ตามหาประวัติศาสตร์อารีย์ ย่านชิกที่สุดในกรุงเทพฯ - Urban Creature

ร้านรวงเก๋ๆ ร้านอาหารรสเลิศ คาเฟ่ฮิปๆ บาร์ลับ และครีเอทีฟสเปซมากมาย น่าจะเป็นภาพจำแรกที่เกิดขึ้นของหลายๆ คนเมื่อได้ยินชื่อย่านอารีย์

แม้ชื่อของอารีย์จะติดลิสต์ย่านชิกของชาวกรุงเทพฯ รุ่นใหม่มาเกือบ 10 ปี แต่ที่จริงแล้วความเก๋ความฮิปของย่านนี้ก่อตัวอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2540 เนื่องจากการเข้ามาของเหล่านักสร้างสรรค์ที่อยากเนรมิตสถานที่และบรรยากาศให้เป็นไปในแบบที่พวกเขาพึงพอใจ สร้างแรงบันดาลใจให้ชีวิต จึงไม่แปลกที่อารีย์จะกลายเป็นย่านที่มีกลิ่นอายของความสร้างสรรค์ มีชีวิตชีวามาจนถึงทุกวันนี้

แน่นอน ความเจริญและบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดความผ่อนคลาย จนคนอยากมาพักผ่อนหย่อนใจคือจุดเด่นของย่านนี้ แต่ขณะเดียวกันมีใครรู้บ้างว่าเบื้องหลังความสร้างสรรค์และร่วมสมัยของอารีย์มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าสนใจซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นชุมชน อาคาร ร้านค้าเก่าแก่ที่พบเห็นได้ไม่ยากหากได้ลองสำรวจพื้นที่และพูดคุยกับผู้คนดูสักนิด

ครั้งนี้ Urban Creature จึงขอพาทุกคนไปตามหาร่องรอยประวัติศาสตร์ของอารีย์จากปากผู้อาศัย ความเก่าแก่ของสถานที่ และบริเวณต่างๆ ของย่านชิกย่านนี้ผ่านการเดินทางโดยการใช้บริการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและแพ็กเกจสวอพหรือสลับแบตเตอรี่ของ Swap & Go ที่สะดวก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหมาะสมกับการใช้สัญจรในย่านใดย่านหนึ่งที่ระยะทางไม่ไกลจนเกินไป เข้าตรอกออกซอยได้ว่องไวกว่าเดินเท้า แต่ก็ไม่พลาดชื่นชมวิวทิวทัศน์ระหว่างทางไปด้วย

swap & go มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

เที่ยวทั่วย่านได้ง่ายๆ กับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Swap & Go สถานี ปตท. สนามเป้า

เราสตาร์ทการเดินทางด้วยการมารับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เช่าไว้จาก Swap & Go พร้อมสมัครแพ็กเกจสวอพแบตเตอรี่แบบไม่จำกัด ณ จุดให้บริการ Swap & Go ที่ตั้งอยู่ในสถานี NGV กำแพงเพชร 2

เพื่อให้พาหนะที่ใช้เดินทางในวันนี้ขี่ได้ไม่มีสะดุด เราเลยมาสลับแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ใกล้หมดเพราะใช้มาสักพักแล้วเป็นแบตเตอรี่ที่ชาร์จเต็ม ณ Swap Station ที่ตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สนามเป้า ซึ่งถือว่าสะดวกสบายสุดๆ เพราะที่นี่แตกต่างจากผู้ให้บริการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเจ้าอื่นๆ ตรงที่เราไม่จำเป็นต้องมีที่ชาร์จแบตฯ ของตัวเอง แค่มาสลับแบตฯ ตาม Swap Station ที่มีจำนวนกว่า 22 แห่งกระจายตัวตามย่านต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ชั้นใน

ส่วนตัวเราคิดว่าเหมาะกับคนที่อาศัยอยู่ตามคอนโดฯ ในเมืองแล้วอยากใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแต่ไม่สะดวกซื้อและต้องมาดูแลรักษาเอง เพราะ Swap & Go ให้บริการให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แถมมีสถานีสลับแบตฯ ให้พร้อม

