ในหนังสือ ‘The Radicality of Love’ สเรซโก ฮอร์วัต (Srećko Horvat) นักปรัชญาและนักเคลื่อนไหวชาวโครเอเชียวิเคราะห์ความหมายของการรักใครสักคนว่าเป็น ‘การยอมรับความเสี่ยง’ ความเสี่ยงที่ชีวิตของฉันและเธอต่อจากนี้จะไม่เหมือนเดิม ความเสี่ยงที่จะผ่านการทะเลาะ หรืออาจจะจบที่การเลิกรา
แต่ถ้าชีวิตเจอกับปัญหาสาหัสมามากพอแล้วในแต่ละวัน สังคมทุนนิยมก็นำเสนอ ‘ความรักแบบไร้ความเสี่ยง’ มาให้ ทั้งในรูปแอปพลิเคชันหาคู่ การเดตในเวลาจำกัดหรือแม้แต่ออกเดตคนเดียว หรือตัวละครเสมือนที่ทดแทนคู่รักในโลกจริง (แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่เจอรักแท้เสียทีเดียวนะ)
กลับมาดูบริบทสังคมรอบตัวเรา ตั้งแต่ออกไปหน้าบ้าน แค่เดินทางเท้าก็เสี่ยงจะตกท่อระบายน้ำ จนชุ่มฉ่ำหรือขาเคล็ดได้เพราะบล็อกทางเดินที่ไม่เรียบ จนถึงปัญหาใหญ่อย่าง ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพราะไม่รู้ว่าวันต่อมาจะมีกินหรือไม่
เหล่านี้อาจจะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้คนไม่กล้ามี ‘ความรัก’ หรือ มี ‘ความรักแบบปลอดภัยไว้ก่อน’ เพราะไม่รู้จะซ้ำเติมความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของชีวิตด้วยความเสี่ยงอีกทบหนึ่งไปทำไม
แล้วสังคมแบบไหนที่พอจะช่วยให้ความรักเราเบ่งบานได้บ้างล่ะ ถ้าเรามีความมั่นคงในชีวิตจากสวัสดิการพื้นฐาน เราจะมีความรักที่ดีได้ไหม
เรานำคำถามนี้มาคุยกับ ‘ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี’ อาจารย์จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้พยายามผลักดันให้ประเทศไทยเกิด ‘รัฐสวัสดิการ’ ผ่านทั้งบทบาทนักวิชาการ และผู้สอนหนังสือ เคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ในช่วงต้น จนถึงเคยขึ้นปราศรัยผลักดันประเด็นนี้บนเวทีของกลุ่ม ‘ราษฎร’ ที่หน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์เมื่อปีก่อน
ษัษฐรัมย์เคยใช้ชีวิตและทำงานในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดูแลผู้คนตั้งแต่เกิดจนตายในแถบสแกนดิเนเวีย ล่าสุด เขาตัดสินใจทิ้งโอกาสในหน้าที่การงานในฟินแลนด์มาสอนหนังสือต่อที่ไทย มุมมองต่อความรักของเขาเป็นอย่างไร เชื่อมโยงอย่างไรกับการมีรัฐสวัสดิการ และความรักของเราจะหน้าตาเป็นแบบไหนในรัฐสวัสดิการ
ชวนทุกคนหาคำตอบจากบทสนทนาหลังจากนี้
‘ความรัก’ ในมุมมองของอาจารย์เป็นอย่างไร
ความรักคือความสัมพันธ์ เป็นสภาวะที่ตัวตนของเราไปอยู่ในตัวตนของอีกคนหนึ่ง แน่นอนที่สุดมีความเป็นส่วนตัว แต่ตัวตนของเราไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ๆ จะเกิดขึ้นมา แต่สร้างขึ้นจากสังคมแวดล้อม และความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนก็ไม่ได้ตัดขาดจากสังคม ความรักจึงเป็นทั้งเรื่องส่วนตัว ส่วนรวม และเป็นเรื่องของสังคมไปในเวลาเดียวกัน ไม่ได้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ
แล้วสังคมเราเป็นแบบไหน
