PARK :D แพลตฟอร์มจัดการที่จอดรถในอารีย์ - Urban Creature

ใครที่เคยไปเดินเล่นหรือทำธุระในย่านอารีย์ก็คงทราบกันดีว่า ปัญหา ‘ที่จอดรถไม่เพียงพอ’ นั้นสร้างความลำบากให้ผู้ใช้งานในพื้นที่มาอย่างยาวนานและสม่ำเสมอ

จนหลายครั้งผู้ขับขี่ที่จำเป็นต้องเข้าใช้งานในพื้นที่ต้องยอมจ่ายค่าจอดรถที่มีราคาสูงถึง 50 – 100 บาทต่อชั่วโมง หรือหากเป็นพนักงานออฟฟิศจะมีรายจ่ายค่าที่จอดรถราว 4,500 บาทต่อเดือนอย่างไม่สามารถเลี่ยงได้

PARK :D

ด้วยเหตุนี้ ‘จ๋า-ชัญญา เตชวิริยะ’ และ ‘เต้-กันต์กวี บุญเพ็ง’ ที่ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสพบกันในบริษัทแห่งหนึ่งหลังจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรม จึงปิ๊งไอเดียสร้างแพลตฟอร์มช่วยบริหารจัดการที่จอดรถในย่านอารีย์ขึ้นมาชื่อ ‘PARK :D’

แพลตฟอร์มนี้เป็นไอเดียสำหรับเข้าร่วมกิจกรรมประกวดออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาย่านอารีย์ให้น่าอยู่ (ARID Hackathon 2023 : Innovation for Well-being) จนได้รับรางวัลชนะเลิศและเงินรางวัลเพื่อนำไอเดียจากการประกวดไปพัฒนาต่อ

PARK :D

“ปัจจุบันอารีย์มีปัญหาเรื่องที่จอดรถจริงๆ เราเลยมองหาว่ามีวิธีอะไรบ้างที่จะมาแก้ปัญหานี้ ทำให้รถที่เข้ามาในย่านอารีย์มีปริมาณที่จอดเพียงพอโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มที่จอดรถ แต่เป็นการเพิ่ม Capacity ของที่จอดรถที่มีอยู่เดิม” เต้เล่าถึงโจทย์แรกที่เขาและจ๋าต้องการแก้ไขในเบื้องต้น

โดยการทำงานแพลตฟอร์ม PARK 😀 คือ การเป็นตัวกลางให้ผู้ที่มีที่จอดรถเป็นของตัวเองจับกับผู้ต้องการที่จอดรถในราคาถูกได้มากขึ้นผ่านรูปแบบ ‘Parking Lot-Sharing’ เพราะที่จอดรถ 1 ที่ มีเวลาการใช้ที่ต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่น ที่จอดรถของสำนักงานที่มักว่างในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ ที่จอดรถของคอนโดฯ ที่มักว่างช่วงเวลากลางวัน หรือบ้านบางหลังที่มีที่จอดรถเหลือ การปล่อยเช่าที่จอดรถเหล่านี้จะช่วยเพิ่มปริมาณที่จอดรถในย่านอารีย์ได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องสร้างที่จอดรถขึ้นใหม่

และจากการทำแบบสอบถามไปก่อนหน้านี้ จ๋าและเต้บอกกับเราว่า ผู้คนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์สนใจใช้งานแพลตฟอร์มนี้ในอนาคต และยังแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาต่อด้วย

“เราลองเอาโมเดลนี้ไปคุยกับหลายๆ คน แล้วก็ได้ฟีดแบ็กมาหลายอย่าง รวมไปถึงข้อกังวลบางอย่างซึ่งเราพยายามปรับกันอยู่” เต้กล่าว

จ๋ายังเล่าว่า จากการทำแบบสอบถาม ความกังวลของผู้ให้บริการที่จอดรถได้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้านคนที่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัย กลุ่มคอนโดฯ ที่กังวลเรื่องสิทธิที่จอดรถที่อาจทำให้ที่จอดรถไม่เพียงพอ และกลุ่มออฟฟิศที่กลัวจะมีปัญหาเรื่องระบบแตกต่างกันออกไปในแต่ละบริษัท

“บวกกับตอนแรกที่เราเสนอไปเป็นแอปพลิเคชัน บางคนก็มีความกังวลว่าแอปฯ จะไม่เสถียร หรือบางคนก็ขี้เกียจโหลดแอปฯ เลยเสนอมาว่าถ้าเป็นทางไลน์จะสะดวกกว่าไหม เพราะจะง่ายกับเขามากกว่า” เต้กล่าวเสริม

PARK :D

ปัจจุบัน PARK 😀 อยู่ระหว่างขั้นตอนนำไอเดียเข้าสู่แพลตฟอร์มเปิด เพื่อให้คนที่มีพื้นที่จอดรถและคนที่ต้องการเช่าที่จอดรถมาร่วมลงชื่อ โดย PARK 😀 จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางตรวจสอบระบบความปลอดภัยและทดลองใช้งานก่อนจะนำไปพัฒนาต่อในอนาคต

“เบื้องต้นอาจยังไม่ใช่การเปิดให้ทดลองใช้ในวงกว้าง เพราะเราอยากทดลองไปทีละขั้นตอนก่อน ตอนนี้เลยพยายามหาแพลตฟอร์มที่เข้าถึงได้ง่าย ทดลองได้ไว และใช้ทุนน้อย ถ้าคิดไวๆ อาจเป็นการเอา Google Sheets ไปโพสต์ลงในกลุ่มคอมมูนิตี้ที่อารีย์เพื่อเป็นตัวกลางง่ายๆ ก่อน แล้วเราจะได้ฟีดแบ็กได้ไวเพื่อนำมาปรับปรุงต่อในอนาคต” เต้เล่าถึงกระบวนการให้เราฟัง

PARK :D

นอกจากนั้น จ๋ายังบอกกับเราอีกว่า ถ้า PARK 😀 ในย่านอารีย์ประสบความสำเร็จ ก็อยากจะขยายแพลตฟอร์มนี้ออกไปในย่านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

“เรามองว่าโมเดลนี้เป็นโมเดลทั่วไป และปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ ดังนั้น PARK 😀 จึงเป็นไอเดียง่ายๆ ที่หากนำไปปลั๊กอินได้ในหลายๆ ชุมชนทั่วกรุงเทพฯ ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอได้มากขึ้น” จ๋ากล่าว

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของ PARK 😀 และไอเดียการเปลี่ยนอารีย์ให้เป็นย่านนวัตกรรมอื่นๆ ได้ที่ ARI.Innovation.District

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.