สนามเป้า swap & go

ส่วนวิธีการสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Swap & Go ที่ Swap Station นั้นขั้นตอนง่ายแสนง่าย ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง แค่จองแบตเตอรี่และค้นหา Swap Station ใกล้เคียงในแอปพลิเคชัน Swap & Go จากนั้นสแกน QR Code เพื่อปลดล็อกตู้แล้วเปลี่ยนแบตฯ ที่ใช้แล้วด้วยแบตฯ ใหม่ เพียงเท่านี้เราก็พร้อมขี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าคู่ใจออกเดินทางไปสำรวจประวัติศาสตร์ของย่านอารีย์แล้ว

สนามเป้า swap & go มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

สหกรณ์พระนคร จำกัด (สหกรณ์อารีย์) กับการยืนหยัดข้ามยุคสมัย

ในบรรดาความร่วมสมัยของอารีย์ที่ปรากฏผ่านร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์สมัยใหม่ ยังมีสหกรณ์พระนคร จำกัด (สหกรณ์อารีย์) ที่อยู่คู่ย่านนี้มาเนิ่นนานมาเกือบ 80 ปี ทั้งยังเป็นสหกรณ์เดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ 

เอาเข้าจริง เราเดินผ่านปากซอยอารีย์มาหลายครั้งเหมือนกัน แต่เพิ่งจะสังเกตเห็นสหกรณ์แห่งนี้อย่างจริงจังก็คราวนี้ ทั้งตัวตึกเก่าที่บอกเล่ากาลเวลาอันยาวนาน ไหนจะบรรยากาศร้านรวงโดยรอบกับตัวซูเปอร์มาร์เก็ตที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปในวัยเด็ก

อารีย์ สหกรณ์พระนคร จำกัด (สหกรณ์อารีย์)

เราทราบจาก สมศักดิ์ ผู่เจริญ ประธานคณะกรรมการสหกรณ์พระนคร จำกัดว่า ที่นี่จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และเป็นเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังประสบภาวะวิกฤติ สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคหายากและแพง รัฐบาลในขณะนั้นเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยโดยเฉพาะบรรดาข้าราชการให้ได้ซื้อสินค้าที่จำเป็นในราคาถูก ข้าราชการในกรมกระทรวงต่างๆ จึงร่วมกันริเริ่มก่อตั้งสหกรณ์แห่งนี้ขึ้น

“สมัยก่อนอารีย์มีแต่ผู้ดีเก่า สหกรณ์ฯ ที่เป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าของผู้ดีขนาดย่อมในสมัยนั้นจึงเลือกมาตั้งที่นี่ ซูเปอร์มาร์เก็ตเรามีสินค้าครบครันทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ คนมีเงินก็มาซื้อสินค้าจากเมืองนอกกัน ทำให้รอบบริเวณนี้มีร้านอาหารมาตั้งแต่โบราณ และต้องมีฝีมือจริงถึงจะอยู่ได้ เพราะผู้ดีเก่าเลือกกิน”

ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อรสเด็ด ร้านธานีหมูแดงหมูกรอบ ร้านวราภรกลอยทอด นายฉุ่ยเย็นตาโฟเส้นปลา ผัดไทยปากซอยอารีย์ และร้านมะลิวัลย์ขนมไทย คือตัวอย่างร้านอาหารและร้านขนมเจ้าเด็ดซึ่งดำเนินกิจการมาเกิน 20 ปีที่สมศักดิ์พูดถึง เขาเล่าต่อว่าพอยุคสมัยเปลี่ยนไป ไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยก็เปลี่ยนไป ทำให้อารีย์ที่เป็นย่านเจริญอยู่แล้วเปลี่ยนตามไปด้วย

สมศักดิ์ ผู่เจริญ อารีย์ สหกรณ์พระนคร จำกัด

จากความเปลี่ยนแปลงนี้เอง ทำให้สหกรณ์ฯ ต้องปรับตัว “จากที่เคยเน้นขายสินค้าให้ผู้ดีเก่า พอมีห้างสรรพสินค้าเกิดใหม่ ความนิยมของสหกรณ์ฯ ก็ลดน้อยถอยลง บวกกับข้อจำกัดในการบริหารพัฒนาที่มีขั้นตอนเยอะ ใช้เวลานานในการยื่นทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่เหมือนเอกชนที่ตัดสินใจแล้วทำได้ทันที เราเลยเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นคนทำงาน รวมถึงคัดเลือกสินค้าให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้บริการ”