ทุกที่ในโลกตอนนี้เป็นทุนนิยมหมด พอพูดเรื่องทุนนิยมก็เป็นเรื่องใหญ่ จริงๆ แล้วระบบทุนนิยมมีข้อดีสำคัญคือเป็นวิถีการผลิตแบบหนึ่งที่ทำลายวิถีการผลิตแบบเก่า นั่นคือระบบศักดินา ทำให้คนสะสมทุนขึ้นมาได้และกระจายออกโดยไม่ผูกติดอยู่กับกลุ่มอำนาจรัฐ แต่ช่วงแรกตัวทุนนิยมก็มากับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แทบจะเป็นเนื้อเดียวกันเลยระหว่างกษัตริย์กับนายทุน จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เปลี่ยนรูปแบบการผลิตของทุนนิยม
ตัวทุนนิยมไม่ได้เป็นภาพนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ปัญหาใหญ่ของระบบทุนนิยมที่ยังคงอยู่ตลอดมา คือ หนึ่ง ระบบทุนนิยมมากับการผูกขาด ที่สร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาล มีคนหยิบมือหนึ่งที่ประสบความสำเร็จและเอนจอยในระบบนี้ สอง ในระบบทุนนิยมการผลิตสินค้าเป็นเรื่องย่อย หัวใจที่สำคัญที่สุดคือการแปลกแยก ทำให้คนส่วนมากในสังคมไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง และทำให้มนุษย์และความสัมพันธ์ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า
แล้วทุนนิยมเกี่ยวข้องกับเรื่องความรัก-ความสัมพันธ์อย่างไร
เราจะเห็นเอ็มวีเพลงลูกทุ่งหรือเพลงป็อปที่มีเนื้อหาประมาณว่า ‘ฉันขออุทิศชีวิตทำงานหนักเพื่อความรัก เพื่อเธอ เพื่อเขา เราจะได้มีชีวิตที่ดีร่วมกัน’ ฟังแล้วมันก็ดูน่าเศร้านะ เพราะกลายเป็นว่าเราต้องไปรับใช้อะไรบางอย่างเพื่อมีความรักที่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นความรักที่ผ่านการกำหนดโดยเงื่อนไขบางอย่าง
ถามว่าความรักที่ดีควรจะเป็นแบบไหน ไม่มีคำตอบตายตัว แต่ที่บอกได้คือทุนนิยมทำให้ความรักกลายเป็นสินค้า มีลำดับชั้นทางสังคม และมนุษย์ไม่สามารถเลือกได้เอง นี่ไม่ใช่ความรักแน่ เพราะทำลายแก่นที่สำคัญที่สุดคือตัวตนของเรา ตัวตนของอีกคนหนึ่ง และมันก็ทำลายตัวตนของคนทั้งสังคม ทุนนิยมทำให้เรารักกันไม่เป็น
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
ที่เรารักไม่เป็นคือเราไม่รู้ว่ามันคือความรักหรือความคุ้มทุน ไม่รู้ว่าเป็นความรักหรือความเหมาะสมที่สังคมกำหนด หรือเป็นความรู้สึกปลอดภัยในโลกที่ไร้ความปลอดภัย เป็นเพียงแค่การหาความอบอุ่นในโลกที่ไร้ความอบอุ่น เป็นแค่เสื้อชูชีพให้เราคว้าไว้ เสื้อหนาวไว้กันความหนาวเหน็บก็พอแล้ว แต่จริงๆ แล้วความรักน่าจะเป็นมากกว่านั้น หรือน้อยกว่านั้นก็ได้ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน
ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ที่มีความรัก ผมเชื่อว่าในใจลึกๆ ไม่มีใครอยากให้ความรักนี้สิ้นสุด แม้ความเป็นจริงแล้วจะไม่เป็นอย่างนั้น ต่อให้อยู่ด้วยกันแต่งงานไปคงมีวันที่จืดจาง แต่ระบบทุนนิยมทำให้เราเลือกสิ่งเหล่านี้ได้ยากขึ้น เช่นการมีครอบครัว ครอบครัวเป็นหน่วยการผลิตที่ช่วยผลิตซ้ำคนกลับเข้าสู่ระบบทุนนิยม ดังนั้นการหย่าร้างไม่เป็นผลดีต่อผลิตภาพของทุนนิยม และอีกด้านหนึ่งความเป็นครอบครัวเป็นการสร้างกรอบวินัย (Discipline) สำคัญในระบบทุนนิยมด้วย ทำให้คนไม่ตั้งคำถามกับสังคมโดยรวม และทำให้คนมีแนวโน้มเป็นอนุรักษนิยม ไม่แสวงหาความเปลี่ยนแปลงถ้าอยู่ในความสัมพันธ์ที่คงตัวมากขึ้น ระบบทุนนิยมต้องการให้ผู้คนมีความรักตามขนบธรรมเนียมเพื่อควบคุมชีวิตของผู้คนได้ดีมากขึ้น
