กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล อนาคต ทิศทาง Start Up - Urban Creature

รู้หรือไม่ว่า ตอนนี้เราอยู่ในช่วง 10 ปีทองของธุรกิจสตาร์ทอัปในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยเตรียมพร้อมหรือยังนะ ที่จะคว้าโอกาสนี้!

ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ และต่างชาติเองก็เริ่มทยอยถอนตัวการลงทุนในไทย อ้างอิงจากบทวิเคราะห์ของ KKP Research เกียรตินาคินภัทรปี 2021 กล่าวว่าในปัจจุบันไทยเริ่มไม่ใช่จุดสนใจของโลก และต่างชาติเข้ามาลงทุนลดลง ด้วยการพัฒนาคนและเทคโนโลยีต่ำ รวมไปถึงกฎระเบียบไม่เอื้อในการส่งเสริมการตลาด เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่เริ่มฟื้นฟูตัวได้อย่างเวียดนามสวนทางกับวงการสตาร์ทอัปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในช่วงเติบโตอย่างทวีคูณไปจนถึงปี 2029 อ้างอิงข้อมูลจากบริษัท ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ จำกัดปี 2021 รวมถึงรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2564 (Asian Development Outlook 2021) ให้ข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศเอเชียกำลังพัฒนาและคาดจะเติบโต 7.7% ในปี 2021 และ 5.6% ในปี 2022


10 ปี เอเชียแหล่งเวลคัม ‘เทคโนโลยีใหม่’

สาเหตุที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นแหล่งเนื้อหอมในยุคนี้ อ้างอิงข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ของ Kevin Aluwi ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Gojek ปี 2021 เผยว่าแถวบ้านเรามีประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก และมีไลฟ์สไตล์เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ใช้ในพื้นที่มากมาย เช่น Grab จากมาเลเซีย Shopee จากสิงคโปร์ หรือ TikTok จากจีน สิ่งเหล่านี้จึงมีโอกาสพัฒนาสตาร์ทอัปไปได้ไกล รวมถึงดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนมากกว่าเดิม

มองมุม ‘ไทย’ ไปต่อได้ไหม?

เมื่อเข้าสู่ยุคทองของสตาร์ทอัปในเอเชีย ที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้ผลประโยชน์มากมาย แล้วประเทศไทยเตรียมพร้อมเรื่องนี้แล้วหรือยัง? คนที่จะมาไขคำตอบด้านสตาร์ทอัปไทยให้ตรงจุด คงหนีไม่พ้น ‘กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล’ ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ป (KBTG) เล่าว่า ประเทศไทยยังมีหวังจากยุคทองของสตาร์ทอัปในเอเชีย “บ้านเรามีของดีมากมาย ทั้งคนเก่ง เอกลักษณ์ไทยที่ไม่แพ้ชาติใด หรือจะเป็นตำแหน่งทางพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน แต่ยังต้องยอมรับเลยว่า เรายังขาดการสร้างสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวกแก่คนทำงาน” 

Urban Creature ลองให้กระทิง ผู้คลุกคลีในแวดวงสตาร์ทอัปและก่อตั้งกองทุน 500 TukTuks ช่วยลงทุนสตาร์ทอัปไทย วางแผนสภาพแวดล้อมส่งเสริมสตาร์ทอัปสไตล์ไทยไปได้ไกล ต้องมี 4 ประเด็นดังนี้

1. สร้าง ‘พื้นที่’ ไม่ปังเท่าสร้าง ‘ชุมชน’

แม้ว่าช่วงโควิดทำให้ต้องอยู่บ้าน แต่ท้ายที่สุดแล้ว หากผ่านพ้นช่วงไวรัสร้ายระบาดหนัก การทำงานแบบเจอหน้ากันย่อมเวิร์กกว่าทำงานที่บ้าน หากมองถึงการออกแบบพื้นที่ให้ตรงใจสตาร์ทอัป กระทิงเล่าว่า บางครั้งการออกแบบโฟกัสถึงการดีไซน์พื้นที่แต่ไม่นึกถึงการใช้งาน ทำให้ขาดทั้งชีวิตชีวา และความคิดสร้างสรรค์