นอกจากนี้สมศักดิ์ยังปรับผังพื้นที่ของสหกรณ์ฯ ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภค อย่างการยกโซนร้านค้าชั้นสองมาไว้ด้านล่าง แล้วปรับพื้นที่เป็นศูนย์อาหาร รวมถึงคิดหาวิธีจำหน่ายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าร้านค้าประเภทเดียวกัน เพื่อมัดใจพ่อบ้านแม่บ้านในย่านนี้ด้วย

ไม่น่าเชื่อว่าสถานที่ที่เราเคยเดินผ่านอยู่บ่อยๆ จะมีประวัติความเป็นมาและเรื่องราวที่น่าสนใจขนาดนี้ คราวหน้าถ้ามาแถวอารีย์อีก เราคงไม่เมินเฉยกับตึกเก่าแห่งนี้อีกต่อไป เป็นไปได้จะชวนเพื่อนๆ มาเดินเล่นช้อปปิงด้วยกันซะเลย

อารีย์ สหกรณ์พระนคร จำกัด (สหกรณ์อารีย์)

รู้จักอีกมุมของอารีย์กับ Ari Around กลุ่มคนที่อยากให้คนรู้จักอารีย์แบบรอบด้าน

ได้เยี่ยมเยือนพูดคุยกับชาวอารีย์รุ่นเก๋าไปแล้ว เราขอไปพบปะกับชาวอารีย์รุ่นใหม่กันบ้าง

เราได้นัดพูดคุยกับ อรุ-อรุณี อธิภาพงศ์ ที่ The Yard Hostel เธออยู่อารีย์มากว่า 13 ปี เคยทำงานออฟฟิศและเปิดกิจการร้านกาแฟแถวนี้ ทั้งยังอยู่ในกลุ่ม Ari Around ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางช่วยเชื่อมต่อผู้คนในย่านผ่านกิจกรรมต่างๆ และเรื่องราวของชุมชน ตั้งแต่เรื่องประวัติศาสตร์จนถึงข่าวสารอัปเดต

อรุเล่าว่าก่อนจะเห็นอารีย์เป็นอย่างทุกวันนี้ เมื่อ 70 – 80 ปีที่แล้วย่านนี้ยังเป็นแค่ทุ่งนาโล่งๆ จนกระทั่งเมืองเติบโต และคนเริ่มย้ายมาอยู่กันมากขึ้น เกิดการจัดสรรปันที่ให้ทหาร พ่อค้า และคนมั่งมีที่เข้าถึงกระบวนการจัดการที่ดิน ในสมัยนั้นเจ้าของที่ดินมักมีที่ดินมาก จึงสามารถจัดสรรผังพื้นที่เป็นบล็อกๆ และตัดถนนส่วนบุคคลเข้าถึงที่พักอาศัยได้อย่างเป็นสัดส่วน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อารีย์เป็นย่านที่เดินได้ยาวๆ

“หลังจากนั้นพอเวลาผ่านไป เจ้าของที่ดินคนไหนที่ต้องการย้ายไปอยู่ที่อื่น ก็ปล่อยพื้นที่ให้คนที่มีความสนใจเหมือนกันมาเช่าต่อ ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนทำงานด้านความคิดและความสร้างสรรค์ เลยทำให้ย่านนี้มีกลิ่นอายความงดงามบางอย่าง” อรุตั้งสมมุติฐานให้เราฟัง

Ari Around อารีย์ อรุ-อรุณี อธิภาพงศ์

“เมื่อสิบสามปีที่แล้ว เราสัมผัสได้ถึงความเป็นกลุ่มก้อนของชาวศิลปินคนทำงานสร้างสรรค์แล้วแหละ มันมีบรรยากาศของอาร์ตซีนอยู่ แต่ร้านกาแฟ คาเฟ่ ยังน้อยอยู่เลย ทีนี้พอเวลาผ่านไปจำนวนร้านรวงเพิ่มขึ้น คนเห็นโอกาสก็เริ่มมากันใหญ่ ซึ่งมันมีทั้งคนที่มาหาผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างเดียวและคนที่ต้องการอนุรักษ์พื้นที่เอาไว้

