรื่องของ Accessibility ยิ่งสมัยนี้เดเวลอปเปอร์กวาดซื้อพื้นที่ไปพัฒนา บางโครงการอาจมีพื้นที่สำหรับจัดอีเวนต์อยู่บ้าง แต่เขาปล่อยเช่าทีราคาเป็นหลักแสนหรือหลักล้าน กลุ่มซับคัลเจอร์ต่างๆ ก็ไม่สามารถเข้าถึงตรงนี้ได้เพราะเขาทำงานด้วยแพสชันกันเป็นส่วนมาก ออกเงินกันเอง เข้าเนื้อบ้าง หรืออาจจะคืนทุนมาได้นิดหนึ่ง แต่แล้วเขาจะเติบโตต่อไปกันได้ยังไงถ้าไม่มีพื้นที่
แต่ละองค์กรภาครัฐที่เข้ามาทำงานกับเรา เขาช่วยเราอย่างไรบ้าง
นิทัสน์ : ที่ผ่านมา กทม. ช่วยเราเรื่องพื้นที่เป็นหลัก บางงานอาจจะมีสนับสนุนเรื่องน้ำดื่ม ความปลอดภัย หรือเครื่องเสียงบ้าง ส่วนงานนี้ ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) เขาเล็งเห็นว่าเราสามารถเชื่อมต่อกับกลุ่มนักท่องเที่ยวได้ ในอนาคตเราอาจกลายเป็น Swing Destination ของภูมิภาค เพราะคอมมูนิตี้สวิงมีอยู่ทั่วโลก ทีนี้พอเราลองเอาไอเดียไปขาย ททท. เขาก็ช่วยไปคุยกับ รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ให้ ช่วยประสานงานเรื่องสถานที่ให้ ทำให้งานนี้เกิดขึ้นได้ในที่สุด
ผมคิดว่านอกจากการซัพพอร์ตคัลเจอร์ใหญ่ๆ แล้ว ถ้าเราสามารถซัพพอร์ตซับคัลเจอร์ตัวกลางๆ หรือตัวเล็กตัวน้อยหลายๆ หน่วยได้ ไม่แน่มันอาจจะใช้งบประมาณน้อยกว่าไปซัพพอร์ตตัวใหญ่ตัวเดียวด้วยซ้ำ โดยที่เราอาจจะได้จำนวนคนเข้าร่วม สร้างการเข้าถึงมากกว่า
นอกเหนือจากการพัฒนาเมืองแล้ว ดูเหมือนว่าการเต้นสวิงจะช่วยสร้าง Socialization เยียวยาคนเมืองด้วยเช่นกัน
นิทัสน์ : ผมคิดว่ามันคือสิ่งที่เราคุยกันบ่อยๆ ในช่วงนี้ เมืองทุกวันนี้ทำให้คนเหงา หลายครั้งคนแค่ไม่รู้ว่าจะออกจากบ้านไปทำอะไร พอเรามีอีเวนต์แบบนี้ขึ้นมามันก็ช่วยให้คนได้ออกมาแชร์สิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่ตัวเองสนใจ
ปรัชญาของดนตรีแจ๊สและการเต้นสวิงคือศิลปะที่ไม่แบ่งแยก ไม่มีลำดับขั้น คุณรู้สึกยังไงคุณก็เล่นแบบนั้น เต้นแบบนั้น ผมคิดว่ามันอาจจะช่วยให้คนที่เข้ามาสัมผัสตรงนี้ได้รีแลกซ์มากขึ้น กดดันน้อยลง หรืออย่างน้อยที่สุดคือให้เขารู้ว่าเสาร์อาทิตย์นี้เขาจะออกจากบ้านมาทำอะไร
สุไลมาน : ผมคิดว่าสวิงมันมีความสนุกหลายอย่าง มีเรื่องให้เราคอนเนกต์ได้เยอะมาก คนที่ชอบดนตรีอาจจะซึมซับตรงนี้ผ่านดนตรี คนที่ชอบประวัติศาสตร์ก็อาจจะซึมซับผ่านประวัติศาสตร์ คนที่ชอบแฟชั่นก็เช่นกัน และพอเราเข้ามาก็อาจจะได้เจอกับกลุ่มเพื่อนที่เราไม่คิดว่าจะได้เจอในชีวิตประจำวัน คนที่มีความสนใจร่วมกัน มี Niche Passion เหมือนกับเรา อย่างส่วนตัวผมไม่ได้เล่นดนตรี ก็ได้มาเล่นดนตรี มาเป็นฟรอนต์แมน เป็นสิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้ทำในชีวิตนี้
อีเวนต์วันนี้มีวงดนตรีจากต่างประเทศมาเข้าร่วม สิ่งนี้สะท้อนโอกาสของแวดวงสวิงในไทยอย่างไร
สมภพ : จริงๆ สัปดาห์นี้เราจัดสองงาน (SWING ERA และ STEP INTO SWING) งานหนึ่งเป็นอีเวนต์เต้นที่เราชวนคนกว่า 400 คนจากสิบกว่าประเทศทั่วโลกบินมา จุดประสงค์หลักของงานนี้ไม่ใช่แค่ให้คนมาเอนจอยเฉยๆ แต่คือการโชว์เคสว่าคนไทยมีของนะ ในงานมีวง 7 วง เป็นคนไทย 5 วง เพราะเราต้องการให้แขกต่างชาติเห็นว่านี่คือวงของไทย เราเล่นได้แบบนี้
นิทัสน์ : เพราะไม่งั้นเวลานักดนตรีหรือนักท่องเที่ยวต่างประเทศพูดถึงดนตรีแจ๊ส มันจะไม่มีวงไทยติดโผเลย ที่ผ่านมาเราโชคดีที่อาจารย์แจ๊สในมหาวิทยาลัยหลายๆ คนเขายอมมาเวิร์กกับเรา งานนี้มันทำให้เราเห็นโอกาสว่าจริงๆ แล้วไทยสามารถเป็น Swing Destination ของภูมิภาคได้