และความสัมพันธ์ที่กดขี่แบบนี้ก็เกิดความพยายามท้าทาย มีคนตั้งคำถามกับทุนนิยม หรือต่อสู้ในแนวสังคมนิยม มาร์กซิสต์ ฯลฯ ที่ทำให้คนเสมอภาคมากขึ้น ผู้หญิงเสมอภาคกับผู้ชายมากขึ้น มีสวัสดิการที่ดีมากขึ้น มันก็ทำให้คนสามารถเลือกเปลี่ยนชีวิตหรือมีความรักหลายรูปแบบได้มากขึ้น เช่น ประเทศรัฐสวัสดิการอย่างเดนมาร์กก็เป็นประเทศที่ประชากรมีความสุขที่สุดในโลก ผลัดกับสวีเดน ฟินแลนด์ แต่เดนมาร์กก็มีอัตราการหย่าร้างมากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่เด็กได้รับการพัฒนาชีวิตดีอันดับต้นๆ ของโลก
แต่การหย่าร้างในประเทศที่ใช้ระบบสังคมนิยมประชาธิปไตยคือคุณไม่รู้สึกว่าเสียอะไรไป ถ้าเกิดมีความสัมพันธ์แบบเป็นพิษ (Toxic) ตั้งแต่การทำร้ายร่างกาย หรือวิถีชีวิต หน้าที่การงาน หรือเวลาไปด้วยกันไม่ได้ คุณไม่ต้องกังวลว่าถ้าหย่ากันแล้วต่อไปใครจะเป็นคนเลี้ยงลูก หรือสังคมจะมองคุณอย่างไร ฯลฯ เพราะมีสวัสดิการสังคมช่วยสนับสนุน
2 – 3 ปีมานี้มีกระแสเรียกร้องรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคม แต่ละคนอาจจะมองคำนี้ต่างกัน ในมุมของอาจารย์แล้ว ‘รัฐสวัสดิการ’ หมายถึงอะไร
ถ้าอธิบายแบบง่ายที่สุดและเป็นจุดที่ทั้งชาวบ้าน ขบวนการเคลื่อนไหว และในทางวิชาการเข้าใจร่วมกันคือการที่รัฐหรือประเทศให้ความสำคัญแก่สวัสดิการประชาชนเป็นอันดับแรก มีรัฐหลายรูปแบบ ทั้งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจของคนหนึ่งคนสำคัญที่สุด รัฐศาสนา เรื่องศีลธรรมก็สำคัญที่สุด รัฐทุนนิยม การเติบโตของกลุ่มทุนก็สำคัญที่สุด ถ้ารัฐสวัสดิการคือชีวิตและสวัสดิการของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ความเห็นแนวหนึ่งจะบอกว่าเมื่อมีสวัสดิการสังคมแล้วทำให้คนขี้เกียจ ไม่ทำงาน
จริงๆ แล้วผมคิดว่าเป็นมายาคติชุดใหญ่มากๆ เลยนะ ที่บอกว่ามีสวัสดิการแล้วจะทำให้คนขี้เกียจ ประการแรกที่อยากย้ำคือถ้าเราไปดูงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่กระจอกขนาดไหนแบบไทย หรือประเทศที่สวัสดิการเยอะๆ แบบกลุ่มสแกนดิเนเวีย สุดท้ายแล้วน้ำหนักจะไปอยู่ที่คน 3 กลุ่ม คือเด็ก คนแก่ และคนป่วย
แต่จะมีมายาคติว่า เฮ้ย พอพูดถึงรัฐสวัสดิการแล้วคุณจ่ายเงินให้คนไปงอมืองอเท้า นั่งนอนอยู่เฉยๆ จริงๆ แล้วไม่มีประเทศไหนที่โอบอ้อมอารีมากขนาดจ่ายเงินให้คนไปนอนเฉยๆ แม้แต่ UBI (Universal Basic Income หรือ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า) ที่ฟินแลนด์ทดลองจ่ายเงินเดือนให้เปล่าก็อยู่ที่ประมาณ 30% ของค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้นเอง หรือส่วนที่อาจบอกได้ว่าทำให้คนขี้เกียจ ไม่ทำงานก็ได้ คือเงินประกันการว่างงาน แต่ละประเทศถ้าเทียบสัดส่วนแล้วให้ไม่ถึง 5% ของงบสวัสดิการสังคม และเป็นสัดส่วนน้อยที่สุด ถ้าเทียบกับเงินบำนาญ เงินดูแลคนป่วย เด็ก หรือด้านการศึกษา แต่เวลาคนพูดถึงรัฐสวัสดิการจะมีภาพตรงนี้มาว่าทำให้คนขี้เกียจ จริงๆ แล้วไม่ใช่
