เมื่อลองพิมพ์คำค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่า ‘ย่านอารีย์’ ผลลัพธ์บนหน้าจอย่อมปรากฏรีวิวคาเฟ่และร้านอาหารขึ้นเต็มไปหมด จึงไม่น่าแปลกใจที่ย่านนี้จะเป็นจุดหมายเบอร์หนึ่งของเหล่าคนชิกๆ แต่นอกจากจะเป็นย่านคนเก๋แล้ว อารีย์ยังมีความน่าสนใจอีกหลายประการที่คนในย่านเองยังไม่รู้ด้วยเช่นกัน
‘อรุ-อรุณี อธิภาพงศ์’ คือชาวอารีย์ที่อยากให้ความน่าสนใจเหล่านั้นในย่านได้รับการค้นพบ และให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง ทั้งผู้อยู่อาศัย มาทำงาน หรือมาท่องเที่ยว ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาย่าน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้คนได้เชื่อมโยงกัน โดยเธอได้ร่วมมือกับเพื่อนๆ สร้าง ‘AriAround’ แพลตฟอร์มสื่อกลางสำหรับเชื่อมคนย่านอารีย์ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงคนกับชุมชน เป็นสื่อในการให้ข้อมูลของย่านในเชิงลึก ทั้งมิติประวัติศาสตร์ หรือกิจกรรมที่ทำให้คนได้มีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงกับย่านอย่างลึกซึ้ง รวมไปถึงมิติสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่คนในย่านอยากเห็น
เพราะคนในย่านมีความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ และคนนอกย่านก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ย่านได้เติบโต คอลัมน์คนขับเคลื่อนเมืองจึงอยากชวนทุกคนจับรถไฟฟ้าลงสถานีอารีย์ ตามไปพูดคุยกับ AriAround ถึงการทำงานของแพลตฟอร์มที่ยกให้คนเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาและสร้างย่านให้น่าอยู่ โดยมี AriAround เป็นตัวกลางในการเชื่อมคนในชุมชนให้เข้าถึงกันและกันได้ง่ายขึ้น
เพราะชื่นชอบจึงอยากทำให้ย่านอารีย์ดีกว่าเดิม
ปกติแล้วหากจะมีการพัฒนาพื้นที่ใดสักพื้นที่หนึ่ง เรามักคิดว่าคนที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงคงต้องเป็นคนที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่เกิด แต่กับ ‘AriAround’ ไม่ใช่แบบนั้น เพราะความจริงแล้วอรุณีเองไม่ใช่คนในพื้นที่แต่ดั้งเดิม เพียงแต่เธอมีความสนใจในย่านอารีย์ และเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่น่าจะลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้
“AriAround มีความเป็นมาจากการที่เราชอบย่านนี้ และเราก็อยากทำอะไรบางอย่างกับย่านนี้” อรุณีบอกกับเรา
ส่วนความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงย่านของเธอนั้นเกิดจากการที่ได้เดินทางไปใช้ชีวิตต่างประเทศในระยะหนึ่ง ทำให้ได้เห็นการทำงานร่วมกันของชุมชน และการลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติ จนเธอรู้สึกว่าอยากจะเห็นมูฟเมนต์เหล่านั้นเกิดขึ้นที่ประเทศไทยบ้าง
ประกอบกับงาน Bangkok Design Week ปีแรกที่จัดขึ้นในย่านอารีย์ ทำให้อรุณีเห็นว่ามีหลายธุรกิจที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เพียงแต่สิ่งที่นำมาแสดงในงานนั้นยังเป็นเพียงคอนเซปต์ไอเดียที่ไม่ได้ทำขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เธอจึงชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมกันเปลี่ยนไอเดียที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายให้เป็นรูปเป็นร่าง ผ่านการติดต่อและชักชวนคนที่สนใจเรื่องเมืองมาพูดคุยเสนอไอเดียในการทำงานกัน จนเกิดเป็น ‘AriAround’ แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมผู้คนกับพื้นที่ในย่านอารีย์เข้าด้วยกัน