สุไลมาน : ในเอเชีย ตอนนี้ซีนเต้นสวิงที่ใหญ่ๆ จะอยู่ในจีนกับเกาหลี เขามีนักเต้นเยอะมากจนสามารถจัดอีเวนต์ได้แทบทุกสุดสัปดาห์เลย ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีคนมาเที่ยวเยอะเพราะค่าครองชีพเราถูก แต่ในซีนสวิงอาจจะยังไม่ได้บูมมาก ผมคิดว่าไทยเราแข็งแรงที่สุดในภูมิภาค ดังนั้นเราจึงพยายามเวิร์กกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเพื่อที่จะสร้างกิจกรรมนี้ให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเราก็ต้องปั้นวงในประเทศให้แข็งแรงพอ เก่งพอที่จะให้ต่างประเทศเขานึกถึงวงของเรา นักเต้นของเรา มันคือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและดนตรีนั่นแหละ
นิทัสน์ : มันเหมือนกับคนที่ชอบดริปกาแฟ ชอบอ่านหนังสือ เวลาไปต่างประเทศเขาจะไปหาร้านกาแฟ หาร้านหนังสือในตำนานของประเทศนั้นๆ เราก็เป็นซับคัลเจอร์ลักษณะเดียวกัน
ในอนาคตพวกคุณมีเป้าหมายอย่างไร คาดหวังให้วงการนี้เติบโตไปในลักษณะไหน
สมภพ : ขั้นแรกก็อยากให้มีคนเต้นเยอะขึ้น ให้มีสัก 1,000 คน ตอนนี้เรามีอยู่ประมาณ 300
นิทัสน์ : ถ้านับจริงๆ เราคงมีเกือบพันแล้ว แค่แต่ละคนอาจจะไม่ค่อยได้แอ็กทีฟ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง
สมภพ : ที่ต้องพูดเรื่องนี้เพราะเราอยากให้กิจกรรมนี้ยั่งยืน ปัจจุบันนักดนตรีทุกคนของเรายังทำฟูลไทม์ไม่ได้ แต่ถ้าเรามีนักเต้นเยอะพอ ตามหลักแล้วมันควรจะมีคนทำสิ่งนี้เป็นฟูลไทม์ได้
วรนัทธ์ : ทุกวันนี้เล่นฟรีกันบ่อยมาก
สุไลมาน : นักดนตรีนี่ชีวิตลำบากมากนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักดนตรีแจ๊ส กว่าเราจะเติบโต ต่อยอด สร้างอาชีพได้ ต้องดิ้นรนกันเยอะ
วรนัทธ์ : จริงๆ เราก็ไม่ใช่นักดนตรีแจ๊สเต็มตัว เพราะอยู่ไม่ได้ ทุกคนต้องทำงานอย่างอื่นกันทั้งนั้น แล้วถึงเอาเวลาว่างมาทำตรงนี้
เพื่อที่จะไปถึงจุดนั้น พวกคุณคิดว่าเราต้องพัฒนาอะไรบ้าง
สมภพ : สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือเราพยายามพัฒนาคุณภาพของวง ให้คนนอกดูโชว์แล้วสนุกขึ้นด้วย เพราะแจ๊สก็คือเพลงป็อปสมัยก่อน ปัจจุบันเราจึงพยายามทำโชว์เคสให้คนเห็นว่าแนวเพลงนี้เข้าถึงง่ายอีกครั้ง
นิทัสน์ : อีกส่วนหนึ่งที่เราต้องทำคือการส่งต่อความรู้ ทั้งเรื่องเต้น เรื่องดนตรี เพราะความรู้พวกนี้ก็เหมือนการเรียนแบบไทยๆ คือให้อ่านหนังสือมันไม่อิน ต้องมาเจอ ต้องมาเห็นเอง การที่เราพยายามบิลด์คน บิลด์ทีม ก็เพื่อสิ่งนี้นี่แหละ
ในต่างประเทศมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยบ้างไหม
สมภพ : บาร์เซโลนาเป็นเมืองที่มีทุกอย่างที่เราพูดกันมาทั้งหมด คือเดินทางง่าย ผังเมืองดี ทุกอย่างอยู่ในระยะเดิน ผมมีเพื่อนเป็นครูอยู่ที่นั่น ชีวิตเขาเดินทางด้วยการเดินเท้าอย่างเดียว ไม่ได้ใช้แม้กระทั่งรถเมล์ เขาเดินไปโรงเรียน เดินไปซ้อม บางทีห้องซ้อมเต็มก็ออกมาซ้อมที่สวนได้ ถ้าอยากจัดอีเวนต์แบบที่ผมจัด 5 วันก็มีสถานที่อยู่ใกล้ๆ เป็นโอเปร่าฮอลล์เก่า หรือแม้กระทั่งริมชายหาดที่นั่นก็มีคนเต้น
เมืองบาร์เซโลนามีขนาดพอๆ กับกรุงเทพฯ นี่แหละ แต่ถ้าเทียบจำนวนนักเต้นต่อประชากรทั้งหมด เราห่างกับเขาอยู่ 20 เท่าตัวเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมืองเขาเอื้ออำนวยด้วย