ประเทศไทยก็พิสูจน์แล้วว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ไม่ได้ทำให้คนพฤติกรรมแบบ Moral Hazard หมายถึง พอได้รับสวัสดิการที่ดีแล้วตัวเองไปใช้ชีวิตเสี่ยงอันตราย เหมือนกับเราซื้อประกันกีฬาเอ็กซ์ตรีมแล้วเราไปโหนสลิง หรือพอมีการรักษาฟรี คนจะไปกินเหล้า สูบบุหรี่ ทำลายชีวิตตัวเองให้เต็มที่ ผ่านมา 10 ปี จากปี 2544 ที่เริ่มโครงการ งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าคนดูแลสุขภาพดีขึ้น คนไปหาหมอไวขึ้น ถ้าตรวจเจอมะเร็งเร็วจะรักษาได้ ไม่มีอะไรยืนยันเลยนะว่ารัฐสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจ
แต่ถามว่ามีคนที่พยายามใช้จุดอ่อนของรัฐสวัสดิการไหม ผมคงต้องบอกว่ามี แต่ไม่ได้เป็นภาพใหญ่ที่ต้องกังวลว่าทุกคนกำลังพยายามหาช่องว่างให้ตัวเองได้ประโยชน์จนกระทั่งตัวเองไม่ต้องทำอะไร หรือศัพท์ของฝ่ายขวาจะเรียกว่าพวก ‘Welfare Queen’ ประมาณว่าอยู่โดยร่ำรวย ไม่ต้องทำงาน อาศัยสวัสดิการไปวันๆ ผมคิดว่าไม่มี ยิ่งในยุคสมัยใหม่ยิ่งไม่มีงานวิจัยตัวไหนยืนยัน เป็นเพียงแค่คำบอกกล่าวจากความรู้สึกและถูกผลิตซ้ำจากฝั่งที่ไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐสวัสดิการซ้ำแล้วซ้ำอีก
ด้านหนึ่งอาจจะบอกว่ารัฐสวัสดิการขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องแข่งขันกันเพื่อเอาตัวรอดและวิวัฒนาการ
ผมคิดว่าธรรมชาติของมนุษย์ก็เป็นมายาคติอีกเหมือนกัน ทุกคนก็เชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่สอดคล้องกับความคิดของตัวเอง มีหนังสือชื่อ ‘History of Humankind’ – ‘Kind’ ที่แปลว่าใจดีล้อกับที่แปลว่า ‘มนุษยชาติ’ หนังสือพาไปดูเมืองเมืองหนึ่งของอังกฤษในวันที่จะถูกเยอรมนีมาทิ้งระเบิด เขาบอกว่าโดยมโนทัศน์ของคนศึกษาประวัติศาสตร์โดยทั่วไปจะคิดว่าหนึ่งวันก่อนเยอรมนีทิ้งระเบิดต้องเป็นกลียุคแน่นอน คนต้องเข้าไปปล้น แย่งชิงข้าวของ ฆ่าข่มขืน แล้วก็ทำให้ตัวเองปลอดภัยแบบที่เราเห็นในหนังดิสโทเปียทั่วไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นคือคนใช้ชีวิตกันอย่างปกติและเอาทรัพยากรที่ตัวเองพอมีและมีประโยชน์กับผู้อื่นมาแบ่งปัน
หรือตอนที่พายุเฮอริเคนถล่มอเมริกา คนต้องไปนอนที่สนามกีฬาขนาดใหญ่ ทีแรกเกิดความกังวลว่าคนจากหลายชนชั้นจะอยู่กันได้อย่างไร แต่มนุษย์ก็อยู่ด้วยกันอย่างปกติ ไม่จำเป็นต้องพกปืนกลัวว่าใครมาฆ่า ไม่มีการข่มขืน ฯลฯ ข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้พยายามจะบอกว่าการที่มนุษย์เปลี่ยนจากสัตว์ได้คือการที่เราเริ่มโอบอุ้มดูแลกัน
มีงานของนักมานุษยวิทยาชื่อว่า มาร์กาเร็ต มีด (Margaret Mead) เขาบอกว่าสิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์เริ่มต่างจากสัตว์คือการที่เห็นกระดูกที่แตกแล้วหาย ถ้าเป็นสัตว์ชนิดอื่น ตัวนั้นต้องถูกปล่อยให้ตายตามการคัดเลือกตามธรรมชาติ แต่สิ่งที่มนุษย์เริ่มวิวัฒนาการขึ้นมาดีกว่าสัตว์คือมนุษย์ที่แข็งแรงก็อุ้มคนที่อ่อนแอและรักษาจนเขาหายได้
ผมเลยมองว่าจริงๆ แล้วคำว่าธรรมชาติของมนุษย์เนี่ย มันอาจจะไม่มีก็ได้ ผมก็ไม่ได้บอกว่ามนุษย์ดี มนุษย์เลว แต่มันเหมือนกับเวลามีหมาป่าสองตัว เราเลี้ยงไว้และกัดกัน สู้กันตลอดเวลา ตัวหนึ่งมีลักษณะทุนนิยม ต้องแข่งขัน โหดเหี้ยม พยายามเอาเปรียบ ดูแลประโยชน์ของตัวเอง กับหมาป่าอีกตัวหนึ่งมีความใส่ใจกันและกัน ถ้ามันสู้กัน ถามว่าตัวไหนชนะ ผมคงตอบง่ายๆ ว่า ก็ตัวที่เราให้อาหารมันนั่นแหละจะเป็นผู้ชนะ
เราออกแบบสังคมที่ซัปพอร์ตหมาป่าแบบไหน หมาป่าตัวนั้นจะชนะ ธรรมชาติหรือลักษณะของมนุษย์จะถูกขับมากขึ้นถ้าอยู่ในสังคมที่ออกแบบให้มีการโอบอุ้มดูแลกัน แต่เราอยู่ในสังคมที่ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีการโอบอุ้มดูแลกัน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเราก็รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นปกติที่เราต้องดูแลตัวเอง ไม่สนใจผู้อื่น ไม่มีการต่อสู้เรียกร้องอะไรร่วมกัน หรือความรู้สึกว่าเป็นมิตรกับผู้ที่กดขี่เรา เพราะเขาเป็นคนที่ประทานอะไรต่างๆ ให้เราและเราก็จะเหยียบคนที่ต่ำกว่าเรา อย่างที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่าทำไมคนเงินเดือนสามหมื่น ถึงรู้สึกเป็นมิตรกับคนที่มีรายได้สามแสนมากกว่าคนที่มีรายได้หมื่นสาม ทั้งที่สามหมื่นกับหมื่นสามใกล้กันมากกว่า นั่นเป็นเพราะเราออกแบบสังคมที่ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นมิตรกับชนชั้นนำได้ง่ายกว่าและรู้สึกว่าความเสมอภาคเป็นสิ่งผิดปกติ เอาเข้าจริงแล้วคุณเชื่อว่ามนุษย์เท่ากันไหมล่ะ ถ้าคุณเชื่อว่ามนุษย์เท่ากัน คุณก็จะออกแบบสังคมเป็นอีกแบบหนึ่ง
ถ้าบอกว่าไม่เชื่อว่าคนเท่ากัน จะสนทนาต่ออย่างไร
ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติมากนะ ทุกสังคมเลย แม้แต่อังกฤษ สวีเดน ก็มีฝ่ายขวาเหมือนกัน ถ้าไปคุยกับขวาสวีเดน เขาก็จะบอกว่า เฮ้ย พวกผู้ลี้ภัย ผู้อพยพมาแย่งสวัสดิการ แม้แต่ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการแล้ว ช่วงที่ฝ่ายซ้ายชนะขึ้นมามีอำนาจก็ไม่ได้หมายความว่าคน 90% เห็นพ้องกับเรื่องนี้หมดเลย
เรื่องเหล่านี้คือกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองที่ยกระดับเส้นขั้นต่ำที่บอกว่าเรื่องต่อไปนี้สังคมเราเห็นพ้องต้องกันแล้ว เช่น ในเยอรมนี ถ้าคุณเป็นฝ่ายขวา คุณให้ความชอบธรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของฮิตเลอร์ไม่ได้แล้ว แม้แต่นีโอ-นาซีก็ทำไม่ได้ มันจะมีเส้นที่แต่ละสังคมที่กระเถิบขึ้นจากการพูดคุย การต่อสู้ และประสบการณ์ แต่ถามว่าต้องเป็น 100% ที่ทุกคนเห็นพ้องกับเรื่องนี้ไหม ผมว่าไม่ เป็นการต่อสู้กันไปตลอด
กลับมามองสังคมไทย บัตรคนจนหรือโครงการคนละครึ่งของไทยตอนนี้ นับว่าไทยเป็นรัฐสวัสดิการได้เลยไหม
สิ่งที่ผมอยากย้ำคือรัฐสวัสดิการไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกแยกกับคนไทยนัก เพราะเราก็มีส่วนสำคัญหลายอย่างที่เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนทั้งผ่านระบบการเมือง บนท้องถนน เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อันนี้ชี้วัดให้เห็นว่าอย่างน้อยที่สุดชีวิตและสุขภาพของเราจะต้องไม่ถูกทิ้งให้ตาย แน่นอนว่ายังมีปัญหาให้ต้องแก้ แต่นี่คือเมล็ดพันธุ์ที่ชี้ให้เห็นว่ามันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ รัฐสวัสดิการไม่ได้เป็นของแปลกแยกที่มาจากจักรวาลไหน
แต่กรณีบัตรคนจน คนละครึ่ง หรือ ‘สวัสดิการแห่งรัฐ’ หลายอย่างก็เป็นภาพสะท้อนว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับสวัสดิการประชาชนอันดับแรก มันเป็นสิ่งที่ถูกโยนมาแล้วก็บอกว่าควรเอาเพียงแค่นี้ แค่นี้ก็พอ แต่ถ้าถามว่าเป็นสวัสดิการสังคมไหม ผมก็บอกว่าเป็น แต่เป็นตัวชี้วัดความเป็นรัฐสวัสดิการไหม ผมว่ามันไม่ใช่เลยนะ คนต้องเอาบัตรประชาชนไปกรอกพิสูจน์ความจน สุดท้ายอาจจะได้บัตร หรือการเยียวยาล่าช้าผ่านระบบราชการซึ่งไม่รู้จะได้เมื่อไร สิ่งเหล่านี้ก็เป็นภาพสะท้อนความไม่เป็นรัฐสวัสดิการของไทย
ตั้งแต่สอนหนังสือเกือบ 10 ปีเห็นความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มนักศึกษาที่สอนอย่างไรบ้าง
ผมเห็นเทรนด์ความรักของนักศึกษานะ ผมรู้สึกว่าความกดดันทางสังคมตอนนี้สูงขึ้นมาก แต่ก่อนคนในวัยหนุ่มสาวจะรู้สึกว่าฉันสามารถเลือกความรักได้ เลือกความรักที่มันโอเค พอเรียนจบอาจจะเลิกกัน แต่งงานกับคนที่เหมาะสม แต่อย่างน้อยในช่วงมหาวิทยาลัยผมก็รู้สึกว่าเป็นช่วง Gap ที่คุณรู้สึกว่ามีความรักได้อย่างเสรี กับคนที่ฐานะอาจจะไม่ได้ดีมากหรือไม่ได้อยู่ในสังคมเดียวกัน รู้สึกว่าชอบคนนี้คบเป็นแฟนกัน ได้แต่งงานกันอยู่ต่อไปหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง
แต่ช่วงหลังๆ ปี 2561 – 2564 ผมรู้สึกว่ามันกดดันมากเลย ประมาณว่าคุณต้องหาทุกอย่างที่เหมาะสม เพอร์เฟกต์ คุณเสียเวลากับอะไรไม่ได้เลย ด้วยการกดดันทางเศรษฐกิจและเรื่องทางการเมืองที่ทำให้นโยบายหลายอย่างไร้อนาคต เขารู้สึกว่าไม่อยากเสียเวลา ไม่อยากเสียเวลามีความรัก ไม่อยากเสียเวลาเอนจอยชีวิต เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากเลยนะสำหรับสังคมไทย มันบีบคนรุ่นใหม่ขนาดที่เราไม่สามารถมีเวลาคิดถึงความสุขของตัวเองแม้จะเป็นช่วงเวลาเล็กๆ
เรื่องโรคซึมเศร้าผมก็เห็นชัดเจน ด้านหนึ่งมาจากความคาดหวังของสังคม พอสังคมเหลื่อมล้ำมากๆ ความคาดหวังต่อคนรุ่นใหม่เยอะ ความซึมเศร้าตามมา มีมายาคติว่าการศึกษาคือสิ่งที่จะทำให้คุณหลุดออกจากชนชั้นโดยกำเนิดของคุณได้ ไม่ใช่แค่ในธรรมศาสตร์นะ แม้แต่ต่างจังหวัด พ่อแม่ขายที่ดิน 7 – 8 แสนส่งลูกเรียน ค่ากินค่าหอ เวลาผ่านไป ผมก็ถามว่าเงินหายไปไหน หมดแล้วเหรอ เขาบอกเอาไปส่งลูกเรียนหมดแล้ว ก็คาดหวังว่าลูกจะมีชีวิตที่ดี สอบเข้าราชการได้ แต่สุดท้ายลูกกลับมาอยู่ด้วยกัน นักเศรษฐศาสตร์คงจะบอกว่าเป็นการลงทุนที่ผิดพลาด
หรือเรื่องเกรด เดี๋ยวนี้ต้องเกียรตินิยมอย่างเดียวเท่านั้น บางคนได้ B+ ก็เครียดแล้ว เคยมีเด็กมาคุยกับผม ไม่ใช่แค่คนเดียวนะ หลายคนที่รู้สึกว่าเขาทำอะไรผิด ซัฟเฟอร์มากกับการได้เกรด B+ อาจจะต่างจากสมัยผมเรียนเมื่อ 20 ปีก่อนที่เรายังรู้สึกว่าการแข่งขันยังไม่สูงมากขนาดนี้ และสภาพแบบนี้ทำให้เขาซึมเศร้า
และอีกด้านหนึ่งทำให้มีความพยายามสร้างแวดวง (Circle) สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่รักษาความเหลื่อมล้ำไปอีก เช่น คนที่มีแวดวงสังคมอยู่ในส่วนบนของพีระมิดทางสังคมก็สร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกันให้แน่นมากขึ้น คนที่อยู่กลางก็มีสังคมตรงกลาง สิ่งนี้คือการรักษาโครงสร้างทางชนชั้นต่อไป
ไม่มีด้านบวกเลย?
ถ้าผมพูดถึงปี 2556 – 2557 นะ จะรู้สึกประมาณว่าแค่ขยันเรียนจบ ชีวิตก็พอแล้ว แต่ถ้าคุยกับเด็กรุ่นปีตั้งแต่ 2563 เป็นต้นมา ทุกคนรู้ว่าถ้าอยากมีชีวิตที่ดี มีความรักที่ดี มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของเขาแล้ว เป็นเรื่องความห่วยแตกของประเทศนี้ ของรัฐนี้ และเขาก็เชื่อว่าเขามีอำนาจมากพอจะรวมตัวกันและสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องพวกนี้ได้
แล้วแนวโน้มระดับประเทศ เช่น คู่รักแต่งงานน้อยลง หรืออัตราเด็กเกิดน้อย?
ผมคิดว่าแนวโน้มทั่วโลกเด็กเกิดน้อยอยู่แล้ว ในบริบทต่างประเทศ แม้แต่ประเทศสวัสดิการดี คนมีลูกช้าลง เด็กเกิดน้อย เพราะคนมีเสรีภาพด้านต่างๆ มากขึ้น เช่น สถานการณ์บังคับที่ลูกต้องมาเลี้ยงดูพ่อแม่ หรืออุดมคติว่าครอบครัวที่สมบูรณ์คือครอบครัวที่มีลูก เหล่านี้แนวโน้มน้อยลง ผู้หญิงก็มีอิสระในการเลือกมากขึ้น หรือด้วยเทคโนโลยีทำให้คุณมีลูกตอนอายุ 40 ได้ ดังนั้นไม่ได้แปลว่าประเทศที่สวัสดิการดีแล้วคนอยากมีลูกเสมอไป แต่ในกรณีของไทย ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพเลย แต่ชัดเจนว่าสาเหตุที่คนตัดสินใจมีลูกน้อยลงเพราะเศรษฐกิจแน่ๆ ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการพื้นฐานในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งสูงขึ้นมากแบบก้าวกระโดดเลย
อาจารย์มักจะออกข้อสอบให้นักศึกษาจินตนาการภาพอนาคต ถามกลับบ้างว่าในอีกสิบปีถ้าเรามีรัฐสวัสดิการ หน้าตาของความรักในสังคมจะเป็นแบบไหน
ถ้าเป็นรัฐสวัสดิการ คุณเรียนมหาวิทยาลัยฟรี มีเงินเดือน คุณจะมีเวลาว่าง คนส่วนมากจะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเล่าเรียน ไม่ต้องไปกู้ กยศ. ความหลากหลายของแต่ละชนชั้นที่มาเรียนอาจจะมากขึ้น ทำให้คนหลากหลายชนชั้นได้มาอยู่ในองค์กรเดียวกันได้ถ้ามีรัฐสวัสดิการ ค่าจ้างไม่ต่างกันมาก คุณไปที่ต่างๆ จะเจอคนที่หลากหลาย
ยกตัวอย่างที่ฟินแลนด์ ผมกินร้านอาหารโรงแรม 5 ดาว จานละ 300 กว่าบาท ไม่ได้แพงมากเทียบกับค่าครองชีพที่นั่น ในร้านจะเห็นทั้งคนงานก่อสร้าง นักธุรกิจ นักศึกษา มาใช้พื้นที่เดียวกันกินอาหารได้ สิ่งที่ผมอยากบอกคือ ทุกวันนี้พอมีโควิด คนเว้นระยะห่างทางสังคมกันจริงๆ ช่องว่างทางสังคมเยอะขึ้น วงสังคมของผู้คนที่เรารู้จักก็น้อยลงเข้าไปอีก เราถูกผลักให้ไปหาคู่รักในทินเดอร์ที่มีความสนใจคล้ายกัน แล้ว Match กัน แต่ถ้าอยู่ในรัฐสวัสดิการนอกจากมีความปลอดภัยในชีวิตแล้วยังทำให้เรามีโอกาสสัมพันธ์กับคนที่มาจากหลากหลายชนชั้น หลากหลายทัศนคติมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ถูกทำให้หายไปจากสังคมไทย ผมคงไม่ได้บอกว่าความรักจะเบ่งบาน ทุกคนมีความสุข แต่ที่เห็นคือความเครียด ความกดดันในชีวิตน้อยลง มีโอกาสที่สัมพันธ์กับกลุ่มคนหลากหลายมากขึ้น