แพลตฟอร์มที่มาเพิ่มความแข็งแรงให้กับคอมมูนิตี้ที่มีดีอยู่แล้ว
ถึงอย่างนั้นการพัฒนาย่านนี้ ทีม AriAround บอกกับเราว่าไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะอารีย์มีความเป็นคอมมูนิตี้อยู่แล้วตั้งแต่สมัยก่อน เพียงแต่ว่าผู้อยู่อาศัยบางคนในปัจจุบันอาจเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยได้ออกมาพบปะกับคนอื่นๆ ในชุมชนเท่าไร การสร้างพื้นที่ส่วนกลางที่เชิญชวนให้ผู้คนได้ออกจากบ้านมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันเลยกลายเป็นภารกิจหนึ่งของ AriAround ด้วย
ด้วยเหตุนี้ AriAround จึงเป็นการรวมกลุ่มของคนที่มีความสนใจในหลายๆ ด้านเข้ามาทำให้คอมมูนิตี้ที่มีอยู่แล้วแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม “มีคนที่เป็นนักเขียนที่ครอบครัวอยู่ในย่านนี้มาสามรุ่นแล้ว เขามีความฝันอยากเขียนประวัติศาสตร์ย่าน แต่ไม่อยากทำเพจทำอะไรเองคนเดียว เราก็ชวนเขามาร่วมทำงานกับเราด้วย ส่วนเราอินเรื่องขยะ การรีไซเคิล และสิ่งแวดล้อม ก็เลยมองหาทางในการดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้โดยใช้กลไกอะไรบางอย่าง เรามองว่าทุกคนทุกบ้านต้องมีขยะ เพราะฉะนั้นมันน่าจะเริ่มต้นด้วยวิธีนี้ได้ นั่นคือ ให้นำขยะมาแลกกับคนในย่าน” อรุณีแจกแจงให้เราฟัง
เพราะจุดเด่นของย่านนี้สำหรับเธอคือ ‘ผู้คน’ ที่มีความน่าสนใจหลากหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของไลฟ์สไตล์ ความสนใจในประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม ความสนิทชิดเชื้อของเพื่อนบ้าน และ Ari นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ย่านอารีย์เท่านั้น แต่ยังหมายถึง ‘ความอารี’ ที่นอกจากจะอยากให้ย่านนี้มีความเชื่อมโยงระหว่างกันแล้ว ก็ยังอยากให้มีความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อ และแบ่งปันกัน เธอจึงเลือกใช้ ‘ขยะ’ ที่ทุกบ้านมีเป็นกลไกในการดึงคนเข้ามาร่วมสร้างคอมมูนิตี้นี้ ผ่านการแลกขยะกับเหรียญเงิน AriCoin เพื่อนำไปแลกสิ่งของจากร้านต่างๆ ภายในย่านที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับ AriAround ซึ่งก็เป็นกิจกรรมที่ทำให้คนจดจำภาพของอารีย์ในฐานะย่านที่มีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนอย่างเหนียวแน่น
“ย่านนี้มีอะไรลับๆ เยอะมาก แล้วก็มีอะไรอีกหลายอย่างที่เราอยากสนับสนุน บางคนย้ายมาอยู่ที่นี่หลายปีแล้วแต่ไม่รู้ว่ามีร้านเก่าแก่บางร้านซ่อนอยู่ ซึ่งร้านเหล่านี้เขาไม่เก่งเรื่องการโปรโมต ถ้าไม่ช่วยเหลือกัน ร้านเหล่านี้จะหายไป” อรุณีเล่า
AriAround ทำงานทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อประโยชน์ของคนในพื้นที่ อย่างการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์หรือทำการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้คนได้รู้จักร้านรวงบางร้านที่ไม่เคยรู้ว่ามีมาก่อน ได้รู้เรื่องราวของพื้นที่ผ่านการเล่าประวัติศาสตร์ย่าน เป็นช่องทางการเล่าเรื่องธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคอมมูนิตี้ คนในชุมชนจะได้รู้สึกคอนเนกต์กับพื้นที่มากขึ้น ส่วนของออฟไลน์ก็เป็นการจัดอีเวนต์ที่ทีมเป็นตัวกลางช่วยติดต่อคนในย่านให้ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่
อยากให้เกิดการพัฒนาในทางที่ดี ต้องมีตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างกัน
ไม่ใช่แค่ผู้คนในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ AriAround ยังทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างชุมชน องค์กร สถาบัน และธุรกิจด้วย เพราะมีหลายคนในย่านที่อยากลงมือพัฒนาพื้นที่ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ติดต่อใคร หรือทำได้ที่ไหนบ้าง ดังนั้นการมีอยู่ของ AriAround จึงเป็นเหมือนตัวกลางที่เชื่อมต่อให้ความคิดดีๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริง
อรุณียกตัวอย่างงานลอยกระทงของกรมประชาสัมพันธ์ ที่เคยมีแต่ร้านนอกพื้นที่เข้ามาเปิด เพราะคนในพื้นที่ไม่รู้ข่าวสารของงานเลย แต่หลังจากที่ทางกรมฯ ได้ร่วมมือกับ AriAround แล้ว ทีมก็ได้ติดต่อเสาะหาร้านค้าในย่านที่เหมาะสมกับกิจกรรมนั้นๆ มาเข้าร่วม ผ่านกรุ๊ป ‘อารีย์ Community’ ทำให้ร้านรวงต่างๆ ของย่านได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอีเวนต์ที่เกิดขึ้นในย่านในฐานะของคนในพื้นที่เอง
การได้ทำงานในฐานะ AriAround ทำให้เธอเห็นความเป็น Active Citizen ของชาวอารีย์มากขึ้น หลังจากที่ได้ร่วมมือทำโปรเจกต์ต่างๆ และโปรโมตออกมาในเชิงสื่อที่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการกระตุ้นให้อีกหลายๆ คนที่มีความคิดอยากริเริ่มทำอะไรบางอย่างให้กับย่านได้ลุกขึ้นมาลงมือทำด้วย โดยมี AriAround ช่วยทำหน้าที่เชื่อมโยงคนในชุมชน ผลักดันให้ไอเดียเหล่านั้นออกมาเป็นโปรเจกต์ดีๆ หรือแม้แต่การทำกระบวนการเปิดรับความคิดเห็น เพื่อเป็นตัวแทนภาคประชาชนในการส่งเสียงไปยังภาครัฐ
“เราทำให้คนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ อย่างโปรเจกต์ที่บึงหน้ากองประชาสัมพันธ์ เราได้ทำกระบวนการฟังความคิดเห็น เพื่อเปลี่ยนจากแผนทำลู่วิ่งให้เป็นพื้นที่ที่คนได้คอนเนกต์กับธรรมชาติกลางเมือง เราก็รู้สึกว่าสิ่งนี้มันเปลี่ยนได้จากการทำงานของพวกเรา
“หรือการเดินสำรวจธรรมชาติในเมือง ที่ก่อนหน้านี้มีคนในย่านเพียงคนเดียวที่พาเดิน แต่พอมี AriAround เข้ามาร่วมด้วยก็ทำให้เขาได้คอนเนกต์กับคนในย่านมากขึ้น มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาร่วมกิจกรรมเดินด้วยกัน แล้วก็เปิดมุมมองใหม่ๆ ในเรื่องของธรรมชาติในเมือง
“หรือบางคนสะสมขยะมาแลกเหรียญเยอะๆ ก็ตกใจว่าตัวเองสร้างขยะเยอะขนาดนี้เลยเหรอ จนเขาเปลี่ยนมาติดเครื่องกรองน้ำใช้แทน ทำให้ไม่มีขวดที่เป็นขยะอีก เราเลยดีใจที่ได้เปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่างในย่านนี้ไปด้วย”
ย่านที่ดีคือย่านที่อยากให้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน
เป้าหมายหลักๆ ของการพัฒนาพื้นที่ส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นความคาดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงย่านนั้นๆ ให้กลายเป็นย่านที่ดี ซึ่งสำหรับอรุณีแล้ว ย่านที่ดี นอกจากจะทำให้คนมีความสุข สุขภาพดี มีวิถีชีวิตที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวก ยังต้องรวมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศที่ช่วยดูแลสุขภาพกายและจิตใจ ทำให้เราอยากใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งการใช้ชีวิตที่ว่านี้ก็ไม่ใช่แค่การอยู่แต่ในบ้าน แต่ย่านที่ดีต้องทำให้คนอยากออกมาข้างนอกด้วย
