ในอดีต ‘แอฟริกาใต้’ เคยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำของประชากร การแบ่งแยกชนชั้น รวมถึงการเหยียดสีผิวอย่างรุนแรงและชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งมีผลมาจากนโยบายการปกครองที่เรียกว่า ‘การแบ่งแยกสีผิว’ หรือ ‘Apartheid’ นั่นเอง
ประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa) มีชื่อทางการว่า ‘สาธารณรัฐแอฟริกาใต้’ เป็นประเทศอิสระที่อยู่ตอนปลายทางใต้สุดของทวีปแอฟริกา มีพรมแดนติดกับประเทศนามิเบีย บอตสวานา ซิมบับเว โมซัมบิก และเอสวาตีนี มีพื้นที่ประมาณ 1.22 ล้านตร.กม. และมีประชากร 56.7 ล้านคน (2017) โดยในจำนวนนั้นมีคนขาวราวๆ 10% แต่เป็นกลุ่มคนที่รวยและมีอำนาจที่สุด
แอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่มีเมืองหลวงถึง 3 แห่ง ซึ่งแบ่งหน้าที่แตกต่างกันออกไป เช่น ‘เคปทาวน์’ (Cape Town) ศูนย์กลางฝ่ายนิติบัญญัติ, ‘พริทอเรีย’ (Pretoria) ศูนย์กลางการบริหาร และ ‘บลูมฟอนเทน’ (Bloemfontein) ศูนย์กลางทางฝ่ายตุลาการของประเทศ และหลังจากการเลือกตั้งแบบหลากชนชาติภายใต้ระบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1994 จุดจบความเจ็บปวดของคนผิวดำ ทำให้ประเทศแอฟริกาใต้มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากคนผิวดำ คนขาว ก็มีคนผิวสี คนอินเดีย-เอเชีย เป็นต้น ดังนั้นจึงทำให้มีการแต่งตั้งภาษาทางการถึง 11 ภาษา
ในปี ค.ศ. 2018 ประเทศแอฟริกาใต้ มีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูงมาก ทั่วประเทศมีคดีจี้ปล้นรถยนต์วันละ 44 คดี มีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นทุกวัน วันละ 57 คดี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 2017 ถึง 6.9% จนได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองหลวงโลกด้านการข่มขืน’ และเพราะตำรวจของรัฐไม่มีประสิทธิภาพพอ จึงทำให้มีหน่วยงานที่เรียกว่า ‘ตำรวจเอกชน’ เกิดขึ้น
แต่ในข้อร้ายทั้งหมด ก็ยังมีข้อดีอยู่ เราจึงจะพาทุกคนไปเปิด ‘มุมที่แตกต่าง’ ของประเทศแอฟริกาใต้ ว่าจริงๆ แล้วดินแดนปลายสุดของทวีปแห่งนี้มีสิ่งดีๆ รอให้เราค้นหา
Law of South Africa | กม.กัญชาและการแต่งงานของ LGBTQ
ในโลกนี้มีเพียงแค่ 4 ประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายให้ใช้กัญชาแบบเสรี ทั้งทางสันทนาการและการแพทย์ ได้แก่ แคนาดา จอร์เจีย อุรุกวัย และแอฟริกาใต้
โดยเมื่อปี ค.ศ 2018 ศาลรัฐธรรมนูญแอฟริกาใต้มีมติเห็นชอบ อนุญาตให้พลเมืองที่บรรลุนิติภาวะแล้ว สามารถปลูกและบริโภคกัญชาในพื้นที่ส่วนตัวได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยศาลได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพที่พวกเขาสามารถพึงกระทำได้ในพื้นที่ส่วนตัวเหล่านั้น แต่การบริโภคพืชชนิดนี้ในพื้นที่สาธารณะ การขาย และจัดส่งให้กันก็ยังถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่
และแอฟริกาใต้ยังเป็นประเทศแรกในทวีปแอฟริกาที่อนุญาตให้ ‘คู่รักเพศเดียวกัน’ จดทะเบียนสมรสได้ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย
South Africa’s infrastructure | โครงสร้างพื้นฐาน
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปี ค.ศ 2015 บอกว่า ประชาชนในพื้นที่เมืองของแอฟริกาใต้สามารถเข้าถึงน้ำประปาได้ทุกคน ส่วนพื้นที่ชนบทนั้นสามารถเข้าถึงได้ 81% อย่างไรก็ตาม สำหรับระบบสุขาภิบาลที่สะอาดยังคงมีเพียง 70% ของพื้นที่เมือง และ 61% ของพื้นที่ชนบทเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้
และรู้หรือไม่ 80% ของทางรถไฟทั้งหมดในทวีปแอฟริกาอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีความยาวเส้นทางรวม 20,986 กม. มีสถานีอยู่ในทุกจังหวัดและเมืองสำคัญของประเทศ เชื่อมต่อกันได้ทุกเมือง และรถไฟในแอฟริกาใต้หลายสายมีชื่อเสียงที่ความหรูหรา ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก เช่น รถไฟสายสีน้ำเงิน (Blue Line) ที่มีระยะทาง 1,600 กม. มีเส้นทางเดินรถระหว่างเมืองเคปทาวน์และพริทอเรีย
