‘นิทรรศกี’ ผ้าอนามัยฟรีเพื่อสุขภาพดีถ้วนหน้า - Urban Creature

‘เมนส์ของตัวเอง ทำไมต้องให้รัฐรับผิดชอบ?’
‘นโยบายนี้จะมีคนได้ประโยชน์สักกี่คน?’
‘เอาเวลาไปแก้ปัญหาปากท้องดีกว่าไหม? แค่ผ้าอนามัยใครๆ ก็ซื้อได้’

คำถามเหล่านี้คือสิ่งที่เราเห็นอยู่บนโลกออนไลน์หลังเปิดตัว ‘นิทรรศกี เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา นิทรรศการนี้เปิดตัวในวันสตรีสากล ซึ่งในปีนี้มีธีมรณรงค์ว่า #BreakTheBias เพื่อปลดแอกอคติและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับที่พรรคเพื่อไทยต้องการผลักดันในปัจจุบันจึงเกิดเป็นนิทรรศกีขึ้นมา

เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า ‘ผ้าอนามัย’ เป็นของส่วนตัว ประจำเดือนเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง ‘ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ จึงเป็นเรื่องใหม่มากๆ ในสังคมไทยที่จะยกขึ้นมาเป็นสวัสดิการรัฐ และทำให้เรื่องกีๆ ที่มักจะถูกทำให้เป็นเรื่องต้องห้ามถูกนำมาถกเถียงกันมากขึ้น

หากคุณเป็นผู้มีประจำเดือน หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ในหลายๆ เรื่องที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ประจำเดือนเลอะในที่สาธารณะ ต้องเจียดเงินไปซื้อผ้าอนามัยในวันที่ประจำเดือนมาฉุกเฉิน หรือให้ผ้าอนามัยเพื่อนฟรีๆ ทันทีที่มีคนขอ แต่สำหรับบางคน การมีประจำเดือนอาจไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีเท่าไร หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าในประเทศไทยยังมีผู้มีประจำเดือนกว่า 64.72% ที่เข้าไม่ถึงผ้าอนามัยเพราะความยากจน (Period Poverty) โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างผู้มีรายได้น้อย คนในวัยเรียน และคนในเรือนจำ ผู้มีประจำเดือนกลุ่มนี้จึงต้องใช้อย่างอื่นแทนผ้าอนามัย และจำใจเสี่ยงกับปัญหาสุขภาพเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

นิทรรศกี
นิทรรศกี

ผ้าอนามัย สวัสดิการรัฐ และอคติทางเพศ เกี่ยวข้องกันอย่างไร? เราจะพาไปแหวกประตูกีและดูความเป็นไปได้ของ ‘ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ กับ ‘ปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์’ และ ‘จิน-สิรวิชญ์ วัฒนผลิน’ ทีมนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย เพื่อทำความเข้าใจว่าผ้าอนามัยฟรีสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนอย่างไร 
งานนี้ไม่ได้มีแค่ตัวเลขและข้อมูลที่น่าสนใจเท่านั้น แต่ยังมีผลงานศิลปะเพื่อลดอคติต่อผู้มีประจำเดือน โดย 3 ศิลปินหญิง ได้แก่ Juli Baker and Summer, Prim Issaree และ Pyra ให้ชมภายในงานด้วย เป็นนิทรรศการที่เนื้อหาดี และเราเชื่อว่าคนที่ไม่มีกีก็ร่วมดูและสนับสนุนนโยบายนี้เพื่อสุขภาพของผู้มีประจำเดือนได้

นิทรรศกี
จิน-สิรวิชญ์ วัฒนผลิน และ ปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์ ทีมนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย
นิทรรศกี

เปิด ‘ประตูกี’ ให้สังคมนี้พูดเรื่องจิ๋มได้

ตอนเด็กๆ เรามักจะถูกห้ามพูดเรื่องเพศหรือพูดถึงอวัยวะเพศในที่สาธารณะ เพราะจะดูเป็นคนหยาบคายหรือดูไร้ยางอายในสายตาคนอื่น สิ่งเหล่านี้กลายเป็นค่านิยมของสังคม ทำให้เรื่องเพศกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ทำให้หลายคนอายจนไม่กล้าพูดถึงปัญหาสุขภาพทางเพศของตัวเอง 

เพื่อทลายอคติทางเพศเหล่านี้ นิทรรศกีจึงออกแบบทางเข้าเป็น ‘ประตูกี’ ที่มีแคมหลายเฉดสี เพื่อสื่อสารว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีความแตกต่างหลากหลาย กีจึงไม่ได้มีแค่สีเดียว แบบเดียว ถ้าอยากรู้เรื่องกีๆ ก็ลองเข้าประตูกีมาด้วยกัน 

นอกจากประตูแล้ว ตัวพื้นที่จัดนิทรรศการยังออกแบบให้มีแปลนเหมือนกับผ้าอนามัย และพื้นที่เราเหยียบอยู่ก็มีพื้นผิวนุ่มสบายคล้ายกับผ้าอนามัยจริงๆ

นิทรรศกี

ทำไมผ้าอนามัยควรเป็นสวัสดิการรัฐ?

นี่คือคำถามที่เราถามสงสัยเมื่อได้คุยกับทีมนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายของพรรคเพื่อไทย 

ทั้งคู่ชี้ให้เราดูใบเสร็จค่าใช้จ่ายตลอดชีวิตของผู้มีประจำเดือนขนาดใหญ่ที่คำนวณมาจากจำนวนผู้มีประจำเดือน และตัวเลขทางการตลาดของการขายผ้าอนามัยในประเทศไทย หากคุณไม่ได้เดือดร้อนและมีโอกาสในการเข้าถึงผ้าอนามัย ตัวเลขนี้อาจจะไม่ได้ทำให้คุณรู้สึกลำบากเท่าไรนัก แต่ถ้าหากคุณคือกลุ่มเปราะบาง เป็นผู้มีรายได้น้อย ตัวเลขเกือบสองแสนบาทที่โชว์บนใบเสร็จนี้คือเงินก้อนใหญ่ในชีวิตที่พวกเขาควรนำไปใช้เพื่อปากท้อง และเติมเต็มคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ ได้

ปกป้องอธิบายให้ฟังว่า นโยบายนี้​​เริ่มต้นจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พอช่วงเวลามันเปลี่ยนไป โครงการต่างๆ ที่จะผลักดันต่อถูกสกัดกั้นด้วยรัฐประหารทั้งสองครั้ง ที่ผ่านมาทางพรรคเพื่อไทยอยากจะผลักดันโครงการนี้อยู่แล้ว จึงถูกหยิบยกขึ้นมาทำอีกครั้ง

นอกจากนี้ ตั้งแต่ 2016 เป็นต้นมา ส.ส. เฟมินิสต์ที่สกอตแลนด์ก็เสนอนโยบายขจัดความจนประจำเดือน (Period Poverty) ในฐานะที่เป็นรัฐสวัสดิการ และเพิ่งมาทำสำเร็จในปี 2020 เรื่องนี้จึงจุดกระแสให้หลายประเทศทั่วโลกยกเรื่อง ‘ประจำเดือน’ ขึ้นมาเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ และขยายโอกาสในชีวิตให้กับผู้มีประจำเดือน ซึ่งการลดค่าใช้จ่ายค่าผ้าอนามัยไม่ได้เอื้อประโยชน์แค่กับผู้ที่มีประจำเดือนเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และแก้ปัญหาปากท้องไปพร้อมๆ กัน

นิทรรศกี

ประจำเดือน คือเรื่องสุขภาพของประชาชน

คนไทยที่มีประจำเดือนเข้าถึงผ้าอนามัยเพียง 35.28% เท่านั้น เท่ากับว่าอีก 64.72% ที่เหลือคือกลุ่มที่เข้าไม่ถึง 

จินเล่าให้ฟังว่า จากการสำรวจพบว่าผู้มีประจำเดือนหลายรายที่มีรายได้น้อยหลายคนต้องยอมแลกสุขภาวะทางเพศเพื่อบริหารจัดการค่าใช้จ่าย เช่น 

  • ใช้ผ้าอนามัยที่ตนเองแพ้ เพราะมีราคาถูกกว่าผ้าอนามัยออร์แกนิก  
  • ใช้ผ้าอนามัย 1 ชิ้นตลอดทั้งวัน (ปกติควรใช้ 4 ชิ้น) เพราะรายได้ไม่เพียงพอที่จะใช้ผ้าอนามัยหลายชิ้นต่อวัน ทำให้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพและโรคภัย 
  • ต้องจำกัดอาหารและการดื่มน้ำ เพื่อลดการใช้ห้องน้ำ จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย

นอกจากนี้หลายคนยังใช้สิ่งอื่นแทนผ้าอนามัย ซึ่งล้วนไม่ถูกสุขอนามัยและส่งผลเสียต่อสุขภาวะทางเพศ เช่น ใส่กางเกงในหลายชั้น ใช้กระดาษทิชชูพันรอบกางเกงใน หรือใช้เทปกาวติดกระดาษทิชชูเข้ากับกางเกงใน ใช้ถุงเท้า เศษผ้า เสื้อผ้าเก่า กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษอื่นๆ หรือถุงพลาสติกรองกางเกงใน ซึ่งทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้คือการ ‘เข้าไม่ถึงผ้าอนามัย’ หรือ Period Poverty ที่มีอยู่จริง และเกิดขึ้นจริงกับผู้หญิงจำนวนเกินครึ่งของประเทศไทย

นิทรรศกี

ปัญหา ‘จิ๋ม’ = ปัญหาสุขภาวะทางเพศ 

นอกจากการเข้าไม่ถึงผ้าอนามัย จินยังบอกอีกว่า หลายคนเข้าไม่ถึงข้อมูลด้านสุขภาพอีกด้วย เพราะผลที่เกิดจากการเข้าไม่ถึงผ้าอนามัยจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ถ้าไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4 ชั่วโมง ผู้มีประจำเดือนจะมีโอกาสป่วยเป็นโรค ดังนี้ 
– เชื้อรา : ความอับชื้นเพิ่มโอกาสติดเชื้อรา ตกขาว มีผื่น คัน ปัสสาวะแสบ และเชื้อราอาจเข้าสู่ร่างกายผ่านช่องคลอด
– โรคช่องคลอดจากแบคทีเรียตัวร้าย : การหมักหมมของประจำเดือนเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อาการระคาย และผื่นแดงที่อวัยวะเพศ ส่งผลให้ช่องคลอดอักเสบได้
– ภาวะพิษในกระแสเลือด : มีการติดเชื้อซึ่งก่อให้เกิดไข้สูง อาเจียน หน้ามืด นำไปสู่ภาวะเป็นพิษในกระแสเลือด ก่อให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้

จากการสัมภาษณ์จินพบว่า แม้ผู้มีประจำเดือนหลายคนรู้ว่าการไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยทำให้ตัวเองมีปัญหาสุขภาพได้ แต่เพราะความจนทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น ทำให้ต้องทนรับความเสี่ยงสุขภาพอย่างเลี่ยงไม่ได้

ปกป้องบอกว่า “ผลจากความเสี่ยงเหล่านี้ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และสิ่งที่ตามมาคือค่ารักษาที่แพงมากที่ทั้งรัฐและประชาชนต้องจ่าย หากเราพบข้อมูลแล้วว่าประชาชนจำนวนมากเจ็บป่วยด้วยการใช้ผ้าอนามัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่เราป้องกันและช่วยเหลือประชาชนได้ เราสามารถใช้ต้นทุนที่ถูกกว่ารักษาพยาบาล มาแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น โดยการเอานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้าไปอยู่ภายใต้งบประมาณของ สปสช. ซึ่งจะทำให้ผู้มีประจำเดือนเข้าถึงผ้าอนามัยได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพด้วย”

นิทรรศกี

จัดสรรสวัสดิการ เพื่อให้ ‘ทุกคน’ เข้าถึงผ้าอนามัย 

แล้วจะทำยังไงให้ผู้มีประจำเดือนเข้าถึงผ้าอนามัยได้บ้าง? นอกจากการศึกษาตัวเลขต่างๆ แล้ว ทางทีมเพื่อไทยยังช่วยรัฐหาทางให้ผู้มีประจำเดือนเข้าถึงผ้าอนามัยได้ง่ายขึ้น 

รัฐสามารถวางระบบแจกผ้าอนามัยผ่าน 3 ช่องทาง โดยประชาชนต้องใช้บัตรประชาชนหรือแอปพลิเคชันของรัฐในการยืนยันสิทธิ เช่น 

  • แจกผ่านหน่วยงานใต้กำกับของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากการศึกษาพบว่ากลุ่มคนรายได้น้อยที่เข้าไม่ถึงผ้าอนามัยเป็นกลุ่มที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘บัตรทอง’ และ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ อยู่แล้ว ซึ่งนอกจากจะแจกจ่ายผ้าอนามัยแล้ว สปสช. ยังให้ความรู้เรื่องสุขภาวะในคราวเดียวกันได้อีกด้วย
  • แจกผ่านกระทรวงศึกษาธิการ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม สำหรับประชากรวัยเรียนในระบบการศึกษาและคนในเรือนจำ (ปัจจุบันถูกจำกัดสิทธิการเข้าถึงผ้าอนามัยเพียง 3 ชิ้นต่อเดือน)
  • แจกผ่านแอปพลิเคชันสำหรับประชากรวัยทำงาน
นิทรรศกี

สวัสดิการผ้าอนามัย ใช้งบประมาณเท่าไหร่?

การแจกผ้าอนามัยฟรีให้ประชากรจำนวน 12.22 ล้านคนต่อเดือน ใช้งบประมาณอย่างน้อยที่สุด 19,576 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 0.6% ของงบประมาณประจำปี 2565 เท่านั้น 

แล้วรัฐจะจัดสรรงบประมาณจากไหนได้บ้าง

  1. นำงบจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของผ้าอนามัยมาเพิ่มให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประมาณ 5,000 ล้านบาท ทำให้ทุกการซื้อผ้าอนามัยคือการซื้อเพื่อผู้มีประจำเดือนทุกคน
  2. ส่วนที่เหลือรัฐจัดสรรงบประมาณให้อีกประมาณ 14,000 ล้านบาท

ภาษีผ้าอนามัย 7% จะไม่สูญเปล่าเมื่อถูกนำไปใช้ในโครงการผ้าอนามัยฟรีทุกเดือน เพราะสัดส่วนประชากรไทยที่เข้าไม่ถึงผ้าอนามัยมีมากถึง 12.22 ล้านคน ดังนั้นสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีจึงเอื้อประโยชน์กับประชาชนจำนวนมาก มากกว่ามาตรการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม

นิทรรศกี

‘ประจำเดือน’ คือเรื่องของคนทั้งโลก

เรื่องประจำเดือนไม่ใช่นโยบายขายฝันที่พูดไปตามเทรนด์เท่านั้น แต่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มหันมาจัดการปัญหา Period Poverty เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางเพศและสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาในผู้มีประจำเดือน ผ่านการสร้างรัฐสวัสดิการผ้าอนามัย การยกเลิกผ้าอนามัย และการลดภาษี 

ประเทศที่ผ่านกฎหมายให้ผ้าอนามัยเป็นรัฐสวัสดิการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ฟรีเป็นประเทศแรกของโลกคือ ‘สกอตแลนด์’ โดยแจกผ้าอนามัยฟรีให้แก่คนที่มีประจำเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2021 ประชาชนรับได้ที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ร้านขายยา ศูนย์เยาวชน ห้องสมุด และศูนย์นันทนาการ 

รัฐสวัสดิการผ้าอนามัยของสกอตแลนด์ใช้งบประมาณปีละ 24 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,037 ล้านบาท) และช่วยลดรายจ่ายให้ผู้มีประจำเดือนได้มากถึงเดือนละ 8 ปอนด์ (ประมาณ 345 บาท)

นิทรรศกี

ก่อนจะกลายเป็นรัฐสวัสดิการเช่นทุกวันนี้ ได้มีการเสนอกฎหมายตั้งแต่ปี 2016 ทดลองทำโครงการนำร่องในปี 2017 จนกระทั่งในปี 2020 Period Products (Free Provision) (Scotland) Bill ได้รับการลงคะแนนเสียงเห็นชอบจากสภาอย่างท่วมท้น 121 เสียง โดยไม่มีผู้คัดค้านหรืองดออกเสียงแม้แต่คนเดียว ทำให้กฎหมายนี้บังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 12 มกราคม 2021

สำหรับประเทศไทย เราเพิ่งจะเริ่มนำประเด็นนี้มาพูดกันเท่านั้น ยังต้องอาศัยความเข้าใจและแรงผลักดันของสังคมให้นโยบายนี้ได้ไปต่อ 

ในฐานะที่เป็นทั้งผู้มีประจำเดือนและผู้เสียภาษีในประเทศนี้ ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าจะมีโอกาสได้ใช้ผ้าอนามัยฟรีจากภาษีประชาชนในสักวันหนึ่ง (ถ้าไม่หมดประจำเดือนไปเสียก่อน)

ตามไปดู ‘นิทรรศกี เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’
วันที่ : 8 – 31 มีนาคม 2565
เวลา : 10.00 – 18.00 น. (เปิดทุกวัน เข้าชมฟรี) 
สถานที่ : พรรคเพื่อไทย (อยู่ด้านร้านกาแฟ ​​Think Lab)
1770 ถนน เพชรบุรีตัดใหม่ แขวง บางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
https://goo.gl/maps/xUJW3L5cFNPWZuoK

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.