‘ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ 2.0’ กับเพื่อนใหม่ในอารีย์-ประดิพัทธ์ - Urban Creature

นัดเพื่อนเก่ากินข้าวว่ายากแล้ว นัดไปเดินสำรวจเมืองด้วยกันคงเป็นเรื่องยากกว่า งั้นจะง่ายกว่าไหม ถ้าเราลองไปเดินดูเมืองกับเพื่อนใหม่ที่ไม่เคยพบหน้าค่าตามาก่อน

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสเข้าร่วม ‘ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ 2.0’ ที่มีคอนเซปต์เก๋ไก๋ด้วยการพาไปพบเจอเพื่อนใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนแต่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน

กิจกรรมนี้เกิดจากการจับมือกันระหว่าง ‘ไอแอลไอยู’ และ ‘Bangkok Design Week 2024’ ที่เพิ่งจบไป เกิดเป็นทริปในรูปแบบ ‘Self-guided Tour Manual’ หรือการเดินเที่ยวเองตามคู่มือโดยไม่มีไกด์นำทัวร์ เพื่อเป็นการเชิญชวนผู้คนที่ชอบท่องเที่ยวให้ลองซอกแซกเข้าซอยนู้น โผล่ซอยนี้ได้อย่างอิสระ ไปพร้อมๆ กับเพื่อนร่วมทางแปลกหน้า รวมถึงสัมผัสประวัติศาสตร์ย่านในมุมที่ไม่เคยรู้มาก่อน

หลังจากได้รับผลตอบรับที่ดีในปีที่ผ่านมา ทำให้ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ จากเดิมที่มีเพียงการสุ่มสถานที่เท่านั้น กลับมาอีกครั้งในเวอร์ชัน 2.0 โดยเพิ่ม 4 เส้นทางตัวแทนเรื่องราวในย่าน ไม่ว่าจะเป็น Nameless Street Food เส้นทางนักกิน, Back to the 90s เส้นทางบันเทิง, Caffeine Calling เส้นทางกาแฟ และ History Nerds เส้นทางประวัติศาสตร์

ในครั้งนี้เราและเพื่อนใหม่ถูกสุ่มให้เจาะเวลาเดินทางย้อนไปในเส้นทาง History Nerds เพื่อตามหาแฟลตทหารจีไอที่ยังไม่ถูกทุบ, บ้านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์, หมู่บ้านจัดสรรในฝันของจอมพล ป. และอื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าอยากรู้ว่าประวัติศาสตร์ในเส้นทาง History Nerds จะเนิร์ดได้แค่ไหน ตามเราและเพื่อนใหม่ไปสำรวจพร้อมๆ กันในบทความนี้เลย

รวมกลุ่มกับคนแปลกหน้า

ย่ำเที่ยงของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมอลิซาเบธ

สถานที่ที่ผู้คนแปลกหน้าต่างเพศต่างวัยได้มารวมตัวกันในห้องอาหารของโรงแรม ก่อนเจ้าหน้าที่จะสุ่มพาเราไปรวมกลุ่มกับเพื่อนใหม่ ที่เมื่อจบทริปอาจกลายเป็นเพื่อนสนิทกันในอนาคต

สุ่มสี่สุ่มให้

สัญญาณการเริ่มทริปมาจากการแนะนำตัวของเพื่อนใหม่แต่ละคนที่ถูกสุ่มมาให้อยู่ด้วยกัน โดยกลุ่มของเราประกอบด้วยพี่ผู้ช่วยนักวิจัย น้องนักศึกษาจาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ พี่สาวชาวลาว และเรา รวมเป็น 4 คน

ในการเดินทางครั้งนี้ ทางทัวร์ให้คนภายในกลุ่มคัดเลือกหัวหน้ากลุ่มกันเอง ซึ่งทุกคนลงมติเอกฉันท์เลือกพี่ผู้ช่วยนักวิจัยที่โตที่สุดให้เป็นผู้นำในการวางแผนการเดินทางครั้งนี้