“ย่านต้องมีพื้นที่ให้คนได้คอนเนกต์ระหว่างกัน และต้องรู้ว่าอะไรคือส่วนที่ทำออกมาแล้วทุกคนแฮปปี้ เพราะหากนอกบ้านดีแล้ว ย่อมทำให้คนอยากออกมาพบปะ พูดคุยกัน และใช้ชีวิตแบบแจ่มใสร่วมกับคนอื่นๆ ในย่าน”
หลังจากผ่านการทำงานในฐานะของ AriAround มาประมาณสามปี อรุณีบอกกับเราว่า ในตอนนี้สำหรับเธอแล้ว อารีย์ถือได้ว่าเป็นย่านที่ดีแห่งหนึ่ง เพราะสามารถเดินถึงกันได้หลายๆ สถานที่ มีสีเขียวสบายตาให้เห็นอยู่ตามทาง รวมถึงอาหารการกินก็มีให้เลือกทานอย่างไม่ขาดสาย ตอบโจทย์ทั้งผู้อยู่อาศัยและผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่ในการทำงานเป็นหลัก
“แค่สร้างพื้นที่ให้คนได้แลกเปลี่ยนกัน สภาพจิตใจเขาก็ดีขึ้นแล้ว เพราะถ้าต่างคนต่างอยู่ เอาแต่ทำงานทุกวัน ไม่มีส่วนไหนในย่านที่ตัวเองชอบ ไม่ได้ออกไปคอนเนกต์กับใคร ก็จะทำให้เกิดประเด็นคนเหงาเมืองได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการมีชีวิตที่ดีของคนในย่านด้วย” อรุณีอธิบาย
เมื่อเราถามถึงเป้าหมายต่อไปในการทำงานเพื่อพัฒนาย่าน อรุณีก็ตอบกลับมาด้วยประโยคสั้นๆ พร้อมรอยยิ้ม
“อยากให้พวกเรามีความสุข แค่นั้นเลย”
Hidden Gems : เรียนรู้ประวัติศาสตร์สื่อไทยและฟังแผ่นเสียงหายากกันได้ที่อารีย์
แม้ว่าอารีย์จะกลายเป็นย่านคนชิกที่เต็มไปด้วยคาเฟ่และร้านอาหารมากมาย แต่มีหนึ่งสถานที่ที่อรุณีอยากเชิญชวนทั้งคนนอกย่านและคนในย่านที่อาจไม่รู้ว่าเราสามารถเข้าไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์กันได้ฟรีๆ ที่ ‘พิพิธภัณฑ์การกระจายเสียงและหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์’
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดีในเรื่องสื่อสารมวลชน เพราะกรมประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งผลิตสื่อที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ดังนั้นถ้าอยากค้นคว้าประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของสื่อไทย ที่นี่มีข้อมูลให้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทางวิทยุหรือโทรทัศน์ก็มีให้ได้ศึกษาเหมือนกัน
ภายในแบ่งออกเป็นหลายโซน แต่โซนที่ไม่ควรพลาดไปเลยคือ ‘ห้องสมุดแผ่นเสียง’ ที่เต็มไปด้วยแผ่นเสียงจากศิลปินชื่อดังมากมายทั้งไทยและต่างประเทศหลากหลายยุคกว่าแสนแผ่น ซึ่งบางแผ่นก็มีอยู่แค่ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น และแน่นอนว่าต้องมีบริการเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่รอให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้เลือกสรรแผ่นเสียงที่ชอบมาเรียนรู้การฟังเพลงแบบสมัยก่อน ผ่านเทคนิคการเล่นแผ่นเสียงให้ถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการจับแผ่นหรือแม้แต่การวางเข็ม ที่หากไม่ชำนาญก็อาจทำให้เราพลาดบางท่อนของเพลงไปได้
หากใครที่แวะเวียนไปย่านอารีย์และมองหาสถานที่ใหม่ๆ ก็ลองเข้าไปที่กรมประชาสัมพันธ์เพื่อค้นหาความน่าสนใจของวิวัฒนาการสื่อสารมวลชนไทย และไปเปิดแผ่นเสียงฟังกันได้
ที่นี่เปิดทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.00 น. ติดต่อจองคิวเข้าชมหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเพจ พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์
แผนที่ : maps.app.goo.gl/gP9wkkL63WUED74r8