แต่ถ้าวันนั้นยังมาไม่ถึง ตอนนี้เราจะมีความรักกันได้ยังไงในโลกทุนนิยม
ผมคงไม่ได้เป็นกูรูด้านความรัก ถ้าจะบอกว่าในช่วงที่ไม่มีรัฐสวัสดิการแล้วอยู่ในช่วงการต่อสู้ แล้วเราจะทำอะไรได้ สำหรับคนรุ่นใหม่ หรือจริงๆแล้วสำหรับทุกคนนะ ผมคิดว่าเราอย่าเบื่อที่จะมีความสัมพันธ์ที่ไร้เหตุผลแต่เคารพและรับผิดชอบซึ่งกันและกัน เราอย่าเบื่อที่จะมีความรัก อย่ากลัวว่าเราจะเสียเวลากับคนคนนี้ เสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ แน่นอนว่าชีวิตมีส่วนหนึ่งที่ถูกกดทางเศรษฐกิจ แต่มีส่วนที่เราเลือกของเราเองจากโปรแกรมที่ถูกวางไว้
ข้อเสนอต่อสังคมไทย ควรจะผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการไปในทิศทางไหน
สิ่งหนึ่งที่ผมย้ำเป็นเรื่องง่ายๆ พื้นฐานเลยคือการทำให้ทุกช่วงชีวิตคนปลอดภัย เริ่มตั้งแต่เกิด ถ้าคนเป็นพ่อแม่ได้รับสิทธิ์การลาคลอดหรือเงินชดเชยระหว่างการตั้งครรภ์ที่ไม่เหมาะสม ความเหลื่อมล้ำก็ถูกส่งต่อมาตั้งแต่ยังไม่เกิดมาเลย ดังที่บอกว่าเลือกมดลูกผิด ชีวิตเปลี่ยน หรือเงินเด็กถ้วนหน้า ไม่ให้เด็กทุกคนต้องเริ่มจากชีวิตติดลบ และเรียนมหาวิทยาลัยฟรี มีเงินเดือน มีเงินบำนาญเมื่อแก่ชรา
เรื่องน่าแปลกนะ เวลาผมคุยกับ ส.ส. ตั้งแต่ซ้ายถึงขวาสุด ไม่มีใครต่อต้านแบบจริงจัง ผมก็คิดว่าเออ จะมีใครต่อต้านเรื่องเงินเด็ก เงินคนแก่ แต่พอพูดว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ พวกนี้จะกลัวขึ้นมาทันทีเลย อ้าว ไหนเมื่อกี้ยังเห็นด้วยอยู่เลย ทุกพรรคหาเสียงเรื่องพวกนี้ ไม่พ้นไปจากนี้หรอก แต่น่าสนใจว่าทำไมเรายังต้องใช้คำว่ารัฐสวัสดิการ บางคนบอกว่าคำว่ารัฐสวัสดิการทำให้พวกนี้ตกใจกลัวและไม่มาสนับสนุน ให้พูดว่าเงินคนแก่ เงินเด็ก ผมยืมคำพูดอาจารย์สรวิศ (สรวิศ ชัยนาม) แล้วกันว่า มันสำคัญเลยนะว่าคุณจะเป็นตัวตลกให้เขาเอ็นดู หรือคุณจะเป็นปีศาจให้เขากลัว
เวลาที่ผมพูดเรื่องเงินเด็ก เงินคนแก่ เขาก็บอกว่าอาจารย์จั๊กเนี่ย น่ารักจังเลย จิตใจดี เรียกร้องเพื่อเด็กเพื่อคนแก่ แต่เขาก็มักจะไม่ทำอะไรต่อ มองว่าเราเป็นตัวตลก ไอ้นี่มาพูดอีกแล้ว แต่พอพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ พวกนี้กลัว มีคดี มีฟ้อง ทำไอโอ ฯลฯ ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญว่าเราควรจะเป็นปีศาจมากกว่าเป็นตัวตลกเพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงให้ได้