สุ่มสี่สุ่มให้

หลังจากทำความรู้จักกันได้สักพัก ก็ถึงเวลาเดินทางไปยังจุดหมายแรก นั่นคือ การเยี่ยมชมภายในโรงแรมอลิซาเบธที่เรากำลังยืนอยู่นี่เอง เพราะความจริงแล้วโรงแรมแห่งนี้เป็นโรงแรมเก่าตั้งแต่สมัยทหารจีไอ (ทหารชาวอเมริกันที่รบในสงครามเวียดนาม) ครั้งยังตั้งฐานทัพอยู่ในเมืองไทย

สุ่มสี่สุ่มให้

ภายในโรงแรมตกแต่งด้วยรูปแบบคลาสสิกที่เราเคยเห็นจากภาพยนตร์เก่า ห้องอาหารสไตล์ตะวันตกที่เดิมมีนักร้องนักดนตรีคอยสร้างความบันเทิงให้กับเหล่าทหารจีไอในสมัยนั้น และที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้คืออาหารขึ้นชื่ออย่าง ‘ราดหน้าเส้นกรอบ’ ที่ทางโรงแรมภูมิใจนำเสนอเสิร์ฟให้กับแขกที่มาเยี่ยมเยือน

ออกเดินทางสู่ซากเสรีคอร์ท

หลังจากเดินชมโรงแรมและกินอาหารมื้อแรกของวันจนอิ่มท้อง ก็ได้ฤกษ์เดินทางตามรอยประวัติศาสตร์กันต่อ ซึ่งแค่ข้ามถนนหน้าโรงแรมไปไม่ไกล เราก็ถึงจุดหมาย ‘ซากเสรีคอร์ท’ กันแล้ว

ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1950 ณ เสรีคอร์ท สมัยนั้นเป็นช่วงเวลาที่ ‘จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์’ มีนโยบายรับทหารอเมริกาให้มาตั้งฐานทัพในประเทศไทย สิ่งที่ตามมาคือการเกิดขึ้นของไนต์คลับ บาร์ อาบอบนวด และที่อยู่อาศัยประเภทแฟลต ซึ่ง ‘เสรีคอร์ท’ เป็นหนึ่งในนั้น

สุ่มสี่สุ่มให้
สุ่มสี่สุ่มให้

แต่ในปัจจุบันเสรีคอร์ทเหลือเพียงแค่ซากอาคารเก่า และสิ่งต่างๆ โดยรอบที่เปลี่ยนไปจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม เนื่องจากหลังสงครามเวียดนามจบลง เหล่าทหารจีไอก็เดินทางกลับประเทศของตน ทำให้หลายสถานที่ในช่วงนั้นถูกปล่อยทิ้งร้างหรือรื้อถอนไปจนหมด เกิดเป็นบรรยากาศชวนให้เรานึกถึงเมืองร้างในหนังซอมบี้ที่เต็มไปด้วยข้าวของกระจัดกระจายและซากปรักหักพัง

หลงทางไปบ้านอาจารย์ป๋วย

ยิ่งออกเดินทาง อากาศยิ่งร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่กลุ่มเราก็ยังไม่ถอย มุ่งหน้าสู่จุดหมายต่อไปยังซอยอารีย์ 4 อันเป็นที่ตั้งของ ‘บ้านอาจารย์ป๋วย’ แม้ทั้งสองสถานที่จะดูไม่ไกลกันนัก แต่เพราะเป็นการเดินทัวร์กันเองแบบ Self-guided Tour Manual สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้พวกเราหลงทางกันจนได้

แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีโชคดีกับเขาอยู่บ้าง เพราะจากคนแปลกหน้าตอนเริ่มทริป พวกเราเริ่มสนิทกันขึ้นมาบ้างแล้ว งานนี้นักศึกษาในกลุ่มที่เรียนการท่องเที่ยวจึงของัดสกิลการดูแผนที่ออกมา โดยมีพี่หัวหน้ากลุ่มพยายามช่วยอย่างเต็มที่ ในขณะที่เรากับพี่สาวชาวลาวมีหน้าที่แค่ยิงมุกตลกใส่กัน และเดินตามทั้งคู่ไปเรื่อยๆ โดยไม่รับรู้สักนิดว่ากำลังหลงทาง