“การสร้างกิจกรรมในพื้นที่อย่างยั่งยืน เราต้องสร้างสังคมรอบพื้นที่ให้เป็นคอมมูนิตี้ก่อนที่จะดึงดูดคนที่สนใจเหมือนกันเข้ามาอยู่อาศัยร่วมกัน และพวกเขาก็จะมาทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่ที่ออกแบบไว้ในชุมชน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ช่วยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและสร้างโอกาสธุรกิจได้ เช่น ไปงานอีเวนต์อาจจะได้รู้จักคนที่สนใจงานเราและได้ร่วมงานกันในอนาคต สิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่ทำอยู่บ้านแล้วจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก”

กระทิงยกตัวอย่างการออกแบบชุมชน Block71 ในประเทศสิงคโปร์ เริ่มมาจากรัฐบาลจับมือกับองค์กรสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยรีโนเวตกลุ่มอาคารเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว เปลี่ยนเป็นศูนย์กลางคอมมูนิตี้ของสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีรุ่นใหม่มารวมตัวกัน พร้อมจัดพื้นที่สำหรับทำอีเวนต์และนั่งทำงานแลกเปลี่ยนไอเดียกระจายทุกพื้นที่ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้คนในชุมชนสตาร์ทอัปได้เรียนรู้และต่อยอดไอเดียซึ่งกันและกัน จนเกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมา

2. ใช้ถนน นั่งรถไฟฟ้า ต้อง ‘สมูท’ ไม่มีสะดุด

วันนี้มีประชุมที่อโศก แวบแรกได้ยินสถานที่นัดพบคุณรู้สึกอย่างไร? 

เชื่อว่าถ้าทุกคนนึกถึงภาพตอนขับรถไปประชุมกับลูกค้าในพื้นที่ใจกลางเมือง คงรู้สึกเหนื่อยไม่ใช่น้อย เพราะชื่อเสียงเรื่องรถติดมีมานานหลายสิบปีก็ยังแก้ไม่หาย หรือจะเป็นรถไฟฟ้าที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกคนและทุกพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็สร้างความลำบากในการเจรจานัดสำคัญให้สะดุดได้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้กระทิงมองว่าทำให้นักลงทุนไม่ไว้ใจที่อยากจะตั้งธุรกิจในไทย เพราะไร้ความคล่องตัวในการคมนาคม


“โครงสร้างพื้นฐานของเมืองอย่าง ถนน ขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์หรือรถไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ต้องใช้งานตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ให้คนเดินทางสะดวกสบาย แต่มันยังต่อยอดในการทำธุรกิจได้หลากหลาย” ผู้ก่อตั้งกองทุน TukTuks มองว่า หากมีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นระบบและไม่มีปัญหากวนใจ ก็จะเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัปที่เห็นได้แต่ในเมืองนอกเกิดในไทยได้ง่ายขึ้น เช่น ธุรกิจขนส่งสินค้าบนทางเท้า บริการขนส่งรับโดยสารคนในชุมชน หรือเทคโนโลยีการขับรถยนต์แบบไร้คนขับ ที่สามารถวิ่งบนถนนได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลถนนเป็นหลุม หรือชำรุดตลอดทาง

3. สร้าง ‘กฎ’ เอาใจคนทำสตาร์ทอัป 


ปัญหาในไทยไม่ได้มีแค่การออกแบบเมือง แต่ต้องปรับเปลี่ยนที่นโยบายด้วย อย่างการตั้งกฎเกณฑ์สร้างธุรกิจสตาร์ทอัปในไทย ยังมีข้อจำกัดและข้อเสียเปรียบเมื่อเทียบกับต่างประเทศอยู่มาก เช่น ความยืดหยุ่นในการทำเรื่องต่อหน่วยงานต่างๆ 

“สมมติว่าชาวต่างชาติอยากเข้ามาทำธุรกิจสตาร์ทอัปหรือทำงานที่ไทย ต้องติดต่อหน่วยงานในองค์กรหลายขั้นตอน และหลายสถานที่มาก รวมถึงไม่มีงบสนับสนุนทำธุรกิจสตาร์ทอัปอย่างเต็มที่ ต่างจากประเทศสิงคโปร์ บ้านเขาจะอำนวยความสะดวกชาวต่างชาติ ด้วยการให้สมาร์ตวีซ่าทันที ถ้าคุณเข้ามาในประเทศและสามารถระดมทุนธุรกิจได้สองปี” 

ประธาน KBTG ยกตัวอย่างเคสเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างสิงคโปร์มี Matching Fund หรือเงินกู้พิเศษจากรัฐบาลคอยสนับสนุน เช่น สตาร์ทอัปลงทุน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ รัฐบาลสิงคโปร์ช่วยสมทบอีกก้อนหนึ่ง เพราะรู้ว่าการทำสตาร์ทอัปช่วงแรกจะไม่ค่อยมีรายรับมากนัก แต่ก็เป็นธุรกิจที่ไม่ควรปล่อยให้ล้มหายไป

ยิ่งไปกว่านั้นหากมองมุมกฎหมายในไทยที่สนับสนุนการลงทุนในสตาร์ทอัป เช่น การลดหย่อนภาษีที่ไม่จูงใจนักลงทุน เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนจะลงเงินกับสตาร์ทอัปเป็นจำนวนหลักล้าน แต่ได้รับการหักภาษีลดหย่อนเพียงแค่ 10% หรือประมาณ 100,000 บาท ซึ่งถ้าคำนวณถึงความคุ้มค่าในการลงทุนแล้ว มันไม่คุ้มที่จะดึงดูดนักลงทุนให้มาลงเงินสตาร์ทอัปในไทยอย่างยั่งยืนเลย เมื่อเทียบกับความเสี่ยงของประเทศเรา แต่ปัจจุบันหลายหน่วยงานในไทย เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) นั้นได้เข้ามาช่วยเหลือสตาร์ทอัปไทยเป็นอย่างดี แต่ข้อกฎหมายหลายอย่าง และการประสานงานข้ามกระทรวง นั้นยังเกินอำนาจขอบเขตขององค์กรเหล่านี้ แถมปัจจุบันยังถูกตัดงบประมาณอีก จึงยิ่งทำให้เสียโอกาสในการผลักดันวงการสตาร์ทอัปในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้

4. ‘ระบบราชการ’ ต้อง 4.0 (จริงๆ)

อีกหนึ่งปัญหาเรื้อรังมานาน คือการติดต่อเอกสารกับหน่วยงานราชการที่ต้องเผื่อเวลามากมาย สตาร์ทอัปไทยต้องติดต่อและเดินเรื่องเอกสารกับหน่วยงานราชการหลายที่และหลายขั้นตอน ซึ่งทำให้เสียเวลาในการทำประโยชน์อย่างอื่นได้มากมาย

“หากระบบเอกสารเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด ทุกคนสามารถกรอกข้อมูลและโหลดไฟล์ในเว็บได้รวดเร็ว เชื่อว่าการทำธุรกิจบ้านเราจะดึงดูดให้คนอยากเปิดสตาร์ทอัปมากกว่าเคย เช่น ประเทศเอสโตเนีย หากอยากเปิดบริษัทก็สามารถส่งเอกสารเป็นระบบออนไลน์ได้เลย มีเสียเวลานิดหน่อยแค่ไปยืนยันตัวที่ประเทศเขาเท่านั้นเอง”

สิ่งที่กระทิงกล่าวมาทั้งหมด เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของสตาร์ทอัปในประเทศไทย หากเตรียมสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมคนทำสตาร์ทอัปให้พร้อมได้รวดเร็ว ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง แบบไม่ต้องพึ่งโอกาสทองของวงการสตาร์ทอัปในเอเชียเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งเสริมและเปิดโอกาสการทำสตาร์ทอัปในประเทศให้พัฒนาและเติบโตดียิ่งขึ้น 

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.