เรื่องเล่าสมัยยังสาวของ “แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์” ผู้สานต่อลำนำเพลงอีแซว - Urban Creature

บ้านกึ่งไม้กึ่งปูนแสนคลาสสิกท่ามกลางต้นไม้น้อยใหญ่ คืออีกหนึ่งสถานที่ที่เราเดินทางไปหาตอนจัดทริปสุพรรณบุรี เพื่อพูดคุยกับ “คุณแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ที่เปรียบเป็นแม่พิมพ์ของ เพลงอีแซว

เมื่อได้เข้าไปนั่งรอในบ้าน มองดูภาพถ่าย และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เกี่ยวกับการจัดแสดงเพลงอีแซวได้ไม่นาน คุณแม่ที่เดินทางกลับจากการทำบุญตักบาตรตอนเช้าก็เดินเข้ามาทักทายพวกเราด้วยรอยยิ้มใจดี แล้วบทสนทนาเกี่ยวกับ “ลำนำอีแซว” ระหว่าง คุณแม่ และพวกเราที่ถูกเรียกว่า ลูกก็เริ่มต้นขึ้น

| อายุ 15 เริ่มหัดร้องรำลำนำอีแซว

คุณแม่ขวัญจิต : สักปี พ.ศ. 2505 ตอนอายุ 15 ปี แม่เริ่มฝึกร้องเพลงพื้นบ้านกับพ่อไสว วงษ์งาม และแม่บัวผัน  จันทร์ศรี อันที่จริงตอนแรกตามน้องๆ มาเป็นแม่บ้านให้เขาเฉยๆ แต่พอนานเข้าครูเขาก็ให้ร้อง

| สมัยแม่ยังสาว เพลงอีแซว คือการละเล่นตอนฟ้ามืดยามกลับบ้านไม่ได้

เมื่อร้อยกว่าปีก่อน คนสุพรรณชักชวนกันแต่งทำนองขึ้นมา โดยหยิบเนื้อเพลงฉ่อย หรือเพลงมาลัยที่มีอยู่ก่อนแล้ว มาประยุกต์เป็นบทเพลงร้องรำ ใช้โต้ตอบทักทายกันยามฟ้ามืด แล้วเดินทางกลับบ้านไม่ได้

คุณแม่ขวัญจิต : มันเป็นเรื่องเล่าต่อกันมา ไม่มีบันทึกไว้แน่นอนนะลูก แต่คร่าวๆ เขาก็ว่า เพลงอีแซวเกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ที่คนสุพรรณชักชวนกันตั้งทำนองขึ้นมาเอง แล้วเอาเนื้อเพลงฉ่อย เพลงมาลัยที่เขามีอยู่เเล้ว เอามาใส่ในทำนองที่ทำขึ้นมา เอาไว้ร้องตอนกลางคืน หลังจากเดินทางไกล แล้วกลับบ้านไม่ได้ โดยเฉพาะพวกผู้หญิงไม่มีกลุ่มก็ไม่กล้าเดินกลับกัน แต่พวกผู้ชายเขาจะกลับบ้านกันได้

แล้วครูของแม่ แกบอกว่าพอหลังจากเที่ยงคืน ตีหนึ่ง เสียงเพลงมันจะเเซ่ไปหมด เขาจะอยู่กันตามซุ้มศาลา หรือต้นไม้ใหญ่ จุดคบเพลิงผูกติดต้นไม้ เพราะเมื่อก่อนไม่มีไฟฟ้า แล้วก็มีเสียงร้อง เสียงฉิ่ง หรือเสียงกรับ ซึ่งบางคนที่เป็นช่างไม้เขาก็จะมีกรับไม้จริงที่ดีๆ แต่ถ้าไม่มีก็ใช้ไม้ไผ่แทน ทีนี้ครูแม่ยังเป็นเด็กไว้ผมจุกอยู่ ยังร้องไม่ได้ ยังไม่รู้จัก แค่เดินฟังเขาไปเรื่อยๆ ถ้าที่ไหนร้องดี ร้องสนุกก็หยุดฟัง

| หนุ่ม-สาวหยอกเย้าตามวิถีเพลงอีแซว

นอกจากเพลงอีแซว จะเป็นเสมือนการละเล่นตอนกลางคืน หรือใช้ร้องเรียกทักทายกันแล้ว พ่อหนุ่มในสมัยก่อน ยังใช้เป็นบทกลอนจีบสาว และเรียกกันว่า “เพลงปลอบ”

ผู้หญิงสมัยก่อนจะรู้ว่าถ้าผู้ชายร้องมาอย่างนี้ เขาจะโต้ตอบยังไง ถ้าไม่อยากเล่นด้วย ขอแค่ผ่านไปก็จะบอกว่า … “มาแล้วยังไม่สว่างก็กลับไม่ได้”

คุณแม่ขวัญจิต : วิถีผู้หญิง พอเริ่มเป็นสาวก็เริ่มออกร้องกับพ่อแม่ ถ้ามีงานวัดป่าแล้วไม่ติดงานอื่น เขาก็จะมาร้องร่วมกับปู่ ย่า ตา ยาย ในส่วนของวิถีผู้ชายจะมีฉิ่งห้อยคอ พอเดินมาเจอกลุ่มผู้หญิง ก็จะมีตีฉิ่งร้องแซว ถ้าผู้หญิงเล่นด้วยก็จะร้องโต้ตอบ ทักทายกัน จนมาตั้งชื่อกันว่า “เพลงปลอบ”  เเต่แม่ไม่ใช้ศัพท์นั้น จะใช้เป็นชื่อเพลงแนะนำตัว ชักชวนแทน เพราะถ้าบอกว่าเพลงปลอบก็ต้องอธิบายกันยาว บางคนก็เข้าใจผิดว่าเป็นผีปอบ (หัวเราะ) เพราะเมื่อก่อนไม่มีคำว่าเกี้ยวพาราสี

| มองวิถีชีวิตหญิงชายสมัยก่อน ผ่านบทกลอนอีแซว

เพราะบทบาท และการใช้ชีวิตที่ต่างกันระหว่างผู้ชาย และผู้หญิง การร้อยเรียงสำเนียงจึงไม่เท่ากัน

คุณแม่ขวัญจิต : ครูของแม่คนหนึ่ง คือ ‘ครูกร่าย จันทร์แดง’ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนวิถีชาวบ้าน พอเก็บเกี่ยวข้าวไม่เกินเดือนมกราคมเสร็จ เขาบอกว่ามันว่าง พวกผู้ชายที่บวชเรียนนานๆ มีอายุหน่อย ก็จะไปเล่นหมากรุกที่วัด เเล้วก็แต่งเพลง เขียนใส่ใบลาน ช่วยกันคิดช่วยกันแต่ง พวกผู้ชายเลยได้แต่งคำอีแซวกันบ่อย พอเสร็จเเล้วก็ถึงคราวท่อนสำนวนผู้หญิงกับด้อยกว่า เพราะมาเข้าวัดบ่อยไม่ได้ ผิดระเบียบคนแต่ก่อน ฉะนั้นถ้าไม่มีธุระจะมาอยู่ตามวัดไม่ได้ อีกทั้งผู้หญิงไม่รู้หนังสือ ถึงแม้จะคิดเองได้ก็คงสู้พวกผู้ชายไม่ได้

แต่ถ้าลองมาเปรียบเทียบครูของแม่ คือ ‘แม่บัวผัน จันทร์ศรี’ แกก็ไม่รู้หนังสือ แต่ก็เป็นคนที่มีภูมิปัญญาดี สามารถแต่งคำกลอนของตัวเองได้ไม่ย่อหย่อนไปกว่าผู้ชายแต่งเท่าไหร่ และมีความฉลาดเฉลียวพลิกแพลง  แม่ที่ได้เรียนกับครู เลยกลายเป็นคนช่างคิด ถ้าไปได้ยินหรือได้ร้องกับใครแล้วเราด้อยกว่าเขาก็จะจำของเขาไว้ เเล้วเราก็มาคิด ว่าถ้าเกิดได้ยินคำนี้เราจะต้องโต้ตอบยังไง

| ไหวพริบการแต่งกลอนสด และคำบ้านๆ คือเสน่ห์ตรึงใจยามได้ฟัง

คุณแม่ขวัญจิต : แม่ว่าเสน่ห์ของเพลงอีแซว อยู่ที่ไหวพริบในการแต่งกลอนสด เช่น หากเป็นงานบุญ เราก็ร้องให้เข้ากับงานบุญ ให้ตรงใจ เขาทำบุญให้ใครก็ต้องกล่าว และอวยพรให้เขาเจริญในหน้าที่การงาน เพราะว่าไม่งั้นมันจะไม่มีอะไรดึงดูด แต่งตัวก็แค่โจงกระเบน เสื้อแขนกระบอกตรงๆ เหมือนที่เด็กนักเรียนร้องเพลงเกี่ยวข้าวตามโรงเรียน ทาปากยังไม่ได้เลย เพราะอย่างตอนแม่เล่นใหม่ๆ อยากทาคิ้ว อยากทาปากก็ยังไม่ได้ ครูสไวเขาไม่ให้ แต่มันก็ไม่มีกฎข้อบังคับอะไร