สุ่มสี่สุ่มให้

ในที่สุดเราก็มาถึงบ้านอาจารย์ป๋วยโดยสวัสดิภาพ ปัจจุบันบ้านหลังนี้ไม่มีคนอาศัยอยู่และไม่อนุญาตให้ใครเข้าไป เราจึงได้แต่ส่องผ่านช่องกำแพงไม้จนเห็นบ้านไม้เก่าหลังหนึ่งและต้นไม้สูงที่น่าจะอายุมากกว่าตัวบ้าน

สุ่มสี่สุ่มให้

บ้านไม้หลังเล็กๆ ที่เรียบง่ายหลังนี้คือสถานที่ที่ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญผู้สร้างคุณูปการด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมให้ประเทศไทย และได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่างของความซื่อตรง ใช้พักอาศัยเพื่อตกผลึกความคิดต่างๆ ทั้งในด้านสังคมและการเมือง ซึ่งในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยเสนอสร้างบ้านใหม่ให้อาจารย์ป๋วย แต่ท่านปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าบ้านที่มีอยู่นี้ก็ดีอยู่แล้ว

สองคาเฟ่คอนเซปต์สนุก ‘Beaker and Bitter’ และ ‘Yellow Lane’

หลังจากมีประสบการณ์การหลงทางมาแล้วครั้งหนึ่ง ก็ควรค่าแก่เวลาที่พวกเราต้องมาสุมหัววางแผนการเดินทางกันใหม่ ครั้งนี้เราเลยเสนอให้เรียกบริการ ‘MuvMi’ รถสามล้อโดยสารไฟฟ้าแทนการเดินเท้า เพื่อไปยังจุดหมายที่สาม ‘Beaker and Bitter’ อดีตโรงงานยาที่ปัจจุบันกลายเป็นคาเฟ่สุดคูล

สุ่มสี่สุ่มให้

แต่เดิม Beaker and Bitter คือโรงงานยานิวยอร์คเคมิเกิ้ล ผู้ผลิตวิตามินยานิวเยลและสารพัดยาแผนปัจจุบันที่ก่อตั้งในปี 2510 แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ธุรกิจผลิตยาของคนไทยถูกบริษัทต่างชาติเข้ามาแทนที่ ประกอบกับสถานที่ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ จึงทำให้การขยับขยายเป็นไปได้ยากและปิดตัวลงในที่สุด

หลังจากนั้นตัวอาคารก็ถูกเปลี่ยนเป็นคาเฟ่ Beaker and Bitter ในปี 2563 ที่หยิบเอาคอนเซปต์ห้องทดลองวิทยาศาสตร์มาใช้ ทำให้รู้สึกเหมือนเรากำลังย้อนอดีตไปอยู่ในโรงงานยาจริงๆ

สุ่มสี่สุ่มให้

ผ่านมาถึงครึ่งทาง ได้เวลาไปต่อกันที่จุดหมายถัดไป นั่นก็คือ ‘Yellow Lane’ คาเฟ่สุดชิล ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นไวต์เฮาส์ของอดีตนายกจอมพล ผิน และพลเอก ชาติชาย คู่พ่อ-ลูกตระกูล ‘ชุณหะวัณ’

สุ่มสี่สุ่มให้

บ้านราชครูหรือบ้านชุณหะวัณคือสถานที่ที่ใช้ในการประชุมเจรจา บ่มเพาะในเรื่องการเมืองสำหรับกลุ่มการเมืองสาย ‘ชุณหะวัณ’ ที่เคยมีอิทธิพลมากที่สุดในเมืองไทย เช่นเดียวกับนักการเมืองที่อาศัยร่มไม้นี้เติบโต โดยเฉพาะในยุคพลเอก ชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรี 

ในปัจจุบันบ้านชุณหะวัณได้แบ่งพื้นที่ให้ผู้เช่าหลายราย ทั้งโบสถ์ Gospel City, คลินิกความงาม Belle Tokyo, คาเฟ่ 34Eight และร้านกาแฟ Yellow Lane แห่งนี้นี่เอง