“หลายคนที่มาเที่ยวอารีย์อาจไม่ทราบว่าย่านนี้มีการต่อสู้ของผู้คนที่มองไม่เห็นซ่อนอยู่ อย่างถ้าไปเดินดูตามบ้านคนจะเห็นป้ายคัดค้านการสร้างตึกสูงแปะเต็มไปหมด และที่สำคัญชุมชนที่นี่เขารวมตัวปฏิเสธการสร้างคอนโดฯ หลายๆ โปรเจกต์ได้สำเร็จด้วย เรารู้สึกว่าคอมมูนิตี้ชาวอารีย์เข้มแข็งกันมาก”

นอกจากนี้ในมุมมองคนที่ชอบเดินเล่นในบริเวณย่าน อรุเสริมว่าอารีย์ไม่ได้มีดีแค่ที่กินที่เที่ยวเท่านั้น ทว่ายังมีร่องรอยของประวัติศาสตร์ เศษเสี้ยวของอดีตแทรกซึมให้พบเห็นทั่วไป เพียงแค่ต้องลองเปิดใจออกไปสำรวจเสียหน่อย

“ย่านนี้มีตึกเก่าบ้านเก่ายุค 70 เยอะ ยังไม่นับรวมธุรกิจต่างๆ ที่ตกทอดมาตั้งแต่โบราณ ไม่ว่าจะร้านยา สำนักงาน หรือกระทั่งโรงแรมที่ถ้าสืบสาวราวเรื่องก็จะไปถึงประวัติศาสตร์ที่ช่วงหนึ่งแถวนี้เคยเป็นฐานทัพทหาร จี.ไอ. สงครามเวียดนาม โรงแรมเลยเยอะ รวมไปถึงซ่องและสถานบันเทิง”

ปัจจุบันนอกจากขับเคลื่อนด้านข้อมูลข่าวสารและประวัติศาสตร์ย่านอารีย์แล้ว อรุกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม Ari Around ยังสร้างสรรค์ AriCoin (ARIC.) เหรียญสกุลเงินจำลองที่เป็นเครื่องมือนำพากิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการขยะ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และการเชื่อมโยงคนในชุมชนให้เกิดขึ้น โดยตั้งจุดรับขยะรีไซเคิลไว้ตามสถานที่ต่างๆ ในย่าน เพื่อต้องการเชื่อมโยงชุมชนให้เกิดปฏิสัมพันธ์กัน อย่างที่ The Yard Hostel ซึ่งเป็นโฮสเทลที่มีคอนเซปต์รักสิ่งแวดล้อมก็มีให้บริการเช่นกัน

Ari Around อารีย์ อรุ-อรุณี อธิภาพงศ์

หลังจากสนทนากับอรุ เราได้รับรู้เรื่องราวอีกมุมของอารีย์ที่ไม่เคยทราบมาก่อน ทำให้ตระหนักว่าทุกพื้นที่ล้วนมีรากและอดีตของตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่ย่านที่คนกรุงเทพฯ ยกให้เป็นหนึ่งในย่านที่ชิกที่สุด พอได้มาฟังจากปากคำชาวอารีย์จริงๆ ก็รู้สึกสนิทกับย่านนี้ขึ้นมาอีกนิด