คำว่า หลุม แต่ที่นี่จะเรียกว่า กะหลุก

อีกอย่างมันเป็นภาษาบ้านๆ เวลาฟังแล้วมันมีแต่คำพูดที่โดนใจ เราก็จะไม่ลืมคำพูด ประเพณี วัฒนธรรมคนสุพรรณ รกรากจะอยู่ตรงนั้น เพราะเราติดคลองแม่น้ำท่าจีน ในลุ่มแม่น้ำท่าจีนโดยส่วนใหญ่เขาก็จะชอบฟังเพลงอีแซวกัน

|  แม่เพลง ผู้สืบสานตำนานเพลงอีแซว

นอกจากบทบาทศิลปินแห่งชาติของแม่ขวัญจิตแล้ว คุณแม่ยังได้รับการยกย่อง และนับถือในฐานะ “แม่เพลง” ครูภูมิปัญญารุ่นแรกที่สานต่อบทเพลงอีแซวจากสมัยเก่าก่อน และส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้อย่างเข้าใจ

คุณแม่ขวัญจิต : เริ่มแรกจริงๆ ไม่เคยคิดว่าจะต้องเป็นครู ไม่คิดว่าจะสอนใครได้ คือเริ่มตั้งแต่ปี 2518 แม่สอน 2 โรงเรียน เพราะว่าครูที่เรียน ป.4 มาด้วยกัน แล้วเขาได้ไปเรียนเป็นครู มาชวนแม่ไปสอน ก็เริ่มจากเพื่อน แล้วก็ขยายไป

แล้วพอได้รับคำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” เมื่อปี 2539 ก็เลยลองทำอาชีพครูอย่างจริงจัง ซึ่งหลังจากรับศิลปินแห่งชาติได้ 2 ปี สักปี 41 ก็ได้เข้าสอนที่วิทยาลัยนาฏศิลป ตอนนั้นท่านบรรหาร ศิลปอาชา เขาให้เกียรติกับแม่มาก เขาพามาเปิดตัว เราก็เลยได้ไปอยู่กับครูประจำ แม่ก็ได้แลกเปลี่ยน พูดคุยกับครูมหาลัยด้วยกัน มีสนิทในโรงเรียนก็พี่ ฉวีวรรณ พันธุ เขาเคยเป็นศิลปินแห่งชาติมาก่อน เป็นหมอลำที่เก่ง

| ลำนำตามแนว ส่งต่อเพลงอีแซวยุคใหม่ จากสมัยโบราณ ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

ความตั้งใจของคุณแม่ขวัญจิต ในการส่งต่อเพลงอีแซว ยังถูกถ่ายทอดออกมาผ่าน “ศูนย์การเรียนรู้พื้นบ้าน แม่ขวัญจิตร ศรีประจันต์” ที่จังหวัดสุพรรณบุรี

คุณแม่ขวัญจิต : แม่สร้างศูนย์การเรียนรู้พื้นบ้านขึ้นมา เพราะอยากตอบแทนคุณแผ่นดิน เหนื่อยไม่ได้ อย่าเหนื่อย เราตอบแทนให้กับคนที่รักในเพลงอีแซว หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่รักด้วยก็ตาม อย่างตอนเด็กจากโรงเรียนมาเรียนรู้เพลงอีแซว แม่ก็จะบอกให้ครูที่มาว่า ขอให้เรียนรู้ไปด้วย ถ้ามิเช่นนั้น กลับไปดูแลเด็ก ผิดหรือถูกเขาก็จะไม่รู้เลย

แม่ตั้งใจจะร้องเพลงอีแซว สอนเพลงอีแซว และตั้งใจจะทำงานจนกว่าจะทำไม่ไหว

 

 

 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.