สุ่มสี่สุ่มให้

ก่อนจะเดินทางถึง Yellow Lane ภาพคาเฟ่ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นอดีตไวต์เฮาส์ในหัวของเรามองว่า น่าจะเป็นคาเฟ่ที่อยู่ในบ้านเก่าๆ สไตล์วินเทจ แต่ภาพที่เห็นกลับผิดจากที่คาดไว้มาก เพราะปัจจุบันคาเฟ่แห่งนี้เป็นบ้านทรงเก่าตกแต่งแบบสมัยใหม่ที่เสิร์ฟอาหารสไตล์ฟิวชัน ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่สีเขียวให้ความร่มรื่น มาพร้อมบรรยากาศสบายๆ และความสนุกสนานจากเสียงเพลงที่มีดีเจคอยเปิด

สุ่มสี่สุ่มให้

ส่องหมู่บ้านในฝันของจอมพล ป.

บ่ายคล้อย ณ หมู่บ้านพิบูลวัฒนา

ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงจุดสุดท้ายกับ ‘หมู่บ้านพิบูลวัฒนา’ หมู่บ้านจัดสรรในฝันของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ปัจจุบันแม้ถูกรื้อถอนและสร้างอาคารใหม่เกือบทั้งหมด แต่ยังมีบางส่วนที่คงหลงเหลือเค้าเดิมอยู่ เช่น บางหลังในซอยพิบูลวัฒนา 1 และวงเวียนเสาธงชาติกลางหมู่บ้านที่มีจารึกชื่อจอมพล ป. เอาไว้

สุ่มสี่สุ่มให้

หมู่บ้านพิบูลวัฒนา คือหมู่บ้านจัดสรรแห่งที่สองของประเทศไทย เปิดตัวครั้งแรกในปี 2499 โดยภายในมีการจัดสรรที่ดินเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมในสัดส่วนที่เกือบจะเท่ากัน โดยทั้งหมดมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณวงเวียนเสาธง ในสมัยนั้นลูกบ้านทุกคนจะต้องรวมตัวกันที่นี่เพื่อเคารพธงชาติในทุกเช้า

ความพิเศษของโครงการนี้ในอดีตคือ ผู้ซื้อจะได้ครอบครองที่ดินพร้อมกับบ้านไม้สองชั้นที่มีรั้วรอบขอบชิดเพื่อความเป็นส่วนตัว และแน่นอนว่าผู้ที่มาซื้อบ้านในโครงการส่วนใหญ่ก็คือบรรดาข้าราชการที่ทำงานอยู่ในกระทรวงต่างๆ ในพื้นที่ราชการของย่านอารีย์นั่นเอง

สุ่มสี่สุ่มให้

ปัจจุบันบ้านหลายหลังถูกรีโนเวตและปรับปรุงให้ออกมาในรูปแบบที่ทันสมัย ทำให้จากหมู่บ้านจัดสรรในฝันของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลายเป็นศูนย์รวมร้านอาหารรสเด็ดในย่านอารีย์ที่สายกินห้ามพลาด และเป็นหมุดหมายสุดท้ายของเราในวันนี้

แม้จะจบไปแล้วกับการเดินทางในทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ 2.0 แต่ทั้งหมดที่เราเล่ามาเป็นเพียงแค่หนึ่งเส้นทางเท่านั้น ยังมีอีกสามเส้นทางที่รอให้ทุกคนไปสำรวจกัน

นอกจากจะได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ พร้อมกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในย่าน ที่ทำให้ความรู้สึกในการเดินย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ของเราเปลี่ยนไป อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่สร้างความทรงจำดีๆ ให้การเดินทริปครั้งนี้คือ การได้ร่วมเดินทางไปกับเพื่อนใหม่แปลกหน้า และค่อยๆ เรียนรู้นิสัยใจคอของแต่ละคนไปในระหว่างการเดินทาง ถือเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่เราหาได้ไม่บ่อยนักในเมืองที่ต่างคนต่างต้องใช้ชีวิต

ใครอยากไปทริปที่น่าสนใจแบบนี้อีก ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง ili.Universe

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.