the yard hostel swap&go อารีย์

หยุดพักที่จุดเช็กอินต้นเฟื่องฟ้า อารีย์ซอย 5 ในตำนาน

เราออกเดินทางต่อด้วยเจ้ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Swap & Go ทันทีหลังจากบอกลาสมศักดิ์และทีมงานสหกรณ์พระนคร จำกัด ว่ากันตามตรงแล้วที่ผ่านมาเราไม่เคยสัญจรในกรุงเทพฯ ด้วยพาหนะประเภทนี้มาก่อน แต่พอได้ลองใช้ก็พบว่ามันสะดวกกว่าที่คิด ทั้งในแง่การใช้งานที่ซอกซอนไปตามซอยเล็กๆ ได้ไม่ต่างจากมอเตอร์ไซค์ทั่วไป แต่มีน้ำหนักเบาทำให้ควบคุมได้ง่ายกว่า ถึงจะขี่ได้ไม่แรงเท่า แต่ถ้าใช้เดินทางในรูตสั้นๆ ก็ตอบโจทย์มากทีเดียว ช่วยย่นระยะการเดินทางกว่าการเดินตากแดดร้อนเป็นสิบๆ นาที แถมอยากจอดแวะถ่ายรูปตรงไหนก็ง่าย ไม่มีเสียงเครื่องยนต์ดังรบกวนใจผู้ใช้งานและชาวบ้านผู้อยู่อาศัย

เฟื่องฟ้า อารีย์ swap&go

อย่างบริเวณจุดเช็กอินเฟื่องฟ้า อารีย์ซอย 5 ที่เขาว่ากันว่าถ้าไม่มาถ่ายภาพตรงนี้เหมือนมาไม่ถึงอารีย์ ตอนที่เห็นพุ่มต้นเฟื่องฟ้าขนาดใหญ่กับกำแพงสีเรียบของจริง เราก็เข้าใจแล้วว่าทำไมคนถึงมาถ่ายภาพตรงนี้กันเยอะนัก เพราะมันทั้งสวย สดใส และให้ความสดชื่นอย่างบอกไม่ถูกนี่เอง ขนาด อิ้งค์ วรันธร ยังมาถ่ายมิวสิกวิดีโอเพลง สายตาหลอกกันไม่ได้ ที่นี่เลยนะ

เฟื่องฟ้า อารีย์ swap&go

Josh Hotel ไลฟ์สไตล์โฮเทลที่ผสมผสานอดีตกับปัจจุบันของอารีย์

เรามาปิดท้ายทริปท่องประวัติศาสตร์ย่านอารีย์ที่ Josh Hotel ไลฟ์สไตล์โฮเทลสุดฮิตกับการตกแต่งยุค 80 ที่ให้ความรู้สึกสนุกสนาน สีสันสดใส ราวกับวาร์ปไปอยู่ในหนังของผู้กำกับเวส แอนเดอร์สัน

ด้วยคอนเซปต์ไลฟ์สไตล์โฮเทลที่ตอบโจทย์ชีวิตคนยุคใหม่ ที่นี่จึงเป็นเหมือนจุดแวะพักแบบที่ต่อให้ไม่ได้มานอนพักก็มาใช้บริการ เดินเล่น เอนจอยเหล่าร้านรวงในโรงแรมได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารกึ่งคาเฟ่ ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านโดนัท หรือบาร์เจ๋งๆ แถมยังมีสระว่ายน้ำให้ผู้พักมาเอนหลังอ่านหนังสือหรือเล่นน้ำคลายร้อน สร้างไวบ์ซัมเมอร์สุดชิลแบบไม่ต้องบินลัดฟ้าไปเมืองนอก

อารีย์ josh hotel

Josh Hotel เปิดให้บริการมา 4 ปีแล้ว และมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงพื้นที่ต่างๆ ให้เข้ากับยุคสมัยและพฤติกรรมลูกค้าอยู่เสมอ ทว่า อนุวัตร มีนะโยธิน ตัวแทนกลุ่มผู้ก่อตั้งโรงแรมกระซิบบอกกับเราว่าที่นี่ยังมีอดีตที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่

“เดิมทีตึกนี้เคยเป็นหอพักเก่าที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่าสิบปี ก่อนเปลี่ยนเป็นโฮสเทลที่ผ่านการปรับมาหลายครั้งจนสุดท้ายได้กลายมาเป็น Josh Hotel โดยเราตัดสินใจคงอาคารชุดเดิมไว้ และปรับปรุงโครงสร้างของตึกเพิ่มโดยไม่ทุบทำลาย จะได้ไม่กระทบผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง

“ผมเพิ่งทราบจากคนที่อยู่แถวนี้มานานว่าเมื่อก่อนทหารอเมริกันมาอยู่ตึกนี้กัน เหมือนเป็นแฟลตของทหาร ถ้าได้ลองเดินสำรวจ จะเห็นเลยว่าตึกนี้มีบันไดสามส่วน ซึ่งเราเลือกเก็บไว้สองส่วนเพื่อใช้อีกส่วนเป็นพื้นที่ร้านอาหาร พื้นเป็นหินขัด และมีระเบียงใหญ่มาก ซึ่งเป็นเสน่ห์ของตึกสมัยก่อน”

อนุวัตร มีนะโยธิน josh hotel อารีย์

เมื่อเราถามถึงการเปลี่ยนแปลงของย่านอารีย์ในสายตาของเขา อนุวัตรก็เล่าว่าเมื่อ 5 ปีก่อนที่เขาเข้ามาทำธุรกิจสปากับร้านอาหารในย่านนี้ อารีย์ยังไม่เติบโตรุดหน้าเท่าปัจจุบัน “อารีย์ตอนนั้นเป็นชุมชนน่ารักๆ มีความสงบเงียบ และมีใจความสำคัญอยู่ที่ผู้คนซึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่สมัยก่อน 

“แต่ตอนนี้ผมว่าอารีย์เหมือนใจกลางกรุงเทพฯ น่าเดินกว่าสยามอีก เพราะเดี๋ยวนี้สยามสแควร์ไม่มีเสน่ห์เหมือนแต่ก่อน กลายเป็นแหล่งธุรกิจไปแล้ว ผมกลับเห็นแถวนี้กลายเป็นสยามสแควร์ อารีย์ 4 ฝั่งเหนือคือถนนหลักที่ทุกคนต้องเดินเข้ามา และด้วยความที่แถวนี้ไม่มีตึกสูง ไซซ์ของร้านอาหารจะมินิมอลๆ เสน่ห์อย่างหนึ่งของอารีย์ก็คือพวกร้านอาหารแบรนด์อินเตอร์ใหญ่ๆ ยังไม่เข้ามาย่านนี้ 

“นอกจากนี้อารีย์ยังมีศักยภาพเรื่องการจัดการขยะที่คนร่วมมือกันมาก ในอนาคตถ้าคอมมูนิตี้ร้านรวงในย่านร่วมมือกันทั้งหมดคงทำอะไรได้มากกว่านี้อีก เพราะคนในชุมชนเองก็น่ารัก พี่คนขับตุ๊กตุ๊ก พี่วินมอเตอร์ไซค์ พ่อค้าแม่ขายชาวสตรีทฟู้ดก็อยู่ร่วมกันได้ 

“อีกสี่ถึงห้าปีการพัฒนาของอารีย์คงไปไกลมาก จนวันนั้นอารีย์จะยังเป็นอารีย์อยู่หรือเปล่าผมคงตอบไม่ได้ แต่ลึกๆ ผมหวังว่าเสน่ห์เหล่านี้จะยังคงอยู่”

josh hotel อารีย์

เกือบทั้งวันที่เราใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Swap & Go ไปสำรวจย่านตามหาประวัติศาสตร์ของอารีย์ที่คนส่วนใหญ่รู้จักในนามย่านชิกๆ ของกรุงเทพฯ แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่นานนัก แต่กลับทำให้เรารู้จักอารีย์มากกว่าการมาเยือนย่านนี้ทุกครั้งที่ผ่านมาของเราเสียอีก

แน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้วเราคงแช่แข็งการพัฒนาเมืองที่เป็นไปตามยุคสมัยไม่ได้ แต่อย่างน้อยถ้าคนในชุมชนและคนที่เข้ามาใหม่ได้พูดคุยถึงความเป็นมาในพื้นที่ สร้างความตระหนักรู้ถึงบริบทต่างๆ ที่เป็นจิตวิญญาณของย่าน อารีย์คงเติบโตได้แบบน่ารัก เป็นมิตร และให้แรงบันดาลใจแก่คนกรุงเทพฯ อีกนานเท่านาน

อย่าลืมมีจิตใจเอื้อเฟื้ออารีต่อย่านที่ไปและอาศัยอยู่นะทุกคน

สนามเป้า swap & go มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.