ไม่เพียงเท่านั้น ระบบการเงินและการธนาคารของประเทศแอฟริกาใต้ ยังถูกจัดอันดับจากคณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่ามีการพัฒนาของระบบการเงิน (Financial Development Index) เป็นอันดับ 1 ของทวีปแอฟริกา และเป็นอันดับ 26 ของโลกอีกด้วย
นอกจากนี้แอฟริกาใต้เองก็ได้วางแผนแม่บทการพัฒนาทางเศรษฐกิจไว้ (The National Development Plan 2030) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดอัตราการว่างงาน และพัฒนาศักยภาพและทักษะแรงงาน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้กำหนดการพัฒนาไว้ 7 ข้อ ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, 2.มุ่งสู่เศรษฐกิจที่มีคาร์บอนต่ำ, 3.สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชนบท, 4.แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างพื้นที่ในเมืองและนอกเมือง, 5.พัฒนาคุณภาพการศึกษา การฝึกอบรม และนวัตกรรม, 6.สร้างระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ และ 7.ลดการทุจริต
Environment and Natural Resources | ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์
แอฟริกาใต้ ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแห่งหนึ่งของโลก ทั้งเพชร ทองคำ แพลทินัม ถ่าน แร่เหล็ก เงิน ทองแดง และแร่ธาตุอื่นๆ ที่กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศ และ 90% ของทองคำขาวทั้งโลกถูกผลิตในแอฟริกาใต้นี่เอง
ในขณะที่การท่องเที่ยวของแอฟริกาใต้เองก็ทำรายได้สูงเป็นอันดับ 2 ของทวีปแอฟริกา เพราะนอกจากมีอารยธรรมหลากหลาย แอฟริกาใต้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งชายหาด ซาฟารี และเมืองประวัติศาสตร์ และเมื่อปี ค.ศ. 2017 ได้มีการประกาศมรดกโลก 26 แห่ง จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งมีเกณฑ์ในการประเมินคุณค่าทั้งเชิงวัฒนธรรมและเชิงธรรมชาติ โดยต้องมีความโดดเด่นและมีคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติ
หนึ่งในนั้น คือ ‘ǂKhomani Cultural Landscape’ เป็นพื้นที่ที่ผสมผสานระหว่างทะเลทรายที่กว้างใหญ่ กับวัฒนธรรมชนเผ่า ǂKhomani San นับตั้งแต่ช่วงยุคหินเป็นต้นมา ตั้งอยู่ในพื้นที่ทะเลทรายคาลาฮารี ในอุทยานแห่งชาติคาลาฮารี (Kalahari Gemsbok) ในแอฟริกาใต้
World Cup Host | เจ้าภาพกีฬาระดับโลก
ในแอฟริกาใต้ รักบี้เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากพอๆ กับฟุตบอล ทีมชาติแอฟริกาใต้เป็นทีมรักบี้ที่เก่งระดับโลกและมีผู้เล่นมากฝีมือมากมาย ซึ่งแอฟริกาใต้ถือเป็นประเทศเดียวในโลกที่เคยเป็นเจ้าภาพ World Cup ของทั้งรักบี้ (1995 Rugby World Cup) คริกเก็ต (2003 Cricket World Cup) และล่าสุดแอฟริกาใต้ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี ค.ศ. 2010 (2010 FIFA World Cup) ตามนโยบายการหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพในแต่ละสมาพันธ์ฟุตบอลต่าง ๆ
แม้ในขณะนั้นจะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลมากมาย แต่ฟีฟ่าก็ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าแอฟริกาใต้จะสามารถเป็นเจ้าภาพได้ โดยกล่าวว่าแผนฉุกเฉินจะเกิดขึ้นเฉพาะเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในการแข่งขันฟุตบอลโลกในอดีต
Sources :
https://bit.ly/3ic4Ne6
https://bit.ly/39YAJ2G
https://bit.ly/2PpjJJt
https://bit.ly/3fzJ8ea
https://bit.ly/3keBWrx
https://bit.ly/3iaRLxv
https://bit.ly/2PpjJJt
https://bit.ly/2C1gAwB
https://bit.ly/2Poa3iC
https://bit.ly/3gxojS2
https://bit.ly/3gzCUwf
https://bit.ly/30thLOM
รายงานผลการศึกษาเชิงลึกของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน